ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เลือกตั้งอย่างรับผิดชอบ 2566 > เครือข่าย Respect My Vote ชวนส่งเสียงถึง ส.ว. เคารพผลเลือกตั้ง ฟังเสียงประชาชน

เครือข่าย Respect My Vote ชวนส่งเสียงถึง ส.ว. เคารพผลเลือกตั้ง ฟังเสียงประชาชน

7 กรกฎาคม 2023


เครือข่าย Respect My Vote เชิญชวนประชาชนส่งเสียงถึง ส.ว. ให้เคารพเสียงประชาชน ขณะที่ วงเสวนา “เคารพผลเลือกตั้ง ฟังเสียงประชาชน” โดย ปริญญา เทวานฤมิตรกุล -อลงกรณ์ พลบุตร พรรคประชาธิปัตย์  -มณเฑียร บุญตัน สมาชิกวุฒิสภา ออกมาเรียกร้องให้ ส.ส. และ ส.ว. เป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทยยึดหลักการประชาธิปไตยโหวตให้พรรคที่ได้เสียงข้างมาก พร้อมเรียกร้องให้พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ์ ทำจดหมายถึง ส.ว. เปิด ฟรีโหวต เคารพหลักการประชาธิปไตย

ตัวแทนเครือข่าย Respect My Vote โดยกลุ่มเครือข่ายได้ออกแถลงการณ์ เปิดแคมเปญ Respect My Vote เชิญชวนประชนร่วมติดตามและส่งเสียงไปถึง ส.ว.ให้เคารพเสียงของประชาชน ในรูปแบบที่ตัวเองถนัด

แถลงการณ์ระบุว่าการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 มีผู้ออกมาใช้สิทธิมากกว่า 40 ล้านคน หรือคิดเป็นถึงร้อยละ 75.22 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด และยังเป็นสถิติผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ส่งผลให้มีพรรคการเมืองจำนวน 8 พรรค แสดงความประสงค์ในการจัดตั้งรัฐบาล โดยคิดเป็นจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสิ้น 312 เสียง จากจำนวนทั้งหมด 500 เสียง ซึ่งถือว่าเป็นเสียงส่วนใหญ่ที่ควรจะได้เป็นรัฐบาลตามระบอบประชาธิปไตย

ทว่า ส.ว. ที่มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. ตามมรดกของคณะรัฐประหารอย่างบทเฉพาะกาล มาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ 2560 กลับแสดงท่าทีที่จะไม่ลงคะแนนเสียงให้แก่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคที่รวบรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ ขณะที่ ส.ว. บางส่วนระบุว่าจะงดออกเสียง ซึ่งจะยิ่งทำให้การเลือกนายกรัฐมนตรียืดเยื้อและสุ่มเสี่ยงต่อการทำลายหลักการประชาธิปไตยเสียงข้างมาก

ส่งเสียงถึง ส.ว.เคารพผลการเลือกตั้ง

ภาคประชาชนในนามเครือข่ายฯ จึงจัดแคมเปญ “Respect My Vote เคารพผลเลือกตั้ง ฟังเสียงประชาชน” เพื่อส่งเสียงถึง ส.ว. ว่า ในการเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น ส.ว. จะต้องลงคะแนนเสียงให้กับแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่มาจากเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อรักษาหลักการเสียงข้างมากตามระบอบประชาธิปไตย และการเคารพอำนาจอธิปไตยที่เป็นของประชาชน หาก ส.ว. กระทำการใดที่นอกเหนือไปจากนี้จะถือว่าเป็นการสร้างเงื่อนไขให้เกิดวิกฤติทางการเมืองต่อไป

แคมเปญนี้ยืนอยู่บนหลักการว่า ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารไม่มีความยึดโยงกับประชาชน จึงไม่ควรมีสิทธิในการเลือกหัวหน้าฝ่ายบริหารร่วมกับ ส.ส. ซึ่งถือว่าเป็นผู้แทนเสียงของปวงชนชาวไทยทั้งหมด ส.ว. จึงไม่ควรฝืนเจตจำนงของประชาชนและควรลงคะแนนเสียงให้แก่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ตามที่เคยกล่าวอ้างไว้ในการเลือกตั้ง 2562

