ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เลือกตั้งอย่างรับผิดชอบ 2566 > MoU กลไกจัดตั้งรัฐบาลผสม สร้างบรรทัดฐานใหม่การเมืองไทย

MoU กลไกจัดตั้งรัฐบาลผสม สร้างบรรทัดฐานใหม่การเมืองไทย

18 พฤษภาคม 2023


การหาเสียงเลือกตั้งในเคนยาปี 2022 ที่มาภาพ: https://www.capitalfm.co.ke/news/2022/01/udas-grand-plan-to-protect-its-votes-in-august-election/

หลังการแถลงผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการของคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ในเช้าวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 ในช่วงเย็นของวันเดียวกัน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล แถลงภายหลังผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการว่า พรรคก้าวไกลจะเจรจาการจัดตั้งรัฐบาล และนำโรดแมปที่ได้สัญญาไว้ไปคุยพรรคร่วมรัฐบาล โดยในการร่วมรัฐบาลต้องมีการเซ็น MOU เหมือนการเมืองสากล

ต่อมาวันที่ 18 พฤษภาคม ณ โรงแรม ดิ โอกุระ เพรสทีจ กรุงเทพฯ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย, นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ, สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย, พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย, วสวรรธน์ พวงพรศรี หัวหน้าพรรคเพื่อไทรวมพลัง, ปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรม, และ เชาวฤทธิ์ ขจรพงศ​กีรติ หัวหน้าพรรคพลังสังคมใหม่ แถลงข่าวประกาศตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยของประชาชน โดยมีจำนวนผู้แทนราษฏรรวมกันทั้งสิ้น 313 คน จากผลการเลือกตั้งที่ไม่เป็นทางการ

ทุกพรรคจะร่วมกันจัดทำข้อตกลงร่วม (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อแสดงถึงแนวทางการทำงานร่วมกัน และวาระร่วมของทุกพรรค และจะแถลงต่อสาธารณะในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ เพื่อแก้ไขวิกฤตการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ

การจัดตั้งรัฐบาลผสมไม่ใช่ของใหม่ในประเทศไทยและในอีกหลายประเทศ รัฐบาลผสมได้กลายเป็นรูปแบบทั่วไปของระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมทั่วโลก เพื่อให้ได้เสียงข้างมากในรัฐสภา

จากข้อมูลการจัดตั้งรัฐบาลของประเทศต่างๆ แสดงให้เห็นว่าในยุโรปตะวันตกรัฐบาลผสมคิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 70 ของคณะรัฐมนตรี ขณะที่ประเทศในแถบสแกนดิเนเวียส่วนใหญ่มีคณะรัฐมนตรีจากเสียงข้างน้อย

รัฐบาลผสมคือรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นร่วมกันโดยพรรคการเมืองมากกว่าหนึ่งพรรค พรรคการเมืองอาจจัดตั้งแนวร่วมเพื่อตั้งรัฐบาลผสมหากไม่มีพรรคเดียวที่มีเสียงข้างมากในสภาหลังการเลือกตั้งทั่วไป หรืออาจจะจัดตั้งแนวร่วมขึ้นก่อนการเลือกตั้ง โดยมีเป้าหมายร่วมกันเพื่อชนะการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากในรัฐสภา หรือเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเมืองโดยการผสมผสานอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน หรือเพื่อนำพาประเทศในช่วงภาวะวิกฤติ และอื่นๆ อีกมากมาย อย่างไรก็ตามการจัดตั้งแนวร่วมก่อนการเลือกตั้งมีน้อย เพราะยากที่หาพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ตรงกัน

แต่ที่ใหม่ในการเมืองไทยคือ การลงนามในบันทึกความเข้าใจ memorandum of understanding หรือ MoU ที่นายพิธาพูดถึง และนำมาเป็นเครื่องมือในการทำความเข้าใจตรงกัน ในการจัดตั้งรัฐบาลผสมของพรรคการเมืองในไทยจากการเลือกตั้งปี 2566

ในต่างประเทศการใช้ MoU เป็นกลไกในการสร้างแนวร่วมทางการเมือง หรือจัดตั้งรัฐบาลผสมมีขึ้นมาหลายสิบปีแล้ว ยิ่งกว่านั้นยังมีกลไกอื่นในการควบคุม โดยเน้นที่ขั้นตอนการกำกับดูแลพรรคร่วมรัฐบาล มีตัวอย่างให้เห็นว่ารัฐบาลผสมหลายแห่งร่างสัญญาที่ครอบคลุมเพื่อควบคุมพันธมิตรในคณะรัฐมนตรี ซึ่งยิ่งนานไปข้อตกลงก็ยิ่งครอบคลุมระยะเวลานานขึ้น

