ThaiPublica > Sustainability > Headline > SET: Capital Market Research Forum กรรมการอิสระบจ.ทำหน้าที่แทนผู้ถือหุ้นรายย่อยได้สมบทบาท

SET: Capital Market Research Forum กรรมการอิสระบจ.ทำหน้าที่แทนผู้ถือหุ้นรายย่อยได้สมบทบาท

1 เมษายน 2023


ตลท. ร่วม ม.เกษตร เปิดงานวิจัย ความหลากหลายและการจ่ายค่าตอบแทนกรรมการบริษัทจดทะเบียน

สุมิตรา ตั้งสมวรพงษ์ ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรพรหม พรหมเพศ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา

ในวันที่ 9 มีนาคม 2566 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดงานSET: Capital Market Research Forum ครั้งที่ 2/2566 หัวข้อ “แนวทางปฏิบัติที่ดีของกรรมการบริษัท เพื่อการพัฒนาธุรกิจที่ยั่งยืน” โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา เผยแพร่รายงาน เรื่อง “ความหลากหลายของคณะกรรมการบริษัทจดทะเบียน” และ “การจ่ายค่าตอบแทนกรรมการและผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนใน ตลาดหุ้นไทย”

โดย สุมิตรา ตั้งสมวรพงษ์ ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรพรหม พรหมเพศ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ร่วมกันให้ข้อมูล ว่า จากการที่ตลาดหลักทรัพย์ได้พัฒนาและส่งเสริมการนำบรรษัทภิบาลมาใช้กว่า 20 ปี โดยด้านการกำกับกิจการใช้เกณฑ์จากต่างประเทศ เช่น เกณฑ์ของ OECD (The Organization for Economic and Co-operation) และมีการปรับตาม Asean score card รวมถึงแนวทางของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่มีการปรับและเพิ่มบทบาทและหน้าที่ของกรรมการแบ่งเป็นหมวดๆ

ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์มีการพัฒนาข้อมูล เนื่องจากมีการร้องขอจากนักวิจัยร้องว่าต้องการข้อมูลในการทำงานด้านวิจัยตลาดทุน โดยมุ่งเน้นที่โครงสร้างกรรมการ แนวทางปฏิบัติที่ดีของกรรมการ ข้อมูลส่วนนี้จะอยู่ภายใต้หลักปฏิบัติที่ 3 และ 4 หรือ CG code ของก.ล.ต.

จากข้อมูลทั้งหมดทำให้ได้รายงาน 2 เล่ม เล่มแรกเป็นรายงานเกี่ยวกับภาพรวมคณะกรรมการในบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ทั้งขนาด ประเภท ความหลากหลาย รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการ ซึ่งหลักๆ คือการเข้าร่วมประชุม ส่วนเล่มที่สอง เป็นความต้องการจากบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ว่าจะจ่ายค่าตอบแทนให้กรรมการอย่างไร เล่มที่สอง จึงเกี่ยวกับการจ่ายค่าตอบแทนกรรมการและผู้บริหารบริษัทบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย โดยเป็นการจัดเก็บข้อมูลในปี 2563

สำหรับประเด็นสำคัญของรายงานสรุปได้ว่า ในส่วนรายงานภาพรวมคณะกรรมการบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ หากดูตามหลักปฏิบัติการกำกับกิจการที่ดี ข้อที่ 3 คือ โครงสร้างคณะกรรมการต้องมีความเหมาะสมเพียงพอที่จะนำพาองค์กรให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ขององค์กร จึงมีการกำหนดขนาดของกรรมการ โดยในต่างประเทศจะไม่กำหนดจำนวนสูงสุด แต่กำหนดจำนวนขั้นต่ำไว้ 5 คน โดยแนวปฏิบัติของไทยอยู่ที่ 5-12 คน ต่อมาแนวปฏิบัติเรื่องประเภทของกรรมการ แบ่งเป็น 3 ส่วน กรรมการที่เป็นผู้บริหาร กรรมการอิสระ กรรมการที่ไม่ใช่ผู้บริหาร โดยก.ล.ต. กำหนดให้ต้องมีกรรมการอิสระ 1 ใน 3 หรืออย่างน้อย 3 คน แต่ในแนวปฏิบัติกำหนดให้มีอย่างน้อย 1 ท่าน

