ThaiPublica > เกาะกระแส > “สุรชาติ บำรุงสุข” วิเคราะห์อนาคตประเทศไทยหลังเลือกตั้ง “… ผมกลัวว่าเราไม่ใช่แค่คนป่วยธรรมดา แต่อยู่ไอซียูที่ออกไม่ได้”

“สุรชาติ บำรุงสุข” วิเคราะห์อนาคตประเทศไทยหลังเลือกตั้ง “… ผมกลัวว่าเราไม่ใช่แค่คนป่วยธรรมดา แต่อยู่ไอซียูที่ออกไม่ได้”

7 เมษายน 2019


ประเทศไทยหลังการเลือกตั้งยังมองไม่เห็นหน้าตารัฐบาลใหม่ว่าเป็นอย่างไร มองไม่เห็นอนาคตประเทศว่าจะเดินไปในทิศทางไหน ผลของการเลือกตั้งที่มีปัญหาทำให้สังคมไทยยังขัดแย้ง แบ่งฝ่าย โจมตีทำลายกันในทางการเมืองไม่จบสิ้น

ในงานเสวนา “อนาคตการเมืองไทยหลังเลือกตั้ง” เนื่องในวันสัญญา ธรรมศักดิ์ ประจำปี 2562 เมื่อ 5 เมษายนที่ผ่านมา “ผศ. ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล” รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังมองโลกในแง่ดีว่า การเมืองไทยยังไปได้ และยังไม่ถึงตัน หากทุกฝ่ายเดินหน้าว่ากันไปตามกติกา เคารพเสียงของผู้อื่น

ที่สำคัญ ดร.ปริญญาชี้ว่า กกต.ต้องคำนวณสูตร ส.ส.ตามเจตนารมณ์ของประชาชน และควรประกาศผลเลือกตั้งให้ครบ 500 คนในวันที่ 9 พฤษภาคม อย่ากั๊กไว้แค่ 95% หรือ 475 คน เพราะไม่อย่างนั้นจะเกิดปัญหาตามมาอีกแน่นอน

เช่นเดียวกับ “ศ.วุฒิสาร ตันไชย” เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ที่คาดหวังว่า ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลด้วยสูตรไหนก็ตาม สังคมไทยต้องยอมรับ ปล่อยให้กลไกรัฐสภาเดิน ให้รัฐบาลเดินหน้าทำงานบริหาร ไม่ต้องมีคนออกมาเชียร์ข้างถนน ไม่ต้องมีคนมาแบ็คอัพข้างหลัง อยู่ไม่ได้ก็ยุบ (สภา) เลือกตั้งใหม่ นี่คือกติกาที่ควรจะเป็น

ศ.วุฒิสารยังเห็นว่า สิทธิเสรีภาพของประชาชนภายใต้รัฐบาลใหม่ต้องได้รับความคุ้มครอง คนเห็นต่างพูดได้ แสดงออกได้ เคารพความเห็นที่แตกต่างได้ ตามหลักสังคมประชาธิปไตย ส่วนรัฐธรรมนูญที่ถูกออกแบบมาแล้ว ไม่ว่าใครจะชอบหรือไม่ชอบต้องฟังก์ชัน ทำงานได้ ตรวจสอบได้ บนหลัก “นิติรัฐ”

“กลไกที่ถูกออกแบบไว้ต้องฟังก์ชันบนหลักนิติรัฐ หลักนิติธรรม ต้องเคารพสิ่งนี้ เพราะนี่เป็นหลักเดียวที่สังคมจะอยู่ได้ คือหลักนิติรัฐ ผมคิดว่านี่คือหลักสุดท้ายของสังคมไทยที่จะอยู่ และจะทำให้สังคมประชาธิปไตยอยู่ได้หรือไม่ได้”

ส่วนโจทย์ใหญ่ที่สุดในการแก้ปัญหาทางการเมือง ศ.วุฒิสารระบุว่า คือการลดสภาพความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม ระบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมต้องถูกแก้ไข การแก้ความเหลื่อมล้ำต้องเกิดได้จริง

ไทยอาจไม่ใช่คนป่วยธรรมดา แต่อยู่ห้องไอซียูที่ออกไม่ได้

ด้าน “ศ. ดร.สุรชาติ บำรุงสุข” อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ให้เห็นภาพว่า การเมืองไทยยังอยู่ในสภาวะมีปัญหาเสถียรภาพ ไม่แน่นอน แต่โลกล้อมไทยอยู่ นั่นคืออาเซียนรอเราอยู่ เพราะยังไม่มีประธานอาเซียน คำถามก็คือ หากยังตั้งรัฐบาลไม่ได้ ประเทศไทยจะเอาอย่างไร ตอบอย่างไรกับสังคมโลก

