ThaiPublica > เกาะกระแส > เคล็ดลับความสำเร็จ 6 ทายาทธุรกิจ รางวัลเอสเอ็มอี Bai Po Business Awards

เคล็ดลับความสำเร็จ 6 ทายาทธุรกิจ รางวัลเอสเอ็มอี Bai Po Business Awards

2 มีนาคม 2023


ธนาคารไทยพาณิชย์ และสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเห็นความสำคัญในการส่งเสริมเอสเอ็มอีไทยให้แข็งแกร่ง พร้อมผลักดันให้เข้มแข็ง และสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนภายใต้การแข่งขันที่รุนแรงในยุคดิจิทัลดิสรัปชัน ได้ร่วมประกาศผลรางวัลเกียรติยศแห่งความภาคภูมิใจของเอสเอ็มอีไทย “Bai Po Business Awards by Sasin” ครั้งที่ 18 ยกย่อง 6 ผู้ประกอบการไทยที่ประสบความสำเร็จในมิติที่มีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ ให้เข้มแข็งและสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ภายใต้การแข่งขันที่รุนแรงในยุคดิจิทัลดิสรัปชัน

ในช่วงเปลี่ยนวิกฤติโควิด-19 ถือเป็นความท้าทายของเอสเอ็มอีไทย ซึ่งไม่เพียงต้องปรับธุรกิจเพื่อความอยู่รอด แต่ต้องปรับตัวไปพร้อมกับเมกะเทรนด์โลก ต้องขับเคลื่อนธุรกิจบนให้อยู่รอดอย่างยั่งยืนได้ 6 ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้เปิดเผยเคล็ดลับความสำเร็จในการพาธุรกิจเอสเอ็มอีผ่านช่วงวิฤติโควิด-19 และปรับตัวเข้ากับเมกะเทรนด์โลก โดยสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าไปพร้อมกับพนักงานในบริษัท จนทำให้ธุรกิจเกิดความยั่งยืนได้

ศิริบัญชา คุณภาพที่คุณมั่นใจสร้าง Brand Trust ต่อลูกค้า


ความสำเร็จของ “ศิริบัญชา” มาจากคุณภาพ จากการเปิดเผยของ “สรวิศร์ กิจเจริญโรจน์” กรรมการผู้จัดการ ทายาทธุรกิจรุ่น 2 กว่า 70 ปี ที่บริษัทศิริบัญชา ผลิตและจำหน่ายเวชภัณฑ์แอลกอฮอล์ภายใต้แบรนด์ศิริบัญชา ต่อยอดความแข็งแกร่งของแบรนด์ให้ยืนหนึ่งในใจลูกค้าอย่างต่อเนื่อง

“กลยุทธ์การรักษาจุดยืนด้านคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐานอยู่เสมอ ดังสโลแกน ‘ศิริบัญชา คุณภาพที่คุณมั่นใจ’ จึงทำให้เกิด Brand Trust ต่อลูกค้า เติบโตได้อย่างมั่นคง”

สรวิศร์เชื่อว่า ความสามารถปรับตัวให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้ในหลากหลายมิติคือหัวใจสำคัญ โดยที่ผ่านมาแบรนด์ศิริบัญชามีกลุ่มลูกค้าผู้สูงอายุ แต่หลังจากนี้เตรียมจะขยายไปสู่แม่และเด็ก โดยได้พัฒนานวัตกรรมสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มนี้มากขึ้น

คุณภาพของสินค้าทำให้ได้รับความเชื่อมั่นจากกลุ่มผู้ใช้มายาวนาน ทุกคนจำได้เพราะศิริบัญชาเป็นผู้ริเริ่มทำแอลกอฮอล์เป็นสีฟ้ารายแรก เพื่อสื่อถึงความสะอาด และสร้างความแตกต่างให้ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดการจดจำแบรนด์ได้ รวมถึงผลิตยาสมุนไพรแผนโบราณภายใต้แบรนด์โยคีก็ยึดกลยุทธ์เดียวกัน คือ คุณภาพที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้

รางวัลที่ได้รับเป็นเครื่องยืนยันว่า สิ่งที่ทำอยู่คือการควบคุมคุณภาพสินค้าให้เข้าไป trust ต่อลูกค้า ในหลากหลายมิติ เป็นความภูมิใจของศิริบัญชา และทำให้พาตัวเองสู้เพื่อไปสู่จุดต่อไปให้ได้

