ThaiPublica > เกาะกระแส > ไอลอว์ เปิดมรดกทางอำนาจ 8 ปี “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” สร้างระบบ กม. ใหม่ “แบบสั่งอำนาจตรง”

ไอลอว์ เปิดมรดกทางอำนาจ 8 ปี “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” สร้างระบบ กม. ใหม่ “แบบสั่งอำนาจตรง”

3 ตุลาคม 2022


“ไอลอว์” เปิด มรดกทางอำนาจ 8 ปี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา สร้างวัฒนธรรมกฎหมาย new normal เสพติดการใช้อำนาจสั่งตรงโดยคำสั่ง คสช. และ ม.44 กว่า 556 ฉบับ สร้างความเสียหายต่อกระบวนการยุติธรรมจนยากจะแก้ไขได้

หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียง วินิจฉัยคำร้องของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคร่วมฝ่ายค้านให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังได้ไปต่อในฐานะนายกรัฐมนตรี โดยวาระ 8 ปียังไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่

โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เริ่มนับวาระความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ ตั้งแต่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 มีผลบังคับใช้ทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปีใน พ.ศ. 2568

ผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญจะส่งผลให้การเมืองไทยเดินไปในทิศทางไหน การเมืองภาคประชาชนจะร้อนแรงขึ้นหรือไม่ ขณะที่การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น หากรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ปฏิบัติหน้าที่จนครบวาระ 4 ปี ในวันที่ 23 มีนาคม 2566 จะเดินไปข้างหน้าอย่างไร

‘ยิ่งชีพ อัชฌานนท์’ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ประเมินพลังการเมืองภาคประชาสังคมว่า แม้ว่าฝ่ายไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลประยุทธ์ หรือฝ่ายประชาธิปไตยจะไม่ได้ลดลง แต่ด้วยปัญหาแกนนำที่ถูกดำเนินคดี ทำให้ชุมนุมของภาคประชาชนอาจจะไม่มีพลังเพียงพอ การจัดชุมนุมอาจจะไม่ใหญ่โตเหมือนในช่วงที่ผ่านมา

“กลุ่มประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลประยุทธ์ หรือฝั่งประชาธิปไตยยังคงหนาแน่นเหมือนเดิม แต่ขาดออร์แกไนเซอร์ ไม่มีแกนนำ เนื่องจากแกนนำส่วนใหญ่ถูกจำคุกหรือถูกดำเนินคดี ถึงวันนี้เราต้องยอมรับกันแบบตรงไปตรงมาแล้วว่า การดำเนินคดีทั้งหมดมีผลต่อการเคลื่อนไหวภาคประชาชนมาก”

เหตุผลดังกล่าวทำให้การเมืองภาคประชาชนขาดพลังในการกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ การเมืองหลังจากนี้คงเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งในปี 2566 แต่การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นอาจจะมีปัญหามากกว่าการเลือกตั้งในปี 2562

ยิ่งชีพมองว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 เกิดขึ้นภายใต้คณะกรรมการเลือกตั้งชุดเดิมและศาลรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลประยุทธ์เลือกมา 100% อาจจะไม่ใช่การเลือกตั้งที่สะท้อนเสียงประชาชนได้อย่างแท้จจริง โดยเกรงว่าอาจจะมีการใช้อำนาจแปลกๆ เช่น แบ่งเขตเลือกตั้ง หรือการตีความว่าพรรคนี้ทำผิด พรรคนั้นทำไม่ผิด รวมไปถึงการรายงานคะแนนช้า หรือมีการรายงงานคะแนนแบบขึ้นลงๆ ตลอดทั้งคืน ดังนั้น ไอลอว์จึงเห็นว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นต้องจับตาเป็นพิเศษ เพราะอาจจะมีปัญหามากกว่าการเลือกตั้งในปี 2562

“ผมคิดว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าน่าจะมีปัญหามาก เพราะการตัดสินให้ประยุทธ์อยู่ต่อ ดังนั้น เชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าในปี 2566 ประยุทธ์ยังคงถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป และจะทำทุกวิถีทางที่จะกลับเข้าไปสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ซึ่งหากประเมินเสียงของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ครั้งที่ผ่านมาได้ 8 ล้านเสียง และการเลือกตั้งครั้งหน้าอาจจะได้ไม่ถึง 4 ล้านเสียง ทำให้อาจจะต้องใช้เครื่องมืออื่นๆ เพื่อช่วยให้กลับเข้าสู่อำนาจอีกครั้ง