ส่วนความหลากหลาย ทั้งเพศและอายุ จากข้อมูลพบว่า บจ.ส่วนใหญ่จะมีคณะกรรมการ 6-12 คน คิดเป็น 88% หรือเฉลี่ยแห่งละ 10 คน ส่วนประเภทของคณะกรรมการ พบว่า เป็นกรรมการอิสระ 4 คน กรรมการที่เป็นผู้บริหาร 3 คน กรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร 3 คน ฉะนั้น โดยรวมส่วนใหญ่จะเป็นกรรมการอิสระ คิดเป็นสัดส่วน 42%

ด้านความหลากหลาย จากข้อมูลการเก็บรวบรวมโครงสร้างบริษัท 731 บริษัท พบว่า ในที่นั่งกรรมการ 7,000 ที่นั่ง มีจำนวนคน 5,500 คน บริษัทส่วนใหญ่ 87% มีกรรมการที่เป็นหญิงอย่างน้อย 1 คน ส่วนกรรมการอิสระ มี 56% ของกรรมการทั้งหมดและมีเพศหญิงเป็นผู้บริหาร เบอร์ 1 จำนวน 14% สำหรับอายุกรรมการ เฉลี่ยที่ 61 ปี โดยกรรมการอิสระ ส่วนใหญ่อายุมากกว่า 60 ปี ขณะที่กรรมการที่เป็นผู้บริหารอยู่ระหว่าง 46-60 ปี

สำหรับความอิสระในการแสดงความคิดเห็น ปกติกรรมการอิสระควรมีบทบาทนำในการแสดงความคิดเห็น และประธานกรรมการบริหารไม่ควรเป็นคนเดียวกับซีอีโอ พบว่า ประธานกรรมการส่วนใหญ่ 45% เป็นกรรมการอิสระ ส่วนระยะการดำรงตำแหน่งที่ไม่ควรเกินคนละ 9 ปี พบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในตำแหน่ง 10 ปี หรือ 2 วาระ ขณะที่กรรมการอิสระ ส่วนใหญ่อยู่ไม่เกิน 10 ปี มีประมาณ 62% และมีเป็นจำนวนมาก เฉลี่ยดำรงตำแหน่ง 8 ปี โดย 38% ดำรงตำแหน่ง 6-10 ปี

ลำดับต่อมา หากคณะกรรมการเป็นตัวแทนผู้ถือหุ้นในการกำหนดกลยุทธ์ และผลักดันการดำเนินงานของบริษัท ก็ต้องมีผู้ช่วย คือ คณะกรรมกรรมการชุดย่อย ในต่างประเทศ คณะกรรมการจะมีคณะกรรมการผู้ช่วย 3 ชุด พบว่า บจ.มีตั้งกรรมการย่อย 2 แบบ แบบแรกคือรับผิดชอบด้านดียว โดยเกือบทั้งหมดเป็นกรรมการตรวจสอบ รองลงมาคือกรรมการบริหาร อีกแบบคือรับผิดชอบ 2 ด้าน โดยกรรมการตรวจสอบที่เหลือทำหน้าที่รับผิดชอบงานอื่น ๆ ด้วย โดยกรรมการชุดย่อย จะมี กรรมการสรรหาค่าตอบแทน กรรมการสรรหาพิจารณาค่าตอบแทน บวกบรรษัทภิบาลอีกหนึ่งหน้าที่ อีกกลุ่มคือ กรรมการบริหารความเสี่ยงและบรรษัทภิบาล เป็น 3 ลำดับแรกที่รับผิดชอบมากกว่า 1 ด้าน

อีกแนวปฏิบัติคือ กรรมการควรมีหน้าที่และจัดสรรเวลาได้เพียงพอ โดยพิจารณาจาก 2 ประเด็น คือกรรมการแต่ละท่านควรเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 75% ของเวลาทั้งหมด พบว่า บริษัทส่วนใหญ่ 97% สามารถทำหน้าที่ได้ครบถ้วน และมีการเข้าร่วมประชุมตามเกณฑ์ 94% นอกจากนี้ กรรมการส่วนใหญ่มากกว่า 80% ดำรงตำแหน่งเพียงบริษัทเดียว ที่ดำรงตำแหน่งมากกว่า 1 บริษัท มีเพียง 18%

