ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > iLaw สรุปสถานการณ์ปี 2558: ระบบยุติธรรมตามสั่ง เสรีภาพขาดตลาด

iLaw สรุปสถานการณ์ปี 2558: ระบบยุติธรรมตามสั่ง เสรีภาพขาดตลาด

24 ธันวาคม 2015


ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ โดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เปิดรายงานสรุปสถานการณ์เสรีภาพการแสดงออกตลอดปี 2558ภายใต้รัฐบาลคสช.(คณะรักษาความสงบแห่งชาติ)ยังอยู่ในภาวะวิกฤติ ช่วงกลางปีบรรยากาศการปิดกั้นดูเหมือนจะผ่อนคลายลงกว่าปีที่แล้วบ้างแต่ก็กลับมาร้อนแรงกว่าเก่าในช่วงปลายปี การ “ปรับทัศนคติ” ยังมีต่อเนื่องโดยรูปแบบเปลี่ยนจากการเรียกรายงานตัวเป็นการไปหาที่บ้านและการไปหาคนใกล้ชิด ประชาชนที่แสดงความคิดเห็นโดยสงบยังถูกตั้งข้อหาทางการเมืองทั้งมาตรา 112, มาตรา 116, ชุมนุมเกินห้าคน, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ การชุมนุมสาธารณะและการจัดกิจกรรมต่างๆ ทำได้ยากเมื่อถูกขัดขวางทั้งทางกายภาพและด้วยการอ้างพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะที่ออกใหม่ แต่ก็ขยับได้เล็กน้อยเมื่อมีกระแสสังคมสนับสนุน “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่”

ในปีนี้ยังมีเรื่องเด่นๆ ที่น่าจดจำ เมื่อศาลทหารพิพากษาลงโทษคดีมาตรา 112 สูงสุดเป็นสถิติใหม่ จำคุก 60 ปี จากการกระทำ 6 กรรม มีการตั้งข้อหามาตรา 112 จากการกดไลค์และพูดถึงสุนัขทรงเลี้ยง ยังมีกรณีผู้ต้องหาคดีแอบอ้างสถาบันฯ เสียชีวิตระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำที่ตั้งขึ้นเป็นพิเศษในค่ายทหาร และมีคำพิพากษาที่อาจวางบรรทัดฐานสำคัญๆ อีกหลายคดี

ilaw 2015 สถิติคดี

คดี 112 จับเพิ่ม 37 คน จากการแสดงออก, ข่าวใหญ่ปีนี้ “หมอหยอง” ตายในคุก

ช่วงต้นปี 2558 สถานการณ์คดี 112 อยู่ในภาวะตึงเครียด เจ้าหน้าที่กวาดจับผู้ต้องหาอย่างน้อย 21 คนในเวลาไล่เลี่ยกัน ผู้ต้องหา 14 คนในจำนวนนี้ ถูกจับเพราะเจ้าหน้าที่เชื่อว่ามีส่วนร่วมผลิตและเผยแพร่คลิปเสียงรายการคุยการเมือง “บรรพต” จากนั้นสถานการณ์เริ่มผ่อนคลายลง

เท่าที่บันทึกข้อมูลได้ มีการจับกุมผู้ต้องหารายใหม่ในเดือนเมษายน 1 คน เดือนพฤษภาคม 1 คน เดือนมิถุนายน 1 คน ช่วงเดือนกรกฎาคมจนถึงเดือนตุลาคม ไม่มีการตั้งข้อหา 112 รายใหม่กับบุคคลที่แสดงความคิดเห็น จนกระทั่งช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนและต้นเดือนธันวาคม มีผู้ถูกตั้งข้อหา 112 จากการแสดงออกรายใหม่อย่างน้อย 7 คน ซึ่ง 6 คนถูกสงสัยว่าวางแผนจะก่อเหตุรุนแรงช่วงเทศกาลBike for Dad และกรณีของฐนกร ที่ถูกตั้งข้อหา 112 จากการกดไลค์และการพาดพิงสุนัขทรงเลี้ยง

ตลอดทั้งปี 2558 มีผู้ถูกจับกุมและตั้งข้อหาด้วยมาตรา 112 จากการแสดงความคิดเห็น เท่าที่ยืนยันได้ คือ 37 คน เมื่อนับรวมคนที่ถูกจับกุมในปี 2557 และกรณีที่ไม่สามารถยืนยันวันเวลาการจับกุมได้ ทำให้นับจากการรัฐประหารถึงสิ้นปี 2558 มีบุคคลที่ถูกจับกุมและถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างน้อย 61 คนคลิกที่นี่เพื่อดูตารางคนถูกตั้งข้อหาทั้งหมด

ศาลพิพากษาอย่างน้อย 17 คดี หลายกรรมเลยเจอโทษหนัก 60-56-50 ปี เป็นข่าวดังทั่วโลก

ปี 2558 มีคำพิพากษาคดีมาตรา 112 ในทุกชั้นศาลรวมอย่างน้อย 17 คดี เป็นคำพิพากษาศาลชั้นต้น 12 คดี แบ่งเป็นศาลยุติธรรม 3 คดี และศาลทหาร 9 คดี เป็นคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ 2 คดี และคำพิพากษาศาลฎีกา 3 คดี ตัวอย่างเช่น คดีละครเวทีเจ้าสาวหมาป่า ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 5 ปี ลดเหลือ 2 ปี 6 เดือน, คดี “เครือข่ายบรรพต” ซึ่งมีจำเลย 10 คน ศาลทหารกรุงเทพพิพากษาจำคุกคนละ 10 ปี ส่วนผู้สนับสนุนให้จำคุกคนละ 6 ปี ก่อนลดโทษครึ่งหนึ่ง,คดีโอภาสถูกฟ้อง 2 คดีจากการเขียนห้องน้ำ 2 แห่ง ศาลทหารสั่งจำคุกโอภาสคดีละ 3 ปี ลดเหลือ 1 ปี 6 เดือน เหมือนกันทั้ง 2 คดี

