ThaiPublica > คอลัมน์ > หนี้ครัวเรือน การพัฒนา และความยั่งยืน

หนี้ครัวเรือน การพัฒนา และความยั่งยืน

18 กรกฎาคม 2023


ผศ.ดร. สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า [email protected] ,www.econ.nida.ac.th

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากการลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีเพื่อเข้ามาบริหารประเทศแล้ว ก็คงจะมีประเด็นเรื่องการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการจัดทำข้อมูลและรายงานสถานการณ์ให้เห็นว่า หนี้ของภาคครัวเรือนในปัจจุบันได้ขยับขึ้นไปอยู่เหนือระดับร้อยละ 90 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศโดยมีมูลหนี้สูงถึงกว่า 15 ล้านล้านบาท

ถ้าจะลองพิจารณาเรื่องนี้กันอย่างเป็นระบบก็จะพบว่ามีคำถามหลายคำถามที่จะต้องตอบให้ได้เริ่มจากคำถามที่ว่า ระดับและขนาดของหนี้ครัวเรือนที่เกิดขึ้นอยู่ ณ ขณะนี้ ตามข้อมูลที่รายงานของ ธปท. (ที่กล่าวถึงข้างต้นนี้) เป็นปัญหาหรือไม่ หลายคนก็มักจะหยิบยกตัวอย่างของประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศมาอ้างอิงว่า หนี้ครัวเรือนของประเทศเหล่านั้นอยู่ในระดับที่สูงกว่าประเทศไทยเสียอีก

อีกทั้งการเป็นหนี้ของครัวเรือนก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติ เพราะเมื่อประเทศพัฒนามากขึ้น ความจำเป็นที่จะต้องมีการกู้ยืมเพื่อการใช้จ่ายมีมากขึ้น เช่น เพราะประเทศมีการพัฒนามากขึ้น ระดับรายได้สูงขึ้น ราคาที่ดินและที่อยู่อาศัย (ไม่ว่าจะเป็นการซื้อหรือการเช่า) ก็ย่อมขยับสูงขึ้นด้วย การที่ครัวเรือนจะมีที่อยู่อาศัยก็ต้องก่อหนี้มากขึ้น (หนี้บ้าน) เช่นเดียวกับหนี้ประเภทอื่น ๆ

ดังนั้น การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนจึงไม่น่าจะเป็นปัญหาที่จะต้องกังวลแต่อย่างใด และถ้าจะพิจารณาให้ลึกลงไปอีก ก็จะพบว่า การก่อหนี้ (หรือกระบวนการกู้ยืม) นั้น เป็นเครื่องมือทางการเงินเพื่อให้สามารถก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจขึ้นในเวลาปัจจุบัน (at present time) ที่มูลค่านั้นจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพราะมีปัจจัยทางการเงิน (หรือเงินทุน) ไม่เพียงพอ การกู้ยืมเงินเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ทำให้ครัวเรือนผู้กู้สามารถมีที่อยู่อาศัยได้แม้ว่าจะไม่มีเงินทุน (เงินสด) มากเพียงพอที่จะจ่ายชำระราคาค่าบ้านได้ทั้งหมดในคราวเดียว ณ เวลาปัจจุบัน

ในแง่นี้ การก่อหนี้ก็อาจจะถูกมองได้ว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สนับสนุนให้เกิดการพัฒนา มีการพัฒนาได้เร็วขึ้น คือ คนในสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ แต่หลายคนก็อาจมองว่าการกู้ยืมหรือการก่อหนี้เป็นการดึงเอาทรัพยากรในอนาคตมาใช้ก่อนในปัจจุบัน คำตอบของคำถามนี้จึงน่าจะอยู่ที่ 2 ประเด็นเป็นสำคัญ คือ 1) การก่อหนี้จะกลายเป็นปัญหาเมื่อหนี้ที่ก่อขึ้นนั้นไม่สามารถได้รับการชำระคืนตามเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับความเป็นธรรมของเงื่อนไขของการก่อหนี้นั้นและขีดความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ยืม (หรือผู้ก่อหนี้) และ 2) เหตุผลความจำเป็นหรือวัตถุประสงค์ของการก่อหนี้นั้นเพื่ออะไร การก่อหนี้เพื่อการใช้จ่ายอุปโภคบริโภคที่ฟุ่มเฟือยเกินตัว ย่อมก่อให้เกิดมูลค่าผลตอบแทนจากการก่อหนี้ได้น้อยและส่งผลให้ผู้ก่อหนี้ไม่สามารถชำระคืนหนี้ได้ กลายเป็นหนี้เสียไปได้

สถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่สูงมากขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่เกิดวิกฤติจากการระบาดของโควิด-19 และความผันผวนทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อทั้ง 2 ปัจจัยที่สามารถทำให้หนี้ครัวเรือนกลายเป็นปัญหาและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้ แม้ว่าหนี้ของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากความจำเป็นของครัวเรือนในการต่อสู้กับวิกฤติและความผันผวนทางเศรษฐกิจในระดับที่ไม่ได้มีการประเมินหรือคาดการณ์ได้

ประเด็นคำถามที่สองที่เกี่ยวข้องกับหนี้ครัวเรือนคือ การก่อหนี้ของภาคครัวเรือนนั้น แท้จริงแล้วเป็นอุปสรรค หรือเป็นกลไกที่จะสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาไปข้างหน้า? การพัฒนาที่หมายถึงการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น ในที่นี้จะหมายถึงการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลให้คนส่วนใหญ่ของประเทศมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความสะดวกสบาย มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ จำเป็นต้องมีการใช้ทรัพยากรการผลิตที่รวมถึงทรัพยากรประเภททุนด้วย (เงินเป็นเพียงตัวกลางที่ใช้เป็นหน่วยวัดมูลค่า เป็นตัวกลางในการสะสมมูลค่า และเป็นสื่อกลางในกิจกรรมการแลกเปลี่ยนในระบบเศรษฐกิจเท่านั้น) ทุนที่จะต้องใช้เพื่อให้เกิดการพัฒนานั้นไม่ได้หมายถึงเฉพาะเงินทุน (ที่ใช้เพียงเป็นสภาพคล่อง) ทุนในรูปของเครื่องจักรอุปกรณ์การผลิต แต่รวมถึงที่อยู่อาศัย (ที่เป็นเครื่องมือให้คนสามารถผลิตแรงงานเพื่อการทำงานได้) ทุนในแง่ของทักษะที่เรียกว่า “ทุนมนุษย์” (Human Capital)

โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะในการปรับเปลี่ยนรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ทุนในรูปของการมีสุขภาพที่ดี ซึ่งก็เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการสร้างครัวเรือนให้มีความเข้มแข็งและมีศักยภาพสูง ในแง่มุมนี้การสร้างหนี้ของครัวเรือนที่นำไปสู่การยกระดับหรือการเพิ่มศักยภาพความสามารถของครัวเรือนโดยผ่านการสร้างทุนที่เป็นประโยชน์ต่อครัวเรือนก็ย่อมเป็นการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาขึ้นในสังคมและระบบเศรษฐกิจของประเทศได้ เช่น ครัวเรือนตัดสินใจก่อหนี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา (ไม่เพียงเฉพาะเพื่อบุตรหลานในรุ่นต่อไป แต่รวมทั้งการศึกษาเพื่อเพิ่มศักยภาพของตนเอง หรือแม้แต่เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต) ก็จะเป็นการกู้ยืมเพื่อการศึกษา ซึ่งถ้าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจไว้ หนี้ที่สร้างขึ้น (หรือกระบวนการก่อหนี้) ก็จะเป็นส่วนสนับสนุนหรือเป็นเครื่องมือที่เปิดโอกาสมากขึ้นให้ครัวเรือนได้รับการพัฒนาและเป็นส่วนขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาประเทศโดยรวมได้ จึงเห็นได้ว่าครัวเรือนมีการก่อหนี้ในทุกประเทศในระดับที่มากน้อยแตกต่างกันไป

ดังนั้นหนี้ครัวเรือนจึงเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเมื่อกระบวนการก่อหนี้นั้นไม่เป็นไปตามกลไกและเป้าหมายของการก่อหนี้ที่กำหนดไว้ รวมทั้งปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้การก่อหนี้ไม่ได้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด เช่น การผิดนัดชำระหนี้ การก่อหนี้เกินความจำเป็นที่ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ หรือแม้แต่ความผิดพลาดจากการประเมินความสามารถทางการเงินของครัวเรือนในการก่อหนี้และในหลายกรณีมีสาเหตุมาจากเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้ก่อนล่วงหน้า ฯลฯ ความรู้ ความเข้าใจในการก่อหนี้ และการมีระเบียบวินัยทางการเงินที่ดี รวมทั้งศักยภาพทางเศรษฐกิจและสังคมพื้นฐานของครัวเรือนจึงเป็นปัจจัยบ่งชี้ที่สำคัญว่าการมีหรือการเกิดขึ้นของหนี้ครัวเรือนนั้นเป็นปัญหาหรืออุปสรรคหรือไม่ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

ในส่วนของประเด็นหนี้ครัวเรือนต่อความยั่งยืน มีคำถามที่สำคัญว่าการมีหนี้ของครัวเรือนและการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนส่งผลต่อความยั่งยืนและการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างไรบ้าง? ความยั่งยืน (Sustainability) จากแง่มุมของครัวเรือนมีองค์ประกอบอย่างน้อย 3 ส่วน ได้แก่

