ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup แรงงานกัมพูชาส่งเงินกลับประเทศ 2.7 พันล้านดอลล์ปี 2565

ASEAN Roundup แรงงานกัมพูชาส่งเงินกลับประเทศ 2.7 พันล้านดอลล์ปี 2565

11 มิถุนายน 2023


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 4-10 มิถุนายน 2566

  • แรงงานกัมพูชาส่งเงินกลับประเทศ 2.7 พันล้านดอลล์ปี 2565
  • อัตราการจ้างงานของกัมพูชาแข็งแกร่ง 99.3%
  • โครงการลงทุนใหม่เอกชนสร้างงานเกือบ 8 หมื่นตำแหน่งในกัมพูชา
  • กัมพูชาจะเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงในปี 2573
  • กัมพูชาลงนามข้อตกลงทางเศรษฐกิจ CEPA กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
  • กัมพูชา เวียดนาม ลงนามข้อตกลงส่งเสริมการค้า
  • เวียดนามเป็น hub รถจักรยานยนต์
  • แรงงานกัมพูชาส่งเงินกลับประเทศ 2.7 พันล้านดอลล์ปี 2565

    ที่มาภาพ: https://gazettengr.com/overseas-cambodian-workers-sent-home-2-7-billion-in-2022-official/

    นายอิท ซัมเฮง รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและการฝึกอาชีพของกัมพูชาเปิดเผยเมื่อวันพฤหัสบดี(8 มิ.ย.)ว่า ชาวกัมพูชาราว 1.3 ล้านคนที่ไปทำงานในต่างประเทศ ได้ส่งเงินกลับไปให้ครอบครัวจำนวน 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565

    รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานฯ เปิดเผยตัวเลขระหว่างการพบปะกับคนงานในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้ากว่า 18,000 คนในจังหวัดกำปงชนัง ในตอนกลางของประเทศ

    นายสัมเฮงกล่าวว่า ชาวกัมพูชาประมาณ 1.2 ล้านคนทำงานใช้แรงงานอยู่ในประเทศไทย ส่วนในเกาหลีใต้มีจำนวน 49,000 คน ในมาเลเซีย 22,000 คน ในญี่ปุ่น 19,000 คน และมีอีกบางส่วนในสิงคโปร์ เขตบริหารพิเศษฮ่องกงของจีน และซาอุดีอาระเบีย

    “แรงงานข้ามชาติไม่เพียงแต่ส่งเงินที่ส่งกลับมาให้สมาชิกในครอบครัวเท่านั้น แต่ยังนำความเชี่ยวชาญและประสบการณ์มาใช้ในการพัฒนาประเทศเมื่อพวกเขากลับบ้าน” นายสัมเฮงกล่าว

    นายสัมเฮงกล่าวว่า แรงงานกัมพูชาในไทยและมาเลเซียได้รับค่าจ้างขั้นต่ำเดือนละ 400 ดอลลาร์และ 300 ดอลลาร์ตามลำดับ ส่วนแรงงานในเกาหลีใต้และญี่ปุ่นมีรายได้ 1,500 ดอลลาร์และ 1,400 ดอลลาร์ต่อเดือนตามลำดับ

    อัตราการจ้างงานของกัมพูชาแข็งแกร่ง 99.3%

    ที่มาภาพ: https://www.information.gov.kh/articles/106981

    อัตราการจ้างงานของกัมพูชายังคงแข็งแกร่งที่ 99.3% และยังคงเป็นหนึ่งในอัตราการจ้างงานที่ดีที่สุดในโลก จากการเปิดเผยเมื่อเร็วๆ นี้โดยนายอิท สัมเฮง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและการฝึกอาชีพ พร้อมยกย่องสำนักงานจัดหางานแห่งชาติ (NEA) สำหรับความสำเร็จนี้

    ระหว่างการเป็นประธานในการบรรยายเรื่อง ‘ตลาดแรงงานและการพัฒนาเศรษฐกิจ’ ที่ Royal School of Administration รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานฯได้บรรยายวิสัยทัศน์ พันธกิจ และความสำเร็จของกระทรวงฯในการพัฒนาตลาดแรงงานในกัมพูชา ซึ่งมีส่วนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

