ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > สภาผู้แทนอังกฤษประกาศภาวะฉุกเฉิน “Climate Change” คณะที่ปรึกษาเสนอลดการปล่อยก๊าซเป็นศูนย์ปี 2050

สภาผู้แทนอังกฤษประกาศภาวะฉุกเฉิน “Climate Change” คณะที่ปรึกษาเสนอลดการปล่อยก๊าซเป็นศูนย์ปี 2050

2 พฤษภาคม 2019


ที่มาภาพ:https:// edition.cnn.com/2019/05/01/uk/uk-emissions-net-zero-2050-scn-intl/index.html

สภาสามัญชนหรือสภาผู้แทนอังกฤษได้ลงมติเห็นชอบให้ ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Change และด้านสิ่งแวดล้อม โดยที่ไม่ต้องลงคะแนน และถือเป็นประเทศแรกของโลกที่ประกาศภาวะฉุกเฉินด้าน Climate Change

การให้ความเห็นชอบประกาศภาวะฉุกเฉินครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของสภาสามัญชนของอังกฤษในประเด็นดังกล่าว แต่ไม่มีผลผูกพันต่อรัฐบาลให้ปฏิบัติตาม

นายเจอร์มี คอร์บิน หัวหน้าพรรคแรงงาน ซึ่งเป็นผู้เสนอญัตติกล่าวว่า เป็นก้าวที่สำคัญ

นายไมเคิล โกฟ รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อม รับทราบถึงการประกาศภาวะฉุกเฉินด้าน Climate Change ของรัฐสภา และไม่ได้ตอบสนองพรรคแรงงานที่เรียกร้องให้รัฐบาลประกาศเช่นกัน

การประกาศภาวะฉุกเฉินด้าน Climate Change นี้เป็นหนึ่งในหลายข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลจากกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมหลังจากเดินขบวนหลายระลอกใน 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา

ที่มาภาพ:https:// www.reuters.com/article/us-britain-climatechange-parliament/after-protests-britains-parliament-declares-climate-change-emergency-idUSKCN1S74OA

นายคอร์บินกล่าวว่า การประกาศภาวะฉุกเฉินนี้จะเป็นการเริ่มต้นกระแสการปฏิบัติของรัฐสภาและรัฐบาลทั่วโลก

“เราให้คำมั่นว่าจะทำงานอย่างใกล้ชิดเท่าที่จะทำได้กับประเทศอื่นๆ ที่ให้ความสำคัญกับการลดภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสื่อสารไปยังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯอย่างชัดเจนว่า ไม่สามารถละเลยต่อข้อตกลงระหว่างประเทศและการดำเนินการต่อวิกฤติสภาพภูมิอากาศได้”

หลายเมืองในอังกฤษได้ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปแล้ว แม้ยังไม่มีความหมายชัดเจนว่า ภาวะฉุกเฉินนี้คืออะไร แต่หลายพื้นในอังกฤษระบุว่า ต้องการที่จะให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนมีสถานะเป็นกลางในปี 2030

หลายองค์กรให้คำมั่นว่าจะผลักดันศูนย์กลางรถยนต์ไฟฟ้า หรือสร้างบ้านที่ยั่งยืนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายที่มาก กว่าเป้าหมายของรัฐบาลที่ตั้งไว้ว่าจะลดการปล่อยก๊าซลง 80% ลงภายในปี 2050 จากระดับการปล่อยก๊าซปี 1990

พรรคแรงงานซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลตั้งเป้าการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เท่ากับศูนย์ ก่อนปี 2050 และให้กระทรวงต่างๆจัดทำแผนเพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและสร้างเศรษฐกิจที่ไร้ขยะ(zero waste economy) ภายใน 6 เดือน

รัฐบาลแคว้นเวลส์และสก็อตแลนด์ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินด้าน Climate Change ไปแล้วก่อนหน้านี้ พร้อมกับอีกหลายๆเมือง รวมทั้งแมนเชสเตอร์และกรุงลอนดอน

จี้อังกฤษผู้นำโลกลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์

คณะกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Committee on Climate Change:CCC) ระบุว่า อังกฤษควรเป็นผู้นำโลกในการแก้ไขการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050

ปัจจุบันรัฐบาลตั้งเป้าไว้ว่าจะลดการปล่อยก๊าซลง 80% ลงภายในปี 2050 จากระดับการปล่อยก๊าซปี 1990

