ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เลือกตั้งอย่างรับผิดชอบ 2566 > ชัยชนะพรรคก้าวไกล “เปลี่ยน” การเมืองไทยจากปากท้องสู่การเมืองอุดมการณ์

ชัยชนะพรรคก้าวไกล “เปลี่ยน” การเมืองไทยจากปากท้องสู่การเมืองอุดมการณ์

5 มิถุนายน 2023


ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า วิเคราะห์ ชัยชนะพรรคก้าวไกล เปลี่ยนการเมืองไทยจากการเมืองปากท้องสู่การเมืองอุดมการณ์ แต่ยังไม่วางใจว่าจะปิดประตูรัฐประหารหรือไม่ หากยังไม่ปฏิรูปกองทัพ ขณะที่พรรคการเมืองต้องปรับตัวครั้งใหญ่ หลัง voter เปลี่ยนสู่การเมืองใหม่

ที่มาภาพ : เพจพรรคก้าวไกล

ชัยชนะของ “พรรคก้าวไกล” บอกอะไรกับสังคมไทยบ้าง บทเริ่มต้นการสนทนาของ “สำนักข่าวไทยพับลิก้า” กับ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ที่ถามถึงการเปลี่ยนแปลงของการเมืองไทยหลังการเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ

“เซอร์ไพรส์ครับ ความเปลี่ยนแปลงมาเร็วกว่าที่คิดไว้” ดร.สถิตธร บอกว่า ผลการเลือกตั้งครั้งนี้คงสร้างความแปลกใจให้กับหลายคน เพราะไม่มีใครคิดว่าพรรคเพื่อไทยจะฟอร์มตก หรือแพ้พรรคก้าวไกล โดยผลโพลครั้งล่าสุดก่อนวันเลือกตั้งของสถาบันพระปกเกล้า จำนวนที่นั่งของพรรคเพื่อไทยยังถือเป็นอันดับหนึ่ง แม้จำนวนที่นั่งของพรรคก้าวไกลจะใกล้เคียงแต่ก็มาเป็นอันดับสอง

“เพื่อไทยผิดฟอร์มมากเกินไปจนทำให้ประหลาดใจ ผมคิดว่าคะแนนของพรรคเพื่อไทยความจริงน่าจะดีกว่านี้ เพราะจำนวนที่นั่งของ ส.ส. เกือบจะเท่ากับ ปี 2562 คือ 137 ที่นั่งขณะที่ปี 2566 รอบนี้มา 141 ที่นั่ง แม้จำนวน ส.ส. จะเพิ่มขึ้น แต่ก็เพราะระบบเอื้อ เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้วพรรคเพื่อไทยไม่ได้ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ แต่ครั้งนี้ได้ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์มา 30 ที่นั่ง แต่ ส.ส. เขตได้เกือบจะเท่าเดิมคือ 112 ที่นั่ง ”

สิ่งที่น่าจะประหลาดใจมากกว่าของการเลือกตั้งครั้งนี้สำหรับ ดร.สติธร คือ กระแส “ด้อมส้ม” ที่ทำให้พรรคก้าวไกลได้คะแนนชนิดที่ไม่มีนักวิเคราะห์คนไหนจะประเมินได้ว่า คะแนนเสียงในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนการเลือกตั้ง “ด้อมส้ม” จะกลายเป็นหัวคะแนนธรรมชาติที่ทำให้ชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ได้

ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า

กระแส “ด้อมส้ม” หักปากกาเซียนการเมือง

“เซอร์ไพรส์ กว่า ผมไม่คิดว่าเขาจะมาด้วยกะแส “ด้อม” ซึ่งน่าแปลกใจมากในครั้งนี้กระแสของพรรคก้าวไกล มีความเป็นด้อมที่แตกต่างจากกระแสของคุณธนาธร พรรคอนาคตใหม่ที่เป็นกระแสการเมืองของอุดมการณ์ ความแข็งแรงของความผู้นำ แต่ครั้งนี้กระแสด้อมไม่ต่างจากติ่งดาราเกาหลี ขณะที่ความมีอุดมการณ์ยังเหมือนเดิม”

