ThaiPublica > เกาะกระแส > รถยนต์ EV “ผลิตในจีน” เปลี่ยนโฉมหน้าอุตสาหกรรมรถยนต์โลกอย่างไร?

รถยนต์ EV “ผลิตในจีน” เปลี่ยนโฉมหน้าอุตสาหกรรมรถยนต์โลกอย่างไร?

26 ตุลาคม 2023


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

รถ EV Nio ที่มาภาพ : https://www.nio.com/es6

เว็บไซต์ nytimes.com รายงานว่า Nio บริษัทรถยนต์ EV จีน ที่แข่งขันกับ Tesla จ้างพนักงาน 11,000 คน ทำหน้าที่ฝ่ายวิจัยและพัฒนา แต่เดือนเมษายน-มิถุนายน 2023 Nio ขายรถยนต์ EV ได้แค่เดือนละ 8,000 คัน แต่ Nio ลงทุนมากในเรื่อง หุ่นยนต์การผลิต โรงงานแห่งหนึ่งมีช่างทำงานแค่ 30 คน ที่ผลิตรถยนต์ EV ได้ 300,000 คันต่อปี แต่ในไตรมาส 2 Nio ขาดทุน 835 ล้านดอลลาร์ หรือเฉลี่ย 35,000 ดอลลาร์ต่อการขายรถยนต์ EV หนึ่งคัน

Nio และผู้ผลิตรถยนต์ EV รายอื่นของจีน ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน ทำให้สามารถแบกรับการขาดทุน และยังดำเนินการผลิตต่อไปได้

ปี 2020 เมื่อ Nio ขาดเงินสดหมุนเวียน รัฐบาลเมืองเหอเฝย์ มณฑลอานฮุยให้เงินอัดฉีด 1 พันล้านดอลลาร์ แลกกับการเข้าไปถือหุ้น 24% ธนาคารรัฐร่วมกับสถาบันการเงินอื่นให้เงินกู้อีก 1.6 พันล้านดอลลาร์ ปัจจุบัน Nio กลายเป็นผู้นำด้านรถยนต์ EV และการสร้างนวัตกรรม EV

จีนก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจรถยนต์

เมื่อกันยายน 2023 สถาบันวิจัย Center for Strategic & International Studies (CSIS) เผยแพร่บทรายงานชื่อ Electric Shock: Interpreting China’s Electric Vehicle Export Boom โดยรายงานนี้กล่าวว่า ปี 2022 จีนล้ำหน้าเยอรมัน กลายเป็นผู้ส่งออกรถยนต์ใหญ่อันดับ 2 ของโลก

การก้าวเป็นยักษ์ใหญ่การส่งออกรถยนต์ของจีน ต่างจากกรณีญี่ปุ่นในทศวรรษ 1980 และกรณีเกาหลีใตในทศวรรษ 1990 คือ (1) การส่งออกรถยนต์ในสัดส่วนที่มาก มาจากบริษัทต่างชาติที่ลงทุนในจีน และ (2) เทคโนโลยีใหม่ คือรถยนต์ EV เป็นปัจจัยสำคัญ ที่ผลักดันการเติบโตการส่งออกรถยนต์ของจีน

นอกจากนี้ พัฒนาการที่เกิดขึ้นในจีน ทำให้เห็นทิศทางแนวโน้มที่เกิดขึ้น 2 อย่าง คือ

(1) บริษัทผลิตรถยนต์จีน ประสบความสำเร็จในส่วนของรถยนต์ EV ผู้ผลิตรถ EV จีนสามารถแข่งขันในตลาดโลก เนื่องจากการสนับสนุนจากรัฐ การมีนวัตกรรมด้านวิศวกรรม และการอาศัยตลาดในประเทศที่ใหญ่โต

(2) จีนมีความหมายสำคัญต่อโลก ในฐานะเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ EV เนื่องจากบริษัทตะวันตกใช้จีนเป็นฐานปฏิบัติการ (platform) ในการผลิตรถยนต์ EV ทั้งนี้เพราะจีนมีความสามารถในการผลิตขนาดใหญ่ นโยบายส่งเสริมจากรัฐบาล และความสามารถในการผลิตที่ต้นทุนต่ำ

