ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup สิงคโปร์-จีนยกระดับ FTA มีผลเร่งอัพเกรดข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีนและ RCEP

ASEAN Roundup สิงคโปร์-จีนยกระดับ FTA มีผลเร่งอัพเกรดข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีนและ RCEP

9 เมษายน 2023


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 2-7 เมษายน 2566

  • สิงคโปร์-จีนยกระดับ FTA มีผลเร่งอัพเกรดข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีนและ RCEP
  • อินโดนีเซียลดภาษี VAT ซื้อรถยนต์ EV เหลือ 1%
  • อินโดนีเซียนำเข้าข้าว 2 ล้านตันสำรองรับมือเอลนิโญ
  • เวียดนามส่งออกข้าว 1.7 ล้านตันในไตรมาส 1
  • เวียดนามเตรียมสร้างนิคมอุตสาหกรรมเภสัชชีวภาพแห่งแรก
  • กัมพูชาให้สิทธิภาษีสำหรับการลงทุนในภาคไฮเทค
  • ไทย-เวียดนาม-กัมพูชา-อินเดีย ผู็นำส่งชิปเข้าสหรัฐ
  • สิงคโปร์-จีนยกระดับ FTA มีผลเร่งอัพเกรดข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีนและ RCEP

    ที่มาภาพ: https://www.channelnewsasia.com/singapore/china-singapore-free-trade-agreement-negotiations-pm-lee-3389996

    สิงคโปร์และจีนได้เสร็จสิ้นการเจรจาที่สำคัญเกี่ยวกับการยกระดับข้อตกลงการค้าเสรี ซึ่งจะช่วยเพิ่มการเข้าถึงตลาดสำหรับธุรกิจของทั้งสองประเทศ

    ก่อนหน้านั้นหนึ่งวันทั้งสองประเทศประกาศยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคี

    ทั้งสองประเทศยังได้ลงนามในข้อตกลง 6 ฉบับเมื่อวันเสาร์ (1 เม.ย.) เพื่อขยายความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ตั้งแต่ความปลอดภัยของอาหารไปจนถึงศิลปะและการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ จากการรายงานของ CNA

    เจ้าหน้าที่รัฐบาลสิงคโปร์ในคณะผู้แทนของนายกรัฐมนตรีลี เซียนลุง และตัวแทนของจีน ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) โดยมีนายลีและหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของจีนเป็นสักขีพยานที่มหาศาลาประชาชนในกรุงปักกิ่ง

    นายลีได้รับการต้อนรับในพิธีอย่างเป็นทางการและกล่าวเปิดงานก่อนเข้าร่วมพิธีลงนาม การเยือนจีนของเขาซึ่งเริ่มในวันจันทร์ได้สิ้นสุดลงในวันเสาร์ ในวันศุกร์ นายลีได้พบกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน และผู้นำทั้งสองเห็นพ้องที่จะยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีให้เป็น “หุ้นส่วนที่มุ่งอนาคตคุณภาพสูงในทุกด้าน””All-Round High-Quality Future-Oriented Partnership”.

    ในแถลงการณ์ร่วมที่ออกโดยทั้งสองประเทศเมื่อวันเสาร์ สิงคโปร์ระบุว่า ยืนยันอีกครั้งต่อการสนับสนุนการพัฒนาของจีน และชื่นชมคำมั่นที่จะปฏิรูปและเปิดประเทศ

    “จีนกล่าวชื่นชมการมีส่วนร่วมอันยาวนานของสิงคโปร์ในเส้นทางสู่ความทันสมัยของจีน ซึ่งได้วางรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับความร่วมมือทวิภาคี และแสดงถึงการสนับสนุนการเติบโตและความเจริญรุ่งเรืองอย่างต่อเนื่องของสิงคโปร์” แถลงการณ์ระบุ

    สิงคโปร์และจีนแถลงอีกว่า ทั้งสองประเทศมุ่งไปที่ความร่วมมือด้านใหม่ๆ และ “ใช้ประโยชน์จากกลไกระหว่างรัฐบาลอย่างเต็มที่” เช่น สภาร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคี(Joint Council for Bilateral Cooperation) สภาเป็นเวทีทวิภาคีอันดับต้นๆ ที่ทั้งสองประเทศทบทวนความร่วมมือและกำหนดแนวทางใหม่สำหรับความร่วมมือ

    ทั้งสองฝ่ายยังยินดีกับข้อสรุปของการเจรจาที่สำคัญเพื่อยกระดับข้อตกลงการค้าเสรีจีน-สิงคโปร์ (China-Singapore Free Trade Agreement:CSFTA) ซึ่งจะยกระดับการเข้าถึงตลาดสำหรับธุรกิจจากทั้งสองประเทศในการค้าและการลงทุนในตลาดของกันและกัน แถลงการณ์ระบุ

    ข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีที่ครอบคลุมฉบับแรกของจีนที่มีกับประเทศในเอเชีย ซึ่งลงนามในปี 2551 จากการเปิดเผยของกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์