ขณะเดียวกัน ส.ส. จากพรรคที่ไม่ได้รับเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรก็ควรที่จะยืนยันตามหลักประชาธิปไตยเสียงข้างมากด้วยการลงคะแนนเสียงให้แก่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเสียงข้างมาก โดยการลงคะแนนเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าเป็นการสนับสนุนนโยบายหรือร่างกฎหมายของพรรคเสียงข้างมาก แต่เป็นเพียงการรักษาหลักการและนำประเทศไทยกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น

หลังจากจัดเสวนา “เคารพผลเลือกตั้ง ฟังเสียงประชาชน” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมเสวนาโดย ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายอลงกรณ์ พลบุตร พรรคประชาธิปัตย์ และนายมณเฑียร บุญตัน สมาชิกวุฒิสภา ดำเนินรายการโดยนายณัชปกร นามเมือง

นายมณเฑียร บุญตัน สมาชิกวุฒิสภา

ส.ว. เลือกนายกฯ ตามเสียงข้างมากในสภา

นายมณเฑียร บุญตัน สมาชิกวุฒิสภา ได้กล่าวถึงความเห็นของตนเองก่อนการเลือกตั้งในการเข้าร่วมเสวนากับกลุ่มภาคีเครือข่ายแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าครั้งนั้นได้แสดงจุดยืนในการปิดสวิตซ์เวอร์ชั่น 1.0  คือการงดออกเสียจงเลือกนายกรัฐมนตรีเพราะไม่ต้องการใช้อำนาจ ส.ว.

นอกจากนี้อยากให้เห็นว่ามีการแก้ไขกฎหมายในทุกประเด็น โดยเฉพาะการแก้ไขมาตรา 272 ซึ่งเห็นด้วยกับการตัดอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งการงดออกเสียง ก็คงเส้นคงวากับหลักการที่ให้ไว้ การไม่ใช้อำนาจในการเลือกนายกฯซึ่งครั้งนั้นในปี 2562 ก็ได้แสดงจุดยืนดังกล่าวไปคือการงดออกเสียงเพราะต้องการปิดสวิตซ์อำนาจ ส.ว.

แต่ครั้งนี้หลังการเลือกตั้งไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้โดยเฉพาะมาตรา 272  และองค์ประชุมก็มี 750 คน ซึ่งถือว่าสมการเปลี่ยนแปลงไป การปิดสวิตซ ส.ว.ครั้งนี้จึงเป็นเวอร์ชั่น 2.0  ซึ่งไม่สามารถงดออกเสียงได้

“หากเป็นสถานการณ์ปกติที่สมการในการเลือกนายกรัฐมนตรีต้องใช้เสียงแค่ 500 เสียงจากจำนวนส.ส. เท่านั้น การงดออกเสียงอาจจะเป็นวิธีที่ถูกต้อง แต่ในรัฐธรรมนูญ 2560 บทเฉพาะกาล มาตรา 272 กำหนดให้ การเลือกนายกรัฐมนตรีถูกระบุให้ใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของทั้งรัฐสภา คือ ต้องใช้เสียงถึง 376 เสียง จากทั้งหมด 750 เสียง ซึ่งเป็นจำนวนเสียงทั้งหมดของ ส.ส. และ ส.ว. รวมกัน การโหวตงดออกเสียง ก็เปรียบเสมือนการไม่เห็นด้วย จึงเห็นว่าการปิดสวิชต์ ส.ว. ที่แท้จริงคือ การลงคะแนนเสียงตามพรรคการเมืองที่รวมคะแนนได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่นำดุลยพินิจส่วนตัวของ ส.ว. เข้ามาเกี่ยวข้อง”

นายมณเฑียร กล่าวว่า ไม่สามารถใช้เหตุผลในการปิดสวิตซ์ตัวเองแบบดียวกับในปี 2562  เมื่อสมการเปลี่ยนไปจึงใช้การปิดสวิตซ์ตัวเองอีกขั้น นั่นคือการโหวตตามเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฏร ไม่ต้องเอาเรื่องนโยบาย ความชอบหรือไม่ชอบ แต่เสียงข้างมากในสภาฯ เห็นอย่างไรก็เห็นไปตามนั้น ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับที่ใช้เมื่อปี 2562 ซึ่งครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่าแคนดิเดตจะเป็นใคร ก็จะใช้หลักการเดิม และไม่รู้ว่าส.ว.คนอื่นจะคิดเห็นอย่างไร

