วิจัยกรุงศรีเผยแพร่บทวิจัย Research Intelligence เรื่อง EUDR เมื่อสินค้าที่ส่งออกไปสหภาพยุโรปต้องปราศจากการทำลายป่า ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางพารา ไม้ และปาล์มน้ำมัน ในด้านต่างๆ อย่างไรก็ตาม หากไทยสามารถเตรียมพร้อมและปรับตัวได้ดี ก็จะเปิดโอกาสทางการค้าและการลงทุนทั้งในสหภาพยุโรปและห่วงโซ่การผลิตโลก อีกทั้งยังช่วยยกระดับการอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้ รวมถึงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมในประเทศให้สอดคล้องกับแนวโน้มการมุ่งไปสู่ความยั่งยืนของโลกมากขึ้น
สหภาพยุโรปได้ประกาศใช้กฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (EU Deforestation Regulation: EUDR) แล้วเมื่อ 29 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา โดยกำหนดให้การส่งออกและนำเข้าสินค้า 7 กลุ่มของสหภาพยุโรป ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน วัว ไม้ กาแฟ โกโก้ และถั่วเหลือง รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสินค้าเหล่านี้ เช่น ถุงมือยาง กระดาษ และเฟอร์นิเจอร์ไม้ ต้องผ่านการตรวจสอบและรายงานที่มาของสินค้าว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าหรือการทำให้ป่าเสื่อมโทรม ปัจจุบัน EUDR ยังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน ก่อนจะเริ่มนำมาใช้อย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 30 ธันวาคม 2567
รู้จักกฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR)
EUDR คืออะไร มีที่มาอย่างไร
ป่าไม้เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อโลก ด้วยประโยชน์ในการรักษาสมดุลของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ การสร้างพื้นที่สีเขียว รวมถึงการดูดซับก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นต้นเหตุของภาวะโลกร้อน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาโลกสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ไปเป็นจำนวนมาก โดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) ประมาณการว่าพื้นที่ป่าไม้ 420 ล้านเฮคเตอร์ (2.6 พันล้านไร่) ได้สูญหายไปในช่วงปี 2533-2563 คิดเป็น 10% ของพื้นที่ป่าทั่วโลกในขณะนี้ ซึ่งเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่โลกกำลังเผชิญในปัจจุบัน
นอกจากการเกิดไฟป่าตามธรรมชาติแล้ว การบุกรุกป่า หรือการขยายพื้นที่ทำการเกษตรก็เป็นสาเหตุของการทำลายป่าเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ สหภาพยุโรปซึ่งเป็นผู้นำด้านการจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อม จึงได้ริเริ่มกฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (EU Deforestation Regulation: EUDR) เพื่อผลักดันให้เกิดการอุปโภคและบริโภคสินค้าที่มาจากกระบวนการผลิตที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำลายป่าเท่านั้น อันจะเป็นการขจัดการตัดไม้ทำลายป่าของผู้ผลิตนั่นเอง กฎหมายดังกล่าวกำหนดให้การส่งออกและนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) 7 กลุ่มของสหภาพยุโรป ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน วัว ไม้ กาแฟ โกโก้ และถั่วเหลือง รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสินค้าเหล่านี้ (Derived products) อาทิ ยางรถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ กระดาษ เครื่องหนังสัตว์ ต้องตรวจสอบและรายงานที่มาของสินค้าเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าหรือการทำให้ป่าเสื่อมโทรม โดย EUDR พัฒนาต่อยอดจากกฎหมายควบคุมการค้าไม้ของสหภาพยุโรป (EU Timber Regulation: EUTR) ซึ่งมีขอบเขตจำกัดเพียงการห้ามจําหน่ายไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ที่ผิดกฎหมายในสหภาพยุโรป
บทความนี้จะมุ่งเน้นทำความรู้จักข้อกำหนดและการบังคับใช้ของ EUDR รวมถึงประเมินผลกระทบที่อาจขึ้นจากกฎหมายดังกล่าว เพราะแม้ EUDR จะมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาพื้นที่ป่าของโลก แต่อีกด้านหนึ่งก็สร้างอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งไทยในฐานะที่เป็นคู่ค้าของสหภาพยุโรปจำเป็นต้องเข้าใจ พร้อมทั้งเตรียมรับมือกับมาตรการทางการค้าและสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดข้างต้น
EUDR เป็นกฎหมายที่ห้ามไม่ให้ค้าขายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า โดยกำหนดให้สินค้าที่เข้าและออกจากสหภาพยุโรป ต้องผ่านเงื่อนไขสำคัญทั้ง 3 ข้อ ได้แก่
1.ปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation-free) หมายความว่า สินค้า วัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสินค้า 7 กลุ่มดังกล่าว ต้องไม่ได้ผลิตบนที่ดินที่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation)1 ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป (สำหรับผลิตภัณฑ์ไม้ต้องไม่ทำให้ป่าเสื่อมโทรม (Forest degradation)2 หลังสิ้นปี 2563 เป็นต้นไป)
2.มาจากกระบวนการผลิตที่ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายต่างๆ ของประเทศผู้ผลิต อาทิ กฎหมายที่ดิน แรงงาน สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม ป่าไม้ และภาษี
3.ได้รับการตรวจสอบและประเมินสินค้า (Due Diligence) ตามขั้นตอนที่สหภาพยุโรปกำหนด โดยผู้ประกอบการต้องส่งรายงานการตรวจสอบ (Due Diligence Statement) ก่อนจะนำเข้าหรือส่งออกสินค้า3 ซึ่งการตรวจสอบและประเมินประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ ดังนี้
-
1)การรวบรวมข้อมูลตลอดห่วงโซ่การผลิต เช่น ปริมาณและรหัสของสินค้า ประเทศที่ผลิต พิกัดทางภูมิศาสตร์ของแปลงปลูก (Geolocation) วันที่และระยะเวลาการผลิต รายชื่อซัพพลายเออร์ หลักฐานที่แสดงว่าสินค้าไม่ได้มาจากการตัดไม้ทำลาย และหลักฐานแสดงว่าสินค้ามาจากการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
2)การประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการทำลายป่า และการละเมิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องในกระบวนการผลิต ซึ่งครอบคลุมประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล โดยประเมินออกมาในรูปเอกสารที่มีผลสรุปความเสี่ยง และต้องทบทวนอย่างน้อยทุกปี
3)การบรรเทาผลกระทบ ในกรณีที่ตรวจพบความเสี่ยง จะต้องดำเนินการเพิ่มเติม เช่น จัดเตรียมข้อมูล เอกสารผลสำรวจ และมาตรการลดความเสี่ยงที่ยอมรับได้

ในทุกๆ ปี หน่วยงานที่ได้รับการแต่งตั้งโดยสมาชิกสหภาพยุโรปแต่ละประเทศ (Competent authorities) จะตรวจสอบว่าผู้ประกอบการในประเทศนั้นๆ ปฏิบัติถูกต้องตามเงื่อนไขของ EUDR หรือไม่ โดยมีระดับการสุ่มตรวจขั้นต่ำ (Minimum level of inspections) แตกต่างกันตามความเสี่ยงด้านการทำลายป่าของประเทศต้นทาง ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1) ประเทศที่มีความเสี่ยงสูง (High risk) จะสุ่มตรวจ 9% ของจำนวนผู้ประกอบการ 2) ความเสี่ยงมาตรฐาน (Standard risk) สุ่มตรวจ 3% และ 3) ความเสี่ยงต่ำ (Low risk) สุ่มตรวจ 1% ทั้งนี้ หลังจากรวบรวมข้อมูลในระยะเปลี่ยนผ่านแล้ว สหภาพยุโรปจะประกาศรายชื่อประเทศตามความเสี่ยงแต่ละระดับในช่วงปลายปี 2567 ซึ่งการนำเข้าจากประเทศที่ถูกจัดว่ามีความเสี่ยงต่ำ จะมีภาระในการตรวจสอบและรายงานน้อยกว่า (Simplified Due Diligence) กล่าวคือต้องรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่จำเป็นต้องดำเนินการประเมินความเสี่ยงและบรรเทาผลกระทบ หรือได้รับการยกเว้นขั้นตอนที่ 2 และ 3 ของ Due Diligence ปกตินั่นเอง