    สิงคโปร์และจีนลงนามในการบังคับใช้พิธีสารเพื่อยกระดับความตกลงว่าด้วยข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างจีนกับสิงคโปร์(CSFTA Upgrade Protocol) ในปี 2561 นับตั้งแต่มีผลบังคับใช้ในปี 2562 การค้าและการลงทุนทวิภาคีเติบโตเฉลี่ย 7% และ 7.7% ต่อปีตามลำดับ กระทรวงฯ ระบุ

    สิงคโปร์เป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดของจีนตั้งแต่ปี 2556 และจีนเป็นจุดหมายการลงทุนอันดับต้นๆ ของสิงคโปร์ตั้งแต่ปี 2550

    ในปี 2563 มีการเปิดการเจรจาเพื่อยกระดับข้อตกลงการค้าเสรีของทั้งสองประเทศ ซึ่งรวมถึงกฎที่เสรีและโปร่งใสมากขึ้น เพื่อยกระดับการแข่งขันสำหรับนักลงทุนและผู้ให้บริการระหว่างทั้งสองประเทศให้เท่าเทียมกัน

    รัฐบาลจีนและสิงคโปร์กำลังดำเนินการด้านกฎหมายของเอกสารก่อนที่จะมีการลงนามในข้อตกลงขั้นสุดท้าย ข้อตกลงดังกล่าวจะได้รับการให้สัตยาบันก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ ทั้งสองฝ่ายกำลังหาทางที่จะลงนามในพิธีสารสำหรับการเจรจาครั้งต่อไปโดยเร็วที่สุดในปีนี้

    สำหรับข้อตกลงทั้ง 6 ฉบับที่ลงนามเมื่อวันเสาร์ มีข้อตกลง 1 ฉบับเกี่ยวกับความมั่นคงด้านอาหาร โดยจีนและสิงคโปร์เห็นพ้องที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับกฎระเบียบด้านความปลอดภัยของอาหารและส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าอาหาร

    ทั้งสองประเทศยังได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจัดการข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศภายใต้โครงการ Belt and Road Initiative และการวิจัยด้านน้ำและสิ่งแวดล้อม มีการลงนามข้อตกลงเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและศิลปะและทำงานร่วมกันในการหารือเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ

    ข้อตกลงฉบับที่ 7 เกี่ยวกับการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างสิงคโปร์และปักกิ่ง และการแลกเปลี่ยนระดับบประชาชนได้มีการลงนามเมื่อวันศุกร์โดย Lui Tuck Yew เอกอัครราชทูตสิงคโปร์ประจำประเทศจีน และ Yin Yong นายกเทศมนตรีกรุงปักกิ่ง

  • ตัวเร่งยกระดับ ACFTA 3.0-RCEP

  • ด้าน Global Timesสื่อจีน รายงานเช่นเดียวกันว่า จีนและสิงคโปร์เสร็จสิ้น ‘การเจรจาที่สำคัญ’ เกี่ยวกับการยกระดับ FTA ซึ่งจะกลายเป็นข้อตกลงที่มีระดับการเปิดสูงสุดของประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก

    ผู้สังเกตการณ์กล่าวว่า เมื่อลงนามแล้ว ข้อตกลงดังกล่าวจะกลายเป็นข้อตกลงการค้าเสรีในระดับสูงสุดของจีนในขณะนี้ แสดงให้เห็นว่าความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและสิงคโปร์กำลังอยู่ระหว่างยกระดับสู่ระดับใหม่ ท่ามกลางการผลักดันพหุภาคีสำหรับการรวมตัวของอาเซียนที่แน่วแน่ของทั้งสองประเทศ และการต่อต้านการเข้าข้างฝ่ายใดฝายหนึ่งระหว่างจีนและสหรัฐฯของสิงคโปร์ ภายใต้ความพยายามแยกตัวของสหรัฐฯ

    การยกระดับเขตการค้าเสรีจะช่วยเร่งการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีจีน-อาเซียน เวอร์ชัน 3.0(China-ASEAN Free Trade Agreement:ACFTA 3.0) ที่กำลังดำเนินอยู่ และมีผลไปถึงการยกระดับความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งทั้งสองข้อตกลงการค้านี้เป็นตัวกระตุ้นการรวมตัวและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคอาเซียน จากการมีสัญญาณมาตรฐานเปิดกว้างมากขึ้น นอกจากนี้ยังเตรียมวางรากฐานเชิงสถาบันของจีนเพื่อการยื่นเข้าร่วมข้อตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก (CPTPP) ซึ่งสิงคโปร์เป็นสมาชิกด้วย

    การลงนามใน MOU เพื่อยกระดับข้อตกลงการค้าเสรี นับเป็นครั้งแรกที่จีนใช้แนวปฏิบัติข้อตกลง FTA ให้คำมั่นเปิดเสรีทั้งด้านบริการและการลงทุนควบคู่กัน ภายใต้รายการประเภทกิจการต้องห้าม(Negative List) แถลงการณ์ระบุ ก่อนหน้านี้ RCEP ข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อปีที่แล้ว ถือเป็นครั้งแรกที่จีนแสดงความมุ่งมั่นในการเปิดกว้างด้านการลงทุนในรูปแบบของ Negative List ภายใต้ FTA