คดีที่ศาลลงโทษหนักเพราะถูกฟ้องหลายกรรมและกลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกในปีนี้ ได้แก่ เธียรสุธรรม ศาลทหารพิพากษาว่ามีความผิด 5 กรรมจากการโพสต์เฟซบุ๊ก 5 ข้อความ ถูกลงโทษจำคุกรวม 50 ปี ลดเหลือ 25 ปี, พงษ์ศักดิ์ ศาลทหารพิพากษาว่ามีความผิด 6 กรรม จากการโพสต์เฟซบุ๊ก 6 ข้อความ ถูกลงโทษจำคุก 60 ปี ลดเหลือ 30 ปี,ศศิวิมล ถูกศาลทหารเชียงใหม่พิพากษาว่ามีความผิดรวม 7 กรรม ลงโทษกรรมละ 8 ปี รวมจำคุก 56 ปี ลดเหลือ 28 ปี

คดีที่ขึ้นศาลในปีนี้ส่วนใหญ่จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลจึงมีคำพิพากษาได้อย่างรวดเร็ว ส่วนคดีที่จำเลยต่อสู้และศาลมีคำพิพากษาแล้ว เช่น “ธเนศ” ซึ่งถูกฟ้องว่าส่งอีเมล และต่อสู้ว่าทำไปโดยมีอาการทางจิตโดยมีใบรับรองแพทย์ประกอบ ศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุก 5 ปี ลดเหลือ 3 ปี 4 เดือน, ชาญวิทย์ ซึ่งถูกฟ้องว่าแจกใบปลิว และต่อสู้ในประเด็นจำนวนกรรม ศาลจังหวัดนนทบุรีพิพากษาลงโทษจำคุก 6 ปี โดยไม่ลดหย่อนโทษให้

ส่วนคดีที่จำเลยต่อสู้คดีในศาลทหาร เช่น คดีสิรภพ, คดีอัญชัญ, คดี ทอม ดันดี ยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณา ตั้งแต่มีประกาศให้ศาลทหารพิจารณาคดีพลเรือนในปี 2557 เป็นต้นมา ศาลทหารนัดพิจารณาคดีแบบไม่ต่อเนื่อง และในบางนัดพยานโจทก์ไม่มาศาล จนถึงสิ้นปี 2558 จึงยังไม่มีคดีที่จำเลยให้การปฏิเสธและพิจารณาแล้วเสร็จเลย

2015 112 verdict

การฉ้อโกงโดยแอบอ้างสถาบันฯ ถูกทำให้กลายเป็นความผิด 112 อย่างเป็นระบบ

แม้ว่าการนำมาตรา 112 ซึ่งเป็นความผิดลักษณะหมิ่นประมาท มาดำเนินคดีกับบุคคลที่แอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ทั้งที่การกระทำเข้าข่ายการฉ้อโกงมากกว่า จะเป็นประเด็นทางกฎหมายที่ยังต้องถกเถียงกันต่อไป แต่ในทางปฏิบัติ การจับกุมและดำเนินคดีลักษณะนี้เกิดขึ้นจำนวนมากอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2557 ต่อเนื่องมาในปี 2558 ซึ่งกำลังทำให้การแอบอ้างสถาบันฯ ถูกจดจำในฐานะความผิดตามมาตรา 112 ไปแล้ว

เท่าที่บันทึกข้อมูลได้ มีการจับกุมรายใหม่ในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 6 คน เดือนเมษายน 3 คน เดือนสิงหาคม 6 คน กรณีเหล่านี้ไม่เป็นข่าวใหญ่โต และส่วนใหญ่แต่ละคดีจะมีผู้ต้องหาหลายคนซึ่งถูกกล่าวหาว่าร่วมมือกันทำเป็นขบวนการ หลังจากนั้นมีการจับกุมรายใหม่ในเดือนตุลาคม 3 คน คือ สุริยันต์ หรือหมอหยอง พร้อมพวกอีก 2 คน ตามมาด้วยการออกหมายจับข้าราชการทหารตำรวจชั้นผู้ใหญ่อีกอย่างน้อย 5 คน

คดีของ “หมอหยอง” เป็นข่าวใหญ่ของปีนี้ เมื่อผู้ต้องหา 2 คน เสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวในเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ค่ายมทบ.11 พ.ต.ต.ปรากรม เสียชีวิตเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม โดยกรมราชทัณฑ์ให้ข่าวว่าผู้ต้องหาพยายามผูกคอตายในห้องขัง ส่วน “หมอหยอง” เสียชีวิตเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน โดยใบมรณบัตรระบุว่า เสียชีวิตเนื่องจากติดเชื้อในกระแสเลือด ทั้งสองกรณีได้รับความสนใจจากสังคมอย่างกว้างขวาง ยังไม่มีรายงานการไต่สวนการตายโดยศาล

ตลอดทั้งปี 2558 มีผู้ถูกจับกุมและตั้งข้อหาด้วยมาตรา 112 จากการแอบอ้างฯ เท่าที่ยืนยันได้ อย่างน้อย 18 คน โดยมีบุคคลอีกอย่างน้อย 5 คน ที่ถูกออกหมายจับแต่ยังไม่มีการจับกุมตัว นับจากการรัฐประหารถึงสิ้นปี 2558 มีบุคคลถูกจับหรือตั้งข้อหาด้วยมาตรา 112 จากการแอบอ้างฯ อย่างน้อย 42 คน คลิกที่นี่เพื่อดูตารางคดีแอบอ้างฯทั้งหมด

