ThaiPublica > คนในข่าว > “ผยง ศรีวณิช” กับ Journey สู่ Open Economy มุ่งสร้างคุณค่าและยั่งยืนของกรุงไทย

“ผยง ศรีวณิช” กับ Journey สู่ Open Economy มุ่งสร้างคุณค่าและยั่งยืนของกรุงไทย

5 เมษายน 2023


ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ แถลง CEO Vision : Business Strategy 2023

ธนาคารกรุงไทย ในฐานะธนาคารพาณิชย์และเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีรัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้เตรียมความพร้อมเพื่อก้าวสู่ digital economy มาเป็นลำดับ ด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์การให้บริการทางการเงินและยุทธศาสตร์ดิจิทัลที่วางไว้อย่างต่อเนื่อง พร้อมมุ่งเน้นการเชื่อมโยง 5 ecosystems ของธนาคาร ได้แก่ ระบบนิเวศของการชำระเงิน ระบบนิเวศน์ของกลุ่มหน่วยงานภาครัฐ, ระบบนิเวศของสุขภาพการรักษาพยาบาล, ระบบนิเวศน์ของการศึกษามหาวิทยาลัย และระบบขนส่งมวลชน รวมทั้งลดต้นทุนการดำเนินการและสร้างรายได้ให้กับธนาคารได้อย่างยั่งยืน

‘ผยง ศรีวณิช’ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ได้แถลง CEO Vision : Business Strategy 2023 ที่จะนำกรุงไทยเข้าสู่ Landscape ใหม่ทางการเงินด้วย 7 ยุทธศาสตร์ ของแผนงาน 5 ปี ระหว่างปี 2566-2570 เพื่อเร่งขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ภายใต้แนวคิด “มุ่งสร้างคุณค่า สู่ความยั่งยืน” เพื่อให้องค์กรเติบโตอย่างมั่นคง ตอบโจทย์ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มอย่างครอบคลุม ทั่วถึง แบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ระหว่างนำคณะสื่อมวลชนศึกษาดูงานเทคโนโลยีดิจิทัลและ e-Governance ในสาธารณรัฐเอสโตเนีย

“เอสโตเนียเจอสภาพแวดล้อมบังคับที่ทำให้ต้องหาเทคโนโลยีที่เป็นเครื่องมือ ที่จะทำให้ประเทศแข็งแรงได้ จากการที่เรามาดูงานที่เอสโตเนียกลับไปแล้วคงจะ revisit ว่าแล้วประเทศไทยของเราจะทำอะไรได้บ้าง ซึ่งในมุมมองของผมและทีมงานก็ไม่ได้หนีไปจากเทรนด์ที่เห็นที่ไทย เพียงแต่ในประเทศไทยเกิดขึ้นจากอีกมิติหนึ่ง ประเทศไทยก็มีบริบทของประเทศไทย เนื่องจากพัฒนาการของเราต่างจากประเทศเอสโตเนีย แต่ทั้งหมดคือเรื่องเดียวกันที่จะตอบโจทย์การบูรณาการ vertical integration และ horizontal expansion ซึ่งเราต้องมาดูกัน”

“จากการที่กรุงไทยดูนวัตกรรม ทิศทางดิจิทัลของโลก กับความที่เป็นตัวตนของกรุงไทย ซึ่งมีวิสัยทัศน์ว่า “กรุงไทยเคียงข้างไทย สู่ความยั่งยืน” การดำรงคงอยู่ของกรุงไทย เราจะทำตัวให้มีคุณค่าต่อสังคมที่กรุงไทยอยู่คือ “To empower better life for all Thais” การทำให้ชีวิตคนไทย ชีวิตธุรกิจไทยนั้นดีขึ้นทุกวันๆ เป็นสิ่งที่เรามองไว้ตั้งแต่หลายปีก่อน”

Journey บน Foundation ที่ต่อยอดได้

‘ผยง’ ย้อนกลับไปที่เส้นทางของกรุงไทย ตั้งแต่ปี 2018 ที่ชัดเจนว่ากรุงไทยเป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐ พร้อมย้ำว่า “กรุงไทยเป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐ ไม่ใช่ธนาคารรัฐ” เป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐภายใต้พ.ร.บ. เป็นบริษัทมหาชนที่มีผู้ถือหุ้นรายย่อยจดทะเบียน จึงมี obligations ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ถือหุ้นรายย่อยในฐานะบริษัทมหาชน แต่ในขณะเดียวก็มีรัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 55% โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ผ่านกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน นั่นคือความเป็นตัวตนของกรุงไทย

