ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เลือกตั้งอย่างรับผิดชอบ 2566 > เลือกตั้ง 2566 สร้างปรากฎการณ์ใหม่ “วัฒนธรรมประชาชนร่วมจับตานับคะแนน”

เลือกตั้ง 2566 สร้างปรากฎการณ์ใหม่ “วัฒนธรรมประชาชนร่วมจับตานับคะแนน”

20 พฤษภาคม 2023


เครือข่ายอาสาจับตาการเลือกตั้ง สรุปผลการจับตาคะแนนเลือกตั้ง 2566 พบปัญหาหน้าหน่วยเลือกตั้งหน้า  357 กรณี แต่ประชาชนได้ร่วมสร้างปรากฎการณ์ ใหม่ “วัฒนธรรมใหม่ประชาชนร่วมจับตานับคะแนน” ส่งผลให้การนับคะแนนถูกต้องโปร่งใส เรียกร้อง กกต.ประกาศผลเลือกตั้งก่อน 60 วันเพื่อให้จัดตั้งรัฐบาลได้เร็วขึ้น   

เครือข่ายอาสาจับตาการเลือกตั้ง แถลงผลการจับตาการเลือกตั้ง 2566

เครือข่ายอาสาจับตาการเลือกตั้ง ซึ่งประกอบด้วย โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw), VOTE62, Rocket Media Lab, Opendream และ เลือกตั้ง 2566 ร่วมแถลงสรุปผลงานการจับตาคะแนนเลือกตั้ง’66 “ในวันที่ประชาชนลุกขึ้นยืนถือกล้อง” โดยระบุว่า ประชาชนตื่นตัวร่วมสังเกตการณ์จับตาการเลือกตั้งปี2566 จนสามารถสร้างปรากฎการณ์ หรือ สร้างวัฒนธรรมใหม่ที่ประชาชนเข้าร่วมสังเกตการณ์การนับคะแนนเพื่อให้การเลือกตั้งโปร่งใสเป็นธรรม

กลุ่มอาสาสมัครได้ถอดบทเรียนการสังเกตการณ์ในวันลือกตั้งที่ 14 พ.ค.2566 โดยนายยุคลธรณ์  ช้อยเครือ อาสาสมัครกลุ่มทะลุ มข.นางสาวปธานิน กล่อมเอียง มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม นายภูภุช กนิษฐชาต เจ้าหน้าที่เก็บข้อมูลไอลอว์(iLaw) และ นายอานนท์ ชวาลาวัณย์ เจ้าหน้าที่เก็บข้อมูลไอลอว์

ในภาพรวมได้ข้อสรุปดังนี้ 1)การมีส่วนร่วมของประชาชนในการจับตาการนับคะแนนหน้าคูหา 2)สรุปปัญหาและข้อค้นพบเกี่ยวกับการจัดส่งบัตรเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต 3)ปัญหาและข้อผิดพลาดในการจัดการเลือกตั้งของ กกต. วันที่ 14 พ.ค.2566 ไปจนถึง 4)ปัญหาการรายงานคะแนน หรือการรวมคะแนนของบางเขตที่ยังไม่ชัดเจน และเรียกร้อง เรื่องความโปร่งใสด้านการเปิดเผยข้อมูลจาก กกต.

พบปัญหาหน้าหน่วยเลือกตั้ง 375 กรณี

นายอานนท์ ชวาลาวัณย์ เจ้าหน้าที่เก็บข้อมูลไอลอว์กล่าวว่า ในวันเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่ได้แบ่งกันทำหน้าที่เก็บข้อมูลตลอดทั้งวันเพื่อจะดูว่ามีเหตุการณ์ผิดปกติอะไรบ้าง  โดยมีการรายงานเหตุระหว่างวันจากเจ้าหน้าที่อาสามา ตั้งแต่เริ่มเปิดหีบ จนถึงเวลา 18.00 น ที่มีรายงานเข้ามา

ปัญหาที่ได้รับเรื่องร้องเรียนจากตั้งแต่เริ่มเปิดหีบ 08.00 น จนกระทั่งปิดหีบ 17.00 นของการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.2566  โดยเปิดช่องทางรับรายงานมีทั้งเฟซบุ๊ก Ilaw ทวิตเตอร์ ช่องทางอื่นๆรวมทั้งไลน์ นอกจากนั้นได้จัดทำแบบฟอร์มขึ้นมาเพื่อให้กรอก  และได้เปิดช่องเพื่อตรวจสอบข้อมูลในช่องทางนี้ โดยมีช่องทางในการอัพโหลดภาพเข้ามาเพื่อตรวจสอบเบื้องต้น แต่หากข้อเท็จจริงยังไม่กระจ่าง ก็ให้ทีมงานม้าเร็วไปตรวจสอบที่จุดเกิดเหตุ  หรือประสานงานตรวจสอบข้อมูลกับ กกต.

