ThaiPublica > Sustainability > Climate Action > 38 ประเทศร่วมโครงการ Freshwater Challenge ฟื้นฟูแม่น้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำ ปกป้องระบบนิเวศน้ำจืด

38 ประเทศร่วมโครงการ Freshwater Challenge ฟื้นฟูแม่น้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำ ปกป้องระบบนิเวศน้ำจืด

11 ธันวาคม 2023


ที่มาภาพ: https://wwf.panda.org/?10374466/Big-boost-to-climate-action-as-37-countries-join-the-Freshwater-Challenge

วันที่ 10 ธันวาคม ที่ผ่านมา 37 ประเทศได้เข้าร่วมโครงการ Freshwater Challenge ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มที่ใหญ่ที่สุดในโลกในการฟื้นฟูแม่น้ำ ทะเลสาบ และพื้นที่ชุ่มน้ำที่เสื่อมโทรม และเพื่อปกป้องระบบนิเวศน้ำจืดที่สำคัญ เพื่อการส่งเสริมความพยายามระดับโลกในการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และปรับตัวกับผลกระทบที่เลวร้ายลงต่อสังคมและเศรษฐกิจ

ในงานระดับสูงที่จัดขึ้นโดยประธาน COP28 และมีรัฐมนตรี 15 รายเข้าร่วม เข้าร่วมได้มีการเปิดเผยประเทศต่างๆ จากแอฟริกา เอเชีย ยุโรป อเมริกาเหนือและใต้ และแปซิฟิก ที่เข้าร่วมกับอีก 6 ประเทศที่ริเริ่มโครงการริเริ่มดังกล่าวในการประชุม UN 2023 Water Conference ที่นิวยอร์ก ได้แก่ โคลอมเบีย ดีอาร์ คองโก เอกวาดอร์ กาบอง เม็กซิโก และแซมเบีย

ผูัแทนระดับสูงและผู้ลงนามใหม่ ได้แก่ บราซิล บูร์กินาฟาโซ กัมพูชา แคนาดา ชาด ชิลี สาธารณรัฐโดมินิกัน ฟิจิ ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ เยอรมนี อิรัก เคนยา ไลบีเรีย มาลาวี มาลี มอริเตเนีย เนเธอร์แลนด์ ไนเจอร์ นอร์เวย์ เปรู สาธารณรัฐคองโก เซเนกัล สโลวีเนีย สเปน แทนซาเนีย สหราชอาณาจักร และซิมบับเว ซึ่งมีทรัพยากรน้ำจืดหมุนเวียนมากกว่า 25% ของโลก และเป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนเกือบ 1.2 พันล้านคน

โครงการ Freshwater Challenge มีเป้าหมายที่จะให้มีความมุ่งมั่นในการฟื้นฟูแม่น้ำที่เสื่อมโทรมรวมระยะทาง 300,000 กิโลเมตร ซึ่งเทียบเท่ากับมากกว่า 7 เท่าของรอบโลกและพื้นที่ชุ่มน้ำที่เสื่อมโทรมจำนวน 350 ล้านเฮกตาร์ซึ่งเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่กว่าอินเดีย ภายในปี 2573 และเพื่อปกป้องระบบนิเวศน้ำจืดให้อุดมสมบูรณ์

ระบบนิเวศน้ำจืดที่ดีมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการบรรเทาและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมองว่าเป็นรากฐานสำหรับอนาคตที่ต้องปรับตัวต่อสถานการณ์น้ำ พื้นที่พรุเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนบนบกที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในขณะที่ตะกอนในแม่น้ำที่สะสมอยู่บนพื้นทะเลก็กักเก็บคาร์บอนปริมาณมากได้เช่นกัน ที่ราบน้ำท่วมถึงและพื้นที่ชุ่มน้ำที่เชื่อมต่อกันสามารถลดผลกระทบจากน้ำท่วมรุนแรง และสร้างความยืดหยุ่นต่อภาวะภัยแล้งที่เพิ่มมากขึ้น

ป่าชายเลนสภาพดี ที่ส่วนใหญ่อาศัยตะกอนที่ไหลมาจากแม่น้ำเพื่อความอยู่รอดนั้น ช่วยปกป้องชุมชนชายฝั่งจากคลื่นพายุซัดฝั่ง(storm surges) พื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำที่มีประชากรหนาแน่นและความอุดมสมบูรณ์ทางการเกษตรยังต้องอาศัยกระแสน้ำ สารอาหาร และตะกอนปลายแม่น้ำเพื่อจำกัดการรุกล้ำของน้ำเค็ม คงความอุดมสมบูรณ์ และอยู่เหนือระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในสามของพื้นที่ชุ่มน้ำของโลกได้สูญเสียไปในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา และยังสูญเสียพื้นที่ชุ่มน้ำเหล่านี้เร็วกว่าป่าไม้ แม่น้ำและทะเลสาบเป็นระบบนิเวศที่เสื่อมโทรมมากที่สุดในโลก และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังทำให้ภัยคุกคามที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนรุนแรงขึ้น

