ThaiPublica > คอลัมน์ > ความเป็นปัญญาชนของคนชื่อนิธิ

ความเป็นปัญญาชนของคนชื่อนิธิ

8 สิงหาคม 2023


ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา

ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา(ซ้าย) นิธิ เอียวศรีวงศ์ (ขวา) ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/openbooks2

คนทั่วไปอาจรู้จักอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในฐานะอาจารย์ นักคิด นักเขียน บ้างก็กล่าวขานว่าอาจารย์นิธิเป็นปัญญาชนหมายเลขหนึ่งของไทยในช่วงเวลาหนึ่ง ปัญญาชนนั้นเป็นอาชีพที่แปลกคล้ายกับกวี ดังที่อังคาร กัลยาณพงศ์ ได้เคยกล่าวไว้ว่า เงินเดือนก็ไม่มีให้ ลาออกก็ไม่ได้ กระนั้น ก็ยังคงมีคนไม่อยากให้ใครได้เป็น

และถึงอยากให้เป็น ก็ใช่ว่าจะเป็นกันได้โดยง่าย

แต่ผมเชื่อว่า ทั้งลูกศิษย์และมิตรรักที่มีโอกาสได้คบหาสมาคมกับอาจารย์นิธิ ยากที่จะปฏิเสธความเป็นปัญญาชนของอาจารย์

นอกจาก ‘ปัญญา’ แล้ว ผมคิดว่ามีคุณสมบัติสำคัญหลายประการที่ทำให้คนคนหนึ่งกลายเป็นปัญญาชน และอาจารย์นิธิที่ผมรู้จัก มีคุณสมบัติเหล่านั้นอย่างครบถ้วน

คุณสมบัติข้อแรกคือ ‘ความกล้าหาญทางจริยธรรม’

คำนี้เป็นคำที่จำกัดความได้ยาก หากเพราะมันคือการยืนหยัดในหลักการอันถูกต้องที่ตนเองเชื่อมั่นอย่างไม่หวั่นไหว ไม่ว่าสถานการณ์และกระแสภายนอกจะเป็นอย่างไร

คนผู้มีความกล้าหาญทางจริยธรรมจะยังคงยืนยันในหลักการของตนเองอยู่เสมอ แม้ในบางครั้งอาจจะต้องแลกด้วยความนิยม ตำแหน่งหน้าที่ หรือแม้แต่อนาคตของตนเอง

เมื่อครั้งที่ผมทำรายการ ‘ตอบโจทย์’ ตอน ‘สถาบันพระมหากษัตริย์’ และถูกกระแสต่อต้านอย่างรุนแรง ผู้คนจำนวนหนึ่งซึ่งออกมาสนับสนุนประเด็นนั้นในเวลานี้ ต่างพากันหลบลี้หนีหน้า จำนวนหนึ่งถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ทอดกฐินใหญ่

อาจารย์นิธิเป็นหนึ่งในน้อยคนที่คอยให้กำลังใจในวิถีของอาจารย์ ซึ่งคนทั่วไปอาจสัมผัสไม่ได้ แต่ผมรับสิ่งเหล่านั้นไว้ได้อย่างเต็มหัวใจ และทำให้มิตรภาพระหว่างอาจารย์กับผมงอกงามเสมอมา ในตลอดทศวรรษที่ผ่านมาของชีวิต โดยไม่จำเป็นต้องมีวิธีคิดทางการเมืองที่ตรงกัน

ฉะนั้น การจะดูว่าใครมีความกล้าหาญทางจริยธรรมหรือไม่ จึงไม่ใช่การอ่านในสิ่งที่เขาเขียน การเรียนในสิ่งที่เขาสอน แต่ต้องดูตอนที่เขาตัดสินใจ ว่าจะกระทำหรือไม่กระทำสิ่งใด เมื่อภัยมาเยือนในเบื้องหน้า