    1) ครัวเรือนมีความสามารถในการรองรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดได้มากหรือได้ดีเพียงใด ครัวเรือนที่สามารถรับแรงกระแทก (Aborbing shocks) ได้มากกว่ามีความยืดหยุ่นมากกว่าย่อมมีความยั่งยืนมากกว่า เช่น ครัวเรือนที่มีแหล่งรายได้จากหลายแหล่ง เมื่อรายได้จากแหล่งหนึ่งถูกกระทบ ก็ยังคงพึ่งพารายได้จากแหล่งอื่น ๆ ได้
    2) ครัวเรือนที่มีความสามารถในการปรับตัว (Adaptability) ต่อการเปลี่ยนแปลงได้ดี เช่น มีทักษะ ความรู้พื้นฐานที่ดีที่ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนไปสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นได้ดีและรวดเร็ว รวมทั้งการปรับเปลี่ยนเพื่อใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลง (โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีและสังคม) ได้มาก ย่อมเป็นครัวเรือนที่มีภูมิคุ้มกันสูง และมีความพร้อมต่อการพัฒนาได้อย่างยั่งยืน และ
    3) ความสามารถของครัวเรือนที่จะพิจารณา(Take into consideration) ผลกระทบภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบในทางลบ (Negative externalities) ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ต่อการตัดสินใจทางเศรษฐกิจที่ครัวเรือนเข้าไปเกี่ยวข้อง

ประเด็นจึงอยู่ที่ว่าการเป็นหนี้ของครัวเรือนและการเพิ่มขึ้นของภาระหนี้ของครัวเรือนนั้นส่งผลกระทบต่อองค์ประกอบทั้งสามนั้นอย่างไรบ้าง ขนาดของผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อครัวเรือนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันมีความแตกต่างกันอย่างไร อาทิเช่น เศรษฐกิจโดยรวมได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานอย่างรวดเร็วจนส่งผลต่อภาระค่าครองชีพของครัวเรือนและต้นทุนการผลิตของผู้ผลิตครัวเรือนจะรับ (Absorb) ปรับตัว (Adapt) และ เปลี่ยนแปลงการตัดสินใจ (Altering decision) ต่อแรงกระแทกนี้อย่างไร เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นนี้กระทบต่อครัวเรือนรายได้ต่ำ รายได้ปานกลาง รายได้สูง ด้วยขนาดที่แตกต่างกันหรือไม่ ซึ่งมาตรวัดที่ใช้ประเมินการเปลี่ยนแปลงของราคาด้วยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ยังไม่มีความรายละเอียดเพียงพอที่จะบ่งชี้ขนาดของภาระค่าครองชีพในระดับครัวเรือนได้ เช่นเดียวกัน ครัวเรือนที่มีกิจกรรมการผลิตในสาขาเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน (ครัวเรือนภาคเกษตร ครัวเรือนภาคอุตสาหกรรม ครัวเรือนภาคบริการ) มีขนาดของผลกระทบที่แตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร

นอกจากนี้ การเป็นหนี้ของครัวเรือน (ครัวเรือนที่มีหนี้ในระดับที่แตกต่างกัน) ทำให้ครัวเรือนมีความเปราะบางมากขึ้นหรือไม่ เพียงใด จนทำให้ครัวเรือนมีความสามารถในการรับมือกับผลกระทบที่ไม่ได้คาดคิดลดลง ครัวเรือนเกษตรกรที่มีการบริหารจัดการน้ำภายในครัวเรือนที่ดีอย่างเป็นระบบ ก็จะมีความสามารถในการรองรับกับสภาวะฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วงได้ดีกว่าครัวเรือนเกษตรกรที่ทำการเกษตรโดยพึ่งพาฝน (ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการที่ครัวเรือนทั้งสองนั้นจะมีหนี้หรือไม่มีหนี้ในระดับที่แตกต่างกัน)

แต่ในขณะเดียวกัน การมีหนี้ก็อาจส่งผลกระทบต่อองค์ประกอบทั้งสามที่ได้กล่าวถึงข้างต้นในมิติที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น การตอบคำถามของผลจากหนี้ครัวเรือนต่อความยั่งยืนจึงยังมีความไม่ชัดเจนและต้องอาศัยฐานข้อมูลระดับย่อย ที่เป็นข้อมูลจากการสำรวจ (Survey Microdata) รวมทั้งการวิเคราะห์ในรายละเอียดระดับครัวเรือน ซึ่งถ้าสามารถทำได้ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการทำความเข้าใจ และการกำหนดมาตรการในเชิงนโยบายเพื่อสร้างให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนจากรากฐานหน่วยพื้นฐานทางเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับครัวเรือน