ThaiPublica > Sustainability > Headline > ทูตสหรัฐเยือนเชียงราย ปูพรมหารือทุกประเด็น เพิ่มความเข้มข้นหุ้นส่วนพื้นที่ลุ่มน้ำโขงภาคเหนือไทย

ทูตสหรัฐเยือนเชียงราย ปูพรมหารือทุกประเด็น เพิ่มความเข้มข้นหุ้นส่วนพื้นที่ลุ่มน้ำโขงภาคเหนือไทย

1 มิถุนายน 2023


นายโรเบิร์ต โกเดคเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยร่วมกับนางสาวลิสา บูเจนนาส กงสุลใหญ่เชียงใหม่ เยือน จังหวัดเชียงราย

โรเบิร์ต โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยยือนเชียงรายครั้งแรก พบปะทุกภาคส่วน ประกาศเดินหน้าย้ำร่วมมือเพื่อหยุดยั้งยาเสพติด ค้ามนุษย์ การบังคับใช้กฎหมายการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างรับผิดชอบ ปกป้องสิ่งแวดล้อม ร่วมสร้างชุมชนเข้มแข็งลุ่มน้ำโขง ร่วมมือด้านการศึกษาวิจัย ภายใต้การเป็นหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขงของสหรัฐ

เมื่อวันที่ 30-31 พฤษภาคม นายโรเบิร์ต โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย เดินทางเยือนจังหวัดเชียงราย โดยมี นางสาวลิสา บูเจนนาส กงสุลใหญ่เชียงใหม่ร่วมคณะเดินทางในฐานะ หุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ (Mekong – U.S. Partnership – MUSP) และภายใต้ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐทางการทูตยาวนาน 190 ปี

หารือฝ่ายความมั่นคงหยุดยั้งยาเสพติด -ค้ามนุษย์

นายโกเดค กล่าวว่า ในระหว่างการเยือนได้หารือกับ พล.ต.ท.ปิยะ ต๊ะวิชัย ผบช.ภ.5 เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงภาคเหนือ หารือถึงวิธีการทำงานร่วมกันเพื่อหยุดยั้งปัญหายาเสพติด การค้ามนุษย์ การลักลอบค้าสัตว์ป่า สร้างความร่วมมือกันของ 2 ประเทศ ในด้านการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้เปิดความปลอดภัยมากขึ้น

จากนั้นได้เข้าพบปะหารือกับนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจและการรักษาสิ่งแวดล้อม เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายของไทยหารือความร่วมมือทวิภาคีเพื่อต่อสู้กับอาชญากรรมข้ามชาติ

นายโรเบิร์ต โกเดคเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยพบปะหารือกับนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย

ในการแถลงข่าวกับสื่อมวลชน ซึ่งมีคำถามในประเด็นการค้ายาเสพติดข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านที่เพิ่มปริมาณ นายโกเดค กล่าวว่า อาชญากรรมข้ามชาติไม่มีพรมแดน ดังนั้นเรื่องการค้ายาเสพติดที่มาจากทางเมียนมาที่จะผ่านทางไทยและประเทศอื่นๆ ด้วย และกระทบถึงกันหมด เพราะฉะนั้นต้องให้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิด ต้องให้ความร่วมมือกับรัฐบาลไทย ต้องขอขอบคุณความร่วมมือจากรัฐบาลไทยและตำรวจไทย หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย หน่วยงานความมั่นคง ที่ช่วยเหลือกันเป็นอย่างดี ให้ความร่วมมือ ซึ่งสหรัฐได้ช่วยเหลือการฝึกอบรมให้กับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย สนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมือ และแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันตามความเหมาะสม และมีปฏิบัติการร่วมกันเพื่อทำลายล้างอาชญากรเหล่านี้ ตลอดจนมีการตั้งสแกมเซ็นเตอร์เพื่อกลอกลวงคนในลักษณะต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านที่ได้เม็ดเงินเป็นจำนวนมาก ไม่เฉพาะจากไทย ยังได้จากอเมริกาและที่อื่นๆ สหรัฐจึงจะทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ในเรื่องนี้ต่อไป

