ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เลือกตั้งอย่างรับผิดชอบ 2566 > เครือข่ายภาคประชาชนฯขอคนไทยร่วมเก็บหลักฐานเลือกตั้ง 14 พ.ค.รับมือกรณีคะแนนกกต.ไม่ถูกต้อง

เครือข่ายภาคประชาชนฯขอคนไทยร่วมเก็บหลักฐานเลือกตั้ง 14 พ.ค.รับมือกรณีคะแนนกกต.ไม่ถูกต้อง

11 พฤษภาคม 2023


เครือข่ายประชาชนประกาศความพร้อมจับตาการเลือกตั้ง 14 พ.ค 2566 ระดมอาสาสมัคร 1 แสนคนประจำหน่วยเลือกตั้งทุกหน่วยจับตาการนับคะแนน กกต. โดยขอให้ กกต.สนับสนุนให้ผู้สังเกตการณ์เลือกตั้งร่วมสังเกตหน่วยเลือกตั้งทุกหน่วย   เพื่อให้การเลือกตั้งสุจริต โปร่งใส

ใกล้ถึงวันเลือกตั้ง14 พ.ค 2566 เครือข่ายภาคประชาชนได้ออกมาเรียกร้องให้จับตาการเลือกตั้ง โดยเฉพาะในช่วงการนับคะแนน หลังจากมีบทเรียนการเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 7 พ.ค.2566  ซึ่งมีความผิดพลาดและมีเรื่องร้องเรียนจำนวนมาก โดยมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2566 เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้ง 2566 ได้จัดให้มีการแถลงการณ์ ซึ่งมี กฤต แสงสุรินท์ (We Watch) ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล จากเครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้ง 2566 จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา จากกลุ่มทะลุฟ้า วศินี บุญที จากสมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม (SYSI) และยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จากโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เป็นผู้ร่วมแถลงการณ์

นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์” ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw  ในนามเครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้ง 2566 กล่าวว่า  เครือข่ายภาคประชาชนได้เตรียมตัวเพื่อจับตาการเลือกตั้งครั้งนี้โดนมีการประชุมร่วมกันมานานกว่า 6  เดือนอย่างต่อเนื่อง และเครือข่ายประชาชนทั้งหมด เช่น คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.)   เครือข่ายสมัชชาคนจน   และเครือข่ายภาคประชาชนอื่น  เครือข่ายเกษตรกรทางเลือก เครือข่ายคนรุ่นใหม่ต่างความตอบรับและร่วมมือกันที่จะออกไปจับตาการเลือกตั้งในการนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. 2566 เพื่อให้การเลือกตั้งบริสุทธ์ โปร่งใส

นอกจากนี้ได้เปิดรับอาสาสมัครเพื่อประจำหน่วยเลือกตั้งผ่านทาง https://www.vote62.com/ โดยมีผู้สมัครแล้วประมาณ 24,000 คน แต่ต้องการทั้งหมด 100,000 คน ซึ่งเชื่อว่าก่อนถึงวันเลือกตั้งน่าจะสามารถระดมอาสาสมัครได้ ทั้งจากเครือข่ายและทางเว็บไซต์

อย่างไรก็ตาม นายยิ่งชีพ กล่าวว่า  ปัญหาที่ผู้สนใจจะเป็นอาสาสมัครไม่สามารถที่จะลงสมัครในเว็บไซต์ได้เพราะสำนักงานคณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง (กกตฺ.)ไม่เปิดเผยเขตเลือกตั้งทำให้ผู้สมัครเลือกหน่วยตั้งที่สะดวกได้ลำบาก ส่งผลให้อาสาสมัครเข้ามาลงทะเบียนในเว็บไซต์จำนวนน้อย แต่หากดูจากข้อมูลจำนวนคนที่เข้าดูเวบไซต์ และแอดไลน์มาเป็นหลักแสนคนทำให้ประเมินว่าหลังจากนี้จะมีจำนวนอาสาสมัครมากขึ้น และมีความพร้อมที่จะออกไปที่คูหาเพื่อจับตาการเลือกตั้ง และเชื่อว่าคนที่ไม่ไว้ใจ กกต.และลงชื่อใน change.org จำนวนกว่า 1.2 ล้านคนจะต้องมาจับตาเลือกตั้งในครั้ง