หลายเหตุการณ์บ้านเมืองในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวาน ผมเห็นอาจารย์นิธิยืนหยัดอย่างมั่นคง ไม่สั่นไหวไปตามแรงลม ไม่ว่าลมจะแรงเท่าใดก็ตาม

และนี่คือคุณสมบัติอันเป็นหนึ่งในร้อย ที่น้อยคนนักจะดำรงตนอยู่ได้ แต่อาจารย์นิธิก็หยัดตรงได้อย่างสง่างาม ผู้ที่ติดตามข้อเขียนและคำพูดของอาจารย์ย่อมประจักษ์ในความกล้าหาญทางจริยธรรมนี้ โดยที่ผมไม่จำเป็นต้องขยายความ แม้จะไม่เห็นด้วยกับอาจารย์ก็ตามที

คุณสมบัติสำคัญข้อต่อไปคือ ‘การให้เกียรติผู้อื่น’

ผมเข้าใจว่ามิตรสหายหรือคนที่มีโอกาสได้รู้จักกับอาจารย์คงไม่มีใครปฏิเสธความจริงข้อนี้ เมื่อพบปะกันซึ่งหน้าและในทางสาธารณะ อาจารย์นิธิจะเป็นคนที่ให้เกียรติผู้อื่นเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่ด้อยกว่าทางโอกาส ทั้งทางสังคมและสถานะ

อาจารย์นิธิจะอ่อนโยนต่อคนกลุ่มนี้มากกว่าผู้มีอำนาจ และเมื่อมีโอกาสจะช่วยเหลือเกื้อกูลได้ อาจารย์นิธิจะไม่ลังเลใจ ที่จะใช้ความเป็นนักคิด นักเขียน และปัญญาชน ลงไปโอบอุ้มและโอบกอดคนเหล่านี้

ผมคิดว่าธรรมเนียมปฏิบัตินี้น่าจะมาจากฐานความคิดในการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคน ซึ่งบางคนเรียกร้องต่อผู้อื่น แต่ไม่เคยกระทำ ในขณะที่คนอย่างอาจารย์นิธินั้น กระทำโดยไม่เคยเรียกร้อง

การที่อาจารย์นิธิยืนหยัดทะนง ขณะเดียวกันก็เคารพผู้อื่นได้นั้น ล้วนมาจากความเต็มจากข้างใน

คนเราเมื่อเต็มข้างในแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องหาสิ่งภายนอกมาเติม เพราะยิ่งเติม ก็ยิ่งไม่เต็ม

นี่คือคุณสมบัติสำคัญอีกข้อในความเป็นปัญญาชนของอาจารย์นิธิ นั่นคือ ‘ความสันโดษ’

ในสถานภาพอย่างอาจารย์นิธินั้น เป็นการง่ายเหลือเกินที่จะเลือกรับผลประโยชน์ทั้งทางตรงทางอ้อม ทั้งจากวงการเมือง วงการธุรกิจ กระทั่งวงวิชาการ แต่ความเคารพในตนเองอย่างสูง ความพึงพอใจในสิ่งที่ตนเองเป็น ในสิ่งที่ตนเองมี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีชีวิตที่เรียบง่ายสมถะนั้น

ทำให้อาจารย์นิธิไม่จำเป็นต้องประนีประนอมกับ ‘ศีล’ ของการเป็นปัญญาชน ที่ผู้คนร่วมสมัยพากันละเมิดอย่างถ้วนหน้า

ในวัยชรา อาจารย์นิธิดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย งามสง่า ด้วยรายได้จากการเขียนหนังสือ ทุกครั้งที่อาจารย์เลี้ยงข้าวผมและครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นที่ใด เราจึงเข้าใจว่า ไม่ใช่แค่อาหาร หากแต่เป็นน้ำใจและปัญญา ที่เราร่วมกินดื่มสนทนาอยู่บนโต๊ะอาหารนั้น

หลายปีที่ผ่านมา ผมและอาจารย์จึงมีข้อตกลงกันว่า เพื่อจะได้ไม่ต้องเกรงใจกันทั้งสองฝ่าย เราจะสลับกันเป็นเจ้าภาพคนละครั้ง เพราะสิ่งที่ให้ความสำราญ แท้จริงแล้วหาใช่อาหาร

หากแต่คือ บทสนทนาบนโต๊ะอาหาร ซึ่งยากมากที่จะหาสิ่งใดมาทดแทนได้

และนี่คือ คุณสมบัติสำคัญอีกข้อหนึ่งในความเป็นปัญญาชนของอาจาย์นิธิ

นั่นคือเป็นคู่สนทนาที่หาตัวจับได้ยากมากในประเทศไทย

การเป็นคู่สนทนาที่ดี เป็นคนละเรื่องกับการเป็นคนพูดมาก

อาจารย์นิธิไม่ใช่คนพูดมาก ออกจะเป็นคนพูดน้อยด้วยซ้ำไป แต่อาจารย์จะเป็นคนตั้งใจฟังมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเป็นเรื่องที่อาจารย์อยากรู้ แต่ยังไม่รู้ หรือเป็นเรื่องใหม่ๆ ที่อาจารย์อยากจะทำความเข้าใจ แต่ยังไม่เข้าใจ

อาจารย์จะใช้การฟังเป็นเครื่องมือในการเรียน และใช้การตั้งคำถามเป็นประเด็นในการสอน

คำถามของอาจารย์มักจะหย่อนมาถูกเวลา แม้จะมีเพียงไม่กี่ข้อกี่คำ

แต่บางครั้ง เราต้องครุ่นคิดอย่างต่อเนื่อง แม้จะจบสิ้นมื้ออาหารนั้นไปแล้ว

คนทั่วไปอาจไม่ทราบว่าอาจารย์เป็นนักกิน นักกินในที่นี้มิใช่กินของแพง ร้านดัง หรือของแปลก แต่ความที่โตมาในวัฒนธรรมจีน อาจารย์จะมีความรู้และความชอบอาหารจีนเป็นพิเศษ และมักจะพยายามสรรหาร้านจีนใหม่ๆ เพื่อใช้เป็นสถานที่สนทนาเสมอๆ

คุยเรื่องบ้านเมืองบ้าง วิจารณ์อาหารบ้าง จิบเบียร์เย็นๆ สลับกันไป ง่ายๆ แค่นี้ก็สร้างความรื่นรมย์ให้อาจารย์ได้ โดยไม่ต้องใช้ความบันเทิงราคาแพงอื่นใด

นี่คืออีกสิ่งหนึ่งซึ่งอาจารย์มีให้ คือ ‘ไมตรีจิตและมิตรภาพ’

คำนี้เขียนแล้วก็ดูไพเราะ แต่หากว่าเราไม่เคยนำมันออกมาใช้ มันก็เหมือนคำใหญ่ๆ ทั่วไป ที่คนพากันเรียกขานให้ยิ่งใหญ่ แต่ไม่เคยได้สัมผัสมัน

คุณสมบัติสำคัญที่ปัญญาชนพึงมอบให้ผู้คนได้ คือ ‘ไมตรีจิตและมิตรภาพ’ ซึ่งอาจารย์นิธิและครอบครัวมีให้กับผมและครอบครัวเสมอมา

ผมเดินทางมาเชียงใหม่อย่างสม่ำเสมอในช่วงทศวรรษหลัง เพราะกำลังวางแผนสร้างบ้านที่เชียงดาว อาจารย์นิธิก็กรุณาแวะมาเยี่ยมบ้านตั้งแต่เมื่อครั้งที่ดินยังเป็นป่า จนกระทั่งบ้านเสร็จในเบื้องต้น ช่วงก่อนปีใหม่ 2565 อาจารย์นิธิและพี่สุชาดาก็ได้ให้เกียรติมาเป็นแขกคู่แรกของบ้าน

อาจารย์ในวัย 80 ขับรถมาเองจากเชียงใหม่ พร้อมข้าวผัดร้อนๆ ในหม้อและของขวัญขึ้นบ้านใหม่ เราสนทนากันอย่างออกรส ก่อนอาจารย์จะขอตัวกลับไปก่อนพระอาทิตย์ตก เพราะทางไกล

