ThaiPublica > Sustainability > Contributor > “สร้างความยั่งยืนให้ยั่งยืน” (Make Sustainability Sustainable)

“สร้างความยั่งยืนให้ยั่งยืน” (Make Sustainability Sustainable)

6 กันยายน 2023


ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เมื่อวันพฤหัสที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา ผมได้รับเกียรติจากทาง The Cloud ให้ไปร่วมงาน Sustrends 2024 ที่พิพิธภัณฑ์สวนป่าเบญจกิติ จัดโดย The Cloud ได้นำเสนอความคิด ภายใต้หัวข้อ “สร้างความยั่งยืนให้ยั่งยืน” (Make Sustainability Sustainable) ผ่าน 3 คอนเซ็ปท์หลัก คือ ร่วมชายคา (Cohabitation) ร่วมรังสรรค์ (Cocreation) และ ร่วมวิวัฒน์ (Coevolution)

โดยเนื้อหาจะมี 4 ตอนด้วยกัน

1. การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสิ่งมีชีวิตครั้งที่ 6 (The Sixth Great Extinction)
2. ร่วมชายคา (Cohabitation)
3. ร่วมรังสรรค์ (Cocreation)
4. ร่วมวิวัฒน์ (Coevolution)

การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสิ่งมีชีวิตครั้งที่ 6 (The Sixth Great Extinction)

มีการประมาณกันว่า เอกภพที่ก่อตัวขึ้นหลัง Big Bang อาจมีอายุมากกว่า 13,800 ล้านปี ในขณะที่โลกที่เราอยู่มีอายุเพียง 4,500 ล้านปี ในห้วงเวลาดังกล่าว ได้เกิดการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตครั้งใหญ่ถึง 5 ครั้ง โดยทั้งหมดเกิดขึ้นตามธรรมชาติ

เมื่อเทียบกับอายุโลก มนุษยชาติเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 7 ล้านปีที่ผ่านมา แต่อารยธรรมมนุษย์มีการพัฒนาการอย่างก้าวกระโดด ในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรม คือเมื่อประมาณ 250 ปีที่แล้วนี้เอง โดยเริ่มต้นจาก Industry 1.0 ที่เน้น Mechanization และ Stream Engine มาสู่ Industry 4.0 ที่เน้น Cyber-Physical System และ AI ในปัจจุบัน

แต่ที่น่าสนใจก็คือ ผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นจากการปฎิวัติอุตสาหกรรม หรือที่เรียกกันว่า The Great Acceleration เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงประมาณ 70 ปีที่ผ่านมานั้น ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนยุคทางธรณีวิทยาจากยุค Holoscence เป็นยุค Anthroposcene นั่นคือ เปลี่ยนจากยุคที่ธรรมชาติมีอิทธิพลส่งผลกระทบต่อมนุษย์ มาสู่ยุคที่มนุษย์มีอิทธิพลส่งผลกระทบต่อธรรมชาติแทน

The Great Acceleration นำมาสู่ความไร้สมดุลเชิงระบบระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ มนุษย์กับมนุษย์ รวมถึงมนุษย์กับเทคโนโลยี ความไร้สมดุลนี้เองที่เป็นปฐมบทของการเกิดวิกฤติเชิงซ้อนต่างๆ ที่มีความถี่ที่เพิ่มขึ้น ในระดับความรุนแรงที่มากขึ้นเรื่อยๆ จนอาจก่อให้เกิดการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตครั้งใหญ่ครั้งที่ 6 หรือ The Sixth Great Extinction


สิ่งที่น่าตกใจคือ การสูญพันธ์ุครั้งที่ 6 นี้อาจไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่เกิดจากน้ำมือมนุษย์

มนุษย์มีความเชื่อว่า ตนเองสามารถ ควบคุมและเอาชนะธรรมชาติ ตลอดจนปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมในทุกสภาวะ โดยหารู้ไม่ว่า ไม่ช้าหรือเร็ว มนุษย์ชาติอาจกลายเป็น “กบต้มสุก” โดยไม่รู้ตัว

