ThaiPublica > ประเด็นร้อน > Research Reports > EIC > SCB EIC วิเคราะห์มาตรการ AD กับทางรอดของอุตสาหกรรมเหล็กไทย

SCB EIC วิเคราะห์มาตรการ AD กับทางรอดของอุตสาหกรรมเหล็กไทย

21 ธันวาคม 2023


ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)เผยแพร่บทวิเคราะห์ มาตรการ AD กับทางรอดของอุตสาหกรรมเหล็กไทย…เพียงพอไหมให้เหล็กไทยไปไกลกว่าเดิม โดยมองว่ามาตรการ AD ยังมีความจำเป็นในการปกป้องอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กของไทย แต่ยังต้องอาศัยการยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมควบคู่กันไป

ไทยมีการดำเนินมาตรการ AD เพื่อปกป้องผู้ผลิตเหล็กในประเทศที่มีต้นทุนสูง ให้สามารถแข่งขันกับเหล็กนำเข้าที่ยังคงเข้ามาทุ่มตลาดอย่างต่อเนื่อง

อุตสาหกรรมเหล็กไทยต้องนำเข้าเหล็กมาแปรรูปต่อ ทำให้เสียเปรียบด้านต้นทุน เป็นช่องทางให้เหล็กต่างประเทศเข้ามาทุ่มตลาด ทั้งนี้อัตราการใช้กำลังการผลิตเหล็กของไทยที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจนมาอยู่ที่ประมาณ 30% ของกำลังการผลิตเหล็กสูงสุดโดยรวมของทั้งประเทศ นำมาสู่ความจำเป็นในการใช้มาตรการ AD ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่ปี 2002 โดยไทยมีการใช้มาตรการ AD กับเหล็กจากจีนมากที่สุด และเหล็กจากจีนถูกกำหนดอัตราอากรสูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในสินค้าประเภทเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ปริมาณการนำเข้าเหล็กจากจีน โดยเฉพาะเหล็กแผ่นรีดร้อน ก็ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2023 การผลิตเหล็กดิบในจีนที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับอุปสงค์เหล็กในจีนที่อ่อนแอจากวิกฤตภาคอสังหาฯ ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงที่จะมีการระบายเหล็กจากจีนมายังไทยมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การใช้งานเหล็กของไทยยังต้องพึ่งพาการนำเข้า ซึ่งผู้ผลิตขั้นปลาย และผู้ใช้งานเหล็กขั้นสุดท้ายต้องรับภาระต้นทุนส่วนเพิ่มจากการใช้มาตรการ AD

แม้การใช้มาตรการ AD จะช่วยปกป้องผู้ผลิตเหล็กในประเทศให้แข่งขันกับเหล็กนำเข้าได้ แต่กลุ่มผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เหล็กขั้นปลายที่ต้องอาศัยการแปรรูป หรือใช้เหล็กขั้นปลายเป็นส่วนประกอบ ซึ่งยังต้องพึ่งพาการนำเข้าเหล็กชนิดต่าง ๆ เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กแผ่นรีดเย็น มาแปรรูปต่อ ต้องรับภาระต้นทุนส่วนเพิ่มจากการใช้มาตรการ AD และมีการส่งผ่านต้นทุนดังกล่าวไปยังกลุ่มลูกค้าที่ใช้งานผลิตภัณฑ์เหล็กขั้นสุดท้ายให้ต้องซื้อผลิตภัณฑ์เหล็ก และสินค้าที่มีเหล็กเป็นส่วนประกอบในระดับราคาที่สูงกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้น การใช้มาตรการปกป้องและตอบโต้ทางการค้าสำหรับอุตสาหกรรมเหล็กจึงจำเป็นต้องพิจารณาผลกระทบตลอด Supply chain ทั้งผู้ผลิตเหล็กกลางน้ำ และเหล็กปลายน้ำ ผู้ค้าเหล็ก ผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ไปจนถึงผู้บริโภค

SCB EIC มองว่ามาตรการ AD ยังมีความจำเป็นในการปกป้องอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กของไทย

จากการวิเคราะห์ผลกระทบในกรณีที่ไทยยกเลิกการใช้มาตรการ AD กับสินค้าเหล็กทุกประเภทที่มีสถานะการใช้มาตรการในปัจจุบัน จะส่งผลให้เหล็กนำเข้าเข้ามาตีตลาดจนส่งผลให้ผลผลิตเหล็กของผู้ผลิตเหล็กไทยหายไปราว 3.4 แสนตัน ซึ่งจะส่งผลให้อัตราการขยายตัวของ GDP ลดลงราว 0.6% และส่งผลต่อเนื่องมายังการจ้างงานภายในอุตสาหกรรม โดยการผลิตเหล็กในประเทศที่หายไปทุก ๆ 1 แสนตัน จะส่งผลให้อัตราการขยายตัวของ GDP ลดลงราว 0.19% และอัตราการขยายตัวของการจ้างงานในอุตสาหกรรมเหล็กจะลดลงราว 1.2% ดังนั้น มาตรการ AD จึงยังมีความจำเป็นในการปกป้องอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กของไทย

อย่างไรก็ดี นอกจากการปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กผ่านมาตรการ AD แล้ว ยังต้องอาศัยการยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมควบคู่กันไป

มาตรการส่งเสริมจากภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญ โดยจะต้องลดข้อจำกัดด้านต้นทุน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของผู้ผลิตเหล็กของไทย อาทิ การปรับลดค่าไฟฟ้า และอัตราผันแปร รวมถึงการยกเว้นอัตราภาษีในการนำเข้า เหล็กต้นน้ำ/กลางน้ำที่เป็นวัตถุดิบการผลิตสินค้าเหล็กขั้นปลาย รวมถึงสนับสนุนให้เกิดการเพิ่มสัดส่วนการใช้งานเหล็กที่ผลิตในประเทศในโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ขณะเดียวกัน การเพิ่มการใช้กำลังการผลิตในภาพรวมของอุตสาหกรรม ก็ยังต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตเหล็ก รวมถึงการยกระดับการผลิตเหล็กที่มีคุณภาพสูง และลดการปล่อยมลภาวะ เพื่อผลักดันให้เหล็กไทยเข้าไปอยู่ใน Supply chain การผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูง และ Green supply chain

อ่านรายงานฉบับเต็ม https://www.scbeic.com/th/detail/product/steel-AD-061223