ThaiPublica > คนในข่าว > “ธรรมวิทย์ ลิ้มเลิศเจริญวนิช” เรื่องเล่า “นักบ่มเหล้า”แห่ง “สกลนคร” และการกลับมาของ “ท้องถิ่นนิยม”

“ธรรมวิทย์ ลิ้มเลิศเจริญวนิช” เรื่องเล่า “นักบ่มเหล้า”แห่ง “สกลนคร” และการกลับมาของ “ท้องถิ่นนิยม”

29 สิงหาคม 2023


ไทยพับลิก้าคุยกับ “ธรรมวิทย์ ลิ้มเลิศเจริญวนิช” หรือ “เสือ” ของเพื่อนฝูง คนรุ่นใหม่แห่งสกลนคร ที่เป็นทั้งนักบ่มเหล้าแห่งออนซอน สุราท้องถิ่น ที่กลั่นจากน้ำตาลมะพร้าว จนรู้จักกันอย่างดีจากการขาย soft power ของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และเป็นทั้งผู้บริหารโรงงานยาธาตุน้ำแดงที่รับช่วงต่ออากง เจ้าของร้านอาหารแบบ fine dining ที่ใช้วัตถุดิบในพื้นที่ ไปจนถึงค่ายเพลงหมอลำที่ทำไปด้วยความรักในจังหวัดของตัวเอง และยังมีบทบาทในการพัฒนาเมืองสกลนครด้วยจุดแข็งในท้องถิ่นให้เป็น new destination

จากบ้านนอกเข้ากรุง ถามคนสกลกินหมา

แม้เขาจะเกิดและเติบโตที่จังหวัดสกลนคร แต่เสือเล่าว่า หลายอย่างในชีวิตมีจุดเริ่มต้นจากกรุงเทพมหานคร โดยหลังจากเรียนจบประถม 6 ที่สกลนคร อากงจึงส่งมาเรียนมัธยมที่กรุงเทพฯ จุดนี้เองที่สอนให้เด็กบ้านนอกวัยสิบต้นๆ ได้เรียนรู้และปรับตัวกับเมืองมหานคร

“ผมนั่งรถทัวร์มากรุงเทพฯ ทุกอย่างใหม่หมด ผมไม่พร้อม เรายังเด็ก ต้องออกมาใช้ชีวิตกึ่งตัวคนเดียว พ่อฝึกให้นั่งรถเมล์ ให้รู้สึกพึ่งตนเองได้ ส่วนที่โรงเรียน เราเป็นเด็กใหม่เข้ากลางคัน คนอื่นมองว่าเรามาจากสกลนคร พูดสำเนียงไทยไม่ชัด ติดเหน่อ โดนบูลลี่ สกลกินหมาหรือเปล่า เพื่อนชอบล้อ ยิ่งโรงเรียนชายล้วนมันเฮล…ชกต่อยกันประจำกับเพื่อนในห้อง มีเรื่องทุกอาทิตย์ เรานิสัยไม่ยอมคน ปกติเด็กใหม่จะเป็นเบ๊ในห้อง ถือกระเป๋า-ซื้อข้าวให้เพื่อน แต่ผมไม่ยอม”

“เสือ” จึงกลายเป็น “แกะดำ” เพราะเพื่อนไม่คบ แต่จุดนี้เองทำให้เขาต้องพิสูจน์ตัวเองให้คนอื่นยอมรับ

เสือเล่าต่อว่า เขาเป็นเด็กหัวดี ยิ่งตอนเรียนต่างจังหวัดก็สอบได้ที่ 1 มาต่อเนื่อง แต่พอมากรุงเทพฯ เขากลับไม่ถึงขั้นหัวกะทิเหมือนเคย ทว่าเสือก็พยายามปรับตัวผ่านการเรียน โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ จนเริ่มเข้ากับเพื่อนได้ในที่สุด

เสือเล่าถึงตอนมัธยมปลายว่า เขาอยู่ในห้องเรียนที่ถูกคาดหวังให้สอบติดหมอ ทำให้ตลอด 3 ปีก่อนเข้ามหา’ลัย เขาต้องเรียนวันละ 9 คาบ อ่านหนังสือตั้งแต่หลังเลิกเรียนถึง 4 ทุ่ม และตื่นตี 5 มาทำการบ้าน แต่ความฝันที่จะเป็นหมอก็ดับลง เพราะความประมาท