Cohabitation

เป็นที่ทราบกันดีว่า อุณหภูมิในทุกๆหนึ่งองศาเซลเซียสที่เพิ่มขึ้นนั้น จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลากหลายมิติที่ไม่ใช่เชิงเส้นตรง เมื่อสิ่งมีชีวิตบางสปีชีส์เริ่มสูญพันธุ์จากภาวะโลกเดือด ก็จะเกิดการทะยอยล้มครืนลงของระบบนิเวศ ระบบแล้วระบบเล่า จนในที่สุด มนุษย์ก็อาจจะสูญพันธุ์ตามไปด้วย

ที่น่ากลัวกว่านั้นก็คือ ก่อนที่มนุษยชาติจะสูญพันธุ์ พวกเราอาจจะต้องเผชิญกับภาวะความยากลำบากและความทุกข์ทรมานในแบบที่ไม่เคยประสบมาก่อน

ดังจะเห็นได้จากภัยพิบัติทางธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นอุทกภัย วาตภัย ภัยแล้ง ไฟป่าโรคระบาด ฯลฯ ที่เกิดถี่ขึ้น และทวีความรุนแรงมากขึ้นในวงกว้าง

ตรงนี้เป็นประเด็นเชิงวิกฤติ เพราะเมื่อสิ่งมีชีวิตรอบตัวเราเริ่มอยู่ไม่ได้ มนุษย์ก็อยู่ไม่ได้ นั่นคือ หัวใจสำคัญของแนวคิด “การอยู่ร่วมชายคา” หรือ “Cohabitation” ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่การร่วมชายคาของมนุษย์ด้วยกัน หรือมนุษย์กับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ แต่รวมถึงการอยู่ร่วมชายคาเดียวกันระหว่างมนุษย์กับโลกพิภพที่ประกอบด้วยแผ่นดิน ผืนฟ้า และมหานที

สิ่งที่มนุษย์แตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่น ก็คือ ความสามารถในการสร้าง สะสม และประยุกต์ใช้องค์ความรู้ อย่างไรก็ตาม ในตัวความรู้เองก็มีความย้อนแย้งในตัวเอง (Paradox of Knowledge)กล่าวคือ ยิ่งเรารู้มากขึ้น เรายิ่งจะรู้ว่าความไม่รู้ของมนุษย์ยังมีอีกมากมายมหาศาล ความกระหายใคร่รู้ จึงเป็นสิ่งที่ติดตัวมาพร้อมกับความเป็นมนุษย์

แต่การตื่นรู้ การรับรู้ และการสร้างองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับประเด็นวิกฤติโลกเดือด วิกฤติสภาพแวดล้อม ความยากจนและความเหลื่อมล้ำ และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ฯลฯ อาจจำเป็นแต่ไม่เพียงพอต่อความอยู่รอดของมวลมนุษยชาติ

เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจธรรมชาติแบบองค์รวม ไม่ใช่แบบแยกส่วน แยกประเด็น จากมุมมองที่เปิดกว้างและลึกซึ้งขึ้น ผ่านแนวคิด “Cohabitation” เพราะความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง จะก่อเกิดความกระจ่างชัด เมื่อเกิดความกระจ่างชัดจึงจะก่อเกิดปัญญา เมื่อเกิดปัญญา จึงจะปลุกจิตสำนึก และปรับเปลี่ยนกรอบความคิดของพวกเราให้ถูกต้อง และนำพาไปสู่การปรับเปลี่ยนทั้งเชิงพฤติกรรมและโครงสร้างตามมา

จุดหักเหจึงไม่ได้อยู่ที่องค์ความรู้ แต่อยู่ที่ปัญญาที่ลุ่มลึก ผ่านการทบทวนกรอบความคิด

  • จากการยึด “มนุษย์” เป็นศูนย์กลาง (Anthropocentric) เป็นการยึด “โลกพิภพ” เป็นศูนย์กลาง (Eco-centric)
  • จากการยึด “ตัวเอง” เป็นศูนย์กลาง (Self-centered) เป็นการยึด “เพื่อนมนุษย์” เป็นศูนย์กลาง (Philanthropic)
  • จากการมุ่งเน้น “Current Generation” ก็จะให้น้ำหนักกับ “Future Generations” มากขึ้น
  • ท่านกฤษณมูรติ นักคิดนักปรัชญาชาวอินเดีย ได้เคยกล่าวไว้ว่า…