EUDR บังคับใช้กับใคร สินค้าประเภทใด และเมื่อไร
ปัจจุบันสหภาพยุโรปได้กำหนดขอบเขตและกรอบเวลาการบังคับใช้ EUDR ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้



ประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจาก EUDR
ผลกระทบระดับโลก
จุดมุ่งหมายของ EUDR นับว่าเป็นคุณประโยชน์ต่อการรับมือกับปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก เนื่องจากเป็นการบังคับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดภายในสหภาพยุโรป รวมถึงผลักดันผู้ประกอบการในประเทศคู่ค้าคู่ลงทุนภายนอก ให้ดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงทรัพยากรป่าไม้ยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก EUDR เป็นกฎระเบียบที่ก้าวหน้าและเข้มงวดกว่าที่เคยมีมา จึงสร้างความกังวลแก่ผู้นำเข้าและส่งออกของแต่ละประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทั้งนี้ กฎหมาย EUDR ครอบคลุมการนำเข้าสินค้าของสหภาพยุโรปคิดเป็นมูลค่า 401.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 5.5% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดในปี 2565 โดยมาจากสินค้ากลุ่มไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้มากที่สุด หรือคิดเป็น 56.3% ของการนำเข้าสินค้า EUDR ทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ (15.1%) ส่วนมูลค่าการนำเข้าสินค้ากลุ่มอื่นๆ ไม่แตกต่างกันมากนัก (ภาพที่ 4)


ในฝั่งคู่ค้านอกสหภาพยุโรป จะได้รับผลกระทบแตกต่างกันไปตามการพึ่งพาตลาดสหภาพยุโรป โดยคาดว่าจีน ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์สินค้า EUDR อันดับที่สองของสหภาพยุโรปจะได้รับผลพวงของมาตรการดังกล่าวในอุตสาหกรรมไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ และอุตสาหกรรมยางพารา เป็นหลัก เนื่องจากจีนเป็นแหล่งนำเข้าสำคัญ โดยเฉพาะสินค้าเฟอร์นิเจอร์ไม้กว่าครึ่งหนึ่งในตลาดยุโรปที่มาจากจีน8 อีกประเทศหนึ่งที่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบเป็นลำดับต้นๆ คือ บราซิล เนื่องจากสหภาพยุโรปนำเข้าสินค้า EUDR หลายรายการจากบราซิล โดยเฉพาะกาแฟ เนื่องจากบราซิลเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่สุดของโลกและยุโรปเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุด อีกทั้งสหภาพยุโรปยังเป็นตลาดส่งออกถั่วเหลืองและปาล์มน้ำมันอันดับสองของบราซิล9 นอกจากนี้ ประเทศอื่นๆ ในทวีปอเมริกาต่างก็เป็นคู่ค้าสำคัญที่น่าจะได้รับผลกระทบสูง อาทิ อาร์เจนตินา (ถั่วเหลือง ปาล์มน้ำมัน และเนื้อวัว) กัวเตมาลา (ปาล์มน้ำมัน และกาแฟ) และสหรัฐฯ (ถั่วเหลือง ไม้ ยางพารา และเนื้อวัว) ในขณะเดียวกันประเทศในทวีปแอฟริกา ได้แก่ โกตติวัวร์ และกานา ซึ่งมีโกโก้เป็นสินค้าส่งออกสำคัญ และเป็นแหล่งนำเข้าโกโก้สองอันดับแรกของสหภาพยุโรป มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจาก EUDR มากเช่นกัน
เมื่อมองกลับยังประเทศอาเซียน พบว่าเป็นภูมิภาคหนึ่งที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบสูง โดยเฉพาะอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตปาล์มน้ำมัน 85% ของโลก และเป็นแหล่งนำเข้าปาล์มน้ำมันสองอันดับแรกของสหภาพยุโรป ก่อนหน้านี้ทั้งสองประเทศได้มีข้อพิพาทกับสหภาพยุโรปในประเด็นการกีดกันทางการค้า อันเป็นผลจากกฎหมายด้านพลังงานทดแทน (Renewable Energy Directive II: RED II) ที่กำหนดให้เลิกใช้เชื้อเพลิงจากน้ำมันปาล์มภายในปี 257310 นอกจากนี้ เวียดนาม ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของกาแฟในสหภาพยุโรปที่สำคัญลำดับต้นๆ ก็ต้องเผชิญความท้าทายจากมาตรการใหม่นี้ด้วย เช่นเดียวกับไทย ที่ถึงแม้ในภาพรวมคาดว่าจะได้รับผลไม่มาก เนื่องจากเป็นแหล่งนำเข้าสินค้า EUDR อันดับที่ 35 ของสหภาพยุโรป แต่ผลกระทบส่วนใหญ่จะอยู่ในอุตสาหกรรมยางพารา ในฐานะที่ไทยเป็นแหล่งนำเข้ายางพาราอันดับสองของสหภาพยุโรป รองจากจีน
จะเห็นว่าส่วนใหญ่แล้วประเทศที่เป็นแหล่งสินค้า EUDR ข้างต้นมักเป็นประเทศกำลังพัฒนาซึ่งต้องพึ่งพาการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ โดยประเทศกำลังพัฒนาในกลุ่มนี้จำนวน 17 ประเทศ รวมถึงไทย11 ต่างก็ตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น จึงได้จัดทำหนังสือถึงสหภาพยุโรปเพื่อขอให้ทบทวนการดำเนินมาตรการตาม EUDR ทั้งเรื่องความยืดหยุ่นของการแสดงข้อมูลเพื่อตรวจสอบย้อนกลับ และการคำนึงผลกระทบเรื่องต้นทุนที่ประเทศกำลังพัฒนาต้องเผชิญ อีกทั้งยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับ EUDR ว่าจะทำให้สหภาพยุโรปเป็นผู้กำหนดความเสี่ยงด้านการตัดไม้ทำลายป่าเพียงฝ่ายเดียว (Unilateral benchmarking) ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับพันธกรณีภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) และเป็นผลเสียต่อภาพรวมการค้าของโลก
นอกจาก EUDR จะมีผลต่อการค้าระหว่างสหภาพยุโรปกับของประเทศคู่ค้าใดประเทศหนึ่งโดยตรงแล้ว ยังอาจส่งผลกระทบทางอ้อมต่อการค้าของผู้เล่นในห่วงโซ่การผลิตอีกด้วย กล่าวคือ หากประเทศที่เป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกรายใหญ่ เช่น จีน ขายสินค้าในกลุ่ม EUDR ได้น้อยลง ก็จะต้องการวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางจากประเทศคู่ค้าอื่นๆ ลดลงด้วย ในขณะเดียวกัน ประเทศที่ต้องการส่งสินค้าเข้าไปขายในสหภาพยุโรปอาจหันไปซื้อวัตถุดิบขั้นกลางจากประเทศที่มีการผลิตที่ตรวจสอบได้ง่ายและไม่มีความเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า ทดแทนการนำเข้าจากประเทศที่ยังขาดความพร้อม หรือมีความเสี่ยงด้านการละเมิดกฎหมาย EUDR สูง ยิ่งไปกว่านั้น ผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานยังมีแนวโน้มเกิดขึ้นในระดับประเทศด้วย โดยเฉพาะเมื่อผู้ผลิตและผู้ส่งออกตัดสินใจซื้อวัตถุดิบจากผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมด้านการระบุและตรวจสอบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทำลายป่ามากกว่าซัพพลายเออร์รายย่อย ท้ายที่สุดจึงอาจทำให้ผู้เล่นรายเล็กเหล่านี้เป็นอันต้องตกขบวนจากห่วงโซ่การค้าระหว่างประเทศไป
ผลกระทบต่อไทยในภาพรวม
สหภาพยุโรปเป็นหนึ่งในตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย และเป็นผู้ริเริ่มนำมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมมาผนวกกับการค้าระหว่างประเทศ เช่น มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนแก่ภาคธุรกิจในประเทศมาแล้ว สำหรับ EUDR เอง แม้ไม่ได้กำหนดให้ต้องจ่ายต้นทุนของการตัดไม้ทำลายป่า แต่ก็มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยไม่ต่างจาก CBAM ในแง่ของค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการตรวจสอบและรายงานว่าการผลิตสินค้าเป็นไปตามเกณฑ์ที่สหภาพยุโรปกำหนด ซึ่งในภาพรวมแล้ว คาดว่า EUDR จะส่งผลต่อไทยในด้านต่างๆ ดังนี้