สำหรับรายงานการจ่ายค่าตอบแทนกรรมการและผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย พบว่า ค่าตอบแทนในกลุ่มกรรมการ ส่วนใหญ่เป็นลักษณะ ค่าตอบแทนประจำ เบี้ยประชุม โบนัส จากข้อมูลปี 2563 พบว่า มีการจ่ายผสมผสานกันหลายแบบ ที่ใช้มากสุด คือ ค่าตอบแทนและเบี้ยประชุม รองลงมา คือ ค่าตอบแทน เบี้ยประชุม และโบนัส อันดับสาม คือ จ่ายเบี้ยประชุมอย่างเดียว

โดยแต่ละรูปแบบ พบว่า เบี้ยประชุม ประธานกรรมการ จะได้รับค่าตอบแทนสูงกว่ากรรมการ 1.5 เท่าโดยเฉลี่ย โดยกรรมการจะได้ประมาณ 3,000 บาท ถึง 2.5 แสนบาทต่อครั้ง ส่วนประธาน จะได้ 3,000 บาทถึง 5 แสนบาทต่อครั้ง ส่วนค่าตอบแทนคงที่ ประธานจะได้สูงกว่ากรรมการ เฉลี่ย 2 เท่า โดยกรรมการจะได้ค่าตอบแทน 2,500-480,000 บาทต่อเดือน ส่วนประธาน 10,000-600,000 บาทต่อเดือน ขณะที่โบนัสจะขึ้นกับผลประกอบการ

นอกจากนี้ยังมีค่าตอบแทนที่ไม่เป็นตัวเงิน ที่น่าสนใจ คือ การทำประกันเรื่องความรับผิดจากการทำหน้าที่ ส่วนค่าตอบแทนอื่น ๆ เช่น ค่าน้ำมัน ค่ายานพาหนะ การจัดฝึกอบรม เทียบแล้ว พบว่า กรรมการแต่ละรายจะได้เฉลี่ย 710,000 บาทต่อปี โดยกรรมการอิสระจะได้ค่าตอบแทน เฉลี่ยปีละ 1 ล้านบาท สูงกว่ากรรมการที่เป็นผู้บริหาร ที่ได้เฉลี่ยปีละ 8 แสนบาท น่าจะมาจากการที่กรรมการผู้บริหารได้เงินเดือนอยู่แล้ว จึงงดค่าตอบแทนคงที่

โดยกลุ่มบจ.ที่ให้ค่าตอบแทนกรรมการสูงที่สุด คือ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ รองลงมาเป็นกลุ่มพลังงาน กลุ่มก่อสร้าง ส่วนกลุ่มที่ให้ค่าตอบแทนน้อยที่สุด จะเป็นกลุ่ม MAI (Market for Alternative Investment)

โดยมีประเด็นข้อสังเกต คือ มีกรรมการที่เป็นผู้บริหารบางคน แม้บริษัทจะจ่ายค่าตอบแทนคงที่ให้ แต่ในต่างประเทศจะไม่รับค่าตอบแทนคงที่ จึงมีกรรมการที่ไม่รับ หรือกรรมการที่มีส่วนในการก่อตั้งกิจการ ขอสละสิทธิ์ในการรับค่าตอบแทน อีกกลุ่ม คือกรรมการผู้บริหารที่สละสิทธิ์เพื่อการเติบโตของธุรกิจในอนาคต เนื่องจากบริษัทเพิ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์

ส่วนค่าตอบแทนของผู้กลุ่มบริหาร พบว่า มีรูปแบบรวมกันทั้งการจ่ายเงินเดือน โบนัส และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คิดเป็น 64% รองลงมา ผสมกันระหว่างเงินเดือนและโบนัส อันดับสาม คือจ่ายเป็นเงินเดือนและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยผู้บริหารจะได้เฉลี่ยปีละ 5.16 ล้านบาท โดยผู้บริหารกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ได้รับค่าตอบแทนสูงสุด รองลงมาคือกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มอาหาร ตามลำดับ ส่วนกลุ่มที่ได้ค่าตอบแทนน้อยที่สุด คือ กลุ่มแฟชั่น