หลังจากปีนั้น โควิดทำให้เราต้องห่างกันไป แต่ไมตรีจิตไม่เคยจางหาย เมื่อส่งส้มมงคลตรุษจีนไปให้ตอนต้นปีนี้ อาจารย์โทรกลับมาหาด้วยตนเอง และนัดหมายกันว่า อาจารย์จะมาเยี่ยมเชียงดาวอีกครั้ง เมื่ออาจารย์ฟื้นจากอาการป่วยไข้

อาจารย์นิธิมักจะบอกว่า “ผมเป็นคนมีเพื่อนไม่มาก” และอาจารย์อนุมานว่า ผมเป็นคนมีเพื่อนมาก ซึ่งผมก็มักจะบอกกับอาจารย์ว่า ผมเองอาจจะรู้จักคนมาก แต่น่าจะมีเพื่อนน้อยพอๆ กับอาจารย์

แม้ว่าผมจะไม่เคยเขียนถึงมิตรภาพที่อาจารย์มอบให้ แต่ผมก็เข้าใจว่าอาจารย์ได้มอบมิตรภาพ คือความเป็นเพื่อน ให้ผมและครอบครัวเสมอมาโดยไม่จำเป็นต้องเขียนไว้ และนี่มิใช่เพียงสิ่งที่ผู้คนโหยหา แต่เป็นสิ่งที่สังคมทั้งสังคมขาดไร้

ในชีวิตที่แสนสั้นและเปลี่ยวเหงาทางปัญญา การได้รับเกียรติมีอาจารย์นิธิเป็นเพื่อนสนทนานั้น นับเป็นวาสนาอย่างแท้จริง

และนี่คือสิ่งที่อาจารย์นิธิ ในฐานะปัญญาชน ได้มอบไว้ให้ ไม่ว่ากับลูกศิษย์ลูกหา นักอ่าน หรือเพื่อนต่างวัย ซึ่งอาจารย์นิธิมีอยู่มากมายทั่วประเทศ ไม่ได้ขาดไร้อย่างที่อาจารย์กล่าวไว้อย่างถ่อมตน

อาจารย์นิธิน่าจะเป็นเพื่อนสนทนาผ่านตัวอักษรที่ฉกาจฉกรรจ์ที่สุดคนหนึ่งเท่าที่สยามร่วมสมัยเคยมีมา ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับอาจารย์หรือไม่

เมื่อผมได้รับทราบข่าวสารของอาจารย์ในวันนี้ ผมน้ำตาร่วง เศร้า ใจหายอย่างบอกไม่ถูก ได้แต่ไปค้นรูปเก่าๆ และเขียนเล่าเรื่องราวบางส่วนของอาจารย์ให้คนรู้ ถ้าอาจารย์ยังอยู่ อาจารย์คงไม่อยากให้คนเขียนถึงตนเองมากนัก เพราะอาจารย์ตระหนักว่า ตนเองไม่ได้มีความสำคัญมากมาย ถึงขนาดที่จำเป็นต้องมีใครมาจัดงานวันเกิดให้ กระทั่งให้ใครมาเขียนถึงแม้ในวันตาย

นี่คือวิถีอันเรียบง่าย งามสง่า ของปัญญาชนผู้ยิ่งใหญ่ที่ชื่อ ‘นิธิ เอียวศรีวงศ์’

ผู้ที่ดำรงตนเป็นเพื่อนมิตรต่อผู้ใกล้ชิดและสังคมอย่างจริงใจเสมอมา

ผู้ที่เดินทางมาและจากลาอย่างแผ่วเบา

ทิ้งไว้แต่ปัญญาและมิตรภาพที่ยิ่งใหญ่ดั่งขุนเขา

ให้เราทุกคนได้แลเห็น

ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา
7 สิงหาคม 2566

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกในเฟซบุ๊ก openbooks