ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เลือกตั้งอย่างรับผิดชอบ 2566 > นักวิชาการชี้เลือกตั้ง2566 จุดเปลี่ยนดุยภาพอำนาจของประชาชน ต้องไม่หยวน ไม่ทนกับความไม่ถูกต้อง

นักวิชาการชี้เลือกตั้ง2566 จุดเปลี่ยนดุยภาพอำนาจของประชาชน ต้องไม่หยวน ไม่ทนกับความไม่ถูกต้อง

13 พฤษภาคม 2023


นักวิชาการชี้การเลือกตั้ง2566 คือการสร้างดุลยภาพแห่งอำนาจ : เปลี่ยนผ่านสังคมไทยที่ดึงอำนาจกลับมายืนข้างประชาชน ใช้เทคโนโลยี่ให้ทุกคนมีส่วนร่วมต่อการเปลี่ยนแปลง ทุกคนต้องร่วมกันยืนหยัดเจ้าของสิทธิในการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่หยวน ไม่ทน อย่าให้ใครเอาเสียงของเราไปทำอะไรก็ได้ อีกต่อไป ต้องทำให้เป็นเสียงของเราอย่างแท้จริง

สถาบันปรีดี พนมยงค์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนา PRIDI Talks #20 : “ดุลยภาพแห่งอำนาจ” :  เปลี่ยนผ่านสังคมไทยด้วยการเลือกตั้ง เนื่องด้วยวาระ 123 ปี ชาตกาล ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนา รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นางสาวภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล พิธีกรรายการมองมุมมายด์, นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ดำเนินรายการโดย ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ และกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์

ดุลยภาพอำนาจเปลี่ยน ยืนข้างประชาชน

รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า ดุลยภาพแห่งอำนาจของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ต้องดูแบบแผนการเมืองไทยว่าเป็นอย่างไร เริ่มต้นอำนาจนิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้งนั้นความจริงเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งอำนาจและการบริหารรัฐบาลก็เป็นยอดของภูเขาน้ำแข็งเช่นกัน

ขณะที่องค์กรของรัฐบาล องค์กรของรัฐหลายองค์กรไม่ขึ้นกับ 2 อำนาจนี้ เพราะอำนาจรัฐมีทั้งกว้างและลึกเป็นอำนาจที่อยู่ใต้น้ำภูเขาน้ำแข็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจที่ครอบครองอาวุธก็คือทหาร และอำนาจตามประพณีที่ตกค้างมาจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์  และทั้ง 2 อำนาจนี้ไม่ขึ้นอยู่กับอำนาจของรัฐสภา ไม่ได้ขึ้นกับอำนาจของรัฐบาล

หากมองการเมืองไทยในปัจจุบัน จากข้อคิดและบทเรียนการเมืองไทยในสมัยคณะราษฎรจะพบว่าอำนาจที่ครอบครองอาวุธและอำนาจตามประเพณีที่ตกค้างมาจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นพันธมิตรกันแน่นแฟ้นมากขึ้น

หลังจากการสิ้นสุดของคณะราษฎรในช่วงปี 2490 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งนับจากปี 2500 เป็นต้นมาทั้งสองอำนาจคืออำนาจทางทหารและอำนาจทางประเพณี เป็นพันธมิตรกันแข็งแรงมากขึ้น และผลพวงจากรัฐประหารปี 2549 และปี 2557 ยิ่งมีกลไกทำให้อำนาจพันธมิตรทั้งสองอำนาจแข็งแรงมากขึ้น

เช่น การมีพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการกลาโหมปี 2551 การแต่งตั้ง สว.ที่ลดทอนความหมายของเสียงของราษฎร, องค์กรอิสระต่างๆ การรุกเงียบของ กอรมน.  รวมทั้งอำนาจที่เรียกว่าอิสระต่างๆที่ไม่ขึ้นต่ออำนาจใดเลย ทั้งอำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจบริหาร ซึ่งอาจจะมีคนเถียงดีแล้วมีองค์กรอิสระ แต่มีเงื่อนไขต้องมาจากระบบประชาธิปไตย แต่เราพบว่าองค์กรอิสระหลายอำนาจมาจากผลพวงรัฐประหาร