    นายสัมเฮง กล่าวว่า กระทรวงฯยังคงเพิ่มโอกาสการจ้างงานในประเทศผ่าน NEA โดยการเผยแพร่ข้อมูลตลาดแรงงาน ขยายการให้คำปรึกษาหารือ ให้คำแนะนำการจ้างงาน และให้ทางเลือกแก่แรงงานในการแสวงหาโอกาสการจ้างงานในต่างประเทศอย่างถูกกฎหมาย โดยมีสภาพการทำงานที่ดีและมีรายได้สูง

    จากเอกสารข่าว นายสัมเฮง ระบุว่า กระทรวงฯให้ความสนใจอย่างใกล้ชิดกับการพัฒนาตลาดแรงงาน ให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมและเทคโนโลยี นอกจากนี้ยังเสริมสร้างสวัสดิการสังคมผ่านการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการดำเนินการตามยุทธศาสตร์และนโยบายระดับชาติที่สำคัญที่รัฐบาลกำหนดไว้

    รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานฯกล่าวว่า สถานการณ์ตลาดแรงงานในกัมพูชามีแนวโน้มสดใส และอัตราการจ้างงานยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 99.3% ของแรงงานทั้งหมด และการจ้างงานในปัจจุบันส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจของประเทศ

    “เราได้เห็นประสิทธิผลที่สูงขึ้น (ของคนงาน) แรงงานที่มีทักษะมากขึ้น สภาพการทำงานที่ดีขึ้น และรายได้ที่ดีขึ้น” นายสัมเฮงกล่าว

    กระทรวงแรงงานฯกำลังดำเนินการเพื่อปรับปรุงสภาพการทำงานของแรงงาน และเพื่อประสานความสัมพันธ์ภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งยังประสบความสำเร็จในการดำเนินการตามคำแนะนำ 10 ข้อของนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ที่กำหนดไว้ระหว่างการพบปะกับคนงานด้วยตัวเอง

    นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานฯยังคงให้ความสำคัญกับการยกระดับความปลอดภัย และอาชีวอนามัยของแรงงานตามกฎหมาย การรับส่งที่มีคุณภาพ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของนายจ้างในการเริ่มจัดตั้งสถานรับเลี้ยงเด็กในชุมชนใกล้พื้นที่โรงงาน

    รัฐบาลได้ส่งเสริมการดำเนินการตามกรอบนโยบายการคุ้มครองทางสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2559-2568 และการดำเนินการตามกฎหมายประกันสังคม พ.ศ. 2562 ทำให้ระบบประกันสังคมของกัมพูชาสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

    ในสาขาเทคนิคและอาชีวศึกษาและการฝึกอบรม กระทรวงฯกำลังดำเนินโครงการฝึกอบรมทักษะเพื่อเพิ่มทุนมนุษย์ และแรงงานฝีมือที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบันและอนาคต

    นอกจากนี้ กระทรวงฯ ได้ร่วมกับกระทรวงและสถาบันอื่น ๆ เพื่อฝึกอบรมทักษะแก่เยาวชน 1.5 ล้านคนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และยังดำเนินการให้พวกเขาได้รับเบี้ยเลี้ยงระหว่างการฝึกอบรมตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี

    นางลิม โสลินน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวศึกษา ระบุว่า กัมพูชาต้องลงทุนอย่างมากในการยกระดับทักษะและเพิ่มทักษะให้กับแรงงานค่าแรงต่ำไร้ทักษะที่มีอยู่จำนวนมากในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยคำนึงถึงลักษณะงานที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากงานด้านการผลิตที่ไม่มีทักษะและทักษะต่ำบางประเภทจะหายไปในไม่ช้า เมื่อระบบอัตโนมัติและดิจิทัลเข้ามาใช้มากขึ้น

    นางโสลินน์กล่าวกับ Kher Timesเมื่อเร็วๆ นี้ว่า การยกระดับทักษะและการเพิ่มทักษะให้กับแรงงานเป็นวิธีเดียวที่กัมพูชาจะก้าวพ้นจากประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง ไปสู่ประเทศรายได้สูงภายในปี 2593

