ThaiPublica > คอลัมน์ > Bank Run: ความไม่ยั่งยืนของระบบการเงิน หรือ ต้นทุนที่ต้องจ่าย

Bank Run: ความไม่ยั่งยืนของระบบการเงิน หรือ ต้นทุนที่ต้องจ่าย

13 ธันวาคม 2022


ผศ. ดร. อัธกฤตย์ เทพมงคล คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

ปีนี้รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ตกเป็นของนักเศรษฐศาสตร์มหภาคสายการเงินการธนาคารอย่าง Ben Bernanke, Douglas Diamond และ Philip Dybvig ซึ่งผู้คนน่าจะคุ้นชื่อของ Ben Bernanke กันมาบ้างจากข่าวเศรษฐกิจต่างประเทศ เพราะเขาผู้นี้เคยดำรงตำแหน่งเป็นประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาในช่วงปี ค.ศ. 2006 – 2014 ซึ่งเป็นช่วงที่อเมริกาเผชิญกับวิกฤติซับไพรม์

แต่จะมีซักกี่คนกันที่รู้จักอีกสองท่านที่เหลือ ? ในฐานะที่ผู้เขียนได้อ่านผลงานของท่านทั้งสองและได้นำมาสอนให้นักศึกษาปริญญาเอกที่คณะเป็นระยะเวลานานหลายปี วันนี้จะถือโอกาสหยิบเอาองค์ความรู้นี้มาบอกเล่าต่อด้วยภาษาง่าย ๆ เพื่อชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการทางระบบการเงินการธนาคาร และนำมาสู่การตั้งคำถามต่อถึง “ความยั่งยืน” ของแวดวงนี้

หนึ่งในผลงานที่ทำให้ Diamond และ Dybvig มีชื่อเสียงอย่างมากในวงการเศรษฐศาสตร์ จนนำมาสู่การได้รับรางวัลโนเบลในปีนี้ คืองานที่ทั้งสองได้ร่วมกันอธิบายปรากฎการณ์ Bank Run หรือการที่ผู้ฝากเงินพร้อมใจกันแห่ถอนเงินออกจากธนาคาร จนธนาคารไม่สามารถหาเงินมาให้ทุกคนในเวลาเดียวกันได้ จนธนาคารเจ๊ง แล้วเมื่อเกิด Bank Run ในธนาคารใดธนาคารหนึ่งแล้ว ธนาคารอื่นก็จะทยอยโดน Bank Run ไปด้วย ก็เจ๊งตาม ๆ กันไป พอธนาคารเจ๊งกันมาก ๆ ธนาคารที่พอจะทนกับ Bank Run ของตัวเองได้ แต่เป็นเจ้าหนี้ หรือมีความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างเชื่อมโยงกับกลุ่มที่เจ๊งไปแล้ว ก็เลยต้องเจ๊งตาม ๆ กันไปอีก สรุปก็คือล่มสลายกันหมดทั้งภาคการเงินการธนาคาร ส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อภาคการผลิตและเศรษฐกิจมหภาค

Bank Run เกิดได้อย่างไร ? มันคือผลของการจัดการระบบการเงินการธนาคารที่ไม่ยั่งยืนใช่หรือไม่ ? Diamond และ Dybvig ได้ชี้ให้เห็นว่าจริง ๆ แล้ว Bank Run เป็นความเสี่ยงเกิดขึ้นได้ของระบบการเงินการธนาคารที่ดีแล้วต่างหาก และการมองหาความยั่งยืนในลักษณะของความมีเสถียรภาพเต็มร้อยมันอาจจะไม่ได้มีอยู่จริง

เรื่องราวมันเริ่มจากกระบวนการออมและการลงทุนที่ทุกคนต้องเจอ เมื่อวันหนึ่งเรามีรายได้ เราก็ใช้ไปเลยส่วนหนึ่ง แล้วอีกส่วนเราก็อยากจะเก็บไปเพื่อการบริโภคในอนาคต การลงทุนเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยเก็บมูลค่าสิ่งที่เรามีในวันนี้ไปเป็นผลตอบแทนที่สูงในอนาคต แต่ในโลกของความเป็นจริงนั้น กว่าการลงทุนจะให้ดอกออกผลมักก็ใช้เวลานาน ซึ่งในระหว่างนั้นตัวเราเองก็ไม่รู้ว่าเราจะเกิดมีความจำเป็นต้องใช้เงินหรือเปล่า