สรวิศมั่นใจว่า กลยุทธ์การรักษาจุดยืนด้านคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐานอยู่เสมอ จึงทำให้เกิด brand trust ต่อลูกค้า ดังนั้น แม้ว่าจะมีคู่แข่งรายใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายในยุคที่แอลกอฮอล์กลายเป็นของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน ศิริบัญชาก็ยังคงเติบโตได้อย่างมั่นคง และสามารถปรับตัวให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้ในหลากหลายมิติมากขึ้น “

บริษัทศิริบัญชาได้รับรางวัลในมิติ การบริหารจัดการด้านสินค้าและบริการที่สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า (customer-focused product and service), การบริหารจัดการด้านการสร้างตราสินค้าและการตลาด (branding and marketing) และการสร้างธุรกิจด้วยพลังแห่งการเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneurship)

บีซีแอล 2002 นวัตกรรมช่วยเปลี่ยนผ่านวิกฤติธุรกิจสิ่งทอ


ส่วนเคล็ดลับความสำเร็จของ “ไชยยศ รุ่งเจริญชัย” กรรมการ บริษัท บีซีแอล 2022 จำกัด ทายาทธุรกิจรุ่นที่ 3 ที่พาองค์กรผ่านวิกฤติช่วงขาลงของธุรกิจสิ่งทอและผ่านวิกฤติช่วงโควิด-19 คือการทุ่มงบประมาณสร้างนวัตกรรมเพื่อยกระดับธุรกิจสิ่งทอทั่วไป สู่สิ่งทอทางการแพทย์

ไชยยศเล่าว่า จุดเริ่มต้นธุรกิจโรงงานสิ่งทอ (OEM) ของครอบครัวซึ่งเริ่มเผชิญกับปริมาณคู่แข่งในตลาดที่มีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากไม่สร้างความแตกต่างให้ธุรกิจก็ยากที่จะพิชิตคู่แข่ง เมื่อมีโอกาสไปดูงานแสดงสินค้าที่ต่างประเทศ และได้รับแรงบันดาลใจในการที่จะพัฒนาสินค้าไปสู่การผลิตสิ่งทอทางการแพทย์

ไชยยศเห็นว่านวัตรกรรมเป็นสิ่งสำคัญ จึงใช้งบประมาณจำนวนมากในการพัฒนาวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรม พร้อมมองหาเทคโนโลยีที่จะมาสร้างความแตกต่างและเพิ่มมูลค่าให้สินค้าเดิมที่มีอยู่ จนคิดค้นนวัตกรรมเส้นใย PERMA Nano Zinc ที่ช่วย Anti-Bacteria นำมาผลิตเป็นสิ่งทอทางการแพทย์ ได้แก่ ชุดบุคลากรทางการแพทย์ ชุดคนไข้ ผ้าพันแผล เสื้อกีฬา ถุงเท้า

คุณสมบัติเส้นใยเพอร์มา “PERMA” ผสานนาโนซิงก์ (nano zinc) ฝังแน่นเข้าไปในเส้นใย และกระจายตัวลงไปในระดับอนุภาคของเส้นใยอย่างสม่ำเสมอ มีประสิทธิภาพคงทนต่อการซักได้มากกว่า 150 ครั้ง โดยที่คุณสมบัติในการต้านแบคทีเรียและไวรัสยังคงเหลืออยู่ถึง 99.93% สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและไวรัสบางชนิดได้อย่างคงทนถาวร เมื่อนำไปซักล้างจะไม่มีการหลุดลอกออกไปกับน้ำ ปลอดภัยทั้งในด้านการดูแลสุขภาพของผู้สวมใส่ และการดูแลสิ่งแวดล้อมโลกด้วย

นอกจากนี้ ยังได้ผลิตภัณฑ์พลาสติกยับยั้งแบคทีเรีย โดยใช้เทคโนโลยีฝังนาโนซิงก์ในเส้นใยช่วยรักษาคุณสมบัติด้านการยับยั้งแบคทีเรียได้แบบถาวร และทำให้ไม่มีโลหะหนักหลุดลอกออกมาปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม โดยผ่านการทดสอบความปลอดภัยระดับสากล ว่าไม่มีสารที่ก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อเซลล์ในร่างกายมนุษย์ได้เป็นรายแรกและรายเดียวในประเทศไทย