เรียกคุยอย่างน้อย 234 คน ผุดวิธีใหม่! เยี่ยมบ้านแทนประกาศเรียก นักวิชาการ – สื่อมวลชน โดนถ้วนหน้า

ปี 2558 การเรียกตัวบุคคลไปปรับทัศนคติยังเป็นเครื่องมือที่คสช.ใช้งานอย่างต่อเนื่อง เป้าหมายส่วนใหญ่ที่รัฐบาลคสช.และเจ้าหน้าที่รัฐต้องการควบคุม คือ กลุ่มนักการเมือง โดยเฉพาะแกนนำพรรคเพื่อไทยหรือแกนนำกลุ่มเสื้อแดง ที่ยังแสดงความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง ด้านกลุ่มนักศึกษา นักกิจกรรม นักวิชาการ สื่อมวลชน ที่ทำกิจกรรมแสดงออกทางการเมือง หรือกลุ่มที่เคลื่อนไหวประเด็นอื่นๆ ก็ถูกเจ้าหน้าที่คุกคามหลายรูปแบบ เพราะต่างก็ถูกมองว่าการเคลื่อนไหวเพื่อแสดงออกทางความคิดเห็นนั้นเป็นภัยต่อความสงบของประเทศในสภาวะเช่นนี้

วิธีการเรียกรายงานตัวเปลี่ยนไป – ชวนกินข้าว เชิญพูดคุย ไปเยี่ยมบ้าน

ปีที่แล้ว คสช. เรียกบุคคลเข้ารายงานตัวโดยใช้วิธีออกคำสั่งทางสื่อทุกชนิด แต่วิธีการนี้ไม่ใช้แล้วในปี 2558 ตลอดทั้งปีเจ้าหน้าที่พยายามเปลี่ยนวิธีเป็นการไปหาที่บ้าน ชวนไปดื่มกาแฟ ชวนไปกินข้าว ส่วนการเรียกตัวไปพูดคุยปรับทัศนคติที่ค่ายทหารก็ยังมีอยู่บ้าง แต่จะใช้การโทรศัพท์หรือส่งหนังสือเชิญ

ตัวอย่าง ในเดือนมกราคม นักการเมืองจากพรรคเพื่อไทยหลายคนถูกเรียกไปปรับทัศนคติ เช่น ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ถูกเรียกไปที่สโมสรกองทัพบก หลังโพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลผ่านเฟซบุ๊ก พิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีทหารมารับจากบ้านไปปรับทัศนคติที่กองทัพภาคที่ 1 หลังออกมาแสดงความคิดเห็นเรื่องราคาน้ำมัน ในเดือนกุมภาพันธ์ ทหารค่ายกาวิละ เชิญแกนนำเสื้อแดงเชียงใหม่ ไปกินข้าวและพูดคุยการเมือง ในเดือนเมษายน รัฐบาลโดยศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป เชิญนักการเมือง นักวิชาการ และกลุ่มนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนที่ลงชื่อคัดค้านการใช้มาตรา 44 เข้าร่วมหารือเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้ง ที่สโมสรกองทัพบก โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า เจ้าหน้าที่เชิญผู้เข้าร่วมทั้งหมด 82 ราย

ช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม การเมืองร้อนแรงขึ้นจากการเคลื่อนไหวของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ นอกจากการเรียกรายงานตัว เจ้าหน้าที่เปลี่ยนวิธีหาข้อมูลเป็นการเดินทางไปหาเป้าหมายที่บ้านโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ทหารหลายพื้นที่เข้าพูดคุยกับครอบครัวของนักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ เพื่อเกลี้ยกล่อม ไปจนถึงข่มขู่คุกคาม ให้ผู้ปกครองพาลูกหลานมารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่

มีรายงานอีกว่า หลายคนที่เคยถูก “ปรับทัศนคติ” ยังคงถูกทหารตามไปพบที่บ้าน หรือนัดมาพูดคุยอีกหลายครั้งตลอดทั้งปี เพื่อหาข้อมูลหรือเพื่อตรวจสอบว่าไม่ได้ร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองแล้ว เช่น ณัฐ อดีตนักโทษคดี 112, สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการที่ใช้เฟซบุ๊กวิพากษ์วิจารณ์การเมือง, สาวตรี สุขศรี นักกฎหมายกลุ่มนิติราษฎร์, จิตรา คชเดช นักสหภาพแรงงาน เป็นต้น ส่วนคนที่เคยถูกเรียกรายงานตัวแต่ไม่ไป เช่น สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ก็มีเจ้าหน้าที่ทหารไปที่บ้านเพื่อพบครอบครัวหลายครั้ง

นักวิชาการในมหาวิทยาลัย – สื่อมวลชน ก็ยังไม่มีเสรีภาพ โดนเรียกคุยถ้วนหน้า

การทำกิจกรรมของกลุ่มนักศึกษา การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง และการทำงานของนักวิชาการ ไม่อาจอาศัยรั้วมหาวิทยาลัยเป็นเกราะป้องกันให้มีเสรีภาพได้ในยุคของรัฐบาลคสช. ด้านการทำหน้าที่นำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชนก็เช่นกัน

