ThaiPublica > เกาะกระแส > อินเดียมีประชากรมากกว่าจีนแล้ว แต่เศรษฐกิจจะล้ำหน้าจีนได้หรือไม่

อินเดียมีประชากรมากกว่าจีนแล้ว แต่เศรษฐกิจจะล้ำหน้าจีนได้หรือไม่

21 เมษายน 2023


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

นายนเรนทรา ดาโมดาร์ดาส โมที (Narendra Damodardas Modi) นายกรัฐมนตรี ประเทศอินเดีย ที่มาภาพ : https://twitter.com/narendramodi/status/1647451387515781121/photo/1

รายงานล่าสุดของสหประชาชาติชื่อ World Population Report เปิดเผยว่า ในกลางปี 2023 อินเดียจะมีประชากรมากกว่าจีน 3 ล้านคน โดยอินเดียจะมีประชากรทั้งหมด 1.428 พันล้านคน ส่วนจีนจะมีประชากร 1.425 พันล้านคน การก้าวขึ้นเป็นประเทศผู้นำโลกด้านจำนวนประชากร สร้างความตื่นเต้นในอินเดีย เพราะเป็นการยืนยันความเป็นผู้นำโลกของอินเดียในด้านหนึ่ง

ก่อนหน้านี้ ผู้นำอินเดียมักจะประกาศชื่นชมลักษณะพิเศษของอินเดียในด้านต่างๆ เช่น การเป็นประเทศประชาธิปไตยใหญ่ที่สุดของโลก เศรษฐกิจอินเดียเพิ่งจะมีขนาดใหญ่กว่าเศรษฐกิจอังกฤษ อดีตจ้าวอาณานิคมของอินเดีย ทำให้อินเดียกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 5 ของโลก การเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดของผู้นำกลุ่ม G-20 ในปีนี้ ทำให้บทบาทของอินเดียก้าวขึ้นมาสู่เวทีโลก

ดอกผลจากประชากร

บทความของ nytimes.com ชื่อ India Is Passing China in Population กล่าวว่า ประชากรที่เกิน 1.4 พันล้านคน มีนัยยะในเรื่องอำนาจทางภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่อินเดียแสวงหา การเติบโตหมายถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นมาจาก “ดอกผลจากประชากร” อินเดียมีประชากรในวัยทำงานที่ยังหนุ่มสาว และมีจำนวนขยายตัวมากขึ้น ในขณะที่ประเทศอุตสาหกรรม รวมทั้งจีน ประชากรวัยทำงานอยู่ในช่วงสูงวัยเพิ่มขึ้น และจีนเองก็เริ่มมีจำนวนลดน้อยลง
Poonam Muttreja ผู้บริหารมูลนิธิ Population ของอินเดียกล่าวว่า…

“ประชาชนในวัยหนุ่มมีศักยภาพมากที่สุด ที่จะเสริมสร้างเศรษฐกิจ แต่ผู้คนเหล่านี้จะทำสิ่งนี้ได้ ประเทศจะต้องมีการลงทุน ไม่เพียงในด้านการศึกษา แต่ยังรวมถึงสาธารณสุข โภชนาการ และทักษะสำหรับการทำงานด้วย”

ไม่เพียงเท่านี้ อินเดียยังจำเป็นต้องมีการ “การสร้างงาน” ขึ้นมาเป็นจำนวนมากอีกด้วย ในอดีตที่ผ่านมา เศรษฐกิจอินเดียมีลักษณะส่วนยอดหนักแต่ฐานรากเบา และเศรษฐกิจลักษณะเหมือนสภาพการจราจรติดขัด จากปัจจุบันจนถึงปี 2030 อินเดียจะต้องสร้างงานขึ้นมาถึง 90 ล้านงาน เพื่อให้อัตราการมีงานทำ ที่อยู่นอกภาคเกษตร เพิ่มขึ้นอย่างมั่นคง

หนังสือชื่อ India Is Broken (2023) เขียนไว้ว่า ในปี 2019 คนหนุ่มสาวในอินเดียจำนวน 12.5 ล้านคน ที่ล้วนเพิ่งจบจากมหาวิทยาลัย สมัครงาน 35,000 ตำแหน่งของการรถไฟอินเดีย หมายความว่าคนหนึ่งคนที่ได้รับการบรรจุให้เข้าทำงาน อีก 350 คนจะถูกปฏิเสธ สิ่งนี้สะท้อนความจริงที่ว่า ในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า การที่ประชากรวัยทำงานของอินเดียจะมีงานทำกันทุกคน เศรษฐกิจต้องสร้างงานขึ้นมาทั้งหมด 200 ล้านงาน