“โดยสถานะ ถึงคิวประเทศไทย ที่นายกรัฐมนตรีไทยต้องเป็นประธานอาเซียน แต่วันนี้อาเซียนนั่งรอเรา แล้วไม่ใช่นั่งรออย่างเดียว เพราะอาเซียนประชุมเสร็จประมาณเดือนมิถุนายน เดือนกรกฎาคมจะมีการประชุมจี 20 ประธานอาเซียนต้องไป แต่ถ้าสมมุติมิถุนา เข้ากรกฎา ยังตั้งรัฐบาลไม่ได้ ตกลงจะยังไง”

“ก็แปลว่าภาพลักษณ์เราในเวทีระหว่างประเทศที่ผมพูดมาตั้งแต่ปี 2552-2553 ว่าเป็นคนป่วย ผมกลัวอย่างเดียวนะครับ เรากลายเป็นไม่ใช่แค่คนป่วยธรรมดา แต่อยู่ห้องไอซียูที่ออกไม่ได้ แล้วก็ไม่ยอมออกด้วย” ดร.สุรชาติกล่าว

นักวิชาการรัฐศาสตร์กล่าวว่า เราหวังว่าการเลือกตั้งจะเป็นทุกอย่าง จะเป็นปัจจัยที่นำมาซึ่งเศรษฐกิจด้านบวก มีการลงทุนจากต่างประเทศ เป็นกุญแจทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ทำให้เกิดเสถียรภาพ เกิดความแน่นอนทั้งกับนักลงทุนและกับการเมืองภายในบ้าน แต่เอาเข้าจริง ดูเหมือนอาจจะผิดทุกอย่าง

ต้องไม่ลืมว่าในประวัติศาสตร์การเมืองไทย การเลือกตั้งเป็นกุญแจดอกใหญ่ รัฐประหารเป็นเหมือนปุ่มบนแป้นคอมพิวเตอร์ พูดง่ายๆ รัฐประหารคือปุ่มรีเซ็ต พอท่านกดปึ๊บ ทุกอย่างที่อยู่ในจอคอมพ์ก็หาย แล้วเราก็ตั้งหลักกันใหม่ แล้วเราก็หวังว่าการเลือกตั้งจะเป็นจุดเริ่มต้น

“แต่วันนี้มันเริ่มไม่เป็นอย่างนั้น แปลว่าสังคมไทยในอนาคตที่เรากำลังจะเผชิญ ความไร้เสถียรภาพและความไม่แน่นอน อาจจะมากกว่าที่เราคิด”

ดร.สุรชาติชวนตั้งข้อสังเกตว่า กฎกติกาทางการเมืองในปัจจุบันออกแบบมาเพื่อคนคนเดียว คือ “เพื่อตู่” หรือไม่ หากเป็นอย่างนั้น อนาคตการเมืองไทยจะยังไร้เสถียรภาพและคาดเดาไม่ได้ แต่เห็นว่ามี 3 ช่องที่จะจบสภาวะแบบนี้ได้ คือ 1. ศาล 2. ชุมนุม และ 3. ยึด (อำนาจ) แต่ช่องสุดท้ายเป็นอะไรที่ไม่อยากเห็น เพราะยึดแล้วการเมืองไทยยิ่งเลวร้ายลงแน่ๆ และไทยจะอธิบายกับโลกไม่ได้

“หรือในกรอบที่เล็กที่สุด สิ่งที่ผมเคยพูดมาตลอดคือ ไม่มีใครอยากเห็นประธานอาเซียนมาจากหัวหน้าคณะรัฐประหาร นี่คือโจทย์ใหญ่อันหนึ่ง ฉะนั้นใน 3 หนทางนี้ แน่นอนว่าเราอยากเห็นหนทางที่สันติที่สุด เพราะน่าจะเป็นอะไรที่ดีที่สุดสำหรับอนาคตของการเมืองไทย”

ศ. ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พื้นที่การเมืองคนรุ่นใหม่ ในโลกไซเบอร์