นายอานนท์ กล่าวว่า ในระหว่างวันพบว่า มีกรณีปัญหาทั้งหมด 375 กรณี จำแนกออกเป็นไม่ให้ถ่ายภาพ 81 กรณี  และ อีก 41 กรณีเป็นเรื่องเจ้าหน้าที่ กรรมการประจำหน่วย เลือกตั้ง (กปน.)ไม่ตรวจสอบอัตลักษณ์ ไม่ขอให้เปิดหน้ากากอนามัยเพื่อดูใบหน้า ส่วนที่เหลือเป็นกรณีบอร์ดแนะนำผู้สมัครไม่ครบถ้วน และเป็นบุคคลที่เสียชีวิตไปแล้ว แต่ยังมีรายชื่อเป็นผู้ใช้สิทธิ ทั้งหมดสะท้อนความไม่พร้อม และการรู้ระเบียบกฎหมายของ กปน.

“ปัญหาไม่ให้ถ่ายภาพที่เห็นว่าหนักสุด คือกรณีที่ จ.สงขลา เจ้าหน้าที่บอกผู้ที่ไปถ่ายภาพว่า ถ้าไปโพสต์จะถูกดำเนินคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ขอให้ลบภาพ เป็นคำถามว่าเจ้าหน้าที่มีอำนาจนั้นด้วยหรือ คือ ปัญหาระหว่างวันที่ผู้ไปใช้สิทธิรายงาน” นายอานนท์กล่าว

เลือกตั้งล่วงหน้าพบกรณีบัตรเขย่ง

ส่วนปัญหาการนับคะแนนบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าและนอกราชอาณาจักร มีอาสาสมัครจับตาการนับคะแนน 150 คน  โดยได้มีการทำแบบฟอร์มออกมาชุดหนึ่งเพื่อเก็บข้อมูลปัญหา กรณีการนับคะแนนหน่วยเลือกตั้งทั่วไป โดยพบว่ามีผู้สังเกตการณ์  33 กรณี จาก 150  คนตอบแบบฟอร์มกลับมา  ซึ่งกรณีที่พบมีความน่าสนใจคือ

1.ส่งมาไม่ทันเวลานับคะแนน เจ้าหน้าที่อาสาสมัครไม่ได้พบเอง แต่เป็นกรณีของพรรคก้าวไกลออกมาโพสต์ เรื่องของบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรจังหวัดฉะเชิงเทรา เขต 3 จะไม่ถูกนับ เนื่องจากมีการระบุว่าบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรจะส่งมาไม่ทันการนับคะแนน ซึ่งได้มีการตรวจสอบ กกต.พบนับบัตรเลือกตั้งเรียบร้อยดีแล้ว และได้มีการนับคะแนนเรียบร้อย

2.กรณีบัตรเขย่ง ซึ่งมีความกังวลมาก เนื่องจากในวันเลือกตั้งล่วงหน้ามีการเขียนหน้าซองเขตเลือกตั้งและรหัสเขตเลือกตั้งผิด แต่การตรวจสอบบัตรเขย่งทำได้ยาก เนื่องจากต้องทราบจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต ในเขตนั้นเพื่อจะสามารถตรวจสอบได้ เทียบกับจำนวนบัตรที่นำมานับจริง แต่ทีมไม่ได้มีข้อมูลของบัตร จึงไม่สามารถยืนยันบัตรเขย่งได้

แต่มีข้อมูลจำนวนบัตรที่ไม่ตรงกันใน แบบฟอร์มสส.5/17  เพราะปกติจำนวนบัตรดีจะเท่ากับจำนวนรวมของคะแนนที่พรรคการเมืองได้รับ แยกจากบัตรเสียและไม่ประสงค์ลงคะแนน แต่มีปัญหาที่เขตดินแดง ประมาณ 3-4 หน่วย เพราะจำนวน สส.5/17 นำตัวเลขผู้โหวตลงคะแนนไม่เท่ากับจำนวนผู้ที่ลงในแบบฟอร์ม

