ThaiPublica > Sustainability > ESG-driven Society > As You Sow ปลุกพลังผู้ถือหุ้นขับเคลื่อน ESG “เปลี่ยนบริษัทให้คงอยู่ตลอดไป”

As You Sow ปลุกพลังผู้ถือหุ้นขับเคลื่อน ESG “เปลี่ยนบริษัทให้คงอยู่ตลอดไป”

28 กุมภาพันธ์ 2022


    ซีรีส์ข่าว สร้างสังคมฉุกคิดด้วย “ESG” (Building “ESG-driven Society”) ได้รับการสนับสนุนการดำเนินโครงการส่งเสริมการลงทุนยั่งยืน: สร้างสังคมฉุกคิดด้วย “ESG” จากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน โดยความร่วมมือจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจแก่นักลงทุน ผู้ระดมทุน และผู้บริโภค ให้ตระหนักถึงความสำคัญของ สิ่งแวดล้อม (environment), สังคม (social) และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (governance) เกิดการรับรู้และนำไปสู่การลงมือปฏิบัติ เพื่อการขับเคลื่อนตลาดทุนและประเทศไทยที่ยั่งยืน

shareholder activist กับการขับเคลื่อน ESG เป็นหนึ่งในชุดบทความที่นำเสนอภายใต้ซีรีส์ สร้างสังคมฉุกคิดด้วย…ESG เพื่อแสดงให้เห็นถึง “พลัง” ในการเป็นผู้ถือหุ้น ผลักดันให้บริษัทดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนได้

“Old soldier never die ทหารเก่าไม่มีวันตาย” เนื้อร้องเพลงเก่าแก่ที่ร้องกันในกรมทหารของอังกฤษ และกลับมาโด่งดังอีกครั้งเมื่อนายพลดักลาส แมกอาเทอร์ ผู้พิชิตญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้กล่าวปิดท้ายในการให้การต่อรัฐสภาอเมริกันกรณีการทำสงครามกับเกาหลีเหนือและจีนในปี 1951 ว่า “Old solier never die, they just fade away. ทหารแก่ไม่มีวันตาย เพียงแค่เลือนหายไป” ซึ่งได้รับเสียงปรบมือกึกก้องทั่วรัฐสภา เป็นข่าวใหญ่ทั่วสหรัฐฯ และกลายด้วยประโยคอมตะของโลกทุกวันนี้[1]

“old activist investor”หรือ “shareholder activist” “ผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหว” รุ่นเก่า ที่เข้ามาซื้อหุ้นในบริษัทจำนวนมาก และกดดันให้ฝ่ายบริหารปรับเปลี่ยนแนวนโยบายหรือวิธีการดำเนินงาน เพื่อทำกำไรจากการลงทุน ก็ยังไม่ตายไปจากตลาดทุนเช่นกัน เพียงแต่เลือนหายไป

ขณะที่คลื่นลูกใหม่ของ “ผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหว” ที่เน้นประเด็น ด้านสิ่งแวดล้อม (environment), สังคม (social) และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (governance) หรือ ESG กำลังเติบโตและพร้อมที่จะมีบทบาทมากขึ้น

As You Sow แม้ไม่ใช่ “shareholder activist” โดยตรง แต่เป็น “นักเคลื่อนไหวในนามผู้ถือหุ้น” มีผลงานยอดเยี่ยมในการใช้พลังผู้ถือหุ้นกดดันให้หลายบริษัทปรับเปลี่ยนนโยบาย ESG หรือจัดทำนโยบายด้าน ESG

ในเว็บไซต์ของ As You Sow มีสโลแกน[2]ว่า EMPOWERING SHAREHOLDERS TO CHANGE CORPORATIONS FOR GOOD ถ้าแปลเป็นไทยน่าจะได้ว่า “ใช้พลังผู้ถือหุ้นเปลี่ยนบริษัทให้คงอยู่ตลอดไป”