“หลายบริบทของกรุงไทยจะไม่ maximize profit แต่จะเน้น optimize profit สร้างมูลค่าเพิ่มและกำไรได้อย่างยั่งยืน ซึ่งนิยามของคำว่ายั่งยืนคือ เราต้องมองบริบทของ stakeholders คือ รัฐในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ กับประชาชน ที่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ก็จะเห็นบริบทภารกิจของธนาคารกรุงไทย ว่าเราดูแลสังคม เราได้เป็นกลไกในการสนับสนุนภารกิจของรัฐบาลซึ่งเป็นพันธมิตรหลักของกรุงไทยในการดูแลลูกค้าของรัฐบาล ซึ่งคือประชาชนไทย ภาคธุรกิจไทย ผู้ประกอบการไทย

การประกาศ Invisible Banking ในวันนั้น วันนี้ทุกคนก็เห็นแล้วว่าคืออะไร ที่เราบอกว่าเราเน้น X2G2X คือเราเข้าใจโมเดลธุรกิจว่าโลกเข้าสู่ open economy ก็คือ connected economy, digital economy, platfrom economy และวันนี้ได้ยินคำใหม่ real-time economy, e-government วันนี้มาที่เอสโตเนีย ได้ยินว่า government เป็น core enabler ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่กรุงไทยขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี 2020 กรุงไทยในฐานะธนาคารพาณิชย์ของรัฐ เมื่อดึงตัว G ออกมา ตัว G เป็นแกนกลางของระบบนิเวศที่จะเชื่อมโยงกลับไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ X ซึ่งจะเป็น C หรือ B ก็ได้ที่จะตอบโจทย์

การขับเคลื่อนองค์กรของกรุงไทยปี 2021 เจอการระบาดของโควิด เศรษฐกิจที่ชะลอตัว รวมทั้งดิจิทัล ดิสรัปชั่น ที่บอกกันว่าเป็น industrial revolution 4.0 เพราะฉะนั้นการ execute ผ่านช่วงเวลาความท้าทายนั้น ความยืดหยุ่นหรือ resiliency ขององค์กร มีความสำคัญมาก จึงต้องแยกองค์กรเดินหน้าแบบคู่ขนาน โดยมีบริษัท อินฟินิธัส บาย กรุงไทย จำกัด (Infinitas by Krungthai) เป็นเรือเร็วออกหาโอกาสดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่ด้านดิจิทัล ส่วนธนาคารกรุงไทยดำเนินธุรกิจแบบดั้งเดิม เช่น การดูแลธุรกิจคุณภาพสินเชื่อ การเร่งปรับกระบวนการทำงานโดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในการให้บริการ

แต่ในปี 2022 ความท้าทายนั่นยังคงอยู่ ยิ่งส่งผลให้กรุงไทยต้องเร่งการเปลี่ยนแปลง และเกิดจากการที่มี techonology adoption ซึ่งกรุงไทยได้ลงทุนไปในจำนวนพอสมควร

“สิ่งที่กรุงไทยเดินมาถึงวันนี้ ถือว่าเป็น journey”

สำหรับภารกิจในด้านธรรมาภิบาล ได้เร่งสร้างวัฒนธรรมที่ไม่ทนทานต่อการทุจริต zero tolerance ได้เน้นถึงธรรมาภิบาล การสร้าง 3 lines of defense เพื่อให้เกิดกลไกในด้านการตรวจสอบตรวจเช็ค สามารถสร้างความมั่นใจให้กับสาธารณชน Foundation นี้ ที่ทำให้สบายใจกับธนาคารกรุงไทยมากขึ้น การที่สามารถเป็นองค์กรต้นแบบ และเป็นองค์กรที่บูรณาการต่อยอดได้

First Mover เดินหน้าสู่ภูมิทัศน์ทางการเงินใหม่

‘ผยง’ ประกาศว่า ทิศทางการดำเนินธุรกิจธนาคารกรุงไทยในระยะต่อไป อยู่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ทางการเงินใหม่ ที่เปิดกว้างใน 3 ด้านคือ

1.Open Infrastructure การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับทั้งผู้เล่นใหม่ และผู้เล่นปัจจุบัน เพื่อให้เกิดการแข่งขันและต่อยอดในเชิงนวัตกรรม

2.Open Data ส่งเสริมให้เกิดการแบ่งปันข้อมูล เช่น การสนับสนุนให้มีธนาคารไร้สาขา หรือ Virtual Bank เป็นต้น

3.Open Competition ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายที่สุด จากการแข่งขันที่เปิดกว้างจากผู้เล่นใหม่ เส้นแบ่งการแข่งขันระหว่างธนาคารและสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-Bank) ที่แยกกันไม่ออก

ในช่วง 4-5 ปีที่แล้วกรุงไทยเน้นมาตลอดว่าจะอยู่ในระบบนิเวศ เพราะตระหนักว่าโลกกำลังมุ่งสู่ open economy, open platform แล้วกิจกรรม banking จะกลายเป็นซ่อนอยู่ในกิจกรรมเหล่านี้ จึงกลับไปมุ่งเน้นปัจจัย 4 ซึ่งเห็นว่าระบบแบงกิ้งคือ ระบบเพย์เม้นท์ เพย์เม้นท์ของประเทศไทยต่างจากประเทศอื่น มีค่าธรรม เนียมสูงมาก ในสหรัฐอเมริกาก็แตกต่าง แต่เป็น fundamental ecosystem ที่ธนาคารต้องอยู่