เคนยา Classic Case ของ MoU

การเลือกตั้งเคนยาปี 2002 ที่มาภาพ:https://thisisafrica.me/politics-and-society/2002-kenyan-elections-remain-point-reference/

กรณีคลาสสิกของการทำ MoU ในการเมืองระดับประเทศน่าจะเป็นกรณีของเคนยา ซึ่งนอกจากเป็นการใช้ MoU ในการระงับศึกเลือกตั้งระหว่างพรรคการเมืองแล้วยังเป็นจุดกำเนิดของการจัดตั้งรัฐบาลผสมในแอฟริกาอีกด้วย จากข้อมูลในงานวิจัย Electoral Politics and Election Outcomes in Kenya ตีพิมพ์ในปี 2006

เคนยาจัดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี รัฐสภา และรัฐบาลท้องถิ่นทุกๆ 5 ปี นับตั้งแต่ได้รับเอกราชในปี 2506 ตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญของประเทศ

ในช่วงเวลาที่ได้รับเอกราชส่วนใหญ่ เคนยามีระบอบปกครองแบบรัฐบาลจากพรรคเดียว แต่ได้สิ้นสุดลงในปี 2535 เมื่อเปลี่ยนกลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบหลายพรรคหลังจากการแก้ไขมาตราที่เกี่ยวข้องของกฎหมายการเลือกตั้งประธานาธิบดีและรัฐสภา การเปลี่ยนจากระบบพรรคเดียวเป็นระบบหลายพรรคส่งผลกระทบต่อทั้งสภาพแวดล้อมด้านการบริหารและกฎหมายในการเลือกตั้ง ปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการเลือกตั้ง ได้แก่ เชื้อชาติ กลุ่มชาติพันธุ์ ลักษณะของพรรคการเมือง บุคลิกภาพของนักการเมืองแต่ละคน และในบางกรณีศาสนา จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งสูงมากในยุคหลายพรรค

โดยเฉพาะในช่วงการเลือกตั้งปี 2545 โดยมีสาเหตุมาจากสองปัจจัย ประการแรกคือความสามัคคีของฝ่ายค้านก่อนการเลือกตั้งและประการที่สองความจริงที่ว่าชาวเคนยามีโอกาสเลือกประธานาธิบดีคนใหม่หลังจาก 24 ปีที่ปกครองโดยประธานาธิบดีดาเนียล อาราป มอย (Daniel arap Moi) ซึ่ง Moi ดำรงตำแหน่งวาระสุดท้ายตามการแก้ไขบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องของกฎหมายการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2535 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่จำกัดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไว้ที่ 2 วาระในวาระละ 5 ปี

วันที่ 25 ตุลาคม 2545 ประธานาธิบดีดาเนียล อาราป มอย ได้ประกาศอย่างเป็นทางการ ยุติการปกครองประเทศเป็นเวลา 24 ปีของเขา พร้อมกับยุบสภา และเปิดให้มีการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสภานิติบัญญัติซึ่งกำหนดขึ้นในวันที่ 27 ธันวาคม 2545

ประธานาธิบดีมอยไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งในวาระใหม่ได้ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด จึงมีการเสนอชื่อผู้สืบทอดตำแหน่งคือนายอูฮูรู เคนยัตตา (Uhuru Kenyatta) บุตรชายของประธานาธิบดีผู้ก่อตั้งประเทศเคนยา โจโม เคนยัตตา (Jomo Kenyatta) ทำให้พรรค Kenyan African National Union (KANU) แตก ทำให้พรรคหลักและเจ้าหน้าที่รัฐบาลลาออกและแปรพักตร์ไปอยู่กับพันธมิตรฝ่ายค้านหลัก คือ National Rainbow Coalition (NARC)

การเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่หันมาใช้ระบบหลายพรรคในปี 2534 ที่ฝ่ายค้านสามารถท้าทายต่อพรรค KANU ซึ่งต่างจากการเลือกตั้งสองครั้งก่อนหน้านี้ เมื่อฝ่ายค้านแตกออกเป็นกลุ่ม ในปี 2545 NARC เป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งของพรรคฝ่ายค้านที่สัญญาว่าจะปฏิรูปรัฐธรรมนูญครั้งใหญ่และขจัดการทุจริต