As You Sow เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรชั้นนำของประเทศด้านการเป็นตัวแทนผู้ถือหุ้น (shareholder advocacy) ก่อตั้งขึ้นในปี 1992 ใช้พลังของผู้ถือหุ้นเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนโดยการปกป้องสิทธิมนุษยชน ลดขยะพิษ และปรับการลงทุนให้สอดคล้องกับค่านิยม

As You Sow บริจาคค่าธรรมเนียมส่วนหนึ่งให้กับองค์กรไม่แสวงผลกำไรอื่นๆ ที่ทำงานด้านการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการออกเสียงลงคะแนนผู้ถือหุ้นให้กับนักลงทุนที่จัดว่าเป็น impact investors (นักลงทุนที่มุ่งเน้นให้เกิดผลกระทบที่ดีต่อสังคมหรือสิ่งแวดล้อม)

ภารกิจ

ภารกิจของ As You Sow คือ ส่งเสริมความรับผิดชอบขององค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ผ่านการสนับสนุนผู้ถือหุ้น การสร้างพันธมิตร และกลยุทธ์ทางกฎหมายเชิงสร้างสรรค์

วิสัยทัศน์

วิสัยทัศน์ของ As You Sow คือ โลกที่ปลอดภัย เป็นธรรมและยั่งยืน โดยเน้นการปกป้องสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนเป็นหัวใจสำคัญของการตัดสินใจขององค์กร

“บริษัทต้องมีความรับผิดชอบต่อปัญหาเร่งด่วนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบัน เราเชื่อว่าบริษัทเต็มใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหา เราต้องทำให้สำเร็จ”

“ผู้ถือหุ้นคือพลังอันทรงพลังในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกและพฤติกรรมองค์กรอย่างยั่งยืน”

ขอบเขตการขับเคลื่อน ESG ของ As You Sow มีตั้งแต่ พลังงานและการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ, การปกป้องสิ่งแวดล้อม, การลดใช้สารพิษ, ผลตอบแทนซีอีโอ, การจัดการขยะ, ความยุติธรรมทางสังคม

ผลงานย้อนหลัง

นับตั้งแต่ปี 1992[3] As You Sow ได้ยกระดับการออกเสียงของผู้ถือหุ้นเพื่อให้องค์กรรับความผิดชอบมากขึ้นในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง เช่น การลดของเสียและการจัดการของเสีย ตลอดจนประเด็นทางสังคม เช่น ความยุติธรรมทางเชื้อชาติ ความหลากหลาย ความเสมอภาค และความครอบคลุมในที่ทำงาน