    บนพื้นฐานของข้อตกลง FTA เดิม ข้อตกลงใหม่จะยกระดับมาตรฐานการเปิดกว้างในการค้าบริการและการลงทุน นอกจากนี้ยังรวมถึงบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และรวมกฎเศรษฐกิจและการค้าระดับสูง เช่น หลักการปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ (National Treatment) การเข้าถึงตลาด ความโปร่งใสและเศรษฐกิจดิจิทัล แถลงการณ์ระบุ

    ทั้งสองฝ่ายยังบรรลุฉันทามติว่า จะไม่ถอยจากมาตรการเปิดกว้าง และให้คำมั่นว่า “ประตูสู่กันและกันจะเปิดกว้างขึ้น” ผ่านข้อตกลง

    “ข้อตกลงดังกล่าวเป็นมาตรการสำคัญและเป็นการดำเนินการจริงของจีนที่สอดคล้องกับกฎการค้าและเศรษฐกิจระหว่างประเทศระดับสูง และการขยายการเปิดเสรี จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีน-สิงคโปร์ไปสู่ระดับใหม่อย่างมีนัยสำคัญ” กระทรวงพาณิชย์จีนระบุ

    ผู้สังเกตการณ์กล่าวว่า FTA ที่ยกระดับมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อทั้งสองฝ่าย เนื่องจากอยู่บนพื้นฐานความไว้วางใจทางการเมืองที่มั่นคงและเกิดจากผลประโยชน์พื้นฐานของทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นความพยายามครั้งใหม่ของทั้งสองประเทศที่จะพัฒนาการเปิดเสรีการค้าในระดับภูมิภาคให้ลึกยิ่งขึ้น

    “สิงคโปร์ครองตำแหน่งประเทศเศรษฐกิจที่เปิดกว้างที่สุดแห่งหนึ่งของโลก … ดังนั้นการยกระดับ FTA ของจีนกับสิงคโปร์จึงอาจถือเป็นการทดลองในการเปิดเพิ่มเติมของสิงคโปร์ในแง่ของการสร้างมาตรฐาน” Tu Xinquan คณบดีสถาบัน China Institute for WTO Studies ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจระหว่างประเทศและเศรษฐศาสตร์ในกรุงปักกิ่ง กล่าวกับ Global Times

    สำหรับสิงคโปร์ การยกระดับ FTA กับจีนยังมีข้อพิจารณาในด้านภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐกิจด้วย สิงคโปร์พบว่า แทบไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการไปต่อกับสหรัฐฯ และไม่สามารถเจรจากับสหรัฐฯ ได้อย่างเท่าเทียมกัน จากการให้ความเห็นของ Li Yong รองประธานคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญของสมาคมการค้าระหว่างประเทศแห่งประเทศจีน (China Association of International Trade)

    ท่ามกลางการค้าโลกที่ยังมีความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ การยกระดับ FTA ยังส่งสารที่ชัดเจนว่า ประเทศอาเซียน เช่น สิงคโปร์ยังคงมองหาความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับจีน แม้สหรัฐฯ จะเรียกร้องให้แยกตัวออกก็ตาม” Tu Xinquan กล่าว

    จีนและสิงคโปร์ได้จับมือกันเพื่อเอื้อต่อการบูรณาการในภูมิภาคและเสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทาน ดังตัวอย่างจากการดำเนินการตาม RCEP และการสร้างระเบียงการค้าทางบก-ทางทะเลระหว่างประเทศใหม่(New International Land-Sea Trade Corridor) ซึ่งเป็นช่องทางการค้าที่สำคัญระหว่างมณฑลทางตะวันตกของจีนกับประเทศสมาชิกอาเซียน

    สิงคโปร์เป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดของจีนตั้งแต่ปี 2556 และจีนยังเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์เป็นเวลา 9 ปีติดต่อกัน

    Ong Tze Guan ประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ในจีน กล่าวกับ Global Times ว่า “ทั้งสิงคโปร์และจีนจะได้รับประโยชน์จากผลทวีคูณของการผนึกกำลังที่เกิดจากการพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนโดยรวมในภูมิภาค ด้วยการกลับมาเชื่อมต่อและการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน …ควบคู่ไปกับความมั่นคงและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจในภูมิภาค”

    ในปี 2551 จีนและสิงคโปร์ลงนามเขตการค้าเสรี และเป็นเขตการค้าเสรีทวิภาคีที่ครอบคลุมแห่งแรกของจีนที่ทำกับประเทศอาเซียน ทั้งสองประเทศได้ยกระดับพิธีสาร FTA ในปี 2561 และการหารือเพื่อยกระดับเพิ่มเติมเริ่มขึ้นในเดือนธันวาคม 2563

    แถลงการณ์ของกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ในการติดตามผล ทีมงานจากทั้งสองประเทศจะดำเนินการตรวจสอบและแปลเอกสารทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับ FTA ดำเนินการตามขั้นตอนภายในประเทศของแต่ละประเทศ และพยายามลงนามในข้อตกลงโดยเร็วที่สุด