คำถามต่อมาคือจากที่สหรัฐได้ออกรายงานชัดเจนว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษคิงส์โรมัน บริเวณสามเหลี่ยมทองคำเป็นแหล่งบ่มเพาะอาชญากรรมข้ามชาติ แต่การที่สหรัฐฯเข้ามาสนับสนุนด้านต่างๆในไทยในขณะที่แหล่งบ่มเพาะอาชญากรรมยังอยู่จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นหรือไม่

เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ กล่าวว่า หน่วยงานที่บังคับใช้กฏหมายน่าจะให้คำตอบได้ดีที่สุด สหรัฐฯยินดีสนับสนุนข้อมูลในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านการค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์

สำหรับการบังคับใช้กฎหมายสหรัฐฯ-ไทย สำนักงานปราบปรามยาเสพติดแห่งสหรัฐอเมริกา (Drug Enforcement Administration : DEA) ในเชียงใหม่และเชียงราย มีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายของไทยมากกว่า 400 คนในทุกปี และสหรัฐฯได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของไทยในการสืบสวนร่วมกันในภาคเหนือของประเทศไทย

สหรัฐฯ ได้มอบอุปกรณ์พิเศษมูลค่าหลายล้านเหรียญเพื่อใช้งานของพันธมิตรในการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อหยุดยั้งยาเสพติดไม่ให้เข้ามาในประเทศไทยและต่อสู้กับกลุ่มอาชญากรข้ามชาติ และกำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับทางการไทยด้านต่อต้านการค้ามนุษย์ ผ่านโครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ (Combating Trafficking in Persons :CTIP) มูลค่า 20 ล้านดอลลาร์ผ่าน หน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐ (United States Agency for International Development : USAID)

นอกจากนี้ องค์การบริหารปลาและสัตว์ป่าแห่งสหรัฐ (อังกฤษ: United States Fish and Wildlife Service; USFWS) ยังทำงานร่วมกับทางการไทยเพื่อต่อสู้กับการลักลอบค้าสัตว์ป่า

เอกอัครราชทูตยังได้พบปะกับ ดร.มัชฌิมา นราดิศร รักษาการอธิการบดีจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการศึกษา หาแนวทางส่ง นักศึกษาไทยไปเรียนที่อเมริกา และนักศึกษาอเมริกามาเรียนที่ไทย รวมถึงคณาจารย์ไปศึกษาวิจัยที่อเมริกา ด้านสภาพอากาศ สิ่งแวดล้อม ที่จะเป็นประโยชน์ช่วยดูแลคุณภาพอากาศ สนับสนุนผู้ประกอบการ ทำงานวิชาการร่วมกัน ที่ตะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ประเด็นท้าทายของไทย

นายโรเบิร์ต โกเดคเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนระหว่างการเยือนเชียงราย

สร้างพลังเครือข่ายคนลุ่มน้ำโขงให้เสียงถูกรับฟังความต้องการคนชุมชน

เอกอัครราชฑูตสหรัฐฯ ได้พบปะพูดคุยกับ ภาคประชาสังคมเพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นความยั่งยืนของลุ่มน้ำโขง

นายโกเดค กล่าวว่า ได้มาเรียนรู้เรื่องแม่น้ำโขงโดยไปที่หมู่บ้านหาดบ้าย ต.ริมโขง อ.เชียงของ พูดคุยกับชาวบ้าน เยาวชน ผู้คนในหมู่บ้าน นักกิจกรรมสิ่งแวดล้อม ชาวประมง ช่างทอผ้า พูดคุยถึงความเปลี่ยนแปลงแม่น้ำโขงว่า มีผลกระทบต่อคนลุ่มน้ำโขงอย่างไร ภายใต้กรอบความร่วมมือฯ รับฟังเสียงสะท้อนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อได้รับรู้ว่าอะไรคือความต้องการของคนลุ่มน้ำโขง จะได้สนับสนุนในอนาคตต่อไป

