ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เลือกตั้งอย่างรับผิดชอบ 2566 > ประชาชนกว่า 3 ล้านเสียงโหวตหนุน สว.เลือกนายกรัฐมนตรีเสียงข้างมาก

ประชาชนกว่า 3 ล้านเสียงโหวตหนุน สว.เลือกนายกรัฐมนตรีเสียงข้างมาก

18 พฤษภาคม 2023


เครือข่ายเสียงประชาชน แถลงผลการโหวตเสียงประชาชน พบคนแห่ลงผลโหวตเกือบ 3,487,313 ครั้งโหวตหนุน” ส.ว. โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้ง เห็นด้วย 85% และไม่เห็นด้วย 15% ขณะที่นักวิชาการเรียกร้อง ส.ว.ฟังเสียงประชาชน โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีตามฉันทามติของประชาชน  พร้อมขอให้ กกต.เร่งพิจารณารับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการเร็วขึ้นจาก 60 วัน

เครือข่ายนักวิชาการเสียงประชาชนจาก 10 มหาวิทยาลัย  จัดแถลงผลการโหวตเสียงประชาชน

เครือข่ายเสียงประชาชน ซึ่งมีเครือข่ายนักวิชาการเสียงประชาชนจาก 10 สถาบัน ร่วมกับสื่อมวลชน 10 สำนัก ร่วมกันเปิดโหวตออนไลน์  “เสียงประชาชน” ดังให้ไปถึง ส.ว. “ท่านเห็นด้วยหรือไม่ที่ ส.ว.ควรเคารพเสียงประชาชน โดยโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีตามเสียงข้างมากของ ส.ส.” โดยเปิดโหวตหลังวันเลือกตั้ง ผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ด หรือ กดลิงค์เพื่อโหวต https://peoplevoiceth.survey.fm/เสียงประชาชน-3 โดยเริ่มตั้งแต่เที่ยงวัน 15 พฤษภาคม ถึง เที่ยงวัน 18 พฤษภาคม 2566

หลังปิดโหวตเครือข่ายนักวิชาการเสียงประชาชนจาก 10 มหาวิทยาลัย  จัดแถลงผลการโหวต โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์   มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต  รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการหลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา  สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) รองศาสตราจารย์ ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และ ดร. ธนพร ศรียากูล นายกสมาคมรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.)

ประชาชนร่วมโหวต 3.4 ล้านครั้ง

ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล   อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ได้เปิดผลโหวต พร้อมข้อเสนอแนะต่อการจัดตั้งรัฐบาลและการเลือกนายกรัฐมนตรีตามระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา ดังต่อไปนี้

ผลการโหวตเสียงประชาชน: คำถามคือ “ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ที่ ส.ว.ควรเคารพเสียงประชาชน โดยโหวตเลือกนากยกรัฐมนตรีตามเสียงข้างมากของ ส.ส.” ตั้งแต่เวลา 12.00 น. ของวันที่ 15 พฤษภาคม ถึงเวลา 12.00 น. ของวันนี้คือ 18 พฤษภาคม 2566 มีการโหวตทั้งสิ้น 3,487,313 ครั้ง เห็นด้วย 85% และไม่เห็นด้วย 15%

การโหวตเสียงประชาชน โดยยึดถือหลักการ คือ การเปิดให้ประชาชนไม่ว่าฝ่ายใดได้ออกเสียงในประเด็นที่จะต้องมีการตัดสินใจโดยผู้มีอำนาจหน้าที่ ซึ่งก็คือ การออกเสียงประชามติตามหลักการของ “ประชาธิปไตยโดยตรง” นั่นเอง ซึ่งในปัจจุบันสามารถทำได้โดยสะดวก ไม่สิ้นเปลือง และรู้ผลโดยรวดเร็ว ซึ่งรัฐบาลที่จะตั้งขึ้นมาบริหารประเทศนับจากนี้ไปควรพิจารณานำไปพัฒนาต่อไปในการให้ประชาชนเจ้าของประเทศได้มีส่วนร่วมตัดสินใจในเรื่องราวต่างๆ ให้มากขึ้นและบ่อยขึ้น

“มีประชาชนเข้าร่วมการโหวตมากที่สุดอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนมีการโหวตทั้งสิ้นถึง 3.4 ล้าน เกือบถึง 3.5 ล้านครั้ง ใน 2 ครั้งแรกเราเคยทำเสียงประชาชนมากที่สุดคือ 5.4 แสน แต่ครั้งนี้มีคนมาร่วมโหวตจำนวนมาก ถือเป็นเสียงแลนด์สไลด์ในการโหวตก็ว่าได้”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เรียกร้อง สว.รับฟังเสียงประเทศ

ดร. ปริญญา ได้กล่าวถึงข้อเสนอแนะต่อ ส.ว.ว่า การโหวตเสียงประชาชนที่ทำมาทั้ง 3 ครั้ง มีเป้าหมายประการเดียวคือ ให้ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ตัดสินใจในเรื่องสาธารณะของประเทศ ได้รับฟังเสียงของประชาชนที่เป็นเจ้าของประเทศและเจ้าของงบประมาณของประเทศ สำหรับการโหวตเสียงประชาชนในครั้งนี้ ประเด็นคือเรื่องของการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว.