ทั้งนี้ ดร.สุรชาติ ยังมองโจทย์อนาคตประเทศไทยไว้หลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็น เรื่องพื้นที่ทางการเมืองใหม่ สำหรับคนรุ่นใหม่ “…พื้นที่ใหม่ที่อาจจะไม่ใช่สำหรับคนรุ่นผมแล้ว ปัจจุบันไซเบอร์เป็นพื้นที่ใหญ่มาก ซึ่งพื้นที่ชุดนี้น่าสนใจ เพราะมีการนำการเมืองใส่เข้าไปในพื้นที่ไซเบอร์ด้วย เอาความมั่นคงใส่เข้าไปด้วย”

แปลว่าเวลาเราพูดถึง fake news ข่าวมั่ว ข่าวปลอม ข่าวปลุกทั้งหลาย มันถูกสร้างมากอยู่ในพื้นที่ไซเบอร์ โดยไม่มีการตรวจสอบข่าว แล้วเมื่อไหร่ที่นั่งเสพไปเรื่อยๆ จะเกิดอาการเชื่อโดยไม่มีข้อสงสัย ในบริบทของคนทำงานความมั่นคงอย่างพวกผม พวกที่เสพชุดอย่างนี้ส่วนหนึ่ง สุดท้ายหากมองในโจทย์ความมั่นคง มันสามารถกลายเป็นผู้ก่อการร้ายได้

“ผมเรียกว่าเป็นพวกที่ ‘อ่านแล้วอิน’ หรืออ่านไปเรื่อยๆ จนอิน แล้วเปลี่ยนตัวจากคนอ่าน กลายไปเป็นผู้ปฏิบัติการ ฉะนั้นในโลกไซเบอร์ วันนี้เราเห็นตัวแบบของโจทย์ใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นประเด็นที่จะต้องคิดถึงในอนาคต”

ดร.สุรชาติเปรียบเทียบปรากฏการณ์ “อาหรับสปริง” ปี 2011 กับประเทศไทยในปัจจุบันว่า มีความคล้ายคลึงกัน “..กรุงเทพฯ เปรียบกับกรุงไคโร มันมีภาพคล้ายกัน ในไคโรเราเห็นปรากฏการณ์สามส่วน เห็นความใหม่สามส่วน คือ 1. เห็นคนรุ่นใหม่ออกมาต่อสู้กับรัฐบาลทหารของอียิปต์ 2. การต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ ใช้เครื่องมือสื่อสารชุดใหม่ คือเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยูทูบ ในบริบทอย่างนี้ มันเกิดพื้นที่ใหม่ในทางการเมือง คือ 3. “พื้นที่การเมืองที่เป็นไซเบอร์”

“เพราะฉะนั้นคนรุ่นใหม่ การสื่อสารใหม่ พื้นที่ใหม่ มันนำไปสู่การเมืองชุดใหม่ แน่นอนอียิปต์อาจจะมีอาหรับสปริง ซึ่งผมคิดว่าอาการอาหรับสปริงเราเห็นที่กรุงเทพฯ คนรุ่นใหม่ การสื่อสารใหม่ และพื้นที่ทางการเมืองใหม่ ที่นำไปสู่การเมืองชุดใหม่ กำลังเกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ ไม่ต่างกัน เว้นแต่รอบนี้อาจจะไปไม่ถึงอาหรับสปริงแบบที่ไคโร แต่อย่างน้อยเราเห็นภาพที่พอจะเปรียบเทียบได้”

บทบาท “ทหาร” กับการเมืองไทย

ประเด็นต่อมา ดร.สุรชาติกล่าวถึง “บทบาททหารกับการเมือง” โดยระบุว่า ผมคิดว่าเรื่องเดิมที่พูดคือบทบาททหารต้องมีคำตอบแล้วว่า สังคมไทยคิดอย่างไรกับกองทัพ ผมไม่แน่ใจว่าเราควรทำประชามติมั้ย กองทัพควรมีบทบาททางการเมืองมั้ย เป็นต้น

อย่างน้อย ผมคิดว่าเราเห็นบทบาททหารมานาน แล้วต้องตั้งคำถาม เพราะต้องไม่ลืมว่าระบบประชาธิปไตย “กองทัพเป็นกลไกของรัฐ กองทัพไม่ใช่รัฐ” สถาบันหลักทางการเมืองในความหมายทั้งทางนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์คือฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ

ยกเว้นเราจะบอกว่าประเทศไทยจะออกแบบใหม่ บริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ และกองทัพ ถ้าคิดอย่างนั้น ก็ต้องคิดกันอีกแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้นบทบาทส่วนนี้เป็นอะไรที่ต้องถามกันต่อ ซึ่งเชื่อมโยงกับประเด็นเรื่องโจทย์ “ปฏิรูปกองทัพ” ที่เริ่มมีการเรียกร้องและเป็นกระแส