1) ผู้ผลิตและผู้ส่งออกเผชิญต้นทุนสูงขึ้น เนื่องจาก EUDR กำหนดให้ผู้นำเข้าในสหภาพยุโรปที่ต้องการซื้อสินค้าเป้าหมาย 7 กลุ่มจากไทยต้องตรวจสอบ Due Diligence ก่อนว่าสินค้าจากไทยไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำลายป่า และมาจากการผลิตที่ถูกต้องตามกฎหมายต่างๆ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ข้อมูลจากผู้ส่งออกไทยเพื่อยืนยัน เช่น ข้อมูลพิกัดของพื้นที่เพาะปลูก เอกสารรับรองการใช้ประโยชน์ที่ดิน รายชื่อซัพพลายเออร์ รวมทั้งหลักฐานการปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน สิ่งแวดล้อม ภาษี การต่อต้านการทุจริต และระเบียบด้านศุลกากร ซึ่งผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทยจะต้องเผชิญต้นทุนการจัดทำและรายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้อง (Compliance cost) เมื่อต้องการขายสินค้าในสหภาพยุโรป นอกจากนี้ ผู้ผลิตยังต้องเผชิญต้นทุนการดำเนินการให้ได้มาซึ่งมาตรฐานสากล (Standard cost/ Certificate cost) เพื่อใช้เป็นหลักฐานยืนยันการผลิตสินค้าที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคม เช่น มาตรฐานรับรองผลิตภัณฑ์ไม้ที่ยั่งยืน และมาตรฐานการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน อีกด้วย
แม้สัดส่วนสินค้าที่เข้าข่าย EUDR จะคิดเป็นเพียง 8.3% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดไปยังสหภาพยุโรปในปี 2565 หรือเพียง 0.7% ของการส่งออกรวมของไทย แต่สัดส่วนดังกล่าวมีทิศทางเพิ่มขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ภาพที่ 5) ยิ่งไปกว่านั้น หากพิจารณาเฉพาะการซื้อขายสินค้า EUDR จะพบว่าไทยพึ่งพาตลาดสหภาพยุโรปถึง 8.0% ของมูลค่าการส่งออกสินค้า EUDR ทั้งหมดของไทย ซึ่งสูงกว่าอัตราการพึ่งพาตลาดสหภาพยุโรปในทุกสินค้ารวมกัน ขณะที่ฝั่งสหภาพยุโรปเองก็พึ่งพาการนำเข้าเฉพาะสินค้า EUDR จากไทยราว 0.5% ของการนำเข้าสินค้า EUDR ทั้งหมด ซึ่งมากกว่าอัตราการพึ่งพาสินค้าจากไทยรวมทุกประเภท (ตารางที่ 3) สถิติเหล่านี้สะท้อนว่าการค้าสินค้าภายใต้กฎหมาย EUDR มีความสำคัญกับไทยและสหภาพยุโรปเมื่อเทียบกับทุกประเภทสินค้ารวมกัน และความสำคัญดังกล่าวก็มีทิศทางเติบโตขึ้น ดังนั้นไทยจึงไม่อาจละเลยผลกระทบของ EUDR ได้
ที่น่าสนใจคือมูลค่าการค้าข้างต้น มาจากสินค้ายางพาราและผลิตภัณฑ์เป็นหลัก หรือคิดเป็นกว่า 90% ของการส่งออกสินค้า EUDR ของไทยไปสหภาพยุโรป นอกจากนี้ ไทยยังพึ่งพาตลาดสหภาพยุโรปในการส่งออกยางถึง 11.5% ตามมาด้วยผลิตภัณฑ์ไม้ และปาล์มน้ำมัน ที่มีมูลค่าการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปสูงรองจากยางพารา ส่วนสินค้ากลุ่มอื่น ไทยยังขายให้กับสหภาพยุโรปน้อย ดังนั้น ในระยะแรก ผู้ประกอบการสินค้ายางพารา ไม้ และปาล์มน้ำมัน น่าจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบหลักจาก EUDR อีกทั้งสินค้าสามกลุ่มนี้ยังมีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมปลายน้ำ (Forward Linkage) สูง แปลว่าจะสร้างความซับซ้อนและต้นทุนในการตรวจสอบย้อนกลับของห่วงโซ่การผลิตสินค้าปลายน้ำอีกหลายรายการด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ในอนาคตแรงกดดันด้านต้นทุนการส่งออกจะยิ่งเพิ่มขึ้นถ้าสหภาพยุโรปขยายขอบเขตสินค้ารวมถึงขอบเขตการรายงานข้อมูล ซึ่งต้องติดตามแนวทางที่สหภาพยุโรปจะประกาศต่อไป


3) ไทยอาจค่อยๆ หลุดออกจากห่วงโซ่อุปทานและการลงทุนโลก กฎหมาย EUDR กำหนดให้สินค้าต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับห่วงโซ่การผลิตได้ และสหภาพยุโรปจะจัดกลุ่มความเสี่ยงของประเทศต้นทางที่ผลิตสินค้าด้วย จึงมีความไปได้ที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่การผลิต โดยประเทศที่มีความเสี่ยงสูง (High-risk country) จะค่อยๆ ถูกผลักออกจากห่วงโซ่มูลค่าโลก ดังนั้น หากไทยถูกจัดว่าเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงในการทำลายป่าสูง ประเทศคู่ค้าของสหภาพยุโรปอาจซื้อวัตถุดิบขั้นกลางจากไทยลดลง หรือชะลอการเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพราะต้องหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่เกิดจากการละเมิด EUDR ตัวอย่างเช่น จีน ซึ่งเป็นผู้ส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไม้รายใหญ่ไปยังสหภาพยุโรป อาจนำเข้าวัตถุดิบไม้ขั้นกลางจากไทยลดลง และหันไปซื้อไม้จากแหล่งอื่นๆ ที่จีนมีแนวโน้มนำเข้าเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2559-2565 เช่น เวียดนาม ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหภาพยุโรป13 ดังนั้น ไม่ใช่แค่ไทยจะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดสินค้า EUDR ในสหภาพยุโรปให้กับคู่แข่ง แต่ยังมีโอกาสสูญเสียส่วนแบ่งตลาดสินค้าขั้นกลางในห่วงโซ่การผลิตสินค้า EUDR ทั่วโลกด้วย
นอกจากผลกระทบต่อผู้ประกอบการและเกษตรกรข้างต้นแล้ว ในอีกมุมหนึ่ง EUDR ก็มีโอกาสสร้างผลประโยชน์ให้กับประเทศไทยอีกหลายประการ ดังนี้
ผลเชิงบวก
1) โอกาสทางการค้าเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสขยายส่วนแบ่งตลาดในสหภาพยุโรป หากสินค้าไทยที่ส่งไปยังสหภาพยุโรปเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าน้อยกว่า หรือมีความพร้อมในการตรวจสอบและยืนยันที่มาของผลิตภัณฑ์มากกว่าประเทศคู่แข่ง ตัวอย่างเช่น ไทยสามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ในสหภาพยุโรป หากผู้ประกอบการไทยสามารถพัฒนาการทำสวนยางอย่างยั่งยืนและสามารถพิสูจน์การตรวจสอบย้อนกลับถึงที่มาของที่ดินสวนยางได้ รวมถึงมีโอกาสขยายตลาดในจีน ซึ่งเป็นผู้นำเข้าวัตถุดิบยางจากไทยที่ได้มาตรฐาน EUDR ไปแปรรูปเพื่อส่งออกไปยังสหภาพยุโรปต่อไป ในขณะที่อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของไทยส่วนใหญ่มีพื้นที่เพาะปลูกที่ปรับเปลี่ยนมาจากพื้นที่เกษตรกรรมอื่นๆ เช่น สวนยางพารา สวนผลไม้ นาข้าว และเกษตรกรไทยถือครองอย่างถูกกฎหมาย14 จึงมีโอกาสชิงส่วนแบ่งตลาดจากอินโดนีเซียและมาเลเซียที่ยังมีข้อพิพาทในประเด็นปาล์มน้ำมันกับสหภาพยุโรป อย่างไรก็ดี โอกาสทางการค้าที่เกิดขึ้นจะมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับความพร้อมและการปรับตัวของผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่อุปทาน