ทั้งนี้เนื่องจาก ส.ว.มีอำนาจเท่ากับ ส.ส.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และได้เงินเดือนและค่าตอบแทนเท่ากับ ส.ส. แต่ไม่ได้ถูกเลือกมาจากประชาชน และไม่ได้มีสัญญาประชาคมกับประชาชนว่าจะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี ดังเช่น ส.ส.ที่ได้กระทำในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง

ดังนั้น ส.ว.จึงยิ่งต้องฟัง “เสียงประชาชน” ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และไม่ควรทุ่มเถียงหรือเกี่ยงงอนกับประชาชน หรือบอกประชาชนไม่ให้กดดัน เพราะตำแหน่ง ส.ว.ไม่ได้ทำหน้าที่แบบให้เปล่าหรืออาสาสมัคร แต่มีเงินเดือนและค่าตอบแทนจากภาษีอากรของประชาชน และการเลือกนายกรัฐมนตรีก็มิใช่เรื่องส่วนบุคคล หรือกิจการส่วนตัวของ ส.ว. หากเป็นเรื่องส่วนรวม ที่ประชาชนเจ้าของประเทศย่อมมีสิทธิส่งเสียงได้ ทั้งนี้ในวิถีทางภายใต้กฎหมายและวิธีการที่เหมาะสมด้วย

ตั้งรัฐบาลที่มีแนวนโยบายทิศทางเดียวกัน

ข้อเสนอแนะต่อมาคือ การจัดตั้งรัฐบาลและการเลือกนายกรัฐมนตรีตามระบอบประชาธิปไตย ในระบบรัฐสภา ระบบรัฐสภาคือการให้ประชาชนเลือกนายกรัฐมนตรีผ่านการเลือก ส.ส.และพรรคการเมือง พรรคใดได้เสียงข้างมากย่อมได้จัดตั้งรัฐบาล เพราะได้ฉันทานุมัติมาจากประชาชนจากการเลือกตั้ง ในกรณีที่ไม่มีพรรคใดได้ ส.ส.เกินครึ่ง ก็ต้องตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรคอื่นที่มีแนวนโยบายไปในทางเดียวกัน โดยพรรคที่ได้ ส.ส.มากที่สุดจะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล

การตั้งรัฐบาลผสมซึ่งเป็นกรณีปกติของระบบรัฐสภา สิ่งที่พรรคที่จัดตั้งรัฐบาลพึงกระทำไม่ใช่เพียงแค่ตกลงหรือต่อรองกันในเรื่องการจัดสรรหรือแบ่งกระทรวง แต่ต้องเป็นการตกลงกันในเรื่องนโยบายที่หาเสียงไว้กับประชาชน นโยบายที่เหมือนกันก็นำมาเป็นนโยบายรัฐบาล นโยบายที่แตกต่างก็ต้องตกลงกันว่าจะปรับเข้าหากันให้เป็นนโยบายรัฐบาลได้อย่างไร

หากมีนโยบายใดตกลงกันไม่ได้ก็ให้ไปหารือกันในสภาต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีนโยบายที่เห็นต่างกันมากหรืออาจจะสร้างความขัดแย้งแตกแยกได้มาก ก็อาจจะให้เป็นเรื่องการสร้างพื้นที่และเวทีในการหารือร่วมกันของสังคมก่อนดำเนินการ

 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลหาเสียงครั้งที่สองกับ สว.

