ThaiPublica > ประเด็นร้อน > Research Reports > EIC > EIC ชี้ศก.ไทยไตรมาส 3 ฉุด GDP ทั้งปีลง-Digital walletช่วยกระตุ้นชั่วคราวแลกด้วยต้นทุนการคลังสูง

EIC ชี้ศก.ไทยไตรมาส 3 ฉุด GDP ทั้งปีลง-Digital walletช่วยกระตุ้นชั่วคราวแลกด้วยต้นทุนการคลังสูง

20 พฤศจิกายน 2023


ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)วิเคราะห์ เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ยังน่าห่วง ฉุด GDP ทั้งปีลงบนความเสี่ยงรอบด้าน โดยมองว่า

เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/2023 โตต่ำต่อเนื่อง ต่ำกว่าคาดการณ์มาก

เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/2023 ขยายตัวเพียง 1.5%YOY เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน หรือ 0.8%QOQ_SA (เทียบไตรมาสก่อนแบบปรับฤดูกาล) อัตราการเติบโตต่ำลงต่อเนื่องนับจากต้นปี และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ในผลสำรวจของ Bloomberg ที่ 2.2%YOY หรือ 1.3%QOQ_SA อยู่มาก เศรษฐกิจไทยด้านการใช้จ่าย (Expenditure approach) ในไตรมาสนี้มีแรงหนุนสำคัญจากการฟื้นตัวของบริการท่องเที่ยว ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อีกทั้ง ความต้องการท่องเที่ยวในประเทศยังอยู่ในระดับสูง ด้านการส่งออกสินค้าหดตัวน้อยลง ขณะที่การส่งออกสุทธิขยายตัวดีจากการนำเข้าสินค้าที่หดตัวแรง ด้านการใช้จ่ายภาครัฐเติบโตไม่ดีนัก ส่วนหนึ่งจากปัจจัยฐานที่ยังมีการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อต่อสู้วิกฤติโควิด ด้านการลงทุนในประเทศขยายตัวจากการลงทุนภาคเอกชนเป็นหลัก ขณะที่การลงทุนภาครัฐหดตัวต่อเนื่องสำหรับ GDP ด้านการผลิต (Production approach) ภาคบริการขยายตัวดี โดยเฉพาะในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ภาคเกษตรเติบโตชะลอลงจากปัญหาสภาพอากาศแล้ง อย่างไรก็ดี ภาคอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่องตามการหดตัวของการผลิตเพื่อส่งออก

SCB EIC มองเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 จะเติบโตสูงกว่า 3 ไตรมาสแรก

SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 จะขยายตัวได้สูงกว่า 3 ไตรมาสแรก ปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการบริโภคภาคเอกชนที่มีแนวโน้มขยายตัวดี ตามตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวแข็งแกร่ง รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยมีแนวโน้มเร่งตัวอย่างเห็นได้ชัดในไตรมาสนี้หลังเริ่มเข้าสู่ช่วง High season โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากเอเชียและรัสเซีย อีกทั้งการส่งออกสินค้าเริ่มฟื้นตัวและจะกลับมาเติบโตเป็นบวกได้ในไตรมาส 4 จากราคาส่งออกที่ปรับสูงขึ้นในสินค้าบางกลุ่ม เช่น สินค้าเกษตร และจากปัจจัยฐานต่ำ อย่างไรก็ดี SCB EIC คาดการณ์ว่า GDP ปีนี้มีแนวโน้มปรับลดลงจากประมาณการเดิม
ตามข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาอ่อนแอกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก

มองไปในปี 2024 เศรษฐกิจไทยมีทิศทางฟื้นตัวเปราะบางบนความเสี่ยงรอบด้าน

SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2024 จะเติบโตเร่งขึ้นได้ แต่ทิศทางการฟื้นตัวเปราะบางบนความไม่แน่นอนรอบด้าน ปัจจัยสนับสนุนมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องเป็น 37.7 ล้านคน การส่งออกฟื้นตัวกลับมาเป็นบวกได้ และการลงทุนภาคเอกชนที่จะขยายตัวดีขึ้นตามแนวโน้มการอนุมัติการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment) แรงส่งภาครัฐจะมีไม่มากในช่วงครึ่งแรกของปีเทียบกับช่วงครึ่งหลังของปีจากความล่าช้าในการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2024