ผลงานย้อนหลังที่สำเร็จ

  • ปี 2536 บริษัทผู้ผลิตเครื่องสำอาง เรฟลอน ให้คำมั่นที่จะปรับสูตรผลิตภัณฑ์เคลือบเล็บและผลิตภัณฑ์ดูแลเล็บทั้งหมดที่จำหน่ายทั่วประเทศให้ปราศจากโทลูอีน (สารที่มีผลทำลายระบบประสาทส่วนกลาง ถ้าสูดดมนานๆ) ภายในวันที่ 1 มิถุนายน 2536
  • ปี 2000 Hershey แบรนด์ช็อกโกแลตเก่าแก่ ตกลงที่จะไม่ใช้น้ำตาลที่ผลิตชูการ์บีทดัดแปลงพันธุกรรม
  • ปี 2002 Dell บริษัทเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เป็นบริษัทแรกที่กำหนดเป้าหมายรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์
  • ปี 2004 โค้กและเป๊บซี่ ตกลงที่จะใช้ขวดพลาสติก PET รีไซเคิล 10% ในตลาดสหรัฐฯ
  • ปี 2006 K-Mart ยอมยุติการจำหน่ายของเล่นเด็กที่มีส่วนผสมของสารพิษ PVC
  • ปี 2007 สตีฟ จอบส์ ซีอีโอของแอปเปิล ตกลงที่จะดำเนินการโครงการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น 3 เท่า
  • ปี 2007 โคคา-โคลา ตกลงที่จะรีไซเคิลขวดและกระป๋อง 50% ของที่ใช้ทั้งหมดภายในปี 2015
  • ปี 2008 Nestlé Waters ในอเมริกาเหนือตกลงที่จะเพิ่มการใช้ขวด PET รีไซเคิลเป็น 60% ภายในปี 2018
  • ปี 2009 ประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ Climate Change
    As You Sow ได้ยื่นข้อเสนอของผู้ถือหุ้นต่อ IDACORP และได้รับเสียงสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นถึง 51% ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ในมติที่เกี่ยวกับ climate change ในขณะนี้ และเป็นมติเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมติแรกที่ได้รับการสนับสนุนจากเสียงข้างมาก
  • ปี 2010 ประสบความสำเร็จอีกครั้งกับการผลักดันให้ใช้ขวดรีไซเคิล
    เป๊บซี่ตกลงที่จะเพิ่มสัดส่วนขวดพลาสติกรีไซเคิลเป็น 50% ภายในปี 2018 ในปีเดียวกันยังผลักดันให้ Best Buy ธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ ริเริ่มโครงการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์กับสาขาในสหรัฐฯ
  • ปี 2013 ปกป้องมหาสมุทรจากขยะโฟม
    บรรลุข้อตกลงกับ McDonalds ให้ลดใช้แก้วเครื่องดื่มที่ทำจากโฟมในทั้ง 14,000 สาขาทั่วสหรัฐฯ
  • ปี 2014 Exxon ตกลงที่จะพิมพ์รายงานความเสี่ยงจากสินทรัพย์คาร์บอน (carbon asset risk) เป็นครั้งแรก ซึ่งได้รับความสนใจจากสื่อ มีการรายงานเรื่องนี้กว่า 400 ชิ้น และเป็นการเปิดตัวแนวคิด “carbon asset risk”
  • ปี 2014 Colgate-Palmolive ตกลงที่จะปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ทุกประเภทให้สามารถรีไซเคิลได้ ใน 3 กลุ่มจาก 4 กลุ่มสินค้าภายในปี 2020
  • ปี 2015 ขับเคลื่อนหลายประเด็น
    โคคา-โคลาตกลงที่จะริเริ่มแผนงานการใช้พลังงานหมุนเวียนทั่วทั้งองค์กร
    เดือนมิถุนายนในปีเดียวกัน ยังได้เปิดตัวรายงานประจำปีจัดอันดับ 100 ซีอีโอที่ได้รับผลตอบแทนสูงเกินไป จากการลงคะแนนของกองทุนรวมและกองทุนบำเหน็จบำนาญ
    รายงานประจำปีจัดอันดับ 100 ซีอีโอที่ได้รับผลตอบแทนสูงเกินไป มีการจัดทำต่อเนื่องทุกปีจนปี 2022 เป็นรายงานฉบับที่ 8 แล้ว[4] เดือนพฤศจิกายน เสนอวาระชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน ที่เชื่อมโยงโบนัสผู้บริหารด้านสาธารณูปโภคกับการลดคาร์บอน ต่อ Ameren, Entergy และ Dominion ซึ่งได้รับการโหวตอย่างแข็งขัน ทั้งนี้ระบบสาธารณูปโภคโดยรวมมีการปล่อยคาร์บอนถึง 33% ในสหรัฐอเมริกา
  • ปี 2016 จัดการขยะ Chipotle ประกาศเป้าหมายจัดการขยะจากอาหารและบรรจุภัณฑ์ 50% ภายในปี 2020
  • ปี 2017 YUM ตกลงที่จะรีไซเคิลอาหารเหลือและขยะบรรจุภัณฑ์ในสัดส่วน 50% ภายในปี 2020
  • ปี 2018 ชัยชนะขยะโฟมทั่วโลก
  • McDonald’s ตกลงที่จะเลิกใช้บรรจุภัณฑ์ทำจากโฟมกับร้านทั่วโลกภายในสิ้นปี 2018
    Dunkin’ Donuts ตกลงเลิกใช้แก้วโฟมภายในปี 2020 ซึ่งส่งผลให้ลดปริมาณขยะแก้วโฟมได้ 1 พันล้านแก้วต่อปี