นอกจากนั้น ยังมีกรณีอื่นๆ เช่น ปากกาที่หน่วยเลือกตั้งล่วงหน้าฯ นนทบุรี เขต 2 เจ้าหน้าที่ขานให้บัตรที่กาถูกต้อง แต่ไม่ได้ใช้ปากกาสีน้ำเงิน เป็นบัตรเสีย ซึ่งก็พยายามทักท้วง เจ้าหน้าที่จึงแก้ปัญหา ขานใหม่ แต่จุดนั้นมี 6 ชุด ขณะที่มีผู้สังเกตการณ์คนเดียวจึงไม่แน่ใจว่ามีบัตรถูกตีเป็นบัตรเสียเพราะสีปากกาอีกหรือไม่ นายอานนท์ระบุ

นายอานนท์กล่าวต่อว่า ปัญหาดังกล่าว ส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็น ‘ความไม่พร้อม’ หรือความไม่รู้ของกรรมการประจำหน่วย ในเรื่องระเบียบ กกต. หลายกรณีเวลามีประชาชนไปถ่ายรูป เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ห้ามปราม

ส่วนในภาพรวมปัญหา ไม่พบกรณีที่ส่อไปในทางทุจริตชัดเจน แต่เป็นความไม่พร้อมของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ที่อาจะไม่รู้ระเบียบเท่าที่ควร และมีมาตรฐานต่างกัน รวมถึงความไม่พร้อมด้านสถานที่นับคะแนน เช่น จ.เชียงใหม่ เขต 1 จุดนับบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า นับที่สนามฟุตซอล มีลูกกรงล้อมรอบ ประชาชนไม่สามารถเข้าไปได้ ทำให้การสังเกตการณ์ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

นอกจากนี้ยังกรณีคือ เขตเลือกตั้ง กทม.ที่ดินแดง ในการกรอกแบบฟอร์ม ส.ส.5/17 สรุปผลนับคะแนนเลือกตั้งนั้น ปรากฏว่า บางแบบฟอร์มเจ้าหน้าที่ไม่ได้กรอกว่า เป็นของชุดที่เท่าไหร่ และไม่ได้กรอกเลข 0 ในพรรคที่ไม่ได้คะแนน คือเว้นว่างไว้ ทำให้เกิดความกังวลว่าจะมีการไปแต่งเติมอะไรหลังจากนั้นหรือไม่ ได้มีการทักท้วงจนเจ้าหน้าที่แก้ แต่สำเนาที่ถือเข้าไปในสำนักงานเขต ไม่ทราบว่ากรอกครบถ้วนหรือไม่

 4 เขตเลือกตั้งยังมีปัญหาร้องเรียน

นายภูภุช  กนิษฐชาต เจ้าหน้าที่เก็บข้อมูล iLaw กล่าวว่า  เขตที่มีปัญหาเด่นมีทั้งหมด 6 เขต แต่ปัญหายุติไปแล้ว 2 เขต และ ปัญหายังไม่ยุติ 4 เขต   โดยเขตแรก คือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เขต 2 ปัญหา คือการนับคะแนนยุติไปแล้ว แต่มีผู้สมัครจากพรรคก้าวไกลเป็นผู้ชนะ แต่กลับพบว่า การรายงานผลในระบบ ECT Report  ผิดเพราะว่า ตอนแรกการรายงานระบุว่า ผู้สมัครจากพรรคภูมิใจไทยได้อันดับหนึ่งตามมาด้วยผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล  แต่ในความเป็นจริงคือพรรคก้าวไกลชนะ แต่ประชาชนได้ทักท้วง

ส่วนเขตที่สองคือ เขต 20 (ลาดกระบัง) ปัญหายุติไปแล้ว ผู้ชนะการเลือกตั้งคือผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งชนะผู้สมัครพรรคก้าวไกลแค่ 4 คะแนนเท่านั้น ปัญหาคือประชาชนไปรอการนับคะแนนแต่หีบเลือกตั้งมาช้า มาถึงประมาณ5ทุ่มกว่า บัตรหายไป 1 ใบ แต่ ECT Report  รายงาน ในระบบระบุผู้มาใช้สิทธิเกิน 103% ซึ่งเกิน 100% เป็นไปไม่ได้ จากนั้นเด้งกลับมาที่เดิมคือ 100 %   แต่ก็มีประชาชนไปตรวจสอบ ใบ สส.5/18 ไปดูคะแนนรวมตกหล่น  แต่ที่สุด กกต. สรุปว่าคะแนนถูกต้อง และผู้สมัครพรรคก้าวไกลไม่ติดใจที่จะนับคะแนนใหม่