    เมื่อวันเสาร์ นายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง ของจีนได้พูดคุยกับนายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุงในกรุงปักกิ่ง โดยนายหลี่กล่าวว่า จีนถือว่าอาเซียนความสำคัญในฐานะประเทศเพื่อนบ้านเป็นลำดับแรกตามนโยบาย และสนับสนุนอย่างแน่วแน่ต่อการเป็นศูนย์กลางของอาเซียน จีนพร้อมที่จะทำงานร่วมกับประเทศในอาเซียนรวมถึงสิงคโปร์เพื่อส่งเสริมการสร้างเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA 3.0) และการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของภูมิภาค

    ผู้สังเกตการณ์กล่าวว่า การยกระดับ FTA จีน-สิงคโปร์ จะมีผลในการผลักดันให้สมาชิกอาเซียนรายอื่นๆ เร่งติดตามกระบวนการเจรจา “ความแตกต่างของระดับการพัฒนาระหว่างเศรษฐกิจอาเซียนอาจจะเป็นอุปสรรคอยู่บ้าง ดังนั้น FTA ยังเป็นชุดมาตรฐานสำหรับการอ้างอิง โดยเฉพาะบทบัญญัติใหม่ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัลและข้อมูล” Tu Xinquanกล่าว

    การหารือรอบแรกเกี่ยวกับ ACFTA 3.0 เริ่มขึ้นในวันที่ 7 กุมภาพันธ์

    Xu Ningning ประธานบริหารของ China-ASEAN Business Council กล่าวกับ Global Times ว่า ACFTA 3.0 จะขยายขอบเขตความร่วมมือไปสู่ประเด็นที่กว้างขึ้น เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียว และความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน

    “มันจะช่วยเร่งการสร้างประชาคมจีน-อาเซียนที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นในอนาคตร่วมกัน และดึงดูดบริษัทต่างชาติให้เข้ามาลงทุนใน FTA มากขึ้น” Xu กล่าว

    อินโดนีเซียลดภาษี VAT ซื้อรถยนต์ EV เหลือ 1%

    ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด เปิดตัวสถานีชาร์จEV แบบเร็ว ที่สำนักงานการท่องเที่ยวอินโดนีเซีย ในบาหลีเดือนมีนาคม 2565 ที่มาภาพ:https://setkab.go.id/en/president-jokowi-inaugurates-indonesias-first-ultra-fast-ev-charging-station/

    Febrio Kacaribu ผู้อำนวยสำนักงานเศรษฐกิจการคลังกระทรวงการคลังอินโดนีเซีย ประกาศว่า มาตรการจูงใจทางภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดทำโดยรัฐบาล (PPN DTP) สำหรับการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าและรถโดยสารจะมีผลบังคับใช้ในช่วงภาษีเดือนเมษายน 2566-ธันวาคม 2566

    “นโยบายนี้ได้ออกมาเพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ เพื่อดึงความสนใจการลงทุนในระบบนิเวศของรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น” Kacaribu ระบุในแถลงการณ์อย่างเป็นทางการที่ออกเมื่อวันอังคาร(4 เม.ย.)

    นอกจากนี้ นโยบายยังมีเป้าหมายเพื่อขยายโอกาสการจ้างงานและเร่งการเปลี่ยนผ่านจากการใช้พลังงานฟอสซิลไปสู่ไฟฟ้า เพื่อลดการปล่อยมลพิษและเสริมสร้างประสิทธิภาพการอุดหนุนด้านพลังงาน

    มาตรการจูงใจนี้อยู่ภายใต้ระเบียบกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 38 ปี 2566 ว่าด้วยภาษีมูลค่าเพิ่มของยานพาหนะขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าแบบใช้แบตเตอรี่ 4 ล้อบางรุ่นและรถโดยสารที่ใช้เครื่องยนต์ไฟฟ้าแบบใช้แบตเตอรี่บางประเภทที่รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบในปีงบประมาณ 2566

    สิทธิประโยชน์จูงใจสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า 4 ล้อมี 2 รูปแบบ ภายใต้แผนแรก ยานพาหนะขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าแบบใช้แบตเตอรี่ 4 และรถโดยสารที่ประกอบภายในประเทศในสัดส่วน 40% ขึ้นไปจะได้รับส่วนลดภาษี PPN DTP เพียง 10% และผู้บริโภคเสียภาษีเพียง 1% ส่วนแผนที่สอง รถยนต์ที่ใช้แบตเตอรี่ รถโดยสารซึ่งประกอบภายในประเทศ 20-40% จะได้รับส่วนลดภาษี 5% และผู้บริโภคต้องเสียภาษี 6%

    รุ่นและประเภทของยานพาหนะที่เป็นไปตามข้อกำหนดของ TKDN ได้กำหนดไว้ในประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรม หมายเลข 1641 ปี 2566 ส่วนเกณฑ์มูลค่า TKDN จะต้องสอดคล้องกับประกาศประธานาธิบดีหมายเลข 55 ของปี 2562 รวมทั้งแผนงานสำหรับโครงการยานยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่จากกระทรวงอุตสาหกรรม