ที่มาภาพ : amazon.com

หนทางการพัฒนาของอินเดีย

สภาพการจ้างงานที่ไม่สดใสดังกล่าว ทำให้นักวิเคราะห์และบรรดาผู้นำอินเดีย ฝากความหวังไว้กับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่มีอัตราสูงในช่วงทศวรรษ 1990 และ 2000 จากบทเรียนของจีน การเติบโตที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ คือการผลิตที่ขับเคลื่อนด้วยการส่งออก แบบเดียวกับประเทศในเอเชียตะวันออก อินเดียต้องสามารถที่จะเลียนแบบยุทธศาสตร์ดังกล่าว หรือไม่ก็สร้างหนทางการพัฒนาของตัวเองขึ้นมา ที่จะนำมาใช้บรรลุเป้าหมาย มากกว่านโยบายเติบโตแบบทีละเล็กละน้อย

ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานของอินเดีย แม้จะได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น แต่ยังล้าหลังจีน อีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญคือ สตรีอินเดียเพียง 1 ใน 5 ที่เป็นแรงงานในระบบแบบแผน ถือเป็นอัตราต่ำสุดในประเทศต่างๆ และเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนช้า การที่อินเดียจะเก็บเกี่ยวดอกผลจากประชากรได้เต็มที่ สตรีอินเดียจะต้องเข้าถึงเครื่องมือการดำรงชีวิตต่างๆมากขึ้น ทั้งการศึกษา การมีงานทำ หรือการเข้าถึงระบบดิจิทัล

ในบรรดาประเทศเศรษฐกิจสำคัญ อินเดียจะเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตมากที่สุด ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า ปี 2023 อินเดียจะเติบโตที่ 6.3% การลงทุนของรัฐมากขึ้น ทำให้โครงสร้างพื้นฐานได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น คนชั้นกลางของอินเดียมีความสามารถด้านธุรกิจสตาร์ทอัพ มีความชำนาญด้านเทคโนโลยี และระบบโครงส้างพื้นฐานดิจิทัลสาธารณะ ช่วยยกฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนระดับล่าง

ที่มาภาพ : https://twitter.com/narendramodi/status/1647451387515781121/photo/4

โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล

ในบทความชื่อ What the world can learn from the India Stack ของ strategy-business.com กล่าวว่า ในทุกเช้า เมื่อร้านค้าปลีกในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ที่ห่างไกลของอินเดียเปิดร้านขึ้นมา สิ่งนี้ไม่ใช่การค้าขายแบบปกติเหมือนที่ผ่านมาอีกแล้ว แต่เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจในช่วงการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของอินเดีย อาศัยโทรศัพท์มือถือ สตรีเจ้าของร้านช่วยคนในหมู่บ้าน ในการตรวจสอบเงินในบัญชีธนาคาร ถอนเงินสด จ่ายค่าสาธารณูปโภค หรือชำระเงินจากซื้อสินค้าออนไลน์

อินเดียได้สร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเรื่อง บัตรประชาชนและการชำระเงินแบบดิจิทัล ที่เรียกว่า India Stack โครงสร้างพื้นฐานนี้กลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเหมือนกับถนน สะพาน หรือท่าเรือ มีการออกบัตรประชาชนดิจิทัลแล้ว 1.2 ล้านคน เดือนมีนาคม 2021 มีการชำระเงินผ่านแอปของ National Payment Corporation of India (NPCI) 3.6 พันล้านครั้ง มูลค่า 88 พันล้านดอลลาร์ ธุรกรรมการเงินมีมูลค่าเฉลี่ย 26 ดอลลาร์ต่อครั้ง สะท้อนการทำธุรกรรมการทำธุรกิจแบบวันต่อวัน

นอกจากนี้ อินเดียยังอาศัยโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล มาเป็นเครื่องมือมุ่งสู่ “การเติบโตที่ทุกคนมีส่วนร่วมทางการเงิน” (financial inclusive growth) ในปี 2011 ประชากรผู้ใหญ่ของอินเดียมีบัญชีธนาคาร 35% ปัจจุบันอยู่ที่เกือบ 100% ทำให้โครงการช่วยเหลือของรัฐ สามารถโอนเงินโดยตรงให้กับผู้รับอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ แก้ปัญหาความล่าช้าและการฉ้อฉลของระบบราชการ ช่วยประหยัดเงินถึง 20 พันล้านดอลลาร์ จากกรณีผู้รับประโยชน์ปลอมและซ้ำซ้อน

โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของอินเดีย ที่ออกแบบเป็นระบบสาธารณะที่เปิดกว้าง (open-access public good) สร้างแรงจูงใจให้เกิดนวัตกรรมทางการเงิน ธุรกิจต่าง ๆ ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับธุรกรรมการเงิน ที่เกิดขึ้นจากระบบการชำระเงินดิจิทัลของรัฐ การซื้อสินค้าหรือบริการที่เป็นเงินก้อนจำนวนมาก เช่น ค่ากรมธรรม์ประกันชีวิต ลูกค้าสามารถแบ่งชำระออกเป็นงวด ๆ