2 สัปดาห์ก่อนการเลือกตั้ง พรรคการเมือง 10 พรรคได้ลงนามในจรรยาบรรณการเลือกตั้ง ท่ามกลางเหตุการณ์ความรุนแรง การใช้คำพูดที่หยาบคาย และการกล่าวหาการซื้อเสียงที่มากขึ้น

ผู้นำกลุ่ม NARC ที่ร่วม MoU ในการเลือกตั้ง 2002 ที่มาภาพ:https://nation.africa/kenya/news/the-deal-and-deal-makers-in-kibaki-s-2002-victory-557104

การเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้ออกมาใช้สิทธิลงคะแนนจำนวนมาก ส่งผลให้ฝ่ายค้านคว้าชัยชนะอย่างขาดลอยทั้งการเลือกประธานาธิบดีและรัฐสภา โดย NARC ได้ 126 ที่นั่งจากทั้งหมด 210 ที่นั่งในสภา ขณะที่ KANU ได้เพียง 64 ที่นั่ง วันที่ 29 ธันวาคม มีการประกาศให้ผู้นำฝ่ายค้าน นายมไว คิบากิ (Mwai Kibaki) อดีตรองประธานาธิบดีเป็นประธานาธิบดีคนที่สามของประเทศ ซึ่งเขาไปสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในถัดไป

สาเหตุที่ทำให้ฝ่ายค้านได้รับชัยชนะ คือ การจับมือกันอย่างเหนียวแน่น ทำให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งจำนวนมาก ต่างจากการเลือกตั้งปี 1992 ที่ชาวเคนยาได้เรียกร้องฝ่ายค้านสามัคคีกัน โดยชี้ว่าเป็นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในขับ KANU ออกจากอำนาจ ฝ่ายค้านยังคงแตกแยกจนถึงการเลือกตั้งปี 2545 จึงจับมือกันได้สำเร็จ

นอกจากนี้ ก่อนการเลือกตั้ง นักการเมืองชั้นนำจากชุมชนชาติพันธุ์หลักหลายแห่งได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ โดยตกลงที่จะจัดตั้งรัฐบาลผสมหากพวกเขาชนะการเลือกตั้ง และยังแบ่งตำแหน่งรัฐมนตรีอย่างเท่าเทียมกันระหว่าง กลุ่มการเมืองหลักสองกลุ่มในแนวร่วม ได้แก่ พรรค National Alliance Party of Kenya (NAK) และ Liberal Democratic Party (LDP) ซึ่งข้อตกลงที่ทำให้เกิด National Rainbow Coalition (NARC) ซึ่งได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง 2545

บันทึกความเข้าใจกำหนดว่าประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี รองนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 และ 3 จะมาจาก NAK ในขณะที่พรรค LDP จะได้รับตำแหน่งรองประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 และรัฐมนตรีประสานงานอาวุโส

การจัดการแบ่งปันอำนาจนี้บนพื้นฐานของการเป็นตัวแทนของกลุ่มชาติพันธุ์ สร้างความตื่นเต้นและความสนใจอย่างมากในหมู่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เนื่องจากทำให้กลุ่มชาติพันธุ์หลักแต่ละกลุ่มมีส่วนได้ส่วนเสียในรัฐบาลเคนยาในอนาคต ผู้มีสิทธิจึงออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งสูงเพื่อให้แน่ใจว่าข้อตกลงนี้เกิดผล ประกอบกับรัฐธรรมนูญใหม่ที่แก้ไขแล้วทำให้การเลือกตั้งเสรีและเป็นธรรม (free and fair) มากขึ้น

การลงนามในบันทึกนี้ถือว่าเป็นการร่วมมือกันของพรรคการเมืองเป็นครั้งแรก เพื่อล้มล้างรัฐบาลที่ปกครองประเทศและผู้นำที่ครองอำนาจและคอร์รัปชันมา 39 ปี

การใช้ MoU และการจัดตั้งรัฐบาลผสม จึงเป็นส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยในภูมิภาคแอฟริกากันอย่างกว้างขวาง โดยในการเลือกตั้งประธานาธิบดีล่าสุดปี 2565 ของเคนยา พรรคการเมืองแนวร่วมพันธมิตรเคนยา กวานซา (Kenya Kwanza Alliance) ได้ลงนามใน Coalition Agreement วันที่ 12 เมษายน 2565 และฝากเอกสารข้อตกลงไว้กับนายทะเบียนพรรคการเมือง (Registrar of Political Parties)