    ในขณะเดียวกัน Taufiek Bawazier ผู้อำนวยการทั่วไปสำนักงาน Metal, Machinery, Transportation Equipment, and Electronics (ILMATE)ของกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะกระตุ้นให้ประชาชนสนใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้าและสนับสนุนระบบนิเวศของรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ผ่านโปรแกรม PPN DTP มากขึ้น

    “ในระยะแรก คาดว่าโครงการ PPN DTP จะครอบคลุมการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า 35,862 คัน และรถโดยสารไฟฟ้า 138 คันในปี 2566”

    อินโดนีเซียนำเข้าข้าว 2 ล้านตันสำรองรับมือเอลนิโญ

    ที่มาภาพ: https://www.thejakartapost.com/seasia/2016/09/25/indonesia-to-sign-rice-import-deal-with-myanmar.html
    ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ยืนยันการนำเข้าข้าว 2 ล้านตันตามที่ได้มอบหมายให้ State Logistics Agency (Bulog) ดำเนินการ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มปริมาณสำรองข้าวในการเผชิญกับปรากฏการณ์เอลนิโญซึ่งเป็นสาเหตุของฤดูแล้ง

    วิโดโดออกแถลงการณ์หลังจากปลูกข้าวร่วมกับ ซยาห์รุล ยาซิน ลิมโป รัฐมนตรีกระทรวงเกษตร ในเมืองตูบันจังหวัดชวาตะวันออก เมื่อวันพฤหัสบดี(6 เม.ย.)

    “การนำเข้าเพื่อเป็นปริมาณสำรองของ Bulog เนื่องจากมีแนวโน้มที่จะมีฤดูแล้งที่ยาวนาน จากปรากฏการณ์เอลนีโญ ดังนั้น Bulog และสำนักงานอาหารแห่งชาติ (NFA) จึงเตรียมพร้อมโดยการเพิ่มปริมาณสำรองข้าว” วิโดโดกล่าว

    วิโดโดกล่าวว่า การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับการสำรองข้าวของรัฐบาลหรือ CBP ซึ่งบริหารจัดการโดย Bulog ผ่านการนำเข้าข้าว เพราะคาดว่าอาจจะเจอการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ในการหาสินค้าโภคภัณฑ์เมื่อเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ

    วิโดโดยืนยันว่า การดำเนินการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อป้องกันความยุ่งยากในการหาข้าวจากประเทศซัพพลายเออร์ เช่น ไทย เวียดนาม อินเดีย และปากีสถาน

    “ในช่วงฤดูแล้งที่ยาวนาน เราจะสับสนว่าจะซื้อข้าวจากที่ไหน จะจากไทย เวียดนาม อินเดีย หรือปากีสถาน เพราะไม่มี (ข้าว) ในสต๊อก เอลนีโญไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในอินโดนีเซียเท่านั้น แต่รวมถึงประเทศอื่นๆ ด้วย ”

    อย่างไรก็ตาม วิโดโดคาดว่าการนำเข้าข้าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อราคาข้าวเปลือกแห้งของเกษตรกร

    ก่อนหน้านี้ หัวหน้าสำนักงานอาหารแห่งชาติ อารีฟ ปราเสตโย อาดิ ระบุว่า อินโดนีเซียจะพยายามนำเข้าข้าวจำนวน 2 ล้านตันจาก 5 ประเทศ รวมทั้งไทยและอินเดีย

    ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 ปริมาณสำรองสำรองไว้ Bulog อยู่ที่ 245,223 ตัน โดยต้องสำรอง 95.29 เป็น CBP และสำรอง 4.71 เป็นสต็อกให้
    อาดิมองว่าปรากฏการณ์เอลนีโญก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่รัฐบาลนำมาพิจารณาในการตัดสินใจนำเข้าข้าวเช่นกัน

    สำนักงานอุตุนิยมวิทยา ภูมิอากาศวิทยา และธรณีฟิสิกส์ (BMKG) ได้คาดการณ์ว่าจะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 โดยมีความเป็นไปได้ 50-60%

    เวียดนามส่งออกข้าว 1.7 ล้านตันในไตรมาส 1

    ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/vietnam-exports-17-million-tonnes-of-rice-in-q1/251176.vnp

    เวียดนามส่งออกข้าว 1.7 ล้านตันในไตรมาสแรกของปี 2566 รวมมูลค่ากว่า 900 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเพิ่มขึ้น 19% ในเชิงปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2565 จากรายงานล่าสุดที่เผยแพร่โดยกรมศุลกากร

    ข้อมูลของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) พบว่า ข้าวเวียดนามประสบความสำเร็จในการปรับปรุงคุณภาพและความต้องการในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

    ข้าวที่ส่งออกส่วนใหญ่มาจากสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง โดยศูนย์การผลิตข้าวที่เหลือของประเทศจำหน่ายในตลาดภายในประเทศเป็นหลัก