ตัวอย่าง ในเดือนเมษายน นักศึกษากลุ่มลูกชาวบ้าน มหาวิทยาลัยบูรพา 2 คน ถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจคุมตัวไปสอบสวน หลังเข้าตรวจสอบงานเสวนา “เกี่ยวกับ ม.นอกระบบ” เดือนกรกฎาคม ตำรวจไปที่มหาวิทยาลัยนเรศวรเพื่อตรวจสอบกรณีอาจารย์ลงชื่อเรียกร้องปล่อยตัวนักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ที่ถูกคุมขัง และที่มหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าหน้าที่ทหารขอเข้าพบอาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา เพื่อขอความร่วมมือว่าถ้าจะทำกิจกรรม ขอให้แจ้งทหารที่ดูแลพื้นที่ และขอให้เพลาเนื้อหาลง

เดือนกันยายน 2558 สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ถูกทหารตามประกบ ขณะลงพื้นที่สำรวจข้อมูลพื้นฐานเศรษฐกิจชุมชนและการมีส่วนร่วมภายในชุมชน จ.อุดรธานี และในเดือนพฤศจิกายน 2558 อาจารย์มหาวิทยาลัย 8 คน ต้องเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนที่ สภ.ช้างเผือก จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 หลังร่วมกันอ่านแถลงการณ์ “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร”

ด้านสื่อมวลชน กรณีที่โดดเด่นของปีนี้ คือ การเรียกตัว ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสของหนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น ที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลอย่างสม่ำเสมอ ไปกักตัวในค่ายทหารหลายคืนในเดือนกันยายน 2558 ต่อมาในเดือนตุลาคม 2558 ศักดา แซ่เอียว หรือ “เซีย ไทยรัฐ” นักวาดการ์ตูนที่ถูกเรียกจากเนื้อหาของการ์ตูนที่สะท้อนปัญหาบ้านเมือง และ ทวีพร คุ้มเมธา นักข่าวประชาไทที่ถูกเรียกจากกรณีภาพอินโฟกราฟิก เกี่ยวกับคดี 112

นอกจากนี้ คนที่ออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรง ก็ถูกเจ้าหน้าที่เรียกไปปรับทัศนคติด้วย เช่น ชาวบ้าน จ.ร้อยเอ็ด ที่เคลื่อนไหวเรื่องที่ดิน, กลุ่มสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี, ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ จากเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย หรือ กลุ่มคนแม่สอดรักษ์ถิ่น ที่เคลื่อนไหวคัดค้านเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าปี 2558 เจ้าหน้าที่มียุทธวิธีหลากหลายมากขึ้นในการเรียกบุคคลไปรายงานตัวและปรับทัศนคติ เพื่อลดแรงเสียดทานจากสังคมและปรับภาพลักษณ์จากท่าทีแบบห้ามปรามเป็นการ “ขอความร่วมมือ” อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากการเรียกตัวและการไปพบที่บ้านในปีนี้ อาจกล่าวได้ว่ารัฐบาล คสช. ยังไม่มีท่าทีจะผ่อนคลายความเข้มงวดในการควบคุมการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไม่ว่าจะโดยใครก็ตาม

โดยในปี 2558 มีบุคคลถูกเรียกรายงานตัว ปรับทัศนคติ และเจ้าหน้าที่ไปเยี่ยมถึงบ้าน อย่างน้อย 234 คน และหากนับตั้งแต่รัฐประหาร พฤษภาคม 2557 ถึง ธันวาคม 2558 มีจำนวนอย่างน้อย 829 คน

2015 public events

เริ่มผ่อนให้ชุมนุมบ้างหลังกระแส “ประชาธิปไตยใหม่” เพิ่มกลเม็ดปิดกิจกรรมหลากหลายวิธี

ช่วงต้นปี 2558 แทบไม่มีการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกในที่สาธารณะ เพราะบรรยากาศการปิดกั้นที่เข้มงวดต่อเนื่องมาจากปีก่อน ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์เมื่อกลุ่มพลเมืองโต้กลับจัดกิจกรรม “เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก” ต่อด้วยกิจกรรม “พลเมืองรุกเดิน” ในเดือนมีนาคมก็ถูกควบคุมตัวและตั้งข้อกล่าวหา ขณะเดียวกัน การชุมนุมที่แม้ไม่ใช่เรื่องการเมือง เช่น การคัดค้านการสั่งย้ายนายแพทย์ การเรียกร้องสิทธิแรงงาน หรือแม้แต่การชุมนุมของกลุ่มแฟนฟุตบอล ก็ถูกห้ามด้วย

22 พฤษภาคม 2558 วันครบรอบหนึ่งปีการรัฐประหาร นักกิจกรรมหลายกลุ่มออกมาจัดกิจกรรมและถูกเจ้าหน้าที่ใช้กำลังเข้าจับกุม เช่น นักศึกษากลุ่มดาวดิน ออกมาชูป้ายคัดค้านการรัฐประหารที่จังหวัดขอนแก่น กลุ่มวายพีดี จัดงานเสวนา และกลุ่มนักศึกษา จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในวันนั้นมีคนถูกจับกุมจากการแสดงออกอย่างสงบรวมอย่างน้อย 43 คน มากที่สุดนับตั้งแต่การรัฐประหารจนถึงสิ้นปี 2558

หลังถูกจับกุมและถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนประกาศห้ามชุมนุมทางการเมืองของคสช. นักศึกษากลุ่มดาวดินและนักศึกษาที่ถูกจับจากหน้าหอศิลป์ฯ รวมตัวกันทำกิจกรรมต่อภายใต้ชื่อ “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่” ประกาศทำอารยะขัดขืน ไม่หนี ไม่ให้ความร่วมมือ และเดินหน้าจัดการชุมนุมต่อเนื่อง จนถูกจับกุมอีกครั้งในเย็นวันที่ 26 มิถุนายน หลังการจับกุม นักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ 14 คนถูกฝากขังต่อศาลทหารในช่วงกลางดึกของวันเดียวกัน และถูกส่งตัวเข้าเรือนจำทันที