ปัญหามันก็อยู่ตรงนี้แหละ ถ้าเกิดอยู่ดี ๆ ฝนตกฟ้าร้องหลังคารั่วเกิดต้องใช้เงินขึ้นมาทันทีทันใด การไปถอนการลงทุนระยะยาวออกมากลางคันจะทำให้เราไม่ได้ผลตอบแทนตามที่หวัง นั่นหมายความว่า ในทุก ๆ เวลา จะมีคนที่โชคดีที่สามารถรอจนได้ผลตอบแทนที่สูงจากการลงทุนในระยะยาว และก็มีคนที่โชคร้ายได้ผลตอบแทนที่ต่ำเพราะจำเป็นต้องถอนการลงทุนออกมากลางคัน

เราสามารถจับคู่กันทำสัญญาประกันแบ่งปันความเสี่ยงกันเองได้มั้ย ? คำตอบคือยากครับ เพราะความเสี่ยงในการมีเหตุที่ต้องใช้เงินกลางคันแบบนี้เป็นสิ่งที่ตรวจสอบจากภายนอกไม่ได้ เราจะเดินไปทำสัญญากับคนแปลกหน้าแล้วบอกว่า ถ้าใครเกิดโชคร้ายมีเหตุจะต้องถอนการลงทุนขึ้นมา ก็ให้คนโชคดีที่ไม่มีเหตุใช้เงินอะไรไปถอนการลงทุนออกมาส่วนหนึ่งแล้วเอามาให้กับคนที่โชคร้ายเพื่อเป็นการแบ่งปันความเสี่ยงกัน อีแบบนี้ไม่ว่าใครก็ต้องบอกว่าตัวเองมีเหตุใช้เงินไว้ก่อนทั้งนั้น เพื่อจะได้ไม่ต้องจ่ายเงินให้อีกใคร ผลสุดท้ายก็คือ ชีวิตเราก็ต้องมานั่งลุ้นหัวลุ้นก้อยว่ารอบนี้ฉันจะโชคร้ายมีเหตุที่จะต้องถอนการลงทุนก่อนเวลาอันสมควรหรือไม่ เป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ซึ่งฟังดูแล้ว ไม่น่าจะเป็นระบบการเงินที่ดีหรือยั่งยืนแต่อย่างใด

การเกิดขึ้นของธนาคารและบัญชีเงินฝากช่วยแก้ปัญหานี้ได้ โดยการรวมเงินออมของทุกคนมาอยู่ที่ธนาคารเพื่อนำไปสู่การลงทุนระยะยาว โดยธนาคารสัญญาว่าใครก็ตามที่อยากจะถอนเงินในระยะสั้น ก็มาถอนได้พร้อมกับได้ดอกเบี้ยตามระยะเวลาที่ฝากไว้ ซึ่งมากกว่าสิ่งที่เราได้จากการถอนการลงทุนกลางคันด้วยตัวเอง ส่วนคนที่รอไปถอนในระยะยาวก็จะได้ผลตอบแทนมากกว่าการถอนระยะสั้น แต่จะน้อยกว่าผลตอบแทนของการลงทุนระยะยาวด้วยตัวเอง สัญญาเงินฝากแบบที่เราคุ้นเคยกันแบบนี้แหละสามารถช่วยขจัดปัญหาความเสี่ยงจากเหตุที่ต้องใช้เงินกะทันหันได้ โดยการแบ่งปันความเสี่ยงกันระหว่างคนที่โชคดีกับคนที่โชคร้ายที่อยู่ ๆ ก็มีเรื่องต้องใช้เงินขึ้นมา คนที่รอได้ก็จะได้ผลตอบแทนน้อยลงมาหน่อย แลกกับการที่เขาจะได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นถ้าเขาเกิดโชคร้ายขึ้นมา