    Le Thanh Tung รองหัวหน้าแผนกเพาะปลูกพืช สังกัดกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท กล่าวว่า การผลิตข้าวในปีนี้เฉพาะพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงเพียงแห่งเดียวคาดว่าจะสูงถึง 24 ล้านตัน การบริโภคในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงและโฮจิมินห์ซิตี้ ซึ่งเป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดของเวียดนาม จะอยู่ที่ประมาณ 11 ล้านตัน เหลือ 13 ล้านตันสำหรับการส่งออก

    โดยในจำนวนนี้ข้าวคุณภาพระดับพรีเมียมสำหรับการส่งออกมีสัดส่วน 3 ล้านตัน ข้าวพันธุ์พิเศษ 2.1 ล้านตัน และข้าวธรรมดา 1 ล้านตัน

    สมาคมอาหารเวียดนาม (VFA) กล่าวว่า มีแนวโน้มว่าข้าวเวียดนามจะยังคงเป็นที่ต้องการต่อเนื่องในไตรมาสที่ 2 ของปี เนื่องจากความต้องการในตลาดหลัก ทั้งฟิลิปปินส์ จีน และแอฟริกา เพิ่มขึ้น

    Nguyen Ngọc Nam ประธาน VFA กล่าวว่า ข้าวเวียดนามได้ราคาดีในตลาดต่างประเทศ แม้เศรษฐกิจโลกจะมีแนวโน้มไม่สดใส เนื่องจากประเทศต่างๆ ต่างต้องการกักตุนอาหารรองรับช่วงเวลาที่ไม่แน่นอนในอนาคต

    นอกจากนี้ ข้อตกลงการค้าเสรีที่สำคัญ ได้แก่ ข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) ได้ทำให้ภาษีศุลกากรข้าวเวียดนามลดลงมากถึง 175 ยูโรต่อตัน ส่งผลให้ข้าวพรีเมียมของเวียดนามได้เปรียบในตลาดยุโรป

    ในขณะที่ความต้องการเพิ่มสูงขึ้น ผู้ส่งออกพยายามที่จะซื้อเพิ่มจากเกษตรกรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลกำไรสูงสุด อย่างไรก็ตาม หลายคนแสดงความกังวลจากการที่มีเงินไม่พอ

    Phan Van Chinh ผู้อำนวยการสำนักงานการค้าต่างประเทศของอุตสาหกรรมและการค้า กล่าวว่า กระทรวงฯ ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้ส่งออกเพื่อหาทางแก้ไขเพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์และจัดการกับระเบียบการนำเข้า/ส่งออกในตลาดต่างประเทศ

    ในขณะเดียว กระทรวงฯ ระบุว่า ยังคงติดตามปริมาณข้าวที่ส่งออกอย่างใกล้ชิด เพื่ประกันความมั่นคงทางอาหารของประเทศ

    ก่อนหน้านี้ ธนาคารแห่งเวียดนาม (SBV) ได้สั่งให้ธนาคารพาณิชย์ทบทวนและปรับปรุงกระบวนการกู้ยืม ให้กับผู้ค้าข้าวเพื่อช่วยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม

    เวียดนามเตรียมสร้างนิคมอุตสาหกรรมเภสัชชีวภาพแห่งแรก

    ที่มาภาพ: https://theinvestor.vn/thai-binh-province-to-build-vietnams-first-bio-pharma-industrial-park-d4373.html
    โครงการนิคมอุตสาหกรรมเภสัชชีวภาพแห่งแรกของเวียดนาม ซึ่งออกแบบให้ครอบคลุมพื้นที่ 300 เฮกตาร์ และต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 150-200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะได้รับการพัฒนาในจังหวัดท้ายบิ่ญ ทางตอนเหนือของเวียดนาม

    กระทรวงสาธารณสุขประกาศในพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจ(MOU)ของโครงการว่า นิคมฯจะประกอบด้วยโซนสำหรับอุตสาหกรรมหลัก และพื้นที่สำหรับอุตสาหกรรมเสริมและบริการในสาขาเภสัชกรรมและผลิตภัณฑ์ชีวภาพ

    เมื่อการพัฒนาโครงการเสร็จสมบูรณ์คาดว่าจะมีเงินลงทุนจดทะเบียนรวม 800 ล้านดอลลาร์ในปี 2567-2560 และ 2 พันล้านดอลลาร์ในปี 2571-2563

    Nguyen Khac Than ประธานคณะกรรมการประชาชนแห่งจังหวัดท้ายบิ่ญ กล่าวว่า จังหวัดกำลังมุ่งเน้นไปที่การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมต่อกับนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขพิจารณาว่าเป็นหนึ่งในโครงการหลักที่จะดึงดูดการลงทุนในการผลิตและการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านยาและวัคซีน

    โดยมีแผนที่จะจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมทางเภสัชกรรมและชีวภาพเพิ่มเติมในภาคกลางและภาคใต้ของเวียดนาม เช่นเดียวกับโครงการแรกในจังหวัดท้ายบิ่ญ