การลงนามใน Coalition Agreement มีขึ้นที่สำนักงานเลขาธิการแนวร่วมพรรคการเมือง (Secretary Generals of Constituent Parties Of The Coalition) ที่กรุงไนโรบี

การลงนามในข้อตกลงของแนวร่วมพันธมิตรพรรคการเมืองในเคนยาในการเลือกตั้งปี 2022 ที่มาภาพ:https://www.the-star.co.ke/news/2022-04-12-kenya-kwanza-parties-sign-coalition-agreement/

รองประธานาธิบดีวิลเลียม รูโต (William Ruto) หัวหน้าพรรค ANC มูซาเลีย มูดาวาดี (Musalia Mudavadi) และโมเสส เวนตังกูลา (Moses Wentangula) จากพรรค Ford Kenya (Forum for the Restoration of Democracy–Kenya) ร่วมเป็นสักขีพยาน โดยมี 12 พรรคอยู่ภายใต้ Kenya Kwanza รวมถึงพรรคที่ร่วมก่อตั้งแนวร่วมพันธมิตร คือ United Democratic Alliance (UDA),Ford Kenya และ Amani National Congress (ANC)

พรรค Kenya Kwanza Alliance ได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือเมื่อวันอังคารก่อนที่จะฝากเอกสารไว้กับนายทะเบียนพรรคการเมือง การลงนามดำเนินการโดยเลขาธิการพรรคร่วมรัฐบาลที่สนามแข่งม้า Ngong กรุงไนโรบี

รองประธานาธิบดีวิลเลียม รูโต หัวหน้าพรรค ANC มูซาเลีย มูดาวาดี และโมเสส เวนตังกูลา คู่หูฟอร์ด เคนยา ร่วมเป็นสักขีพยานในเหตุการณ์นี้ พรรคการเมือง 12 พรรคอยู่ภายใต้การพับของเคนยา กวานซา รวมถึงพรรคร่วมก่อตั้งสหพันธมิตรประชาธิปไตย (UDA) ฟอร์ด เคนยา และ อามานี สภาแห่งชาติ ANC

กลุ่มพันธมิตรได้ตกลงให้รองประธานาธิบดีรูโตเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งที่กำหนดไว้เป็นวันที่ 9 สิงหาคม

ขณะเดียวกันพรรคการเมืองอย่างน้อย 5 พรรค ประกอบด้วย พรรค Muungano, พรรค Agano, พรรค Daraja, พรรค Empowerment & Liberation Party (ELP) และ พรรค Justice and Freedom ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจเพื่อทำงานร่วมกันก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2565 เช่นกัน ภายใต้ชื่อกลุ่ม Eagles National Alliance

ผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีจะต้องได้รับคะแนนเสียง 50% + 1 เสียง และได้คะแนนเสียงอย่างน้อย 25% ในกว่า 24 เคาน์ตี

ผลการเลือกตั้ง วิลเลียม รูโต ได่คะแนน 50.49% และได้เสียงจาก 40 เคาน์ตีจากทั้งหมด 47 เคาน์ตี จึงขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนที่ 5 ของประเทศ

ในภูมิภาคเดียวกัน ไนจีเรียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ใช้ MoU เป็นกลไกในการสร้างแนวร่วมทางการเมือง โดยก่อนการเลือกตั้งปี 2562 พรรค Peoples Democratic Party (PDP) ได้จับมือตั้งแนวร่วมการเมืองกับอีก 38 พรรคการเมืองของประเทศเพื่อทำงานร่วมในการเลือกตั้งภายใต้ชื่อกลุ่ม Coalition of United Political Party (CUPP)

ผู้นำของพรรคต่างๆได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) เพื่อเอาชนะประธานาธิบดีมูฮัมมาดู บูฮารี (Muhammadu Buhari) และพรรค All Progressives Congress (APC) ในการเลือกตั้งปี และส่วนหนึ่งของข้อตกลงใน MoU คือ การระดมการสนับสนุนผู้สมัครที่ได้รับฉันทามติที่ศูนย์ รัฐ และฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐบาล

ที่มาภาพ: https://www.channelstv.com/2018/07/09/breaking-2019-elections-pdp-forms-alliance-with-over-30-political-parties/