เศรษฐกิจไทยปี 2024 ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำจาก (1) สงครามอิสราเอล-ฮามาส แม้ในกรณีฐานจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยไม่มาก แต่หากสถานการณ์ลุกลามรุนแรง เศรษฐกิจโลกรวมถึงไทยจะได้รับผลกระทบผ่านราคาน้ำมันโลกและความผันผวนในตลาดการเงินโลกที่ปรับสูงขึ้น (2) เศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มขยายตัวต่ำลง อาจกระทบการส่งออกไทย โดยเฉพาะสินค้าที่พึ่งพาตลาดจีนสูง และเป็นส่วนหนึ่งของ Supply chain จีน และ (3) วิกฤติภัยแล้งในหลายพื้นที่อาจเห็นผลกระทบชัดเจนขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตพืชเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ข้าวนาปรังและอ้อย มีแนวโน้มปรับลดลงค่อนข้างมาก

……

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2023 ขยายตัว 1.5%YOY เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเติบโตชะลอลงจาก 1.8%YOY ในไตรมาสก่อน หรือคิดเป็นการขยายตัว 0.8%QOQ_sa เทียบไตรมาสก่อนหน้าแบบปรับฤดูกาล

เศรษฐกิจไทยด้านการใช้จ่าย (Expenditure approach) ในไตรมาสนี้ มีแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการส่งออกสินค้าและบริการสุทธิ และการบริโภคภาคเอกชน

  • การส่งออกภาคบริการขยายตัว 23.1%YOY ต่อเนื่องจาก 53.4% ในไตรมาสก่อน ตามรายรับจากการท่องเที่ยวและค่าบริการเดินทางที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยว สำหรับการนำเข้าภาคบริการหดตัว -3.5%YOY ตามการลดลงอย่างต่อเนื่องของค่าระวางสินค้าและปริมาณการค้าระหว่างประเทศ แต่ยังมีปัจจัยบวกจากรายจ่ายค่าบริการท่องเที่ยวและการเดินทางที่ยังขยายตัว
  • การบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 8.1%YOY ต่อเนื่องจาก 7.8% ในไตรมาสก่อน โดยเฉพาะการบริโภคหมวดบริการที่ขยายตัวมากถึง 15.5% ตามการขยายตัวของนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ ด้านการบริโภคหมวดสินค้าคงทนและไม่คงทนขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่การบริโภคหมวดสินค้าคงทนชะลอตัว
  • การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 3.1%YOY เร่งขึ้นจาก 1.0% ในไตรมาสก่อน ตามการขยายตัวต่อเนื่องในการลงทุนก่อสร้างที่ขยายตัว 3.6% โดยเฉพาะการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม และการลงทุนเครื่องจักรเครื่องมือที่ขยายตัว 3.1% ตามการนำเข้าเรือ เครื่องบิน และอุปกรณ์ที่เพิ่มขึ้น
  • การลงทุนภาครัฐหดตัว -2.6%YOY ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน การลงทุนของรัฐบาลหดตัว -3.4% เทียบไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 0.5%YOY สำหรับการลงทุนรัฐวิสาหกิจหดตัว -1.4% ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน โดยพบว่า การก่อสร้างของภาครัฐหดตัว -3.1% ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ส่วนใหญ่การก่อสร้างซ่อมแซมถนนและสะพานปรับลดลง ขณะที่การก่อสร้างของรัฐวิสาหกิจขยายตัวได้ 2.2% ต่อเนื่องจากการลงทุนโครงการต่อเนื่อง ได้แก่ โครงการด้านระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ไฟฟ้า ประปา และระบบขนส่ง สำหรับการลงทุนเครื่องจักรเครื่องมือของภาครัฐหดตัว -4.7% เทียบกับอัตราการขยายตัว 10.4% ในไตรมาสก่อน จากการจัดซื้ออุปกรณ์สำนักงาน ยานพาหนะ และเครื่องมือทางการแพทย์ที่ลดลง ขณะที่การลงทุนเครื่องจักรเครื่องมือของรัฐวิสาหกิจยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ -8.4% เทียบไตรมาสก่อนที่หดตัว -15.6%
  • การอุปโภคภาครัฐหดตัว -4.9%YOY ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนเช่นกัน จากการโอนเงินเพื่อสวัสดิการสังคมที่ไม่เป็นตัวเงินสำหรับสินค้าและบริการในระบบตลาด (ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับโควิด) หดตัวรุนแรง -38.6% ขณะที่การอุปโภคภาครัฐในหมวดอื่น ได้แก่ ค่าตอบแทนแรงงาน รายจ่ายซื้อสินค้าและบริการ ค่าเสื่อมราคาสินทรัพย์ถาวร และรายได้จากการขายสินค้าและบริการให้ครัวเรือนและผู้ประกอบการยังขยายตัวได้
  • ปริมาณการส่งออกสินค้าหดตัว -3.1%YOY ลดลงจากไตรมาสก่อนที่หดตัว -5.7% จากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ยังหดตัว เช่น ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ น้ำมันปาล์ม เครื่องปรับอากาศ ผลิตภัณฑ์โลหะ เคมีภัณฑ์และปิโตรเคมี ขณะที่การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ และสินค้าเกษตรขยายตัวดี โดยเฉพาะการส่งออกทุเรียนไปยังประเทศจีนตามอุปสงค์ที่อยู่ในระดับสูง และการส่งออกข้าวที่มีปัจจัยสนับสนุนจากการที่อินเดียห้ามส่งออกข้าว (ที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ) เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ และความมั่นคงด้านอาหารภายในประเทศ
  • ปริมาณการนำเข้าสินค้าหดตัว -11.8%YOY สูงกว่าไตรมาสก่อนที่หดตัว -4.3% จากการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบลดลง โดยเฉพาะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ขณะที่การนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวจากการลงทุนเครื่องจักรเครื่องมือของภาคเอกชน และการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า
  • สินค้าคงคลังลดลงรุนแรงสุดในรอบ 3 ปี โดยมูลค่าสินค้าคงคลังลดลง 186,490 ล้านบาท ณ ราคาประจำปี หรือ 98,372 ล้านบาทในระบบ CVM จากไตรมาสก่อน โดยสินค้าคงคลังสำคัญที่ลดลง ได้แก่ ข้าวสาร น้ำตาล เครื่องประดับอัญมณี พลาสติกและยางสังเคราะห์ขั้นต้น เภสัชภัณฑ์ และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง สำหรับสินค้าคงคลังที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียมและเนื้อสัตว์ปีกสด แช่เย็นและแช่แข็ง
  • เศรษฐกิจไทยด้านการผลิต (Production approach) ได้รับแรงสนับสนุนจากภาคบริการเป็นหลัก ภาคเกษตรยังขยายตัวได้แม้ชะลอลง ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่อง