“ผมสอบได้คะแนนดีมาก พาร์ตแรก 30 คะแนน ผมได้ 20 คะแนน ซึ่งคะแนนเฉลี่ยของประเทศแค่ 10 คะแนน คิดว่าตัวเองใช้ได้เลยเหลิง อีกพาร์ต 70 คะแนน สมัยผมคะแนนขั้นต่ำติดหมอใช้ 50% ผมมีในมือแล้ว 20 คะแนน ขาดอีก 30 จาก 70 คะแนน ตอนนั้นประมาทเลย สุดท้ายได้ 49 คะแนน ขาดไป 1 เปอร์เซ็นต์ ผิดหวัง เฟล ถ้าจะต้องมานั่งซิ่วหนึ่งปี (เพื่อรอสอบหมอ) รู้สึกชีวิตไม่เอาแล้ว”

เสือเล่าต่อว่า เขามีงานอดิเรกคือการถ่ายรูป เลยบอกพ่อว่าขอไปเรียนเกี่ยวกับการถ่ายภาพที่จุฬาฯ (คณะวิทยาศาสตร์ สาขาเทคโนโลยีทางการถ่ายภาพและการพิมพ์) โดยบอกที่บ้านว่าไปเรียนขำๆ แต่ในใจไม่อยากสอบหมอ ทำให้ชีวิตพลิกจากสายวิทย์มาสายศิลป์

ชีวิตมัธยมทำให้เขาเห็นสังคมมากขึ้น จากที่เคยมีเพื่อนสไตล์ชาวบ้าน พอมากรุงเทพฯ เพื่อนเขาคือลูกหลานคนใหญ่คนโตในสังคม บ้างเป็นลูกข้าราชการระดับสูง บ้างเป็นลูกนักธุรกิจรายใหญ่ กระทั่งเพื่อนบางคนเป็นลูกหลานตระกูลนายกรัฐมนตรี โดยหารู้ไม่ว่า เพื่อนมัธยมจะกลายเป็นคอนเนกชันที่สำคัญในชีวิต

ส่วนชีวิตมหา’ลัย ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนอีกสังคมหนึ่ง เสือเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ทั้งไว้ผมยาว ใส่กางเกงขาม้า บวกกับไลฟ์สไตล์ฟังเพลง ดูงาน และเสพงานศิลปะ และเริ่มรับจ้างถ่ายรูปตอนเรียนปี 2-3 และทำงานเป็นอาสาสมัครตามแกลอรี่ต่างๆ ได้เห็นสังคมชนชั้น elite ในประเทศที่รวยมากๆ ชอบงานศิลปะ เสพ ซื้อขายงานศิลปะเป็นงานอดิเรก ถือเป็นการเปิดโลก และเปิดโลกศิลปะ

“ผมค่อนข้างสนุกกับชีวิตแล้ว ไม่อยากกลับสกลนคร เราพิสูจน์ตัวเองตั้งแต่ชีวิตมัธยม ขึ้นมหาลัยถึงตรงนี้ มันหลายขั้น อยากอยู่ที่นี่ ไม่อยากกลับบ้าน เพราะบ้านไม่มีอะไรสนองตัวเองได้แล้ว มีแกลอรี่ให้ผมดูไหม ไม่มี หนังไม่มี เพลงไม่มี เลยตั้งเป้าว่าจบมาจะทำงานที่กรุงเทพฯ”

“แต่มันไม่เป็นอย่างนั้น ที่บ้านคุยว่าลูกต้องมาอยู่สกลฯ ได้เรียนในสิ่งที่อยากเรียนแล้ว อยากให้กลับมาทำงานที่บ้าน ผมก็ไม่ขัด เข้าใจสถานการณ์ทุกอย่าง รับปริญญาเสร็จ ถอดชุดครุยเข้าบ้าน วันต่อมารถ 6 ล้อมาขนของ ยังไม่ทันจะฉลองเลย จำได้ว่าวันรับปริญญาจะมีญาติใส่ซองให้ ผมจำได้ว่าหยิบเงินที่ใส่ซองเดินไปมาบุญครองซื้อ PlayStation กลับบ้าน ซื้อแบบไม่คิดเลย อย่างน้อยเอากลับบ้านเป็นเพื่อนเรา ส่วนงานถ่ายภาพจบเลย เลิก”