    ที่มาภาพ: https://www.asyousow.org/press-releases

    ใช้กลไกผู้ถือหุ้น-มาตรฐานสากล

    As You Sow ขับเคลื่อน ESG ด้วยการใช้พลังผู้ถือหุ้นยื่นข้อเสนอผ่านการประชุมผู้ถือหุ้น

    เฉพาะวันที่ 1-30 เดือนกันยายน 2017 มีการยื่นมติด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมจำนวนมากเป็นประวัติการณ์[5] และบางมติได้รับคะแนนรวมสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน

    ข้อเสนอของ As You Sow ในการประชุมผู้ถือหุ้นของ General Electric วันที่ 4 พฤษภาคม 2021 ได้รับการลงคะแนนเสียงของผู้ถือหุ้นถึง 98%

    มตินี้ยื่นและนำเสนอในนาม Amalgamated Bank โดย As You Sow ตัวแทนผู้ถือหุ้น

    ที่สำคัญมตินี้ได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการของ GE และมติยังยังจัดว่าเป็นข้อเสนอที่สำคัญ โดยโครงการ Climate Action 100+ ซึ่งเป็นตัวแทนของนักลงทุนมากกว่า 500 รายที่มีสินทรัพย์รวมกันมากกว่า 54 ล้านล้านดอลลาร์

    ส่งผลให้ GE ประกาศความมุ่งมั่นสำคัญในการเปลี่ยนธุรกิจเพื่อจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยตั้งเป้าหมายที่จะบรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 เป้าหมายนี้ไม่เพียงแต่ครอบคลุมการดำเนินงานของ GE แต่ยังรวมถึงขอบเขตที่ 3 การปล่อยมลพิษจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่บริษัทจำหน่ายของลูกค้า ซึ่งรวมถึงอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้า ที่ถือเป็นส่วนสำคัญของการปล่อยมลพิษของบริษัท

    การประกาศครั้งนี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในแผนธุรกิจของ GE ในฐานะผู้ผลิตเทคโนโลยีการผลิตพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลรายใหญ่ ซึ่งรวมถึงโรงไฟฟ้าพลังความร้อนและเครื่องยนต์เจ็ท GE ประกาศเมื่อปลายปี 2020 ว่าจะ ออกจากตลาดโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินที่สร้างใหม่

    ที่มาภาพ: https://www.asyousow.org/press-releases?page=2

    ในปี 2020 ข้อเสนอของ As You Sow ได้รับคะแนนเสียงข้างมากจากผู้ถือหุ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ใน 2 ข้อเสนอด้วยกัน[6] ได้แก่ มติที่ยื่นต่อ Fastenal (61%) และ Genuine Parts (79%) ทั้งสองมติได้ขอให้คณะกรรมการของบริษัทออกรายงานให้ผู้ถือหุ้นทราบเกี่ยวกับนโยบาย ผลการดำเนินการ และเป้าหมายการปรับเปลี่ยน ที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงและโอกาสที่สำคัญของทุนมนุษย์ ตามมาตรฐานสากล

    การวิเคราะห์ของ Glassdoor พบว่า Fastenal อยู่ในอันดับที่ 478 จาก 496 บริษัทใหญ่ๆ ในด้านมิติความหลากหลายของแรงงาน ติดอันดับ 17 จาก 18 ในกลุ่มอุตสาหกรรมซัพพลายเชนและโลจิสติกส์ และประเด็นที่น่ากังวลคือการจัดอันดับในมิติด้านความซื่อตรง ที่วัดจากการที่พนักงานดำเนินการอย่างซื่อสัตย์และมีจริยธรรมอย่างสม่ำเสมอ ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ปฏิบัติตามกฎนั้น Fastenal อยู่ในอันดับที่ 445 จาก 527

    ด้าน Genuine Parts มติผู้ถือหุ้นได้ขอให้เปิดเผยเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวปฏิบัติด้านแรงงานของบริษัท เช่น ค่าจ้างรายชั่วโมงเฉลี่ยและสัดส่วนของพนักงานในร้านที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำ อัตราการลาออกโดยสมัครใจและโดยไม่สมัครใจของพนักงานในร้าน และค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เป็นผลของกระบวนการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดกฎหมายแรงงาน

    Andrew Behar ซีอีโอของ As You Sow ชี้ว่า “การสนับสนุนอย่างล้นหลามสำหรับมติเหล่านี้ที่ขอให้บริษัทต่าง ๆ เปิดเผยข้อมูลสำคัญต่อสาธารณะตามที่กำหนดโดยคณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Accounting Standards Board: SASB) เป็นส่วนสำคัญที่นำไปสู่ความโปร่งใสอย่างแท้จริง”

    “SASB ช่วยให้นักลงทุนสามารถเปรียบเทียบบริษัทต่างๆ ในธุรกิจเดียวกันได้ และช่วยเสริมของการรายงานความยั่งยืนตามมาตรฐานระดับโลกหรือ Global Reporting Initiative และเป็นรายงานความยั่งยืนที่มีรายละเอียดมากขึ้น เมื่อใช้สองมาตรฐานร่วมกัน ก็จะให้ภาพรวมด้าน ESG ของบริษัทที่ชัดเจน”

    ที่มาภาพ: https://www.asyousow.org/press-releases?page=2

    สร้างการมีส่วนร่วม

    นอกเหนือจากการผลักดันผ่านกลไกการยื่นข้อเสนอเข้าสู่การประชุมผู้ถือหุ้นแล้ว As You Sow ยังใช้วิธีการเข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรง[7]กับซีอีโอขององค์กร ผู้บริหารระดับสูง และนักลงทุนสถาบัน เพื่อผลักดันการปรับเปลี่ยนองค์กรที่เริ่มต้นจากภายใน (inside out)

    เห็นได้จากการยื่นข้อเสนอด้านสิ่งแวดล้อมถึง 41 ฉบับต่อบริษัทในปี 2021 แต่ได้ถอน 21 ข้อเสนอออกไปซึ่งรวมทั้ง 5 ข้อเสนอที่เสนอต่อสถาบันการเงินรายใหญ่ให้ตั้งเป้าการก้าวสู่การปล่อยมลพิษเป็นศูนย์หรือ net zero ภายในปี 2050 โดยมีรายงานว่า As You Sow บรรลุข้อตกลงกับบริษัท[8]

    แม้ 10 ข้อเสนอของ As You Sow ไม่มีรายงานว่าบรรลุข้อตกลงกับบริษัทหรือถอนออกไป แต่อีก 8 ข้อเสนอที่นำเข้าการลงคะแนนเสียงของผู้ถือหุ้นนั้น ได้รับการสนับสนุน 36-57% ซึ่งมี 2 ข้อเสนอที่ได้รับคะแนนสนับสนุนสูงมาก แต่ก็มี 1 ข้อเสนอที่ได้รับคะแนนต่ำ

    โดยส่วนใหญ่แล้วการเจรจานอกรอบการประชุมผู้ถือหุ้นมักจะไม่ประสบความสำเร็จ เว้นแต่ว่าบริษัทนั้นๆ มุ่งมั่นหรือมีเป้าหมายจะดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม หรืออย่างน้อยจะเปิดเผยข้อมูลอยู่แล้ว และมีหลายบริษัทชอบที่จะเจรจานอกรอบมากกว่าการนำข้อเสนอเข้าที่ประชุมผู้ถือหุ้น

    วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2022 Kraft Heinz Co., บริษัทอาหารและเครื่องดื่มที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ในอเมริกาเหนือ ได้ตกลงที่จะกำหนดเป้าหมายเพื่อลดการใช้เม็ดพลาสติกใหม่ทั้งหมด หลังจากที่ได้รับข้อเสนอของผู้ถือหุ้น และมีส่วนร่วม[9]กับ As You Sow

    ผู้ถือหุ้นเสนอให้ Kraft Heinz รายงานแนวทางการลดบรรจุภัณฑ์พลาสติก รวมถึงกลยุทธ์หรือเป้าหมายในการลดตามแผนที่วางไว้ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ การใช้วัสดุทดแทน หรือการลดการใช้เม็ดพลาสติกใหม่