นอกจากนี้ในแง่ลูกค้ากรุงไทยก็ต้องเชื่อมต่อกับระบบนิเวศของการศึกษาเพื่อหา generation ใหม่ เข้ามาเป็นลูกค้าเพราะปัจจุบันเกิด gerneration shift รวมไปถึงการเชื่อมต่อด้านเฮลธ์ แคร์ การดูแลสุขภาพด้วย และที่สำคัญสังคมเมือง mobility มีความสำคัญ นั่นคือการตัดสินใจของกรุงไทยในตอนนั้น ที่จะไปสู่ 5 ระบบนิเวศ

“เรา connect the dot บน 5 ระบบนิเวศของประเทศไทย และขับเคลื่อน resilience organization ด้วย 2-banking model คือวัตถุประสงค์ของการขับเคลื่อนองค์กรที่ resilience ทั้งหมดนี้เป็น new journey ที่เราเห็น direction และให้ความสำคัญกับ innovation”

“ทั้งหมดเราให้ความสำคัญกับ digital กับ data เรารื้อวิธีการทำธุรกิจแบงก์ เราลองผิดลองถูก fail fast แต่เรา learn faster สิ่งที่เราทำเราต้องเป็น first mover ในเรื่องที่เราทำ ที่สุดมันก็จะ open อย่าไปคิดว่าจะมีอะไรที่ exclusive เป็นระบบปิดตลอดไป และต้อง maximize synergy across the group ที่สำคัญที่สุดในการต่อยอดกับ ecosystem คือ ต้องมีพันธมิตรใน open economy”

‘ผยง’กล่าวว่า อินฟินิธัสที่กรุงไทยตั้งขึ้นมามีเป้าหมายคือคือสร้าง digital infrastructure สร้าง new business platform นี่คือโรดแมปที่เราวางไว้ในการสร้างเรือเร็วที่จะบุก และที่สำคัญที่สุดคืออยู่บน open ecosystem ด้วยพันธมิตรที่เข้ามาร่วม

กิจกรรมทั้งหมดบน digital next generation economy เป็นสิ่งที่ Invisible ไม่ต้องมีขอบข่ายของประเทศ Global citizen, Global connectivity ที่สำคัญคือ real-time โลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก อย่างไรก็ตามต้องตอบโจทย์ human behavior และเราเชื่อว่าการขับเคลื่อน open platform ก็ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย

สิ่งที่กรุงไทยได้พัฒนา ในการเชื่อมต่อกับรัฐบาล รัฐบาลได้ให้ถุงเงินซึ่งเป็น digital wallet แก่ประชากรกว่า 40 ล้านคน กรุงไทยใช้ดิจิทัลเชื่อมการเข้าถึงประชาชนที่ปกติเป็นกลุ่ม underserve โครงการต่างๆก็ขับเคลื่อนผ่านดิจิทัลวอลเล็ต (digital wallet)

“แพลตฟอร์มที่เกิดขึ้นในระบบที่กรุงไทยพัฒนาร่วมกับพันธมิตรในช่วงวิฤติมีเงินหมุนเวียนในระบบ 6 แสนล้านบาทและสามารถตอบโจทย์คน 40 ล้านคนที่เข้าถึงได้ทุกระดับ”

ส่วน health wallet ที่มีสปสช. เป็นผู้ชำระบัญชีสวัสดิการ 30 บาทรักษาทุกโรคและสำนักงานประกันสังคม ก็อยู่ในแพลตฟอร์มเป๋าตัง

“Journey ที่เราทำทั้งหมดจะเป็นว่ากรุงไทยเป็น Cash Managment Bank ให้กับกระทรวงการคลัง เห็นได้จากบัตรสวัสดิการทั้งหลาย เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บัตรสวัสดิการรถเมล์ ซึ่งทั้งหมดในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมี 20 wallet ให้กับประชาชน จากนั้นกรุงไทยได้วางระบบ digital payment ผ่านเครื่อง EDC ทุกตำบลทั่วประเทศ”

กรุงไทยใช้สาขาทั่วประเทศร่วมกับธนาคารรัฐและกรมการปกครองในการไป on board คนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลกลุ่ม underserved เพื่อให้สามารถเปลี่ยนบัตรประชาชนเป็นแบบ chip card และสามารถใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้ ซึ่งสวัสดิการแห่งรัฐรุ่นล่าสุดไม่ต้องใช้บัตรแล้วเพียงแต่ใช้บัตรประชาชน