คณะกรรมการ CCC กล่าวว่า เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงใหม่นี้มีความจำเป็น มีความเป็นไปได้และประหยัดต้นทุน แต่รัฐบาลจะต้องทุ่มเทและดำเนินการอย่างมาก

รายงานของคณะกรรมการ CCC ที่นำเสนอต่อรัฐบาล ระบุว่า หากประเทศอื่นดำเนินการตามอังกฤษ ก็มีโอกาส 50-50 ที่จะช่วยให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียสในปี 2100

ทั้งนี้อุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส ถือว่าเป็นระดับที่จัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นเข้าขั้นอันตราย

คณะกรรมการ CCC ซึ่งเป็นที่ปรึกษาอิสระของรัฐบาลในประเด็น Climate Change กล่าวว่า แม้อังกฤษจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายให้เร็วขึ้น แต่เป้าหมายปี 2050 ยังคงเป็นเป้าหมายด้านบวกที่มีความสำคัญ

นายคริส สตาร์คผู้เขียนหลักของรายงานกล่าวว่า ถ้าหากว่าเป็นช่วง 2-3 ปีก่อนรายงานชิ้นนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย และคนอาจจะหัวเราะเยาะได้ว่าตั้งเป้าหมายสูงไป แต่ประเด็นที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงคือ ต้นทุนพลังงานหมุนเวียนที่ลดลงทำให้รัฐบาลหันมาใช้พลังแสงอาทิตย์และพลังงานลมมากขึ้น

ที่มาภาพ:https://www. bloomberg.com/news/articles/2019-05-01/u-k-zero-carbon-emissions-plan-see-electric-cars-less-meat

นอกจากนี้ เกิดจากประชาชนเองที่เปลี่ยนความเห็นหลังจากที่ได้ชมสารคดีของเซอร์เดวิด แอตเทนบะระห์ ที่เผยแพร่ผ่าน บีบีซี รวมทั้งการเดินขบวนประท้วงของกลุ่ม Extinction Rebellion และแถลงการณ์ของเด็กหญิงเกรธา ตุนเบิร์ก ที่ทำให้คนตระหนักถึงภาวะเร่งด่วนของปัญหา

คณะกรรมการ CCC ยังกล่าวอีกว่า อังกฤษสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงภายในปี 2050 แต่สก็อตแลนด์จะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเป็นศูนย์ได้เร็วกว่าในปี 2045 เนื่องจากสก็อตแลนด์มีความสามารถในการปลูกต้นไม้ที่ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอน

ส่วนแคว้นเวลส์สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 95% ในปี 2050 เนื่องจากเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมการเกษตร ขณะที่ไอร์แลนด์เหนือนั้นจะตามหลังอังกฤษ

รัฐบาลอังกฤษกำลังศึกษารายงานฉบับนี้ซึ่งมีนัยต่อการเงินภาครัฐ โดยนายเกร็ก คลาร์ก รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบดูแลด้านยุทธศาสตร์ด้านธุรกิจ พลังงานและอุตสาหกรรม ให้ความเห็นว่า รายงานฉบับนี้ได้ให้แนวทางในการก้าวสู่ประเทศแรกที่จะออกฎหมายที่มีผลให้ไม่มีส่วนต่อการทำให้โลกร้อน

แนวทางการปล่อยคาร์บอนเท่ากับศูนย์

แผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับศูนย์ภายในปี 2050 หมายถึง การปล่อยก๊าซและการดูดซับก๊าซจะต้องสมดุลกัน แต่ในทางปฏิบัติ ต้องลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้นไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ดังนั้นต้องมีการดักจับก๊าซคาร์บอนหรือหักกลบด้วยการปลูกป่า

การบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเท่ากับศูนย์นั้น รัฐบาลต้องลงทุนสูงในพลังงานหมุนเวียน รถยนต์ไฟฟ้า การดักจับก๊าซคาร์บอน และการปลูกป่าถึงหลายพันล้านปอนด์ต่อปี หรือมีสัดส่วนราว 1-2% ของมูลค่าความมั่งคั่งของชาติ ที่วัดจาก GDP แต่ละปีไปจนถึงปี 2050 ซึ่งเป็นต้นทุนที่ไม่เปลี่ยนแปลงจากที่เคยประเมินไว้ รวมทั้งใช้กลไกตลาดคาร์บอนระหว่างประเทศ

