ThaiPublica > สู่อาเซียน > EXIM จับมือ NEXI ปิดความเสี่ยงผู้ประกอบการไทย-ญี่ปุ่น จับโอกาสใหม่การค้าการลงทุนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

EXIM จับมือ NEXI ปิดความเสี่ยงผู้ประกอบการไทย-ญี่ปุ่น จับโอกาสใหม่การค้าการลงทุนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

9 มิถุนายน 2023


เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566 ดร.พสุ โลหารชุน ประธานกรรมการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) พร้อมด้วยนายโอบะ ยูอิจิ อุปทูตรักษาสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนา “EXIM Thailand and NEXI Collaboration: A New Chapter Begins” จัดโดย EXIM BANK ร่วมกับองค์กรรับประกันแห่งประเทศญี่ปุ่น (Nippon Export and Investment Insurance : NEXI) เพื่อสนับสนุนความรู้ โอกาส และเครื่องมือทางการเงินทั้งสินเชื่อและเครื่องมือป้องกันความเสี่ยง โดยมีผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่นจำนวนกว่า 100 คน เข้าร่วมงาน ทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่นเข้าถึงโอกาสใหม่ ๆ ด้านการค้าและการลงทุนในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง โดยมี ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK นายอัตสึโอะ คุโรดะ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NEXI นายจุนนิชิโระ คุโรดะ ประธาน องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น สำนักงานกรุงเทพ(Japan External Trade Organization:JETRO) นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และนางอารดา เฟื่องทอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมเป็นวิทยากร ณ โรงแรมคาเพลลา กรุงเทพ

ดร.พสุ โลหารชุน ประธานกรรมการ EXIM BANK เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยเฉพาะ สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เป็นตลาดใหม่ (New Frontiers) ที่มีศักยภาพสูงด้านการค้าและการลงทุน ด้วยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะแรงงานราคาถูก ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ จำนวนผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น การขยายตัวของชุมชนเมืองและการพัฒนาอุตสาหกรรม เสถียรภาพทางการเมือง ที่เป็นศักยภาพดึงผู้ลงทุนจากต่างประเทศและไทยให้เข้ามาลงทุน

เศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงทะยอยฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 โดยสปป.ลาว เติบโต 2.3% กัมพูชา5% และเวียดนาม 8% แต่การขยายตัวของแต่ละประเทศแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับโครงสร้างเศรษฐกิจและปัจจัยภายในของแต่ละประเทศ

ในปี 256 6 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) คาดการณ์ว่า สปป.ลาวจะขยายตัว 5% ส่วนเวียดนามจะชะลอตัวลงมาที่ 5.8% เป็นผลจากการเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เพราะเวียดนามมีความเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานโลกสูงมาก

กลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้โขงยังมีศักยภาพสูงในการดึงผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่น ให้เป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่เข้าไปเติมเต็มและเชื่อมโยงกับ Supply Chain การค้าโลก และยังจะขยายตัวได้อีก จากปัจจัยค่าจ้างแรงงานที่ต่ำ ผู้บริโภคระดับกลางที่มีจำนวนสูงขึ้น รวมทั้งข้อตกลงการค้าเสรี(Free Trade Agreement-FTA)ระดับทวิภาคีและพหุภาคี ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดผู้ประกอบการจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกให้หลั่งไหลเข้าไปลงทุนเพื่อการพัฒนาประเทศ รวมถึงใช้ประเทศเหล่านี้เป็นฐานการผลิตสินค้าและดำเนินธุรกิจบริการ รองรับการอุปโภคบริโภคภายในประเทศและส่งออกไปยังประเทศที่สาม อาทิ จีนและอินเดีย

ดร.พสุ โลหารชุน ประธานกรรมการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

นายโอบะ ยูอิจิ อุปทูตรักษาสถานเอกอัครราชทูญี่ปุ่นประจำประเทศไทยกล่าวว่า การจัดงานสัมมนาในครั้งนี้เป็นการจัดขึ้นครั้งแรกในรอบ 5 ปีหลังจากผ่านพ้นวิกฤติโควิด ขณะที่ NEXI มีความสัมพันธ์กับ EXIM ผ่านความร่วมมือเพื่อสนับสนุนภาคเอกชนไทยในการส่งออกมา 15 ปีตั้งแต่ปี 2552 มาอย่างต่อเนื่อง แม้มีการปรับเปลี่ยนในเชิงนโยบาย เช่น นโยบาย BCG แต่การส่งออกก็ยังมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจ

ปัจจุบันมีบริษัทญี่ปุ่นในไทยร่วม 6,000 บริษัท ความร่วมมือระหว่าง NEXI กับ EXIM ในแง่การผลิตส่งผลให้ไทยก้าวสู่ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำในเอเชีย

นายยูอิจิกล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง NEXI กับ EXIM กำลังก้าวสู่ new chapter เนื่องจากหลายปัจจัย รวมทั้งบริษัทญี่ปุ่นและบริษัทไทยต่างพร้อมที่จะสนับสนุนนโยบายการลดคาร์บอนในประเทศที่ 3 ตามแนวคิด Asia Zero Emissions Community(AZEC) เพื่อสร้างสังคมที่ปลอดคาร์บอน สอดคล้องกับเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของทั้งไทยและญี่ปุ่น โดยที่การลดคาร์บอนนั้นต้องเหมาะสมกับสภาวะของประเทศนั้นๆที่เผชิญอยู่