2) ผลักดันการเฝ้าระวังการทำลายป่า ส่งเสริมการรักษาและเพิ่มพื้นที่ป่า แม้ EUDR ไม่ได้บังคับใช้กับประเทศไทยโดยตรง แต่ในฐานะคู่ค้าของสหภาพยุโรป ไทยจะได้รับแรงกดดันให้เข้มงวดกับนโยบายป่าไม้ยิ่งขึ้นหากยังต้องการค้าขายกับสหภาพยุโรป เมื่อพิจารณาสถานการณ์ป่าไม้ในปัจจุบันจะพบว่าพื้นที่ป่าไม้ของไทยต้องได้รับการอนุรักษ์มากขึ้น ในปี 2565 ไทยมีพื้นที่ป่าไม้ทั้งสิ้น 102.1 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 31.6% ของพื้นที่ประเทศ ซึ่งพื้นที่ป่าไม้มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 โดยมีสาเหตุสำคัญจากไฟป่า การบุกรุกทำลายป่า และการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน15 อาทิ เปลี่ยนพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่การเกษตร16/ ทั้งนี้ การเกิดไฟป่าเป็นสาเหตุหลักของการสูญเสียป่า และพื้นที่ที่เสียหายจากไฟป่าในไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นถึง 21.8% ต่อปี จาก 1.1 แสนไร่ ในปี 2560 เป็น 2.5 แสนไร่ ในปี 2564 ขณะเดียวกัน แม้การบุกรุกป่าจะมีแนวโน้มลดลงจากอดีต แต่สถิติพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกในปี 2564-2565 เฉลี่ยที่ 20,000 ไร่ต่อปี ยังถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะมาจากคดีการบุกรุกที่รายงานโดยกรมป่าไม้เท่านั้น
การบังคับใช้ EUDR จะเป็นแรงผลักดันสำคัญให้ทุกภาคส่วนตื่นตัวและจริงจังกับการดูแลรักษาป่ามากขึ้น แม้ว่าไทยได้ตั้งเป้าหมายที่ท้าทายมากในการเพิ่มสัดส่วนพื้นที่ป่าเป็น 55% ของพื้นที่ประเทศภายในปี 258017 แต่ด้วยแรงผลักจากนโยบายสิ่งแวดล้อมภายนอก คาดว่าจะส่งผลให้ไทยสามารถเข้าใกล้เป้าหมายเหล่านี้ได้เร็วขึ้น

ผลกระทบรายอุตสาหกรรม
หลังจากที่ได้เห็นภาพรวมผลกระทบเชิงบวกและเชิงลบของ EUDR ที่มีต่อไทยแล้ว การวิเคราะห์ในส่วนนี้จะเจาะลึกไปที่ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าที่ครอบคลุมภายใต้ EUDR ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ในบรรดาสินค้า EUDR ทั้งหมด ไทยส่งออกยางพาราไปยังสหภาพยุโรปมากที่สุดถึง 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 จึงคาดว่าอุตสาหกรรมยางพาราจะได้รับผลกระทบสูงที่สุด และเมื่อพิจารณาห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยางพาราไทย พบว่าอุตสาหกรรมขั้นต้นเป็นการทำสวนยางพารา (Natural Rubber) การกรีดน้ำยางสด และเกษตรกรบางรายยังมีการแปรรูปยางเบื้องต้นในรูปของยางแห้งด้วย โดยในปี 2565 ประเทศไทยมีครัวเรือนเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราจำนวน 1.7 ล้านครัวเรือน และมีพื้นที่เพาะปลูกยางพาราทั่วประเทศ 21.9 ล้านไร่ ซึ่งเกินครึ่งหนึ่งอยู่ในภาคใต้ ทั้งนี้ ผลผลิตยางขั้นต้นจากเกษตรกรเกือบทั้งหมดจะถูกใช้เป็นวัตุดิบในอุตสาหกรรมขั้นกลาง หรืออุตสาหกรรมยางพาราแปรรูป เช่น ยางแผ่นรมควัน (Rubber Smoked Sheet: RSS) ยางแท่ง (Technically Specified Rubber: TSR) น้ำยางข้น (Concentrated Latex) ยางคอมพาวด์ (Compound Rubber) และยางผสม (Mixed Rubber) ซึ่งไทยพึ่งพาการส่งออกเป็นตลาดหลัก โดยยางพาราแปรรูปเหล่านี้จะใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมขั้นปลาย หรือการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง เช่น ยางรถยนต์ ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย และยางยืด ซึ่งไทยส่งออกในปริมาณมากเช่นกัน

ผลิตภัณฑ์ยางไทยที่จะได้รับผลกระทบจาก EUDR สูง ได้แก่ ยางพาราแปรรูป (ยางแท่ง และยางแผ่นรมควัน) ยางรถยนต์ และถุงมือยาง เนื่องจากเป็นสินค้าที่ไทยส่งออกไปยังสหภาพยุโรปมากที่สุด โดยในปี 2565 ไทยส่งออกสินค้ากลุ่มยางธรรมชาติ (Natural rubber) ไปยังสหภาพยุโรปด้วยมูลค่า 654 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 37.8% ของมูลค่าการส่งออกยางพาราทั้งหมด ซึ่งในจำนวนนี้มาจากยางแท่ง
มากถึง 25.4% ของมูลค่าส่งออกยางพาราทั้งหมด ตามมาด้วยยางแผ่นรมควัน (10.2%) และน้ำยางข้น (2.1%) ตามลำดับ นอกจากนี้ สหภาพยุโรปยังเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับที่ 2 และ 3 ของยางแท่งและยางแผ่นรมควันของไทย ตามลำดับ ทำให้ในภาพรวมอุตสาหกรรมยางพาราขั้นกลางของไทยจึงมีแนวโน้มได้รับผลกระทบมากจากกฎหมาย EUDR
ในขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ อาทิ ยางนอกชนิดอัดลม (New pneumatic tires) ที่มีมูลค่าการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปถึง 625 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (36.1% ของการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางทั้งหมด) จะได้รับผลกระทบที่สูงไม่แพ้กัน โดยไทยส่งออกยางนอกที่ใช้กับรถบัส รถบรรทุก และรถยนต์ มากที่สุด นอกจากนี้ สินค้าหมวดเครื่องแต่งกายและเครื่องใช้ที่ทำจากยางก็มีแนวโน้มได้รับผลกระทบสูงเช่นกัน โดยเฉพาะถุงมือยางที่มีสัดส่วนถึง 16.7% ของการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางทั้งหมด ทั้งนี้อุตสาหกรรมยางพาราขั้นปลายจะเผชิญความยุ่งยากมากกว่าในแง่ของการตรวจสอบย้อนกลับไปยังการผลิตขั้นกลางและขั้นต้นที่ต้องสอดคล้องกับ EUDR ทั้งห่วงโซ่การผลิต
เมื่อประเมินความพร้อมของอุตสาหกรรมยางพาราไทยต่อกฎหมาย EUDR พบว่า พื้นที่สวนยางในไทยส่วนใหญ่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) แล้ว โดยคิดเป็น 18 ล้านไร่จากพื้นที่สวนยาง 22 ล้านไร่ทั่วประเทศ18 สะท้อนว่าเกษตรกรชาวสวนยางส่วนมากมีการใช้ที่ดินอย่างถูกต้องและสามารถระบุพื้นที่ตั้งของสวนยางได้ เนื่องจากข้อมูลเหล่านี้จำเป็นในการขึ้นทะเบียนกับ กยท. อย่างไรก็ตาม ขอบเขตของ EUDR ครอบคลุมประเด็นสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างกว้างขวาง ซึ่งกลไกหนึ่งที่สามารถช่วยยืนยันได้ว่าการทำสวนยางเป็นไปอย่างยั่งยืน คือมาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน (Forest Stewardship Council: FSC) ที่ให้การรับรองหรือติดฉลากผลิตภัณฑ์ไม้ที่มาจากป่าปลูกที่มีการจัดการอย่างรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมถึงไม่ได้มาจากป่าธรรมชาติหรือป่าสงวน19
ปัจจุบัน กยท. ประเมินว่าสวนยางที่ได้มาตรฐาน FSC มีราว 4 แสนไร่ หรือคิดเป็น 1.8% ของพื้นที่กรีดยางทั่วประเทศเท่านั้น แปลว่ามีชาวสวนยางเพียงจำนวนหนึ่งที่มีความพร้อมต่อมาตรฐานตาม EUDR ครบทุกด้าน ทั้งนี้บริษัทที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน FSC มักเป็นธุรกิจรายใหญ่ เช่น กลุ่มบริษัทศรีตรัง20 เนื่องจากสวนยางตามมาตรฐานดังกล่าวต้องผ่านเกณฑ์หลายประการ มีต้นทุนสูงกว่าสวนยางทั่วไป เช่น ห้ามใช้สารกำจัดศัตรูพืช รวมถึงมีต้นทุนการขอใบรับรอง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นอุปสรรคของเกษตรกรและผู้ผลิตรายย่อย อย่างไรก็ตาม ผู้เล่นในอุตสาหกรรมยางพาราไม่อาจหลีกเลี่ยงต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้จากการบังคับใช้ EUDR ไม่ว่าจะมาจากการจัดเตรียมข้อมูลและรายงานด้วยตนเอง หรือการขอรับรองมาตรฐานสากลเพื่อใช้เป็นเครื่องช่วยยืนยันความสอดคล้องกับ EUDR