“ในหัวตอนนั้นไม่มีอะไรเลย ไม่อยากกลับ ยังไงก็ไม่อยากกลับ พ่อแม่ก็เตรียมขยายกิจการเปิดสาขาเพิ่ม ประมาณว่าเปิดแล้วใครจะมาดู ขายสังฆภัณฑ์ ทำธุรกิจอื่นเพิ่มอีก กะว่าลูกไม่ต้องไปไหนแล้ว จึงกลับไปโดยที่ปรับตัวยากมาก”

ชีวิตหลังกลับมาอยู่สกลนครในวัยยี่สิบต้นๆ เต็มไปด้วยความอึดอัดและลำบากใจ เขาเก็บตัวที่บ้านนาน 7-8 เดือน และมองเพื่อนฝูงวัยเด็กที่สกลฯ ในมุมที่เปลี่ยนไป เพราะคิดว่าเพื่อนที่สนิทใจคือเพื่อนที่กรุงเทพฯ ที่เรียนด้วยกันมาสิบปี แต่เพื่อนที่สกลนครเรียนกันแค่ 6 ปี มิหนำซ้ำเขายังแอบหนีมาเที่ยวกรุงเทพฯ ด้วยการจองไฟลต์บินเย็นวันศุกร์เพื่อไปเที่ยวถนนข้าวสาร พอเที่ยวเสร็จก็จองไฟลต์บินกลับช่วง 6 โมงเช้า และถึงบ้านช่วง 7-8 โมง โดยที่พ่อและแม่เขาไม่เคยรู้

“พ่อผมบอกตลอดว่า มันคือรางวัลชีวิตที่ลูกกลับมาที่บ้าน แต่พ่อแม่เริ่มรู้ว่า ลูกเราเป็นตัวของตัวเอง ไม่ใช่เด็กในกรอบที่จะชี้นิ้วสั่ง ผมก็ไม่ได้ทำอะไรเลวร้าย แค่ไม่มีเข็มทิศชี้ว่าจะไปทางไหน”

อย่างไรก็ตาม เสือมาเจอพี่เลี้ยงทางจิตใจ หลังจากได้พบคนแบบเดียวกัน เจอปัญหาแบบเดียวกัน คือไปเรียนที่อื่น ทั้งขอนแก่น กรุงเทพฯ แม้แต่เมืองนอก แต่กลับมาอยู่บ้านได้ ปรับตัวได้

กระเพื่อมบ้านเกิด เปิดค่ายเพลงหมอลำ ทำร้านอาหาร

จุดเปลี่ยนคือ เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 เมื่อเขื่อนแตก เสือเห็นภาพน้ำท่วมเมืองสกลนคร พอน้ำลดก็เห็นคนเก็บขยะเคลียร์บ้าน ส่วนธุรกิจของที่บ้านก็ต้องปิดตัวลง โดยเขาเปรยว่า สกลนครเหมือนเมืองร้าง เริ่มเห็นคนลำบาก รู้สึกหดหู่ และรู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่าง อย่างน้อยที่สุดก็ต้องทำอะไรเพื่อเยียวยาจิตใจผู้คน

เมื่อมองย้อนกลับไป เสือบอกว่า “มันไม่มีใครอยากออกจากบ้านหรอก แต่ด้วยปัจจัยหลายอย่าง หรือคนคิดว่าการอยู่บ้านมันไม่มีโอกาส ถ้าคุณทำอะไรไม่เป็น มาทอดไก่ขายที่กรุงเทพฯ ก็ได้ ไม่เหมือนต่างจังหวัด ถ้าไม่อร่อยจริงตาย”

ในวัย 25 ปี เสือ มีโอกาสเข้าร่วมกลุ่ม YEC (Young Entrepreneur Chamber of Commerce) ทำให้มุมมอง “การกลับมาพัฒนาบ้าน” ชัดเจนมากขึ้น ทำให้เขาเริ่มเข้าไปพูดคุยกับหน่วยงานรัฐ และใช้เวลาพิสูจน์ตัวเองอีกครั้ง เพื่อให้หน่วยราชการท้องถิ่นเข้าใจเจตนารมณ์

“สิ่งที่เราเห็นสิ่งเดียวกันคือเราจะกลับมาพัฒนาบ้าน จังหวัดเรามีทรัพย์สินเยอะแยะไปหมด เป็นโอกาส ต้องมีบทบาทในการคุยกับหน่วยงานรัฐ นโยบายบ้าง ต้องเชื่อม ใช้เวลานานจนกว่าพิสูจนตัวเองให้ราชการในเมือง สภา อบจ. จังหวัด ให้เข้าใจเรา เข้าใจว่าเราจะมาฟื้นฟูเมือง เข้าใจว่าเราจะมาช่วยดูแล”