“กุญแจสู่ความสำเร็จคือ co-creation จากมีผู้ส่วนได้ส่วนเสียจากญี่ปุ่นและไทย รวมทั้งการสร้างส่วนร่วมระหว่างกัน”

ปีนี้เป็นที่ครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ของญี่ปุ่นกับอาเซียน ซึ่งเป็นความสัมพันธ์แบบใจถึงใจ ฉันท์มิตร ไม่เป็นที่กังขา ญี่ปุ่นจะยังคงสนับสนุนไทยในอาเซียนต่อไป

นายโอบะ ยูอิจิ อุปทูตรักษาสถานเอกอัครราชทูญี่ปุ่นประจำประเทศไทย

จับมือปิดความเสี่ยง SMEs ไป CLV

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า NEXI และ EXIM ได้มีความร่วมมือระหว่างกันมากว่า 13 ปีแล้ว และเข้าสุ่ก้าวใหม่ความร่วมมือระหว่าง EXIM BANK และ NEXI ในโลกการค้ายุคใหม่มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความร่วมมือในการพัฒนาเครื่องมือทางการเงิน ทั้งบริการประกันการส่งออกและการลงทุน และการรับประกันต่อ เพื่อคุ้มครองความเสี่ยงทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศให้แก่ผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่น ขยายผลสู่การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในภูมิภาคเอเชียร่วมกัน ครอบคลุมการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค การพัฒนาทักษะและฝีมือแรงงาน ตลอดจนการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยี

ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าใหญ่อันดับ 3 ของไทยด้วยมูลค่ารวม 59.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ มีสัดส่วน 10% ของมูลค่าการค้าโดยรวมของไทย ส่วนการลงทุนระหว่างญี่ปุ่นกับไทยก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยการลงทุนของญี่ปุ่นที่เข้ามาไทยเติบโต 5% ส่วนการลงทุนของไทยเข้าไปในญี่ปุ่นเติบโต 9% “เมื่อไรที่มีพันธมิตรแล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นที่ทุกคนจะได้ประโยชน์”

โดยทั้งสองหน่วยงานจะส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่นมีความพร้อมที่จะเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจระหว่างประเทศได้มากขึ้นอย่างมั่นใจ โดยเฉพาะในตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ อาทิ ประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงซึ่งมีความคุ้นเคยกับวัฒนธรรมและพฤติกรรมผู้บริโภคในเอเชียที่คล้ายคลึงกัน EXIM BANK จะใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญของธนาคารในการส่งเสริมการส่งออกและการลงทุน โดยการเติมความรู้ โอกาสทางธุรกิจ และเงินทุน ตลอดจนเครื่องมือบริหารความเสี่ยงทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK

ทั้งนี้ EXIM BANK ได้ดำเนินธุรกิจให้บริการประกันการส่งออกตั้งแต่เปิดดำเนินงานอย่างเป็นทางการในปี 2537 มีปริมาณธุรกิจรับประกันการส่งออกสะสมจำนวน 1.82 ล้านล้านบาท ยอดจ่ายค่าสินไหมทดแทนจำนวนรวมประมาณ 1,400 ล้านบาท โดย 76% เกิดจากกรณีผู้ซื้อในต่างประเทศปฏิเสธการชำระเงินค่าสินค้า รองลงมาประมาณ 23% เกิดจากผู้ซื้อล้มละลาย และอีก 1% เกิดจากผู้ซื้อปฏิเสธการรับมอบสินค้า ประเทศที่มีมูลค่ายื่นขอรับสินไหมทดแทนสูงสุด ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์ สินค้าที่มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนสูงสุด ได้แก่ ข้าว อัญมณีและเครื่องประดับ และอะลูมิเนียม

“ความร่วมมือกับ NEXI ในครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งภารกิจของ EXIM BANK ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังที่มุ่งดำเนินบทบาทธนาคารเพื่อการพัฒนา โดยขยายความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ ติดอาวุธให้ผู้ประกอบการไทยสามารถพัฒนาเป็นนักรบเศรษฐกิจในตลาดโลกได้มากขึ้น ขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคเอเชีย ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม” ดร.รักษ์ กล่าว

จากการคาดการณ์ขององค์กรรับประกันชั้นนำของโลก โควิด-19 และสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ ทำให้ธุรกิจล้มละลายเพิ่มสูงขึ้นกว่า 14% จากปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะ SMEs ซึ่งมีอำนาจการต่อรองต่ำและเงินทุนหมุนเวียนไม่มากนัก จึงควรต้องบริหารความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้า โดยกระจายตลาดส่งออกไปยังตลาดที่ยังเติบโตหรือมีกำลังซื้อสูง เช่น ตลาดใหม่ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เอเชียใต้ เป็นต้น และใช้เครื่องมือทางการเงินในการบริหารจัดการความเสี่ยงดังกล่าว