อย่างไรก็ตามแม้การใช้ MoU การเมืองแบบแนวร่วม และการจัดตั้งรัฐบาลผสม เป็นส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยในภูมิภาคแอฟริกากันอย่างกว้างขวาง แต่ยังมีความไร้เสถียรภาพและเกิดการแตกแยกบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในแคริบเบียนและแอฟริกา ขณะที่ในซิมบับเว คองโก กินชาชา มอริเชียส ไนจีเรีย และแอฟริกาใต้ การจัดตั้งพันธมิตรนั้นเพื่อจัดการกับความตึงเครียดระหว่างชาติพันธุ์และภูมิภาคที่มีมาช้านาน

มาเลเซียใช้ MoU เพื่อเสถียรภาพรัฐบาล

จากภูมิภาคที่อยู่ห่างไกล กลับมาดูการใช้ MoU เป็นกลไกของแนวร่วมพรรคการเมืองเพื่อสนับสนุนรัฐบาลผสมในประเทศอาเซียนกันบ้าง ซึ่งก็คือ มาเลเซียที่มีพรมแดนติดกับไทยนั่นเอง

ในวันที่ 16 ธันวาคม 2565 แนวร่วมในรัฐบาลผสม (unity government) ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ โดยให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนการบริหารของดาโต๊ะ สรี อันวาร์ อิบราฮิมในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับความไว้วางใจและการสนับสนุนหรือ confidence and supply (หมายถึงการตกลงที่จะลงคะแนนเสียงให้กับรัฐบาลหรืองดเว้นการออกเสียงเมื่อมีการยื่นญัตติไม่ไว้วางใจ รวมทั้งให้การสนับสนุนรัฐบาลในบางด้าน เช่น การสนับสนุนร่างงบประมาณรายจ่าย)

การเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 15 ของมาเลเซีย (GE15) ที่มีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2565 ส่งผลให้เกิดรัฐบาลผสมของพรรคใหญ่ (grand-coalition government) ซึ่งประกอบด้วยอดีตคู่แข่งตัวสำคัญ หลังจากที่เผชิญภาวะสภาแขวน ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เนื่องจากไม่มีพรรคใดชนะขาดการเลือกตั้งและมีเสียงข้างมากในสภา แต่ในที่สุด ดาโต๊ะอันวาร์ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลผสม และสาบานตนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565

แนวร่วมรัฐบาลประกอบด้วยกลุ่มแนวร่วมแห่งความหวัง (Pakatan Harapan) กลุ่มแนวร่วมแห่งชาติ (Barisan Nasional), Gabungan Parti Sarawak และ Gabungan Rakyat Sabah ขณะที่ Parti Warisan ก็ลงนามในฐานะพรรคเดี่ยว

โดยผู้ที่ร่วมลงนามใน MoU นี้นอกจากดาโต๊ะอันวาร์แล้ว ยังประกอบด้วยนายอาห์หมัด ซาฮิด ฮามิดิ ประธานกลุ่ม Barisan Nasional, นายอาบัง โจฮารี โอเป็ง ประธาน Gabungan Parti Sarawak,นายฮาจิจิ นูร์ ประธานกลุ่ม Gabungan Rakyat Sabah และนายชาฟิ อัปเดล หัวหน้าพรรค Parti Warisan

ที่มาภาพ:https://www.malaymail.com/news/malaysia/2022/12/16/parties-sign-mou-backing-anwar-unity-government/45610

นายอาห์หมัด ซาฮิด ฮามิดิ ประธานกลุ่ม Barisan Nasional เป็นหนึ่งในรองนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลที่นำโดยดาโต๊ะอันวาร์

ในการแถลงข่าวหลังการลงนาม ดาโต๊ะอันวาร์กล่าวว่า ข้อตกลงไม่ได้มุ่งเน้นไปที่อำนาจ แต่มุ่งเน้นไปที่ธรรมาภิบาลและการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ

ดาโต๊ะอันวาร์กล่าวว่า…

“ด้วยความมุ่งมั่นร่วมกันในฐานะทีมที่แข็งแกร่ง รัฐบาลที่มีเอกภาพจะช่วยให้เราเผชิญกับปัญหาใดๆ ในและนอกรัฐสภาได้ด้วยเสียงเดียว MoU จะเป็นหลักประกันความมั่นคงของรัฐบาลของเขาตลอดทั้งวาระ”

MoU ที่ลงนามด้วยแนวร่วมรัฐบาลนี้ยังครอบคลุมสิทธิภายใต้รัฐธรรมนูญอีกด้วย โดยนายอาห์หมัด ซาฮิด เปิดเผยว่า MoU จะปกป้องสิทธิที่บัญญัติไว้ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐ ซึ่งรวมถึงอิสลาม ภาษามลายู สถานะของชาวมาเลย์ ตลอดจนผู้ปกครองชาวมาเลย์