“เราเริ่มไปแทรก ขอความร่วมมือ ผมไปช่วยออกไอเดีย ถ้าจะเอางบประมาณไปทำอะไรที่ไม่เกิดประโยชน์ เอางี้ ผมเสนอโครงการแบบนี้ๆ ให้”

เสือและเพื่อนจัดกิจกรรมผลักดันเมืองตลอด อย่างงาน Sakon junction สกลจังซั่น เป็นงานที่นอกจากทำให้คนในเมืองรู้สึกว่าเยียวยาใจและเป็นแรงบันดาลใจให้ทำอะไรต่อ พลิกเมืองจากสกลนครที่เป็นเมืองคนกินหมา เมืองที่ไม่มีอะไรเลย กลายเป็นเมืองที่มีตัวตนขึ้นมา และคนทั่วไปมองว่าสกลมีมิติอื่นที่น่าสนใจ

โครงการที่เสือผลักดันสำเร็จเป็นรูปธรรมคือ “อุทยานการเรียนรู้สกลนคร (TK Park Sakon Nakhon)” เพราะเขาไปช่วยถกกับสำนักงานเทศบาลนครสกลนครว่า การนำพื้นที่ไปสร้างเป็นศูนย์เรียนรู้ จะช่วยทำประโยชน์ทั้งกับตัวเด็กและผู้ปกครอง รวมถึงเป็นผลดีต่อจังหวัดสกลนครด้วย

นอกจากนี้ เสือและกลุ่ม YEC ยังเสนอโครงการเวิร์กชอปผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร โดยให้คนรุ่นใหม่ในกลุ่ม YEC 20 คน มาทำกิจกรรมร่วมกับข้าราชการรุ่นใหม่ 20 คนจากแต่ละจังหวัด เพื่อให้คนรุ่นใหม่ในแต่ละภาคส่วนได้รู้จักกัน และสามารถทำงานแบบไร้รอยต่อในอนาคต

“ทุกวันนี้มีคนแบบผมเยอะขึ้นทุกวัน คนที่เริ่มทำงานหาเงิน พอมีกำไรส่วนหนึ่งก็ให้คืน ไม่ใช่รูปแบบซีเอสอาร์ แต่เป็นการพัฒนาเมือง”

เสือบอกว่า เขาพยายามขายความเป็นสกลนครให้คนอื่นรับรู้ว่า ‘บ้านเรามีของ’ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนคอนเทนต์บอกเล่าเรื่องราวในจังหวัด ถ่ายรูปมุมสวยๆ โชว์ว่าอาหารอร่อย มีวัฒนธรรม มีแหล่งท่องเที่ยว มีธรรมชาติที่ครบครัน ทั้งหมดอยู่บนวิธีคิดที่ว่า สกลนครคือ new desination

ขณะเดียวกัน เสือก็สนใจเรื่องอาหาร จึงร่วมกับเพื่อนอีก 2 คน เปิดร้าน House Number 1712 ซึ่งเป็นร้านอาหารอีสาน fine dining ที่ใช้วัตถุดิบในพื้นที่ และยังมีจุดเด่นเรื่องสายพันธุ์ข้าวพื้นเมือง เพื่อช่วยขับเคลื่อนความเป็นสกลนคร และสร้างแรงกระเพื่อมเล็กๆ ว่า อาหารสกลนครก็มีดีไม่แพ้ที่อื่น ไม่ใช่ใครมาเที่ยวสกลฯ ก็พาไปกินแต่หมูกระทะและชาบู

“เป็นอาหารอีสาน a la carte แต่แบบ fine dining บ้านเราเป็น sharing เลยมาปรับเป็นจานใหญ่ สวย น่ากินและถ่ายรูป มีอาหารหลากหลาย คอนเซปต์ของท้องถิ่น ข้าวพื้นเมือง ผัก ดอกไม้ มีคุณแม่เป็นคนปลูกให้ ดังนั้นมั่นใจในเรื่องความสะอาด และความปลอดภัย โดยเฉพาะข้าวไม่มีข้าวห้างเลย เราหาแหล่งพื้นเมืองมา หนึ่งปีได้ 10 สายพันธุ์ เสิร์ฟเดือนละ 1 สายพันธุ์ก็ชิลแล้ว”