ส่วนเขตที่มีปัญหาและยังไม่มีข้อยุติคือ สงขลาเขต 2   คือมีปัญหาทั้งถ่ายรูป ความเข้าใจ กปน.ไม่ตรงกัน  และยังมีข้อกังขาเรื่องจำนวนบัตรและผู้มาใช้สิทธิไม่ตรงกัน นอกจากนั้นยังมีข้อครหาการซื้อเสียงของผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐ จังหวัดพังงา เขต 2 ซึ่งเมื่อวานนี้ (19 พ.ค.66) ชาวบ้านเดินทางไปยื่นหลักฐานเป็นคลิปวิดีโอต่อ กกต.จังหวัดพังงา เพื่อเรียกร้องให้จัดเลือกตั้งใหม่

ส่วนเขตที่มีปัญหาต่อมา คือ ชลบุรี เขต 4 มีผู้รายงานปัญหา คะแนนเยอะที่สุด มีรายงานมา 52 ราย ว่าเจ้าหน้าที่ห้ามถ่ายรูป รวมผลคะแนน  และมีบัตรเขย่งประมาณ 4 พันกว่าคะแนน  แต่ กกต.บอกว่าเป็นการสื่อสารผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ และเจ้าหน้าที่กรอกเลขผิดพลาดเท่านั้น แต่ปัญหานี้ยังไม่มีข้อยุติและต้องติดตามกันต่อไปว่าจะมีการนับใหม่หรือไม่

 เลือกตั้ง 2566 สร้างวัฒนธรรมประชาชนจับตานับคะแนน

ส่วนการมีส่วนร่วมการจับตานับคะแนนเลือกตั้งของประชาชน  นายปฏิพัทธ์  สุสำเภา บริษัท OPendream  กล่าวว่า  การเลือกตั้งครั้งนี้สามารถพิสูจน์ได้ว่า ประชาชนสามารถเข้าร่วมนับคะแนนกับ กกต.ที่รวดเร็ว ถูกต้อง โปร่งใสได้ โดยจะเห็นได้จาก อาสาสมัครที่เข้ามาลงทะเบียนใน VOTE 62 จำนวนกว่า 3.9 หมื่น แต่มีข้อมูลที่ส่งเข้ามากว่า 4 หมื่นครั้ง

ขณะที่พบว่ามีอาสาสมัครที่ลงทะเบียน และอาสาสมัครธรรมชาติที่ส่งข้อมูลเข้ามายังเวปไซต์ มากกว่าปี 2562 ถึง 10 เท่า และมีข้อมูลที่ส่งเข้ามาเพื่อช่วยจับตาเลือกตั้งมากกว่า ปี 2562 ถึง 9 เท่า นั่นแสดงว่าประชาชนตื่นตัวในการจับตาการเลือกตั้งมากขึ้น

“ปัญหาที่เราพบ ในช่วงลงทะเบียนคือ กกต.ไม่เปิดเผยสถานที่หน่วยเลือกตั้ง ทำให้ผู้ที่ลงทะเบียนไม่สามารถหาจุดที่จะเข้าร่วมสังเกตการณ์ได้  จึงเข้ามาลงทะเบียนเฝ้าหน่วยเลือกตั้งของเราได้จำนวนไม่มาก จากเป้าหมายที่เราต้องการอาสาสมัครหน่าหน่วย 9 หมื่น ถึงแสน ตามจำนวนหน่วยยเลือกตั้งจำนวน 9 หมื่นกว่าหน่วยทั่วประเทศ”

อย่างไรก็ตามพบว่า ช่วงหลังปิดหีบเลือกตั้งมีข้อมูลหลังบ้านที่อาสาสมัครเข้ามาช่วยตรวจสอบคะแนน ในช่วง 3 ทุ่ม จำนวนมากถึง 2 แสนคน นั่นแสดงว่า ประชาชนตื่นตัวในการเข้ามามีส่วนร่วมในการนับคะแนน และสามารถนับคะแนนคู่ขนานกับการทำงานกับ กกต.ได้อย่างรวดเร็วโปร่งใสได้ หากมีระบบพียงพอที่จะให้ประชาชนเข้าร่วมในการนับคะแนนได้