นอกจากนี้ยังได้พัฒนา Money Connect บริการจองซื้อหลักทรัพย์ออนไลน์ รองรับการลงทุนและได้ใช้สำหรับการจองซื้อกองทุนอินฟราฟันด์เป็นระบบแรกของประเทศ มีการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนออกบาทบอนด์ พันธบัตรรัฐบาล ตลอดจนยังทำระบบปิดระบบเปิดควบคู่กัน เช่น แพลตฟอร์มเป๋าตังที่ซื้อขายทองคำได้ ซื้อหุ้นกู้บริษัทเอกชนได้

“จะเห็นว่าทุกผลิตภัณฑ์ที่เราออกมาจะตอบโจทย์ทำให้คนไทยมีชีวิตที่ดีขึ้นในมิติใดมิติหนึ่ง เราเน้นการเข้าถึง ครอบคลุม ลดความเหลื่อมล้ำในกระบวนการ จากการที่เราเป็น Cash Management Bank ที่มุ่งเน้นในทิศทางดิจิทัล”

‘ผยง’กล่าวว่า ในปี 2018 กรุงไทยมี KTB Net Bank ขณะที่ธนาคารอื่นได้ให้บริการไมบายล์แบงกิ้งแล้ว จึงเป็นแรงกดดันให้กรุงไทยทำให้ดีขึ้น เป็นแรงกดดันสร้าง exponential learning curve ให้กับองค์กร และเป็นที่มาของการเปิดตัว Krungthai Next จากนั้นธนาคารได้ทำระบบเปิดคู่ขนานมาต่อเนื่อง เพราะเชื่อว่าระบบเปิดกับระบบปิดในที่สุดจะเชื่อมกัน ไม่สามารถบอกได้ว่าเมื่อไร แต่ evolution เกิดได้เรื่อยๆ

ด้านการทำธุรกิจแบงก์ของกรุงไทยในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการปล่อยกู้ SME ถึง 17% ของสินเชื่อรวม แต่ได้ปรับการบริหารจัดการและพอร์ตสินเชื่อให้มีความสมดุลมากขึ้นก่อนการระบาดของโควิด-19 เพราะมีหนี้เสียกับ SME มาก สัดส่วนสินเชื่อ SME จึงมีเพียง 12% แต่กรุงไทยมีโอกาสกลับไปเติบโตในสินเชื่อ SME ได้

ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL ลดลงจาก 3.6% มาที่ 3.3% ของสินเชื่อรวม ด้วยการลดหนี้เสีย ขายหนี้เสีย และพยายามเร่งแก้ไขหนี้ให้เป็นหนี้ดี หรือเปลี่ยนทั้งหมดให้เป็นสินทรัพย์สภาพคล่อง(liquid asset) ส่งผลให้ปัจจุบันการได้รับเงินคืนจากหนี้(loan revovery) มีระยะเวลาสั้นลงเป็น 7 ปีจากเดิมโดยเฉลี่ยใช้เวลา 15 ปี ส่วนการตั้งสำรองหนี้ของกรุงไทยอยู่ที่กว่า 170%

สิ่งที่ต้องระวังคือการเร่งลงทุนไอที หมายถึงทุกปีจะมีการลงทุนที่สูงขึ้น เพราะฉะนั้นจะต้องดูให้สอดประสานกันระหว่างการเติบโตของรายได้กับการเติบโตของต้นทุนทุกปี ไม่ใช่ต้นทุนสูงกว่ารายได้ เพื่อที่จะรักษา cost to income ratio ให้ทรงตัวและลดต่ำลงต่อเนื่อง

ด้าน ESG ‘ผยง’กล่าวว่า ถือว่า ธนาคารทำได้ดี ในเรื่องตัว G governance บรรษัทภิบาล และทำได้ดีในเรื่องสังคม Social การเข้าถึงบริการทางการเงิน inclusive growth แต่ในด้านสิ่งแวดล้อมยังมีช่องว่างอยู่บ้าง โดยเฉพาะในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้นต่อไปนี้จะเน้นมากขึ้นในตัว E Environment เรื่องสภาพภูมิอากาศ

ส่วนการขับเคลื่อน Open Banking ที่ต่อเนื่องมา 4-5 ปีนั้น ‘ผยง’กล่าวว่า ระดับการ open banking มีความแตกต่างกัน แต่กรุงไทยได้มีการ open แล้วในหลายด้าน เช่น open architecture ในการขายกองทุน จากเดิมที่ผ่าน Krungthai Next ขายเฉพาะบลจ.กรุงไทย แต่ปัจจุบันขายกองทุนของทุกบลจ. ที่คัดเลือกมา