ด้านนายชาฟิ อัปเดล หัวหน้าพรรค Parti Warisan กล่าวว่า “สิ่งหนึ่งที่ให้ความสนใจมากในเนื้อหาของข้อตกลงนี้คือเกี่ยวกับข้อตกลงมาเลเซีย 1963 (MA63) ซึ่งแฝงอยู่ในการจัดตั้งรัฐบาลผสม”

ข้อ 2.9 ของ MOU ระบุว่า สถานะทางการเมืองและเศรษฐกิจที่เป็นธรรมระหว่างคาบสมุทรมลายูและรัฐบอร์เนียว จะได้รับการสนับสนุนตามกรอบ MA63 โดย MA63 หมายถึงสถานะของซาบะฮ์และซาราวักในฐานะหุ้นส่วนที่เท่าเทียมกับมลายา ในฐานะผู้ก่อตั้งสหพันธ์มาเลเซียในปี 2506 ทั้งนี้เมื่อมีการก่อตั้งสหพันธ์ในปีนั้น รัฐธรรมนูญของมาเลเซียได้ระบุให้แยกรัฐบอร์เนียวออกจากรัฐอื่นๆ โดยเทียบเท่ากับมาลายาที่ระบุไว้ในข้อตกลง

ดร. Oh Ei Sun จาก Singapore Institute of International Affairsให้สัมภาษณ์กับ CNA’s Asia Now ว่า หนึ่งในข้อกำหนดหลักของ MOU คือดาโต๊ะอันวาร์ต้องปรึกษาหัวหน้าคนอื่นๆ ในรัฐบาลผสมก่อนที่จะทำการแต่งตั้งและถอดถอนคณะรัฐมนตรี

“ในทางกลับกัน พรรคร่วมอื่นๆ เหล่านี้จะให้การสนับสนุนต่อ อันวาร์ อิบราฮิม ในฐานะนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย” แต่สิ่งแรกที่รัฐบาลผสมต้องจัดการคือ เสถียรภาพทางการเมือง โดยชี้ว่าหากนายอันวาร์ผ่านมติไม่ไว้วางใจ จะทำให้มีเสถียรภาพ

ข้อตกลงที่ลงนามโดยผู้นำพันธมิตรในรัฐบาลของอันวาร์น่าจะช่วยให้เขาได้รับคะแนนเสียงไว้วางใจจากสมาชิกรัฐสภา 148 คนในวันจันทร์ (19 ธ.ค.) และก็ปรากฎว่าอันวาร์ ชนะการลงมติไม่ไว้วางใจในการประชุมรัฐสภาครั้งแรก เป็นการยืนยันความชอบธรรมในการผู้นำของเขาและรัฐบาลผสม

การลงคะแนนเสียงไว้วางใจเปิดให้ลงคะแนนด้วยการขานเสียงเท่านั้น ซึ่งนายโจฮารี อับดุล (Johari Abdul) ประธานรัฐสภาคนใหม่ยืนยันว่า สมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่สนับสนุนการลงคะแนนเสียง

นิวซีแลนด์ MoU เพื่อจัดตั้งรัฐบาล

จาซินดา อาร์เดิร์น ช่วงหาเสียงเลือกตั้งปี 2563 ที่มาภาพ : https://www.labour.org.nz/blog?p=172&page=20

ในวันที่ 1 พฤศจิกายนปี 2563 พรรคแรงงาน (Labour Party) ของนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ จาซินดา อาร์เดิร์น ได้ลงนามในข้อตกลงกับพรรคกรีน (Green Party) เพื่อจัดตั้งรัฐบาล

อาร์เดิร์นนำชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายมาสู่พรรคแรงงานในรอบครึ่งศตวรรษ แม้เธอไม่ต้องการการสนับสนุนจากพรรคอื่นๆ ในการบริหารประเทศอีกต่อไป แต่รัฐบาลผสมถือเป็นบรรทัดฐานในนิวซีแลนด์ เนื่องจากพรรคต่างๆ พยายามสร้างฉันทามติ

อาร์เดิร์นเสนอตำแหน่งรัฐมนตรีให้พรรคกรีน 2 ตำแหน่ง รวมถึงเปิดทางให้พันธมิตรที่เป็นแนวร่วมมีอิสระมากขึ้น

“สิ่งพิเศษที่นี่คือเราทั้งคู่เห็นพ้องต้องกันว่าจริงๆ แล้วเราไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย” อาร์เดิร์นกล่าวกับผู้สื่อข่าวในพิธีลงนาม