ในด้านความหลากหลายทางเพศ จากข้อมูลพบว่า 90% ทราบเรื่องการผลักดันสัดส่วนกรรมการที่เป็นผู้หญิง และมี 30% ที่รับทราบว่ามีการผลักดันให้เพิ่มกรรมการที่เป็นผู้หญิงภายในสิ้นปี 2564 โดย บจ. 30% ตอบว่ามีกรรมการผู้หญิงในสัดส่วนดังกล่าวครบแล้ว ส่วนกลุ่มที่ยังไม่ถึง พบว่า 23% ยังไม่เปลี่ยน เพราะต้องดูทักษะของกรรมการที่เอื้อประโยชน์กับการดำเนินธุรกิจ ขณะที่ 73% จะนำไปพิจารณาเพิ่มเติมในการปรับสัดส่วนกรรมการ อีก 4% จะนำไปพิจารณาเมื่อกรรมการครบวาระ

นายยุทธ วรฉัตรธาร ประธานกรรมการ บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน)

กรรมการอิสระมีประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นรายย่อยกันรายใหญ่เอาเปรียบ

นายยุทธ วรฉัตรธาร ประธานกรรมการ บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) ผู้เชี่ยวชาญด้านบรรษัทภิบาลในตลาดทุนไทย และที่ปรึกษาให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนาแนวปฏิบัติที่ดีในการกำกับกิจการในตลาดทุนไทย กล่าวว่า ตามหลักการ โครงสร้างที่กำหนดให้มีกรรมการอิสระ เพื่อช่วยดูแลผู้ถือหุ้นภายนอกที่ไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ จึงมีแนวคิดให้กรรมการภายนอก ที่ไม่เกี่ยวโยงกับผู้ถือหุ้นใหญ่มาช่วยดูแลผู้ถือหุ้นรายย่อย ทำให้เข้าใจว่า กรรมการอิสระทำหน้าที่แทนผู้ถือหุ้นรายย่อย

กรรมการอิสระจึงมีหน้าที่หนัก 2 ด้าน ด้านแรกคือ ช่วยทำให้บริษัทมีกำไรและจ่ายค่าตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยสมกับที่รายย่อยไว้ใจเข้ามาลงทุน อีกด้านคือ พยายามป้องกันไม่ให้ผู้ถือหุ้นรายใหญ่เอาเปรียบผู้ถือหุ้นรายย่อย ทำให้เกิดความเสียหาย กรรมการอิสระจึงมีบทบาทสำคัญ ที่ผ่านมา 10-20 ปี มีการพัฒนาความรู้การทำหน้าที่ของคณะกรรมการ ทำให้…

คณะกรรมการอิสระทำหน้าที่ได้สมบทบาทในการทำหน้าที่แทนผู้ถือหุ้นรายย่อย กรรมการอิสระจึงมีประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นรายย่อย และมีประโยชน์ใหญ่หลวงต่อระบบ เพราะการที่กรรมการอิสระเข้ามาทำหน้าที่ไม่ให้เกิดความเสียหายนั้น ได้รวมถึงการป้องกันผู้ถือหุ้นรายใหญ่เอาประโยชน์โดยไม่คำนึงถึงกฎหมาย ทำผิดกฎหมาย ทำให้ความน่าเชื่อถือของบจ.หายไป ทำให้ความน่าเชื่อของตลาดทุนไทยไม่ดี การระดมทุนของบริษัทใหม่ ๆ จะยาก การลงทุนจากต่างประเทศก็จะยาก กรรมการอิสระจึงมีความสำคัญมาก

ในเรื่องความอิสระของกรรมการนั้น เมื่อเข้ามาเป็นกรรมการแล้วต้องถือว่าเป็นตัวแทนผู้ถือหุ้นทั้งหมด เวลาจะคิด จะตัดสินใจอะไร ต้องคิดถึงผลประโยชน์ของบริษัท ขององค์กรเป็นหลัก ถ้าองค์กรได้ประโยชน์ ทุกคนได้ประโยชน์หมด อันนี้สำคัญ และความเป็นอิสระ มี 2 มิติ มิติหนึ่ง คือความไม่เกี่ยวโยง จึงมีการกำหนดว่า กรรมการอิสระต้องไม่ถือหุ้นเยอะ ประมาณ 0.5-1.0% ต้องไม่เป็นญาติกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เป็นข้อกำหนดเพื่อลดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ความเกี่ยวโยง

