ThaiPublica > คอลัมน์ > ภาระหนี้ครัวเรือนและความเหลื่อมล้ำกับการพัฒนาที่ยั่งยืน

ภาระหนี้ครัวเรือนและความเหลื่อมล้ำกับการพัฒนาที่ยั่งยืน

20 ธันวาคม 2023


ผศ. ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า [email protected]

เป้าหมายที่ 10 ของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG 10) กล่าวถึงการลดลงของความเหลื่อมล้ำ (reduced inequality) ในทุกมิติทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาประเทศจะมีความยั่งยืนได้ จำเป็นต้องลดความเหลื่อมล้ำลง อย่างน้อยที่สุดจนอยู่ในระดับที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาในระดับต่อๆ ไป ซึ่งก็หมายความว่า ประชาชนโดยส่วนใหญ่ (หรือทั้งหมด) ของประเทศควรจะมีโอกาสทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกัน (ไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องมีรายได้เท่ากัน หรือมีความมั่งคั่งเท่ากัน) แต่หมายความว่า ใครก็ตามในระบบเศรษฐกิจที่มีความขยัน มีความมานะพยายาม มีความสามารถ มีทักษะที่ดี ควรจะได้รับโอกาสและใช้โอกาสนั้นในการสร้างรายได้ได้อย่างทั่วถึง

รากเหง้าของความไม่เท่าเทียมจึงเป็นเรื่องของการเอารัดเอาเปรียบกันในสังคม เป็นการช่วงชิงแก่งแย่งกัน ไม่ได้เป็นการแข่งขันกัน ในสังคมที่กฎกติกามีความไม่เป็นธรรม มีการทุจริตคอร์รัปชันกันเพื่อใช้อำนาจในการสร้างความได้เปรียบที่ไม่ได้มาจากการแข่งขันที่เป็นธรรม จึงมักจะเป็นสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง และเมื่อมีความเหลื่อมล้ำสูงแล้ว ความเหลื่อมล้ำนั้นก็จะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งในรายงานความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนสำหรับประเทศไทย ได้จัดเป้าหมายการลดความเหลื่อมล้ำ (SDG 10) ไว้ในกลุ่มที่มีความท้าทายมากต่อการบรรลุเป้าหมายตามกรอบเวลาที่กำหนด

รายงานข้อมูลสถานะหนี้ครัวเรือนสำหรับไตรมาสที่ 3/2566 พบว่าครัวเรือนไทยมีมูลหนี้สูงถึง 16 ล้านล้านบาท คิดเป็นกว่าร้อยละ 90 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ โดยเป็นหนี้ที่มีการรายงานจากสถาบันการเงินซึ่งรวบรวมโดยเครดิตบูโรประมาณ 13.5 ล้านล้านบาท (อนุมานเอาว่าที่ไม่ได้มีการรายงานก็น่าจะเป็นหนี้นอกระบบประมาณ 2.5 ล้านล้านบาท) ตัวเลขหนี้ทั้ง 2 ส่วน (ในระบบและนอกระบบ) มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโควิด-19 ในจำนวนมูลหนี้ 13.5 ล้านล้านบาทนี้ (ขอเรียกว่าเป็นหนี้ในระบบเพราะมีการรายงานโดยสถาบันการเงิน) ถูกจัดว่าเป็นหนี้เสียแล้ว (ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด) 1.05 ล้านล้านบาท และเป็นหนี้ที่กำลังจะเสียอีกกว่า 4.9 แสนล้านบาท