ระบบการเงินการธนาคารที่ช่วยแบ่งปันความเสี่ยงกันแบบนี้จะช่วยให้คนมีความสุขมากขึ้น เพราะคนส่วนใหญ่ล้วนกลัวความเสี่ยง คนที่มีเหตุต้องรีบใช้เงินก็ถอนเงินไป คนที่ไม่มีเหตุจำเป็นอะไรก็รอไปถอนในระยะยาว อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนของระบบนี้คือความอ่อนไหวต่ออุปทานหมู่ของคนในสังคม ในสถานการณ์บ้านเมืองที่คนเกิดตื่นตระหนกกับข่าวร้ายข่าวลวงใด ๆ ก็ตาม จนทำให้ “เชื่อ” ว่าจะมีคนไปถอนเงินในระยะสั้นเป็นจำนวนมาก มากจนทำให้ผลตอบแทนของการรอเพื่อที่จะถอนในระยะยาวต่ำจนเกินไป Bank Run ก็จะเกิด แม้ว่าตัวธนาคารเองจะไม่ได้มีการดำเนินงานอะไรที่ผิดพลาดคดโกงเลยก็ตาม

เหตุผลก็คือ ทุกคนรู้ว่าธนาคารสัญญาผลตอบแทนระยะสั้นแก่ผู้ถอนมากกว่าสิ่งที่ได้จากการถอนการลงทุนกลางคันด้วยตัวเอง ดังนั้นการที่เรา “เชื่อ” ว่าคนจะแห่ไปถอนกัน เราก็จะ “เชื่อ” ว่าธนาคารจะต้องถอนการลงทุนมาจนหมดเพื่อให้กับผู้ถอนระยะสั้น จน “เชื่อ” ได้ว่าจะไม่เหลืออะไรให้กับคนที่รอถอนในระยะยาว เพราะ “เชื่อ” อย่างนั้น เราก็ต้องแห่ไปถอนด้วย ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีความจำเป็นที่ต้องใช้เงินใด ๆ เมื่อทุกคน “เชื่อ” ตรงกันแบบนี้ เงินในธนาคารก็จะไม่พอ ใครถอนก่อนก็ได้เงินไป ที่เหลือก็จะสูญเงิน ธนาคารก็ล้ม นำไปสู่การล้มครืนทั้งกระดานของสถาบันการเงิน

แน่นอนว่า ผู้ฝากเงินทุกคนไม่มีใครอยากให้ Bank Run เกิดขึ้นอยู่แล้วเพราะมันไม่ได้ดีอะไรกับตัวเขาเองเลย ดังนั้นโดยส่วนใหญ่ คนในเศรษฐกิจก็พร้อมที่จะยึดโยงความเชื่อตัวเองไปกับสถานการณ์ที่ดี ๆ อยู่แล้ว พร้อมจะเชื่ออยู่แล้วว่า “ธนาคารไม่ล้มหรอก” “ทุกอย่างจะโอเคแหละ” “เดี๋ยวทุกอย่างก็ดีเอง” ดังนั้น Bank Run จึงไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ ในประวัติศาสตร์โลก มันจะต้องมีความพระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรกจริง ๆ อยู่ ๆ ข่าวร้ายก็บังเอิญปะเดปะดังเข้าล็อคกันหมดพอดี Bank Run ถึงจะเกิด แต่พอเกิดขึ้นแล้ว จะนำไปสู่ความเสียหายที่รุนแรงกว่าความโชคร้ายของการที่เราลงทุนด้วยตัวเอง

สรุปแล้วแบบไหนกันหละที่เราเรียกว่ายั่งยืน ? เมื่อไม่มีเสถียรภาพเป็นตัวเลือก ความยั่งยืนก็คงขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน ส่วนตัวผู้เขียนมองว่าการมีธนาคารและบัญชีเงินฝากเป็นทางเลือกที่ดีและยั่งยืนกว่า เพียงแต่ว่าทุกอย่างมันอาจจะมีราคาที่ต้องจ่าย ถ้ามีตรวจสอบดูแลการทำงานของสถาบันการเงินให้ถูกต้องและโปร่งใส อุปทานหมู่ก็น่าจะเกิดได้ยากขึ้นไปเอง สุดท้ายนี้ ผู้เขียนขอขอบคุณ Diamond และ Dybvig รวมถึง Benanke กับคุณูปการที่ทำให้กับวงการเศรษฐศาสตร์ การเงิน และการธนาคาร สมควรอย่างยิ่งกับรางวัลโนเบลในปีนี้ครับ (ปรบมือ)