“ไม่ว่าวันนี้ใครจะตั้งรัฐบาล แต่เห็นตัวเลขของพรรคบางพรรค พูดตรงๆ คือเมื่อพรรคอนาคตใหม่เข้าไปเป็น ส.ส.ในสภา กระแสชุดนี้อยู่ในสภาแน่ๆ แล้วกระแสชุดนี้น่าสนใจ เพราะเวลาไปถามคนรุ่นใหม่ เช่น เวลาสื่อไปถามว่าอยากเกณฑ์ทหารมั้ย คนไม่อยากเกณฑ์ ถ้าคิดอย่างนี้ก็ต้องออกแบบกองทัพกันใหม่”

“ผมคิดว่าต้องมองเรื่องนี้ด้วยความจริงจัง มากกว่าที่เราจะคิดว่ามันเป็นกระแส แต่ต้องคิดว่า แล้วรูปแบบกองทัพสมัยใหม่ของไทยในอนาคต เราจะออกแบบอย่างไร นั่นหมายความว่าโจทย์เรื่องการปฏิรูปกองทัพเป็นโจทย์ที่ต้องคิดต่อ”

ไทยต้องพาตัวเองออกจากหล่มลึกทางการเมือง

ดร.สุรชาติกล่าวด้วยว่า ผมคิดว่าวันนี้ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันอยู่พอสมควรว่า โจทย์ที่เราพูดถึง มันคงต้องออกแบบกติกากันใหม่ แต่ปัญหาคือ อำนาจอยู่ตรงไหนในการที่จะทำให้การออกแบบใหม่มันเกิดขึ้นได้

ทุกคนคาดหวังว่าถ้าอย่างนั้นแก้รัฐธรรมนูญมั้ย อีกปีกหนึ่งก็บอกไม่มีทาง ไม่ให้แตะ เป็นต้น แต่ผมเชื่อว่าเราเห็นกติกาที่มีปัญหา แล้วรู้ว่ากติกานี้กำลังสร้างปัญหาให้กับประเทศไทย ไม่ใช่กับการเมืองไทยเท่านั้น แต่กติกาที่ท่านเห็นชุดนี้ทั้งหมด เป็นการออกแบบเพื่อทำให้ประเทศไทยติดหล่ม เรากำลังติดหล่มอยู่กับตัวเอง แล้วพาตัวเองขึ้นจากหล่มชุดนี้ไม่ได้ หล่มทางการเมืองชุดนี้ลึก พาตัวเราเข้าไปติด

ในขณะที่วันนี้ประเทศเพื่อนบ้านในกรอบอาเซียนเติบโตขึ้น หลายครั้งเรานั่งมองเพื่อนบ้านมีปัญหา เห็นเพื่อนบ้านเป็นคนป่วย ในอดีตคำว่าคนป่วยแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นคือฟิลิปปินส์ แต่หลายปีแล้วที่ผู้นำฟิลิปปินส์ประกาศว่าเขาออกจากห้องป่วยแล้ว นั่นหมายความว่า วันนี้เราเริ่มเห็นการเติบโตของเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นกรณีของฟิลิปปินส์ หรือเวียดนาม

“ถ้าเป็นอย่างนี้ ต้องคิดที่จะทำให้การเมืองกลับสู่ภาวะปกติ แปลว่ารัฐบาลต้องเป็นรัฐบาล สภาต้องเป็นสภา ศาลต้องเป็นศาล และสุดท้ายสำคัญที่สุด กองทัพต้องเป็นกองทัพ เราจะไม่มีอะไรที่เกินเลยไปจากเงื่อนไขปกติ เพราะฉะนั้นประเด็นเหล่านี้ เป็นประเด็นที่ต้องคิด”

“เศรษฐกิจ-ความมั่นคง-ต่างประเทศ” โจทย์ท้าทายรัฐบาลใหม่

ประเด็นถัดมาคือ “โจทย์เศรษฐกิจ” ดร.สุรชาติระบุโดยตั้งข้อสังเกตุว่า การเมืองไทยวันนี้เลยเรื่องเหลืองแดงไปพอสมควรแล้ว พลังขับเคลื่อนทั้งเหลืองทั้งแดงไม่ใช่บริบทหลัก โจทย์ใหญ่ที่มาสลายสีเสื้อได้แต่ยังพูดกันน้อยมากในสังคมไทยคือโจทย์เศรษฐกิจ