    รายงาน ‘Future of Jobs Report 2023’ ที่เผยแพร่โดย World Economic Forum เมื่อเร็วๆ นี้ คาดว่า งานประมาณ 83 ล้านตำแหน่งจะล้าสมัยในอีก 5 ปีข้างหน้า ในขณะที่จะมีการสร้างงานใหม่อีก 69 ล้านตำแหน่ง

    การค้าดิจิทัลจะนำไปสู่การเพิ่มตำแหน่งงานที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยคาดว่าจะมีตำแหน่งใหม่ในงานดิจิทัลประมาณ 2 ล้านตำแหน่ง เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านอีคอมเมิร์ซ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล และผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดและกลยุทธ์ดิจิทัลในอีก 5 ปีข้างหน้า

    วิเชฐ โลร์ รองประธานสมาคมการค้าชาวจีนในกัมพูชาระบุว่า ประชากรหนุ่มสาวที่มีอายุไม่ถึง 35 ปีคิดเป็น 65% ของประชากรในกัมพูชา ทำให้ตลาดแรงงานของประเทศยังสดใสและคึกคัก

    “ประชากรกลุ่มนี้มีความรู้ ทั้งแบบสองภาษาหรือสามภาษา และส่วนใหญ่มีความรู้ด้านไอทีด้วย นั่นเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้อัตราการจ้างงานในประเทศยังคงสูง”

    “ประชากรวัยหนุ่มสาวเหล่านี้มีความกระตือรือร้นที่จะเพิ่มพูนความรู้และความสามารถของตนเอง ซึ่งจะช่วยตอบสนองความต้องการกำลังคนที่มีทักษะที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรม” วิเชฐกล่าว

    โครงการลงทุนใหม่เอกชนสร้างงานเกือบ 8 หมื่นตำแหน่งในกัมพูชา

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/501302667/eba-withdrawal-not-to-impact-cambodia-says-pm/

    ในช่วงเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม สภาเพื่อการพัฒนาแห่งกัมพูชา (Council for the Development of Cambodia-CDC)ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐบาล ได้อนุมัติโครงการลงทุนใหม่ของเอกชน 61 โครงการ ทั้งในและนอกเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) รวมมูลค่า 516.64 ล้านดอลลาร์ และจะสร้างงานประมาณ 76,310 ตำแหน่ง

    โครงการเหล่านี้ครอบคลุมอุตสาหกรรมหลายประเภท ได้แก่ เสื้อผ้า รองเท้า สินค้าเดินทาง แผงเซลล์แสงอาทิตย์และอิเล็กทรอนิกส์ การท่องเที่ยว การเลี้ยงโค อุตสาหกรรมเกษตรและการแปรรูป กระดาษแข็งและวัสดุบรรจุภัณฑ์ เครื่องกีฬาและเฟอร์นิเจอร์

    นายลิม เฮงรองประธานหอการค้ากัมพูชา (CCC) กล่าวกับสำนักข่าว Phnompenh Post เมื่อวันที่ 4 มิถุนายนว่า กัมพูชายังคงสามารถดึงเงินลงทุนใหม่เข้ามาได้มากมาย แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับความท้าทายและความไม่แน่นอนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาก็ตาม

    ปัจจัยที่มีผลต่อการลงทุนที่สำคัญของกัมพูชา ได้แก่ เสถียรภาพทางการเมืองและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง กฎหมายการลงทุนที่เอื้ออำนวย ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ สถานการณ์ตลาดแรงงาน และระบบโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรจากสหรัฐฯ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และประเทศในยุโรป

    นอกจากนี้กัมพูชายังได้รับประโยชน์จากเปิดรับการย้านฐานการผลิต เป็นผลมาจากข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศเศรษฐกิจหลัก

    “บรรยากาศทางเศรษฐกิจและการเมืองทั่วโลกดีขึ้น การลงทุนของผู้เล่นทั้งในและต่างประเทศในกัมพูชาก็จะดีขึ้นเช่นกัน” นายเฮงคาดการณ์ “การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมีความสำคัญมากต่อภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของกัมพูชาในการส่งออกผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป นอกเหนือไปจากการสร้างงาน”