รายงานเสนอให้ปลูกป่าเป็นพื้นที่ 30,000 เฮกตาร์กหรือ 116 ตารางไมล์ ต่อปี เพิ่มขึ้น 2 เท่าจากปัจจุบัน

ภายใต้ข้อเสนอจากรายงานของคณะกรรมการนี้ อังกฤษจะต้องหยุดการทำให้โลกร้อนขึ้นภายในกลางศตวรรษ แม้ผลกระทบที่ผ่านมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมยังมีอีกมาก เพราะก๊าซคาร์บอนสามารถคงอยู่ในชั้นบรรยากาศได้นานถึง 100 ปี

ปัจจุบันอังกฤษลดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงเป็น 80% ภายในปี 2050 จากระดับการปล่อยก๊าซปี 1990

คณะกรรมการ CCC เชื่อว่าการบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ อุตสาหกรรมและการช่วยกันรับผลกระทบของสาธารณ

ทั้งนี้คาดว่าการบรรลุเป้าหมาย 38% จะมาจากเทคโนโลยีที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ อีก 9% มาจากสังคมและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และหากมีการดำเนินการทั้งสองด้านร่วมกันจะมีผลถึง 53%

ที่มาภาพ:https:// www.bloomberg.com/news/articles/2019-05-01/u-k-zero-carbon-emissions-plan-see-electric-cars-less-meat

การลดการปล่อยก๊าซมีผลดีต่อสุขภาพประชาชน รวมทั้งคุณภาพน้ำและอากาศ นวัตกรรมและต้นทุนเทคโนโลยีที่ต่ำลงจะทำให้ค่าใช้จ่ายเพื่อการบรรลุเป้าหมายถูกลง

นอกจากนี้รายงานยังได้ให้คำแนะนำประชาชนทั่วไปในการปรับเปลี่ยนที่อยู่ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การใช้เครื่องความร้อนจากไฮโดรเจนแทนก๊าซธรรมชาติ การตั้งอุณหภูมิเครื่องทำความร้อนไว้ที่ 19 องศาเซลเซียสในหน้าหนาว

สำหรับอุตสาหกรรมการบินและชิปปิ้ง ที่ไม่ได้อยู่ในข้อตกลงปารีส แม้ได้มีส่วนร่วมด้วยการผลิตเครื่องบินจากการวัสดุรีไซเคิล แต่คณะกรรมการ CCC กล่าวว่ายังไม่มากพอ เพราะจำนวนเที่ยวบินเพิ่มขึ้นมาก และรัฐบาลต้องหาแนวทางในการจำกัดเที่ยวบิน

ทางด้านรถยนต์นั้นคาดว่า ในอีกไม่นานจะมีรถยนต์ไฟฟ้าใช้มากขึ้น แต่รัฐบาลกำหนดเป้าหมายว่าจะยกเลิกการใช้รถยนต์แบบเดิมภายในปี 2040 แต่คณะกรรมการ CCC เห็นว่า เป้าหมายควรเป็นปี 2030 หรือปี 2035 ในกรณีที่มีปัญหาในการผลิตแบตเตอรี่

รายงาน คณะกรรมการ CCC ยังเสนอให้สร้างโรงงานดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอีก 10 ปีข้างหน้าและขยายไปสู่การดูดซับการปล่อยก๊าซที่ปล่อยจากโรงงานที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

อาคารต่างๆควรใช้พลังงานความร้อนจากปั๊มใต้ดินและไฟฟ้าและลดการใช้เครื่องกำเนิดที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ

คณะกรรมการ CCC ระบุอีกด้วย ประชาชนทั่วไปจะช่วยลดการปล่อยก๊าซลงได้ 35% จากพฤติกรรมการกินได้หากลดการรับประทานเนื้อสัตว์ลง อย่างไรก็ตามคาดว่าการกินเนื้อสัตว์จะลดลงเพียง 20% ในปี 2050

นอกจากนี้ขยะที่ย่อยสลายได้จะไม่นำไปฝังกลบอีกต่อไปหลังจากปี 2025 ซึ่งหมายความว่าประชาชนต้องแยกขยะอาหารออกจากขยะประเภทอื่น

ที่มาภาพ:https:// www.bbc.com/news/science-environment-48122911

เรียบเรียงจาก BBC,bloomberg,CNN