วันนี้หลายท่านอาจกำลังเห็นรูปแบบของ “การประท้วงชุดใหม่ของโลก” ที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศส คือการประท้วงของคนใส่ “เสื้อแจ็คเก็ตเหลือง” ไม่ใช่เสื้อเหลืองกรุงเทพฯ คนละมิติกัน แต่แจ็คเก็ตเหลืองที่ฝรั่งเศส เปิดการประท้วงทุกวันเสาร์ ซึ่งน่าสนใจ เพราะไม่ได้มาจากโจทย์การเมือง แต่มาจากโจทย์เศรษฐกิจ เป็นการประท้วงแบบแกนนอน คือไม่มีแกนนำ โพสต์กันในไซเบอร์ ในเว็บไซต์ มีปัญหาเหมือนกัน แล้วออกมาประท้วงร่วมกัน

“ตัวแบบของแจ็คเก็ตสีเหลืองในฝรั่งเศสระบาดในยุโรปแล้ว และเข้าเอเชียแล้วในบางประเทศ ในอนาคตการประท้วงไทย ถ้าสีเสื้อสลาย โจทย์เศรษฐกิจชุดนี้จะก่อให้เกิดเสื้อแจ็คเก็ตสีเหลืองในอนาคตของสังคมไทย”

ดร.สุรชาติกล่าวว่า ในทางรัฐศาสตร์เราพูดแต่การเลือกตั้ง แต่ต้องไม่ลืมว่ารัฐบาลไทยชุดข้างหน้าจะมีโจทย์เศรษฐกิจ โจทย์ความมั่นคง และโจทย์นโยบายต่างประเทศ เป็นปัญหาความท้าทายใหญ่ นอกจากโจทย์การเมืองภายในประเทศ วันนี้เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในเอเชีย กำลังเผชิญกับการต่อสู้ของสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน จีนกำลังแสดงอิทธิพลในภูมิภาคเรา ผู้นำไทยต้องตอบในเชิงนโยบาย

“ผมไม่ได้บอกว่าเราจะต้องเลือกข้างระหว่างปักกิ่งหรือวอชิงตัน ในอนาคตไทยไม่มีสิทธิ์เลือกข้าง แต่ไทยจะต้องยืนอยู่ให้ได้ระหว่างปักกิ่งกับวอชิงตัน แต่ต้องไม่ยืนเป็นเพียงหญ้าแพรก ที่ช้างสารใหญ่สองตัวกำลังทะเลาะกัน แล้วเราตายภายใต้รอยเหยียบของเท้าช้าง”

สงครามการค้าชุดนี้  ในโลกาภิวัตน์ เราเป็นห่วงโซ่ของการเปลี่ยนแปลง ประเทศไทยต้องตระหนักว่าเราต้องค้าและต้องอยู่ได้ทั้งกับจีนและอเมริกา

“โจทย์ความมั่นคงเช่นเดียวกัน เราจะไม่แปรกองทัพไทยเป็นกองทัพจีน ภายใต้การซื้ออาวุธอย่างที่เห็น แต่ต้องคิดมากกว่าสิ่งที่เราเห็น รวมทั้งโจทย์ชุดหนึ่งที่ต้องคิดต่อคือ เรื่องรถไฟความเร็วสูง ว่าจะเอาอย่างไร”

“เราจะเชื่อมต่อกับ 1 แถบ 1 เส้นทางของจีนมั้ย รวมถึงโจทย์ใหญ่ที่สุด คือตกลงจะยอมให้จีนตัดช่องแคบมะละกาหรือไม่ จะยอมตัดช่องแคบมะละกาภายใต้การเปิดเส้นทางการเดินเรือของจีนหรือไม่”

ออกแบบ “การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองใหม่”  ไม่ซ้ำรอยอดีต

ดร.สุรชาติยังกล่าวด้วยว่า ประเทศไทยต้องคิดใหม่ใน 2 เรื่องคือ 1. การเปลี่ยนผ่านทางการเมือง และ 2. กระบวนการสร้างประชาธิปไตย โจทย์ชุดนี้ต้องคิดอนาคต และต้องออกแบบอนาคต หรืออย่างน้อยต้องเป็นหลักประกันให้กับคนรุ่นหลังว่า “การเมืองไทยจะไม่หวนคืนสู่การติดหล่มแบบยุคปัจจุบัน”