หลังเลือกตั้ง2566 รัฐประหารทำได้ยากขึ้น

รศ.ดร.ไชยันต์ บอกว่า แม้ผลการเลือกตั้ง 2566 ที่จะออกมา ถึงฝ่ายประชาธิปไตยจะได้อำนาจจากรัฐสภาและรัฐบาล  แต่มีความเป็นไปได้ว่าสามารถแต่งตั้งได้ แต่ถูกบั่นทอนจากองค์กรพันธมิตร อำนาจทางทหารกับอำนาจประเพณีอย่างหนัก  ซึ่งตามแบบแผนการเมืองไทยที่ผ่านมาแล้ว ต้องพูดตามสำนวนมวย ก็ต้องบอกว่ามันมีหลายยก ยกหนึ่งฝ่ายประชาธิปไตยอาจจะชนะ แต่ต้องถูกโต้กลับเหมือนกับคณะราษฎรและทำให้แพ้ได้ แต่ฝ่ายประชาธิปไตยที่เป็นความหวังในการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่น่าจะถูกทำลายง่ายๆ เช่นกับชะตาของคณะราษฎร

สาเหตุที่ฝ่ายประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่ถูกทำลายง่าย ๆ เพราะว่าองค์กรของพลังประชาธิปไตยปัจจุบันแข็งแรงมากกว่าเมื่อ 60-70 ปีที่ผ่านมา แล้วจะแข็งแรงมากกว่าตั้งแต่ปี 2490 เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่าการทำรัฐประหารยิ่งยากขึ้นทุกวัน เราไปดูประวัติศาสตร์ ของไทยบางครั้งในอดีต การรัฐประหารทำง่ายแค่ไปยึดกรมประชาสัมพันธ์ เพียงแต่ประกาศทางวิทยุว่าสำเร็จแล้ว แต่ปัจจุบันไม่ใช่แบบนั้น แล้วเราจะเห็นว่า การทำรัฐประหารใช้พลังมากขึ้น โดยจะเห็นจากการทำรัฐประหารครั้งสุดท้าย ทหารไม่สามารถใช้กำลังทางทหารอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่ต้องใช้อำนาจของมวลชน ถึงจะทำรัฐประหารสำเร็จและรัฐประหารครั้งต่อๆไปก็จะไม่ง่ายอย่างที่ผ่านมา

“สมัยคณะราษฎร ตั้งปี 2475-2500 ไม่มีฐานกำลังประชาธิปไตย ไม่มีพลังของราษฎรเท่ากับปัจจุบัน เพราะฉะนั้นประเด็นคือว่าบทเรียนของคณะราษฎร ที่มอบพื้นฐานให้กับเรายืน ก็คือการเป็นอิฐก้อนแรกให้เราได้ก่อความเป็นประชาธิปไตย”

ส่วนเรื่องที่สอง คือประสบการณ์ และบทเรียน ท่านอาจารย์ปรีดีย์ พนมยงค์  ได้บอกแล้วว่าคณะราษฎรมีทั้งหมด บทเรียนที่น่าจะเรียนรู้ มีทั้งความพ่ายแพ้และชนะ ที่สำคัญนอกจากคณะราษฎรที่วางอิฐก้อนแรกให้เราแล้ว  สำคัญอย่างยิ่งคือเป็นบทเรียนให้ ถ้าชนะแล้วในอำนาจของนิติบัญญัติและบริหารต้องระวังอย่างยิ่งที่จะถูกอำนาจโต้กลับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจที่มาจากประเพณีที่มาจากระบบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์

“ในวันเลือกตั้งอยากขอวิญญาณและปณิธานของคณะราษฎร ได้ช่วยให้เราฝ่ายประชาธิปไตย ไม่ระย่อต่อฝ่ายที่คอยฉุดรั้งความเจริญของราษฎรของเจตนารมย์ของคณะราษฎรในปฐมและธรรมนูญ มาตราหนึ่งที่ว่าอำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย ให้ได้เป็นจริงขึ้นเทอญ”

สถาบันปรีดี พนมยงค์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนา PRIDI Talks #20 : “ดุลยภาพแห่งอำนาจ” : เปลี่ยนผ่านสังคมไทยด้วยการเลือกตั้ง

ฝ่ายประชาชนเสียดุลอำนาจมาโดยตลอด

ด้าน รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง การสร้างสมดุลทางการเมืองของไทยเป็นไปได้หรือไม่ ซึ่งในประเด็นนี้ ผู้ที่มีอำนาจในการเมืองไทย เอาแค่รัฐประหาร 2549 ไม่เคยคิดจะสร้างสมดุลเลย เขาต้องการได้ดุลตลอดเวลาทำให้ประชาชนต้องเสียดุลตลอดเวลา