“เราอบรมเครือข่ายภาคประชาชนทั่วประเทศมากกว่า 60 ครั้งเพื่อจับตาการเลือกตั้งและการนับคะแนน โดยมีตัวแทนทุกจังหวัดทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังร่วมกับสื่อมวลชนเพื่อทำให้การเลือกตั้ง สุจริต โปร่งใสมากขึ้น”

อย่างไรก็ตามนายยิ่งชีพได้มี 3 ข้อเรียกร้องต่อ 3 องค์กรสำคัญเพื่อให้การเลือกตั้งสุจริต โปร่งใสที่สุด ข้อแรกเรียกร้อง กกต. ให้จัดการเลือกตั้งอย่างสุจริต โปร่งใส เป็นธรรม และสนับสนุนการสังเกตการณ์เลือกตั้งของประชาชนทั่วไป “ที่ผ่าน กกต.ได้ตอบรับเพียงลมปากในห้องประชุมแต่ไม่เห็นว่าได้ทำอะไรอย่างจริงจังในทางสาธารณะ และไม่เห็นเอกสารที่สนับสนุนสิ่งเหล่านี้  เราหวังว่าในวันที่ 14 พ.ค เราจะเห็นสิ่งนี้”

ข้อที่สอง เรียกร้องไปยัง คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง หรือ กปน.มาร่วมมือกับประชาชนในการจับตาการเลือกตั้งครั้งนี้ให้สุจริตและโปร่งใสมากที่สุด ปีนี้มีผู้มาปฏิบัติหน้าที่เป็น กปน.เกือบ 1 ล้านคน ซึ่งทุกคนก็เป็นประชาชนเช่นเดียวกัน และไม่ใช่ศัตรูของผู้สังเกตการณ์เลือกตั้ง แต่เป็นผู้ทำงานอย่างหนักและเหน็ดเหนื่อยหน้างาน  บางครั้งหากกปน.ผิดพลาดไปบ้างผู้สังเกตการณ์จะทักท้วงเพื่อให้การเลือกตั้งถูกต้อง

และหากกปน.ทำงานได้ดีถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่แล้วผู้สังเกตการณ์เลือกตั้งจะเป็นสักขีพยานว่า กปน.ทำงานได้ดีเพียงใด ถ้าหากภายหลังมีปัญหาการเลือกตั้ง ประชาชนที่ผู้สังเกตการณ์เลือกตั้ง จะเป็นพยานว่า กปน.ทำงานได้เป็นอย่างดี ซึ่งหากมีความไม่ถูกต้องเกิดขึ้นในกระบวนการอื่นๆ อยากขอให้เจ้าหน้าที่ กปน.เข้าใจว่าการร่วมมือกับผู้สังเกตการณ์หน้างานเป็นอย่างดี น่าจะเป็นเกราะป้องกันที่ดีที่สุด จึงอยากให้ กปน.มาร่วมมือกับประชาชนในการจับตาการเลือกตั้งครั้งนี้ให้สุจริตและโปร่งใสมากที่สุด

“เราหวังว่าจะไม่มีเจ้าหน้าที่ กปน.จะห้ามผู้สังเกตการณ์เข้าไปในคูหาเลือกตั้ง ห้ามผู้สังเกตการณ์ยืนในจุดที่มองเห็น และเราหวังว่าจะไม่มีใครห้ามเราถ่ายรูปอีกเพราะว่ากฎหมายชัดเจนแล้วว่า เราถ่ายรูป ถ่ายวิดิโอ และไลฟ์ได้”