    นอกจากนี้ข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่กัมพูชาได้ทำร่วมกับคู่ค้าสำคัญ รวมถึงข้อตกลงการค้ากับจีน (CCFTA) และเกาหลีใต้ (CKFTA) ตลอดจนความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ก็มีส่วนช่วยในกัมพูชาในการดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามามากขึ้นเช่นกัน

    จากข้อมูลของธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ไหลเข้ากัมพูชาระหว่างวันที่ 5 สิงหาคม 2537 ซึ่งเป็นช่วงที่กฎหมายว่าด้วยการลงทุนฉบับเก่ายังมีผลบังคับใช้ และวันที่ 31 ธันวาคม 2564 มีมูลค่ารวม 168.8 ล้านล้านเรียล (41.0 พันล้านดอลลาร์) เพิ่มขึ้น 11.2% จากเกือบ 152 ล้านล้านเรียลในสิ้นปี 2563

    เมื่อแยกออกรายภาคธุรกิจ ภาคการเงินมีส่วนแบ่งสูงสุดที่ 9.4 พันล้านดอลลาร์หรือ 22.9% ตามด้วยภาคการผลิต (8.5 พันล้านดอลลาร์; 20.8%) อสังหาริมทรัพย์ (4.9 พันล้านดอลลาร์; 12%) โรงแรมและภัตตาคาร (4.4 พันล้านดอลลาร์; 10.7%) เกษตรกรรม (4.2 พันล้านดอลลาร์; 10.3%) ไฟฟ้า (2.6 พันล้านดอลลาร์; 6.2%) และการก่อสร้าง (1.6 พันล้านดอลลาร์; 4.1%) ในขณะที่ภาคส่วนอื่น ๆ ประกอบด้วย 5.3 พันล้านดอลลาร์หรือ 13%

    กัมพูชาจะเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงในปี 2573

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/501302664/cambodia-to-become-higher-middle-income-country-by-2030/

    นายกรัฐมนตรีฮุน เซน แสดงความมั่นใจว่า กัมพูชาจะก้าวสู่ประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงภายในปี 2573 แม้จะมีความท้าทายจากเศรษฐกิจโลก สงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย และวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

    ในพิธีสำเร็จการศึกษาสำหรับนักศึกษาของ Royal University of Law and Economics เมื่อวานนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่ากัมพูชากำลังจะพ้นจากสถานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Country-LDC) ในปี 2570 และจะกลายเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงภายในปี 2573

    นายกรัฐมนตรีฮุน เซน กล่าวว่า แม้จะมีความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ การแพร่ระบาดของโควิด-19 และวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่กัมพูชาก็สามารถบรรลุเป้าหมายในการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงได้

    “แม้จะมีความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โรคระบาด และความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ ผมมั่นใจว่ากัมพูชาจะออกจากสถานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุดภายในปี 2570 และบรรลุเป้าหมายในการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางสูงภายในปี 2573” นายกรัฐมนตรีฮุน เซน กล่าวและว่า “จากเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนที่กำหนดไว้ การเติบโตทางเศรษฐกิจในปัจจุบันทำให้เรามีโอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายของเรา”

    รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายที่จะเปลี่ยนกัมพูชาให้เป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงภายในปี 2573 และเป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายในปี 2593

    ธนาคารโลกได้ทบทวนสถานะเศรษฐกิจของกัมพูชาอย่างเป็นทางการในปี 2559 โดยเลื่อนระดับจากกลุ่มผู้มีรายได้น้อยไปสู่กลุ่มรายได้ปานกลางระดับล่าง ซึ่งเป็นการจัดกลุ่มใหม่ที่นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าจะนำไปสู่การลดขนาดความช่วยเหลือจากต่างประเทศและสิทธิพิเศษในการเข้าถึงการค้า ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

    ตามเกณฑ์ของธนาคารโลก ประเทศที่มีรายได้น้อยหมายถึงประเทศที่มี GNI ต่อหัวน้อยกว่า 1,025 ดอลลาร์สหรัฐ ประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับล่างอยู่ระหว่าง 1,026 ถึง 4,035 ดอลลาร์สหรัฐ และประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงอยู่ในช่วง 4,037 ถึง 12,745 ดอลลาร์สหรัฐ ประเทศที่มีรายได้สูงหมายถึงประเทศที่มี GNI per capita สูงกว่าระดับนั้น