สังคมและสื่อกระแสหลักให้ความสนใจกับเหตุการณ์นี้มาก หลายฝ่ายออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวจนเกิดเป็นกระแส มีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เช่น การติดโพสต์อิทให้กำลังใจ การจุดเทียนและร้องเพลงหน้าเรือนจำ รวมถึงการชุมนุมหน้าศาลทหาร ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ปล่อยให้กิจกรรมต่างๆ ดำเนินไปโดยไม่ขัดขวาง จนต่อมาศาลทหารสั่งปล่อยตัวนักกิจกรรมที่ถูกควบคุมตัวโดยไม่มีเงื่อนไข

ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา การชุมนุมหลายครั้งดำเนินไปได้ แม้เจ้าหน้าที่จะยังคุมเข้มและพยายามกดดันด้วยหลายวิธีการ แต่ก็ไม่มีการใช้ความรุนแรงเข้าปราบปราม ไม่มีการจับกุม เช่น กิจกรรมกรวดน้ำคว่ำขันรัฐธรรมนูญ, การชุมนุมรำลึก 9 ปี รัฐประหาร 19 กันยาฯ, การชุมนุมรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เป็นต้น รวมถึงการชุมนุมในประเด็นอื่นๆ ที่ไม่ใช่การต่อต้านรัฐบาล ก็เริ่มเกิดขึ้น เช่น การคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ การจัดงานรำลึกเกษตรกรที่ถูกลอบสังหาร ที่จ.สุราษฏร์ธานี เป็นต้น

แม้ในช่วงครึ่งหลังของปี คสช.จะผ่อนคลายให้ประชาชนรวมตัวและแสดงออกได้มากขึ้น แต่กิจกรรมนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ของกลุ่มประชาธิปไตยศึกษา ซึ่งจัดในช่วงเดือนธันวาคมก็ถูกขัดขวาง โดยตำรวจและทหารหยุดรถไฟที่สถานีบ้านโป่ง จ.ราชบุรี และควบคุมตัวผู้จัดกิจกรรมและผู้เข้าร่วมอย่างน้อย 35 คน ทำให้เห็นว่าบางประเด็นยังอ่อนไหวในระดับที่รัฐบาลนี้ไม่ยินยอมให้แสดงออกได้

ประกาศใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เป็นเครื่องมือ “ขู่” ห้ามเคลื่อนไหว

ความเคลื่อนไหวของสถานการณ์เสรีภาพการชุมนุมและการจัดกิจกรรมสาธารณะที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งของปี 2558 ได้แก่การผ่านพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ซึ่งมีผลบังคับใช้ในเดือนสิงหาคม กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้ผู้จัดการชุมนุมต้องแจ้งล่วงหน้า 24 ชั่วโมง และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขด้วย

หลังพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ถูกประกาศใช้ มีหลายกรณีที่เจ้าหน้าที่อ้างอำนาจตามกฎหมายดังกล่าวเพื่อขู่ไม่ให้มีการชุมนุมหรือเดินขบวน ทั้งการชุมนุมทางการเมืองและการชุมนุมประเด็นอื่น เช่น การชุมนุมคัดค้านการย้ายสถานีขนส่ง หรือ คัดค้านการปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล เป็นต้น โดยเท่าที่บันทึกได้ มีการบังคับใช้จริง 1 ครั้ง คือ กรณีสั่งปรับผู้จัดงานรำลึกนวมทองฯ จากการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

งานเสวนายังจัดได้ยากแม้ไม่ได้ต้านคสช. การให้เหตุผลยังสับสน แนวโน้มทหารออกหน้าน้อยลง

สำหรับบรรยากาศการจัดงานเสวนาสาธารณะ หรือกิจกรรมอื่นๆ ในปี 2558 ก็ยังคงมีการปิดกั้นอย่างหนัก แม้ในการพูดคุยประเด็นที่ไม่ใช่การต่อต้านรัฐบาลคสช. เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน สิทธิชุมชน มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ฯลฯ โดยเหตุผลที่เจ้าหน้าที่อ้าง ยังเป็นเรื่องการไม่ขออนุญาตก่อน บางครั้งเจ้าหน้าที่ก็ชี้แจงว่า เกรงว่าการจัดกิจกรรมอาจเป็นแบบอย่างให้กลุ่มอื่น หรืออาจจะขยายไปสู่การเคลื่อนไหวประเด็นอื่น ข้อสังเกต คือ เจ้าหน้าที่ที่มาประสานงานส่วนใหญ่เป็นระดับผู้น้อยที่รับคำสั่งมาอีกทอดหนึ่ง จึงยากที่ผู้จัดจะทราบเหตุผลของการปิดกั้น

สำหรับวิธีการที่ใช้ในการปิดกั้นหรือแทรกแซงมีหลากหลายและเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ เช่น การกดดันเจ้าของสถานที่ให้ยกเลิกการให้ใช้สถานที่ การตัดไฟฟ้าบริเวณที่จัดกิจกรรม การขอบันทึกวีดีโอและจดรายชื่อผู้เข้าร่วม การขอให้เปลี่ยนชื่องาน การขอให้มีทหารหรือคนของรัฐมาเป็นวิทยากรด้วย ฯลฯ รวมทั้งการยกกำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปขอให้ยกเลิกงาน รูปแบบหนึ่งที่เห็นได้ คือ ทหารมีแนวโน้มจะเข้ามาดำเนินการเองน้อยลง ให้ตำรวจเป็นผู้ออกหน้าเป็นส่วนใหญ่ หลายกรณีตำรวจเน้นการเจรจาเพื่อหาจุดที่ยอมรับได้ร่วมกันแทนการปิดกั้นงานทั้งงาน