“ไอลอว์ จะจับตาการเลือกตั้งในปี 2566 อย่างใกล้ชิด โดยเร็วๆ นี้จะระดมหาอาสาสมัคร ซึ่งหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศมีประมาณ 9 หมื่นหน่วย ต้องมีอาสาสมัครประมาณ 4 หมื่นคน หากหาได้ไม่ถึง ก็จะพยายามหาให้ได้มากที่สุดเพื่อมาจับตาเลือกตั้ง ในช่วงการนับคะแนนมาช่วยกันสังเกตการเลือกตั้งให้มากที่สุด”

ส่วนอุบัติเหตุทางการเมืองที่จะทำให้ไม่มีเลือกตั้งปี 2566 ยิ่งชีพบอกว่า อาจจะมีเพียง 15% ซึ่งจะมาจากปัจจัยอะไรยังไม่แน่ชัด เพียงแต่ประสบการณ์ทางการเมืองไทยในช่วงที่ผ่านมาทำให้เห็นว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้

“ผมคิดว่าโอกาสที่จะไม่มีการเลือกตั้งอาจจะมีประมาณ 15% เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ เมื่ออำนาจยังอยู่ในมือรัฐบาล แต่จะมาจากปัจจัยอะไรไม่แน่ใจ ซึ่งอาจจะมาจากประเมินแล้วอาจจะแพ้เลือกตั้งก็คงไม่จัดให้มีการเลือกตั้ง ดังนั้น ผมคิดว่าถ้าหากจะมีการเลือกตั้ง เขาก็ประเมินแล้วว่าเขาคงมีโอกาสบ้างที่จะไปถึงการชนะเลือกตั้งได้”

8 ปีประยุทธ์ มรดก “New Normal”

แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินให้ พล.อ. ประยุทธ์ ยังไม่ครบวาระ 8 ปีของการเป็นนายกรัฐมนตรี แต่การรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมี พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ครบ 8 ปี เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ได้สร้างความเสียหายให้กับสังคมไทยและทิ้งมรดกความเสียหายเอาไว้จำนวนมาก

ยิ่งชีพบอกว่า ระบบกฎหมายยุค คสช. ถือเป็นเป็นการสร้าง new normal แบบใหม่ในทางกฎหมายที่ทำลายหลักการต่างๆ ไปเกือบทั้งหมดจนไม่รู้จะเอาวงจรกลับมาได้อย่างไร ซึ่งถือเป็นความเสียหายครั้งใหญ่มากโดยเฉพาะใน 3 ประเด็นหลัก

ประเด็นแรก พล.อ. ประยุทธ์ ทำให้กฎหมายเป็นเรื่องที่ผูกพันกับอำนาจ ในยุค คสช. ออกประกาศคำสั่ง คสช. 556 ฉบับ และใช้มาตรา 44 ในการแก้ปัญหาจำนวนมาก นั่นหมายถึงการแก้ปัญหาทุกอย่างโดยการใช้อำนาจตรง

“ใครมีปัญหาอะไรวิ่งเข้ามาหาคนที่มีอำนาจ แล้วคนที่มีอำนาจสั่งเพื่อออกกฎหมาย ม.44 ใช้ทันที ซึ่งวัฒนธรรมนี้มันเคยชินจนไม่สามารถเข้าสู่ระบบปกติได้ เนื่องจากการแก้ปัญหาต้องแก้กับอำนาจตรง พอมาสู่ระบบปกติก็ทำได้ไม่นาน กลับเข้าไปสู่ระบบอำนาจตรงอีกครั้ง”

ยิ่งชีพบอกว่า หลังจากมีสภาผู้แทนราษฎรหลังการเลือกตั้งปี 2562 ใช้อำนาจปกติได้ไม่นาน ในวันที่ 26 มีนาคม 2563 ก็เริ่มใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีกครั้ง ซึ่งจะครบ 2 ปีครึ่งแล้ว โดยการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คือการรวบอำนาจให้ พล.อ. ประยุทธ์ และ ศบค. ออกมาประกาศคำสั่งอีกประมาณ 100 กว่าฉบับ