“ผมไม่ได้รู้สึกเป็นการแข่งขัน ใครจะมากินร้านผมได้ทุกวัน เราก็เริ่มสนุกตรงนี้ ถ้าตันเมนูนี้ อีก 20 30 ปี บิดมัน ทวิสมัน ดูรายการแล้วเป็นแรงบันดาลใจมาปรับ ถ้าผมรู้สึกน่าสนุกก็ครอสกัน ร้านอาหารทำเมนูร่วมกัน คนในเมืองรู้สึกมาครั้งเดียวได้กิน 2 ร้าน กลายเป็นเรื่องสนุก เมืองมันเริ่มดี”

ความสนใจของเสือยังครอบคลุมถึง “หมอลำ” ทำให้เขาสร้างวงหมอลำ เพื่อผลักดัน soft power ของสกลนคร แต่วงไปได้ไม่ไกลนักเพราะสถานการณ์โควิด-19 แต่เขายังหวังว่าจะทำค่ายเพลงหมอลำอย่างจริงจัง รวมถึงพัฒนาเป็น “หมอลำ festival” เป็นปรากฏการณ์ให้คนมาฟังเหมือนเวทีเพลงร่วมสมัยอย่าง “Big Mountain” 

“อยู่แกลอรี่ฟังแผ่นไวนิล อยู่บ้านฟังหมอลำ ท่วงทำนองเสียงพิณเสียงแคน มีอยู่ทุกที่ในบ้าน มันรู้สึกชอบพิณแคนจัง ฟังตลอด กลายเป็นฟังเพลงหมอลำ-ลูกทุ่ง เริ่มหลงรักบ้านตัวเอง…มันเป็นวัฒนธรรมที่ยิ่งกว่า soft power มันสร้างกระแสมหาศาล แต่คนไทยยังไม่ค่อยเปิดใจ แต่ฝรั่ง ญี่ปุ่นชอบมาก”

บ่มเหล้า สะท้อนวัฒนธรรม และสุราฟีเวอร์ 

เสือเล่าต่อว่า ประมาณปี 2564 พี่ที่รู้จักกำลังจะเลิกกิจการ “โรงเหล้า” และตนรู้สึกเสียดายถ้าต้องปิดหรือขายให้คนอื่น ประจวบกับที่เขามีร้านอาหาร แต่ยังขาดเครื่องดื่ม ทำให้ตัดสินใจซื้อกิจการโรงเหล้าแล้วมาพัฒนาต่อ 

ทว่า โรงเหล้าที่เขารับช่วงต่อคือ เหล้าขาว ทำให้โดนค่อนขอดว่า เสือกำลังผลิตเครื่องดื่มให้กรรมกร แต่สำหรับเขามองว่ามันเหมือนวอดก้า

“ตอนผมทำเหล้าขาวโดนแอนตี้มาก เขามองเหมือนเหล้ากรรมกรกิน แม้แต่เพื่อนๆด้วยกันเองยังแซวเลย”

“โจทย์ในการทำงานเริ่มจากเพนพอยต์ ทั้งที่เหล้ากูทำจากวัตถุดิบดีมาก โคตรอร่อย แต่พอนั่งคิดทำไมเหล้าขาวดูคลาสต่ำ อ๋อ มันมีกฎหมายให้เรียกเหล้าขาว เรียกอย่างอื่นไม่ได้ ส่วนกินแล้วตาบอด ไปเอาความเชื่อนี้จากไหน อ๋อ เคยได้ยินมา เหล้าต้มกินแล้วตาบอด”

“ปีที่แล้ว (2565) เริ่มมาเดินขายตามบาร์ในกรุงเทพฯ โดนปฏิเสธบ้าง เหล้าขาวเหรอไม่เอา ต้มจากสกลฯ ไม่เอา รู้จักแต่วอดก้า เหล้าแบรนด์ไทยไม่รู้จัก ช่วงนั้นกระแสสุราชุมชนไม่มีเลย”