ดร.ปริญญากล่าวถึง “การหาเสียงครั้งที่สอง” ของพรรคที่ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล: การหาเสียงกับประชาชนได้เสร็จสิ้นไปแล้วโดยปรากฏเป็นผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยพรรคฝ่ายค้านเดิมหรือที่เรียกกันว่า “พรรคฝ่ายประชาธิปไตย” ได้เสียงข้างมากรวมกันเกิน 300 เสียง

โดยพรรคก้าวไกลที่ได้เสียงอันดับหนึ่งเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งจากจำนวนเสียง 313 เสียงในขณะนี้นั้นมากเพียงพอในการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว แต่เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ ส.ว.ชุดแรกเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. ทำให้จำนวนเสียงที่ต้องใช้ในการเป็นนายกรัฐมนตรีต้องมากกว่ากึ่งหนึ่งของทั้งสองสภาซึ่งก็คือ 376 เสียง ซึ่งยังขาดอีก 63 เสียงจึงจะเป็นรัฐบาลได้

จากนี้ไปอีกประมาณ 60 วันที่จะมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จึงถือได้ว่าเป็น “การหาเสียงครั้งที่สอง” พรรคที่กำลังจะเป็นรัฐบาลจะต้องไปหาเสียงต่อกับผู้เลือกนายกรัฐมนตรี ขณะนี้มี 313 เสียงแล้ว จึงขาดอีก 63 เสียง ซึ่งสามารถหาเสียงหรือขอเสียงได้ทั้งจาก ส.ส.ที่เหลือ และ ส.ว.อีก 250 คน โดยใช้นโยบายที่ตกลงกันได้ เป็น “นโยบายว่าที่รัฐบาล” ไปหาเสียงว่าเป็นรัฐบาลแล้วจะทำอะไร ส่วนจะหาเสียงอย่างไรก็เป็นเรื่องวิธีการของพรรคที่กำลังจัดตั้งรัฐบาล

จี้กกต.เร่งประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง

สำหรับบทบาทหน้าที่ กกต.: ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ประชาชนมีความรู้สึกคลางแคลงใจต่อการทำหน้าทึ่ของ กกต.ยิ่งกว่าการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา กกต.จึงต้องยิ่งแสดงออกในการทำหน้าที่อย่างเที่ยงธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการจัดตั้งรัฐบาลและการเลือกนายกรัฐมนตรี กกต.ต้องประกาศผลการเลือกตั้งและรับรอง ส.ส. ให้คนเชื่อมั่นได้ในความเที่ยงธรรม คือเป็นไปโดยไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกับพรรคหนึ่งพรรคใด

สำหรับในเรื่องคุณสมบัติต่างๆ ของผู้สมัคร ส.ส.นั้น หากมีผู้สมัครคนใดมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนหรือมีคุณสมบัติต้องห้าม กกต.ควรต้องประกาศว่าขาดคุณสมบัติมาตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง หากเลือกตั้งเสร็จแล้วค่อยประกาศว่าขาดคุณสมบัติ ย่อมเป็นความบกพร่องของ กกต.และย่อมถูกมองได้ว่าอาจมีเจตนาให้คุณให้โทษกับผู้หนึ่งผู้ใด หรือพรรคหนึ่งพรรคใดได้

สิ่งที่ กกต. พึงกระทำคือหากมิใช่กรณีการทุจริตหรือคดโกงการเลือกตั้งแล้ว กกต.ควรต้องประกาศรับรองผลการเลือกตั้งให้เป็น ส.ส. และหากผู้ใดมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ หรือต้องตีความ ก็ควรให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญต่อไป ไม่พึงตัดสินเองในเรื่องที่เป็นอำนาจฝ่ายตุลาการเพราะจะก่อให้เกิดปัญหาตามมาอย่างมากมาย

ดร.ปริญญากล่าวว่า ขอ.ให้ส.ว.รับฟังเสียงประชาชน เพราะสิ่งที่มีการพูดกันว่าในถึงวันเลือกนายกรัฐมนตรีอีก 60 วันที่เกิดอะไรขึ้น ไม่อยากเห็นการชุมนุมกดดันหน้ารัฐสภา โดยควรส่งเสริมบรรยากาศประชาธิปไตยตามหลัการระบอบประชาธิปไตย

รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการหลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

ด้าน รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการหลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา  สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า อยากจะกล่าวถึง บทบาท ของ กกต. ในช่วงเลือกตั้งล่วงหน้าถูกวิจารณ์อย่างนั้น และการจัดการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 14 พ.ค. ถือว่าจัดการได้เรียบร้อยในระดับหนึ่งไม่มีเรื่องหรือการโกงในหน่วยเลือกตั้ง ถือว่าดูแลได้ดีพอสมควร

แต่ขั้นตอนต่อไปหลังการเลือกตั้ง คือการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ โดยประเทศไทยเป็นประเทศที่ค่อนข้างพิสดาร เพราะมีการรับรองผลการเลือกตั้งของผู้สมัครใช้เวลากว่า 2 เดือน ซึ่งผลให้เกิดปัญหาความยืดเยื้อในการจัดตั้งรัฐบาล และทำให้เกิดความไม่แน่นอนเห็นได้จากตลาดหุ้นที่ติดลบในช่วงที่ผ่านมา