    ปัจจุบันตลาดยาของเวียดนามมีมูลค่าประมาณ 6-7 พันล้านดอลลาร์ โดยมีอัตราการเติบโตต่อปีประมาณ 10.6% โดยประมาณ 45% ของต้นทุนยาทั้งหมดผลิตในประเทศ ในปี 2565 ค่าใช้จ่ายด้านยาเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ประมาณ 75 ดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้น 10 เท่าจากปี 2545

    กัมพูชาใหสิทธิภาษีสำหรับการลงทุนในภาคไฮเทค

    ทางด่วนสายพนมเปญ-สีหนุวิลล์ ที่มาภาพ: https://www.phnompenhpost.com/national/phnom-penh-sihanoukville-expressway-opens-public
    การลงทุนในอุตสาหกรรมไฮเทคในกัมพูชาจะได้รับ การยกเว้นภาษีเป็นเวลา 9 ปีจากการเปิดเผยของสัม จันโมนี เจ้าหน้าที่ด้านการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน สภาเพื่อการพัฒนาแห่งกัมพูชา (CDC)

    ในการนำเสนอโอกาสการลงทุนในกัมพูชาให้กับคณะผู้แทนธุรกิจระดับสูงจากอินเดียในกรุงพนมเปญ จันโมนีกล่าวว่า นอกเหนือจากนี้การลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าวยังได้รับสิทธิพิเศษจูงใจอื่น ๆ อีกมากเช่นกัน และนานถึง 15 ปี

    เจ้าหน้าที่ของ CDC ระบุว่า กัมพูชาเป็นหนึ่งในประเทศที่เปิดกว้างที่สุดในโลก และอนุญาตให้ต่างชาติถือหุ้น 100% ในลงทุนได้ถึงมากกว่า 99% ของประเภทธุรกิจ “ยกเว้นบางส่วน การลงทุนจากต่างประเทศ 100% ได้รับอนุญาตให้ลงทุนในธุรกิจและอุตสาหกรรมเกือบทั้งหมดในกัมพูชา ทำให้กัมพูชาเป็นหนึ่งในประเทศที่ดีที่สุดในโลกสำหรับการลงทุนจากต่างประเทศ”

    กัมพูชาไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติซื้อที่ดินในประเทศ แต่สามารถเป็นเจ้าของคอนโดมิเนียมหรืออพาร์ตเมนต์ได้ตั้งแต่ชั้นหนึ่งขึ้นไป ภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ในกัมพูชาจัดเก็บแบบคงที่ที่ 20%

    การยกเว้นภาษีสำหรับการลงทุนจากต่างประเทศในกัมพูชามีตั้งแต่ 3 ปีถึง 9 ปี อุตสาหกรรมต่างๆ ยังได้รับอนุญาตให้นำเข้าวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ก่อสร้างโดยไม่ต้องเสียภาษี เจ้าหน้าที่ CDC กล่าว

    จากข้อมูลของจันโมนีข้อได้เปรียบอีกประการหนึ่งของการลงทุนในกัมพูชา คือ การที่กัมพูชามีข้อตกลงการค้าทวิภาคีกับมหาอำนาจทางอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก เช่น จีนและเกาหลีใต้ ขณะนี้กัมพูชากำลังจะตกลงทำสนธิสัญญาการค้าทวิภาคีกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่เรียกว่าข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม (Comprehensive Economic Partnership Agreement:CEPA)

    “ข้อตกลงกับยูเออีอยู่ในขั้นตอนสุดท้าย การเจรจาเสร็จสิ้นแล้วและกำลังดำเนินการทางกฎหมาย”

    ในฐานะประเทศสมาชิกอาเซียน กัมพูชายังได้รับประโยชน์ทางการค้าทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ยังเป็นสมาชิกของความตกลงหุ้นส่วนความร่วมมือระดับภูมิภาค (RCEP) ที่แข็งแกร่งจำนวน 15 ประเทศ

    จันโมนีบอกกับคณะผู้แทนอินเดียว่า อีกวิธีหนึ่งในการลงทุนในกัมพูชา คือ ผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน(public-private partnership) กัมพูชามีตัวอย่างที่ดีของการลงทุนประเภทนี้ เช่น ทางด่วนสายพนมเปญ-สีหนุวิลล์ มูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเปิดให้สัญจรเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว

    “เรายังมีโครงการอื่นๆ อีก เช่น ทางด่วนพนมเปญ-บาเวต และทางด่วนพนมเปญ-เสียมราฐ”

    จันโมนีกล่าวว่า บทบาทของ CDC ไม่ได้จบเพียงแค่การอนุมัติโครงการลงทุนต่างประเทศเท่านั้น “เราอำนวยความสะดวกในโครงการต่างๆ เราช่วยนักลงทุนในการเชื่อมโยงกับพันธมิตรทางธุรกิจ นอกจากนี้เรายังให้การดูแลหลังการลงทุนแก่นักลงทุนด้วย” จันโมนี กล่าวและว่า ขณะนี้โครงการในกัมพูชาใช้เวลาเพียง 20 วันทำการในการพิจารณาอนุมัติ