ส่วนข้อสุดท้ายขอเรียกร้ององค์การที่สำคัญที่สุดในการเลือกตั้งคือ “พี่น้องประชาชน” วันนี้เรารู้ว่าเราไว้ใจคะแนนจาก กกต.ไม่ได้ เราจึงจำเป็นที่ต้องนับคะแนนกันเอง มีคำกล่าวที่ว่ากันมานานแล้วว่า เราเข้าคูหาเราจับปากกาฆ่าเผด็จการ แต่เมื่อเผด็จการยึดครอง กกต.ไว้ได้ วันเลือกตั้งเราเข้าคูหาจับปากกาไม่พอ  หลังลงคะแนนเสร็จเราต้องจับมือถือ ถ่ายภาพและเก็บหลักฐานทุกอย่างไว้และส่งเข้ามาที่ https://www.vote62.com/ เพื่อเป็นหลักฐานหากคะแนนของ กกต.ไม่ถูกต้อง

นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์” ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw

ชี้ 7 ประเด็นเลือกตั้งล่วงหน้า 7 พ.ค ผิดพลาด

นอกจากนี้เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์เลือกตั้ง ปี 2566 ได้ออกแถลงการณ์ความเห็นต่อการเลือกตั้งล่วงหน้า-นอกเขต ที่มีขึ้นในวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 โดยได้ระบุถึงความผิดพลาดของ กกต. ในการจัดการเลือกตั้งดังนี้

จากการได้ดำเนินการสังเกตการณ์กระบวนการเลือกตั้งที่ผ่านมา พบว่าประชาชนตื่นตัวออกมาลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้ากว่า 2.2 ล้านคน ส่วนบรรยากาศในวันเลือกตั้งล่วงหน้าเป็นไปอย่างคึกคัก มีประชาชนออกมาใช้สิทธิจำนวนมาก และคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) โดยส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือกับการสังเกตการณ์การเลือกตั้งเป็นอย่างดี

เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ปี 2566 รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ได้ใช้สิทธิขั้นพื้นฐานในการได้เลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วยตนเอง เพื่อกำหนดทิศทางของประเทศอีกครั้ง โดยการเลือกตั้งล่วงหน้าทั้งนอกเขตเลือกตั้งและในเขตเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา พบว่าประชาชนตื่นตัวออกมาลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้ากว่า 2.2 ล้านคน

บรรยากาศในวันเลือกตั้งล่วงหน้าเป็นไปอย่างคึกคัก มีประชาชนออกมาใช้สิทธิเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นถึงความเอาใจใส่ในการมีส่วนร่วมต่อกิจกรรมพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ในครั้งนี้เราขอชื่นชมคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ทุกคนที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ตั้งแต่เช้าจรดเย็น อันเป็นการทำงานภายใต้สภาวะอากาศที่ร้อนจัดตลอดทั้งวัน

อีกทั้งยังพบว่าคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) โดยส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือกับการสังเกตการณ์การเลือกตั้งเป็นอย่างดี จนมีส่วนช่วยให้การเลือกตั้งลุล่วงผ่านไปได้

อย่างไรก็ตาม ข้อกังวลที่มาจากข้อค้นพบจากการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ยังคงมีข้อกังวลต่อการเลือกตั้งหลายประการ แบ่งเป็น 7 ประเด็น ดังต่อไปนี้

 