คงต้องคิดแล้วว่าการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของไทยอาจจะต้องมียุทธศาสตร์ประชาธิปไตย คนรุ่นผมที่ผ่าน 14 ตุลา 2516 ผ่าน 6 ตุลา 2519 คนรุ่นอาจารย์ปริญญา ผ่านพฤษภาปี 2535 ไม่อยากเห็นโจทย์ย้อนกลับสู่โลกอดีตของการเมืองไทย เพราะมันไม่ตอบอะไรเลย

แล้วสุดท้ายผมคิดว่าสังคมไทยต้องมองการเมืองไทยด้วย “ความหวัง”และ “ความอดทน” อย่ามองการเมืองด้วยความหดหู่ การเมืองมีอนาคตเสมอ

ผมพูดภาษาโรแมนติก เปรียบเทียบกับโลกในอาหรับ “ไม่มีปีไหนที่ฤดูใบไม้ผลิไม่มา อาจจะมาช้าบ้าง ฤดูใบไม้ผลิมาเสมอ” ผมยังมีความหวังที่จะเห็นฤดูใบไม้ผลิเบ่งบานที่กรุงเทพฯ เฉกเช่นเดียวกับที่ผมเชื่อว่า วันนี้ต้องอดทนกับการเมืองไทย และต้องสู้ในระบบ

“หวังอย่างเดียวว่า คนอีกปีกหนึ่งจะยอมรับการต่อสู้แบบในระบบ เราจะไม่เป็น Bangkok Shutdown เพราะไม่เป็นประโยชน์ และเราก็จะไม่มีรัฐประหาร เพราะไม่เป็นประโยชน์ แต่ถ้าเงื่อนไขอย่างนั้นเกิดขึ้น ผมคิดว่าต้องคิดต่อ ถ้าจะพาประเทศไทยกลับสู่มิติขวาจัดแบบเดิม ผมว่าชีวิตคนรุ่นใหม่ไม่ตอบรับ”

หลายท่านในที่นี้เป็นอาจารย์ทราบดีว่า ลูกศิษย์เราเป็นคนอีกชุดหนึ่ง มีความคิดอีกแบบหนึ่ง การต่อสู้ในอนาคต สำหรับคนรุ่นใหม่ ผมคิดว่ามันกำลังเปิดโจทย์ชุดใหม่ เหมือนอย่างที่เราเคยเห็นในโลกอาหรับ

แม้ว่าอาหรับจะเผชิญผลพวงในกรณีของอียิปต์ หลังจากนั้นชัยชนะก็ถูกโค่นล้มโดยฝั่งทหาร แต่วันนี้ผมคิดว่าสังคมไทยผ่านรัฐบาลทหารมามากพอสมควร และพิสูจน์ขีดความสามารถของรัฐบาลทหาร ถ้า 5 ปี คสช.ประสบความสำเร็จ วันนี้การเลือกตั้งคงไม่ต้องประท้วง เพราะ พปชร.จะชนะ

“แต่ใน 5 ปีที่ผ่านมา ผมไม่พูดว่าการเมืองล้มเหลวแค่ไหน แต่ผมคิดว่าโจทย์เศรษฐกิจที่ล้มเหลว มันนำไปสู่เรื่องข้อถกเถียงหลายอย่าง”

เพราะฉะนั้น ทั้งหมดตอนนี้มีอย่างเดียว เข็ดขัดอาจจะสั้น (คาดไม่ถึง) แต่เราก็หวังว่าทุกอย่างมันจะอยู่ในกฎ กติกา และอาจจะต้องเติมคำว่ามารยาท เข้าไปด้วย เพราะถ้าไม่มีมารยาทการเมืองก็มีปัญหาอีกแบบหนึ่ง

ที่สำคัญ ภายใต้ความตื่นตัวทางการเมืองของคนในหลายอายุ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ๆ ผมคิดว่า ถ้าเรามองโจทย์อย่างนี้ ต้องมีความหวังว่า ความตื่นตัว ความสนใจทางการเมืองทั้งหลาย จะเป็นปัจจัยที่พาเราก้าวข้ามปัญหาต่างๆ

“อย่างน้อยผมเชื่อว่า เราเห็นมิติจากการเลือกตั้งที่ผ่านมาว่า สีเสื้อสลายลงไปมากแล้ว เพราะฉะนั้นในอนาคต เหลืออย่างเดียวแล้วครับ คือเห็นอนาคตที่จะพาประเทศไทยเดินไปข้างหน้าร่วมกัน” ดร.สุรชาติสรุปทิ้งท้าย