    ที่มาภาพ:https://www.asyousow.org/press-releases

    บริษัทแจ้ง As You Sow ในแถลงการณ์ว่า ตั้งใจที่จะกำหนดเป้าหมายการใช้เม็ดพลาสติกใหม่ในการผลิตบรรจุภัณฑ์จำนวนมากในปลายปีนี้ หรือในไตรมาสแรกของปี 2023

    ส่งผลให้ As You Sow ตกลงที่จะถอนข้อเสนอของผู้ถือหุ้น

    As You Sow ระบุว่า ความมุ่งมั่นของ Kraft Heinz ที่จะลดการใช้เม็ดพลาสติกใหม่มีขึ้นหลังจากที่มีการทำงานร่วมกันกับ As You Sow

    Kraft Heinz ระบุว่าบริษัท “ยังคงขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายด้านบรรจุภัณฑ์และสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนผ่านความคิดริเริ่มและการลงทุนที่หลากหลาย รวมถึงการลดการใช้เม็ดพลาสติกใหม่ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ การใช้วัสดุรีไซเคิลเพิ่มขึ้น และการนำกลับมาใช้ใหม่”

    Conrad MacKerron รองประธานอาวุโสของ As You Sow กล่าวว่า “เรายินดีที่ได้บรรลุข้อตกลงกับ Kraft Heinz ในเป้าหมายการลดใช้เม็ดพลาสติกใหม่ในการผลิตบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการพิจารณาออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่และการนำกลับมาใช้ใหม่”

    As You Sow แม้ไม่ใช่ผู้ถือหุ้นโดยตรง แต่เคลื่อนไหวในนามผู้ถือหุ้น กดดันบริษัทให้ดำเนินการอย่างยั่งยืน และการที่ได้รับเสียงสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นมากขึ้นสะท้อนว่า นักลงทุนที่เป็นคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับประเด็น ESG มากกว่าคนรุ่นก่อนๆ และที่สำคัญคือ พร้อมที่จะปฏิบัติตนลงมือทำ

    ดังนั้น บริษัทต่าง ๆ จะเตรียมพร้อมมากขึ้นในการตอบสนองต่อ shareholder activist รุ่นใหม่ และต้องยอมรับว่า “ESG คือวิถีแห่งอนาคต”

    อ้างอิง
    [1] ไทยรัฐ 2559. ทหารแก่ไม่เคยตาย สำนวนเก่าที่กลับมาฮิต. https://www.thairath.co.th/content/705130 (24 กุมภาพันธ์ 2565)
    [2] As You Sow. About us. https://www.asyousow.org/ (24 กุมภาพันธ์ 2565)
    [3] As You Sow. About us. https://www.asyousow.org/ (24 กุมภาพันธ์ 2565)
    [4] As you Sow 2022.The 100 Most Overpaid CEOs 2022. https://www.asyousow.org/reports (24 กุมภาพันธ์ 2565)
    [5]As You Sow. About us. https://www.asyousow.org/ (24 กุมภาพันธ์ 2565)
    [6] As you Sow 2020.Two Historic Majority Shareholder Votes Move the Needle on Human Capital Management Disclosures. https://www.asyousow.org/press-releases/fastenal-genuine-parts-shareholder-vote
    [7]As You Sow. About us. https://www.asyousow.org/ (24 กุมภาพันธ์ 2565)
    [8]Harvard Law School Forum on Corporate Governance 2021. 2021 Proxy Season Review: Shareholder Proposals on Environmental Matters. https://corpgov.law.harvard.edu/2021/08/11/2021-proxy-season-review-shareholder-proposals-on-environmental-matters/ (24 กุมภาพันธ์ 2565)
    [9] As You Sow 2022.Kraft Heinz Agrees to Virgin Plastic Reduction Goal. https://www.asyousow.org/press-releases/2022/2/23/kraft-heinz-agrees-virgin-plastic-reduction-goal