“แต่ความเป็นอิสระที่สำคัญกว่านั้น คือการทำหน้าที่ ถ้ามีรายการใดพิสดาร หรือทำให้เกิดความเสียหาย กรรมการอิสระต้องกล้าที่คัดค้าน กล้าที่จะแสดงความเห็นไม่ให้ดำเนินการได้ ซึ่งความจริงคือการป้องกันผู้ถือหุ้นทั้งหมด เป็นเรื่องสำคัญ การเป็นกรรมการอิสระ สิ่งสำคัญ คือตอนทำหน้าที่ ข้อกำหนดที่ว่า ไม่ถือหุ้นเท่านั้น เท่านี้ ไม่เป็นญาติ เป็นคุณสมบัติเบื้องแรกที่ป้องกันไม่ให้ความเกี่ยวโยงเกิดการขัดแย้งทางผลประโยชน์”

นอกจากนี้ โครงสร้างกรรมการ ควรมีกรรมการที่เป็นผู้บริหารระดับสูงมาก่อน สำคัญมาก และกรรมการที่เป็นผู้บริหารระดับสูงมาก่อน จะยิ่งดีถ้ามีความรู้เกี่ยวกับบริบทธุรกิจองค์กรนั้น เพราะกรรมการที่เคยเป็นผู้บริหารจะมีความสามารถในการประเมินได้เร็ว สามารถประเมินความเสี่ยงในแง่ธุรกิจ ความเป็นอิสระไม่ใช่บอกว่ามีกรรมการอิสระเยอะแล้วจะประสบความสำเร็จ

มีตัวอย่างปี 2551 ธนาคารซิตี้แบงก์ของสหรัฐเกือบเจ๊ง รัฐบาลใส่เงินเยอะมาก เพื่อรักษาระบบ ตอนนั้นซิตี้แบงก์มีกรรมการ 18 คน ในนั้น 16 คนเป็นกรรมการอิสระ และในจำนวน 18 คนยกเว้นซีอีโอ มีกรรมการคนเดียวที่รู้เรื่องการเงิน อีก 16 คนเป็นซีอีโอจากบริษัทใหญ่หลายแห่ง ปรากฏว่า คณะกรรมการชุดย่อยเป็นกรรมการอิสระหมด และผู้ตรวจสอบบัญชีให้ความเห็นด้วยว่า กรรมการเหล่านี้ไม่มีประเด็นสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับฐานะการเงิน ปรากฏว่า ปีต่อมา ซิตี้แบงก์ก็มีปัญหา ผู้เชี่ยวชาญจึงบอกว่า การมีกรรมการอิสระจำนวนมาก ที่สำคัญคือ ต้องเป็นกรรมการที่มีความรู้ มีประสบการณ์ในธุรกิจนั้น

โครงสร้างกรรมการเรื่องความหลากหลายในประเด็นนี้จึงมีความสำคัญ ส่วนเรื่องขนาดของกรรมการไม่ต้องใหญ่ ดีที่สุด 7-9 คน องค์กรใหญ่ 11 คนก็ดี โดยสถิติจะองค์กรใหญ่จำนวนมากอยู่ที่ 11 คน

สำหรับเรื่องความยั่งยืน หรือ ESG การหากรรมการที่มีคุณสมบัติโดยตรงคงไม่ง่าย ที่ง่าย คือการดูว่าคณะกรรมการกับผู้บริหารมีความเข้าใจเรื่องความยั่งยืนหรือไม่ ในอดีตความยั่งยืนมีวงเดียว คือ บริษัท คือองค์กร ทำอย่างไรให้มีกำไรดี มีความมั่นคง มีความยืนยาว จึงได้ยินคำว่า มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ทุกบริษัทจะพูดถึงเรื่องนี้