ความหมายของ “ด้อมส้ม” ที่แตกต่างออกไปจากกระแสในช่วงพรรคอนาคตใหม่ เนื่องจากคำว่า “ด้อม” ย่อมาจากการเป็นคลับดารา หรือซีรีส์เกาหลี โดยคำว่า “แฟนด้อม” (fandom) เกิดจากคำศัพท์ “แฟนคลับ” (fanclub) ผสมกับคำว่า “คิงดอม” (kingdom) แปลว่า แฟนคลับที่สนับสนุนบุคคลหรือศิลปิน เช่น ด้อม New Jeans หรือชื่อซีรีส์เกาหลี หรือด้อม “ส้ม” ซึ่งเป็นสีสัญลักษณ์ของพรรคก้าวไกล

ดร.สติธร บอกว่า ด้วยบุคลิกของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และการตอบคำถามที่ชัดเจน ทำให้เกิด “ด้อมส้ม” และภาพจำเดิมของพรรคก้าวไกลที่มีนโยบายพรรคแบบสุดโต่งถูกมองข้ามไป แต่ก็ยังคงมีความเป็นอุดมการณ์การเมืองแบบ “มีเราไม่มีลุง” หรือการแก้ไขมาตรา 112 แต่เป็นเรื่องที่ด้อมส้มรับฟังได้ และยอมรับเหตุผลได้

แม้กระแสนิยมตัวบุคคลแบบนี้ ถ้าเปรียบเทียบในอดีต อย่างกรณีความนิยมต่อนายสมัคร สุนทรเวช หรือนายจำลอง ศรีเมือง ในช่วงเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครเมื่อหลายปีก่อน จะเป็นกระแสที่มาเร็วไปเร็ว แต่กระแสด้อมส้มในครั้งนี้อาจแตกต่างออกไป

ดร. สติธร มองว่า กระแส “ด้อมส้ม” ในครั้งนี้มีพัฒนาการต่อเนื่องมาจากพรรคอนาคตใหม่ จนมาเป็น “ด้อมส้ม” ในพรรคก้าวไกล ซึ่งถือเป็นการเติบโตที่แข็งแรง โดยจะเห็นได้จากความเคลื่อนไหวในโลกโชเซียลที่มีทั้งกระแสกรี๊ดพิธา และการวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง

“ผมเชื่อว่า หากพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาลและเดินหน้าแก้ไขมาตรา 112 ไปเพียงแค่ที่เขาเสนอไว้ คือให้ไปพูดคุยเรื่องนี้ในสภาผู้แทนราษฎร ก็น่าจะจบโดยไม่มีใครออกมาประท้วงว่าไม่ได้แก้ไขตามนโยบายของพรรคหรือมีการประท้วง ‘ด้อมส้ม’ จะยอมรับได้ว่า พรรคก้าวไกลได้ทำตามที่เสนอแล้ว แต่ต้องต่อสู้กันต่อไป”

ที่มาภาพ : เพจพรรคก้าวไกล

“ก้าวไกล” ทลายกำแพงอายุดึงคะแนน Gen X

ผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ ไม่เพียงบอกถึงความต้องการเปลี่ยนแปลงการเมืองใหม่ของคนวัยหนุ่มสาวในช่วงอายุต่ำกว่า 35 ปีลงไปเท่านั้น แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคก้าวไกลยังทลายกำแพงอายุคนที่อายุ 40 ปีขึ้นไปให้มาลงคะแนนเสียงให้ด้วย

ดร.สติธร เห็นว่า ที่ผ่านมาชัดเจนแล้วว่า พรรคอนาคตใหม่จนมาถึงพรรคก้าวไกล คือ พรรคที่เป็นตัวแทนของคนที่มีอายุน้อย คนวัยหนุ่มสาว ซึ่งถือเป็นพรรคการเมืองเดียวที่เป็นตัวแทนของคนช่วงอายุนี้ แต่ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลได้ทลายกำแพงอายุในช่วง 40 ปีขึ้นไป ให้มาลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้ได้

“เดิมคนที่เลือกพรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกลจะเป็นคนที่มีอายุ 35 ปีลงไป แต่ครั้งนี้ เขาสามารถดึงคะแนนจากคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปจากเดิมที่เลือกพรรคเพื่อไทย เขาสามารถดึงมาเลือกพรรคก้าวไกลได้”