“ที่บ้านทำเครื่องสังฆภัณฑ์ โห ไม่กล้าบอกที่บ้านเลย แล้วเจอสังคมในบ้านตัวเอง คนอาจถามว่า เฮีย-เจ๊ทำไมปล่อยให้ลูกทำเหล้า เจ๊กับเฮียไม่ใช่คนดื่มเที่ยว อยู่แต่กับวัด อาม่าผมยังไม่รู้ว่าตอนนี้ผมทำโรงเหล้า ผมเพิ่งบอกแกว่าวันเสาร์จะทำบุญโรงงาน เพราะเปิดมา 1 ปี แกก็งงโรงงานอะไร ผมก็ไม่บอก ถ้าบอกผมโดนด่าแน่ มันมีเพดานเรื่องสังคมทำเหล้าขาว เรื่องบ้าน เรื่องความเชื่อว่ากินแล้วตาบอด”

อย่างไรก็ตาม เสือบอกว่าเขาทำงานตามแพสชั่น ยิ่งสนใจเหล้า ยิ่งต้องพัฒนารสชาติอย่างจริงจัง โดยเขาใช้คำว่า R&D (Research &Development) เพื่อทำให้รสชาติถูกปาก ที่สำคัญคือต้องไม่ลืมรากเหง้า นั่นคือการใช้วัตถุดิบท้องถิ่น

เสือเล่าถึงแบรนด์เหล้าออนซอน (Onson) ว่า ออนซอนมีจุดประสงค์คือต้องการแปรรูปสินค้าการเกษตรให้มีมูลค่าสูงขึ้น ช่วยเหลือชุมชน เกษตรกร โดยตอนแรกใช้ “อ้อย” เป็นวัตถุดิบหลัก แต่นายทุนเข้ามาแย่งตลาดและให้ราคาสูงกว่าที่เขาเคยรับซื้อจากเกษตรกร จึงต้องหาวัตถุดิบอื่น จนไปเจอกับ “น้ำตาลมะพร้าว” โดยซื้อจากเกษตรกรที่จังหวัดสมุทรสงคราม

จุดพีกของแบรนด์คือ เพจประชาชนเบียร์ได้นำเหล้าออนซอนไปรีวิวในเฟสบุ๊ก ทำให้ยอดขายพุ่งกระฉูดจาก 20 ขวดต่อเดือน เป็น 500 ขวดต่อเดือน ทั้งที่ก่อนหน้านี้เสือคิดแล้วว่าอาจจะต้องปิดโรงงานในอีกไม่ช้า แต่พอมียอดขายทำให้มีเงินเดือนจ่ายลูกน้อง 6 ชีวิต

เสือบอกว่า ระหว่าง R&D ก็พัฒนาสูตรไปเรื่อยๆ จนได้รสชาติที่ลงตัว พร้อมกับทำแพกเกจให้สวยงาม แต่สำคัญที่สุดคือ philosophy ของแบรนด์ ต้องยึดมั่นว่าออนซอนไม่ได้ขายเหล้า แต่ขายไลฟ์สไตล์และวัฒนธรรม ส่วนหนึ่งที่คิดแบบนี้เพราะกฎหมายไม่ให้โฆษณาเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

“ผมไม่ได้ขายเหล้า ผมขายไลฟ์สไตล์ ขายวัฒนธรรม ขายอื่นๆ ผูกกับอาหาร แฟชั่น เสื้อ หมวก แก้ว เวิร์กชอปเรียนรู้การกลั่นเหล้า ทำบุญโรงงานก็มีนิทรรศการสุราชุมชนด้วย ตั้งแต่กระบวนการทำเหล้า ชนิดของพืชเกษตร แยกเป็นเหล้าประเภทไหนได้บ้าง ในประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์เกษตรกี่เปอร์เซ็นต์ที่ทำเป็นเหล้า แบบนี้ถึงจะอยู่ได้ ผมใช้วิธีการสอนแทรกไป ออนซอนใช้วิธีแบบนี้”

แต่จุดพีกกว่านั้นคือ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งพูดถึงสุราท้องถิ่นของไทย ทำให้ออนซอนยิ่งเป็นที่รู้จักมากขึ้น จากวันแรกที่เปิดเพจมีผู้ติดตาม 200-300 คน ต่อมาค่อยๆ ขยับเป็นคนเข้าถึงหลักหมื่นเพราะมีสื่อมาสัมภาษณ์ในช่วงที่ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ถูกเสนอในสภา (ไม่ผ่านวาระสอง) กระทั่งช่วงที่นายพิธาพูดถึง เลยมียอดการเข้าถึงเกือบล้านในเพจเฟสบุ๊ก