เบื้องต้นได้แวะชมงานกลุ่มผ้าทอไทลื้อ บ้านหาดบ้าย ผลงานสวยงามชิ้นโบแดง นับเป็นงานศิลปะที่ควรส่งเสริมให้เป็นที่รู้จักในตลาดต่างประเทศนอกเนือจากในประเทศไทย

ขณะเดียวกันได้คอนเฟอเร้นซ์คอลล์กับพลเมืองสหรัฐฯ ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงรายและพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อหารือเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของพลเมืองสหรัฐฯ ต่อจังหวัดทางภาคเหนือของประเทศไทยและเรื่องการให้บริการผ่านกงศุล ซึ่งนายโกเดคกล่าวว่า คนอเมริกันประทับใจในการได้มาอยู่ในเชียงราย

นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตฯ ได้เยี่ยมชมอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวงและถ้ำต่างๆ และยกย่องผู้ที่มีส่วนในการช่วยชีวิตทีมฟุตบอลและโค้ชทีมหมูป่าอะคาเด

“นี่เป็นการเยือนเชียงรายครั้งแรกของผม ผมมาถึงเมื่อวานนี้เพื่อเน้นย้ำความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ-ไทยในภาคเหนือของประเทศไทยและภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และความท้าทายอันเป็นเอกลักษณ์ของภูมิภาคนี้” นายโกเด็คกล่าว

นายโรเบิร์ต โกเดคเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ชมงานกลุ่มผ้าทอไทลื้อ บ้านหาดบ้าย

ย้ำความสัมพันธ์ทุกมิติทางภาคเหนือพื้นที่จังหวัดเชียงราย

“วัตถุประสงค์ของเราต่อพื้นที่ทางภาคเหนือของไทยมีความสำคัญไม่เฉพาะต่อประเทศไทย ยังมีความสำคัญต่อภูมิภาคนี้ ทั้งจีน ลาว กัมพูชา ดังนั้นจึงควรมาช่วยกัน ปกป้องสิ่งแวดล้อม พัฒนาการจ้างงาน การศึกษา ยกระดับคุณภาพชีวิต ผู้คนแถบนี้มากขึ้น จึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์ สหรัฐฯ กับไทย ผ่านเรื่องราวเหล่านี้ ซึ่งจะทำงานร่วมกันทั้งทางกรุงเทพฯ เชียงใหม่ เชียงรายต่อไป” นายโกเด็คกล่าว

สหรัฐฯต้องการเห็นภูมิภาคนี้รุ่งเรืองมั่งคั่ง ให้เสียงของชุมชนถูกรับฟัง ได้สะท้อนความต้องการของคนลุ่มน้ำโขงว่าต้องการให้แม่น้ำโขงเป็นอย่างไร ให้อำนาจแก่คนลุ่มน้ำโขงได้สะท้อนความต้องการ

สำหรับความท้าทายเรื่องพลังงานที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศลุ่มน้ำโขงที่มีเขื่อนจำนวนมาก ภายใต้ความร่วมมือในฐานะ MUSP นายโกเดค กล่าวว่า เป็นความสำคัญมากในการที่เราจะหาพลังงานที่ยั่งยืนมากขึ้น ว่าจะทำอย่างไรที่จะหาพลังงานได้อย่างยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แน่นอนว่าพลังงานมีความท้าทายระดับโลก ไม่เพียงเรื่องพลังงานยั่งยืน เรายังเผชิญกับสภาพภูมิอากาศ สหรัฐมีโปรแกรมที่จะรับความท้าทายนี้มากมาย ที่จะทำร่วมกับรัฐและเอกชน ซึ่งโครงการ MUSP แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ได้ให้เม็ดเงินการฝึกอบรม การสร้างเครือข่ายที่อยู่ในภาครัฐและภาคชุมขนให้ได้ติดต่อกันมากขึ้น

นายโรเบิร์ต โกเดคเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยพบปะกับ นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ “ครูตี๋”ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ

ด้านนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ “ครูตี๋”ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ เปิดเผยภายหลังการหารือกับนายโรเบิร์ด โกเดค ว่า ได้สะท้อนปัญหาของแม่น้ำโขงที่ขึ้น-ลงไม่เป็นปกติให้เอกอัครราชทูตสหรัฐฯฟัง รวมทั้งเรื่องตะกอนที่หายไปและการส่งเสริมศักยภาพของชาวบ้านและเยาวชน นอกจากนี้ยังพูดถึงกรณีที่ประเทศไทยกำลังได้รัฐบาลชุดใหม่ซึ่งมีนโยบายที่น่าสนใจในการเปลี่ยนแปลง อยากให้มีการหารือกันในดูแลความเป็นธรรมให้กับประชาชนและธรรมชาติ ซึ่งนายโรเบิร์ด โกเดค รับปากว่าหากมีโอกาสจะดำเนินการนอกจากนี้ยังมีโอกาสและโครงการมากมายที่จะมารับมือกับสิ่งเหล่านี้ ที่จะทำงานต่อไปเพื่อที่จะหาวิธีการที่ชาญฉลาดช่วยให้เราผลิตพลังงานได้อย่างฉลาดขึ้น ซึ่งอาจใช้พลังงานลม หรือพลังงานทดแทนชนิดอื่นๆ ต่อไป ที่จะทำงานต่อไปทั้งที่กรุงเทพฯ พูดคุยกับภาครัฐและเอกชน ซึ่งไม่ใช่เพื่อประเทศไทยเท่านั้น ยังทำเพื่อประเทศอื่นๆ ด้วย

โครงการภายใต้ หุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ (Mekong – U.S. Partnership – MUSP)

สหรัฐอเมริกาทำงานร่วมกับไทย เวียดนาม กัมพูชา และลาว เพื่อจัดการกับความท้าทายในระดับภูมิภาค รวมถึงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และอาชญากรรมข้ามชาติ ในประเทศไทย สหรัฐอเมริกาได้ให้เงินสนับสนุนหลายล้านดอลลาร์ในโครงการต่างๆ เพื่อสนับสนุน ฝึกอบรม และให้อำนาจแก่ชุมชนท้องถิ่น

โครงการเหล่านี้ฝึกอบรมองค์กรพัฒนาเอกชน ให้ความรู้แก่เยาวชน และส่งเสริมการสื่อสารระหว่างชุมชนลุ่มน้ำโขง นักวิชาการ รัฐบาลท้องถิ่น และฝ่ายการเมือง / ผู้นำ. นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกายังสนับสนุนงานวิจัยและงานสัมมนาทางวิชาการใหม่ๆ เพื่อช่วยให้ชุมชนไทยเข้าใจความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้น และพัฒนาโซลูชันนโยบายที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล

ตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม สหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียเริ่มโครงการ Mekong Safeguards ซึ่งเป็นกิจกรรมมูลค่า 10.6 ล้านดอลลาร์ที่จะเสริมสร้างมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั่วภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

การศึกษาและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม
สหรัฐอเมริกามีความสัมพันธ์อันดีและยาวนานกับสถาบันการศึกษาในภาคเหนือของประเทศไทย รวมถึงมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงและมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

สหรัฐอเมริกาสนับสนุนโปรแกรมการศึกษาภาษาอังกฤษผ่านการจัดหา English Language Fellow ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย และโปรแกรม English Access Micro-scholarship สำหรับเยาวชนอายุ 13-15 ปี

สหรัฐอเมริกาส่งเสริมคนหนุ่มสาวให้ได้รับทักษะใหม่ผ่านภาพยนตร์สั้น การเล่าเรื่อง และโครงการมัลติมีเดียมากมายที่ช่วยให้พวกเขาแสดงความกังวลเกี่ยวกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมที่ภูมิภาคนี้เผชิญอยู่ ตัวอย่างเช่น โครงการนิทานสองสายน้ำ (Tale of Two Rivers) ซึ่งจัดกิจกรรมที่ กาดกองเก่า บ้านหาดไคร้ ต.เวียง อ.เชียงของ จ.เชียงราย และที่กรุงเทพมหานคร เป็นการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และการมีส่วนร่วมของประชาชนที่อาศัยอยู่รอบๆ แม่น้ำโขง และแม่น้ำมิสซิสซิปปี