“ปัจจุบันในแง่ที่มีอยู่ ประชาชน มีแต่มือเปล่า ไม่สามารถยึดกุมอำนาจในสถาบันการเมืองใด ๆ ได้เลย แม้แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ที่ดูเหมือนว่าเป็นวิธีการแสดงออกว่าเสียงเลือกตั้งที่เราไปช่วยกันลงคะแนนเสียงยอมรถติดไปลงคะแนนเสียงล่วงหน้า แต่พอเสร็จแล้วเขาใส่เลขหน้าซองอะไรก็ไม่รู้เสียงของเราจะไปลงที่กล่องไหนไม่รู้ หรือจะไปลงที่ขยะ จะมีบัตรเขย่งแบบคราวที่แล้วหรือไม่ จะมี ส.ส. ปัดเขตอีกหรือไม่”

นอกจากนี้เขตเลือกตั้งทั้งประเทศมีกี่แห่ง อยู่ที่ไหนบ้าง ไม่เปิดเผยข้อมูล ทำเหมือนการเลือกตั้งคือประเด็นอาชญากรรมที่ต้องจับตาดูว่าใครจะผิด ถูกลงโทษบ้าง แม้จะเป็นช่องทางเดียวที่ประชาชนจะแสดงออกได้ แต่ก็ถูกหมิ่นไม่ให้ค่ามาตลอด

แม้ว่าในฝั่งผู้มีอำนาจ การทำรัฐประหารฝ่ายได้อำนาจเขาก็ได้บทเรียนจากการฟื้นขึ้นมาของประชาชนครั้งแล้วครั้งเล่า ตั้งแต่ 14 ต.ค.2516 เป็นต้นมา และพ.ค. 2535 หรือปรากฏการณ์เสื้อแดงตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา แต่เขาพยายามสถาปนาอำนาจของเขาให้ครอบคลุมระบอบต่างๆมากขึ้น

รศ.ดร.พวงทอง บอกว่า เขามีอำนาจมากกว่า จากการใช้กำลังทหารในการยึดอำนาจ เพราะฉะนั้นเราจะเห็นอำนาจขององค์กรอิสระที่เกิดจากรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ฝ่ายอำนาจทำให้กลไกในการลงโทษกลุ่มการเมืองซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับพวกเขา ตัดสิทธิ ยุบพรรคการเมือง เขามีอำนาจแต่งตั้ง สว.สถาปานารัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจกับพวกเขาในการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งจะมีอำนาจยาวนานกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอีกหลายชุด

นี่คืออำนาจในการควบคุมและลงโทษ อำนาจฐาปนากองทัพ ผ่านสภากลาโหม ซึ่งเป็นอำนาจที่ทำให้กองทัพเป็นรัฐอิสระที่เหนือการควบคุมฝ่ายการเมืองและฝ่ายพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง

“หลังการเลือกตั้งครั้งนี้ถ้าไม่แตะ พ.ร.บ.กลาโหม คุณแทบจะทำอะไรไม่ได้เลยกับกองทัพ แม้กระทั่งการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ไม่แน่ใจว่า ถ้าไม่เข้าไปแก้ไข อำนาจของกองทัพที่คุมกลาโหมจะจัดการกับเรื่องการยกเลิกการเกณฑ์ทหารได้หรือไม่ เพราะว่าเรื่องสภากลาโหมเกี่ยวข้องกับการทหารทั้งหมดของประเทศนี้ ซึ่งสภากลาโหมมีสมาชิกอยู่ประมาณ 28 คน ในจำนวนนั้นนมีประมาณ 4-5 คนมาจากพลเรือนที่เหลือมาจากฝ่ายทหาร กองทัพทั้งหมด”

รศ.ดร.พวงทอง อยากบอกว่าหลัง 2549 เขาได้พยายามสถาปานาอำนาจของตัวเองเพื่อที่จะรับมือกับฝ่ายประชาธิปไตยมาตลอดเพราะฉะนั้นเขาให้อำนาจของเขาที่จะกระทำการต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น เช่น สว.เข้ามาร่วมออกกฎหมายสำคัญๆ หรือในการเลือกนายกรัฐมนตรี อำนาจของกองทัพที่จะทำอะไรต่าง ๆ อิสระของตัวเอง และอำนาจที่จะลงโทษกลุ่มการเมืองที่อยู่ตรงข้ามกับเขา มีอำนาจในการควบคุมประชาชน โดยใช้ ม.112, ม.166 ซึ่งจะเห็นว่าทั้ง 2 มาตรการถูกนำมาใช้มากในการัฐประหารปี 2557  หรือกระทั่ง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์