สำหรับกิจกรรมที่ไม่ใช่การต่อต้านรัฐบาล การปิดกั้นอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น รูปแบบกิจกรรมเป็นการเดินขบวนบนท้องถนน ผู้จัดงานเคยมีประวัติเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหาร หรือผู้จัดงานมีศักยภาพที่จะรวมคนจำนวนมากได้ จากการเก็บข้อมูลพอเห็นได้ว่า การปิดกั้นหรือแทรกแซงแต่ละครั้งมีลักษณะเพื่อ “ตัดไฟตั้งแต่ต้นลม” ไม่ให้การรวมตัวกันเกิดขึ้นได้ง่ายและบานปลาย ไปจนถึงการป้องกันไม่ให้เกิดการชุมนุมที่เป็นแบบอย่างสำหรับการเคลื่อนไหวของกลุ่มทางการเมืองต่างๆ

เท่าที่บันทึกข้อมูลได้ ตลอดปี 2558 มีการปิดกั้นหรือแทรกแซงการชุมนุมสาธารณะ และการจัดกิจกรรมต่างๆ อย่างน้อย 63 ครั้ง แบ่งเป็นการชุมนุมหรือกิจกรรมแสดงออกต่อสาธารณะ 19 ครั้ง การจัดงานเสวนาหรือกิจกรรมในสถานที่เฉพาะอย่างน้อย 44 ครั้ง มีอย่างน้อย 11 ครั้งที่ประเด็นของการชุมนุมหรือกิจกรรมไม่ใช่เรื่องสถานการณ์การเมือง การต่อต้านคสช.หรือนโยบายของคสช.

หากรวมตั้งแต่การรัฐประหาร ถึงสิ้นปี 2558 มีการปิดกั้นหรือแทรกแซงการชุมนุมสาธารณะ และการจัดกิจกรรมต่างๆ โดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างน้อย 104 ครั้ง

สถิติการตั้งข้อหากับการแสดงความคิดเห็นพุ่งต่อ: มาตรา 116 มาแรง, ข้อหาชุมนุม 5 คน-พ.ร.บ.คอมฯ ยังทำงาน

กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี ยอมให้จำกัดเสรีภาพในการแสดงออกได้ ภายใต้เงื่อนไขบางประการ แต่จะจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกเพื่อปกป้องรัฐบาลจากการวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ จากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในปี 2558 พบว่ารัฐบาลคสช. ละเมิดเงื่อนไขดังกล่าวอยู่หลายกรณี ผ่านการบังคับใช้กฎหมายที่มีเจตนารมณ์มุ่งรักษาความมั่นคงของรัฐ อย่างประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ) รวมทั้งกฎหมายของคสช.เอง คือ ประกาศคำสั่งคสช.เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง

ในปี 2558 มีผู้ถูกจับกุมและดำเนินคดีตามมาตรา 116 อย่างน้อย 28 คน สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนที่บันทึกได้เพียง 7 คน กรณีที่ถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 116 ที่บันทึกไว้ในปีนี้ ได้แก่ กรณีนักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ 14 คนจัดกิจกรรรมปราศรัยและแขวนป้ายผ้า ‘เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ’ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ในเวลาต่อมา บารมีผู้ให้ที่พักชั่วคราวแก่นักกิจกรรมกลุ่มดังกล่าวก็ถูกดำเนินคดีในข้อหาเดียวกันด้วย

กรณี พันธุ์ศักดิ์ จัดกิจกรรมการเดินเท้าเพื่อเรียกร้องไม่ให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร “พลเมืองรุกเดิน” ในเวลาต่อมา ปรีชา ซึ่งไปมอบดอกไม้ให้พันธุ์ศักดิ์ระหว่างทำกิจกรรม ก็ถูกจับกุมและตั้งข้อหา 116 เช่นกัน, กรณีพลวัฒน์โปรยใบปลิวต่อต้านรัฐประหารที่จ.ระยอง และกรณีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สถานีฟ้าให้ทีวี 5 คน ที่ถูกควบคุมตัวและตั้งข้อหาจากการออกอากาศรายการของพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล, กรณีฐนกรแชร์แผนผังการทุจริตอุทยานราชภักดิ์ และกรณี ธเนตรโพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์รัฐบาล

การโพสต์ข้อความหรือแชร์ข้อมูลบนเฟซบุ๊ก นำไปสู่การตั้งข้อหาตามมาตรา 116 ได้แก่ การโพสต์ข่าวลือเกี่ยวกับการปฏิวัติซ้อนของชญาภา การโพสต์ข่าวลือว่านายกรัฐมนตรีโอนเงินจำนวนหลายหมื่นล้านไปสิงคโปร์ของรินดา และการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการทุจริตในโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ของจุฑาทิพย์ การโพสต์แผนผังทุจริตอุทยานราชภักดิ์ของฐนกร ทั้งสี่กรณีนี้มีลักษณะคล้ายกัน คือ เป็นการโพสต์ข่าวลือที่มีอยู่ทั่วไปในโลกออนไลน์ ในช่วงที่มีข่าวลือแพร่สะพัดจะมีคนหนึ่งคนถูกจับพร้อมการแถลงข่าวใหญ่โต คล้ายเป็นวิธีการ “เชือดไก่ให้ลิงดู” ของรัฐบาลเพื่อหยุดยั้งไม่ให้ข่าวลือแพร่กระจายต่อไป กรณีที่น่ากังวลสำหรับระบบยุติธรรม คือ กรณีที่ถูกตั้งข้อหาหลังการเข้าปรับทัศนคติในค่ายทหาร และออกมาพร้อมกับคำให้การระหว่างถูกควบคุมตัว