ส่วนประเด็นเรื่อง มาตรา 112 เป็นเงื่อนไขให้ ส.ว. จะไม่โหวตให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หรือไม่นั้น นายมณเฑียร เรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็มีความเห็นของ ส.ว.ที่แตกต่างกันไป ไม่มีข้อผูกมัดในเรื่องอุดมการณ์ถาวรแบบนั้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องปัจเจกของแต่ละ ส.ว.ในการตัดสินใจ

“ผมคิดว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจากประชาธิปไตยชุดหนึ่ง ไปอีกชุดหนึ่ง และคิดว่า ส.ว.มีความเป็นปัจเจก ที่ใครบอกว่ามาจากการแต่งตั้งของ คสช. หรือมีมาตรา 44 ตอนนี้ก็ไม่มีแล้วและได้เปลี่ยนผ่านการเลือกตั้งมาตั้งแต่ปี 2562 จึงไม่สามารถตอบแทนความเห็นของ ส.ว. คนอื่นได้ และไม่สามารถบอกว่าเป็นจุดมุ่งหมายร่วมได้ ส่วนเรื่องการให้สัมภาษณ์ของ ส.ว. ว่ามีไม่ถึง 5 คนที่จะโหวตให้นายพิธานั้น ผมไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย และไม่รู้ว่ามีใครบ้าง และคิดว่าคงเป็นการหารือเฉพาะกลุ่มผมเองไม่เคยได้ร่วมประชุมในลักษณะดังกล่าวเลย” นายมณเฑียรกล่าว

ส่วนการที่ ส.ว. ไม่โหวตให้ในสภาฯ นั้น อาจจะไม่มีใครมาสั่ง แต่เกิดขึ้นจากความกลัวโดยสุจริต ที่เกิดขึ้นกับกลุ่มอนุรักษ์นิยม โดยไม่จำเป็นต้องมีใครสั่ง แต่ก็มีความกลัวในเหตุการณ์อื่น ๆ จากในอดีตที่ผ่านการชี้นำ ครอบงำจากมหาอำนาจตะวันตกและห้ามกันยาก

นายอลงกรณ์ พลบุตร พรรคประชาธิปัตย์

 ส.ส.-ส.ว.ต้องเคารพเสียงที่ประชาชนเลือก

ขณะที่นายอลงกรณ์ พลบุตร พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่าหลังจากผลการเลือกตั้งออกมาได้ออกมาแสดงจุดยืนในวันที่ 15 พ.ค.2566  จากประสบการร์ทำงานการเมืองมา 30 ปี ได้เรียกร้องให้ ส.ส. และ ส.ว. เคารพเสียงของประชาชน ที่เป็นหลักการระบบเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร และสนับสนุนให้นายพิธา ลิ่มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี

นอกจากนี้ยังได้เรียกร้องไปยัง ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ที่มี 25 เสียงให้เคารพหลักการดังกล่าว เนื่องจากในรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าต้องมีเสียงให้ได้มากกว่า 376 เสียง  จึงอยากให้ทั้ง ส.ส. และ ส.ว.เคารพหลักการที่ประชาชนได้เลือกมาแล้ว และไม่ควรนำประเทศไปสู่จุดเสี่ยงอีกต่อไป หรือความไม่ราบรื่นในการจัดตั้งรัฐบาล หรือเลวร้ายที่สุดคือการทำรัฐประหาร สิ่งที่ชัดเจนคือประชาชนต้องการเปลี่ยนรัฐบาลที่มาจากอีกข้างหนึ่ง

“ผลการเลือกตั้งครั้งนี้เราต้องยอมรับว่าประชาชนเขาได้แสดงเจตจำนงที่ต้องการให้เปลี่ยนขั้วรัฐบาล โดยเขาได้เลือกพรรคอันดับ 1 และพรรคอันดับ 2 ด้วยเสียง 25 ล้านเสียงจาก ผู้มาใช้สิทธิ 39 ล้านเสียงนั่นถือว่าเป็นการแสดงเจตจำนงที่เด็ดขาดของประชาชน”