“เพราะฉะนั้นการบอกว่าเป็น Open banking มีมิติของความพร้อมในเชิงโครงสร้างพื้นฐาน ความพร้อมในผลิตภัณฑ์และความเหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในขณะนั้น ซึ่งกรุงไทยเปิดมาตามบริบท ดังเห็นได้จาก กรุงไทยเป็นแพลตฟอร์มแรกที่เทรดทองคำได้ กรุงไทยเป็นแพลตฟอร์มเดียวที่จองบาทบอนด์ได้ในมูลค่าแสนล้านบาท ซื้อพันธบัตรก็สามารถซื้อขายได้ตลอด 24 ชั่วโมงและไม่มีวันหยุด ถือว่าคืบหน้าไปพอสมควร เป็น open ที่เราเข้ามาแล้ว”

จากยุทธศาสตร์ที่ได้เดินมา ส่งผลให้ธนาคารเติบโตได้ถึง 40 ล้านคนบน open platform ส่วนระบบปิดมีกว่า 16 ล้านคน ต่ำกว่าระบบเปิด และมีผู้ประกอบการใช้ถุงเงินถึง 1.7 ล้านราย

นอกจากนี้ยังมีแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์ธุรกิจรายใหญ่ แพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์นักลงทุน ทำให้มีเสถียรภาพในการเติบโต มีต้นทุนที่เหมาะสม สินทรัพย์มีคุณภาพที่เทียบเคียงได้ มีกระบวนการบริหารความเสี่ยงที่จะตอบโจทย์ higher risk ที่จะเข้าไป take อย่างมีประสิทธิภาพ

ประกาศ 7 ยุทธศาสตร์ตอบโจทย์ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม

‘ผยง’กล่าวว่า ดิสรัปชั่นมีอย่างต่อเนื่อง และยังมีสิ่งที่ต้องเผชิญในปี 2566 ทั้งเรื่องสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ โลกมีการแบ่งขั้วระหว่างขั้วจีนกับขั้วสหรัฐ หมายถึงว่า ซัพพลายเชนจะถูก split เทคโนโลยีจะมีสองขั้ว ประเทศไทยต้องรักษาทั้งสองฝั่งให้สมดุล ส่วน generation shift ต้องเปลี่ยนผ่านให้ได้ เพราะเริ่มเห็น generation shift เริ่มสร้างความผันแปรในทางการเมือง แต่การตอบโจทย์การใช้ชีวิต ความต้องการสินเชื่อในการสร้างครอบครัวของคนรุ่นใหม่จะเปลี่ยนไป เพราะฉะนั้น risk profile ในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารจะเปลี่ยนไป

นอกจากนี้ยังมีสถานการณ์ที่ไทยจะต้องเผชิญอีก ทั้งการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารประเทศหลัก เศรษฐกิจยุโรปยังมีความไม่แน่นอน ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่สูง ทั้งหมดเป็นความท้าทาย ขณะที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นความเสี่ยงอย่างมากของภาคธนาคาร และจะเป็นต้นทุนในการทำธุรกิจ และมีผลต่อเสถียรภาพของระบบการเงินของประเทศ

ในแง่โอกาสทางธุรกิจ ‘ผยง’ กล่าวว่า ธุรกิจ SME ยังคงเติบโตได้ไปถึงสัดส่วนราวกว่า 20% ของสินเชื่อทั้งหมด และโตกลับมาในระดับเดียวกับอุตสาหกรรม บนระบบบริหารความเสี่ยงที่สามารถบริหารจัดการกันความเสี่ยงที่มาจากภาคส่วนนี้ได้ ส่วนธุรกิจรายใหญ่จะมีสัดส่วน 38%

“อันนี้ถือว่าเป็น Macro Guiding Principle ที่เราวางโรดแมปไว้”

แต่ในโลกอนาคตทั้ง SME ธุรกิจรายใหญ่ รายย่อย ทั้งหมดถูกเชื่อมโยงโดย digital economy หมายถึงความท้าทายของระบบธนาคารพาณิชย์ ระบบแบงกิ้ง ที่กรุงไทยต้องปรับเปลี่ยนองค์กร เพื่อตอบโจทย์ digital economy เพราะสิ่งต่างๆเหล่านี้มาแน่

กฎเกณฑ์ต่างๆก็จะต้องปรับเปลี่ยน ธนาคารแห่งประเทศไทยเองได้ประกาศภูมิทัศน์ใหม่ของระบบการเงินที่มีทั้ง open competition, open infrastructure และ open data แปลว่ากรุงไทยจะมีคู่แข่งจากแบงก์ นอน-แบงก์ และจาก นอน-แบงก์ เราจะมี challenger bank แต่เป็นเมื่อไรเท่านั้นเอง

‘ผยง’ กล่าวว่า กรุงไทยจึงได้กำหนดแผนงาน 5 ปี ระหว่างปี 2566-2570 เพื่อเร่งขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ภายใต้แนวคิด “มุ่งสร้างคุณค่า สู่ความยั่งยืน” เพื่อให้องค์กรเติบโตอย่างมั่นคง ตอบโจทย์ผู้มีส่วนได้เสีย ทุกกลุ่มอย่างครอบคลุม ทั่วถึง แบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ภายใต้ 7 ยุทธศาสตร์หลัก