จากการเก็บข้อมูลการดำเนินคดีมาตรา 116 ส่วนใหญ่พบว่า ผู้ต้องหาจะถูกพามาแถลงข่าวต่อหน้าสื่อมวลชน หลังจากประกันตัวได้แล้ว คดีก็ไม่ถูกเร่งรัดอีก นับตั้งแต่การรัฐประหารจนถึงสิ้นปี 2558 มีเพียงคดีของชัชวาลย์คดีเดียวที่พิจารณาเสร็จแล้ว และศาลทหารเชียงใหม่พิพากษายกฟ้อง ในช่วงปลายปีศาลทหารก็มีคำสั่งในคดีรินดาว่า ข้อความที่โพสต์ไม่ใช่การยุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 น่าจะเป็นคดีหมิ่นประมาทธรรมดา ซึ่งศาลทหารไม่มีอำนาจพิจารณาคดี จึงพอจะเห็นได้ว่าข้อหามาตรา 116 ถูกใช้ในลักษณะเพื่อปรามไม่ให้ผู้อื่นกระทำลักษณะเดียวกันอีก และน่าติดตามว่า คดีอื่นๆ ที่คล้ายกันศาลทหารจะมีคำสั่งไปในทางใด

สำหรับปัจจัยที่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 กลายเป็นเครื่องมือที่ถูกหยิบยกมาใช้มากขึ้น อาจเป็นเพราะเป็นกฎหมายที่มีโทษหนัก การประกันตัวต้องใช้หลักทรัพย์สูง ประมาณ 70,000-150,000 บาท และข้อหานี้ยังอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร ในบริบททางการเมืองเช่นนี้ ผู้ถูกกล่าวหาย่อมเหมือนถูกแขวนป้ายว่าเป็นภัยต่อชาติบ้านเมืองก่อนที่ศาลจะตัดสิน รวมทั้งอาจเป็นเพราะมาตรา 116 เป็นกฎหมายที่มีอยู่แล้วในประมวลกฎหมายอาญา ในแง่ของภาพลักษณ์ การใช้กฎหมายที่มีอยู่เดิมย่อมดูดีกว่าดำเนินคดีโดยใช้ประกาศคำสั่งคสช.

อีกข้อหาหนึ่งที่ถูกนำมาใช้กับการแสดงออกทางการเมือง คือ ข้อหาฝ่าฝืนประกาศคสช.ฉบับที่ 7/2557 หรือฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในปีที่แล้วคนส่วนใหญ่ที่ถูกตั้งข้อหานี้ คือ คนกลุ่มที่ออกมาชุมนุมคัดค้านการรัฐประหาร ส่วนใหญ่เป็นนักกิจกรรมที่เคยเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มคนเสื้อแดง แต่ในปี 2558 คนส่วนใหญ่ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นกลุ่มนักศึกษา นักกิจกรรม นักวิชาการ ในปีนี้กลุ่มคนที่เป็นเหยื่อของการตั้งข้อหาชุมนุมทางการเมืองจึงเปลี่ยนไปด้วย

ในปี 2558 มีคนถูกตั้งข้อหาชุมนุมทางการเมืองอย่างน้อย 37 คน เช่น กลุ่มพลเมืองโต้กลับ 4 คน จากการจัดกิจกรรม “เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก”, นักศึกษากลุ่มดาวดิน 7 คน ที่ชูป้ายต่อต้านการรัฐประหาร, กลุ่มนักศึกษาหน้าหอศิลป์ 9 คนที่ทำกิจกรรมวันครบรอบ 1 ปี การรัฐประหาร, กลุ่มอาจารย์ 8 คนที่แถลงข่าวมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร เป็นต้น นับจากการรัฐประหารถึงสิ้นปี 2558 มีบุคคลที่ถูกจับกุมและถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน อย่างน้อย 85 คน คลิกที่นี่เพื่อดูตารางคนถูกตั้งข้อหาทั้งหมด

สำหรับข้อหาอื่นๆ ที่ใช้กับผู้เคลื่อนไหวแสดงออกทางการเมือง พบว่า มีการนำข้อหาเล็กน้อยที่มีเพียงโทษปรับมาบังคับใช้ เช่น กรณีกลุ่มเสรีชนไทยแลนด์ ถูกปรับคนละ 100 บาท ในข้อหาก่อความเดือดร้อนรำคาญ จากการจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ‘นกถูกมัดปากและขา’ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ อานนท์ นำภาทนายความและนักกิจกรรม ถูกปรับ 200 บาท จากการใช้เครื่องขยายเสียงโดยมิได้ขออนุญาตก่อน ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ยังเป็นกฎหมายที่ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีกับผู้ที่แสดงออกในประเด็นต่างๆ แม้ไม่ใช่การต่อต้านรัฐบาลคสช. โดยตรงด้วย เช่น กรณีไมตรี ชาวลาหู่โพสต์วิดีโอชายแต่งกายคล้ายทหารตบหน้าชาวบ้าน, สุรพันธ์ชาวบ้านที่คัดค้านการทำเหมืองทองคำที่จ.เลย ถูกบริษัทเหมืองฟ้องต่อศาลจังหวัดแม่สอด จากข้อความในเพจ “เหมืองแร่ เมืองเลย” หรือกรณีชาวบ้าน อ.แม่สอด จ.ตาก โพสต์เฟซบุ๊กค้านการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ ก็ถูกขู่ดำเนินคดีตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