ก่อนการเลือกตั้งในเดือนตุลาคม พรรคแรงงานอยู่ในรัฐบาลร่วมกับพรรคกรีนและพรรค New Zealand First

เว็บไซต์พรรคแรงงาน รายงานว่า พรรคแรงงานและพรรคกรีนจะทำข้อตกลงความร่วมมือ (cooperation agreement) โดยที่ผู้นำร่วมของพรรคกรีนจะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีนอกคณะรัฐมนตรี และมีความร่วมมือด้านสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม และด้านความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กและชุมชน

พรรคกรีนจะสนับสนุนรัฐบาลแรงงานในกระบวนการยื่นญัตติทั้งในสภาผู้แทนและในคณะกรรมการ select committees และจะไม่คัดค้านในเรื่องที่มีข้อตกลง confidence and supply ตลอดวาระของรัฐสภา ซึ่งจะทำให้รัฐบาลที่นำโดยพรรคแรงงานมีเสถียรภาพมากขึ้นในสภา

โดยที่รัฐบาลผสมถือเป็นบรรทัดฐานในนิวซีแลนด์ในปี 2563 เว็บไซต์ McGuinness Institute เผยแพร่ข้อตกลงความร่วมมือและข้อตกลงการสนับสนุนที่ครอบคลุมตั้งแต่ปี 2539

สถาบัน McGuinness ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับข้อตกลงพรรคการเมืองตั้งแต่มีการใช้ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม (Mixed-Member Proportional representation — MMP) โดยไปที่ข้อตกลงที่กล่าวถึงในพิธีเปิดรัฐสภาที่รัฐบาลชี้แจงทิศทางและเป้าหมายการบริารประเทศ

สถาบันระบุว่า พรรคการเมืองทำข้อตกลงเหล่านี้เพื่อจัดตั้งรัฐบาล การจัดตั้งรัฐบาลเป็นกระบวนการทางการเมือง (จัดการโดยพรรคการเมือง) ในขณะที่การแต่งตั้งรัฐบาลเป็นกระบวนการทางกฎหมาย (จัดการโดยผู้สำเร็จราชการ) กระบวนการทางการเมืองเริ่มต้นตั้งแต่วันเลือกตั้งและจบลงด้วยการแต่งตั้งรัฐบาล

จากการรวบรวมของ สถาบัน McGuinness พบว่ามีการทำข้อตกลงเพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสม (Coalition Agreements Forming Government) 5 ข้อตกลง, ข้อตกลง Confidence and Supply Agreements Forming Government จำนวน 13 ข้อตกลง, ข้อตกลง Agreements Inside Formation/Inside Government จำนวน 3 ข้อตกลง, ข้อตกลง Agreements Outside Formation/Inside Government จำนวน 1 ข้อตกลง, และข้อตกลง Agreements Outside Formation/Outside Government จำนวน 2 ข้อตกลง

ที่มาภาพ : https://www.mcguinnessinstitute.org/civicsnz/obtaining-a-comprehensive-list-of-coalition-agreements-and-support-agreement-documents-since-1996/

การทำข้อตกลงของพรรคการเมืองมีหลายวัตถุประสงค์ตั้งแต่การจัดตั้งรัฐบาล ไปจนถึงกำหนดนโยบายร่วมกัน โดยเห็นได้จาก ข้อตกลงจัดตั้งรัฐบาล ที่มีขึ้นในปี 2002 ระหว่างนางเฮเลน คลาร์ก เป็นหัวหน้าพรรคแรงงานกับนายจิม แอนเดอร์ตัน หัวหน้ากลุ่มแนวร่วมก้าวหน้า (Progressive Coalition) โดยกำหนดว่า ตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีจะได้รับการจัดสรรโดยนายกรัฐมนตรีหลังจากการปรึกษาหารือที่เหมาะสม และกลุ่ม Progressive Coalition จะมีตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีหนึ่งตำแหน่ง