อีกหนึ่งความท้าทายสำคัญคือการจัดการข้อมูลและระบบตรวจสอบย้อนกลับ ซึ่งต้องเร่งพัฒนาแข่งกับเวลาการเริ่มบังคับใช้ EUDR นอกจากนี้ยังต้องคอยสังเกตสถานการณ์ของประเทศคู่ค้าอื่นๆ ของสหภาพยุโรป เช่น จีน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย อีกด้วย โดยหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องอย่าง กยท. ได้ตั้งเป้าหมายใช้ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS Rubber) เพื่อแสดงที่ตั้งของสวนยางและตรวจเอกสารสิทธิ์ที่ดิน ซึ่งคาดว่าจะสามารถตรวจสอบย้อนกลับทั้งหมดได้ภายในปี 256821 ในขณะเดียวกันภาคเอกชน เช่น กลุ่มบริษัทศรีตรัง ก็กำลังพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับที่มาของยางภายใต้ Sri Trang Friends Platform ที่สามารถระบุแหล่งที่มาของการเพาะปลูกยางได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดไปยังคู่ค้าที่เป็นผู้ผลิตสินค้าปลายน้ำ22 ซึ่งโอกาสในการรักษาและขยายตลาดของผู้ประกอบการยางไทยจะขึ้นอยู่กับความพร้อมของระบบตรวจสอบย้อนกลับ อันเป็นสาระสำคัญของกฎหมาย EUDR
แม้ว่าสหภาพยุโรปจะไม่ใช่ตลาดส่งออกไม้ขนาดใหญ่ของไทย เนื่องจากไม้แปรรูปเกือบทั้งหมดที่ผลิตในไทยถูกส่งออกไปยังจีน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่สำคัญของโลก อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 การส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไปยังสหภาพยุโรปอยู่ที่ 128.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นสินค้า EUDR อันดับที่สองรองจากยางพารา จึงคาดว่าจะเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจาก EUDR มากเช่นกัน ทั้งนี้ อุตสาหกรรมไม้มีจำนวนรายการผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมภายใต้ EUDR มากที่สุด เพราะไม้มีความเชื่อมโยงกับหลายอุตสาหกรรม ดังจะเห็นได้จากห่วงโซ่การผลิตไม้และผลิตภัณฑ์ของไทย อันประกอบด้วย 1) อุตสาหกรรมขั้นต้น ซึ่งเริ่มจากการทำสวนป่าเพื่อผลิตไม้ซุงหรือไม้ท่อน (Logs) โดยไม้ท่อนในประเทศมาจากไม้ยูคาลิปตัส ไม้สัก และไม้ยางพารา มากที่สุด23 ส่วนไม้ท่อนนำเข้ามีเพียงเล็กน้อยในกลุ่มไม้สนและโอ๊กเป็นสำคัญ 2) อุตสาหกรรมขั้นกลาง คือโรงเลื่อยไม้หรือโรงงานแปรรูปไม้ (Sawmill)24 ซึ่งเป็นการเลื่อยไม้ท่อนเพื่อแปรรูปให้เป็นไม้แผ่น (Sawn wood) ในกระบวนการเลื่อยจะได้ปีกไม้หรือเศษไม้ที่นำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ทดแทนไม้ธรรมชาติได้ เช่น แผ่นชิ้นไม้อัด (Particle board) แผ่นใยไม้อัด (Fiberboard) ส่วนชิ้นไม้สับ (Wood chip) ที่ได้จากการเลื่อยจะนำไปใช้ผลิตกระดาษต่อไป 3) ท้ายที่สุดไม้แปรรูปต่างๆ และชิ้นไม้จากการผลิตขั้นกลาง จะเข้าสู่อุตสาหกรรมขั้นปลายหรืออุตสาหกรรมต่อเนื่องของการผลิตผลิตภัณฑ์จากไม้ เช่น การผลิตบรรจุภัณฑ์ เครื่องใช้ในครัว กระดาษ หนังสือ และเฟอร์นิเจอร์ไม้

ผลิตภัณฑ์ไม้ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบสูง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ปลายน้ำของไม้ หรือผลิตภัณฑ์จากอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์กระดาษ ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกถึง 43.6% ของการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้ทั้งหมดไปยังสหภาพยุโรป (จากกระดาษและกระดาษแข็งไม่เคลือบ รวมถึงกระดาษชำระ เป็นสำคัญ) ตามมาด้วยเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและเครื่องใช้ในครัวที่ทำจากไม้ (9.8% ของการส่งออกไม้ทั้งหมด) เบาะนั่งที่มีกรอบไม้ (7.3%) เฟอร์นิเจอร์ไม้ (6.6%) รูปแกะสลักและเครื่องประดับไม้ (3.8%) และบรรจุภัณฑ์ทำด้วยไม้ (3.6%) ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ไม้แปรรูปจะได้รับผลกระทบในวงจำกัดกว่า จากสัดส่วนการส่งออกที่น้อยกว่า โดยแผ่นชิ้นไม้อัด แผ่นใยไม้อัด ไม้อัดพลายวูด และไม้อัดวีเนียร์ มีการส่งออกรวมกันเพียง 2.9% ของการส่งออกสินค้ากลุ่มไม้ไปยังสหภาพยุโรปทั้งหมด อย่างไรก็ดี แม้ผลกระทบทางตรงจะดูเหมือนไม่มาก แต่ไทยอาจได้รับผลกระทบทางอ้อมจากส่งออกไม้แปรรูปไปยังจีนได้น้อยลง กล่าวคือ จีนในฐานะซัพพลายเออร์ผลิตภัณฑ์ไม้อันดับหนึ่งของสหภาพยุโรป โดยเฉพาะเฟอร์นิเจอร์ อาจเข้มงวดในการเลือกซื้อไม้แปรรูปจากประเทศที่มีความพร้อมต่อ EUDR มากกว่า เพื่อรักษาตลาดสหภาพยุโรปในการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ ทำให้ไทยต้องแข่งขันกับผู้ส่งออกไม้แปรรูปไปยังจีน เช่น เวียดนาม ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหภาพยุโรปด้วยนั่นเอง ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นที่น่าจับตามองเป็นพิเศษเพราะไทยพึ่งพาตลาดจีนในการส่งออกไม้แปรรูปกว่า 90%
ในด้านความพร้อมนั้น ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไม้อาจได้เปรียบอุตสาหกรรมอื่น จากความคุ้นเคยกับการปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมการค้าไม้ของสหภาพยุโรป (EU Timber Regulation: EUTR) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2556 โดยกำหนดให้จัดทำ Due Diligence เพื่อตรวจสอบย้อนกลับว่าผลิตภัณฑ์ไม้ที่นำเข้ามาในสหภาพยุโรปมาจากแหล่งที่ถูกกฎหมาย25 ซึ่งหลักฐานกรรมสิทธิ์การใช้ที่ดินอย่างถูกต้องนับว่ามีความสำคัญในการพิสูจน์ว่าไม้ไทยไม่ได้มาจากการทำลายป่า26 ในส่วนนี้กรมป่าไม้เป็นหน่วยงานหลักที่กำกับดูแลกิจกรรมที่เกี่ยวข้องตลอดทั้งห่วงโซ่การค้าไม้ เช่น การขึ้นทะเบียนสวนป่า การอนุญาตให้ตัดไม้ การออกใบอนุญาตตั้งโรงงานแปรรูปไม้ การออกหนังสือรับรองไม้และผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออก ทั้งหมดนี้จึงสามารถใช้เป็นหลักฐานสำคัญในการยืนยันการปฏิบัติตามกฎหมายในประเทศได้
นอกจากกฎหมายป่าไม้แล้ว สหภาพยุโรปยังให้ความสำคัญกับความยั่งยืนในมิติสิ่งแวดล้อมและสังคมอื่นๆ ด้วย ดังนั้น หากผู้ประกอบการตัองการรักษาหรือขยายตลาดการค้าไม้ จำเป็นต้องดำเนินธุรกิจอย่างสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งนอกเหนือจากมาตรฐาน FSC ที่สามารถนำมาใช้กับผลิตภัณฑ์ยางพาราและผลิตภัณฑ์ไม้แล้ว อีกหนึ่งมาตรฐานที่ได้รับความนิยมในการรับรองผลิตภัณฑ์ไม้อย่างยั่งยืนคือ Program for the Endorsement of Forest Certification (PEFC) โดย PEFC เป็นองค์กรที่ประเมินและให้การยอมรับระบบการรับรองมาตรฐานไม้ในแต่ละประเทศ ซึ่งในกรณีของไทย มีสำนักงานการรับรองไม้เศรษฐกิจไทย (Thailand Forest Certification Council: TFCC) เป็นผู้รับรองสินค้าที่ได้มาตรฐาน PEFC ตั้งแต่ปี 256227 มาตรฐานดังกล่าวมีหลักเกณฑ์พื้นฐานเกี่ยวกับการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน สิทธิแรงงาน ความหลากหลายทางชีวภาพ การใช้ประโยชน์จากที่ดิน และกฎหมายอื่นๆ ซึ่งหลักเกณฑ์เหล่านี้อ้างอิงกับมาตรฐานขององค์การระหว่างประเทศ28 โดยสินค้าที่มักพบเครื่องหมาย PEFC ได้แก่ กระดาษ กล่องหรือบรรจุภัณฑ์ไม้ และไม้แปรรูป
อุตสาหกรรมไม้และผลิตภัณฑ์ของไทยมีศักยภาพในการขยายตลาดอีกมาก โดยเฉพาะไม้ยางพาราที่ไทยมีพื้นที่เพาะปลูกกว่า 22 ล้านไร่ รวมทั้งเป็นไม้ที่ส่งออกมากที่สุดและเป็นไม้ชนิดเดียวที่ไม่ถูกจำกัดปริมาณการส่งออก ดังนั้น หากไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ไม้อย่างแพร่หลายอาจเป็นอุปสรรคในการขยายตลาด โดยเฉพาะในยุโรปที่มีกฎเกณฑ์มาตั้งแต่ EUTR จนถึง EUDR ในปัจจุบัน
อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของไทยมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจาก EUDR รองจากอุตสาหกรรมยางพาราและอุตสาหกรรมไม้ โดยเมื่อวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของไทย พบว่าอุตสาหกรรมต้นน้ำเริ่มต้นจากการทำสวนปาล์มน้ำมัน โดยไทยมีพื้นที่ปลูกปาล์มรวม 6.2 ล้านไร่ ในปี 2565 ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้ และมีเกษตรกรที่ทำสวนปาล์ม 4.1 แสนครัวเรือน ทั้งนี้ จำนวนเกษตรกรสวนปาล์มมีทิศทางเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ส่วนใหญ่มักเป็นผู้ผลิตรายย่อย ขั้นต่อมาจะนำผลปาล์มสดที่ได้จากสวนไปผลิตน้ำมันปาล์มดิบในโรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบที่เป็นอุตสาหกรรมกลางน้ำ ซึ่งในขั้นนี้จะได้ผลผลิตที่เหลือจากการสกัดน้ำมันปาล์มดิบ เช่น กากปาล์ม ทะลายปาล์ม เส้นใย ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ก่อนที่น้ำมันปาล์มดิบจะเข้าสู่ขั้นตอนการกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมขั้นปลาย อีกทั้งยังมีอุตสาหกรรมปลายน้ำอื่นๆ นอกเหนือจากอุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันพืช อาทิ ไบโอดีเซล เคมีภัณฑ์ รวมถึงอุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอล (Oleochemicals) เช่น การผลิตสบู่ เนย และมาการีน

แม้ว่าไทยจะเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มอันดับที่ 3 ของโลก รองจากอินโดนีเซียและมาเลเซียตามลำดับ แต่การส่งออกสินค้าปาล์มน้ำมันภายใต้ EUDR ของไทยไปยังสหภาพยุโรปมีไม่มาก โดยในปี 2565 มีมูลค่าเพียง 22.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในจำนวนนี้เป็นการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ (Crude palm oil) มากที่สุดถึง 19.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 88.4% ของการส่งออกผลิตภัณฑ์ปาล์มน้ำมันทั้งหมด29 นอกจากน้ำมันปาล์มดิบแล้ว อีกหนึ่งกลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบสูงคือเคมีภัณฑ์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ปลายน้ำของน้ำมันปาล์ม โดยเฉพาะกรดไขมันและแอลกอฮอล์ไขมัน ที่ใช้ในอุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอล (เช่น การผลิตสบู่ และสารทำความสะอาด) ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกคิดเป็น 8.8% และ 1.4% ของการส่งออกผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมันทั้งหมด ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกเคมีภัณฑ์จากน้ำมันปาล์มไปยังสหภาพยุโรปมีความต่อเนื่องและสม่ำเสมอกว่าการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ จึงคาดว่าผู้ประกอบการเคมีภัณฑ์จะได้รับผลกระทบที่มีความชัดเจนกว่า อีกทั้งยังต้องเผชิญการตรวจสอบย้อนกลับที่ซับซ้อนกว่าด้วย ในขณะที่สินค้าอื่นๆ ในอุตสาหกรรม อาทิ น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ และเมล็ดปาล์ม คาดว่าจะได้รับผลกระทบจำกัด ด้วยสัดส่วนการส่งออกเพียง 0.1% เท่านั้น
ความท้าทายของ EUDR ต่ออุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันไทยจะคล้ายกับอุตสาหกรรมยางพารา กล่าวคือ พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากการทำลายป่า แต่ปรับเปลี่ยนมาจากพื้นที่ทางการเกษตรอื่นๆ และเกษตรกรมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินอย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตาม เกษตรกรรายย่อยซึ่งเป็นผู้ทำสวนปาล์มราว 80% ของพื้นที่สวนปาล์มทั้งประเทศ ยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับการทำสวนปาล์มอย่างยั่งยืน เช่น การใช้ปุ๋ย การนำทะลายปาล์มเปล่าหมุนเวียนกลับมาใช้ ทำให้มีชาวสวนปาล์มประมาณ 2% เท่านั้นที่ผ่านการรับรองมาตรฐานการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน ขององค์กรเจรจาระหว่างประเทศว่าด้วยน้ำมันปาล์มยั่งยืน (Roundtable on Sustainable Palm Oil: RSPO)30 มาตรฐานดังกล่าวจะช่วยรับรองว่าการผลิตปาล์มน้ำมันผ่านเกณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ความรับผิดชอบต่อลูกจ้างและชุมชนที่ได้รับผลกระทบ และการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง31 ซึ่งสอดคล้องกับหลักการของ EUDR ดังนั้น สัดส่วนผู้ผลิตที่ได้รับรองมาตรฐานสากลที่น้อย อาจสะท้อนว่ายังมีผู้เล่นอีกมากที่ต้องพัฒนาเพื่อให้พร้อมต่อมาตรการทางการค้าปาล์มอย่างยั่งยืนอย่าง EUDR
ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามผลักดันให้เกษตรกรไทยปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนมากขึ้น ตัวอย่างเช่น องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (Deutsche Gesellschaft für Internationale Zusammenarbeit GmbH: GIZ)32 ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรไทยราว 1,000 ราย หันมาทำสวนปาล์มที่ได้มาตรฐาน RSPO และสนับสนุนการพัฒนาแอปพลิเคชัน i-Palm ที่ช่วยรวบรวมและจัดการฐานข้อมูล เช่น พิกัดทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน และระยะเวลาการให้ผลผลิต ซึ่งการทำสวนปาล์มย่างยั่งยืนตามมาตรฐานข้างต้นสามารถช่วยเตรียมความพร้อมให้ชาวสวนยางรับมือกับ EUDR ได้ ทั้งนี้ แม้อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มไทยยังมีขนาดเล็ก แต่ก็มีศักยภาพในการปรับตัวทั้งอุตสาหกรรมได้ง่าย ดังนั้น หากไทยสามารถปรับตัวได้เร็วจะมีโอกาสได้รับผลบวกจากการขยายตลาดปาล์มน้ำมันในสหภาพยุโรปได้
นอกจากยางพารา ไม้ และปาล์มน้ำมันแล้ว ไทยส่งออกสินค้ากลุ่มอื่นๆ ภายใต้ EUDR ไปยังสหภาพยุโรปในปริมาณน้อยมาก จึงคาดว่าจะได้รับผลกระทบจำกัด ซึ่งสรุปได้ดังตารางที่ 4 อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่แล้วเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าเหล่านี้เป็นเกษตรกรรายย่อย ซึ่งอาจมีข้อจำกัดด้านเอกสารยืนยันการใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างถูกต้องและการไม่บุกรุกป่า ที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการค้ากับสหภาพยุโรปได้
ในทางกลับกัน ปริมาณการส่งออกที่น้อยในปัจจุบันสะท้อนว่าไทยยังมีช่องว่างในการขยายตลาดในสหภาพยุโรปอีกมาก สินค้าที่น่าสนใจคือโกโก้ เพราะแม้ปริมาณการส่งออกยังอยู่ในระดับต่ำ แต่ไทยพึ่งพาการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปสูง ตลาดยุโรปจึงถือว่ามีศักยภาพเมื่อเทียบกับตลาดอื่น ประกอบกับโกโก้เป็นพืชเศรษฐกิจที่ไทยพยายามผลักดันเนื่องจากมีตลาดรองรับทั้งในและต่างประเทศ แต่ความท้าทายสำคัญคือการเร่งปรับตัวให้สอดคล้องกับ EUDR และการแข่งขันกับประเทศซัพพลายเออร์รายใหญ่ อาทิ โกตติวัวร์ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

