ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > Sustainability Expo 2023 (ตอนจบ) ‘ออกแบบผังเมืองเพื่อความยั่งยืน’ เมืองที่ดี เริ่มที่พิมพ์เขียว

Sustainability Expo 2023 (ตอนจบ) ‘ออกแบบผังเมืองเพื่อความยั่งยืน’ เมืองที่ดี เริ่มที่พิมพ์เขียว

19 ตุลาคม 2023


(จากซ้ายไปขวา) นายนิธิศ สถาปิตานนท์ Executive Director บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด (คนที่ 2), นายวรวรรต ศรีสอ้าน รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โครงการ วัน แบงค็อก (คนที่  3), นายนิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี (คนที่ 4), นางสาววรรณพร พรประภา ภูมิสถาปนิกและผู้ก่อตั้ง บริษัท พี แลนด์สเคป จำกัด (คนที่ 5)

6 ตุลาคม 2566 ในงาน Sustainability Expo 2023 (SX 2023) One Bangkok จัดเสวนาหัวข้อ “Masterplan Design for Smart Sustainable Cities” การออกแบบผังเมืองของโครงการอสังหาริมทรัพย์ระดับโลก เพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์เมืองที่ยั่งยืน โดยมี นายวรวรรต ศรีสอ้าน รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โครงการ วัน แบงค็อก, นายนิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี, นางสาววรรณพร พรประภา ภูมิสถาปนิกและผู้ก่อตั้ง บริษัท พี แลนด์สเคป จำกัด และนายนิธิศ สถาปิตานนท์ Executive Director บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด เข้าร่วม

  • Sustainability Expo 2023 (ตอน 1) ‘ความยั่งยืนและการใช้ชีวิตในสมาร์ทซิตี้’ เมืองที่ดีต้องมีส่วนร่วมทุกฝ่าย
  • อสังหาริมทรัพย์ ต้องสอดคล้องความเป็นเมือง

    นายวรวรรต ศรีสอ้าน รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โครงการ วัน แบงค็อก กล่าวว่า “โครงการ วัน แบงค็อก มีการเก็บข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์และพัฒนาด้านต่างๆ ในโครงการ โดยเฉพาะด้านการพัฒนาเมือง (Urbanization) กับเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) เป็นการสร้างชุมชนเมืองที่ยั่งยืน  เพื่อให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยคำนึงตั้งแต่ขั้นตอนผู้รับเหมา และ พาร์ทเนอร์ทุกรายต้องเลือกใช้วัสดุที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในช่วงการก่อสร้าง 

    นายวรวรรต กล่าวต่อว่า บริษัทยังมีการนำของเสียที่เกิดจากไซต์งานก่อสร้างและนำกลับมาใช้ประโยชน์ในงานก่อสร้างอาคาร สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยได้ทำงานประสานกับทุกส่วนตั้งแต่แรกเริ่มต้นวางแผน ทั้งผู้พัฒนาอสังหาฯ ผู้ก่อสร้าง สถาปนิก และ ภูมิสถาปนิก สิ่งที่ได้จึงเป็นรูปแบบที่มีความสมดุล ความลงตัว ตอบโจทย์สังคมซึ่งเป็นสาระสำคัญของการพัฒนาอสังหาฯ ที่ยั่งยืนและมั่นคงต่อไปในอนาคต

    เมื่อถามถึงแนวคิดในการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนในมุมของผู้พัฒนาอสังหาฯ นายวรวรรต ตอบว่า แผนพัฒนาต้องสอดคล้องกับรูปแบบการพัฒนาเมืองที่มีอยู่และวางแผนไว้ในอนาคต และภาคอสังหาฯ ต้องหาวิธีแก้ไขปัญหาอันเป็นผลพวงจากกระบวนการกลายเป็นเมือง (Urbanization) การขยายตัวของมหานคร จำนวนประชากรสูงวัยที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการจัดการขยะ รวมถึงหาวิธีการทำให้คนที่มีความแตกต่างด้านเชื้อชาติ อายุ พื้นเพ อาชีพ มาอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

    นายวรวรรต ได้ยกตัวอย่างโครงการ Hudson Yards ในนครนิวยอร์ก โครงการ King’s Cross ในกรุงลอนดอน และโครงการ Todoroki Hill ในกรุงโตเกียว ซึ่งทั้งสามโครงการมีการออกแบบแผนแม่บทที่นำไปสู่การพัฒนาอย่างชัดเจนในรูปแบบต่างๆ เช่น ฟื้นฟูพื้นที่รกร้างหรือเขตอุตสาหกรรมเดิมให้กลายเป็นย่านธุรกิจและชุมชนแห่งใหม่ที่มีพื้นที่สีเขียวอย่างเพียงพอ พื้นที่เปิดโล่งเพื่อสาธารณประโยชน์ แหล่งรวมร้านอาหาร ศิลปะและวัฒนธรรม