“ก็คือไม่ว่าจะทำอะไรก็ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จและสั่งตรง กฎหมายจึงไม่มีลักษณะที่เป็น social contract หรือสัญญาประชาคม เป็นสิ่งที่สังคมเห็นพ้องต้องกัน ระบบตรงนี้มันเสียหายไปแล้ว จะเห็นได้ว่า สภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งออกกฎหมาย… เข้าใจว่าตอนนี้ประมาณ 20-30 ฉบับ แต่ถ้าเทียบกับประกาศคำสั่ง คสช. เทียบกันไม่ได้เลย มีข้อกำหนดและประกาศคำสั่งอื่นๆ อีกประมาณ 100 กว่าฉบับ”

ประเด็นที่สอง คือเรื่องการยกเว้นความรับผิดชอบเป็นปกติ ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญปี 2557 และรัฐธรรมนูญ 2560 ล้วนมีบทบัญญัติยกเว้นความรับผิดให้กับพวกเขา และมีประกาศคำสั่ง คสช. ที่ยกเว้นความผิดอีกประมาณ 5 ฉบับ ซึ่งหมายถึงหากต้องการทำอะไรให้สำเร็จ สิ่งแรกที่จะทำคือให้อำนาจและใช้อำนาจแล้วให้ไม่ต้องรับผิดชอบ

“เราจะเห็นว่า รัฐบาลประยุทธ์ใช้อำนาจตรงจนเคยชิน โดยพอมาเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งได้ไม่นานก็ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยกเว้นความรับผิดชอบให้เจ้าหน้าที่ ซึ่งใน 8 ปีที่ผ่านมานี้ เราอยู่ภายในระบบที่เหมือนจะพยายามกลับมาประมาณปีเศษๆ ก็คือหลังเลือกตั้งปี 2562 จนถึงมีนาคมปี 2563 หลังจากนั้นก็กลับไประบบเดิม กลายเป็นระบบที่ยกเว้นความรับผิดเป็นปกติ”

ประเด็นที่สาม คือการควบคุมองค์กรอิสระทั้ง 6 องค์กร ประกอบด้วยศาลรัฐธรรมนูญ, สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน

โดยทั้ง 6 องค์กรมีที่มาจากการแต่งตั้งของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ปัจจุบันก็ดำรงตำแหน่งเป็น ส.ว. โดยส่วนใหญ่ ทั้ง 6 องค์กรได้สูญเสียความอิสระไปแล้ว 100%

“จากเดิมที่การแต่งตั้งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 40 จะมีกระบวนการซับซ้อนว่าจะเลือกใครเข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบ และจะมีกระบวนการมีส่วนร่วมจากหลายฝ่าย แต่ภายใต้รัฐประหารปี 2557 เหมือนกับว่าหลับหูหลับตาตั้งไว้ก่อน เดี๋ยวกลับเข้าสู่รัฐบาลปกติแล้วค่อยตั้งใหม่ แต่ปรากฏว่า คสช. อยู่ยาว”

แม้คนทั่วไปจะเริ่มชินแล้วว่าองค์กรทั้ง 6 องค์กรไม่ตรวจสอบเพราะเขาแต่งตั้งกันขึ้นมา แต่ความเคยชินดังกล่าวไม่ควรจะเกิดขึ้น เนื่องจากเราคาดหมายว่าองค์กรเหล่านี้อิสระและทำงานตรวจสอบอำนาจรัฐให้ได้ แต่พอองค์กรอิสระไม่ทำงาน ก็เริ่มเคยชิน เบื่อหน่าย หมดความเชื่อถือ จนองค์กรเหล่านี้ไม่มีประโยชน์อะไรอีกต่อไป

8 ปีทิ้งมรดกทางอำนาจให้สังคมไทย

ระบบกฎหมายที่สร้างวัฒนธรรมแบบ new normal หรือการใช้อำนาจตรงของผู้นำอย่าง พล.อ. ประยุทธ์ ได้สร้างหลักฐานทางกฎหมาย ทางอำนาจ เอาไว้จำนวนมาก ซึ่งไม่แน่ใจว่าสังคมไทยจะใช้เวลานานขนาดไหนในการแก้ปัญหาเหล่านี้

ยิ่งชีพบอกว่า คสช. และรัฐบาลประยุทธ์ได้สร้างกลไกรักษาอำนาจให้ระบอบ คสช. ไว้มากมาย แล้วยังวางกลไกสำคัญที่สุดไว้ คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ทำได้ยาก และยากที่สุดตั้งแต่ประเทศไทยเคยมีรัฐธรรมนูญมา แม้พรรคการเมืองส่วนใหญ่จะประกาศชัดเจนว่าต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่จากข้อเสนอจากพรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน และข้อเสนอจากการเข้าชื่อของประชาชนทั้ง 21 ฉบับ ที่พิจารณาถึงสามยกในปี 2564 ก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้