รื้อถอนโครงสร้าง-จารีตเก่า คือความท้าทาย

เมื่อไม่นานมานี้ได้มีการออกพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของประชาชน ซึ่งเมื่อหลายปีก่อน พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารต้องการให้อำนาจของประชาชนในการตรวจสอบการทำงานภาครัฐ แต่ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารที่ออกมาในปัจจุบันกลายเป็นหากเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ ความมั่นคงของรัฐเกี่ยวกับกองทัพ สถาบันกษัตริย์ไม่ได้เลย ซึ่งคือการเข้ามาควบคุมอำนาจประชาชนไม่ให้มีสิทธิมีเสียงในการนำเสนอ ความจริงออกมา

“อยากจะบอกว่าการรัฐประหารที่ผ่านมาไม่ได้มีแค่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือพลเอกประวิตร วงษสุวรรณ  หรือ สาม ปอ. แต่มีกลไกเหล่านี้ที่ทำให้ดุลยภาพทางอำนาจของประชาชนสูญเสียไป เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งนี้ที่ชัดเจนคือจะรื้อถอนอำนาจของจารีตและอำนาจของกองทัพมากขึ้น  จึงกลายเป็นสิ่งที่ท้าทายระบอบเก่า”

ข้อเสนอทางนโยบายของพรรคก้าวไกลที่เสนออกมาไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปกองทัพที่ไม่ใช่แค่เกณฑ์ทหาร แต่รวมไปถึงเรื่องการรื้อถอน กรอมน.ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงภายในที่ได้ให้อำนาจของประชาชนที่จะแทรกซึมเข้าไปในประชาชนและให้อำนาจในการระดมมวลชนฝ่ายขวาขึ้นมาอีกครั้ง

หลายปีที่ผ่านมาอยากบอกว่ากองทัพทำเรื่องนี้หนักมาก และคาดว่ามีมวลชนที่ทำกับฝ่ายขวานี้ไม่น่าจะต่ำกว่า 1 ล้านคน เพียงแต่ว่า อาจจะไม่ใช่ทั้งล้านคนที่กองทัพสามารถซื้อใจได้ แต่เอาแค่ 10 % เวลาเกิดปัญหาระดมขึ้นมาเป็นมวลชนที่จะปะทะกับฝ่ายประชาธิปไตยก็ทำให้มีความน่ากลัวได้

ฝ่ายการเมือง บอกว่าหลังเลือกตั้งเขาจะรื้อถอนอำนาจเหล่านี้ขึ้นมา นี้คือสิ่งที่ได้ซื้อใจประชาชนได้ เพราะประชาชนเห็นตั้งแต่รัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา เห็นว่าไม่สามารถแยกการเมืองออกจากเศรษฐกิจได้ ประชาชนไม่มีทางที่จะมั่นคงทางเศรษฐกิจได้ ถ้าการเมืองไม่มั่นคง แล้วอำนาจทางเมืองจะไม่กลายเป็นเครื่องมือที่จะมาเล่นงานอำนาจฝ่ายประชาธิปไตยได้

“เพราะฉะนั้นความตื่นเต้นของประชาชนที่มีพรรคการเมืองที่พูดถึงการเปลี่ยนโครงสร้างการเมืองมากขึ้น มันทำให้เกิดความท้าทายเขาและวิตกกังวลมากขึ้น เพราะเราเริ่มเห็นเค้าร่างที่เขาจะใช้อำนาจที่จะจัดการกับกลุ่มการเมืองที่ตั้งธงไว้ชัดจนว่าจะมารื้อถอนโครงสร้างอำนาจ สมดุล อำนาจประชาชนให้มากขึ้น ก็สร้างความเครียดให้กับการเลือกตั้งครั้งนี้เช่นกัน”