คำพิพากษาคดีที่น่าสนใจ: ยกฟ้องภูเก็ตหวาน, รอลงอาญาคดี112, สองฎีกายกฟ้องจากหลักฐานคอมพิวเตอร์

คดีที่ศาลมีคำพิพากษาที่น่าสนใจในปีนี้ มีทั้งคดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ่วงความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ บวกความผิดฐานหมิ่นประมาท คดีฝ่าฝืนประกาศ คสช. ตลอดจนคดียุยุงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116

ศาลฎีกามียกฟ้องคดีมาตรา 112 สองคดีซึ่งเกี่ยวข้องกับการรับฟังพยานหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ คดีของสุรภักดิ์ ที่ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ บนเฟซบุ๊ก โดยศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้อง เพราะคอมพิวเตอร์ของจำเลยถูกเปิดหลังถูกยึด โจทก์อ้างแคชไฟล์ที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้ พยานหลักฐานของโจทก์มีพิรุธ ไม่อาจพิสูจน์จนสิ้นสงสัยว่าจำเลยทำผิดจริง และ คดีของนพวรรณ ที่ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความดูหมิ่นพระราชินีและรัชทายาท ด้วยนามแฝงว่า “เบนโตะ” บนเว็บบอร์ดประชาไท โดยศาลฎีกาพิพากษาให้ยกฟ้อง ด้วยเหตุผลว่า เพียงหมายเลข IP address ยังบ่งชี้ไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความ

ทั้งสองคดีแสดงให้เห็นว่า ศาลใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษในการตัดสินคดี 112 ซึ่งเป็นประเด็นอ่อนไหว เมื่อหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าจำเลยทำผิดจริง จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย เพราะการตัดสินลงโทษทั้งที่พยานหลักฐานมีพิรุธ นอกจากไม่ยุติธรรมต่อจำเลยแล้ว ยังอาจสร้างความแตกแยกในสังคมด้วย

ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกคดีมาตรา 112 แม้จำเลยจะไม่ใช่ผู้ผลิตเนื้อหาเอง คือ คดี “พิภพ”: คนขายหนังสือกงจักรปีศาจ ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยจำหน่ายหนังสือดังกล่าวโดยรู้อยู่ก่อนแล้วว่าภายในเล่มมีข้อความเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ เนื่องจากบนหน้าปกมีข้อความ “บทวิเคราะห์กรณีสวรรคตของในหลวงอานันท์ 9 มิถุนายน 2489” ประกอบกับจำเลยตั้งแผงขายหนังสืออยู่ในงานชุมนุมทางการเมือง ซึ่งไม่ใช่สถานที่ค้าขายโดยทั่วไป ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำคุก 3 ปี ลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา

ศาลทหารให้รอลงอาญาในคดีของ เนส และ นิรันดร์ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเผยแพร่แถลงการณ์สำนักพระราชวังปลอม เนื่องจากจำเลยทั้งสองลบออกทันทีที่รู้ว่าเป็นข้อมูลเท็จ ศาลจึงนำพฤติการณ์ในคดีมาพิจารณาประกอบการกำหนดโทษด้วย

ศาลจังหวัดภูเก็ตยกฟ้อง คดีระหว่างกองทัพเรือ กับ สำนักข่าวภูเก็ตหวาน ด้วยข้อหาหมิ่นประมาทและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการเผยแพร่รายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ที่อ้างว่า กองกำลังทางเรือของไทยได้รับผลประโยชน์จากการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา ศาลจังหวัดภูเก็ตเห็นว่าจำเลยไม่ได้เขียนข้อความดังกล่าวเอง แต่นำมาจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ ไม่เข้าข่ายหมิ่นประมาท นอกจากนี้ เจตนารมณ์ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ก็ไม่ได้มุ่งเอาผิดกับความผิดฐานหมิ่นประมาท แต่บัญญัติขึ้นเพื่อใช้กับอาชญากรรมคอมพิวเตอร์

ศาลแขวงดุสิต วางบรรทัดฐานสำหรับคดีฝ่าฝืนประกาศ คสช. ไว้น่าสนใจ ในคดีของสมบัติ บุญงามอนงค์ ที่จำเลยถูกดำเนินคดีตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 25/2557 และ 29/2557 จากการไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งคสช. ที่ 3/2557 โดยศาลเห็นว่าประกาศ คสช. ทั้งสองฉบับ เป็นการกำหนดโทษย้อนหลังและมุ่งใช้กับบุคคลเฉพาะราย ซึ่งขัดกับหลักของกฎหมายอาญา ประกาศคสช.ทั้งสองฉบับจึงใช้บังคับไม่ได้ แต่ศาลเห็นว่าการไม่มารายงานตัวโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง เป็นความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 และพิพากษาให้ปรับ 500 บาท

ศาลจังหวัดเชียงรายลงโทษ คดีของออด ถนอมศรี และสุขสยาม ด้วยข้อหายุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 คดีนี้จำเลยถูกกล่าวหาว่าติดป้ายผ้าขอแยกเป็นประเทศล้านนา จำเลยทั้งสามถูกศาลจังหวัดเชียงรายพิพากษาจำคุกตามมาตรา 116 คนละ 4 ปี ลดโทษเหลือ 3 ปีเพราะจำเลยให้การเป็นประโยชน์ และให้รอการลงโทษไว้ 5 ปี โดยศาลเห็นว่า ในช่วงที่มีความแตกแยกทางการเมือง อาจก่อให้เกิดความวุ่นวาย และข้อความบนป้ายก็เข้าข่ายต่อต้านอำนาจรัฐ ส่วนที่จำเลยอ้างว่า ติดป้ายเพื่อประชดต่อความอยุติธรรม ถือเป็นเรื่องที่จำเลยคิดไปเอง