“ในกลุ่มประเทศ CLV เศรษฐกิจยังขยายตัวเนื่อง โดยสปป.ลาวเติบโต 4.2% กัมพูชา 6.3% เวียดนาม 6.7% ฉะนั้นตัวเลขอัตราการเร่งของเศรษฐกิจขนาดนี้ถือว่ามีคุณค่ามากในโลกที่อยู่ในช่วงที่เรียกว่า mild recession เศรษฐกิจถดถอยแบบอ่อน”

ในขณะเดียวกันเมื่อรวมกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง 5 ประเทศเข้าด้วย เป็น CMLVT ก็จะมีประชากรที่จะสร้างธุรกิจและการลงทุนได้ถึง 250 ล้านคน และมีประชากรในวัยแรงงานตั้งแต่อายุ 15-64 ปีสูงในอันดับต้นๆของโลก หมายถึงว่าจะสามารถมีแรงงานที่มีมากและมีราคาอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ ยกตัวอย่าง สปป.ลาวค่าแรงงานขั้นต่ำอยู่ที่ 89 บาทต่อวัน นอกจากนี้หากนำ FTA มารวมกัน 3 ใน 5 ประเทศ CLMVT มี FTA อยู่กว่า 30 ฉบับ จึงเป็นการดึงดูดการลงทุนจากหลายประเทศ

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจจะขยายธุรกิจ การค้า การลงทุน ดร.รักษ์กล่าวว่า สามารถเริ่มต้นได้จาก กัมพูชา เพราะมีกฎเกณฑ์ที่ตรงไปตรงมาและไม่ยาก มีข้อจำกัดการค้าและการเงินน้อย และความเป็นเมืองมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ถัดมาคือ สปป.ลาว ที่มีความท้าทายมากขึ้น แต่เป็นประเทศที่มียุทธศาสตร์ Land Link ทั้ง Transport Link โดยมีทางรถไฟความเร็วสูงและมีโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งมี Energy Link และมีต้นทุนการผลิตต่ำ โดยมีค่าแรงต่ำเป็นอันดับสองในอาเซียนรองจากเมียนมา ที่สามารถสร้างการเติบโตได้

สุดท้ายคือเวียดนาม ที่จัดว่างเป็นดาวรุ่ง เพราะมีตลาดที่ใหญ่และเติบโตอย่างแข็งแกร่ง มีผู้บริโภคชั้นกลางที่กำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้น รวมทั้งอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของโลกหลายด้านและมีอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตามดร.รักษ์กล่าวว่า SMEs ที่ต้องการจะขยายธุรกิจไปในกลุ่มประเทศเหล่านี้ต้องมีความรู้ โดย JETRO ก็เป็นอีกหนึ่งแหล่งความรู้ นอกเหนือจากส่งเสริมความรู้ของ EXIM ขณะเดียวกัน EXIM ก็ให้บริการ business matching แก่ผู้ประกอบการที่สนใจ

นายอัตสึโอะ คุโรดะ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NEXI

ธุรกิจยุคนี้ Just in Time ไม่พอ ต้อง Just in Case ด้วย

นายอัตสึโอะ คุโรดะ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NEXI กล่าวว่า ไม่ได้เดินทางมาเยือประเทศไทยมากกว่า 3 ปีแล้วนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2020 แต่ยังจำได้ถึงความร่วมมือของไทยกับญี่ปุ่นในการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม การพัฒนาบุคคลกร ร่วมกับสถาบันการศึกษา ในช่วงนั้นประเทศไทยผลิตรถยนต์ได้ถึง 1 ล้านคัน ที่มีการฉลองอย่างยิ่งใหญ่

นายคุโรดะให้ข้อมูลว่า NEXI ก่อตัั้งในปี 2017 จากเดิมปี 1995 เป็นเพียงแผนกหนึ่งในน่วยงานของรัฐบาล ต่อมาสมัยนายกรัฐมนตรีจุนอิชิโร โคะอิซุมิ ได้อนุมัติให้แยกตัวออกเป็อยู่ในรูปบริษัททีมีรัฐบาลถือหุ้นเต็ม 100% จึงมีบทบาทต่อการขยายการลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันภาระผูกพันของ NEXI มีมูลค่า 14.33 ล้านล้านเยน ดำเนินการประกันความเสี่ยงให้กับลูกค้าในอุตสาหกรรมการผลิต โดยให้บริการประกันความเสี่ยงแก่บริษัทญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในไทย บริษัทญี่ปุ่นที่ขยายการลงทุนไปต่างประเทศ โดยคุ้มครองความเสี่ยงจากคู่สัญญา เช่น คู่สัญญาไม่ชำระเงิน 3 เดือนขึ้นไป คู่สัญญาไม่ส่งมอบสินค้าตามที่ตกลงไว้ รวมไปถึง ความเสี่ยงทางการเมือง เช่น การปฏิวัติ รวมไปถึงการคว่ำบาตรทางเศรษบกิจ ภัยพิบัติจากธรรมชาติ และโรคระบาด