นายอลงกรณ์กล่าวอีกว่า ตามรัฐธรรมนูญระบุว่า ส.ส. และ ส.ว. คือผู้แทนปวงชนชาวไทย แต่ที่ไม่มีใครเคยพูดเลย ว่า ส.ว. มีสิทธิอำนาจหน้าที่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย เมื่อประชาชนออกเสียงมาแล้วว่าต้องการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล เราไม่มีสิทธิ์ไปขัดแย้ง ขัดขวาง เสียงของประชาชนเลย การเลือกตั้งจึงเป็นสายตรงที่เปลี่ยนได้ใน 4 ปี นั่นคือประชาชนเจ้าของอำนาจที่แท้จจริงเขาได้แสดงเจตจำนงค์แล้ว ส.ส. และ ส.ว.คือผู้แทนปวงชนจะต้องเคารพ โดยไม่ต้องมาดูเรื่องนโยบายหรืออะไร ไม่มีสิทธิไม่เห็นด้วยกับนโยบายอะไร และนำมาเป็นข้ออ้างในการเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะเรื่องของนโยบายอย่างไรมันจบไปแล้วตั้งแต่ผลการเลือกตั้งออกมา

“ระบบรัฐสภา อยู่กับเสียงข้างมาก เสียงข้างน้อย ภายหลังการเลือกตั้ง ต้องให้สิทธิอันชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาล ไม่ใช่แค่แคนดิเดตของนายกรัฐมนตรี แต่คือแคนดิเดตของประชาชน ไม่มีใครควรออกมาคัดค้านเสียงสายตรงของประชาชน หลักที่ควรคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติ การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลต้องเป็นไปอย่างเรียบร้อยและรวดเร็ว พรรคการเมืองต้องพร้อมเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล ไม่ใช่จะเป็นแต่รัฐบาลอย่างเดียว”

นายอลงกรณ์กล่าวอีกว่าการยอมรับความพ่ายแพ้ คือโอกาสการเริ่มต้นแข่งขันใหม่ในอีก 4 ปีข้างหน้า และหากโหวตนายกฯ ครั้งแรกไม่ผ่าน ก็โหวตครั้งสอง ถ้าไม่ผ่าน ก็เป็นสิทธิของพรรคอันดับสองอย่างพรรคเพื่อไทย ในการเลือกแคนดิเดตมาโหวตนายกฯ ต่อไป

อย่าวไรก็ตาม พรรคประชาธิปัตย์จะเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ในวันที่ 9 ก.ค. นี้ หลังจากนั้นจะได้มติเรื่องแนวทางการโหวตนายกฯ ซึ่งจะทราบได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะโหวตอย่างไร ไปในทิศทางไหน แต่ส่วนตัวหากเป็นผู้แทนหรือกรรมการบริหารพรรคจะโหวตให้นายพิธาแน่นอน

  • บทเรียน “พรรคประชาธิปัตย์” ผ่านเลือกตั้ง 2566 กับปรากฏการณ์ wave of change การเมืองไทย
  • ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    หลักการประชาธิปไตยเสียงข้างมากต้องได้เป็นนายกรัฐมนตรี

    ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าในระบบการเมืองปกติพรรคที่รวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ถึง 312 เสียงเช่นนี้คงไม่มีปัญหาในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งจริง ๆ แล้วอาจจะดูเข้มแข็งเกินไปจนฝ่ายค้านดูอ่อนแอเสียด้วยซ้ำ แต่สถานการณ์ปัจจุบันกลับไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้เพราะมรดกจากคณะรัฐประหาร อย่าง ส.ว. ยังมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีอยู่ ซึ่ง ส.ว. มักอ้างว่าพวกเขาก็มาจากประชาชนเช่นเดียวกับ ส.ส. ผ่านการลงประชามติคำถามพ่วงในปี 2559

    แต่อย่างไรก็ตามการทำประชามติที่มีคำถามพ่วงที่ถูกถามว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ไม่มีความตรงไปตรงมา เนื่องจากจงใจออกแบบคำถามให้ประชาชนสับสน ขณะเดียวกัน หากประชามติครั้งนั้นไม่ผ่านก็ไม่มีทางให้ถอยกลับไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับเดิม เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกคณะรัฐประหารฉีกทิ้งไปเรียบร้อยแล้ว”

    อย่างไรก็ตามแม้ว่า ส.ว. ถูกรัฐธรรมนูญ มาตรา 114 กำหนดให้ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. เป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย ซึ่งแม้ว่า ส.ว. จะไม่ใช่ผู้แทนของปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริงเพราะไม่ได้มาจากประชาชน แต่ยังสามารถฟังเสียงของประชาชนได้เช่นเดียวกัน หากยึดมติผลการเลือกตั้ง ด้วยการลงคะแนนเสียงให้แก่พรรคการเมืองที่รวบรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรจัดตั้งรัฐบาล