ดร.สติธร อธิบายเพิ่มเติมว่า การเลือกตั้งครั้งนี้พอวิเคราะห์ได้ว่า คนที่เลือกพรรคก้าวไกล คือ คน Gen Z ที่อายุต่ำกว่า 35 ปี ขณะที่ Gen X คือช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป คนที่เลือกพรรคเพื่อไทยและก้าวไกลใกล้เคียงกัน

ขณะที่ Baby Boomer คืออายุประมาณ 50 ปีขึ้นไปจากเดิมที่เคยเหนียวแน่นกับพรรคเพื่อไทยเพราะทันการเลือกตั้งในช่วงพรรคไทยรักไทย แต่การเลือกตั้งครั้งนี้พบว่า คนช่วงวัยนี้เลือกพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลใกล้เคียงกัน แม้ว่าจะเลือกพรรคเพื่อไทยมากกว่า แต่ไม่ห่างกันมากเกินไป

“ถ้าย้อนไปดูผลการเลือกตั้งปี 2562 จะพบว่าคะแนนพรรคอนาคตใหม่จะเป็น Gen Z หรือคนที่มีอายุน้อยลงไป แต่พรรคเพื่อไทยจะเป็นผู้ที่มีอายุตั้งแต่ช่วงกลางไปจนอายุมาก แต่รอบนี้พรรคก้าวไกลต่างออกไป ลากเอาคนที่มีอายุตรงกลางไปด้วย ขณะที่คนที่ลงคะแนนให้พรรคเพื่อไทยเป็นคนอายุมากขึ้น แต่ช่องว่างของคนเลือกพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลในเรื่องอายุก็ใกล้กันมากขึ้น แปลว่า พรรคก้าวไกลสามารถดึงกองเชียร์พรรคเพื่อไทยมาได้เช่นกัน”

ดร.สติธร ยังชี้ให้เห็นถึงที่มาของคะแนนของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล โดยเห็นว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้ คะแนนของพรรคเพื่อไทยยังคงรักษาฐานเดิมเอาไว้ได้ถึง 70% หรือประมาณ 2 ใน 3 โดยมีคนที่เคยเลือกพรรคเพื่อไทยคราวที่แล้วย้ายมาเลือกพรรคก้าวไกลเพียงแค่ 20% หรือประมาณ 1.5 ล้านคนเท่านั้น โดยคิดจากผลคะแนนเลือกตั้งในปี 2562 พรรคเพื่อไทยได้คะแนนเสียงประมาณ 8 ล้าน แต่หายไปประมาณ 20% คาดว่าประมาณล้านกว่าๆ

ส่วนคะแนนพรรคก้าวไกล นอกจากจะดึงมาจากพรรคเพื่อไทยแล้ว ดร.สติธร ยังเชื่อว่า คะแนนบางส่วนน่าจะมาจากพรรคประชาธิปัตย์ โดยเห็นชัดเจนจากคะแนนเสียงเลือกตั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

โดยจะพบว่า คะแนนเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งครั้งนี้ หายไปอย่างชัดเจนเพราะความไม่มีความชัดเจนว่าอยู่ฝ่ายไหนกันแน่ แม้ว่าในช่วงการหาเสียงช่วงท้ายๆ ก่อนการเลือกตั้ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกมาประกาศว่าไม่เอาพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่คนก็สับสนเพราะยังเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้การเลือกครั้งนี้ในกรุงเทพมหานครเหลือเพียง 8 หมื่นคะแนนจากเดิมในปี 2562 พรรคประชาธิปัตย์เคยได้ 4 แสนคะแนน ซึ่งเชื่อว่า คะแนนส่วนใหญ่เทไปให้พรรคก้าวไกล

เปลี่ยนการเมือง “ปากท้อง” เป็นการเมือง “อุดมการณ์”

ชัยชนะของพรรคก้าวไกลเป็นสัญญาณบอกว่าการเมืองไทยเริ่มเปลี่ยนแปลง

ดร.สติธร บอกว่า เริ่มเห็นพัฒนาการของการเมืองไทยเป็นเรื่องของแนวคิดทางการเมืองหรืออุดมการณ์ เรื่องของแนวคิดเสรีนิยม หรืออนุรักษนิยม โดยเริ่มเห็นสัญญาณเหล่านี้มาตั้งแต่การเลือกตั้งในปี 2562 การเมืองไทยไม่ใช่เรื่องนโยบายปากท้องอีกต่อไปแล้ว