1.ปลดล็อคศักยภาพในการสร้างมูลค่าจากการทำธุรกิจกับคู่ค้าของลูกค้า (X2G2X) เร่งต่อยอดยุทธศาสตร์ X2G2X ให้เกิดการเชื่อมโยงในเชิงลึกในกลุ่มลูกค้าต่างๆ ทั้ง B2B B2C G2B และ G2C และมีแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์คู่ค้าของลูกค้า ทั้งการเร่งสร้าง Economic Value จากแอปฯ เป๋าตัง และถุงเงิน เสริมศักยภาพผู้ประกอบการ SME ให้แข็งแกร่ง ต่อยอดความร่วมมือที่ได้ลงทุนไปแล้วทั้งระบบ Smart Transit ตั๋วร่วม Smart Hospital และ Digital Business Platform เป็นต้น

“เราต้องต่อยอดจากสิ่งที่เราสร้างไว้แล้ว X2G2X เพราะเป็นการ conecting digital economy ทั้งการเข้าไปสู่ประชาชนฐานรากในโครงการร้านธงฟ้า หรือ การ connecting the dot in ecosystem ในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ที่เชื่อมโยงการท่องเที่ยว ไปยังโรงแรม ร้านอาหาร เป็น data connectivity”

2.ขับเคลื่อนประสิทธิภาพองค์กรด้วยดิจิทัลและข้อมูล เร่งนำข้อมูลและเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ ปรับปรุงกระบวนการทำงานให้เป็น Process Digitalization โดยนำระบบ RPA หรือ Robotic Process Automation และการใช้ AI เข้ามาใช้ในกระบวนการทำงานภายในของธนาคารมากขึ้น ทำให้การทำงานรวดเร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดการใช้กระดาษ (Paperless) นำไปสู่โครงสร้างการประเมินอัตรากำลังที่เหมาะสมในการให้บริการผ่านสาขา ผสมผสานการให้บริการออนไลน์สู่ออฟไลน์ได้เต็มศักยภาพ โดยช่องทางสาขาจะถูกปรับเป็นการให้บริการทางธุรกิจ และอยู่ระหว่างการทดสอบในพื้นที่ EEC

“เรายกระดับกระบวนการภายในของธนาคารเอง internal digitization เร่งลดการใช้กระดาษ ปฏิรูปกระบวนการบริหารจัดการข้อมูลที่ไม่ตอบโจทย์กฎหมาย PDPA ในขณะเดียวกันสร้าง competitive advantage ด้วยการเคารพข้อมูลส่วนบุคคลให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

‘ผยง’ กล่าวว่า ในอีกประมาณ 2-3 เดือน กรุงไทยจะเปิดตัวสาขารูปแบบใหม่ที่ปรับให้ทันสมัยที่จะใช้ระบบ e-solution ในสาขา เปลี่ยนกระบวนการบริการในสาขาให้ทันสมัย ตอบโจทย์และสามารถที่จะใช้ประสิทธิภาพของข้อมูลในการที่จะตอบสนองความต้องการของลูกค้าในการเดินเข้าไปใช้บริการที่สาขา

“ทั้งหมดเป็นการบริหารข้อมูลและใช้ทั้ง offline และ online service”

3.เปิดตัวแพลตฟอร์ม เพื่อสร้างการเติบโตในมิติใหม่ พัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างครบวงจร ทั้ง Virtual Banking ที่ธนาคารจะร่วมกับพันธมิตร เพื่อดำเนินการ และ Wealth-Tech เพื่อเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและบริการทางการเงินในทุกระดับชั้น ต่อยอดสร้างศักยภาพการออม เสริมสร้างความมั่งคั่งให้คนไทย

“เราจะสร้าง new roadmap ในเรื่อง wealth management เน้นไปที่ Wealth-Tech และจะยื่นขอ virtual banking ซึ่งเป็นการสร้าง new growth platform การปฏิรูปกรุงไทยก็ต้องทำ การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเร็ว เพระาฉะนั้นเชื่อว่าการตอบโจทย์ virtual banking ของกรุงไทยคู่ไปกับการมีพันธมิตรที่สร้างคุณค่าร่วมกันจะเป็นจุดที่สร้าง new growth engine ให้กับกรุงไทย”

4.สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างครอบคลุม เท่าเทียม และยั่งยืน ขับเคลื่อนธุรกิจตามแนวทาง ESG สนับสนุนประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม โปร่งใส ลดความเหลื่อมล้ำ ลดช่องว่างการกระจายรายได้ เชื่อมโยงกลุ่มลูกค้า SME กับ Digital Economy และเร่งปรับตัวเข้าสู่กลุ่มอุตสาหกรรม New S-Curve เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน

“เราจะเน้นความยั่งยืน sutainability การตอบโจทย์เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและทำในเรื่อง financial inclusion อย่างต่อเนื่อง ซึ่งกรุงไทย reach out และเข้าถึง และหวังว่ากลุ่มนี้จะค่อยๆเติบโตขึ้นมา และในที่สุดจะกลายเป็นลูกค้าที่มีคุณค่าให้กับธนาคารกรุงไทย”

5.พัฒนาและเสริมสร้างขีดความสามารถการทำงานแห่งอนาคต เร่งสร้างการบริหารความเสี่ยงที่ มีประสิทธิภาพ ทั้งด้านความพร้อมของระบบรองรับ PDPA & Cyber Risk เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า ทุกกลุ่ม บริหารจัดการ NPL และ NPA เพื่อแก้ปัญหาปรับแป็นสินทรัพย์ที่สร้างคุณค่าในเวลารวดเร็วขึ้น พร้อมบูรณาการบริษัทในเครือ สร้างประโยชน์จากสินทรัพย์ให้เต็มศักยภาพ บนความร่วมมือแบบ ONE Krungthai

“การบริหารความเสี่ยงสำคัญที่สุด ด้วยการใช้ alternative data มาประเมินความเสี่ยง ไม่ใช่ traditional data รวมทั้งการตรวจจับ fraud ต่างๆก็อยู่ในกลุ่มนี้ เป็น future ready”

6.ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีหลักขององค์กร ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้าน IT และ Digitalization อย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับโครงสร้างเทคโนโลยีให้มีความทันสมัย มั่นคง ปลอดภัย มีเสถียรภาพ มีประสิทธิภาพและสามารถรองรับจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นในอนาคต เพื่อสนับสนุนการส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าด้วยต้นทุนที่เหมาะสม

“ต่อไปนี้ทุก module ทุก service ของ แบงกิ้งเราจะทำเป็นลักษณะ modular-based และ connectable ผ่านมาตรฐาน API เมื่อ connectable แล้ว การทำธุรกิจของธนาคาร ก็สามารถนำแต่ละ module ไปให้บริการให้ผู้ประกอบการรายอื่นได้ เป็นการวางโครงสร้างให้ยืดหยุ่นและพลิกกลับไปกลับมา เปลี่ยนรูปแบบของการให้บริการ”

7.ปฏิรูปวัฒนธรรมและปลูกฝังวิธีการทำงานแบบใหม่เพื่อขับเคลื่อนองค์กรด้วยความคล่องตัว ปรับวิธีการทำงานรูปแบบใหม่ให้เป็นไปในลักษณะ Agility มีความกระฉับกระเฉง โดยอาศัยหลักการแบบ Fail Faster Learn Faster ยกระดับพนักงานให้มีทักษะใหม่ๆ (Upskill/Reskill) สามารถดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถในระดับประเทศและระดับโลกเข้ามาทำงานเสริมสร้างความแข็งแกร่ง เป็นองค์กรแห่งการสร้างผู้นำในอนาคต

“เป็นการปรับรูปแบบการทำงาน corporate culture วิธีการทำงานแบบใหม่ เป็น flexible work place เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของ new gen ที่สำคัญที่สุด talent ปัจจุบัน boderless เพราะฉะนั้นเราสามารถที่จะทำงานกับ talent ที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในประเทศไทย”

‘ผยง’กล่าวว่าทั้ง 7 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 3 ด้าน คือ หนึ่งเร่งซ่อมสร้างพัฒนาในสิ่งสำคัญและยกระดับของเดิม สอง ต่อยอดในสิ่งที่ได้สร้างไว้แล้ว ทั้งธุรกิจ SME ที่มีถึง 1.5-1.6 ล้านร้านค้าทั่วประเทศ และสาม ธุรกิจใหม่ wealth-tech กับ virtual banking ซึ่งจะใช้ทั้งกลุ่มบริษัท และเน้นการเติบโตของกลุ่มบริษัทในเครือและเทียบเคียงกับผลตอบแทนผู้ถือหุ้น(return on equity;ROE )

“การที่เน้นที่ return on equity คือ การทำให้องค์กรมีความยั่งยืน การลงทุนของเราต้องมีผลตอบแทนให้กับ stakeholder ทุกภาคส่วนอย่างเหมาะสม เพราะฉะนั้น return on equity จะ drive โดย หนึ่งคุณภาพของสินเชื่อ high risk high return, low risk low return สินทรัพย์หรือ asset ที่อยู่ใน book ของธนาคารกรุงไทยต้องสร้าง economic value ให้ได้ กำไรสุทธิต้องมาจากโครงสร้างของ cost to income ที่กำหนดไว้”