โดยสรุปแล้ว จากความสามารถในการผลิตและส่งออกสินค้า EUDR ของไทยที่แตกต่างกัน รวมถึงการพึ่งพาตลาดสหภาพยุโรปแต่ละประเทศในการส่งออกสินค้า EUDR ที่ไม่เท่ากัน ทำให้สามารถจัดลำดับความสำคัญในการเร่งพัฒนาและปรับตัวเพื่อรับมือกับกฎหมาย EUDR ของแต่ละภาคส่วนได้ดังภาพที่ 10 กล่าวคือ เมื่อผนวกมิติความสำคัญของขนาดการส่งออกของแต่ละสินค้า (Product Priority) ในแกนนอน กับมิติความสำคัญของตลาดส่งออกในสหภาพยุโรป (Market Priority) ในแกนตั้ง พบว่าผู้ส่งออกยางพาราไทยไปยังประเทศเยอรมนี เนเธอร์แลนด์ สเปน ฝรั่งเศส และอิตาลี มีแนวโน้มได้รับผลกระทบมากที่สุด และต้องให้ความสำคัญกับการปรับตัวเป็นอันดับแรก (หมายเลข 1) เนื่องจากการส่งออกยางพาราไปยัง 5 ประเทศข้างต้น (Top 5 Markets) คิดเป็นสัดส่วนรวมกันสูงถึง 59.6% ของการส่งออกผลิตภัณฑ์ EUDR ทั้งหมดไปยังสหภาพยุโรป ในขณะที่การส่งออกยางพาราไปยังประเทศที่เหลือของสหภาพยุโรป (Rest of the EU) มีส่วนแบ่งราว 34.1% ของทุกผลิตภัณฑ์ จึงเป็นตลาดที่ควรได้รับความสำคัญรองลงมา (หมายเลข 2) ดังนั้น ในภาพรวมยางพารานับว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสูงสุดของไทย จากสัดส่วนการส่งออก 93.7% ของการส่งออกสินค้า EUDR ทั้งหมดไปยังทุกประเทศในสหภาพยุโรป (ผลรวมคอลัมน์ยางพารา หรือหมายเลข 1+2)

มุมมองวิจัยกรุงศรี: ไทยควรรับมืออย่างไรเมื่อกฎเกณฑ์การค้าโลกไม่เหมือนเดิม
การเตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วน
กฎหมาย EUDR ที่มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 ส่งสัญญาณให้ไทยต้องเร่งทำความเข้าใจและเตรียมรับมือกับกฎเกณฑ์ทางการค้าใหม่ที่ผนวกประเด็นด้านความยั่งยืนอย่างเข้มงวด แม้ขณะนี้ EUDR จะยังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน ซึ่งเราต้องติดตามรายละเอียดการปฏิบัติที่คาดว่าจะชัดเจนขึ้นภายในปี 2567 อย่างไรก็ดี ในเบื้องต้นวิจัยกรุงศรีประเมินว่าผลกระทบของ EUDR ต่อไทยยังมีจำกัดในช่วงแรก โดยผลกระทบจะอยู่ในอุตสาหกรรมยางพาราเป็นสำคัญ รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมไม้ และปาล์มน้ำมัน ทั้งนี้ ผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทยจะต้องเผชิญต้นทุนการจัดเตรียมข้อมูล การตรวจสอบย้อนกลับการผลิต และการขอรับรองมาตรฐานความยั่งยืน ก่อนที่จะส่งออกไปยังสหภาพยุโรป ซึ่งหากไม่ผ่านเกณฑ์ EUDR อาจส่งผลให้สูญเสียตลาดในสหภาพยุโรป หรือหลุดออกจากห่วงโซ่การค้าของโลกได้
เมื่อมองไปในระยะยาวผลกระทบของ EUDR มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นจากปัจจัยต่างๆ ได้แก่ 1) ผลการจัดกลุ่มประเทศตามความเสี่ยงด้านการตัดไม้ทำลายป่าและการละเมิดกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 2) การขยายขอบเขตสินค้า ซึ่งคาดว่าจะครอบคลุมสินค้าเกษตร ปศุสัตว์ และผลิตภัณฑ์ปลายน้ำมากขึ้น และ 3) การริเริ่มมาตรการที่คล้ายกันในเขตเศรษฐกิจอื่นๆ นอกเหนือจากสหภาพยุโรป
ดังนั้น เพื่อบรรเทาผลกระทบทั้งในระยะสั้นและระยะยาวจาก EUDR หน่วยงานทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนควรดำเนินการร่วมกันดังนี้
โอกาสของภาคธุรกิจและภาคการเงิน
แม้คู่ค้าของสหภาพยุโรปทั่วโลกจะเผชิญความท้าทายจาก EUDR เช่นเดียวกัน แต่แน่นอนว่าประเทศต่างๆ ย่อมมีความสามารถในการปรับตัวไม่เท่ากัน นั่นแปลว่าหากไทยเตรียมความพร้อม และบรรเทาผลกระทบได้ดีกว่าประเทศคู่แข่ง ผู้ประกอบการไทยจะสามารถขยายส่วนแบ่งตลาดในสหภาพยุโรปได้ ไม่เพียงแต่สินค้าที่ไทยส่งออกมาก อาทิ ยางพารา ไม้ และปาล์มน้ำมัน เท่านั้น แต่ยังรวมถึงสินค้ากลุ่มอื่นๆ ที่มีศักยภาพในการเติบโต เช่น โกโก้ ในขณะเดียวกัน ไทยก็มีโอกาสเพิ่มบทบาทในห่วงโซ่มูลค่าโลกผ่านการส่งออกวัตถุดิบขั้นกลางที่ไทยมีศักยภาพ เช่น ยางแปรรูปและไม้แปรรูป ไปยังประเทศคู่ค้าของสหภาพยุโรป นอกจากนี้ การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนมากขึ้น ทำให้เกิดผลพลอยได้ที่สำคัญคือการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร ซึ่งอาจเพิ่มโอกาสในการระดมทุนและต่อยอดธุรกิจ อาทิ การอยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และท้ายที่สุดเมื่อภาคส่วนต่างๆ ใส่ใจประเด็นความยั่งยืนมากขึ้น จะเป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ของประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ไทยเข้าใกล้เป้าหมาย Net Zero ที่ตั้งไว้ได้เร็วขึ้นด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น EUDR ยังก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เช่น ผู้พัฒนาระบบติดตามและตรวจสอบย้อนกลับ ผู้ให้บริการและที่ปรึกษาด้านการตรวจสอบ Due Diligence ซึ่งเป็นขั้นตอนที่มีความยุ่งยากซับซ้อน รวมถึงผู้ให้การรับรองมาตรฐานสากลด้านความยั่งยืน ที่ล้วนได้รับอานิสงส์จาก EUDR ดังนั้น หากเราลองพลิกเหรียญที่เต็มไปด้วยผลกระทบต่างๆ จาก EUDR แล้วจะพบว่าอีกด้านหนึ่งของเหรียญก็มีโอกาสปรากฏอยู่ไม่น้อยเช่นกัน
นอกจากภาคเศรษฐกิจจริงแล้ว ในอีกมุมหนึ่งภาคการเงินก็อาจได้รับผลจาก EUDR ด้วย เนื่องจากภายใน 2 ปีหลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้สหภาพยุโรปจะทบทวนและอาจขยายขอบเขตให้ครอบคลุมบทบาทของสถาบันการเงิน โดยอาจห้ามการให้สินเชื่อหรือเงินทุนที่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า อย่างไรก็ดี หากภาคการเงินตื่นตัวและให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ ก็จะมีโอกาสเป็นผู้ผลักดันการเติบโตของธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งท้ายที่สุดจะกลายเป็นระเบียบปฏิบัติใหม่ของโลก
เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า กฎเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่สหภาพยุโรปเป็นผู้ริเริ่ม มีแนวโน้มสูงที่จะกลายเป็นต้นแบบของโลก ตัวอย่างเช่น CBAM ที่ขณะนี้หลายๆ ประเทศกำลังพิจารณานำมาใช้ตามสหภาพยุโรป ซึ่ง EUDR เองก็จะมีอิทธิพลต่อกติกาการค้าและสิ่งแวดล้อมของโลกเช่นเดียวกัน ดังนั้น ไทยควรเตรียมตัวให้พร้อมที่สุดในโอกาสแรก เพราะนั่นจะเปิดทางไปสู่การคว้าโอกาสทางการค้าการลงทุนในลำดับถัดๆ ไป
อ้างอิง
1/ การทำลายป่า (Deforestation) หมายถึงการแปลงป่าเป็นพื้นที่ที่ใช้เพื่อเกษตรกรรม (conversion of forest to agricultural use)
2/ การทำให้ป่าเสื่อมโทรม (Forest degradation) หมายถึงการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของป่าจาก 1) ป่าไม้ปฐมภูมิ (Primary forests) ซึ่งเป็นป่าไม้ดั้งเดิมที่เจริญเติบโตมาเป็นเวลานาน หรือป่าฟื้นฟูตามธรรมชาติ (Naturally regenerating forests) ให้เป็นป่าสวน (Plantation forest) หรือพื้นที่ป่าอื่น (Other wooded land) หรือ 2) ป่าปฐมภูมิให้เป็นป่าปลูก (Planted forest)
3/ ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการและส่งมอบ Due Diligence Statement เอง หรืออาจมอบหมายให้ผู้แทนที่เป็นบุคคลธรรมดา/นิติบุคคล (Authorized representative) เป็นผู้ส่งมอบก็ได้ อย่างไรก็ตาม ภายใต้กฎหมาย EUDR ยังไม่ได้ระบุรายละเอียดของ Authorized representative จึงต้องติดตามกฎระเบียบลำดับย่อยที่สหภาพยุโรปจะประกาศต่อไป ทั้งนี้ ปัจจุบันมีบริษัทที่ให้บริการสนับสนุนการตรวจสอบ Due Diligence เช่น Global Traceability, TraceX, Know Your Vendor และ Satelligence
4/ Source : European Union Law, https://eur-lex.europa.eu/eli/reg/2023/1115/oj
5/ Operator means any natural or legal person who places relevant products on the market or exports them.