ในด้านนโยบายนั้น ข้อตกลงระบุว่า โดยที่นโยบายของพรคแรงงานและกลุ่มแนวร่วมก้าวหน้าส่วนใหญ่เหมือนกัน ดังนั้น พรรคแรงงานจะเป็นผู้นำนโยบายในวงกว้าง และยอมรับนโยบายที่กลุ่มแนวร่วมก้าวหน้าที่ให้ความสำคัญกับการจ้างงาน การสนับสนุนครอบครัวที่มีรายได้น้อย สุขภาพและการศึกษา และต้องการที่ผลักดันนโยบายเฉพาะด้าน ได้แก่ การประสานงานที่ดีขึ้นและการบูรณาการความช่วยเหลือทางอุตสาหกรรม, การดำเนินการตามกลยุทธ์ด้านยาเสพติดที่ครอบคลุมซึ่งมุ่งเป้าไปที่การปกป้องเยาวชนและให้ความรู้เกี่ยวกับพิษภัยของการใช้ยาเสพติด, นโยบายส่งเสริมความสมดุลระหว่างงานและความรับผิดชอบต่อครอบครัว

นอกจากนี้ ยังมีข้อตกลงในด้านอื่นๆ เช่น Agreements Inside Formation/Inside Government ที่หนึ่งในบรรดาข้อตกลงนี้เป็น ข้อตกลงความร่วมมือ ที่จัดทำขึ้นระหว่างรัฐบาลซึ่งมีพรรคแรงงานเป็นแกนนำในการจัดทำ กับพรรคกรีน

พรรคกรีนตกลงที่จะให้เสริมสร้างเสถียรภาพให้กับรัฐบาลผสมที่จัดตั้งขึ้นระหว่างพรรคแรงงานกับกลุ่มแนวร่วมก้าวหน้า โดยให้ความร่วมมือด้านนโยบายและงบประมาณที่ตกลงร่วมกัน และไม่ต่อต้านต่อข้อตกลง Confidence or Supply ตลอดวาระของรัฐสภา

รัฐบาลจะหารือกับพรรคกรีนในประเด็นต่างๆ ได้แก่ โครงร่างกว้างๆ ของกฎหมาย, มาตรการทางกฎหมายที่สำคัญ,ประเด็นนโยบายที่สำคัญ,ตัวชี้วัดงบประมาณในวงกว้าง โดยการปรึกษาหารือจะเกิดขึ้นอย่างทันท่วงทีเพื่อให้แน่ใจว่า มุมมองของพรรคกรีนจะนำไปรวมในการตัดสินใจขั้นสุดท้าย

จากตัวอย่างของหลายประเทศ จะเห็นได้ว่า MoU หรือการทำข้อตกลงร่วมกันหรือ coalition agreements นอกจากถูกใช้เป็นเครื่องมือของพรรคการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาลผสมแล้ว ยังถูกรัฐบาลผสมใช้เป็นกลไกในการเสริมสร้างเสถียรภาพของรัฐบาลอีกด้วย เพราะพันธมิตรที่เป็นแนวร่วมถูกควบคุมด้วยข้อตกลง อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงร่วมนี้ไม่ใช่ข้อผูกพันตามกฎหมาย

หนึ่งในความท้าทายของรัฐบาลผสม คือ การกำหนดนโยบายร่วมกันและผลักดันออกมาเป็นผลงานรัฐบาล เพราะแนวร่วมแต่ละพรรคก็มีนโยบายที่ต่างกันมีความสำคัญไม่เท่ากัน ประกอบกับข้อตกลงเหล่านี้ไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย

ดังนั้น สำหรับประเทศไทย ไม่ว่าจะนำรูปแบบการลงนามใน MoU หรือข้อตกลงร่วมกันเข้ามาใช้เพื่อสร้างบรรทัดฐานของการเมืองระดับสากลก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ข้อตกลงร่วมนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการกำหนดนโยบายของคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลผสม เพื่อให้ประโยชน์ตกกับประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างแท้จริงหรือไม่

เรียบเรียงจาก
What is at stake for Kenyans in the 2022 Elections?
Kenya: 5 Parties Sign MOU Ahead of 2022 Elections
2019 Elections: PDP Forms Coalition With Over 30 Political Parties
ELECTIONS HELD IN 2002
Electoral Politics and Election
Outcomes in Kenya

20 Coalition Governance Patterns across Western Europe
Kenya Kwanza parties sign coalition agreement
Kenya’s election: institutional safeguards are still a work in progress
Kenya Elections 2022
Kenya: 5 Parties Sign MOU Ahead of 2022 Elections
2019 Elections: PDP Forms Coalition With Over 30 Political Parties
Parties sign MoU backing Anwar, unity government
Malaysia political coalitions sign agreement backing PM Anwar’s unity government
Malaysia PM Anwar wins vote of confidence at first parliament sitting
Malaysia PM Anwar wins vote of confidence at first parliament sitting
New Zealand’s Ardern forms government with Greens