    เศรษฐกิจของกัมพูชาคาดการณ์ว่าจะเติบโต 5.5% ในปี 2566 และ 6% ในปี 2567 จากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวที่แข็งแกร่งและการเติบโตที่รวดเร็วในภาคบริการ จากรายงานของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ในเดือนเมษายน

    นายกรัฐมนตรีกล่าวว่ าเพื่อรักษาเศรษฐกิจในระยะยาว รัฐบาลจะลงทุนเพิ่มเติมในด้านการดูแลสุขภาพ การคุ้มครองทางสังคม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เทคโนโลยีดิจิทัล และการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และอื่นๆ

    กัมพูชาลงนามข้อตกลงทางเศรษฐกิจ CEPA กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/501305702/cambodia-inks-new-economic-pact-with-the-uae-to-boost-trade-ties/

    สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และกัมพูชาได้ลงนามในข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม (Comprehensive Economic Partnership Agreement-CEPA)ซึ่งมีเป้าหมายที่จะเพิ่มการค้าทวิภาคีที่ไม่ใช่น้ำมันเพิ่มขึ้น 2 เท่าในอีก 5 ปีข้างหน้า

    ข้อตกลงดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะเพิ่มการค้าเป็น 1 พันล้านดอลลาร์จาก 407 ล้านดอลลาร์ในปี 2565 กระทรวงเศรษฐกิจของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี(10 มิ.ย.)

    ข้อตกลงดังกล่าวได้รับการลงนามในกรุงพนมเปญโดย ดร. ธานี อัล เซยูดี รัฐมนตรีแห่งรัฐประจำกระทรวงเศรษฐกิจยูเออีรับผิดชอบด้าน การค้าต่างประเทศของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และนายพัน สรสัก รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของกัมพูชา โดยมีสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาร่วมด้วย

    ทั้งสองประเทศสรุปการเจรจา CEPA ในเดือนเมษายน และข้อตกลงดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อขจัดหรือลดภาษีศุลกากร ขจัดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่จำเป็น สนับสนุนการลงทุน เปิดตลาดเพื่อการส่งออกบริการ และสร้างโอกาสมากขึ้นสำหรับธุรกิจในการสร้างความร่วมมือ

    ข้อตกลง CEPA ระหว่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กับกัมพูชาเป็น “หลักชัยใหม่ในวาระการค้าต่างประเทศของเรา ซึ่งช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับบทบาทของเราที่เพิ่มขึ้นในระเบียงการค้าตะวันออก-ตะวันตก” ดร. อัล เซยูดี กล่าว

    “ข้อตกลงไม่เพียงแต่จะนำไปสู่เป้าหมายของเราในการเพิ่มการค้าต่างประเทศที่ไม่ใช่น้ำมันเป็นสองเท่าภายในปี 2574 แต่ยังขยายสถานะของเราในเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดประตูใหม่สำหรับผู้ส่งออกในการเข้าถึงผู้บริโภคหลายล้านคน กัมพูชาจะได้รับประโยชน์จากการเชื่อมต่อทั่วโลกและความสามารถในการส่งออกสินค้าไปยังกว่า 400 เมืองทั่วโลก เราจะยังคงขยายการค้าทั่วโลกเพื่อส่งเสริมการเติบโตในระยะยาว ยั่งยืน และกระจายความหลากหลายทางเศรษฐกิจกับทุก ๆ คนที่เราทำธุรกิจด้วย”

    CEPA ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และกัมพูชา จะทำให้ผลิตภัณฑ์ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เข้าถึงตลาดกัมพูชาได้ดีขึ้น

    สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าและเศรษฐกิจกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก กำลังดำเนินการเพื่อลงนามใน 26 CEPA เพื่อดึงดูดการลงทุนและกระจายเศรษฐกิจให้มากขึ้น ก่อนหน้านี้ได้ลงนามในข้อตกลงที่คล้ายกันกับอินเดีย อิสราเอล อินโดนีเซีย ตุรกี และใกล้จะสรุปข้อตกลงกับเคนยา

    โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อขจัดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่จำเป็น เพิ่มการเข้าถึงตลาด และตั้งค่าการลงทุนและการค้ากับพันธมิตร