สำหรับการให้ความคุ้มครองบริษัทญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในไทยนั้น NEXI ไม่สามารถคุ้มครองบริษัทลูกที่มีบริษัทแม่อยู่ในญี่ปุ่นได้โดยตรง เพราะไม่มีใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในไทย จึงได้ร่วมมือกับ EXIM เพื่อให้บริการบริษัทญี่ปุ่นที่อยู่ในไทย

NEXI ยังได้พัฒนา Country Risk Map ขึ้นเพื่อวัดความเสี่ยง 76 ประเทศทั่วโลก แบ่งเป็นระดับความเสี่ยงตั้งแต่ A ไปจนถึง H ซึ่งหมายถึง ความเสี่ยงสูง โดย NEXI กำหนดหมวดหมู่ประเทศ/ภูมิภาคตามการตัดสินใจของ OECD Country Risk Expert Meeting ซึ่ง NEXI เข้าร่วมในฐานะสมาชิก การประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านความเสี่ยงของประเทศในกลุ่ม OECD จะประเมินความเสี่ยงของแต่ละประเทศโดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ รวมถึงการชำระหนี้ เศรษฐกิจ และสภาวะทางการเงิน

นายคุโรดะ ปิดท้ายว่า “การระบาดของโควิดมีผลกระทบหลายด้าน โลกมีการทวนกระแสโลภาภิวัตน์ (Deglobalization)มากขึ้น ดังนั้นการทำธุริกจแบบ Just in Time อย่างเดียวถือว่าไม่พอแล้ว ต้อง Just in Case ด้วยเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เช่น การตั้งโรงงานไว้หลายแห่ง การมีไลน์การผลิตที่มากขึ้น รวมทั้งใช้การประกันการค้าการส่งออกเพื่อลดความเสี่ยง”

Thailand Plus One เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน

นายจุนนิชิโระ คุโรดะ ประธาน องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น สำนักงานกรุงเทพ(JETRO)กล่าวว่า JETRO รวมกับ EXIM สนับสนุนบริษัทญี่ปุ่นในไทย เป็นภารกิจ ที่ไม่ต่างจาก NEXI ปัจจุบัน JETRO มีสำนักงาน ใน 55 ประเทศจำนวน 76 แห่ง โดยอยู่ใน อาเซียน 9 แห่ง สำหรับที่ประเทศไทยได้เข้ามาตั้งสำนักงานตั้งแต่ปี 1954 และเป็นสำนักงานในอาเซียนที่ดำเนินงานมานานที่สุด โดยจะครบ 70 ปีในปีหน้า

ในไทยมีชาวญี่ปุ่นเข้ามาพำนักมากถึง 80,000 คน แม้จะลดลงไปบ้างในช่วงหลังโควิด แต่มากที่สุดนอาเซียน รองลงมาเป็น สิงคโปร์และมาเลเซีย ส่วนบริษัทญี่ปุ่นที่ทำธุรกิจในไทยมีจำนวน 6,000 แห่ง รองลงมาคือ เวียดนาม อินโดนีเซียและ ฟิลิปปินส์ตามลำดับ

สำหรับบริษัทญี่ปุ่นที่ทำธุรกิจในไทย ราว 40% อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิต รองลงคือ ภาคค้าปลีกและการบริการ ไทยจึงเป็นฐานการผลิตขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น การลงทุนโดยตรงของญี่ปุ่นในไทย(FDI) มีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 1 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และจำนวนสัญญาก็สูงเป็นอันดับ 1 เช่นกัน แต่การลงทุนจาก จีน ไต้หวัน ในไทยก็เพิ่มขึ้นมากจนใกล้เคียงกับญี่ปุ่น การลงทุนของญี่ปุ่นส่วนใหญ่เป็นอุตหสากรรมเครื่องจักร โลหะ อิเล็กทรอนิกส์ และเคมี

นายจุนนิชิโระ คุโรดะ ประธาน องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น สำนักงานกรุงเทพ(JETRO)

นายคุโรดะกล่าวว่า เหตุผลที่ญี่ปุ่นเลือกไทย มีหลายปัจจัย ในการตัดสินใจ แต่มีสำคัญมี 2 ข้อ คือ 1) มีลูกค้าและมีฐานการผลิตสินค้า 2) มีการรวมตัวของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี

อย่างไรก็ตามการเขามาลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นก็มีปัญหาและอุปสรรค คือ

    1)มีการแข่งขันสูง ทั้งจากบริษัทญี่ปุ่นด้วยกันเองและการแข่งขันจากบริษัทไทย รวมทั้งยังมีบริษัทจากประเทศ อื่นๆเข้ามาแข่งขันด้วย
    2) ค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจเพิ่มขึ้นหลายด้าน โดยต้นทุน พลังงาน วัตถุดิบ แรงงาน โลจิสติกส์สูงขึ้น โดยค่าแรงงานของไทยแพงที่สุด แม้ถูกกว่า จีน มาเลเซีย แต่แพงกว่าอินโดนีเซีย เวียดนาม และกัมพูชา ขณะที่เมียนมาค่าแรงงานถูกสุด
    3)ค่าเงินไทยยังผันผวน