“ผมเชื่อว่าการเมืองไทยเริ่มเปลี่ยน โดยการเลือกตั้งไม่ใช่เรื่องของนโยบายอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว เพราะการเลือกตั้งในปี 2562 พรรคการเมืองไม่มีใครแข่งเรื่องนโยบาย ส่วนใหญ่แข่งกันเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง มีเพียงนโยบายกัญชาของพรรคภูมิใจไทยเท่านั้น ส่วนพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ เป็นเรื่องไม่เอาสืบทอดอำนาจ ขณะที่ฝ่ายพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เป็นเรื่องเลือกความสงบจบที่ลุงตู่ เรื่องนโยบายอื่นๆ ไม่มีบอกว่า มารดาประชารัฐ ไม่มีเลย”

ส่วนการเลือกตั้งในปี 2566 ก็เช่นเดียวกัน แม้ว่าในช่วงแรกพรรคเพื่อไทยจะชูนโยบายแก้ปัญหาปากท้องที่เป็นจุดแข็ง ทั้งในเรื่องของเงินดิจิทัลหมื่นบาท ค่าแรง 600 บาท หรือเงินเดือนปริญญาตรี 2 หมื่นบาท แต่ในช่วงท้ายของการเลือกตั้งก็ต้องเน้นเรื่องไม่ร่วมรัฐบาลกับ 2 ลุง ซึ่งกลายเป็นการตอกย้ำที่เดินตามพรรคก้าวไกล ซึ่งอาจจะพูดได้ไม่ชัดเจนเท่ากับพรรคก้าวไกล

ดร.สติธร บอกว่า การเมืองไทยเดินมาถึงทางตันในเรื่องการแข่งขันในเชิงนโยบาย เพราะไม่มีนโยบายใหม่ในการดึงคะแนนการเลือกตั้ง โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจ ไม่มีนโยบายใหม่หวือหวาพอที่จะดึงคะแนนเสียงได้ เพราะฉะนั้น พรรคการเมืองที่ขายนโยบายปากท้องอาจจะต้องปรับตัวในเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เฉพาะการเมืองไทยที่เดินมาสู่ทางตันในเรื่องของการแข่งขันด้านนโยบาย แต่การเมืองในทั่วโลกก็เช่นกัน ในยุโรปและสหรัฐอเมริกาก็จะเป็นการเมืองแบบอุดมการณ์ หรือความเป็นชาตินิยม เช่น การเมืองของสหรัฐอเมริกาก็เป็น America First หรือในเยอรมัน เป็นเรื่องของเสรีภาพ ความเท่าเทียม หรือสิทธิมนุษยชน

ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า

“Voter”เปลี่ยน สู่การเมืองอุดมการณ์

ไทยพับลิก้าถามว่า ถ้ามองในเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง ถือเป็นสัญญาณว่าการเมืองไทยพัฒนามากขึ้นจากการเมืองปากท้อง ประชานิยม มาเป็นการเมืองในเชิงแนวคิดหรืออุดมการณ์หรือไม่ ดร.สติธรบอกว่า “เห็นชัดเจนว่าในการเลือกตั้งรอบนี้ “voter” เปลี่ยนแปลง ก้าวไปสู่การเมืองที่เติบโตด้านวิธีคิดทางการเมืองมากขึ้น คือ เลือกในแนวทางประชาธิปไตย เพียงแต่ว่าอุดมการณ์การเมืองพัฒนาขึ้นจะก้าวต่อไปได้ต้องมีภาคปฏิบัติ มิฉะนั้นการเมืองอาจจะย้อนกลับไปอีกครั้ง”

“นั่นหมายความว่า ถ้าพรรคก้าวไกลไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เราจะได้การเมืองแบบเดิม มีรัฐบาลที่บริหารแบบเดิม แม้จะเป็นพรรคเพื่อไทยก็ตาม ก็จะมีเรื่องนโยบายประชานิยมไม่แตกต่างจากรัฐบาลลุงตู่ ที่มีกระเป๋าตังค์ แต่จะไม่มีการเปลี่ยนขนานใหญ่อย่างที่คาดหวังในเรื่องโครงสร้าง เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ชัดเจนว่าคนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน หรือการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง ไม่อยากเห็นการเมืองแบบเดิมอีกต่อไป”