  • ภาคการเกษตรขยายตัว 0.9%YOY ชะลอตัวมากที่สุดในรอบ 4 ไตรมาสจากสภาพอากาศร้อนที่เกิดขึ้นในช่วงสองไตรมาสที่ผ่านมาเริ่มส่งผลให้ผลผลิตพืชหลัก โดยเฉพาะข้าวเปลือก ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และสัปปะรดโรงงานปรับตัวลดลง ในขณะที่ผลผลิตหมวดปศุสัตว์ ประมง และผลผลิตผักผลไม้ยังขยายตัวได้
  • ภาคอุตสาหกรรมหดตัว -2.8%YOY รุนแรงขึ้นจาก -2% ในไตรมาสก่อนหน้า จากการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัว -4.0% รุนแรงขึ้น -3.2% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามความต้องการจากต่างประเทศที่ลดลง ในขณะที่สาขาการไฟฟ้า ก๊าซ ไอน้ำ และระบบปรับอากาศขยายตัว 4.7% ชะลอจาก 5.7% ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่สาขาเหมืองแร่และเหมืองหินพลิกกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 9 ไตรมาสที่ 1.1% จากการผลิตก๊าซธรรมชาติที่ขยายตัว 6.0% หลังจากที่ลดลง -2.5% ในไตรมาสก่อนหน้า และการผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวที่ขยายตัว 7.8% เร่งตัวขึ้นจาก 3.3% ในไตรมาสก่อนหน้า
  • หมวดบริการขยายตัว 3.9%YOY ขยายตัวได้ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้าและขยายตัวได้อย่างทั่วถึงในสาขาสำคัญ โดยสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารขยายตัวถึง 14.9% และสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าขยายตัว 6.8% นอกจากนี้ สาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ขยายตัวได้ 3.3%
  • ……

    เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสามของปี 2023 ขยายตัวต่ำกว่าตลาดคาดค่อนข้างมาก เศรษฐกิจไทยขยายตัว 1.5%YOY เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือคิดเป็น 0.8%QOQ_SA เทียบไตรมาสก่อนแบบปรับฤดูกาล ข้อมูลจริงออกมาต่ำกว่าตัวเลขที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ในการสำรวจของ Bloomberg ที่ 2.2%YOY หรือ 1.3%QOQ_SA ค่อนข้างมาก

    ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยไตรมาสสามนี้มีแรงหนุนสำคัญจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็น 7.1 ล้านคนในไตรมาสนี้ ด้านการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวดีสอดคล้องกับข้อมูลความเชื่อมั่นผู้บริโภค จำนวนทักท่องเที่ยว และอัตราการว่างงานที่ดีขึ้น รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่เริ่มชะลอลง ด้านการส่งออกสินค้า แม้จะยังหดตัวต่อเนื่องตามแนวโน้มเศรษฐกิจและการค้าโลก แต่การส่งออกสุทธิขยายตัวได้ดีจากการนำเข้าสินค้าที่หดตัวแรงกว่า ด้านการใช้จ่ายภาครัฐ ในภาพรวมรวมขยายตัวไม่ดีนัก เนื่องจากเป็นการคำนวณเทียบกับฐานในปี 2022 ที่ภาครัฐยังมีการใช้จ่ายเพื่อเยียวยาจากวิกฤติโควิด หากหักปัจจัยพิเศษดังกล่าวแล้ว การใช้จ่ายอื่นของภาครัฐยังขยายตัวได้ ด้านการลงทุนในประเทศขยายตัวจากการลงทุนภาคเอกชนเป็นหลัก ขณะที่การลงทุนภาครัฐหดตัวต่อเนื่อง

    สำหรับ GDP ด้านการผลิต (Production approach) ภาคบริการขยายตัวดีได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ภาคเกษตรชะลอตัวลงจากสภาพอากาศแล้ง อย่างไรก็ดี ภาคอุตสาหกรรมยังคงหดตัวต่อเนื่องตามการหดตัวของการผลิตเพื่อส่งออก ทั้งนี้การลดลงของสินค้าคงคลังที่รุนแรงที่สุดในรอบ 3 ปีเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่ำกว่าคาดในไตรมาสนี้

    ภาพรวมเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวใกล้ระดับก่อนโควิดช้ากว่าที่เคยประเมินไว้ แม้หลายภาคส่วนฟื้นตัวเหนือระดับดังกล่าวแล้ว

    เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2023 ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าก่อนวิกฤติโควิดประมาณ -0.8% ซึ่งแม้จะทยอยฟื้นตัวจาก -1.2% และ -1.5% ในสองไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งล่าช้ากว่าที่ SCB EIC เคยประเมินไว้ว่าจะกลับสู่ระดับก่อนวิกฤติโควิดได้ในไตรมาสนี้ หากพิจารณา GDP ด้านการใช้จ่าย พบว่าการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน การบริโภคภาครัฐ การลงทุนภาครัฐ และการส่งออกสินค้าอยู่ในระดับสูงกว่าระดับก่อนวิกฤติโควิดแล้ว แต่การส่งออกภาคบริการ (ซึ่งส่วนมากเป็นภาคการท่องเที่ยว) ยังอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนเกิดวิกฤติโควิดราว -30%

    หากพิจารณา GDP ด้านภาคการผลิต พบว่า ภาคเกษตรฟื้นตัวในระดับสูงกว่าก่อนวิกฤติโควิดตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2022 ภาคบริการสามารถฟื้นตัวขึ้นมาอยู่เหนือระดับก่อนวิกฤติโควิดได้เป็นครั้งแรกในไตรมาสนี้ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าก่อนวิกฤติโควิดราว -4.8% จากการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ยังหดตัวต่อเนื่อง

    SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยมีทิศทางฟื้นตัวช้า ๆ โดยไตรมาส 4 จะขยายตัวสูงกว่า 3 ไตรมาสแรก

    ปัจจัยสนับสนุนหลักยังมาจากการบริโภคภาคเอกชนที่มีแนวโน้มขยายตัวดี ตามตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวแข็งแกร่งกลับไปเท่าระดับก่อนวิกฤติโควิด รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบกับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยมีแนวโน้มเร่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในไตรมาสสุดท้ายหลังเริ่มเข้าสู่ช่วง High season โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากเอเชียและรัสเซีย (รูปที่ 4) แม้ช่วงที่ผ่านมามาตรการ Visa free สำหรับนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพของรัฐบาลอาจยังไม่เห็นผลชัดเจนมากนัก แต่คาดว่ามาตรการนี้จะสามารถกระตุ้นนักท่องเที่ยวได้มากขึ้นหลังเพิ่มกลุ่มประเทศเป้าหมาย อีกทั้ง การส่งออกสินค้าที่เริ่มฟื้นตัวจะมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องและพลิกกลับเป็นบวกได้ในไตรมาส 4 จากราคาส่งออกที่ปรับสูงขึ้นในสินค้าบางกลุ่ม (เช่น สินค้าเกษตร) และปัจจัยฐานต่ำ อย่างไรก็ดี จากข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาต่ำกว่าคาดการณ์มากทำให้ GDP ทั้งปีนี้มีแนวโน้มลดลงจากประมาณการเดิม