  • ผู้คนประมาณ 4 พันล้านคนหรือเกือบ 2 ใน 3 ของประชากรโลก ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรงอย่างน้อย 1 เดือนต่อปี
  • ผู้คน 2.3 พันล้านคนอาศัยอยู่ในประเทศที่ขาดแคลนน้ำ
  • เกือบ 3 ใน 4 ของภัยพิบัติทางธรรมชาติล่าสุดทั้งหมดเกี่ยวข้องกับน้ำ รวมถึงน้ำท่วม ความแห้งแล้ง และพายุ ภัยพิบัติเหล่านี้ได้ทำลายชีวิตและการดำรงชีวิต ส่งผลกระทบต่อผู้คนนับล้าน และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมูลค่า 700 พันล้านเหรียญสหรัฐฯในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
    ภายในปี 2593

  • ผืนดินมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับ “ภัยแล้งขั้นรุนแรง” มากกว่า 5 เท่า
  • ประชากร 5.7 พันล้านคนมีแนวโน้มที่จะอาศัยอยู่ในพื้นที่ขาดแคลนน้ำ
  • คาดว่าจำนวนผู้เสี่ยงต่อน้ำท่วมจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 1.6 พันล้านคน

ที่มาภาพ:https://wwf.panda.org/?10374466/Big-boost-to-climate-action-as-37-countries-join-the-Freshwater-Challenge

ราซาน อัล มูบารัค ผู้แทนระดับสูงของสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (High-Level Climate Action Champion)สำหรับการประชุม COP28 กล่าวว่า “ด้วยวิกฤติสภาพภูมิอากาศที่มีผลให้เกิดน้ำท่วม พายุ ไฟป่า และความแห้งแล้งที่รุนแรงยิ่งขึ้น เราจึงจำเป็นต้องลงทุนอย่างเร่งด่วนในการปกป้องและฟื้นฟูแม่น้ำ ทะเลสาบ และพื้นที่ชุ่มน้ำของเรา เป็นการปกป้องทางธรรมชาติที่ดีที่สุดสำหรับสังคมและเศรษฐกิจของเราตลอดจนแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่สำคัญ การเข้าร่วม Freshwater Challenge เป็นปัจจัยสำคัญในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ยังจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปูทางไปสู่อนาคตที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เป็นบวกต่อธรรมชาติ และแข็งแกร่งสำหรับทุกคน”

นอกจากการเร่งดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศแล้ว การฟื้นฟูและการปกป้องระบบนิเวศน้ำจืดยังจะช่วยเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำ อาหารและพลังงาน รักษาสันติภาพและเสถียรภาพ ฟื้นฟูธรรมชาติที่สูญเสีย และขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน

คอลลินส์ เอ็นโซวู รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจสีเขียวและสิ่งแวดล้อม แซมเบียกล่าวว่า “วิกฤติสภาพภูมิอากาศคือวิกฤตน้ำ ทั่วโลก เรากำลังเห็นผลกระทบร้ายแรงต่อสังคมและเศรษฐกิจของเรา ตั้งแต่การขาดแคลนน้ำมากขึ้น ไปจนถึงน้ำท่วมที่รุนแรง ความแห้งแล้ง และพายุ จากการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำในแม่น้ำไปจนถึงธารน้ำแข็งที่กำลังละลายและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และผลกระทบเหล่านี้จะยิ่งเลวร้ายลงไปอีก เว้นแต่เราจะลุกขึ้นจัดการกับความท้าทายด้านน้ำกับ Freshwater Challenge ดังนั้นเราจึงขอเชิญชวนทุกประเทศเข้าร่วม Freshwater Challenge กับเรา เมื่อร่วมมือกัน เราจะสามารถฟื้นฟูการสูญเสียและความเสื่อมโทรมของแม่น้ำ ทะเลสาบ และพื้นที่ชุ่มน้ำของเราได้ และยกระดับความพยายามระดับโลกอย่างมากในการจัดการกับวิกฤติสภาพภูมิอากาศ