พัฒนาการของจีนดังกล่าวมีนัยะสำคัญในด้านนโยบาย ประเทศส่งออกรถยนต์รายใหญ่ในอดีต เช่น เยอรมัน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ เสี่ยงที่จะสูญเสียโอกาสการลงทุน และธุรกรรมสร้างมูลค่าเพิ่มไปให้กับจีน

รถยนต์เป็นภาคการผลิตขนาดใหญ่ มีสัดส่วนถึง 3% ของ GDP โลก ที่ผ่านมา เป็นอุตสาหกรรมที่ประเทศพัฒนาแล้วเป็นผู้นำ ทำให้เป็นอีกจุดหนึ่งที่จะมีการแข่งขันทางเทคโนโลยี ระหว่างตะวันตกกับจีน

ส่วนประเทศกำลังพัฒนามีโอกาสที่จะดึงการลงทุนจากจีน เพราะผู้ผลิตรถยนต์จีนต้องการขยายตลาดการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ เพื่อให้ได้ส่วนแบ่งตลาดต่างประเทศสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ดั่งเดิม เผชิญกับการแข่งขันจากจีนมากขึ้น แต่ในที่สุด การแข่งขันมากขึ้นจะช่วยลดต้นทุนการผลิต เร่งการเปลี่ยนผ่านสู่รถยนต์ EV และเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค

https://www.scmp.com/business/china-business/article/

การพุ่งขึ้นเป็นมหาอำนาจรถยนต์

รายงาน CSIS กล่าวว่า ที่ผ่านมา แม้อุตสาหกรรมรถยนต์จีนจะมีขนาดใหญ่ แต่ผู้นำจีนกังวลมาตลอดเรื่องการพึ่งพาบริษัทรถยนต์ต่างชาติ นับจากทศวรรษ 1980 จีนมีนโยบายกำหนดให้ผู้ผลิตรถยนต์ต่างชาติ ต้องร่วมทุนกับหุ้นส่วนของจีน แต่รถยนต์ยี่ห้อต่างประเทศ ก็ยังมียอดขายนำในตลาดภายในจีนมาตลอด

ปี 2009 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เสนอนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ EV ภายในประเทศขึ้นมา เป้าหมายคือความเป็นผู้นำอุตสาหกรรมรถยนต์ ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ เพื่อให้บริษัทจีนจะสามารถพัฒนาแบบก้าวกระโดด และแข่งขันได้กับบริษัทรถยนต์ต่างชาติ ที่เป็นผู้นำตลาดในขณะนั้น

ในจุดเริ่มต้นนั้น รัฐบาลจีนต้องการให้บริษัทรถยนต์จีน เข้ามาแทนที่บริษัทต่างชาติในตลาดภายในประเทศ แต่เมื่อการผลิตดำเนินการได้ดีขึ้น ทางการจีนมองเห็นโอกาสที่จะส่งเสริมรถยนต์จีนในต่างประเทศ แผนพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ของจีนปี 2017 ระบุชัดเจนว่า ปี 2020 รถยนต์ EV จีนจะเริ่มส่งออก ในปี 2025 จีนติดอันดับหนึ่งใน 10 ประเทศยักษ์ใหญ่การส่งออกของโลก

ข้อมูลการส่งออกปี 2018-2023 แสดงว่าจีนกำลังรุดหน้าไปสู่เป้าหมายดังกล่าว การส่งออกรถยนต์ EV ทำให้จีนสามารถพลิกสถานการณ์ จากการขาดดุลการค้าด้านรถยนต์ เดือนตุลาคม 2021 จีนกลายเป็นผู้ส่งออกรถยนต์สุทธิครั้งแรกในรอบ 10 ปี

นอกจากนี้ จีนยังได้ประโยชน์จากการส่งออกรถยนต์ใช้น้ำมันไปรัสเซีย ที่บริษัทรถยนต์ต่างชาติถอนตัวออกไป เพราะสงครามยูเครน ห้าเดือนแรกปี 2023 จีนส่งออกรถยนต์ไปรัสเซียเพิ่ม 421% มูลค่า 3.6 พันล้านดอลลาร์ หรือ 12% ของการส่งออกทั้งหมดของจีน ส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ Kia ในรัสเซียลดจาก 12% เหลือ 2% แต่สิ่งนี้ไม่สำคัญเท่ากับผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์โลก จากการพุ่งขึ้นมาของรถยนต์ EV จีน