    สงครามที่น่ากลัวที่สุด คือ “สงครามทางความคิด” ที่เกิดขึ้นในตัวเรา พวกเราชอบพูดว่า โลกเราอยู่ท่ามกลางวิกฤติ แต่จริงๆแล้ว “วิกฤติอยู่ในตัวเรา” เพราะโลกคือเรา และตัวเราเองที่เป็นตัวปัญหา

    “การอยู่ร่วมชายคา” จึงเป็นกรอบความคิดที่มองว่า สรรพสิ่งในจักรวาลล้วนแล้วแต่พึ่งพาซึ่งกันและกัน มีความสอดคล้องกัน จนเกิดเป็นดุลยภาพเชิงพลวัตที่มีความลงตัว แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับกรอบความคิดที่มองว่า เอกภพ โลกพิภพ ตลอดจนโลกมนุษย์ เป็น “เครื่องจักรกล” ภายใต้กรอบความคิดดังกล่าว มนุษย์มุ่งพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อควบคุมธรรมชาติ ควบคุมสังคม ตลอดจนควบคุมมนุษย์ด้วยกันเอง จนเกิดเป็นวิกฤติเชิงซ้อนอย่างที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน

    Cocreation

    เมื่อหลายสิบปีที่แล้ว ผมได้มีโอกาสอ่านสุภาษิตแอฟริกัน 2 บท ในเวลาไล่เลี่ยกัน

    สุภาษิตบทแรกกล่าวไว้ว่า “ณ ทุ่งหญ้า ในแอฟริกา ทุกๆเช้า ฝูงกวางจะต้องตื่นขึ้นมาเพื่อวิ่งให้เร็วกว่าสิงโตที่วิ่งเร็วที่สุด มิเช่นนั้นมันถูกกินแน่ ในทำนองเดียวกัน ณ ทุ่งหญ้าเดียวกันนั้น สิงโตก็ต้องตื่นแต่เช้า เพื่อวิ่งให้เร็วกว่ากวางที่วิ่งช้าที่สุด มิเช่นนั้น มันอดตายแน่”

    ในขณะที่สุภาษิตบทที่สอง กล่าวไว้ว่า

    “หากต้องการเดินให้เร็วให้เดินไปคนเดียว แต่ถ้าหากต้องการเดินให้ไกล ให้เดินไปด้วยกัน”

    กรอบความคิด Cohabitation ดูจะสอดรับกับสุภาษิตบทที่สอง – ที่เน้นเรื่องของการร่วมรังสรรค์ ความสมานฉันท์และการมีมิตรไมตรีต่อกัน มากกว่าสุภาษิตบทแรก- ที่เน้นเรื่องของการดิ้นรนต่อสู้ มุ่งแข่งขัน เพื่อเอาตัวรอด

    เป็นที่ทราบกันดีว่า มนุษย์โดยธรรมชาติ ต้องการ “การเติบโต” แต่ก็ต้องการ “ความมั่นคง” ด้วยในขณะเดียวกัน

    อย่างไรก็ดี การเติบโตและความมั่นคงในท่ามกลางพลวัตโลกในปัจจุบัน จะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับ

  • การปรับความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ผ่าน “ความยั่งยืน”
  • การปรับความสมดุลระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ผ่าน “ความเท่าเทียม”
  • ทั้งนี้เป็นเพราะ

  • การเติบโตที่ควบคู่ไปกับความยั่งยืน จึงจะเกิด “การเติบโตที่ยั่งยืน” (Sustainable Growth) อย่างเป็นรูปธรรม
  • การเติบโตที่ควบคู่ไปกับความเท่าเทียม จึงจะเกิด“การเกื้อกูลแบ่งปันความมั่งคั่ง” (Shared Prosperity) อย่างแท้จริง
  • ความมั่นคงที่ควบคู่กับความยั่งยืน จึงจะเกิด “การรักษ์โลก” (Saved Planet) อย่างมีนัยยะ
  • ความมั่นคงที่ควบคู่ไปกับความเท่าเทียม จึงจะเกิด ‘ความเป็นปกติสุข'(Secured Peace) อย่างถาวร
  • การเติบโตที่ยั่งยืน การเกื้อกูลแบ่งปันความมั่นคั่ง การรักษ์โลก และความเป็นปกติสุข จึงเป็น “ 4 เจตจำนงร่วม” สอดรับกับแนวคิด Cohabitation