    การค้าระหว่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และกัมพูชาเพิ่มขึ้นเป็น 407 ล้านดอลลาร์ในปี 2565 หรือเพิ่มขึ้น 33% ต่อปีจากปี 2564 และเพิ่มขึ้น 28% เมื่อเทียบกับปี 2562

    สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยังเป็นหนึ่งในคู่ค้าอันดับต้นๆ ของกัมพูชาในกลุ่มประเทศอาหรับ โดยคิดเป็น 70% ของการค้ากับภูมิภาคในปี 2565 กระทรวงเศรษฐกิจฯระบุ อีกทั้งยังมีโอกาสการลงทุนที่หลากหลายในภาคการท่องเที่ยว โลจิสติกส์ โครงสร้างพื้นฐาน และพลังงานหมุนเวียน

    ข้อตกลงดังกล่าวจะเปิดภาคบริการต่างๆ ในตลาดกัมพูชาแก่ธุรกิจในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ขณะเดียวกันก็เปิดให้ผลิตภัณฑ์จากสายการบินเอมิเรตส์เข้าถึงตลาดกัมพูชา ครอบคลุม 92% ของพิกัดอัตราศุลกากร และมากกว่า 93% ของมูลค่าการค้าที่ไม่ใช่น้ำมัน

    ขณะนี้ทั้งสองประเทศจะจัดทำข้อกำหนดที่จำเป็นและขั้นตอนทางกฎหมายภายในสำหรับการให้สัตยาบัน CEPA โดยข้อตกลงจะมีผลบังคับใช้ก่อนไตรมาสที่สี่ของปีนี้

    การส่งออกของ UAE คาดว่าจะสูงถึง 2 ล้านล้านดีแรห์ม(Dirhams-Dh) (545 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ภายในปี 2573 โดยการค้าเติบโตเร็วกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก เนื่องจากเอมิเรตส์มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาระเบียงการค้าใหม่และกระจายการส่งออก

    การส่งออกของประเทศคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 5.5% ต่อปี โดยโลหะและแร่ธาตุ (คิดเป็น 73% ของการส่งออกภายในปี 2573) และพลาสติกและยางจะขับเคลื่อนการเติบโต ตามการประมาณการของสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด

    สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีเป้าหมายที่จะกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนกับประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็วในเอเชีย แอฟริกา และตะวันออกกลาง รวมทั้งดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมูลค่า 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่น้ำมันในประเทศ และสร้างความหลากหลายในการส่งออก

    การค้าสินค้าของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กับประเทศอื่นที่เหลือของโลกมีมูลค่าถึง 1.02 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2565 โดยการส่งออกและนำเข้าเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น จากรายงานแนวโน้มการค้าโลกและสถิติขององค์การการค้าโลกที่เผยแพร่ในเดือนเมษายน

    กัมพูชา เวียดนาม ลงนามข้อตกลงส่งเสริมการค้า

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/501301992/cambodia-vietnam-sign-trade-enhancement-pact/

    กัมพูชาและเวียดนามลงนามในข้อตกลงส่งเสริมการค้า เพื่อเพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ

    เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน นายพัน สรสัก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายเหวียน หง เดียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์เวียดนาม ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจ โดยมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจากทั้งสองกระทรวงเข้าร่วมพิธีลงนาม

    นายสรสักกล่าวชื่นชมความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างกัมพูชาและเวียดนามที่มีมาอย่างยาวนาน และว่า ความสัมพันธ์นี้เป็นรากฐานสำคัญของความร่วมมือในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน พร้อมแสดงความหวังว่าทั้งสองประเทศจะทำงานร่วมกันต่อไปเพื่อกระชับความสัมพันธ์และบรรลุผลประโยชน์ร่วมกัน

    รัฐมนตรีพาณิชย์กัมพูชาชี้ว่า ข้อตกลงส่งเสริมการค้าทวิภาคีริเริ่มขึ้นในปี 2548 ภายใต้การแนะนำของผู้นำทั้งสองประเทศ ข้อตกลงนี้มีเป้าหมายเพื่อพัฒนานโยบายภาษีศุลกากรพิเศษสำหรับสินค้าที่มีต้นทางในกัมพูชาและเวียดนาม