    จันโมนีกล่าวว่า ขณะนี้ประเทศกำลังมุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลมากขึ้น และอุตสาหกรรมที่ช่วยในเรื่องนี้สามารถได้รับสิทธิประโยชน์ได้สูงสุด การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทำให้กัมพูชาใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้เร็วขึ้นอย่างน้อย 10 ปี

    อุตสาหกรรมอื่นที่สามารถดึงดูดสิทธิประโยชน์จูงใจสูงสุดในกัมพูชา คือ อุตสาหกรรมที่ส่งเสริมเทคโนโลยีสีเขียว เช่น อุตสาหกรรมเพื่อการผลิตพลังงานสีเขียว กัมพูชาเป็นที่รู้จักในด้านความแข็งแกร่งในภาคส่วนนี้ เนื่องจากความต้องการพลังงานมากกว่า 60% ของกัมพูชาได้รับการตอบสนองจากพลังงานสีเขียว โดยเฉพาะไฟฟ้าพลังน้ำ

    คณะผู้แทนธุรกิจของอินเดียซึ่งมีสมาชิกเกือบ 50 คนเดินทางเยือนกัมพูชาเป็นเวลา 3 วัน ได้เข้าร่วมการประชุมหลายครั้งกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงเพื่อทำความเข้าใจประเทศให้ดียิ่งขึ้น และยังจัดการหารือกับนักธุรกิจกัมพูชาเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของโครงการร่วมและการลงทุนในกัมพูชา

    ไทย-เวียดนาม-กัมพูชา-อินเดีย ผู้นำส่งชิปเข้าสหรัฐ

    ที่มาภาพ:https://www.khmertimeskh.com/501269708/four-asian-nations-including-cambodia-lead-us-chip-diversification-move/
    ไทย เวียดนาม อินเดีย และกัมพูชา ขึ้นแท่นผู้นำส่งออกชิปในช่วงต้นปีนี้ เนื่องจากการผลิตเซมิคอนดักเตอร์เริ่มถอยห่างจากศูนย์กลางแบบดั้งเดิม เช่น ไต้หวันและจีน

    เพิ่มขึ้น 17% จากปีที่แล้วเป็น 4.86 พันล้านดอลลาร์ในเดือนกุมภาพันธ์ จากข้อมูลของ Census Bureau ของสหรัฐ โดยเอเชียคิดเป็น 83% ของทั้งหมด อินเดียมียอดจัดส่งเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มขึ้น 34 เท่าเป็น 152 ล้านดอลลาร์ ขณะที่กัมพูชาเติบโตได้ดีทีเดียวถึง 698% คิดเป็นมูลค่า 166 ล้านดอลลาร์ น้อยกว่าญี่ปุ่น ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนในปีที่ผ่านๆมา

    เวียดนามและไทยซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดการผลิตชิปที่ใหญ่กว่ามาก ทำให้การค้ากับสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 75% และ 62% ตามลำดับ เวียดนามมีสัดส่วนมากกว่า 10% ของการนำเข้าของสหรัฐฯ เป็นเวลา 7 เดือนติดต่อกัน

    เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ แสดงความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับการที่ประเทศของตนพึ่งพาซัพพลายเออร์จากต่างประเทศมากเกินไป เช่น ไต้หวันและเกาหลีใต้ สำหรับการผลิตชิปที่ล้ำหน้าที่สุด “การพึ่งพาชิปของไต้หวันนั้นไม่สามารถป้องกันได้และไม่ปลอดภัย” Gina Raimondo รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ กล่าวในงาน Aspen Security Forum ประจำปีในโคโลราโดในเดือนกรกฎาคมปีก่อน

    ตัวเลขในเดือนกุมภาพันธ์เป็นข้อมูลล่าสุดที่แสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ กระจายห่วงโซ่อุปทานอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงผ่านการดำเนินการต่างๆ เช่น การย้ายฐานการผลิต iPhone ของ Apple Inc. จากจีนไปยังที่ต่างๆ เช่น อินเดีย มาเลเซียซึ่งเป็นฐานที่มั่นดั้งเดิมสำหรับบรรจุภัณฑ์ชิปยังคงเป็นผู้นำในการนำเข้าของสหรัฐฯ แต่ส่วนแบ่งลดลงเหลือ 20% ของยอดรวมในเดือนกุมภาพันธ์

    เซมิคอนดักเตอร์เป็นส่วนประกอบอัจฉริยะที่สำคัญในทุกสิ่ง ตั้งแต่คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ ไปจนถึงเครื่องใช้ในบ้าน และความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ลงระหว่างวอชิงตันและปักกิ่งได้บีบให้แต่ละประเทศต้องทบทวนกลยุทธ์การจัดหาใหม่ ไต้หวันซึ่งมักเป็นจุดสนใจระหว่างสองประเทศนี้ เพิ่มการส่งออกไปยังอเมริกา 4.3% จากปีที่แล้ว และคิดเป็น 15% ของการนำเข้าทั้งหมด