แต่ความยั่งยืนในปัจจุบัน มิติแรก คือ มีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ปัจจัยเสี่ยงเยอะมาก ไม่ว่าเงินเฟ้อ ซัพพลายเชนเปลี่ยน น้ำมันแพง อัตราดอกเบี้ยสูง อัตราแลกเปลี่ยนผันผวน เกิดโควิด เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วมาก อีกมิติที่สำคัญ คือ ESG ที่เป็นความยั่งยืนที่อยู่วงนอกบริษัท เรื่องสิ่งแวดล้อม สภาพภูมิกาศ คุณภาพชีวิตมนุษย์ ถามว่าทำไมต้องสนใจเรื่องนี้ ก็เพราะมันเกี่ยวข้องกับทุกองค์กร อยู่ที่ว่าบริบทแต่ละองค์กรจะถูกกระทบโดยปัจจัยเหล่านี้อย่างไร ซึ่งเป็นความเสี่ยงทั้งสิ้น

ฉะนั้น ความยั่งยืน จึงต้องดูปัจจัยสภาพแวดล้อม ปัจจัยทรัพยากรธรรมชาติ ปัจจัยคุณภาพชีวิต ทุกวันนี้มีทั้งกระแส ทั้งกฎหมายที่ออกมาจำนวนมาก จะส่งผลกระทบต่อบริษัทอย่างไร จะแบ่งการจัดการอย่างไร

“ที่สำคัญ คือ กรรมการต้องมีความรู้เรื่องนี้ และทำอย่างไรให้ผู้บริหารมีความรู้เรื่องนี้ในการบริหารจัดการ บทบาทกรรมการไม่ใช่การสร้างผลประกอบการอะไรมากมาย 80% มาจากผู้บริหารที่สร้างผลประกอบการ ไม่ใช่กรรมการ กรรมการมีหน้าที่ในการเป็นพี่เลี้ยง ทำหน้าที่กำกับดูแล จึงอยากเห็นหน้าที่หลักของกรรมการ คือทำให้ผู้บริหารเก่ง ไม่ใช่ทำให้ตัวเองเก่ง โดยมีความรู้ ทำอย่างไรให้ผู้บริหารเก่ง เพราะผู้บริหารเป็นคนบริหาร”

ฉะนั้น เรื่อง ESG ต้องเข้าใจว่า ทำไมเป็นความเสี่ยง เป็นกฎหมาย เป็นกระแส เพราะทุกวันนี้กระแสโลกต้องการให้วงนอก เรื่องทรัพยากร สิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศมีความยั่งยืน คำว่ายั่งยืน นิยามเขาคือ ทุกคน ผู้บริโภคทั้งหลาย ต้องทำอย่างไรให้รักษาทรัพยากรธรรมชาติ รักษาสภาพภูมิอากาศ ทำให้คุณภาพชีวิตมนุษย์ของคนรุ่นหลังมีโอกาสใช้ทรัพยากร มีคุณภาพชีวิตของมนุษย์เหมือนกับทุกวันที่เป็นอยู่ ถ้าใช้ทรัพยากรหมด คนรุ่นหลังก็จะมีปัญหา นี่คือความหมาย ซึ่งมีความเสี่ยงเยอะมาก

นายกุลเวช เจนวัฒนวิทย์ กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD)

กรรมการต้องครบเครื่อง

นายกุลเวช เจนวัฒนวิทย์ กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) กล่าวว่า ข้อจำกัดของกรรมการขณะนี้ คือ โจทย์ยากขึ้น ความยั่งยืนขององค์กรไม่ได้ขึ้นกับผลกำไร ไม่ได้ขึ้นกับผู้ถือหุ้น แต่ขึ้นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholder) โจทย์จึงยากและใหญ่สำหรับการเป็นคณะกรรมการ

กรรมการต้องรู้ว่า ธุรกิจจะไม่เบียดเบียน stakeholder คำว่าอิสระจะไม่ได้ดูที่โปรไฟล์ แต่ดูที่พฤติกรรม จุดนี้สำคัญ คำว่าอิสระ คือต้องมีความกล้าด้วย โดยกรรมการอิสระ จะต้อง