    “Cocreation” หรือ การร่วมรังสรรค์ จึงเป็นระบบกระบวนการในการขับเคลื่อนให้ 4 เจตจำนงร่วมดังกล่าวบรรลุผลสัมฤทธิ์ โดยการสร้างแพลตฟอร์มการสานพลังของภาคส่วน ทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

    Coevolution

    Coevolution วิวัฒนาการเป็นแนวคิดเชิงพลวัต จากการกำเนิดสิ่งมีชีวิต ผ่านวิวัฒนาการทางเคมี สู่วิวัฒนาการทางชีววิทยา จาก prokaryote สู่ eukaryotes และค่อยๆวิวัฒน์ เป็น organelles และกลายเป็นสิ่งมีชีวิตต่างๆ ตามมาด้วยวิวัฒนาการของมนุษยชาติ ที่อุบัติขึ้นเมื่อประมาณ 7 ล้านปีที่แล้ว

    “วิวัฒนาการเชิงพันธุกรรม” หรือ Genetic Evolutionary Dynamics ของมนุษยชาติได้ชะลอลงอย่างมีนัยเมื่อประมาณ 55,000 ปีที่แล้ว วิวัฒนาการของมนุษย์หลังจากนั้นเป็น “วิวัฒนาการเชิงระบบกระบวนการ” หรือ Eco-Evolutionary Dynamics ผ่านความซับซ้อนของโครงสร้างและกลไกทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

    ภายใต้โลกทัศน์ที่มองสรรพสิ่งเป็นเครื่องจักรกล การปฎิวัติอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นเมื่อ 250 ปีที่แล้ว และตามมาด้วย The Great Acceleration ที่เกิดขึ้นในห้วง 70 ปีที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิด “Systemic Disruption” ที่ครอบคลุมในหลากหลายมิติ อาทิ

  • Geopolitical Disruption: จาก “โลกขั้วเดียว” เป็น “โลกหลายขั้ว”
  • Geoeconomic Disruption: จาก “กระแสโลกาภิวัตน์” เป็น “การทวนกระแสโลกาภิวัตน์”
  • Technological Disruption: “ปัญญาประดิษฐ์” กำลังค่อยๆคืบคลานเข้ามาแทนที่ “ปัญญามนุษย์”
  • Behavioral Disruption: จาก Three Stage Life เป็น Multi-Stage Life
  • Systemic Disruption ที่เกิดขึ้นระลอกแล้วระลอกเล่า ทำให้พวกเราดำรงชีวิตอยู่ ในท่ามกลางโลกที่เต็มไปด้วยความวิตกกังวล ความกลัว ความเครียด ความเหงาลึก ความซึมเศร้า ความย้อนแย้ง ความสับสน ฯลฯ เป็นชีวิตที่เริ่มแปลกแยกจากธรรมชาติ เป็นมนุษย์ที่เริ่มถอยห่างจากความเป็นมนุษย์

    การเปลี่ยนโลกทัศน์จากการมองสรรพสิ่งเป็น “เครื่องจักรกล” ตาม Newtonian-Cartesian Paradigm มาเป็นการมองสรรพสิ่ง “เป็นเครือข่ายของรูปแบบความสัมพันธ์ที่ยึดโยงซึ่งกันและกันอย่างสนิท” ตาม Cohabitation Paradigm จะเปลี่ยนความคิดของผู้คน จาก “การมุ่งแข่งขัน” เป็น “การร่วมรังสรรค์” Cohabitation จะค่อยๆเปลี่ยน Systemic Disruption มาเป็น Holistic Coherence หรือ ความสอดคล้องเชิงองค์รวม

    ความเข้าใจในแนวคิด Cohabitation Cocreation และ Coevolution จะทำให้ “ความยั่งยืน” ที่ทุกคนเรียกหา เกิด “ความยั่งยืน” ขึ้นได้อย่างแท้จริง และที่สำคัญ จะทำให้เราหยั่งรู้ว่า Oneness = Wholeness และมันก็เป็นเช่นนั้นเอง