ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > EIC วิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันหลัง OPEC มีมติคงการผลิตน้ำมันดิบในระดับสูงต่อไป

EIC วิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันหลัง OPEC มีมติคงการผลิตน้ำมันดิบในระดับสูงต่อไป

8 ธันวาคม 2015


ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ(EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์หลัง OPEC มีมติคงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในระดับสูงต่อไป ระบุว่าผู้ผลิตน้ำมันกลุ่ม OPEC มีมติยังคงโควต้าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบไว้ระดับเดิมที่ 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังจากการประชุมเชิงนโยบายของประเทศกลุ่ม OPEC ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2015 โดยหลังจากที่ตลาดเปิดทำการในวันที่ 7 ธ.ค. 2015 ราคาน้ำมันดิบ (WTI) ปรับลดลงกว่า 6% มาอยู่ที่ ราว 37-38 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงต่ำที่สุดในปี 2015

OPEC คงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในระดับสูงต่อไป จึงทำให้ภาวะอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาดยังคงมีอยู่ และยังคงเป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่อง โดยซาอุดีอาระเบียผู้นำกลุ่ม OPEC ยืนยันว่ากลุ่ม OPEC จะยังคงผลิตน้ำมันดิบที่ระดับสูงต่อไป เนื่องจากต้องการรักษาส่วนแบ่งการตลาดจากผู้ผลิต Non-OPEC โดยเฉพาะผู้ผลิตรายใหญ่อย่างสหรัฐฯ และรัสเซีย โดยปัจจุบันกลุ่ม OPEC มีปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสูงถึง 31.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งสูงกว่าโควต้าการผลิตที่เคยตั้งไว้ที่ 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้ภาวะอุปทานส่วนเกินยังคงกดดันตลาดน้ำมันดิบอย่างรุนแรง

นอกจากนี้ ในปี 2016 ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม OPEC มีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากอิหร่านอาจได้รับการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรโครงการนิวเคลียร์ ซึ่งคาดว่าอิหร่านจะค่อยๆ เพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากปัจจุบันที่ระดับ 2.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ราว 3.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน และเพิ่มปริมาณการส่งออกน้ำมันจากเดิมอยู่ที่ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาเป็น 2-3 ล้านบาร์เรลต่อวัน

อย่างไรก็ดี นี่เป็นครั้งแรกที่มีสมาชิกในกลุ่มไม่เห็นด้วยกับมติของกลุ่ม และเสนอให้ลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบลง โดยเวเนซุเอลา หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม OPEC มีท่าทีไม่เห็นด้วยและต้องการให้กลุ่ม OPEC ลดปริมาณการผลิตลงเพื่อให้ราคาน้ำมันปรับระดับสูงขึ้น เนื่องจากสมาชิกบางรายในกลุ่ม OPEC โดยเฉพาะ เวเนซุเอลา ซีเรีย และบาห์เรน ได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรงจากการขาดดุลงบประมาณ ทำให้ต้องจับตานโยบายของกลุ่ม OPEC ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ในการประชุมครั้งถัดไปในช่วงกลางปี 2016

ที่มาภาพ : https://i.guim.co.uk/img/media/
ที่มาภาพ : https://i.guim.co.uk/img/media/

ทั้งนี้ราคาน้ำมันดิบในช่วงครึ่งแรกของปี 2016 จะยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยได้รับปัจจัยกดดันจากภาวะอุปทานน้ำมันล้นตลาดจากกลุ่ม OPEC เป็นหลัก โดย อีไอซี คาดว่าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2016 ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำ จากการที่ OPEC ยังคงปริมาณการผลิตในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งผู้ผลิตรายอื่นในกลุ่ม OPEC อย่าง อิรัก อิหร่าน และลิเบีย มีแนวโน้มที่จะเพิ่มปริมาณการผลิตและส่งออกเช่นเดียวกัน ทำให้ราคาน้ำมันดิบถูกกดดันจากภาวะอุปทานล้นตลาด

อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาดูผลของการประชุมของกลุ่ม OPEC ในครั้งถัดไปที่จะจัดขึ้นในช่วงกลางปี 2016 เนื่องจากเริ่มมีประเทศสมาชิกไม่เห็นด้วยกับนโยบายของกลุ่มมากขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้กลุ่ม OPEC มีการเปลี่ยนแปลงท่าทีในการปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบเพื่อพยุงราคาน้ำมันดิบต่อไป

นอกจากปัจจัยด้านอุปทานจากกลุ่ม OPEC แล้ว ยังต้องจับตาดูปัจจัยอื่นๆ ที่จะทำให้ราคาน้ำมันดิบในปี 2016 ยังคงผันผวน ไม่ว่าจะเป็นความไม่สงบในตะวันออกกลางที่ทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง และการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ โดยภาพรวมแล้วในปี 2016 ภาวะอุปสงค์และอุปทานจะเริ่มกลับเข้าสู่สมดุลมากขึ้น โดย EIA ได้ประเมินว่าในปี 2016 ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ จะลดลงราว 5 แสนบาร์เรลต่อวัน จาก 9.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 8.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากผู้ผลิตบางรายมองว่าเริ่มไม่คุ้มทุนการผลิต อีกทั้ง คาดว่าอุปสงค์การใช้น้ำมันดิบในปีหน้าจะเพิ่มสูงขึ้นราว 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี ปัญหาความไม่สงบในตะวันออกกลางจากกลุ่มก่อการร้าย ISIS ที่ยังทวีความรุนแรง และขยายวงกว้าง รวมถึงแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ จะยังเป็นปัจจัยระยะสั้นถึงระยะกลางที่จะทำให้ราคาน้ำมันดิบยังคงผันผวนต่อไป

สำหรับธุรกิจโรงกลั่น ปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมการผลิตจะยังคงได้รับผลบวกจากต้นทุนที่อยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่ ธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพจะยิ่งสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมการผลิตยังคงได้รับอานิสงส์ในด้านต้นทุนวัตถุดิบและการผลิตที่ลดลง อีกทั้ง ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำยังช่วยกระตุ้นให้อุปสงค์ของการใช้น้ำมันและปิโตรเคมีเพิ่มสูงขึ้นทั้งในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคขนส่ง ทำให้ส่วนต่างของกำไรของธุรกิจยังอยู่ในระดับสูง

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจพลังงานทางเลือกโดยเฉพาะธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพอาจจะได้รับผลกระทบ ซึ่งในขณะที่ราคาน้ำมันดิบยังอยู่ในระดับต่ำนั้น ทำให้ส่วนต่างของราคาน้ำมันสำเร็จรูปอย่าง E85 และเบนซิน แคบลง จากเดิมที่เคยห่างถึง 11 บาทต่อลิตร เหลือเพียง 4-5 บาทต่อลิตร เมื่อเปรียบเทียบกับความสิ้นเปลืองของน้ำมัน E85 ที่สูงกว่าน้ำมันเบนซินแล้ว จึงทำให้ไม่คุ้มค่าและไม่สามารถดึงดูดผู้บริโภคให้หันไปใช้ได้เท่าที่ควร