    “การลงนามในข้อตกลงส่งเสริมการค้าทวิภาคีในวันนี้สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือทวิภาคีที่ยอดเยี่ยมระหว่างประเทศทั้งสองของเรา ข้อตกลงนี้จะช่วยกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของเรา ส่งเสริมการลงทุน และเพิ่มการค้าทวิภาคี ผมมั่นใจว่าข้อตกลงนี้จะช่วยให้ทั้งสองประเทศบรรลุเป้าหมายอันสูงส่งที่ผู้นำของเราตั้งไว้” นายสรสักกล่าว

    รัฐมนตรีเวียดนามได้กล่าวถึงมิตรภาพอันยาวนานและความสัมพันธ์ที่ครอบคลุมระหว่างทั้งสองประเทศ โดยเน้นย้ำเป็นพิเศษถึงแถลงการณ์ร่วมกัมพูชา-เวียดนาม ซึ่งริเริ่มขึ้นเพื่อกำหนดนโยบายที่ดีเกี่ยวกับภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าที่มาจากทั้งสองประเทศ

    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนามเน้นย้ำถึงความสำคัญของการลงนามและดำเนินการตามข้อตกลงเพื่อส่งเสริมการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม

    “ข้อตกลงส่งเสริมการค้าทวิภาคีระหว่างรัฐบาลทั้งสองสำหรับปี 2566-2567 ซึ่งได้รับการลงนามแล้ว เป็นเอกสารสำคัญสำหรับธุรกิจและผู้ส่งออกและผู้นำเข้า และจะช่วยกระตุ้นการนำเข้าและส่งออกสินค้าระหว่างประเทศนอกเหนือไปจากข้อตกลง ภายใต้กรอบความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน” นายเหวียน หง เดียน กล่าว

    ทั้งสองฝ่ายเชื่อมั่นในการประสานงานการอำนวยความสะดวกทางการค้าทวิภาคี โดยระบุว่า กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนามจะทำงานร่วมกันอย่างแข็งขันเพื่อส่งเสริมผู้ผลิตและบริษัทส่งออกและนำเข้าเพื่อส่งเสริมการดำเนินการและผลประโยชน์สูงสุดของ ความตกลงส่งเสริมการค้าทวิภาคี

    การค้าระหว่างกัมพูชาและเวียดนามมีมูลค่า 2,430 ล้านดอลลาร์ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้

    เวียดนามเป็น hub รถจักรยานยนต์

    ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/vietnam-emerges-as-a-major-motorcycle-market-and-manufacturing-hub/254120.vnp

    ตลาดรถจักรยานยนต์ของเวียดนามเป็นหนึ่งใน ตลาดที่เติบโตเร็วที่สุดในโลกในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แม้ประสบกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดทั่วโลกของโควิด-19 จากรายงานของสมาคมผู้ผลิตรถจักรยานยนต์แห่งเวียดนาม (Vietnam Association of Motorcycle Manufacturers-VAMM)

    ปัจจุบันมีรถจักรยานยนต์ที่จดทะเบียนแล้วมากกว่า 70 ล้านคันในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2566 เพียงปีเดียว เวียดนามผลิตรถจักรยานยนต์ใหม่ได้มากกว่า 1 ล้านคัน

    ผู้ผลิตรายใหญ่ 5 ราย ได้แก่ Honda, Yamaha, Suzuki, Piaggio และ SYM ครองส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 90% ในเวียดนาม ผู้ผลิตยังส่งออกรถประกอบสำเร็จทั้งหมดไปยังตลาดต่างประเทศด้วย

    VAMM กล่าวว่า ได้มีการวางขั้นตอนเพื่อให้เวียดนามเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจสำหรับผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

    เนื่องจากปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทานและความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และจีน ผู้ผลิตจึงย้ายการลงทุนไปยังตลาดขนาดเล็กในเอเชียเพื่อลดความเสี่ยง ตัวอย่างเช่น รัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดสรรเงิน 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อสนับสนุนธุรกิจญี่ปุ่นที่ย้ายถิ่นฐานจากจีน ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐได้เรียกร้องให้ธุรกิจสหรัฐกลับสู่สหรัฐหรือย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศอื่น เวียดนามจึงกลายเป็นจุดหมายปลายทางใหม่ที่มีความหวังสำหรับผู้ผลิตรถจักรยานยนต์หลายราย