  1. เจ้าหน้าที่เขียนหมายเลขเขตเลือกตั้งผิด

เครือข่ายฯ มีข้อกังวลต่อระบบการจัดการฝึกอบรมและให้ข้อมูลต่อเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) เนื่องจากพบว่า กปน. บางส่วน มีความเข้าใจในกระบวนการจัดการเลือกตั้งที่คลาดเคลื่อน โดยเฉพาะขั้นตอนการเขียนรายละเอียดบนซองใส่บัตรเลือกตั้งที่ผิดพลาด ตัวอย่างเช่น ระบุหมายเลขเขตเลือกตั้งผิด เป็นรหัสไปรษณีย์ และระบุเลขรหัสเขตเลือกตั้งผิดเขต ซึ่งมีข้อกังวลว่าจะทำให้บัตรเลือกตั้งส่งกลับไปไม่ถึงเขตเลือกตั้งตามภูมิลำเนา โดยหากส่งไปผิดเขตเลือกตั้ง อาจทำให้ผลคะแนนไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นในหลายพื้นที่จนไม่อาจกล่าวได้อย่างชัดเจนว่า เป็นความผิดพลาดเล็กน้อยของคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) แต่เป็นปัญหาในเรื่องความเข้าใจกระบวนการจัดการเลือกตั้งของคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งควรจะต้องได้รับการฝึกอบรมการปฏิบัติหน้าที่เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันทั้งประเทศ อันเป็นเรื่องพื้นฐานของการจัดการเลือกตั้งที่ กกต. มีหน้าที่รับผิดชอบในการกำกับดูแล

  1. การเสียสิทธิของผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า

แม้ว่าการเลือกตั้งล่วงหน้าจะมีจำนวนผู้มาใช้สิทธิกว่าร้อยละ 91 นับเป็นจำนวน 2 ล้านคนโดยประมาณ แต่ยังเป็นเรื่องน่าแปลกใจที่ประชาชนที่มีความตั้งใจจะรักษาสิทธิในการเลือกตั้งของตน โดยเลือกใช้วิธีการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตเลือกตั้ง กลับไม่ได้ไปใช้สิทธิเป็นจำนวนกว่า 2 แสนคน ซึ่งนับได้ว่ามีประชาชนที่เสียสิทธิไปจำนวนมหาศาล และส่งผลกระทบสำคัญต่อผลการเลือกตั้ง

การที่มีประชาชนเสียสิทธิเลือกตั้งจำนวนมากเช่นนี้ เป็นประเด็นสำคัญที่มิอาจละเลยได้ จำเป็นจะต้องมีการทบทวนว่า การจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าที่ผ่านมา ได้มีการประชาสัมพันธ์ การอำนวยความสะดวก และการจัดมาตรการรองรับการใช้สิทธิที่เพียงพอต่อผู้มาใช้สิทธิจำนวนมากหรือไม่

อีกทั้งยังไม่พบว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีมาตรการที่เปิดให้ประชาชนได้มีโอกาสกลับไปใช้สิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 โดยมีข้อสังเกตเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งปี 2557 ที่เปิดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่อาจไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าได้ตามได้ลงทะเบียนไว้ สามารถไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งในวันเลือกตั้งได้

  1. การลงทะเบียนก่อนวันเลือกตั้ง

ในวันสุดท้ายของการเปิดให้ลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า-นอกเขตเลือกตั้ง ในวันที่ 9 เม.ย. 2566 มีประชาชนจำนวนมากไม่สามารถลงทะเบียนให้ทัน เนื่องจากเว็บไซต์สำหรับการลงทะเบียนเกิดเหตุขัดข้องตั้งแต่เวลาราว 21.00 น. นับเป็นประเด็นที่ต้องตั้งคำถามต่อการเตรียมความพร้อมในการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งอาจคาดหมายได้ล่วงหน้าว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะใช้เวลาตัดสินใจ และเลือกลงทะเบียนในวันสุดท้ายเป็นจำนวนมาก ความผิดพลาดเช่นนี้ ทำให้ไม่อาจกล่าวได้ว่าการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้า มีการเตรียมการอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมรองรับการใช้สิทธิของประชาชนได้อย่างครบถ้วน

  1. ความสับสนต่อบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ รายละเอียดของข้อมูลไม่ตรงกัน

บัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 2 ประเภท คือ 1. บัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขต และ 2. บัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง พบว่าหมายเลขผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตและหมายเลขพรรคการเมืองในบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อเป็นหมายเลขที่ไม่ตรงกัน และในส่วนของบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตมีเพียงหมายเลขผู้สมัคร ไม่มีรายชื่อหรือตราสัญลักษณ์ของพรรคการเมืองของผู้สมัคร อันเป็นข้อมูลสำคัญที่ช่วยลดภาระ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องสำหรับการใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชน

  1. การจัดเตรียมสถานที่เลือกตั้งล่วงหน้า

หลายหน่วยเลือกตั้งมีการเลือกใช้และจัดการสถานที่ โดยไม่ได้เป็นไปตามหลักการรองรับความหลากหลายของผู้มาใช้สิทธิ กล่าวคือ ไม่รองรับการใช้สิทธิของผู้ที่มีข้อจำกัดทางกายภาพ เช่น ผู้สูงอายุ คนพิการ ฯลฯ และยังพบว่าหลายหน่วยเลือกตั้งไม่มีการเตรียมความพร้อมที่ดีพอ สำหรับการรับมือสภาพอากาศที่ร้อนจัด ส่งผลให้ผู้ใช้สิทธิจำนวนมากมีอาการวิงเวียน หน้ามืด และเป็นลม ผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเช่นนี้ ถือเป็นเรื่องที่ไม่อาจปล่อยปละละเลยได้

  1. เอกสารสำคัญที่ต้องปิดประกาศ ณ หน่วยเลือกตั้ง

การปิดประกาศเอกสารสำคัญหน้าหน่วยเลือกตั้ง เป็นหลักการพื้นฐานเรื่องความโปร่งใส เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ ที่ช่วยให้ประชาชนสามารถทำความเข้าใจการใช้สิทธิเลือกตั้งได้อย่างครบถ้วน แต่มีการรายงานเป็นจำนวนมากว่ามีความผิดปกติ ซึ่งมีประเด็นที่ควรพิจารณาอยู่ 3 ประการ

ประการที่หนึ่ง เอกสารแนะนำผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ซึ่งปรากฎว่ามีรายชื่อผู้สมัครบางพรรคหายไปจากกระดานปิดประกาศ

ประการที่สอง ตัวอย่างบัตรเลือกตั้งที่ติดประกาศหน้าหน่วยเลือกตั้งเป็นสีขาว-ดำ ซึ่งไม่แสดงสีจริงของบัตรเลือกตั้งทั้งสองประเภท

ประการที่สาม เอกสารรายการเกี่ยวกับจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ได้รับมาก่อนลงคะแนน (ส.ส.5/5) ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญที่ต้องระบุจำนวนบัตรเลือกตั้งทั้งหมดที่ได้รับมา และระบุจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งนั้น ซึ่งต้องปิดประกาศไว้ให้ประชาชนรับทราบก่อนเปิดให้ลงคะแนน ทั้งนี้ในหลายหน่วยเลือกตั้งพบว่า มีความผิดปกติของในหลายส่วน ดังนี้

(1) ปิดประกาศล่าช้า หลังเปิดให้ลงคะแนนเป็นเวลานาน

(2) ไม่ระบุรายละเอียดจำนวนบัตรเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งนั้นได้รับมา หรือกรอกตัวเลขจำนวนบัตรที่ได้รับ แต่กลับไม่ระบุเป็นตัวหนังสือที่ช่องข้อความด้านหลัง ทำให้ไม่สามารถยืนยันได้ว่ามีการกลับมาแก้ไขหรือไม่

(3) ระบุข้อมูลรายละเอียดเอกสารไม่ครบถ้วน เช่น ไม่ระบุชื่อหน่วยเลือกตั้ง และสถานที่ตั้งหน่วยเลือกตั้ง

การละเลยความสำคัญของการจัดทำเอกสารเหล่านี้ ทำให้ไม่อาจกล่าวได้ว่าการเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งนั้น เป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม

  1. การสังเกตการณ์การเลือกตั้ง

แม้ว่าโดยส่วนใหญ่กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งจะให้ความร่วมมือกับการสังเกตการณ์ แต่ยังคงมีรายงานว่า มีหน่วยเลือกตั้งที่กรรมการประจำหน่วยยืนยันที่จะไม่อนุญาตให้อาสาสมัครเข้าสังเกตการณ์ รวมถึงไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพบรรยากาศการเลือกตั้ง หรือถ่ายภาพเอกสารซึ่งปิดประกาศอยู่ที่หน้าหน่วยเลือกตั้ง แม้ว่าการกระทำนั้นจะมั่นใจได้ว่าไม่รบกวนต่อการลงคะแนนเลือกตั้ง และไม่กระทบต่อสิทธิหรือข้อมูลส่วนบุคคล อันอาจเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อการใช้สิทธิของประชาชน ซึ่งแท้จริงแล้ว ย่อมสามารถเข้าสังเกตการณ์กระบวนการจัดการเลือกตั้ง เพื่อเป็นประจักษ์พยานในการยืนยันมาตรฐานด้านความโปร่งใส

เรียกร้องกกต.ชี้แจงจำนวนบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า

เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้ง 2566 จึงมีข้อเสนอแนะต่อการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 14 พ.ค. 2566 เพื่อยืนยันว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นเป็นไปด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพดังต่อไปนี้

  1. คณะกรรมการการเลือกตั้งควรชี้แจงจำนวนบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าที่มีการจัดการที่ผิดพลาด และชี้แจงวิธีการแก้ไขอย่างละเอียด พร้อมแสดงหลักฐานเพื่อสร้างความกระจ่างแก่ประชาชนที่มาใช้สิทธิ โดยเครือข่ายฯ เชื่อมั่นว่ามีเพียงการยอมรับปัญหาและลงมือแก้ไขชัดเจนและโปร่งใสเท่านั้น ที่จะทำให้การนับคะแนนบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 14 พ.ค. 2566 ไม่มีจำนวนบัตรเพิ่มขึ้นหรือลดลงในเขตเลือกตั้งใด กล่าวให้ชัดคือจะ ไม่มีกรณีของ “บัตรเขย่ง”
  2. คณะกรรมการการเลือกตั้ง ควรประกาศสถานที่นับคะแนนบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า ซึ่งจะมีการนับคะแนนในวันที่ 14 พ.ค. 2566 ทั้ง 400 เขต เพื่อให้ประชาชนที่ยังคงมีข้อห่วงกังวล จะได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การนับคะแนน
  3. เป็นเรื่องน่ายินดีที่ตามกฎหมายเลือกตั้งระบุให้ มีการเปิดเผยรายงานผลการนับคะแนนรายหน่วยเลือกตั้ง (แบบ ส.ส.5/18) ทั้งคะแนนผลการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต และคะแนนผลการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของทุกหน่วยเลือกตั้ง บนเว็บไซต์ของสำนักงาน กกต.จังหวัด ภายใน 5 วันนับจากวันเลือกตั้ง เพื่อให้ความกระจ่างชัดต่อประชาชนยิ่งขึ้น จึงมีข้อเสนอแนะให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำสั่งให้เปิดเผยเอกสารสำคัญอีก 2 ฉบับ เพิ่มเติมบนเว็บไซต์ของ กกต. จังหวัดไปพร้อมกัน ดังนี้ฉบับแรก แบบรายการเกี่ยวกับจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ได้รับมาก่อนลงคะแนน (แบบ ส.ส.5/5) และ ฉบับที่สอง ประกาศรายการเกี่ยวกับจำนวนบัตรเลือกตั้งเมื่อเสร็จสิ้นการออกเสียงลงคะแนน (ส.ส.5/7)
  4. เน้นย้ำให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ให้ความร่วมมือการสังเกตการณ์การเลือกตั้งโดยประชาชน ทั้งการถ่ายภาพกระบวนการจัดการเลือกตั้ง และการบันทึกผลคะแนนของหน่วยเลือกตั้ง เพื่อช่วยให้การเลือกตั้งครั้งสำคัญของประเทศไทย ดำเนินไปด้วยความ โปร่งใส และ เป็นธรรม