‘ผยง’เปิดเผยว่า ROE ของกรุงไทยในปี 2022 อยู่ที่ 9% เพิ่มขึ้นจาก 6% ในปี 2020 ปัจจุบัน price to book ของธุรกิจธนาคารต่ำกว่า 1 ขณะที่ของนอน-แบงก์เฉลี่ยอยู่ที่ 7-15% ฉะนั้น ROE จึงมีความสำคัญ

ธุรกิจ Wealth-Virtual Banking คือ New Growth

‘ผยง’ กล่าวว่า ธุรกิจของ wealth ของกรุงไทยยังมีโอกาสเติบโตมากเพราะมีลูกค้าใน segment wealth ที่ยังต่ำกว่าแบงก์คู่เทียบ แต่การลงทุนใน wealth เพื่อความยั่งยืนจึงเน้นไปที่ wealth-tech ต้องสร้างแพลตฟอร์ม เพื่อเพิ่มความสามารถในการ cross-selling แทนที่จะปล่อยให้เงินผ่านบัญชีเท่านั้น

ด้านที่สองที่มองว่าเป็น growth engine ของกรุงไทยคือ ธุรกิจ Virtual Banking ปัจจุบันกรุงไทยได้เข้าไปให้บริการกลุ่ม Underserved แล้วยังให้บริการการเงินได้ไม่เต็มที่ จึงหวังว่า Virtual Banking จะเข้ามาตอบโจทย์

“การเข้าไปในกลุ่ม Underserved เราก็กำลังพูดถึงดอกเบี้ยที่ระดับ 25-33% เช่นกัน แม้ NPL อาจสูงถึง 5-10% แต่ยังมีส่วนต่างก็ยังทำธุรกิจได้ เพียงแต่ต้องคุมหนี้เสียให้ได้ และเราต้องเตรียมโครงสร้างการดำเนินงานให้พร้อม นำข้อมูลทางเลือกหรือ alternative data มาใช้ และยิ่งมีพันธมิตรที่มี alternative data ที่ธนาคารไม่มี เช่น จากธุรกิจเทเลคอม จะตอบโจทย์ new growth engine”

ในเดือนมกราคมที่ผ่านมาธนาคารกรุงไทยได้ลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) กับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) (ADVANC) เพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ให้บริการ Virtual Bank หรือ ธนาคารไม่มีสาขา

“คนไม่ได้ใช้บริการแบงก์ตลอด แต่ใช้มือถือตลอด จึงมีข้อมูลที่สามารถนำมาใช้ในเชิงทำนายหรือคาดการณ์ได้ เช่น ข้อมูลการใช้มือถือ และข้อมูลจากบริการพอยท์เพย์ของ AIS มาช่วยวิเคราะห์ความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อ แม้มีข้อมูลส่วนหนึ่งทับซ้อนกัน แต่มีอีกส่วนหนึ่งที่เสริมกันและกัน มีการทับซ้อนประมาณไม่ถึง 1 ใน 3 เพราะฉะนั้นโอกาสโตจึงค่อนข้างเยอะ”

‘ผยง’ กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยคงจะประกาศเกณฑ์ Virtual Bank ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า ซึ่งจะมีช่วงให้ยื่นขอรวมทั้งพิจารณา จึงน่าจะเห็น Virtual Banking ได้ในปีหน้า โดยจะดำเนินการผ่านการจัดตั้งบริษัทร่วมกันกับพันธมิตร

‘ผยง’ กล่าวเพิ่มเติมว่า การทำธุรกิจ Virtual Banking คือการทำ social bank จึงสามารถที่จะให้บริการผ่านการโอน แอป หรือฝังกับแพลตฟอร์มอื่นได้หมด เพียงแค่ธนาคารต้องนำลูกค้าเข้ามาได้ จึงเป็นรูปแบบการดำเนินงานที่ต่างจากเดิม

สำหรับงบลงทุนด้านเทคโนโลยีที่รองรับการพัฒนาการเงินดิจิทัลในปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งการจัดตั้ง Virtual Bank มีจำนวนประมาณ 12,000 ล้านบาท

ปีนี้กรุงไทยจะขยายบริการสินเชื่อดิจิทัล หรือ Digital Lending ที่เชื่อมต่อกับแอปเป๋าตัง ซึ่งตั้งเป้าว่าในปีนี้จะปล่อยเพิ่ม 8,000-10,000 ล้านบาท โดยในปีที่ผ่านมาธนาคารปล่อยสินเชื่อออนไลน์ไปแล้วราว 5,000 ล้านบาท ให้แก่กลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระเป็นส่วนใหญ่ และบริการธนาคารแบบเดิมให้บริการไปไม่ถึง และคาดว่าสินเชื่อจะเติบโต 3-5% ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (net interest margin) คาดว่ามากกว่า 2.8% รายได้ค่าธรรมเนียมจะเติบโตด้วยเลขหลักเดียว ส่วน NPL จะคุมให้อยู่ในระดับ 3-5% และการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญอยู่ที่ประมาณ 170%