    ปัจจุบัน Honda Vietnam เป็นเจ้าของและมีโรงงาน 3 แห่งในประเทศ โดยมีกำลังการผลิตรถจักรยานยนต์ 2.5 ล้านคันต่อปี Yamaha Motor Vietnam เป็นเจ้าของและมีโรงงาน 2 แห่ง Piaggio Vietnam เป็นเจ้าของและมีโรงงาน 2 แห่ง โดยมีกำลังการผลิตรถจักรยานยนต์ 250,000-400,000 คันต่อปี

    อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความตลาดไม่ได้มีความท้าทาย

    ตลาดรถจักรยานยนต์ของเวียดนามในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีสัญญาณของความอิ่มตัว ในขณะที่การผลิตรถจักรยานยนต์แต่ละปียังคงเพิ่มขึ้น อุปสงค์และกำลังซื้อส่วนใหญ่ไม่สามารถตามทันได้ ทำให้ผู้ผลิตต้องเริ่มลงทุนมากขึ้นในการกระจายผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผลิตภัณฑ์ระดับพรีเมียม รวมทั้งหาทางกระตุ้นการส่งออกรถยนต์รุ่นประกอบสำเร็จและชิ้นส่วนอะไหล่ไปยังตลาดต่างประเทศ

    ตัวอย่างเช่น Yamaha Motor Vietnam ได้ส่งออกโมเดลเพื่อเสริมตลาดอินโดนีเซียตั้งแต่ปี 2562 และปีที่แล้ว บริษัทเป็นโรงงานต่างประเทศแห่งแรกที่ผลิตและส่งออกรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า NEO’S ไปยังตลาดยุโรป

    ในเดือนพฤษภาคมปีนี้ Yamaha Motor Vietnam ได้เปิดตัวสายการผลิตที่สี่อย่างเป็นทางการ สำหรับการประกอบเครื่องยนต์เพื่อการส่งออกโดยเฉพาะ การดำเนินการนี้แสดงให้เห็นถึงความมั่นใจและความมุ่งมั่นของบริษัทญี่ปุ่นที่มีต่อเวียดนาม

    บริษัทระบุว่า สายการผลิตใหม่จะผลิตเครื่องยนต์เพื่อส่งออกไปยังประเทศไทยในระยะที่ 1 โดยมีอัตราการประกอบในประเทศสูงถึง 95% ในอีกสามปีข้างหน้า บริษัทจะขยายการส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ รวมถึงฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย โดยคาดว่าจะมีปริมาณการส่งออกประมาณ 200,000 คัน

    ในทำนองเดียวกัน Honda Vietnam ได้ผลักดันการส่งออกโมเดลและชิ้นส่วนประกอบทั้งหมด ปีที่ผ่านมา บริษัทส่งออกรถจักรยานยนต์ 207,000 คัน โดยมีมูลค่าการส่งออกรวมกว่า 462 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้น 25% ในปี 2564 จากข้อมูลของ VAMM บริษัทกล่าวว่า ในปีนี้ได้ตั้งเป้าหมายที่จะส่งออกเกือบหนึ่งในสี่ของล้านคันหรือเพิ่มขึ้น 9% ในปี 2565

    ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมให้ความเห็นว่า เพื่อรักษาการเติบโตในตลาดเวียดนาม บริษัทต่างๆ จะต้องเริ่มลงทุนในการพัฒนาสายผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้า ซึ่งเทรนด์ใหม่รวมถึงการให้ความสำคัญกับรุ่นประหยัดพลังงาน การออกแบบที่กะทัดรัด และการใช้งานที่ไม่ยุ่งยาก

    จากข้อมูลของ MotorCycles Data ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่เชี่ยวชาญด้านข้อมูลและการคาดการณ์ตลาดรถจักรยานยนต์ กลุ่มจักรยานไฟฟ้าของเวียดนามยังคงรักษาอัตราการเติบโตที่ 5.6% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 เมื่อเทียบกับกลุ่มเครื่องยนต์สันดาปภายในที่หดตัว