ดังนั้น กกต. สามารถแก้ไขได้ ด้วยการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เร่งประกาศรับรองผลการเลือกตั้งรวดเร็ว เที่ยงธรรม ถ้ากกต.สามารถทำได้รวดเร็ว ได้ชื่อเสียงเกียรติภูมิที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เสียหายไปก่อนหน้านี้ก็จะได้รับการกอบกู้กลับมาได้บ้างไม่มากก็น้อย จึงอยากเห็น กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งได้เร็วขึ้น ยิ่งเร็วและชัดเจน ก็ทำให้มีการจัดตั้งรัฐบาลได้เร็วขึ้น ไม่ใช่เวลานานถึง 3 เดือน ประเทศไทยรอไม่ได้นานขนาดนั้นประเทศต้องการเดินหน้า เพราะอยู่นิ่งและรอมานานเกิน 8 ปีแล้ว

ส่วนประเด็นที่สอง ดร. พิชาย ได้กล่าวว่า แม้ว่าที่ผ่านมามี ส.ว.ที่มีประวัติไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชนในอดีต แต่หลังการเลือกตั้งก็เห็นสัญญาณที่ดีจาก ส.ว. จำนวนไม่น้อยที่ออกมาแสดงจุดยืนเคารพมติเสียงข้างมาก และเจตนารมณ์ของประชาชน และอยากเห็น ส.ว.ที่เหลือจะมีจุดยืนในลักษณะนี้ เช่นดียวกันเหตุผลสำคัญคือว่า ระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยกำลังเดินไปสู่เส้นทางตามมาตรฐานสากล และถ้าประเทศไทยเดินตามครรลองของประชาธิปไตยได้ก็จะเกิดการยอมรับจากนานาประเทศ และในสากล และประเทศไทยจะมีศักดิ์ศรีมากขึ้นในเวทีสากลขณะเดียวกันก็จะช่วยป้องกันความขัดแย้งต่างๆในสังคมที่จะเกิดขึ้นในการเมืองภายในประเทศได้ด้วย

ถ้าหาก ส.ว.มีเจตจำนงค์ และจะช่วยเหลือเกื้อกูลประคบประคองประเทศ ให้เดินต่อไปได้ การตัดสินสนับสนุนรัฐบาลที่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากเป็นแนวทางที่ดี และทำเช่นนั้น ส.ว.ชุดนี้จะสามารถกอบกู้ภาพลักษณ์กลับคืนมาได้ไม่มากก็น้อยเช่นเดียวกัน

“ ผมหวังว่าในช่วงเดือน 2 เดือนนี้ อยากเห็นทุกฝ่ายช่วยประกับประคองประชาธิปไตยให้เดิน ตามครรลองประชาธิปไตยเพื่อนำพาประเทศก้าวพ้นความขัดแย้งและความแตกแยกสักที ส่วน ส.ว.ที่ต้องการปิดสวิตช์ ไม่ต้องการออกความเห็น อยากเสนอให้ลาออกจากตำแหน่งเพื่อจะได้ไม่มีปัญหากับการเลือกทำให้จำนวนที่จะโหวตลดลง นั่นจะเรียกว่า ปิดสวิตช์จริงๆไม่ใช่การงดออกเสียงเพราะนั้นมีผลต่อการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง”

รองศาสตราจารย์ ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว. อาจารย์ประจาภาควิชารัฐศาสตร์. คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยบูรพา.

ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา  กล่าวว่าวันนี้เราได้เห็นการลงประชามติของประชาชนเกือบ 4 ล้านคนในการแสดงความเห็นต่อ สว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี  อยากให้เคารพเสียงประชาชน   จึงอยากให้ สว.ได้พิจารณาเสียงประชาชน อยากให้ช่วยหลักการเหล่านี้ไปพิจารณาในการโหวตรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

“ ผมคิดว่า ส.ว.ไม่ต้องกังวลใจเพราะว่าอีก 1 ปี กว่า ส.ว.ยังคงทำหน้ที่เป็นผู้กำกับเป็นผู้ติดตามตรวจสอบถ่วงดุลเพื่อให้รัฐบาลอยู่ในครรลองภายใต้การเชื่อมั่นเหล่านี้ และในสถานการณ์ตึงเครียด ที่ทุกคนประเมินไม่ได้ว่าสถานการณ์จะเดินไปทางไหนภายใต้การยื้อของการเมือง 2 ข้าง เพื่ออนาคตร่วมกันของประเทศ ผมคิดว่า ทุกคนสามารถแสดงออกในความเป็นพลเมืองโดยให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเขาได้แสดงฝีมือในการบริหารประเทศ ผลักดันนโยบายที่ประโยชน์กับประชาชน และยิ่งยื้อกันไปนานอาจทำให้สถานการณ์การเมืองไม่ดีขึ้นอยากให้ฟังเสียงประชาชน อยากให้ ส.ว.อย่ากลัวการฟังเสียงประชาชน และในเวลา 2 เดือนอยากให้เปิดให้พูดคุยสร้างบรรยากาศประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือขึ้น”

ดร .ธนพร ศรียากูล นายกสมาคมรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.)