รายงาน CSIS กล่าวว่า การส่งออกรถยนต์ EV ของจีน มีสัดส่วน 1 ใน 3 ของปริมาณการส่งออกรถยนต์ทั้งหมดของจีน แต่มีสัดส่วน 52% ของมูลค่าการส่งออกรถยนต์จีนทั้งหมด จุดนี้สะท้อนว่า รถยนต์ EV เป็นปัจจัยสำคัญ ที่พลิกสถานการณ์เรื่องดุลการค้ารถยนต์ของจีน และการก้าวที่จีนขึ้นมาเป็นประเทศส่งออกรถยนต์รายใหญ่ของโลก

ตลาดสำคัญของรถยนต์ EV จีนคือยุโรป เพราะความต้องการสูง ภาษีนำเข้าต่ำ และรัฐบาลในยุโรปให้การอุดหนุน โดยไม่มีหลักเกณฑ์เรื่องแหล่งกำเนิดสินค้า รถยนต์ EV จีนเลี่ยงส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ เพราะสหรัฐฯเก็บภาษีนำเข้า 27.5% กับรถยนต์นำเข้าจากจีน นอกจากนี้ มาตรการส่งเสริมการลดหยอนภาษีจากรถยนต์ EV ของสหรัฐฯ กำหนดเรื่องชิ้นส่วนรถยนต์สำคัญต้องมาจากภายในสหรัฐฯ

รถยนต์ EV MG ที่มาภาพ : https://www.bbc.com/news/technology-66117178

กลยุทธ์ต่างประเทศของผู้ผลิต EV จีน

รายงาน CSIS วิเคราะห์ว่า แตกต่างจากรถยนต์ใช้สันดาป ที่บริษัทร่วมทุนกับรถยนต์ต่างชาติยังครองตลาดภายในจีนอยู่ แต่ผู้ผลิตรถยนต์ของจีนเอง กลับประสบความสำเร็จในส่วนรถยนต์ EV ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ความสำเร็จดังกล่าว ทำให้ผู้ผลิต EV จีนหันไปขยายตลาดต่างประเทศ ด้วยกลยุทธ์สำคัญ เช่น

(1)อาศัยความสำเร็จในจีน เพื่อขยายธุรกิจในต่างประเทศ กรณีของ BYD คือตัวอย่างชัดเจนที่สุด BYD ยังเป็นผู้นำด้านรถโดยสารใช้ไฟฟ้า มีโรงงานผลิตหลายแห่งทั่วโลก เช่น ในรัฐคาลิฟอร์เนียและฮังการี มีแผนขยายโรงงานผลิตรถโดยสาร EV ในหลายประเทศ และเริ่มส่งออกรถยนต์ EV ส่วนบุคคล ส่วน Nio เริ่มส่งออกรถ EV ไปยังยุโรป

(2)การเข้าซื้อแบรนด์ต่างประเทศ เป็นกลยุทธ์การเจาะตลาดใหม่ โดยอาศัยการเป็นเจ้าของแบรนด์รถยนต์ที่มีชื่อเสียงของตะวันตก เช่น MG เดิมเป็นแบรนด์ของอังกฤษ ปัจจุบันเจ้าของคือ SAIC MG ทำยอดขายได้ดีในอังกฤษ แม้รถยนต์จะไม่ได้ผลิตในอังกฤษแล้ว แต่ที่ประสบความสำเร็จมากสุดคือ Volvo ของสวีเดน ที่ Geely เข้าซื้อกิจการในปี 2010 ทั้ง Volvo กับ SAIC มีแผนผลิตรถยนต์ EV ชื่อ Polestar ที่จะส่งขายในตลาดยุโรปและอเมริกา