อัตราส่วนการส่งออกต่อยอดขายของบริษัทญี่ปุ่นในไทยอยู่ที่ 31.8% ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นในอาเซียน และใกล้เคียงกับอัตราส่วนการส่งออกต่อยอดขายของบริษัทญี่ปุ่นในจีนที่ 31.3% ขณะที่อัตราส่วนการส่งออกต่อยอดขายของบริษัทญี่ปุ่นในเอเชียอยู่ที่ 38.6% เพิ่มขึ้น แต่อัตราส่วนการส่งออกต่อยอดขายของบริษัทญี่ปุ่นในเวียดนามสูงถึง 51.4% สะท้อนว่า การผลิตในเวียดนามเพื่อการส่งออกมากกว่าไทย แต่ไทยมีบทบาทอย่างมากในห่วงโซ่อุปทานในอาเซียน

นายคุโรดะกล่าวถึงอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยว่า ปัจจุบันผลิตได้ถึง 2 ล้านคันต่อปี โดยผลิตเพื่อตลาดในประเทศ 50% และเป็นการฐานการผลิตเพื่อการส่งออก 50% ซึ่งไม่วช่แค่เอเชียเท่านั้น แต่มีกลุ่มประเทศ oceania และตะวันออกกลางอีกด้วย

ที่มา:JETRO

5 อันดับแรกของประเทศที่ไทยส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปและชิ้นส่วนมากสุด ได้แก่ ออสเตรีย สหรัฐ ญี่ปุ่น เวียดนาม และจีน แต่ในด้านการนำเข้า ไทยนำเข้าจากอินโดนีเซียมากเป็นอันดับ 4 ด้านรถยนต์ไฟฟ้า(EV) นั้น มียอดขายเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและคาดว่าในปีหน้า การผลิตรถยนต EV จะเริ่งจริงจังมากขึ้น

นายคุโรดะกล่าวว่า ขณะนี้บริษัทญี่ปุ่นในไทยกำลังนิยมแนวคิด Thailand Plus One โดยบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยกำลังหาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการผลิต รวมถึงการโยกย้ายโรงงานในอาเซียน เนื่องจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและกำไรที่ลดลงในประเทศไทย ซึ่งสปป.ลาวและกัมพูชา เป็นตัวเลือกที่โดดเด่น เนื่องจากมีพื้นที่ติดกันจึงย้ายฐานจากไทยได้ง่าย โดยกัมพูชาเองก็มีเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดน แถวปอยเปตซึ่งมีบริษัทญี่ปุ่นเข้าไปตั้งโรงงานแล้ว 9 ราย รวมทั้งมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามกฎหมายและสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ ไฟฟ้าและอิเลกทรอนิกส์ อย่างมาก ส่วนสปป.ลาวมีจุดเด่นตรงค่าแรงถูก เดินทางไปง่าย และภาษาที่ใช้ใกล้เคียงกันกับไทย

นายคุโรดะกล่าวว่า JETRO คาดหวัง ต่อ NEXI และ EXIM ไว้ 3 ข้อ ด้วยกันคือ

    1. สนับสนุนบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยในการนำเข้าและส่งออกและการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนและเพื่อสร้างและเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานในอาเซียน รวมถึงอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า
    2.สนับสนุน “Thailand Plus One” ซึ่งเป็นการดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบการผลิตทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน
    3.ส่งเสริมโครงการความร่วมมือระหว่างบริษัทญี่ปุ่นและบริษัทไทย ในประเทศที่สามรวมถึงภูมิภาคอาเซียน

การลงทุนในไทยเป็น safe zone ค้าขายได้กับทั่วโลก

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการ BOI กล่าวว่า สถานการณ์ในโลกณะนี้เอื้อต่อการลงทุนในภูมิภาคอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น ESG, decarbonization รวมทั้งวิกฤติหลายด้านทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ ที่กลายเป็น tech war ไปจนถึงสงครามยูเครน กระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน ยุโรปมีความเสี่ยงในด้านพลังงาน ตลอดจนความขัดแย้งระหว่างจีนกับไต้หวัน ทั้งหมดนี้ทำการลงทุนเกิดเทรนด์ใหม่ 3 มิติ

    1) Diversifed investment บริษัทชั้นนำต่างๆมองหาแหล่งลงทุนใหม่ที่มีความปลอดภัยมีความมั่นคง
    2) Green Investment จากกระแส ESG และ decarbonization ทำให้บริษัทต่างๆมองหาแหล่งลงทุนที่มีนโยบายสนับสนุนการลงทุนในด้านนี้ที่ชัดเจน
    3) Smart Manufacturing เป็นผลจากการที่หลายประเทศเข้าสู่สังคมสูงวัย ค่าแรงสูงขึ้นทำให้ต้องมีการปรับตัวไปสู่ Smart Manufacturing มากขึ้น

“ทั้งสามเรื่องนี้เป็นเทรนด์สำคัญที่เกิดขึ้นในอนาคต ทำให้ spotlight ของการลงทุนโลกฉายมาที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเมื่อมองลึกลงไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พื้นที่ที่มีศักยภาพสูงคือ พื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง ที่อยู่ใจกลางอาเซียน และในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง หนึ่งในประเทศที่มีความโดดเด่นอย่างมาก ก็คือ ประเทศไทย ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับสองของอาเซียน มีศักยภาพจะเป็น hub หรือ gateway ในการที่บริษัทชั้นนำจะเข้าสู่ตลาด หรือพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง แม้แต่ตลาดของอาเซียนในภาพรวมทั้งหมด”

นอกจากนี้ไทยยังเป็นสมาชิกสำคัญของข้อตกลง RCEP ระหว่างอาเซียนกับ 5 ตลาดสำคัญที่เป็นตลาดใหญ่ RCEP เป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลกครอบคลุมกว่า 30% ของ GDP โลก จึงเป็นโอกาสที่จะเกิดกับภูมิภาคนี้ ลุ่มแม่น้ำโขง รวมทั้งประเทศไทยจากนี้ไป

สำหรับศักยภาพของประเทศไทยในการลงทุน นอกจาก strategic location แล้วยังโดดเด่นในด้านโครงสร้างพื้นฐาน มี supply-chain ที่ครบวงจร มีบุคคลากรที่มีคุณภาพสูง มีบรรยากาศสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ มีสิทธิประโยชน์ที่จูงใจจากภาครัฐ

ที่สำคัญคือสองเรื่องสุดท้ายประเทศไทยมีนโยบายในเรื่อง green investment อย่างชัดเจน และประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีความสามารถในการจัดหาพลังงานสะอาดให้กับภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างมาก บริษัทชั้นนำมีเป้าหมายเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน carbon neutrality และหลายบริษัทมุ่งมั่นที่จะใช้พลังงานหมุนเวียนเต็ม 100% ในกิจการ เพระาฉะนั้นบริษัทเหล่าก็จะมองหาแหล่งลงทุนที่มีความมั่นใจว่าสามารถในการจัดหาพลังงานสะอาดให้ได้

“ญี่ปุ่นเองมีนโยบาย green growth energy อย่างชัดเจนรวมทั้ง Asia Zero Emissions Community เป็นการส่งสัญญานว่าให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ประเทศไทยมีความได้เปรียบตรงที่มีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนสูง และมีแผนชัดเจนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตของพลังงานหมุนเวียน และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ร่วมกับกระทรวงพลังงานก็ได้มีการกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้า สีเขียว (Utility Green Tariff) การจัดหาพลังงานสะอาดที่ระบุแหล่งผลิตให้กับอุตสาหกรรมได้ ทั้งหมดเพื่อตอบสนองบริษัทชั้นนำที่เข้ามาลงทุนในอนาคต”

นอกจากนี้ท่ามกลางความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ประเทศไทยมีความชัดเจนว่ามีความเป็นกลางและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกประเทศ หลายคนเรียกไทยว่า conflict free zone การลงทุนในไทยจึงเป็น safe zone สามารถทำการค้าขายได้ทั้งกับสหรัฐอเมริกา จีน ไต้หวัน ยุโรป เป็นจุดแข็งหนึ่งของไทยทำให้นักลงทุนหันมาลงทุนและมองไทยมากขึ้น และไทยมีความสามารถในการที่จะเป็น hub ของภูมิภาคได้ในหลายด้านทั้ง Creative hub, BCG hub, Tech hub, logistics and business hub และ talent hub ทำให้ต่างชาติใช้ไทยเป็น springboard ไปยังประเทศอื่นได้

นายนฤตม์กล่าวถึงการลงทุนที่เชื่อมโยงกับ CLV ว่า การเชื่อมโยงด้าน supplychain กับกลุ่มประเทศ CLV นั้นมีอยู่แล้วใน 2 รูปแบบ คือ หนึ่ง ผลิตในไทยและส่งประกอบในต่างประเทศ สองมีฐานการผลิตในไทยแต่ส่งชิ้นงานบางอย่างไปทำบางขั้นตอนในต่างประเทศ แล้วส่งกลับมาผลิตชิ้นงานในขั้นสุดท้าย ไทยเองเมื่อพัฒนามาถึงระดับต้องยกระดับไปสู่การผลิตที่ยากขึ้นท้าทายขึ้นมีความซับซ้อนมากขึ้น ขณะที่ของที่ไม่ซับซ้อนมากและใช้แรงงานเข้มข้น ก็จำเป็นต้องไปหาที่ที่เหมาะสม

การเชื่อมโยงใน supply chain ที่ชัดเจนคือชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิลเ็กทรอนิกส์ เครื่องจักรอุปกรณ์ ในอุตสาหกรรมยานยนต์บริษัทไทยหลายรายก็ส่งชิ้นส่วนไปอินโดนีเซีย เวีดยนาม เช่นเดียวกับบริษัทญี่ปุ่นหลายรายก็ตัดบางขั้นตอนไปประเทศอื่นที่มีต้นทุนต่ำกว่า แต่ส่งมาที่ไทยในขั้นตอนที่ใช้เทคโนโลยี ใช้องค์ความรู้ เช่นบริษัทมินิแบ มิตซูบิชิ อิเล็กทริค ที่ใช้ลาว กัมพูชาเป็นฐานในการทำบางขั้นตอน