ดุลยภาพอำนาจต้องอยู่ข้างประชาชน

ขณะที่นางสาวภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล พิธีกรรายการมองมุมมายด์ เห็นว่า ปรากฎการณ์การเมืองในขณะนี้ จุดเริ่มจากการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ตั้งแต่ปี 2563 ตอนแรกออกมาด้วยความอึดอัดจากการกดทับ แต่พอมารวมตัวกันมากขึ้นเราเริ่มตั้งคำถามกับสิ่งที่เราสงสัยกับโครงสร้างมากขึ้น จนมาถึงจุดที่ว่าเราเรียนรู้แล้วว่า จุดเริ่มต้นของการแย่งชิงขั้วอำนาจคืออะไร และเห็นปัญหาชัดเจนมากขึ้น

“เราพยายามวิพากษ์ให้ถึงต้นตอมากที่สุด เพื่อให้สิ่งที่เป็นปัญหาตรงนั้นถูกพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมามากที่สุด เพื่อแก้ไขหาทางออกให้ได้คำว่าดุลยภาพแห่งอำนาจ ส่วนตัวเองอาจจะมีมุมต่างในสังคมประชาธิปไตย สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นคืออำนาจต้องอยู่ที่ประชาชนเสมอ แต่ถ้าเป็นดุลยภาพจะมองถึงเรื่องของจุดยืนทางความคิดมากกว่า สังคมอยู่ด้วยจุดยืนที่หลากหลาย”

แน่นอนว่าเราต้องหาจุดยืนเรื่องของดุลยภาพ จุดยืนทางความคิดว่าเรามีส่วนแบ่งกันอย่างไรในพื้นที่ตรงกลาง เพื่อให้จุดยืนทุกความคิดอยู่ร่วมกันได้ โดยไม่มีใครตัดสินว่าด้อยกว่าใคร ไม่มีใครถูกตีกรอบว่าอะไรผิดถูก สังคมประชาธิปไตยจะอยู่รอดต่อไปคือเราไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทั้งหมดก็ได้ เราเพียงแค่เคารพในจุดต่างและจุดยืนทางความคิดและตกลงกันให้ได้ด้วยฐานของประชาชนเราจะทำอย่างไรให้ทุกจุดยืนอยู่ร่วมกันได้ แต่ในฐานที่ว่าประชาชนคือผู้มีอำนาจสูงสุด

นางสาวภัสราวลีกล่าวว่า การเคลื่อนไหวที่ผ่านมาอย่างที่บอกว่าเราตั้งคำถามที่โครงสร้าง ย้อนกลับไปที่ 2475 มันเกิดการแย่งชิงระหว่างขั้วอำนาจเก่า อำนาจเดิม  และขั้วใหม่ที่เป็นประชาชนที่ได้รับอำนาจเข้ามา และก็แย่งชิงกันตลอดเวลาไม่จบสิ้น จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่จบ แต่ว่าระหว่างทางมันมีจุดที่ประชาชนถูกจำกัดกรอบทำให้รู้สึกว่าตนเองไม่มีอำนาจไปโดยปริยาย

โดยช่วงหนึ่งประชาชนรู้สึกว่าต้องฝากความหวังฝากอำนาจไปไว้ที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ภาวนาว่าพวกเขาเหล่านั้นพาบ้านเมืองไปให้ได้ มันเป็นแนวความคิดที่เป็นร่องรอยของกลุ่มอำนาจเดิมที่ต้องการฝังแนวคิดแบบนี้เอาไว้ว่าประชาชนยังไม่พร้อม ยังไม่มีอำนาจมากพอ ยังไม่คู่ควรกับอำนาจบริหารประเทศ เพราะฉะนั้นเลยบอกว่าเชื่อใจพวกเขาแล้วพวกเขาจะพาไปให้ได้

แต่พอถึงยุคปัจจุบันการวิพากษ์พรรคการเมืองก็ตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นใหม่ FC แฟนคลับ กองเชียร์  ในการสนับสนุนใคร เกิดจากการวิเคราะห์นโยบาย ความชัดเจนว่าจะไปได้อย่างไร ไม่เกิดจากความไว้ใจจากบุคคลอย่างเดียวหรือกลุ่มก้อนทางการเมืองอย่างเดียว  เราจะเห็นว่านโยบายของพรรคการเมือง ถ้าเมื่อไหร่ที่เป็นนโยบายเอาประชาชนเป็นที่ตั้งคิด เช่น รัฐสวัสดิการ ปฏิรูปกองทัพ พอพูดเรื่องยกเลิกเกณฑ์ทหาร ให้ใช้แบบสมัครใจ ทำให้ประชาชนรู้สึกว่ามีโอกาสใช้อำนาจของเรากำหนดชีวิตของตัวเองได้บ้าง