 ความสำเร็จแรกปิดสวิตช์ รัฐบาลเสียงข้างน้อย

ดร.ธนพร ศรียากุล  นายกสมาคมรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  กล่าวว่า ช่วงเวลาที่ผ่านมาสังคมทำได้สำเร็จ 2 เรื่อง  คือจัดตั้งรัฐบาลตามลำดับการได้คะแนน สส. โดยพรรคที่ได้อันดับหนึ่งได้จัดจั้งรัฐบาลถือเป็นความสำเร็จร่วมกันของประชาชน

และความสำเร็จประกาศที่สอง สามารถช่วยกันปิดสวิตช์รัฐบาลเสียงข้างน้อยได้เด็ดขาด แม้ว่าจะเอาไปพูดกันอะไรกัน แต่ในทางปฏิบัติถือว่าไม่สามารถทำได้แล้ว การจัดตั้งรัฐบาล ช่วงนี้บรรยากาศดี เพราะพรรคเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสามารถเปลี่ยนจากเดิมเคยเป็นฝ่ายค้านเข้ามาเป็นผู้บริหารประเทศ ซึ่งจะต้องระดมความร่วมมือ และความคิดเห็นต่าง ความเข้าอกเข้าในในการขับเคลื่อนประเทศ

“ในโอกาส วันที่ 23 พ.ค. ที่ส.ว.จะประชุมเพื่อเลือกคณะกรรมการโดยองค์กรอิสระ  ผมคิดว่าพรรคแกนนำรัฐบาล และพรรคร่วม โดย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มีความคิดไปพบ ส.ว.ซึ่งถือว่าเป็นท่าทีที่ดี  นอกจากนี้ ส.ว.สามารถไถ่ถามเอกสารเผยแพร่ ติดตามโรดแมปต่างๆของแต่ละพรรคได้ทำไว้ ซึ่งบทบาทหน้าที่ส.ว.ในการตรวจสอบยังสามารถทำได้อีก 1 ปี ทำให้ระบบการเมืองของเราเป็นไปตามปกติและได้รับการตรวจสอบอย่างเท่าเทียมกัน ขณะเดียวกัน สังคมก็กำกับรัฐบาลใหม่ด้วยเทคโนโลยี การเมืองภาคประชาชนก็จะเกิดขึ้น”

ดร.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

ดร.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต  กล่าวว่า ผลการโหวตครั้งนี้เกิดสร้างการเมืองพลเมือง ทำให้เห็นว่า สังคมไทยต้องการให้เกิดการเคารพหลักการ พรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากได้รับการเลือกตั้งสามารถจัดตั้งรัฐบาล หรือกลับไปสู่กติกาที่ควรจะเป็น และปิดตายการต่อสู้ของรัฐบาลเสียงข้างน้อยไม่เกิดขึ้นอีก

การทำให้สังคมเกิดความเคารพและยืนยันในความถูกต้อง จริงๆแล้วฉันทามติของประชาชนควรจะได้รับการเคารพมากเพียงใด  และอยากเห็น สว.เคารพเสียงประชาชน เพราะถือเป็นโอกาสสที่ดีที่สุดที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่ สว.จะเป็นพี่เลี้ยงและท้วงติงต่อรัฐบาลชุดใหม่ และดูแลการเปลี่ยนผ่านถ่ายโอนอำนาจไปจากรัฐบาลเก่าไปสู่รัฐบาลชุดใหม่ได้อย่างราบรื่น สันติ ซึ่งสังคมคาดหวังให้เกิดขึ้นแบบนั้น

“รัฐบาลชุดใหม่ และการเมืองภาคประชาชนในอนาคต อาจจะต้องหารือทางออกรวมกันต่อไปเราต้องมีการแก้ไขปฏิรูประบบการเลือกตั้ง ไปสู่สากลมากขึ้นเป็นที่ยอมรับฟังความคิดเห็นข้อท้วงติงต่างๆที่ผ่านมา เราต้องทำให้ระบบเลือกตั้งเป็นที่เคารพนับถือมากขึ้นนี้ช คือความเข้มแข็งของภาคประชาชน”