Freshwater Challenge เป็นโครงการริเริ่มที่ขับเคลื่อนโดยประเทศ โดยมีแนวทางการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วมและครอบคลุม โดยรัฐบาลและพันธมิตรจะร่วมกันจัดทำแนวทางการจัดการด้านน้ำจืดร่วมกับชนพื้นเมือง ชุมชนท้องถิ่น และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ รวมถึงภาคเอกชน ซึ่งในระหว่างงาน COP28 นั้น AB InBev, BCG และ IKEA ต่างแสดงออกถึงการสนับสนุน Freshwater Challenge

Freshwater Challenge เรียกร้องให้รัฐบาลทุกประเทศให้คำมั่นที่จะกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนในกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ(National Biodiversity Strategies ) การมีส่วนร่วมของประเทศ(National Determined Contributions) แผนการปรับตัวระดับชาติ(National Adaptation Plans) และแผนปฏิบัติการระดับชาติสำหรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(National Implementation Plan for the Sustainable Development Goals) ที่มีการปรับปรุง เพื่อทุ่มเทความพยายามให้มากขึ้นในการปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศน้ำจืดที่ดี โครงการนี้ต่อยอดมาจากกรอบงาน คุนหมิง-มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework) ซึ่งครอบคลุมถึงเพิ่มพื้นที่คุ้มครองบนบกทะเลและชายฝั่ง และพื้นที่อนุรักษ์ด้วยมาตราการทางกฎหมายละวิธีการอื่น ๆ อย่างน้อย 30 % และฟื้นฟูแหล่งน้ำบนบกที่เสื่อมโทรม 30%

  • UN-GCNT จัดประชุมผู้นำความยั่งยืน เร่งหาทางฟื้นฟูระบบนิเวศ ต่อยอดธุรกิจ
  • จากCOP 15 กรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพโลก สู่ 3 ยุทธศาสตร์ของไทย
  • สจ๊วร์ต ออร์ร หัวหน้าฝ่ายน้ำจืดระดับโลกของ WWF กล่าวว่า “แม่น้ำ ทะเลสาบ และพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีสถานะที่ดีเป็นกันชนที่ดีที่สุดของเราและปกป้องจากผลกระทบที่เลวร้ายลงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลงทุนในการปกป้องและฟื้นฟูจะก่อให้เกิดผลตอบแทนที่สำคัญที่สุด ได้แก่ การเสริมสร้างการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศและการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ตลอดจนการเพิ่มความมั่นคงทางน้ำและอาหาร และช่วยไม่ให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพในน้ำจืด แต่เราจำเป็นต้องหาแนวทางใหม่เพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน”

    นอกจากนี้ Freshwater Challenge ยังมุ่งเน้นไปที่การจัดหาข้อมูลที่จำเป็นในระดับประเทศ เพื่อการออกแบบและดำเนินมาตรการฟื้นฟูอย่างมีประสิทธิภาพ แยกแยะประเด็นสำคัญในการฟื้นฟู ปรับปรุงกลยุทธ์และแผนระดับชาติที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนระดมทรัพยากร และจัดตั้งกลไกทางการเงินเพื่อดำเนินการตามเป้าหมาย

    Freshwater Challenge ซึ่งนำโดยแนวร่วมของประเทศต่างๆ ได้รับการสนับสนุนจาก Conservation International, IUCN, สำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ, The Nature Conservancy, Wetlands International, OECD, UNEP (ภายใต้กUN Decade on Ecosystem Restoration) และ WWF

    ฟรานเชสกา อันโนเนลลี่ หัวหน้าฝ่ายแม่น้ำและทะเลสาบ Wetlands International กล่าวว่า “แม่น้ำ ทะเลสาบ พื้นที่ป่าพรุ และหนองน้ำที่อุดมสมบูรณ์เป็นปัจจัยสำคัญในการจัดการกับภาวะฉุกเฉินด้านสภาพอากาศ Freshwater Challenge จะแสดงให้เห็นถึงวิธีการเร่งและขยายขอบเขตการปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ และความเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาผู้ทำลายพื้นที่ชุ่มน้ำ COP28 สัญญาว่าจะเพิ่มความสำคัญของน้ำในการบรรเทาและปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ และบทสรุปของ การทบทวนสถานการณ์และการดำเนินงานระดับโลก (Global Stocktake) จะต้องยอมรับถึงบทบาทที่สำคัญของน้ำและพื้นที่ชุ่มน้ำในการบรรลุข้อตกลงปารีสใ้แข็งขันมากขึ้น”