นางสาวภัสราวลี  กล่าวว่า นโยบายอะไรก็ตามที่เอาประชาชนเป็นที่ตั้งจะเริ่มได้รับความสนใจ เพราะว่าเขาไม่ต้องฝากความหวังเอาไว้กับบุคคล แต่เรามีสิทธิหวังในการกำหนดชีวิตตัวเอง ถ้าหากในครั้งนี้พรรคการเมืองเสนอนโยบายไม่ถูกใจ  ประชาชนสามารถพูดเองก็ได้ซึ่งจะเห็นได้จาก ม.112 ได้ถูกนำมาวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อหลักและในเวทีดีเบตทางการเมือง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้นได้ว่าพรรคการเมืองต้องมาแสดงจุดยืนในเรื่องนี้ เพราะเกิดจากการพูดของประชาชนและส่งเสียงของประชาชน

“ถ้ามองย้อนไปปี 2475 และตอนนี้ใกล้เคียงกันในมุมที่ว่าการแย่งชิงขั้วอำนาจ การวิพากษ์อย่างตรงไปตรงมา หลัง 2475 ได้ให้โอกาสกับประชาชน แต่ก็ถูดตัดทอนมาลงมาเรื่อย ๆ จนมาวันนี้เรามาพูดกันอีกครั้งในฐานะประชาชนเราจะทำอย่างไร ให้มีโอกาสในการกำหนดชีวิตตัวเอง จึงอยากย้ำเตือนอีกครั้งว่า เรามีสิทธิกันมาตั้งแต่ 2475 แต่เราถูกทำให้ลืม แต่วันนี้เราตื่นตัวแล้วในการกำหนดอนาคตประเทศนี้”

ชวนออกมาจับตาเลือกตั้ง 2566

นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวว่า เลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค.2566  ถูกกกต. ออกแบบรายงานผลคะแนนใหม่และใช้เป็นครั้งแรกแตกต่างจากปี 2562 ซึ่งพบการรายงานผลผิดพลาดล่าช้า มีปัญหาไม่มีคำอธิบาย  ในครั้งนี้ กกต.บอกว่าถ้ารายงานคะแนนด้วยเทคโนโลยีเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติที่อาจจะเป็นชาวบ้าน ข้าราชกรที่สูงอายุ ใช้เทคโนโลยีไม่ถนัดทำให้กรอกข้อมูลผิดล่าช้า

ระบบรายงานการเลือกตั้งครั้งจึงให้ทุกหน่วยเลือกตั้งที่นับคะแนนเสร็จแล้วจะมีใบ ส.ส. 5/18 สรุปคะแนนทุกอย่าง 3 ชุด ชุดแรก ติดหน้าหน่วย ชุดที่สองใส่ไว้ในหีบ ชุดที่สามนำส่งจากหน่วยไปที่กกต.เขต  ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ประมาณ 3 คน รับใบ ส.ส.5/18 และพิมพ์ลงไปส่งให้สื่อมวลชน โดยระบบกูเกิลไดรฟ์

ระบบนี้มีข้อดีและข้อเสีย 1 คนกรอกน้อยลงคนทำผิดได้น้อยลง และกรอกในห้องที่ไฟสว่าง มีอินเตอร์เนตแรง ความผิดน้อยลง 2.ใช้กูเกิลไดรฟ์ไม่ล่มเพราะเชื่อมั่นในกูเกิลไดรฟ์มากกว่าแอป กกต. ที่จะเขียนขึ้นมา และ 3. ตามระเบียบภายใน 5 วัน กกต.จะนำภาพถ่าย ใบ ส.ส.5/18 กระดาษคะแนน ทุกใบขึ้นเวบไซต์ของ กกต.จังหวัด แต่เวบไซต์ กกต.จังหวัดไม่เคยอัพเดทเลย

ส่วนข้อเสียของระบบนับคะแนนของ กกต.  1. เจ้าหน้าที่กรอกข้อมูลน้อยลง แต่ไม่เปิดเผย ทำให้ไม่รู้ว่าใครกรอก แล้วกรอกตกหรือไม่  2.กกต.ประกาศว่าจะรายงานผลตั้งแต่ 18.30-23.00 น  โดยคะแนนที่เราเห็นในคืน 14 พ.ค.ไม่รวมบัตรเสียและบัตรประสงค์ลงคะแนน แต่ไม่บอกเหตุผลว่าทำไมไม่ลงคะแนน 2. ช่องไปพร้อมๆกับคะแนนอื่นๆ คำถามคือทำไมไม่กรอกไปที่เดียวน่าจะง่ายกว่าระหว่างบัตรเสียและบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน 