6/ Trader means any person in the supply chain other than the operator who makes relevant products available on the EU market, such as large supermarket or retail chains.
7/ SMEs (including micro enterprises) in the EU refer to enterprises which on their balance sheet dates do not exceed the limits of at least two of the three following criteria: 1) balance sheet total of EUR 20,000,000, 2) net turnover of EUR 40,000,000, and 3) 250 employees (Directive 2013/34/EU of the European Parliament and of the Council)Source : European Union Law, https://eur-lex.europa.eu/legal-content/EN/TXT/?uri=celex%3A32013L0034
8/ Source : S&P Global, https://www.spglobal.com/marketintelligence/en/mi/research-analysis/deforestation-rules-impact-on-supply-chains.html
9/ Source : Climate Policy Initiative (CPI), https://www.climatepolicyinitiative.org/publication/brazilian-environmental-policies-and-the-new-european-union-regulation-for-deforestation-free-products-opportunities-and-challenges/
10/ Source : International Institute for Sustainable Development (IISD), https://www.iisd.org/articles/policy-analysis/ppms-rise-new-sustainability-oriented-trade-policies-process-production-methods
11/ ประเทศกำลังพัฒนา 17 ประเทศ ประกอบด้วย อาร์เจนตินา บราซิล โบลิเวีย โคลอมเบีย สาธารณรัฐโดมินิกัน เอกวาดอร์ กัวเตมาลา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เม็กซิโก ไนจีเรีย ปารากวัย เปรู กานา โกตติวัวร์ ฮอนดูรัส และไทย (ข้อมูลจากเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ และหัวหน้าคณะผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรป อ้างอิงจากมติชน, https://www.matichon.co.th/foreign/news_4173622)
12/ Source : Resilient communities, sustainable and equitable forest landscapes, https://www.recoftc.org/stories/what-eu-regulation-deforestation-free-products-means-communities-and-smallholders-asia
13/ Source : S&P Global, https://www.spglobal.com/marketintelligence/en/mi/research-analysis/deforestation-rules-impact-on-supply-chains.html
14/ Source: Deutsche Gesellschaft für Internationale Zusammenarbeit (GIZ), https://www.thai-german-cooperation.info/th/eudr-a-trade-barrier-or-an-opportunity-for-the-thai-palm-oil-industry/
15/ ที่มา : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร, https://www.seub.or.th/document/สถานการณ์ป่าไม้ไทย/2023-235/
16/ การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Land Use Change) คือการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินบริเวณใดบริเวณหนึ่ง เพื่อตอบสนองความต้องการด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ทั้งแบบถาวร และแบบชั่วคราว เช่น การเปลี่ยนแปลงจากพื้นที่ป่าเป็นเกษตรกรรม (ที่มา : https://km-ir.arts.tu.ac.th/files/original/4f4e0b66b6add0290e1e19022004d90220530945.pdf)
17/ ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ได้ตั้งเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนพื้นที่ป่าเป็น 55% ของพื้นที่ประเทศ โดยแบ่งเป็นพื้นที่เป็นป่าธรรมชาติ 35% พื้นที่ป่าเศรษฐกิจเพื่อการใช้ประโยชน์ร้อยละ 15% และพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองและชนบท 5%
18/ Source : .Thansettakij, https://www.thansettakij.com/business/trade-agriculture/577663
19/ มาตรฐาน FSC มีหลักการสำคัญที่สอดคล้องกับ EUDR เช่น การบำรุงรักษาสิ่งแวดล้อม ป่าไม้ และระบบนิเวศ การจ้างงานอย่างเป็นธรรม การเคารพสิทธิชนพื้นเมือง 20/ การปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ที่มา : Forest Stewardship Council International, https://fsc.org/en/fsc-standards
Source : Sri Trang Agro-Industry Plc., https://www.sritranggroup.com/th/news-update/company-news/view?id=507
21/ Source : Ministry of Agriculture and Cooperatives, https://www.moac.go.th/news-preview-451291792895
22/ Source : Thaipublica, https://thaipublica.org/2023/08/sta-sri-trang-friends-platform-eudr-pr-11082023/
23/ ข้อมูลปริมาณไม้ที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ผลิตได้ ที่มา : องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (Forest Industry Organization), https://forestinfo.forest.go.th/Content/file/stat2565/Table_PDF/Table_20_ข้อมูลปริมาณไม้ที่ผลิตได้_ปี_พ.ศ._2565.pdf
24/ โรงงานไม้แปรรูปในไทยมีจำนวน 5,761 โรง ในปี 2564 (ที่มา : กรมป่าไม้ (Royal Forest Department) และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (Office of Agricultural Economics))
25/ Source : Rubber Intelligence Unit (Office of Industrial Economics), http://rubber.oie.go.th/file/1_EU%20Timber%20Regulation.pdf
26/ Source : Thai-EU FLEGT Secretariat Office (TEFSO), https://tefso.org/th/ความพร้อมของอุตสาหกรรม/
27/ Source : Office of Industrial Economics, https://www.oie.go.th/assets/portals/1/fileups/2/files/ArticlesAnalysis/rubberwood19.pdf
28/ Source : Rubber Intelligence Unit (Office of Industrial Economics), https://rubber.oie.go.th/file/PEFC.pdf
29/ มูลค่าการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบของไทยไปยังสหภาพยุโรปค่อนข้างผันผวน โดยมูลค่าสูงขึ้นอย่างมากในปี 2565ขณะที่ปีก่อนๆ ส่งออกน้อยมาก ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณผลผลิตน้ำมันปาล์มในประเทศเป็นสำคัญ
30/ Source: Deutsche Gesellschaft für Internationale Zusammenarbeit (GIZ), https://www.asean-agrifood.org/palm-oil-thai/
31/ Source : The British Standards Institution (bsi.), https://www.bsigroup.com/th-TH/RSPO-for-Sustainable-Palm-Oil/rspo-principles-and-criteria/
32/ GIZ สนับสนุนผ่านการดำเนินโครงการการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Sustainable and Climate-Friendly Palm Oil Production and Procurement: SCPOPP) Source: Deutsche Gesellschaft für Internationale Zusammenarbeit (GIZ), https://www.thai-german-cooperation.info/th/eudr-a-trade-barrier-or-an-opportunity-for-the-thai-palm-oil-industry/
33/ Source : Thai-EU FLEGT Secretariat Office (TEFSO), https://tefso.org/th/อุตสาหกรรมหนังและอาหาร/
34/ Source : Bank of Thailand, https://www.bot.or.th/content/dam/bot/documents/th/research-and-publications/article/regional/2564/2564_RL_07_unlock_coco.PDF
35/ Source : The 101 .World, https://www.the101.world/gastro-politics-ep-3/
36/ มาตรการยกระดับอุตสาหกรรม (Smart and Sustainable Industry) เริ่มใช้เมื่อต้นปี 2566 โดยล่าสุดในช่วงมกราคม-กันยายน ปี 2566 มีโครงการขอรับการส่งเสริมด้านความยั่งยืนทั้งหมด 223 โครงการ มูลค่าการลงทุน 12,327 ล้านบาท ที่มา : The Office of the Board of Investment (BOI), https://www.boi.go.th/th/smart_sustainable