“การเลือกตั้งครั้งนี้ ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงที่แสนโรแมนติกมาแล้ว คือการเลือกตั้งแบบไม่ต้องใช้ทุนเยอะ มีพรรคที่เสนอแนวทางนโยบาย ไม่ต้องมีนายทุนพรรคสนับสนุน ไม่ต้องมีระบบการเมืองบ้านใหญ่ เป็นการเมืองที่คนทั่วไปจับต้องได้ ไม่ต้องมีเครือข่ายหัวคะแนน แต่เขามีหัวคะแนนธรรมชาติที่เกิดขึ้น ถ้าเขาเชียร์คุณก็ไปช่วยคุณหาเสียงเอง คือมันโรแมนติก มีคนมาฟังปราศรัย โดยไม่ต้องไปจ่ายเงินไม่ต้องไปขนคนมา อันนี้ชัดเจน เกิดการเปลี่ยนแปลงแล้วในการเลือกตั้ง”

แต่โอกาสที่การเมืองแบบอุดมการณ์จะสวิงกลับไปเป็นการเมือแบบเก่าก็มีเช่นกัน หากพรรคก้าวไกล เป็นรัฐบาลแต่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย ในความเป็นจริงไม่สามารถขยับอะไรได้ ติดระบบราชการเต็มไปหมด ทำให้การเมืองที่อยากเห็นเป็นแค่ความฝัน คนก็จะกลับมามองการเมืองแบบประนีประนอมหรือการเมืองแบบเก่าที่มีความเป็นจริงมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ดร.สติธร เชื่อว่า การเมืองไทยจะไม่ถอยกลับไปเหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว เพราะต้องยอมรับว่าพรรคก้าวไกลที่เดินมาถึงจุดนี้ไม่ใช่ลอยขึ้นมาเอง แต่ทำงานหนักมาตลอด 4 ปี มีการวางยุทธศาสตร์และการทำงานอย่างเข้มข้น ทั้งในสภาฯ และทำงานในพื้นที่ โดยการแบ่งกำลังเป็นออกเป็นคณะก้าวหน้าที่ลงไปทำงานพื้นที่ลุยการเมืองท้องถิ่น

ขณะเดียวกัน พรรคก้าวไกลก็ลุยทำงานภาพใหญ่ในสภาฯ มีการเชื่อมโยงกันระหว่างการเมืองท้องถิ่นและการเมืองในระดับชาติมาตลอด 4 ปี ซึ่งการทำงานในลักษณะนี้เป็นการทำงานของพรรคการเมืองในฝันที่ควรจะทำ ขณะที่พรรคการเมืองเก่าๆ ไม่ค่อยทำ

“ผมคิดว่าการเมืองไทยได้พัฒนาเป็นก้าวที่สอง หากนับก้าวแรกจากพรรคอนาคตใหม่ และพรรคก้าวไกลเป็นก้าวที่สอง ผมคิดว่าน่าจะมีก้าวต่อไปมากกว่าก้าวถอยหลัง อย่างน้อยถ้าครั้งนี้ไปไม่ถึง ครั้งต่อไปในปี 2570 อาจจะแลนสไลด์ หรือคะแนนเตะขึ้นไปถึง 200 ที่นั่งได้ ถึงวันนี้อะไรก็เป็นไปได้แล้ว”

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะปิดประตูรัฐประหารหรือไม่

การยกระดับเป็นการเมืองอุดมการณ์ที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงของ “voter” จะสามารถปิดประตูรัฐประหารหรือไม่ เป็นอีกหนึ่งคำถาม

ดร.สติธร บอกว่า “ไม่แน่ใจว่าจะสามารถปิดประตูได้หรือไม่ แล้วมันต้องขนาดไหนถึงจะปิดประตูรัฐประหารได้ ก็ไม่สามารถตอบได้เช่นกัน ยิ่งถ้าหากพรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นรัฐบาล ยิ่งตอกย้ำว่า เรายังอยู่ในโครงสร้างแบบเดิม ที่ครั้งนี้ประชาชนเห็นแล้วว่าทำไมต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะมีเสียง ส.ว. 250 เสียง”