นอกจากนี้ ยังทิ้งมรดกทางกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของ สนช. ทั้งหมด 444 ฉบับ นั่นหมายถึง สนช. สามารถออกกฎหมายได้จำนวนมาก ขณะที่สภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งทำงาน 3 ปีกว่าสามารถออกกฎหมายได้เพียง 20-30 ฉบับเท่านั้น

“สนช. ทำงานตั้งแต่สิงหาคมปี 2557 จนถึงมีนาคมปี 2562 ออกกฎหมายได้ 444 ฉบับ และ 2 เดือนสุดท้ายสามารถออกกฎหมายได้ 90 ฉบับ หมายถึงวันหนึ่งสามารถพิจารณากฎหมายได้ประมาณ 3-4 ฉบับ ซึ่งก็แสดงให้เห็นถึงความไม่ปกติ”

ยิ่งชีพบอกว่า กฎหมาย 444 ฉบับที่ออกมา มีหลายฉบับที่ไม่รู้ว่ามันทำงานอย่างไร และไม่รู้ว่าดีไม่ดี แต่ไม่ได้เลวร้ายทั้งหมด เนื่องจากกฎหมายบางฉบับอาจจะออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาในทางปฏิบัติให้กับราชการ ซึ่งสภาฯ ปกติอาจจะผ่านยาก แต่ก็มีกฎหมายอีกจำนวนมากที่มีปัญหา เช่น พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ, พ.ร.บ.ประชามติฯ, การแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโลกออนไลน์ เช่น พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ฯ, พ.ร.บ.ข่าวกรอง, พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ยุทธศาสตร์ 20 ปี-ปฏิรูปที่ไม่เกิดขึ้นจริง

นอกจากมรดกกฎหมายที่สร้างปัญหาให้กับประเทศในระยะยาวแล้ว ยังรวมถึงกรอบการพัฒนาประเทศที่ว่าด้วยเรื่องของแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580) ความยาว 74 หน้า จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการชุดที่ตั้งขึ้นโดยรัฐบาล คสช. คนที่นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานก็คือ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมทั้งตามมาด้วยคนสำคัญอย่าง พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ, พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา, ดร.วิษณุ เครืองาม, นายพรเพชร วิชิตชลชัย

แม้โดยเนื้อหาของแผนการ 74 หน้าจะไม่ใช่สิ่งที่เลวร้าย แต่ก็กลายเป็นความฝันที่ไม่รู้ว่าจะไปถึงได้อย่างไร ส่วนกลไกที่น่าเป็นกังวลนั้น คือ กลไกการบังคับใช้ ที่มีองค์กรริเริ่ม คือ ส.ว. แต่งตั้ง, ศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงส่งอำนาจกลับไปยังคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่นำโดย พล.อ. ประยุทธ์ เอง ซึ่งหากใครทำผิดก็อาจถูกถอดถอนจากตำแหน่งได้ ทำให้แผนการ 74 หน้านี้อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองสำหรับใช้ถอดถอนนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามได้

ส่วนแผนปฏิรูปประเทศซึ่งมียาว 4,000 หน้า แต่สุดท้ายไม่ได้ปฏิรูปอะไรจริงจัง จะกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองเช่นกัน หากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่ทำตามยุทธศาสตร์และแผนปฏิรูปประเทศ สามารถนำมาร้องต่อศาลถึงการทำงานของรัฐบาลได้โดย ส.ว.

“ในอนาคตแผนนี้ฯ จะกลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง ถ้ารัฐบาลมีอะไรขึ้นมา ส.ว. สามารถหยิบบรรทัดใดบรรทัดหนึ่งจาก 4,000 หน้ามาบอกว่าทำผิดจนนำไปสู่การถอดถอนรัฐบาลได้ อาจจะกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างหนึ่ง”

อย่างไรก็ตาม สำหรับแผนปฏิรูปประเทศ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้รายงานการประเมินแผนปฏิรูปประเทศออกมาว่าล้มเหลว ทำไม่สำเร็จ เพราะว่าไม่ได้เอาไว้ปฏิรูปประเทศจริง

ยิ่งชีพยังเห็นว่า พ.ร.บ.พรรคการเมืองก็ถือเป็นมรดกอีกชิ้นหนึ่งที่จะสร้างปัญหา เนื่องจากในเนื้อหาระบุให้ตั้งพรรคการเมืองยาก แต่นำไปสู่การยุบพรรคง่าย