นอกจากนี้คืนวันที่ 14 พ.ค.2566 กกต.จะรายงานผลคะแนน 94 %แล้วหยุด อีกประมาณ 6 % หรือ 2 ล้านคะแนน จะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง ที่ต้องตั้งคำถามคือทำไมไม่ทำให้เสร็จไปเลย

“ ข้อสงสัยต่างๆที่เกิดกับ กตต.ทำให้อยากเชิญชวนทุกท่านไปปกป้องคะแนนเสียงของทุกคนเรารู้ว่าภาวะบ้านเมืองไม่ปกติเข้าคูหากากบาทแล้วบ้านเมืองจะเปลี่ยนแปลง แบบนั้นเราอาจมองโลกในแง่ดีเกินไป ถ้าเรารู้ว่าบ้านเมืองไม่ปกติ กกต.ไม่อิสระ และกกต.ไม่ได้ตั้งใจทำทุกอย่าง อย่างเต็มที่ เราออกไปปกป้องคะแนนเสียงหลัง 17.00 น.ของวันที่ 14 พ.ค.2566 ไปดูการกาคะแนน และถ่ายภาพกระดานนับคะแนน กระดานรวมคะแนนทุกแผ่นทุกใบ แล้วส่งมาที่ เวบไซต์ Vote62.com เราต้องการ หนึ่งแสนคน เนื่องจากมีหน่วยเลือกตั้งทั้งหมดประมาณ 9 หมื่นคูหา มาช่วยกันจับตาการเลือกตั้งเพื่อปกป้องการลงคะแนนด้วยตัวเอง”

สถาบันปรีดี พนมยงค์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนา PRIDI Talks #20 : “ดุลยภาพแห่งอำนาจ”
: เปลี่ยนผ่านสังคมไทยด้วยการเลือกตั้ง

สร้างดุลยภาพอำนาจ ‘เลิกหยวน’ ฝ่ายอำนาจ

รศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ดุลยภาพแห่งอำนาจเกิดขึ้นได้ เมื่อแต่ละกลุ่มที่มีประโยชน์ร่วมกันมีที่มีทางของตัวเองในสังคม มีที่ ที่อำนาจของตัวเองได้ใช้ได้แสดงบทบาท

แต่เมื่อไหร่เห็นความวุ่นวายเกิดขึ้นในสังคม มันสะท้อนว่า สังคมกำลังไม่ได้ดุลอำนาจ จึงต้องพยายามหาที่ทางของตัวเอง แต่ถ้าสังคมสงบราบเรียบ อาจจะมาจากเกิดดุลยภาพอำนาจจริง และสองคือมีบางอำนาจมันใหญ่จนกระทั่งครอบอำนาจอื่นๆอยู่ จึงสงบเฉพาะผิวน้ำ แต่ยังเกิดคลื่นใต้น้ำอยู่  ดังนั้นปรากฏการณ์เลือกตั้งครั้งนี้ คนไปบ่น ต่อว่า กกต. และมีคนมาอธิบายว่ากลัวมีผลต่อการเลือกตั้ง ซึ่งมีความหมายว่าจะให้แต่ละคนไปเสียสิทธิอำนาจอย่างนั้นได้อย่างไร

“ผมคิดว่าที่ต้องมองลึกการเลือกตั้งรอบนี้ ทุกคนคิดว่าเสียงที่ฉันไปใช้สิทธิจะไปไหนต่อมันและจะต้องถูกปกป้อง ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของฉัน นั่นหมายถึง ประชาชนตระหนักมากขึ้น ไม่ต้องการให้เสียสิทธิที่กาแล้วคะแนนไปไหนก็ได้”

อย่างไรก็ตามเหตุการณ์แบบนี้ รศ. ดร.พิภพ กล่าวว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นของประชาชนน่าจะมาจากอำนาจหนึ่งที่นอกเหนือจากอำนาจทางวัฒนธรรมประเพณี อำนาจทหาร อำนาจการปกครอง ทั้งนิติบัญญัติ บริหาร ตุลากร แต่เป็นอำนาจของเทคโนโลยี ที่มีอยู่ในปัจจุบันเรียกว่าเป็นการเกิดประชาธิปไตยข้อมูล จากเดิมทุกคนมีหน้าที่รับข้อมูลข่าวสาร แต่ปัจจุบันทุกคนเป็นผู้ผลิตข้อมูลข่าวสาร ทุกคนสื่อสารแสดงข้อความ และแสดงตัวตน