    นายวรวรรต ศรีสอ้าน รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โครงการ วัน แบงค็อก

    มีส่วนร่วมตั้งแต่การออกแบบ

    นายวรวรรต ตั้งคำถามต่อว่า “ทำอย่างไรให้การพัฒนาเมืองไปสู่เมกะซิตี้กับเรื่องความยั่งยืนมันสามารถไปด้วยกันได้ เป็นการฟื้นฟูกรุงเทพฯ เพื่อความยั่งยืน โดยอาศัยระบบขนส่งมวลชนเชื่อมต่อการเดินทาง ลดการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง เรามองเรื่องของการสร้างชุมชนที่สามารถอยู่ได้เอง มีความหลากหลาย รองรับคนกลุ่มมาก และมีบริการพื้นฐานที่ครบครัน มีพื้นที่พาณิชยกรรม พื้นที่ส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรม ทั้งภายในและภายนอกอาคาร”

    นอกจากนี้ นายวรวรรต เสริมว่า ในส่วนการก่อสร้างได้พาร์ทเนอร์อย่างเอสซีจีเข้ามาตั้งแต่แรกเริ่ม เพื่อช่วยพัฒนาเทคโนโลยีและวัสดุที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในช่วงการก่อสร้าง โครงการมีการเปลี่ยนระบบกำจัดของเสียที่เกิดจากไซต์งานและนำกลับมาใช้ประโยชน์ในงานก่อสร้างอาคาร สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

    “สิ่งที่เราทำ (ในโครงการ วัน แบงค็อก) สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับสเกลของการพัฒนาเมือง อยากเห็นเป็นภาพใหญ่ของกรุงเทพมหานคร แล้วช่วยต่อยอด ช่วยเคลื่อน เกิดเป็นชุมชนที่แข็งแรงและเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่เราอยู่ด้วย”

    “หากเราใช้รูปแบบการพูดคุย-การทำงาน การประสานงานตั้งแต่แรกเริ่ม มองตั้งแต่การพัฒนาจุดเริ่มต้นไปจนถึงปลายทาง คือการบริหารจัดการเมื่ออาคารสิ่งปลูกสร้างแล้วเสร็จ ถ้าเรามีส่วนร่วมกันตั้งแต่แรกเริ่ม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด เช่น ผู้พัฒนาอสังหาฯ ได้พูดคุยกับนักออกแบบตั้งแต่วันแรก คนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุก่อสร้าง เทคโนโลยีการก่อสร้าง ภูมิสถาปนิก สิ่งที่ได้ก็จะเป็นรูปแบบที่มีความสมดุล ความลงตัว ผมว่าการมีส่วนร่วมเป็นสาระสำคัญ และความสุขในการพัฒนาจะเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาที่ยั่งยืนและมั่นคงต่อไปในอนาคต” นายวรวรรต กล่าว

    นายนิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี

    คำนึงถึงมลพิษ และการประหยัดพลังงาน

    ขณะที่นายนิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวถึงกระบวนการก่อสร้าง ว่า เอสซีจี ได้ร่วมมือกับโครงการ วัน แบงค็อก ที่มีเป้าหมายด้านความยั่งยืนด้วยการนำเทคโนโลยีด้านการก่อสร้างและวัสดุที่จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

    โดยตัวอย่างเรื่อง การใช้ hybrid cement ที่ลดการใช้พลังงานได้ถึง 38% การนำเศษคอนกรีตที่เหลือใช้กลับมาเป็นส่วนผสมผนังอาคารลดการใช้ทรัพยากร การนำนวัตกรรมพลังงานสะอาดมาใช้โดยนำรถโม่พลังงานไฟฟ้า “CPAC EV Mixer Truck” มาใช้เป็นที่แรกในประเทศไทยสำหรับขนส่งคอนกรีตตามแนวคิดการขนส่งสีเขียว (Green Fleet)

    “การที่จะสร้างเมืองที่ยั่งยืน เราต้องมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดผลกระทบมลพิษทางสิ่งแวดล้อม และปัญหาโลกร้อนจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทยสู่ความยั่งยืน”