ส่วนที่ถือเป็นมรดกทางอำนาจชิ้นสำคัญของ คสช. และรัฐบาลประยุทธ์ คือ ประกาศคำสั่ง คสช. และ ม.44 ซึ่งออกคำสั่งตรงจากหัวหน้าคสช. 211 ฉบับโดยที่ผ่านมาใช้ ม.44 ยกเลิกไปแล้ว 100 กว่าฉบับ แต่ยังเหลืออีกจำนวน 100 ฉบับที่ยังไม่มีการยกเลิก โดยกระบวนการยกเลิก คำสั่งดังกล่าวต้องออกพระราชบัญญัติยกเลิก

“แม้รัฐบาลประยุทธ์จะเคยออกประกาศ ม.44 ยกเลิกไปแล้ว 100 ฉบับ แต่การยกเลิกดังกล่าวก็มีเงื่อนไขหยุมหยิม เช่น บางฉบับยกเลิกก็จริง แต่มีเงื่อนไขให้อำนาจยังอยู่กับกองทัพ แต่อีก 100 กว่าฉบับรัฐบาลประยุทธ์ไม่แตะต้องเลย แสดงว่าตั้งใจปล่อยเอาไว้ โดยกระบวนการยกเลิกต้องออกเป็น พ.ร.บ. ยกเลิกเท่านั้น”

คำสั่งที่ยังไม่ประกาศยกเลิก เช่น คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558, 13/2559 ที่ให้อำนาจเอาตัวคนไปเข้าค่ายทหารได้ 7 วัน โดยมีข้อยกเว้นความรับผิดให้ทหาร, ประกาศ คสช. ฉบับที่ 26/2557 ให้ตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษเพื่อสั่งปิดกั้นเว็บไซต์ได้โดยไม่ต้องขอหมายศาล, คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 47/2560 ที่ให้ยกเว้นการใช้ผังเมืองในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี)

ที่ผ่านมามีความพยายาม อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล พรรคอนาคตใหม่ เคยเสนอให้สภาฯ ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทบทวนประกาศและคำสั่งที่มาจาก คสช. และ ม.44 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จนพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบพรรค ขณะที่ไอลอว์ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศคำสั่ง คสช. 36 ฉบับ แต่ก็ถูกโหวตคว่ำจากฝ่ายรัฐบาลเช่นกัน

“ผมจำได้ว่าวันนั้นเป็นวันที่สวยงามวันหนึ่งของชีวิต ผมได้เข้าไปนำเสนอกฎหมายในสภาฯ แต่ฝ่ายรัฐบาลไม่มีใครเข้าฟังเลย มีเพียงฝ่ายค้านที่เข้ามาจำนวนมาก และก็มีเพียงฝ่ายค้านที่อภิปรายอย่างเดียว ฝ่ายรัฐบาลไม่มีใครพูดเลย แต่เมื่อถึงเวลาโหวตฝ่ายรัฐบาลเข้ามาโหวตคว่ำอย่างเดียว จนกฎหมายตกไป”

ยิ่งชีพบอกว่า ความหวังที่จะล้างมรดกทางอำนาจเหล่านี้กับการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้นยังจะดูเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะวัฒนธรรมกฎหมาย new normal ที่ใช้อำนาจตรง ยังเป็นเรื่องยาก ถ้าหาก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ไปต่อและถูกเสนอให้กลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

“ผมคิดว่ามันยาก การใช้อำนาจตรงมันคือวิถีของ พล.อ. ประยุทธ์ ถ้าเขายังอยู่ แก้ไขยาก ถ้าเปลี่ยนตัวไม่แน่ใจว่าจะรื้อได้หรือไม่ เพราะว่าการรื้อวัฒนธรรมทางอำนาจมันใหญ่โตมาก และเขาก็สร้างมันเอาไว้โดยเฉพาะ ถ้า พล.อ. ประยุทธ์ยังอยู่ก็เป็นแบบนี้ต่อไป”

ส่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการการทบทวนคำสั่งประกาศ คสช. และ ม.44 อาจต้องฝากความหวังกับรัฐบาลเลือกตั้ง โดยเฉพาะรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่อยู่ฝั่งตรงข้าม พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยต้องชนะเลือกตั้งจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ จึงน่าจะมีความหวังในการล้างอำนาจทางกฎหมายในบางประเด็นได้