ขณะที่องค์การอิสระอีกจำนวนมากที่ต้องแก้ไข เพระระบบเหล่านี้ถูกวางรากฐานเอาไว้จากการรัฐประหาร 2 ครั้งในปี 2549 และในปี 2557 โครงสร้างถูกวางไว้อย่างแน่นหนา ต้องรื้อใหม่ทั้งหมด

ที่ผ่านมาประเทศไทยเคยห่างจากการรัฐประหารตั้งแต่หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 และมีรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่ฝ่ายการเมืองก็เปิดแผลในเรื่องการคอร์รัปชันเชิงนโยบาย ทำให้การรัฐประหารเข้ามาแทรกในพื้นที่ประชาธิปไตยได้

ดร.สติธร บอกไม่ได้ว่า เมื่อมีพรรคการเมืองที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนแล้วจะปิดประตูรัฐประหารได้ แม้จะเขียนเอาไว้ในกฎหมายก็ตาม นอกจากต้องปฏิรูปกองทัพ เพราะกองทัพของไทยมีเอกภาพสูงมากจากระบบการผลิตทหารของไทย แตกต่างจากสหรัฐฯ หรือในอังกฤษที่ทหารเป็นทหารอาชีพอยู่ใต้พลเรือน ซึ่งพรรคก้าวไกลอาจต้องเข้ามาปฏิรูปเพื่อไม่ให้เกิดการรวมศูนย์ เช่นเดียวกับกองทัพของประเทศเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปินส์ อินโดนีเซีย ที่ทหารมีการคานอำนาจกันเองจนไม่เข้ามายุ่งกับการเมือง

พรรคการเมืองต้องปรับตัวครั้งใหญ่

ดร.สติธร บอกว่า ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ อาจจะได้เพียงแค่กลิ่นความเจริญ แต่ยังไม่ถึงขั้นของการเปลี่ยนแปลง เพราะอาหารจานเด็ดถูกเสิร์ฟให้โต๊ะถัดไป เนื่องจากอุปสรรคของพรรคก้าวไกลยังต้องลุ้นกันอีกหลายเรื่องทั้งในเรื่องด่าน 250 ส.ว. หรือ ปมหุ้นสื่อไอทีวีของนายพิธา จะขาดคุณสมบัติหรือไม่ ยังต้องลุ้นกันต่อไป

ดร.สติธร ยังมีความหวัง เพราะ “voter” ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ทำให้เห็นว่าการเมืองแบบประชาธิปไตยก้าวหน้าไปมากขึ้น ขณะที่พรรคการเมืองต้องปรับตัวครั้งใหญ่ ไม่สามารถใช้การเมืองแบบเดิมที่เป็นการเมืองบ้านใหญ่ แบบอุปถัมภ์ได้ทั้งหมด แม้จะพบว่าในหลายพื้นที่การเมืองแบบบ้านใหญ่ยังคงได้ผลก็ตาม

พรรคการเมืองต้องปรับตัว จะทำการเมืองแบบเก่าอาจจะใช้ไม่ได้อีกต่อไป โดยพรรคที่ต้องปรับตัวครั้งใหญ่ คือ พรรคประชาธิปัตย์ ที่มีต้นทุนทางประวัติศาสตร์มายาวนาน และอนาคตข้างหน้าหากพรรคเฉพาะกิจอย่างพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ เมื่อพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ลามือไปแล้ว ซึ่งพรรคเหล่านี้อาจจะปิดตัวลง ทำให้คนที่เชียร์ 2 พรรคนี้อาจจะหันไปที่พรรคประชาธิปัตย์ก็ได้ ดังนั้น พรรคประชาธิปัตย์ต้องปรับตัว เพราะผลการเลือกตั้งทำให้เห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ก้าวไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลง ทำให้ที่นั่งจาก 50 ที่นั่งเหลือแค่ 25 ที่นั่งเท่านั้นเอง

“สุดท้าย ผมยังมีความหวังว่าความเจริญจะไม่ใช่แค่กลิ่น แต่จะนำมาถึงความเปลี่ยนแปลง เพราะประชาชนที่เป็น voter ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมในทิศทางที่ก้าวหน้ามากขึ้น ซึ่งหวังว่าจะไม่เดินถอยหลังกลับไปเป็นการเมืองแบบเดิมอีกต่อไปแล้ว”