    1. care คือ duty of care วันนี้กรรมการจะบอกว่า ผมไม่รู้ ไม่รู้ว่า disruption จะมา พูดไม่ได้
    2. คำว่าอิสระ ที่มาประชุมปีละ 6 ครั้ง ๆ ละ 3 ชั่วโมงนั้น โดยความจริงแล้วต้องทำงานมากกว่า ต้องทำงานคูณ 5 ต้องฟังฝ่ายจัดการมาสรุปให้ฟังว่าเวลานี้ธุรกิจเป็นอย่างไร ความเสี่ยงเป็นอะไร geopolitical risk เป็นอย่างไร การมี Chat GPT จะส่งผลต่อธุรกิจอย่างไร
    3. บอร์ดและความหลากหลายของบอร์ดเป็นแค่จุดเริ่ม แต่ถึงจะเชิญบอร์ดที่หลากหลายและครบที่สุดในปีนี้ เวลานี้ แต่อีก 2 ปี ความหลากหลายนั้นจะไม่พอดีกับธุรกิจแล้ว เพราะธุรกิจเปลี่ยนเร็วมาก สิ่งที่ต้องทำ คือ อัพเกรดความรู้ของกรรมการปัจจุบัน ความหลากหลายจึงเป็นแค่จุดเริ่ม แต่ต้องให้กรรมการเข้าใจว่า อะไรคือความท้าทาย ฉะนั้น อาวุธที่ดีที่สุดของบอร์ด คือการตั้งคำถามที่ดี เพื่อให้ฝ่ายจัดการไปคิด ถ้าบอร์ดไม่เข้าใจว่า ความท้าทายคืออะไร เขาจะตั้งคำถามไม่ได้
    4. ในไทย ผู้บริหารระดับสูงไม่ค่อยไปเป็นบอร์ดที่อื่น เพราะเจ้าของกิจการจะบอกว่าไม่ได้ ขอให้ใช้เวลาให้คุ้มกับการเป็นผู้บริหารในบริษัท ขณะที่ในสหรัฐ แม้แต่กรรมการอิสระก็จะเป็นผู้บริหารจากที่อื่น เวลาฝ่ายจัดการพูดอะไร กรรมการจะรู้กระบวนการและปัญหาที่จะเกิดขึ้น จึงอยากให้กรรมการอิสระที่อยู่ในแต่ละบริษัท เป็นผู้บริหารมาก่อน หรือยังเป็นผู้บริหารอยู่ จะช่วยได้ และท่านจะเป็นกรรมการผู้บริหารที่ดีขึ้นเวลากลับไปที่เดิม เพราะรู้ว่า กรรมการต้องการจะถามอะไร

สุดท้าย คือ หายาก เพราะถ้าไม่ใช่บริษัทจดทะเบียน ใน SET50 หรือ SET100 จะหากรรมการยากขึ้น จะมีคนโทรมา IOD ตลอด อยากหากรรมการ

IOD จึงจัดทำ Director pool หรือ Director Directory โดยมีรายชือประมาณ 606 คน ที่จบหลักสูตร DCP ซึ่งเป็นหลักสูตรหลักของ IOD เชื่อว่าจะสามารถเข้ามาค้นรายชื่อกรรมการในแต่ละธุรกิจได้ เพราะปัจจุบันการหากรรมการ เช่น กรรมการเทคโนโลยี จะไม่ได้พูดคำว่า เทคโนโลยี แต่จะพูดคำว่า digital marketing หรือคำว่า IT Security ผู้ที่จะอยู่ใน Director Pool จึงต้องกรอกรายละเอียดที่ละเอียดขึ้น

โดยใน Director Pool จะพบว่า เป็นผู้มีประสบการณ์ 2-10 ปี เป็นสัดส่วนเพศหญิง 28% มีความเชี่ยวชาญจากการเป็นบอร์ดด้านไหน เช่น risk management หรือไฟแนนซ์ เป็นต้น โดยเดือนเมษายนนี้จะสามารถเข้าไปค้นในหน้าเว็บไซต์ได้

“นอกจากนี้ กรรมการครบองค์ไม่พอ ต้องครบเครื่องด้วย คำว่าครบเครื่องเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น เวลากรรมการประชุมกัน ทุกคนได้แสดงความเห็นจริงหรือเปล่า ทุกคนแคร์หรือเปล่าว่าประเด็นนี้ปล่อยไปไม่ได้ หรือทำการบ้านมาก่อนหรือเปล่า นี่คือครบเครือง เป็นเรื่องของพฤติกรรม ถ้าครบองค์เป็นเรื่อง diversity คำว่า ครบเครื่อง คือ inclusivity”