กกต. แถลงรับรอง 500 ส.ส.แล้ว ทยอยรับหนังสือรับรองได้ตั้งแต่ 20-24 มิ.ย. ชี้ ประกาศไปก่อนรอสอยที่หลังเหตุ กระบวนการพิจารณาและวิธีสืบสวนอาจไม่แล้วทัน 60 วัน ตามกฎหมายกำหนด แต่หากมีหลักฐานทุจริตยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาให้เพิกถอนสิทธิได้ใน 1 ปี
วันที่ 19 มิถุนายน 2566 นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง พร้อมด้วย นายกิตติพงษ์ บริบูรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง และนางสาวสุรณี ผลทวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง แถลงข่าวประเด็น “การประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2566” ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 2 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
โดยนายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยหลังที่ประชุม กกต. มีมติให้ประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบแบ่งเขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน รวม 500 คนแล้ว พร้อมระบุถึงเรื่องร้องเรียนอยู่ระหว่างสำนักงาน กกต. พิจารณา ซึ่งจะต้องแล้วเสร็จภายใน 1 ปี หลังประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง เนื่องจากกระบวนการพิจารณาและวิธีสืบสวนอาจจะไม่แล้วเสร็จใน 60 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด
“กระบวนการสืบสวนสอบสวนผู้ถูกร้องเรียนอาจดำเนินการไม่แล้วเสร็จภายใน 60 วัน และ กกต.ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เนื่องจากขณะนี้มีการอ้างพยานหลักฐานเข้ามาเป็นจำนวนมาก จึงให้ประกาศรับรองไปก่อน”
นายแสวงกล่าวอีกว่า กกต.ยังมีอำนาจพิจารณาการสืบสวนไต่สวน ตามมาตรา 138 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. 2561 หมายความว่า หลังการเลือกตั้งหากมีหลักฐานที่เชื่อได้ว่าได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่สุจริต กกต.จะยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง และสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ส.ส.ที่กกต.ประกาศรับรองสามารถมารับหนังสือรับรองได้ตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (20 มิ.ย.) – 24 มิ.ย. เวลา 08.30- 16.30 น.ไม่เว้นวันหยุดราชการ
ส่วนกรณีถือหุ้นไอทีวีของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีนั้น จะมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติ เลยหรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการสืบสวนของสำนักงาน กกต. ยังไม่เห็นข้อเท็จจริงทั้งหมด ต้องดูว่าข้อกฎหมายจะเปิดช่องให้ดำเนินการได้แค่ไหน อย่างไร ตอนนี้การพิจารณาสำนวนยังไม่แล้วเสร็จ
ส่วนคำถามว่า กระบวนการจะต้องเร่งให้แล้วเสร็จก่อนโหวตนายกรัฐมนตรีหรือไม่นั้น เลขาฯ กกต. ย้ำว่า กกต. ไม่สนใจเรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องของกระบวนการการทำงาน ต้องได้ข้อเท็จจริงให้สิ้นกระแสความ ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือทั้ง 2 ฝ่าย ถ้าจะมีความรวดเร็วก็เกิดขึ้นกับการทำงาน ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง.
สำหรับ จำนวน ส.ส. ทั้ง บัญชีรายชื่อ และ สส.เขตที่ กกต.รับรองอย่างเป็นทางการ มีดังนี้
1.พรรคก้าวไกล 151 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 112 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 39 คน
2.พรรคเพื่อไทย 141 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 112 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 29 คน
3.พรรคภูมิใจไทย 71 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 68 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 3 คน
4.พรรคพลังประชารัฐ 40 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 39 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน
5.พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 23 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 13 คน
6.พรรคประชาธิปัตย์ 25 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 22 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 3 คน
7.พรรคชาติไทยพัฒนา 10 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 9 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน
8.พรรคประชาชาติ 9 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 7 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 2 คน
9.พรรคไทยสร้างไทย 6 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 5 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน
10.พรรคเพื่อไทรวมพลัง รับรอง ส.ส.เขต 2 คน ไม่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ
11.พรรคชาติพัฒนากล้า 2 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 1 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน
12.พรรคเสรีรวมไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน ไม่มี ส.ส.เขต
13.พรรคประชาธิปไตยใหม่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน ไม่มี ส.ส.เขต
14.พรรคใหม่ ส..ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน ไม่มี ส.ส.เขต
15.พรรคท้องที่ไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน ไม่มี ส.ส.เขต
16.พรรคเป็นธรรม รับรอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน ไม่มี ส.ส.เขต
17.พรรคพลังสังคมใหม่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน ไม่มี ส.ส.เขต
18.พรรคครูไทยเพื่อประชาชน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน ไม่มี ส.ส.เขต