“สำหรับโอกาสทางธุรกิจใหม่ แต่ละประเทศมีจุดแข็งที่แตกต่างกัน มีเป้าหมายในการพัฒนาประเทศไม่เหมือนกัน แต่ของไทยชัดเจนว่า BoI ส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายในอุตสาหกรรมเดิมและสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่”

BoI ได้ประกาศยุทธศาสตร์ใหม่ในต้นปีที่ผ่านมา ได้กำหนดอุตสาหกรรมที่ให้ความสำคัญอันดับต้นๆไว้ 5 สาขา คือ BCG, EV, Smart Electronics และ Digital Creative Industry ที่มองว่าจะเป็น “game changer สำหรับประเทศไทย”

นายนฤตม์กล่าวถึงสาขาที่ญี่ปุ่นอาจจะสนใจเป็นพิเศษว่า BCG ครอบคลุมหลายอุตสาหกรรมทั้ง เกษตร อาหารและพลังงาน อุตสาหกรรมชีวภาพ อุตสาหกรรมด้านการแพทย์ reycling และ waste management ถัดมาคือ รถยนต์ที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ EV ไทยเป็นผู้นำในการผลิตรถยนต์ในอาเซียน 2 ล้านคันต่อปี และติดอันดับ 10 ของโลก ด้วย “กำลังสำคัญของบริษัทญี่ปุ่นที่ทำให้ไทยมาถึงจุดนี้ได้”จากการเป็นผู้ผลิตหลักในไทยทุกวันนี้

ด้าน Smart Electronics ไทยมีความโดดเด่นในการผลิตกลางน้ำและปลายน้ำมานาน แต่ต้องการยกระดับไปสู่ upstream มากขึ้น เช่น เซมิคอนดักเตอร์ที่ทั่วโลกต้องการ รวมไปถึง เวเฟอร์ ซึ่ง BoI กำลังศึกษาและคาดว่าจะเห็นชัดเจนใน 1-2 ปีนี้ว่าจะมีโรงงานเวเฟอร์แห่งแรกในไทย ส่วน Digital นั้นส่งเสริมทั้งระบบนิเวศ ทั้งซอฟต์แวร์ ทั้ง digital content โครงสร้างพื้นฐานและ ecosystem อื่น

นอกจากนี้ยังส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานภูมิภาค (Regional Headquarter)ในไทย ที่ผ่านมาส่งเสริมไปแล้วกว่า 400 โครงการ นับตั้งแต่ปี 2558 ถึงเดือนเมษายน 2565 โดยบริษัทญี่ปุ่นมีสัดส่วน 40.3% จากการที่มีฐานธุรกิจในไทยมานาน

คุณภาพสินค้าไทยยังครองใจผู้บริโภค CLV

นางอารดา เฟื่องทอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในปี 2565 ที่ผ่านกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงมีส่วนในการส่งออกของไทย โดยจากมูลค่าการค้ารวม 590,258.53 ล้านเหรียญสหรัฐนั้น CLV มีส่วนแบ่งอยู่ 38,873.25 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้น 9.53% และมีส่วนแบ่งการส่งออก 26,450.38 ล้านเหรียญสหรัฐ จากมูลค่าการส่งออกรวม 287,067.86 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้น 5.54%

“กลุ่มประเทศ CLV เป็น 3 ประเทศที่เราเชื่อมั่นว่า ศักยภาพที่ไทยมีอยู่ ภาพลักษณ์สินค้าไทยที่ดี ภาพลักษณ์ที่ไทยเป็นแหล่งอุตสาหกรรมที่ดีมีคุณภาพ เป็นจุดหนึ่งที่คิดส่าจะสามารถเชื่อมการค้า การลงทุนการส่งออกที่อยู่ในประเทศนี้และทำให้ไทยเติบโตการส่งออกได้ตามเป้า”

นางอารดากล่าวว่า ไทยมีสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ในตลาดเหล่านี้ ทั้งกัมพูชา สปป.ลาว ส่วนที่เวียดนามมีตั้งในทางเนือและทางตอนใต้ของประเทศ เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคต่างกันด้วยลักษณะของประเทศ

สำหรับสินค้าไทยที่ทั้ง 3 ประเทศนิยมและทำให้สินค้าไทยเข้มแข็งตลอด คือ สินค้าอุปโภคบริโภค โดยอาหารและเครื่องดื่มติดอันดับหนึ่งในกลุ่มนี้ สินค้า health and wellness มีภาพลักษณ์ที่ดีมากทั้งในกัมพูชาและสปป.ลาว ส่วนหนึ่งจากราคาที่ไม่สูง นอกจากนี้คุณภาพที่เหมาะกับคนเอเชีย ขณะที่สินค้าอาหารเสริมก็เป็นดาวรุ่งที่ได้รับความเชื่อถือ ตลอดจนสินค้าแม่และเด็กเป็นสินค้าที่ไทยเจาะตลาดได้เร็วมาก โดยเฉพาะในเวียดนาม ถือว่าเป็น new chapter ของการค้า