    ผศ.ดร. ปริญญาวิเคราะห์ต่อว่า  ส.ว. จะต้องอ้างการขาดคุณสมบัติของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เข้ามาเกี่ยวข้องแน่นอน  ซึ่งเรื่องดังกล่าวต้องพูดคุยกันอยู่บนข้อเท็จจริง เนื่องจากคดียังไม่เป็นที่สิ้นสุด และการแถลงข่าวของ กกต. ว่า นายพิธาอาจมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 (กฎหมายเลือกตั้ง) มาตรา 151 นั้น ก็ไม่ได้เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้เข้ามาชี้แจงข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560  (พ.ร.ป.กกต.) มาตรา 43 ซึ่งระบุให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องได้รับทราบข้อกล่าวหา ข้อเท็จจริง และสามารถเข้ามาแสดงพยานหลักฐานภายในระยะเวลาที่กำหนดตามที่ควรจะเป็น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ควรทำให้เสร็จสิ้นก่อนวันเลือกนายกรัฐมนตรี

    ทั้งนี้การที่ กกต. ไม่ดำเนินการเรื่องนี้ให้ถูกต้อง ทำให้ นายพิธามีมลทินโดยที่ไม่ได้มีโอกาสได้ชี้แจงข้อเท็จจริงให้เสร็จสิ้นตามกฎหมาย เสมือนเป็นการเปิดเป็นโอกาสให้ ส.ว. สามารถนำมาใช้กล่าวอ้างในการไม่ลงคะแนนเสียงให้ในวันเลือกนายกรัฐมนตรี

    เรียกร้อง “พลเอกประวิตร” เขียนจดหมายถึง ส.ว.ให้ ฟรีโหวต

    ขณะเดียวกันการได้มาซึ่งคะแนนเสียง 65 เสียงจาก ส.ว. เพื่อเลือกแคนดิเดตจากพรรคเสียงข้างมากเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นไม่ใช่เรื่องยาก หากไม่สามารถทำได้จะทำให้เกิดข้อครหาเรื่อง ‘ใบสั่ง ส.ว.’ ที่จะไม่เป็นผลดี ดังนั้นพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งมีฐานะเป็นประธานกรรมการสรรหา ส.ว. จึงควรออกมาเขียนจดหมายเปิดผนึกถึง ส.ว. ให้ ‘ฟรีโหวต’ นายกรัฐมนตรี สร้างความชอบธรรมและลบล้างข้อครหาต่อตัวเองเสีย วิธีนี้จะเป็นวิธีที่ดีกับทุกฝ่ายที่สุด

    “หลักการเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากการเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องของการเลือกแคนดิเดตจากพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรี แต่เป็นเรื่องการรักษาหลักการเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร หากการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีรอบแรกไม่ผ่านจนนำไปสู่รอบที่สอง แล้วพรรคอื่นๆ เช่น ประชาธิปัตย์หรือพรรคภูมิใจไทย ลงคะแนนเสียงให้แก่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเพื่อต่อรองตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีใหม่ ก็จะทำให้หลักการเสียหายไปด้วยไม่ต่างกัน”

    ดังนั้น หาก ส.ว. ไม่ยินยอมที่จะทำตามหลักการประชาธิปไตยเสียงข้างมากในวันเลือกนายกรัฐมนตรี ก็เหลือเพียง ส.ส. เท่านั้นที่จะต้องปกป้องกันและกัน รวมไปถึงปกป้องหลักการสำคัญที่จะดึงประเทศไทยให้กลับสู่ระบอบประชาธิปไตยด้วย หน้าที่ของพรรคก้าวไกลตอนนี้จึงควรจะสื่อสารไปให้ถึง ส.ส. พรรคอื่นๆ และ ส.ว.  โดยอาจจะทำเป็นจดหมายเปิดผนึกว่า นี่ไม่ใช่แค่การลงคะแนนเสียงให้แก่นายพิธาหรือพรรคก้าวไกล แต่คือการลงคะแนนเสียงให้แก่หลักการประชาธิปไตยและเสียงของประชาชน

    ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า ส่วนการงดออกเสียงของ ส.ว. นั้น ไม่เท่ากับปิดสวิตซ์ แต่คือการไม่เอา หาก ส.ว. ที่เป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย แต่ไม่เคารพเสียงของปวงชนชาวไทย แล้วจะเรียกว่าเป็นผู้แทนได้อย่างไร การไม่ตกอยู่อาณัติของใคร ก็คือการทำตามเสียงข้างมากของประชาชน