    ตัวอย่างโครงการมาตรฐานระดับโลก

    นายนิธิศ สถาปิตานนท์ กรรมการบริหาร บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมา ได้ทำหน้าที่เป็นกรรมการตัดสินการประกวดงานออกแบบสถาปัตยกรรม ซึ่งมีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมมากถึง 400 โครงการจากทั่วเอเชีย การพิจารณาผลงานทำให้เห็นว่าทุกประเทศมีความตระหนักรู้ถึงแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน จนกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังมองว่าปัจจุบันผลงานจากประเทศไทยยังไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากเท่าที่ควร

    นายนิธิศ ย้ำว่า “การวางตำแหน่งของนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีความสำคัญ เรื่องระดับของความยั่งยืนนั้น เราจะทำในระดับต่ำสุด จะทำตามมาตรฐาน หรือจะทำให้สูงกว่ามาตรฐาน ส่วนเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม สำหรับผมคือการทำให้ทุกคนที่มีส่วนร่วมกับโครงการและทุกคนที่อยู่รอบๆ บริเวณนั้นมีความสุข”

    นายนิธิศ สถาปิตานนท์ กรรมการบริหาร บริษัท สถาปนิก 49

    เมื่อถามถึงหัวใจของการออกแบบที่ยั่งยืน นายนิธิศ ยกตัวอย่างโครงการที่ชนะการประกวดในต่างประเทศ โดยโครงการเหล่านี้มีการออกแบบพื้นที่สีเขียวตลอดตัวอาคาร สามารถผลิตพลังงานหมุนเวียนมาใช้เอง ใช้วัสดุและเทคโนโลยีที่ช่วยดูดซับคาร์บอนมากกว่าปริมาณที่ปล่อยออกมาในกระบวนการก่อสร้าง (Carbon-Negative Building) รวมไปถึงการทำให้ทุกคนในโครงการมีความสุข และการเปิดพื้นที่ส่วนกลางให้ทุกคนทำกิจกรรมต่างๆ (Placemaking Space)

    สำหรับโครงการในประเทศไทย นายนิธิศ ยกตัวอย่าง “วัน แบงค็อก” โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ใจกลางกรุงเทพฯ ซึ่งพัฒนาโดยกลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ เพราะเป็นโครงการที่มีการกำหนดมาตรฐานต่างๆ ในระดับสูง เห็นได้จากแผนแม่บทของวัน แบงค็อก ที่ตั้งเป้าจะเป็นโครงการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน LEED Platinum และ WELL Platinum ซึ่งเป็นอันดับสูงสุดของเกณฑ์การประเมินอาคารสีเขียวของสหรัฐอเมริกา เน้นเรื่องความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะของผู้อยู่อาศัยและผู้ใช้อาคาร 

    “วัน แบงค็อก ตั้งเป้าไว้สูงในทุกๆ เรื่อง มีการนำสมาร์ทเทคโนโลยีเข้ามาใช้ พร้อมให้ความสำคัญกับบริบทโดยรอบ รวมทั้งคนที่จะเข้ามาอยู่ในละแวกนั้น โครงการนี้ถ้าเสร็จแล้วจะมีศักยภาพมากพอที่จะไปประกวดเวทีไหนก็ได้ในโลก และผมก็เชื่อว่าจะได้หลายรางวัล” นายนิธิศ กล่าว

    นางสาววรรณพร พรประภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท พี แลนด์สเคป จำกัด

    เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์และชุมชน

    ท้ายที่สุด นางสาววรรณพร พรประภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท พี แลนด์สเคป จำกัด กล่าวว่า การออกแบบภูมิทัศน์เพื่อเติมเต็มเมือง ต้องยึดเป้าหมายว่าเราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ การออกแบบทั้งภายในและภายนอกโครงการต่างๆ ต้องมีการเชื่อมโยงกับชุมชนโดยรอบ นอกจากนี้ ในการออกแบบยังต้องคำนึงถึงะปัญหาของเมือง รวมถึงกับประวัติศาสตร์ของพื้นที่ด้วย

    “โครงการ วัน แบงค็อก ตอบโจทย์ทั้งหมดนี้ เช่นการเปิดพื้นที่ว่างให้ชุมชนเข้ามาใช้ประโยชน์ในโครงการได้ มีพื้นที่สีเขียวที่มากกว่ากฎหมายกำหนดเพื่อเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์และกรองฝุ่น การเลือกใช้ต้นไม้ในโครงการที่ระลึกถึงประวัติศาสตร์ของพื้นที่นี้ในอดีต เป็นต้น” นางสาววรรณพร กล่าว