โดยอำนาจเหล่านี้ทำให้คนตระหนักว่าเอาเข้าจริงแล้ว เราไม่ใช่คนตัวเล็กตัวน้อย เราทุกคนมีสิทธิ์ มีเสียง พร้อมขยับขึ้นมามีส่วนร่วมในการปกครองของประเทศและสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งเทคโนโลยีได้เปลี่ยนวิธีคิดของคนตัวเล็กตัวน้อย ลุกขึ้นมาตระหนักในพลังและอำนาจที่เขามีอยู่

อย่างไรก็ตามหลังการเลือกตั้งรศ. ดร.พิภพ บอกว่า  สิ่งที่เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งของการเมืองไทย คือ การฟอร์มรัฐบาล จะเริ่มกระบวนการใช้กฎกติกาผู้มีอำนาจต่าง ๆ จะบิดเกม ปรับเปลี่ยน จะจัดการอะไรได้บ้าง และเริ่มเห็นการหันเหเปลี่ยนจุดยืนของกลุ่มต่างๆเพื่อจะเข้าไปฟอร์มรัฐบาล ในขั้นตอนนี้เราเห็นชัดว่าใครจะเปลี่ยนจุดยืนและเปลี่ยนสี แต่อยากให้ประชาชนที่เทคโนโลยีให้อำนาจตระหนักถึงสิทธิ์ของตัวเอง

“สิ่งที่อยากจะขอให้เลิกโดยเด็ดขาดเมื่อตระหนักถึงอำนาจที่มีแล้วคือ เลิกหยวน ๆ ยอม ๆไป ใครอยากทำอะไรก็เอาน่า ผู้มีอำนาจจะทำอะไรก็เอาเถอะจะได้เดินหน้ากันต่อไป ผมว่าเราต้องหยุด ไม่หยวน ๆ ใครจะเกี๊ยเซี๊ยกับใครอย่าไปหยวน ๆ เราอย่ารับว่าคนมีอำนาจทำอะไรก็ได้ในอำนาจที่เขามี”

รศ. ดร.พิภพ มองว่า การที่ กกต.ออกแบบการเลือกตั้ง 2 ใบให้เบอร์เขตกับพรรคคนละเบอร์ ก็ทำให้เห็นอาเจนด้าที่อาจไม่ต้องการให้ได้เสียงแลนด์สไลด์ แต่หากหลังเลือกตั้งเขาใช้อำนาจแต่ขาดความชอบธรรม แต่ด้วยอำนาจเทคโนโลยีเราไม่หยวน ๆ เราทำอะไรได้บ้าง เมื่อไม่พอใจต้องรวมตัวกันและแสดงออกว่าฉันไม่เห็นด้วย ไม่ยอมให้เกิดการกระทำเช่นนี้ ต้องอารยะขัดขืนทำไมต้องยอม

“ผมคิดว่าการเมืองภาคประชาชนมาถึงจุดที่บอกว่า ถ้าเรามีเทคโนโลยีทำให้กลับมาพลิกบทบาท ได้ต้องใช้เทคโนโลยีสร้างให้เรามีส่วนร่วมกับการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง ทำให้เราสามารถบอกว่าเราจะไม่หยวน ไม่ทน  ถ้ามีอำนาจ แต่ทำอะไร ไม่มีความชอบธรรม เราจะไม่ยอมต่อไป ซึ่งความรู้สึกแบบนี้อาจจะสร้างความปั่นป่วนนิดหน่อย แต่การเกิดของใหม่การเปลี่ยนแปลงต้องเกิดความรู้สึกแบบนี้แล้วเราจะเดินไปข้างหน้าได้”รศ. ดร.พิภพกล่าว

หากเราทุกคนร่วมกันและยืนหยัดว่าเราคือเจ้าของสิทธิกับการเลือกตั้งครั้งนี้ แล้วเราจะไม่ใช่แค่กาบัตรเลือกตั้งแล้วปล่อยใครตัดสินเอาเสียงของเราไปทำอะไรก็ได้ไม่ได้อีกต่อไป  เราต้อง take ownership เราต้องทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นเสียงของเราอย่างแท้จริง