    มองไปในปี 2024 เศรษฐกิจไทยมีทิศทางฟื้นตัวเปราะบางบนความเสี่ยงรอบด้าน

    SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2024 จะเติบโตเร่งขึ้นได้ ตามนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องเป็น 37.7 ล้านคน การลงทุนภาคเอกชนที่จะขยายตัวดีขึ้นตามแนวโน้มการอนุมัติการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment) และมูลค่าการส่งออกสินค้าจะฟื้นตัวกลับเป็นบวก ด้านการอุปโภคภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวตามกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำที่เพิ่มขึ้นในปี 2024 ขณะที่การลงทุนของภาครัฐมีแนวโน้มหดตัวตามความล่าช้า

    ในการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2024 ส่งผลให้ภาพรวมแรงสนับสนุนเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มจำกัดในช่วงครึ่งแรกของปีเทียบช่วงครึ่งหลังของปีหน้า

    อย่างไรก็ดี ในปีหน้าต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงจากสงครามอิสราเอล-ฮามาส แม้ในกรณีฐานจะส่งผลต่อไทยไม่มาก แต่หากสถานการณ์ลุกลามรุนแรง เศรษฐกิจและเงินเฟ้อโลกรวมถึงไทยจะได้รับผลกระทบ ผ่านราคาน้ำมันโลกและความผันผวนในตลาดการเงินที่ปรับสูงขึ้น นอกจากนี้ เศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มขยายตัวต่ำลงอาจกระทบการส่งออกไทยโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่พึ่งพาตลาดจีนสูงและเป็นส่วนหนึ่งของ Supply chain จีน รวมถึงผลกระทบต่อ FDI จากจีนอาจชะลอลงบ้าง นอกจากนี้ อาจเริ่มเห็นผลกระทบจากวิกฤติภัยแล้งในหลายพื้นที่ชัดเจนขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตพืชเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ข้าวนาปรังและอ้อย มีแนวโน้มปรับลดลงค่อนข้างมาก กระทบภาคเกษตรและการส่งออกสินค้าเกษตรไทย

    เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนของนโยบายการคลัง โดยเฉพาะดิจิทัล วอลเล็ต (Digital wallet) แม้โครงการนี้จะมีความชัดเจนมากขึ้นในประเด็นผู้ได้รับสิทธิ ขนาดวงเงิน และแหล่งที่มาของเงิน รวมถึงขอบเขตการใช้จ่ายและประเภทสินค้าที่เข้าเกณฑ์ แต่ยังมีความไม่แน่นอนทางด้านกฎหมาย ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และความยั่งยืนทางการคลัง หากโครงการสามารถดำเนินการได้จริงตามแถลงการณ์ของรัฐบาล

    SCB EIC ประเมินว่า Digital wallet จะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวสูงกว่าระดับศักยภาพเพียงชั่วคราว แต่หลังจากนั้นเศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวตามศักยภาพตามเดิม ในขณะที่ต้องแลกด้วยต้นทุนการคลังสูงจากการใช้เม็ดเงินภาครัฐจำนวนมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น แต่มีผลบั่นทอนความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว ซึ่งอาจส่งผลให้หนี้สาธารณะสูงเกินเพดานหนี้ 70% ของ GDP เร็วขึ้นกว่ากรณีไม่มีโครงการนี้ รวมถึงจะกระทบพื้นที่การคลังที่จะใช้รองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าและเสถียรภาพการคลังของประเทศได้



    ทั้งนี้ตัวเลขคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2023 ล่าสุดอยู่ที่ 3.1% (คาดการณ์ ณ เดือนกันยายน 2023) โดย SCB EIC อยู่ระหว่างการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ ก่อนจะเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจใหม่ใน SCB EIC Monthly ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2023 ภายในสัปดาห์นี้

    บทวิเคราะห์โดย… https://www.scbeic.com/th/detail/product/gdp-201123