เมื่อถามถึงอนาคตธุรกิจสุรา เสือบอกว่า ปัจจุบันติดขัดเรื่องทุน เพราะไม่มีธนาคารไหนให้กู้ ทำให้ไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ ประกอบกับที่กฎหมายเกี่ยวกับสุรายังไม่เสรี จึงไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้มากกว่านี้อีกแล้ว 

เสือยังพูดอย่างติดตลกว่า “โดนด่าทุกวันว่าไม่มีของขาย ถ้าไม่ครบวันบ่ม ผมก็ไม่ขาย เพราะคุณภาพไม่ได้”

สุดท้าย เสือมองว่า ถ้าวันหนึ่งกฎหมายสุราของไทยเป็นแบบ “เสรี” จะช่วยแก้ปัญหาผลไม้ล้นตลาดได้ และจะเกิดการแข่งขันมากขึ้น การผูกขาดน้อยลง นับเป็นเรื่องดีที่ผู้ประกอบการจะเติบโต และช่วยต่อยอดวัตถุดิบการเกษตรของไทยอย่างยั่งยืน

ทำหลายอย่างด้วย passion

นอกจากร้านอาหาร ค่ายเพลง โรงเหล้า ร้านสังฆภัณฑ์ และให้เวลากับ YEC แล้ว กิจการยาธาตุกฤษณาน้ำแดง ตราดาวบิน ของร้านขายยาเทียนอันโอสถ ที่รับช่วงมาจากอากง เป็นอีกหนึ่งกิจการที่ครองเวลาการทำงานของเสือ ทำให้ในหนึ่งอาทิตย์หมดไปงาน

“เราทำงาน 7 วันตาม passion เหล้าก็ทำไป สนุกแล้ว เริ่มอยู่กับมันแล้ว แต่ยังเป็นคนกำหนดทิศทางอยู่ ตอนนี้อยากทำยากับเมืองให้เสร็จภารกิจ ร้านอาหารเดือนหน้าเปิด ผมก็ต้องแบ่งร่าง ยังไม่รวมเป็น speaker วิทยากร เรื่อยๆ

เสือเพิ่งจบการทำเวิร์กชอปทำสาโท ที่ใช้ข้าวสกลทั้งหมดเลย ซึ่งข้าวแต่ละสายพันธุ์ไม่เหมือนกัน ข้าวบางสายพันธ์ไม่เหมาะที่จะนำมากิน และมีแผนที่จะต่อยอดงาน หอมข้าวสกล Sakon Rice Cupping งานชิมข้าว ในปีที่แล้วด้วยการจะร่วมงาน Rice Fest เนื่องจากงาน Sakon Rice Cupping ทำให้คนรู้สึกว่ามีมูลค่า


ทีม House Number 1712 ของเสือ จัดกิจกรรมให้ผู้ร่วมงานได้ลงมือทำสาโทด้วยตนเองพร้อมชิมสาโทที่หมักจากข้าวเหนียว 3 สายพันธุ์ ในงาน Wonder of Isan Rice @ Wonderfruit Festival 2022 ที่มา:เพจ Thailand gastronomy tourism

“กาแฟแก้วละ 100 รับได้ แต่ข้าวจานละ 30 มองค้อนแล้ว รู้ไหมข้าวพื้นเมือง ปลูกได้แค่ปีละ 500-700 กิโล ข้าวบางพันธุ์หาได้เฉพาะบางที่เท่านั้น เราไม่เคยให้ค่าตรงนั้น”

เสือบอกว่า งานทุกอย่างวันนี้เริ่มเยอะขึ้น ทำให้เริ่มมองหาคนทีจะเข้ามาช่วยบริหาร

“ชีวิตกลับมาทำอะไรหลายอย่าง เป็นคนชอบทำงานตามแพสชั่น ปีนั้นสนใจอาหาร เลยมาทำร้านอาหาร ปีต่อมาสนใจหมอลำ ก็มาทำวงหมอลำ ถัดมาสนใจเหล้าก็ทำเหล้า ปีนี้ยังไม่ได้ทำอะไรเพิ่ม ก็มาผลักดันเรื่องเมือง ปีหน้ายังไม่รู้ ข้อเสียตัวเองคือ เป็นคนทำงานได้ทีละอย่าง ทำหลากหลายก็จริง แต่มีกราฟขึ้นกราฟลง แต่ผมก็เริ่มแยกตัวเองออก ก็ต้องดูแลตัวเองบ้าง แต่อยากให้งานมันเดิน และอยากสร้างเด็กที่บ้าน”