ความสำเร็จของระบบการชำระเงินที่เป็นแบบเปิดของอินเดีย ที่สร้างระบบการชำระเงินให้เป็น “สาธารณูปโภค” อย่างหนึ่ง ทำให้ Google เขียนจดหมายเสนอธนาคารกลางสหรัฐฯ ให้ใช้โมเดลของอินเดีย ในการสร้างระบบการชำระเงินในอเมริกา ที่อาจเรียกว่า FedNow

ที่ผ่านมา การนิยมใช้เงินสดเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบการชำระเงินแบบดิจิทัล การมีเศรษฐกิจนอกระบบที่ใหญ่โต และวัฒนธรรมการเลี่ยงภาษี ทำให้การพัฒนาสู่การชำระเงินแบบดิจิทัลของอินเดีย มีปัญหายากลำบาก ดังนั้น คนจะหันมานิยมระบบดิจิทัลก็ต่อเมื่อให้ความสะดวก มีบริการที่สร้างมูลค่าเพิ่มที่กว้างขวาง และการทำธุรกรรมมีต้นทุนเป็นศูนย์

ที่มาภาพ : hindustantimes.com

เปรียบเทียบอินเดียกับจีน

บทความของ nytimes.com ยังเปรียบเทียบเส้นทางการพัฒนาอินเดียกับจีนว่า ในอดีต สองประเทศเคยเป็นประเทศยากจนที่สุด เมื่อปี 1990 รายได้ต่อคนก็พอๆกัน แต่นับจากนั้นมา จีนสามารถสร้างความมั่งคั่งอย่างรวดเร็วกว่าประเทศใดในประวัติศาสตร์ ส่วนอินเดียหันมาใช้นโยบายเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ แต่ยังล้าหลังจีนในหลายด้าน

ปัจจุบัน เศรษฐกิจจีนมีขนาด 5 เท่าของเศรษฐกิจอินเดีย ประชาชนคนจีนหนึ่งคนโดยเฉลี่ย สร้างผลผลิตทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่า 13,000 ดอลลาร์ ส่วนคนอินเดียหนึ่งคนสร้างผลลิตน้อยกว่า 2,500 ดอลลาร์

นักวิเคราะห์มองว่า ความแตกต่างอยู่ที่ จีนมีระบบการรวมศูนย์อำนาจ จีนดำเนินนโยบายเปิดเสรีทางเศรษฐกิจก่อนในต้นทศวรรษ 1980 ทุ่มเทให้กับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่นำโดยการส่งออก จีนจึงอาศัยประโยชน์จากความได้เปรียบ ในฐานะประเทศที่เป็นฝ่ายเริ่มต้นก่อน

ส่วนอินเดียใช้นโยบายเปิดเสรีทางเศรษฐกิจในอีก 10 ปีต่อมา จากเดิมที่เศรษฐกิจเป็นแบบกึ่งสังคมนิยม การดำเนินนโยบายเพื่อเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของอินเดีย ยังเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป มีข้อจำกัดทางการเมืองของรัฐบาลผสมหลายพรรค และข้อจำกัดที่มาจากความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ ระหว่างนักอุตสาหกรรม สหภาพแรงงาน เกษตรกร และคนกลุ่มอื่นๆในสังคม

ตลาดดอกไม้ บังกาลอร์ ที่มาภาพ : https://www.tripadvisor.com/

แต่นักวิเคราะห์เห็นว่า การที่อินเดียจะมั่งคั่งแบบจีน อินเดียจำเป็นต้องเปลี่ยนโมเดลการพัฒนาอย่างสิ้นเชิง หนทางหนึ่งคือทำทุกอย่างที่จะทำให้อินเดียกลายเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเบาของโลก หรืออีกหนทางหนึ่งคือ สร้างแนวทางการพัฒนา ที่ไม่มีประเทศไหนเคยพยายามใช้มาก่อน

Shyam Saran อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศอินเดีย ให้สัมภาษณ์ nytimes.com โดยมองเห็นโอกาสของอินเดียอยู่ที่ว่า “จีนใช้ประโยชน์จากโอกาสทางภูมิรัฐศาสตร์ เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเอง โดยการเข้าถึงเทคโนโลยี เงินทุน และตลาด ที่นำโดยสหรัฐฯ จีนใช้ประโยชน์ดังกล่าว เพื่อสร้างตัวเองขึ้นมา สิ่งเดียวกันนี้ อาจเป็นโอกาสของอินเดีย”

เอกสารประกอบ
India Is Passing China in Population. Can Its Economy Ever Do the Same? nytimes.com, April 19, 2023.
What the world can learn from the India Stack, strategy-business.com, December 6, 2021.
India Is Broken, Ashoka Mody, Stanford University Press, 2023.