(3)การร่วมทุน (JV) เดิมผู้ผลิตรถยนต์ต่างประเทศร่วมทุนกับผู้ผลิตของจีน ผลิตรถยนต์ใช้น้ำมัน ป้อนตลาดภายในจีน ปัจจุบัน ผู้ผลิตต่างประเทศร่วมทุนกับจีน ในการผลิตรถยนต์ EV เพื่อส่งออก เช่น รถยนต์ EV Dacia Spring ที่ออกแบบในยุโรป แต่ผลิตในจีน กลายเป็น 1 ใน 10 รถยนต์ EV ขายดีที่สุดในยุโรป รถยนต์ Smart EV ได้ย้ายการผลิตไปจีน เป็นการร่วมทุนระหว่าง Mercedes-Benz กับ Geely

รถยนต์ EV Smart หันไปผลิตที่จีน ที่มาภาพ : Car From Japan

ผู้ผลิตต่างชาติกลายเป็นส่งออก EV จีน

ในครึ่งแรกปี 2023 รถยนต์ Tesla มีสัดส่วน 39% ของการส่งออกรถยนต์ EV ของจีนทั้งหมด การส่งออกรถยนต์ EV ที่มาจากการร่วมทุนต่างชาติกับจีน มีสัดส่วน 9.5% ดังนั้น ผู้ผลิตรถยนต์ EV ของจีนเอง มีสัดส่วนการส่งออกต่ำกว่า 50% ของทั้งหมด

Tesla ถือว่าโรงงานผลิตรถยนต์ที่เซี่ยงไฮ้ เป็นศูนย์กลางหลักการส่งออกรถยนต์ EV แผนขยายโรงงานในจีน จะทำให้ยอดการผลิตทั้งหมดมีมากถึง 2 ล้านคันต่อปี ส่วนโรงงานผลิตของ Tesla ที่กำลังสร้างในเยอรมัน จะทำให้ยอดส่งออก Tesla ไปยุโรปน้อยลง และหันมาส่งออกในตลาดเอเชียมากขึ้น

รายงาน CSIS ชี้ว่า ประสบการณ์จากผู้ผลิตเครื่องจักรกังหันลมของยุโรป แสดงให้เห็นว่า การตั้งโรงงานในจีน เพื่อสนองตลาดภายในจีน สามารถเปลี่ยนผ่านพัฒนามาเป็นการส่งออกจากจีน Vestas ผู้ผลิตกังหันลมของยุโรป มีโรงงานในจีน ต่อมาไม่สามารถแข่งขันกับผู้ผลิตของจีนเอง ก็หันมาผลิตเพื่อส่งออก โดยอาศัยชิ้นส่วนจากจีน เมื่อเร็วๆนี้ Vestas ประกาศปิดโรงงานในจีนแล้ว

บริษัทข้ามชาติต่างๆใช้จีนเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าต่างๆเพื่อส่งออกมานานแล้ว แบบเดียวกับ Vestas แต่สิ่งนี้อาจไม่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมรถยนต์ เพราะความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลกรุนแรงขึ้น และอุตสาหกรรมรถยนต์มีความสำคัญมากต่อประเทศที่พัฒนาแล้ว สหรัฐฯใช้มาตรการทั้งภาษีนำเข้า และการลดหย่อนภาษีกับรถยนต์ EV ที่มีแหล่งชิ้นส่วนสำคัญภายในสหรัฐฯ ส่วน EU ยังไม่มีข้อกำหนดแหล่งที่มาชิ้นส่วน แต่อาจใช้มาตรการภาษีต่อต้านการอุดหนุนของรัฐแทน

รายงาน CSIS สรุปว่า ผู้ผลิตรถยนต์จีน และรถยนต์ EV “ผลิตในจีน” จะมีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมรถยนต์ของโลก ไปสู่รถยนต์ EV ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่ออุตสาหกรรมรถยนต์โลก รัฐบาลประเทศต่างๆทั่วโลกจำเป็นต้องพัฒนายุทธศาสตร์ เพื่อรับมือ เอาประโยชน์ และจัดการความเสี่ยงต่างๆ จากพัฒนาการดังกล่าวนี้

เอกสารประกอบ
China’s EV Threat: A carmaker That Loses $35,000 a Car, October 5, 2023, nytimes.com
Electric Shock: Interpreting China’s Electric Vehicle Export Boom, September 2023, CSIS Briefs, csis.com