สามประเทศยังมีโอกาสทั้งด้านตลาดและ supply chain

ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี รองกรรมการผู้จัดการ EXIM Bank กล่าวถึงโอกาสการลงทุนใน CLV ว่า EXIM ให้คำแนะนำแก่ SMEs ที่ต้องการขยายไป CLV อยู่เสมอว่า ควรเริ่มจากกัมพูชาเป็นตลาดแรก เพราะคุ้นเคยกับสินค้าไทยค่อนข้างดีและค้นเคยกับสกุลเงินของไทยค่อนข้างดี รวมทั้งมีความชื่นชอบในสินค้าไทย ดังนั้นการค้าการลงทุนมีโอกาสค่อนข้างมาก และเป็นตลาดที่ปรับตัวง่าย ทั้งไทยปรับตัวเข้าหากัมพูชาและกัมพูชาปรับตัวเข้าหาไทย

“ทั้งสามประเทศนี้นอกจากมีปัจจัยในประเทศแล้ว ยังมีแรงงาน ทั้งค่าแรง พื้นที่อุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับไทยได้ค่อนข้างดี รวมทั้งแผนการลงทุนโครงสรเางพื้นฐาน ทั้งสามประเทศให้ความสนใจในโครงสร้างพื้นฐานอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง หรือพลังงาน เขื่อน พลังงานทางเลือก”

ด้านความยากง่ายของการลงทุนในสามประเทศนี้ดร.เบญจรงค์ กล่าวว่า ข้อดีคือทั้งสามประเทศรู้จักสินค้าไทย มั่นใจในคุณภาพ ซึ่งผู้ประกอบการก็ต้องรักษาคุณภาพไว้ ยกตัวอย่าง ในปีที่แล้ว EXIM ได้นำสินค้าcosmetics ไปทดลองตลาดในเวียดนาม ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี เพราะได้มาตรฐานและมีคุณภาพและราคาถูกตอบโจทย์ นอกจากนี้ทั้งสามประเทศยังเป็ฯฐานการผลิตเพื่อส่งออกด้วย FTA ที่มี

“ในการกระจายฐานการผลิต ไม่มีพื้นที่ใดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ perfect สำหรับผมมองว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อยู่ในหมุ๋เกาะ ต้นทุนโลจิสติกส์สูงมาก แต่ในกลุ่ม CLMV มีการเชื่อมเรื่องการจนส่งและมีทางเลือกขนส่งทางน้ำ เลียบชายฝั่งต้นทุนจะถูกกว่า”

สำหรับโอกาสที่เห็นตั้งแต่การบริโภค ผู้บริโภค จะทำให้ของที่ผลิตในไทยสามารถ 1)กระจายไปขายในประเทศเหล่านี้ได้ 2) sourcing input จากประเทศเหล่านี้ 3)กระจายการผลิต ในอุตสาหกรรมที่ต้องการพึ่งพา FTA ไปสู่ตลาดอื่นๆได้ โดยทียังบริหารต้นทุนได้

อย่างไรก็ตาม CLV มีความเสี่ยงด้วย ในระยะสั้น สปป.ลาวยังมีความเสี่ยงเรื่องค่าเงิน โดยเฉพาะในปีนี้ที่ดอกเบี้ยยังสูง ต้นทุนการนำเข้าพลังงานสูง จึงยังมีปัญหาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน แต่ไม่ใช่เข้าไปไม่ได้ เข้าไปได้ หนึ่งในพลังงานที่ยังไปได้ดีคือ พลังงาน ส่วนกัมพูชา หนี้ครัวเรือนเริ่มสูง แสดงว่าการบริโภคอาจจะเริ่มสะดุดบ้างและเติบโตได้ไม่มากเท่า แต่ทันทีที่ประเทศเริ่มเปิดก็มีรายได้จากการท่องเที่ยวเข้า แรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนจะเริ่มคลาย

ขณะที่เวียดนามโตดีที่สุดในภูมิภาค ในเอเชีย ที่ผ่านมาอาจจะมีข่าวเรื่อง ภาคอสังหาริมทรัพย์ ภาคธนาคารในเวียดนามบ้าง แต่เวียดนามมีธนาคารประมาณ 100 แห่ง ธนาคารที่รัฐบาลเข้าไปบริหารจัดการเป็นธนาคารที่ไม่ใหญ่มาก แะที่เป็นข่าวทั้งในอสังหาริมทรัพย์ เพราะรัฐตั้งใจเข้าไปบริหารจัดการก่อนที่จะมีปัญหาเกิดขึ้น

“ในภาพรวมจะเห็นได้ว่าในทุกประเทศ เมื่อมีความเสี่ยงเกิดขึ้นก็จะมี mitigation ด้วยตัวกลไกของเศรษฐกิจเอง หรือด้วยกลไกของภาครัฐในแต่ละประเทศ สำหรับในปีนี้และในระยะปานกลาง พื้นที่นี้ยังเป็นพื้นที่ที่มีความน่าสนใจอย่างมาก ทั้งในแง่การขยายตลาดและขยาย supply chain”