สถานะหนี้ครัวเรือนในภาพรวมที่กล่าวถึงนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางทางการเงินของภาคครัวเรือนที่มีความสำคัญมากต่อการพัฒนาของประเทศอย่างยั่งยืน เศรษฐกิจไทยมีโครงสร้างที่มีความเหลื่อมล้ำทางด้านความมั่งคั่งสูง คือ มีประชากรในสัดส่วนมากถือครองทรัพย์สินน้อยกว่าทรัพย์สินที่ถือครองโดยประชากรในสัดส่วนน้อยกว่า (คนรวยจำนวนน้อยถือครองทรัพย์สินมากกว่าคน “ไม่รวย” จำนวนมากถือครองทรัพย์สิน) ปริมาณหนี้ (มูลหนี้) ที่เพิ่มขึ้นจะมีปัญหาหรือมีโอกาสจะเป็นปัญหา (หมายถึง โอกาสที่หนี้เหล่านั้นจะเป็นหนี้เสีย) น้อยกว่ามากถ้าการก่อหนี้นั้นเป็นการก่อหนี้ของประชากรที่มีฐานะดี มีรายได้เพียงพอ และมีการถือครองทรัพย์สิน ในทางตรงกันข้าม ถ้าการก่อหนี้นั้น (อาจจะเพราะความจำเป็นหรือความไม่จำเป็นตามแต่กรณี) โดยประชากรที่มีความมั่งคั่งน้อยหรือไม่มีเลย ก็จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นหนี้เสียมาก

ข้อมูลหนี้ครัวเรือนที่ปรากฏขึ้นควบคู่กับสภาวะความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ในสังคมไทยกำลังชี้ไปในทิศทางที่ว่า ประชากรไทยในสัดส่วนที่มากขึ้นเรื่อยๆ (ผู้เขียนคาดว่าจะเป็นประชากรในกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำ) กำลังถูกแรงกดดันจากสภาวะทางเศรษฐกิจในหลายด้าน จนทำให้รองรับไม่ไหวและจะถูกดันให้กลายเป็นกลุ่มคนจน ซึ่งมักจะถูกทิ้งไว้ข้างหลังในขบวนการพัฒนา ดังนั้นสำหรับประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง (ที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง) เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว นอกจากประชากรในกลุ่มนี้จะมีจำนวนมากแล้ว การแก้ไขปัญหาหนี้ของภาคครัวเรือนก็จะมีความซับซ้อนมากกว่ามาก เช่น กรณีของคนจน หนี้ที่เกิดขึ้นมักจะเป็นหนี้ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพ (จากภาคเกษตรโดยส่วนใหญ่) หรือเป็นหนี้อุปโภคบริโภค (คือกู้มากินมาใช้เพราะรายได้ไม่พอ หรืออาจจะเป็นเพราะการใช้จ่ายเกินตัว หรือเป็นความผิดพลาดจากการบริหารการเงินของครัวเรือน)

ถ้าจะพิจารณาจากความเป็นจริงที่เกิดขึ้น หนี้เหล่านี้ก็มักจะเป็นหนี้นอกระบบเสียเป็นส่วนใหญ่เพราะสถาบันการเงินในระบบก็คงประเมินแล้วและไม่ให้กู้ไปตั้งแต่ต้น หรือไม่ก็เป็นหนี้ในกลุ่มเกษตรกรที่กู้เพื่อการทำการเกษตร แต่หนี้ครัวเรือนที่รายงานโดยข้อมูลของเครดิตบูโร เป็นหนี้ของประชากรในกลุ่มที่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ (กู้ซื้อบ้าน กู้ซื้อรถ ฯลฯ) แสดงว่าผู้กู้ในกรณีนี้มีฐานะ มีฐานรายได้ (หรือเรียกว่า “มีเครดิต”) อยู่พอสมควร ซึ่งในขณะยื่นกู้และได้รับอนุมัตินั้นก็เป็นผู้มีเครดิตดีพอสมควร แต่เมื่อเวลาผ่านไป ได้รับผลกระทบจากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจนทำให้ไม่สามารถชำระคืนหนี้ได้อีกต่อไป ก็กลายเป็นหนี้เสีย การเพิ่มขึ้นของหนี้เสียและหนี้กำลังจะเสียในระบบตามรายงานของเครดิตบูโร จึงเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความเปราะบางทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับครัวเรือนจำนวนไม่น้อยในสังคมไทยเพราะโครงสร้างของประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำสูง (สัดส่วนของประชากรในกลุ่มนี้มีจำนวนมาก) ถ้าไม่สามารถแก้ไขปัญหาหนี้เหล่านี้ให้ทุเลาเบาบางลงไปได้ การพัฒนาประเทศให้ได้อย่างยั่งยืนคงจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก

การแก้ไขปัญหาหนี้ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูงมีความซับซ้อน ทั้งจากสาเหตุของการเป็นหนี้เสียโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของขีดความสามารถในการสร้างรายได้และการชำระหนี้ของลูกหนี้ การเปลี่ยนแปลงของสภาวะค่าครองชีพ และความสามารถของลูกหนี้ในการปรับตัวเพื่อรองรับกับภาระค่าครองชีพที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งส่งผลกระทบที่ไม่เท่ากันต่อกลุ่มลูกหนี้ที่มีสถานะทางการเงินแตกต่างกัน มาตรการในการให้การช่วยเหลือลูกหนี้จำเป็นต้องมีความหลากหลาย เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาหนี้และโครงสร้างของหนี้ของแต่ละครัวเรือนที่เป็นลูกหนี้

การใช้มาตรการในรูปแบบเดียวเพื่อแก้ปัญหาหนี้เสียทั้งหมด (one-size fit all measure) โดยเฉพาะมาตรการที่เป็นการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ในรูปแบบต่างๆ เช่น การลดดอกเบี้ยลดเงินต้น การผ่อนผันยืดระยะเวลาการชำระหนี้ หรือแม้แต่การยกหนี้ให้ในบางกรณี ฯลฯ มีความเสี่ยงต่อการเกิด moral hazard มากขึ้นเมื่อลูกหนี้ โดยเฉพาะลูกหนี้ที่ยังมีความสามารถในการชำระหนี้ได้ตามปกติเห็นว่า การตั้งใจทำให้ตัวเองกลายเป็นหนี้เสีย (ทั้งๆ ที่สามารถชำระได้และจะไม่เป็นหนี้เสีย) เพื่อจะได้รับประโยชน์จากการได้รับความช่วยเหลือ จะเป็นการลดภาระหนี้ของตน การหาความสมดุลระหว่างการให้ความช่วยเหลือ ประคับประครองให้ลูกหนี้ที่มีปัญหาสามารถชำระหนี้ไปได้ และการสร้างให้ลูกหนี้มีความรับผิดชอบต่อภาระหนี้ที่ก่อขึ้นนั้นทำได้ยาก และยากมากขึ้นในสังคมที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำ

ดังนั้น การสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจอาจจะเป็นอีกมิติหนึ่งที่จะต้องใช้ควบคู่ไปกับมาตรการอื่นๆ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ของครัวเรือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าการแก้ไขปัญหาหนี้จะมีความยั่งยืนได้ ไม่ได้เป็นเพียงการแก้ไขหนี้ให้กับลูกหนี้ในปัจจุบันเพื่อจะกลับมาเป็นหนี้เสียอีกในอนาคต การเป็นหนี้หรือมีหนี้มากไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่ขึ้นอยู่กับคุณภาพของการเป็นหนี้ (ทั้งฝั่งที่เป็นเจ้าหนี้และฝั่งลูกหนี้ ความรับผิดชอบต่อภาระหนี้ของลูกหนี้โดยมีความพยายามในการจ่ายชำระคืนหนี้ และการปฏิบัติของเจ้าหนี้ต่อลูกหนี้อย่างเป็นธรรมเป็นหัวใจสำคัญต่อคุณภาพของหนี้) ต่างหากที่เป็นที่เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า สังคมหรือประเทศนั้นจะสามารถใช้หนี้เป็นเครื่องมือทางการเงิน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ดีเพียงใด ถ้าสามารถจัดการได้ดี การก่อหนี้อาจจะเป็นเครื่องมือทางการเงินหนึ่งที่ใช้เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำก็เป็นไปได้