เรียกร้อง กกต.ประกาศผลเลือกตั้งก่อน 60 วัน

นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการกล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นปรากฏการณ์ใหม่ ที่มีประชาชนมาเป็นอาสาจับตาการเลือกตั้งจำนวนมาก ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีมาก กับการที่ประชาชนไม่ว่าจะเชียร์พรรคไหนแล้วเดินออกไปช่วยนับคะแนนในเวลา 3-4 ชั่วโมง และเมื่อพบว่ามีผิด มีความผิดพลาดก็ทักท้วงเจ้าหน้าทีก็ยอมแก้ไข ถือว่าเป็นความสำเร็จ สุดท้ายรายงาน กลับมายังเวปไซต์ แต่ก็มีประชาชนอีกจำนวนมากที่ลงไปช่วยนับคะแนน ลงไปช่วยกดเครื่องคิดเลข เพื่อให้การนับคะแนนถูกต้อง

“เลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ค่อยมีเสียงโวยวาย รายงานคะแนนๆไม่ตรง  การโวยวายในเรื่องนี้น้อยกว่าปี 2562 เพราะว่ามีประชาชนไปจับตาเลือกตั้งที่หน่วยช่วยทักท้วงให้ถูกต้องตั้งแต่แรก ดีกว่ามาโวยวายที่หลังแล้วแก้ไขไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว และหวังว่า จะคงอยู่กับประชาชนชาวไทยไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งอีกกี่ครั้งก็จะมีประชาชนเข้ามมีส่วนร่วมในการนับคะแนนที่หน้าหน่วยเพื่อให้ทุกคะแนน นับถูกต้องโปร่งใส”

นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw

สำหรับข้อเสนอต่อ กกต.เพื่ออนาคต แบ่งเป็นข้อเสนอเร่งด่วน กับ ข้อเสนอแนะสำหรับการจัดการเลือกตั้งครั้งถัดไป โดยข้อเสนอเร่งด่วนคือ 

    1.กกต.ควรเร่งรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการโดยเร็วที่สุด  แม้ระเบียบข้อ 215 จะให้เวลา 60 วัน แต่หาก กกต.ตรวจสอบแล้วผลการเลือกตั้งในพื้นที่ใดไม่มีข้อสงสัยเรื่องทุจริตควรประกาศรับรองในวันจันทร์ที่ 22 พฤษภาคม 2566 เพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ เดินหน้าไปได้โดยไม่เปิดช่องว่างให้เกิดการเจรจาต่อรอง เปลี่ยนแปลงแนวโน้มการจัดตั้งรัฐบาลให้แตกต่างไปจากที่ประชาชนได้ออกเสียง

    2.เขตเลือกตั้งที่มีข้อร้องเรียนว่าผลคะแนนรวมไม่ตรงกับจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ระเบียบ 177 วรรคสี่ และข้อ 223 ใช้อำนาจของ กกต.สั่งนับคะแนนใหม่ได้ ซึ่งควรสั่งโดยเร็ว เพราะเป็นวัฒนธรรมพื้นฐานที่สร้างให้เกิดการมีส่วนร่วมและความโปร่งใส เพราะการนับคะแนนใหม่เมื่อมีเรื่องครหาควรจะเป็นวัตฒธรรมที่สร้างให้เกิดการมีส่วนร่วม

    3.เขตเลือกตั้งที่ยังมีข้อสงสัยหรือมีข้อร้องเรียน กกต. ควรเร่งตรวจสอบและชี้แจงต่อสาธารณะให้เร็วที่สุด เช่น กรณีการนับคะแนนแล้วมีผู้สมัครบางคนได้คะแนนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กรณีที่ผลจากระบบ ectreport มีลักษณะบัตรเขย่ง

ส่วนข้อเสนอแนะสำหรับการจัดการเลือกตั้งครั้งถัดไป 

    1. กกต.ควรเปิดเผยข้อมูลที่จำเป็นอย่างเป็นระบบ เช่น สถานที่ตั้งหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศ ข้อมูลจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า ข้อมูลผู้สมัครรับเลือกตั้ง ข้อมูลค่าใช้จ่ายในการหาเสียง ข้อมูลเรื่องร้องเรียนและผลการพิจารณา
    2.กกต. ควรให้ความรู้จัดอบรมให้กับกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ให้เข้าใจระบบการจัดการเลือกตั้งมากขึ้น เปิดโอกาสให้ประชาชนตรวจสอบ สอบถาม ถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอได้อย่างเต็มที่ และลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นเพื่อลดภาระและเพิ่มประสิทธิภาพของ กปน.
    3.กกต.ควรถอดบทเรียนจากระบบรายงานผลคะแนนในปี 2566 และพัฒนาระบบที่ดีขึ้น โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกแบบกฎหมายระเบียบ และพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อรายงานผลคะแนนที่รวดเร็วถูกต้องและโปร่งใสกว่าเดิม