บริษัท บีซีแอล 2022 จำกัด ได้รับรางวัลในมิติ องค์กรที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (sustainable business practice), องค์กรที่มีการสร้างสรรค์นวัตกรรม (innovative enterprise) และการสร้างธุรกิจด้วยพลังแห่งการเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneurship)

ฟู้ด อีควิปเม้นท์ “พนักงาน -ลูกค้า” คือคนในครอบครัว


ส่วนเคล็ดลับของ บริษัท ฟู้ด อีควิปเม้นท์ จำกัด ซึ่ง “สุธาทิพย์ ตุลยานันต์” ประธานกรรมการบริหาร บอกว่า บริษัทมองพนักงานทุกคนเป็นคนในครอบครัว เพราะฉะนั้น key message ที่บริษัทประสบความสำเร็จได้ มาจากเรื่องของคุณธรรม

“เรามองธุรกิจและมองตัวเองว่าเป็นบริษัทที่ทำตัวเองเหมือนนางงามมิตรภาพ ให้ใจ กับลูกน้องให้ใจกับซัพพลายเออร์ ให้ใจกับลูกค้า เพราะฉะนั้น ธุรกิจเราจึงเติบโตยั่งยืนต่อยอดได้อย่างต่อเนื่อง”

หลังจากรุ่นพ่อแม่บริหารแล้ว สุธาทิพย์คือทายาทรุ่นที่ 2 ที่เข้ามาและให้ความสำคัญกับการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดการบริษัท โดยนำเอาระบบบัญชี ERP ใช้ในการจัดการและวางแผนการใช้ทรัพยากรต่างๆ ขององค์กร

“เอสเอ็มอีทั่วไปคิดว่าต้องประหยัด ไม่อยากลงทุนในโปรแกรมบัญชี แต่การเป็นนักธุรกิจที่ดีจะต้องรู้สุขภาพตัวเอง ต้องบริหารจัดการ มีลูกหนี้เท่าไหร่ มีเจ้าหนี้เท่าไหร่ ที่ต้องจ่ายเงิน กระเป๋าเงินมีเท่าไหร่ อันนี้คือสิ่งแรกที่เราคิดว่าเป็นจุดสำคัญที่ประสบความสำเร็จ”

สุธาทิพย์บอกว่า อยากให้ลูกค้ารัก ถ้ายังทำแบบเดิมต้องกลายเป็นสัตว์ประหลาดตกยุคแน่นอน เพราะต้องมีคนที่เก่งกว่าขึ้นมาอีกมากมาย เพราะฉะนั้น ต้องพัฒนาธุรกิจและฟังเสียลูกค้าว่าเขาต้องการอะไร แม้ว่าจะนำเข้าเครื่องจักมาอย่างไร แต่ท่าไม้ตายของเราคือรักทุกคนเหมือนคนในครอบครัว

เพราะฟังเสียงลูกค้า และเล็งเห็นปัญหาด้านการผลิตอาหารของลูกค้า จึงตั้งใจแก้ปัญหาโดยพัฒนาระบบเครื่องจักรแบบอัตโนมัติ และเกิดแรงบันดาลใจที่จะพัฒนาธุรกิจและขยายกิจการเป็นศูนย์รวมเครื่องจักรแปรรูปอาหารสำหรับธุรกิจอุตสาหกรรมผลิตอาหาร

เช่น เครื่องสไลซ์เนื้อ เครื่องลอกหนังปลา หนังวัว เครื่องขึ้นรูปเบอร์เกอร์ เครื่องถอนขนไก่ เครื่องจักรสำหรับโรงฆ่าสัตว์ ที่มีนวัตกรรมที่ช่วยป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุในการใช้งานและลดปริมาณของเสียที่จะออกสู่สิ่งแวดล้อม และนับเป็นเจ้าแรกๆ ที่บุกเบิกตลาดออนไลน์ ร้านอาหารตามห้าง โรงงาน โรงแรม จนถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น CP, Betagro, Makro เป็นต้น

สุธาทิพย์บอกว่า ไม่อายที่จะใช้คำว่า ฟู้ด อีควิปเม้นท์ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของยักษ์ใหญ่ในธุรกิจการแปรรูปอาหาร เพราะฟู้ด อีควิปเม้นท์ให้คำปรึกษาแนะนำ solution นวัตกรรมการผลิตเครื่องจักรที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละราย รวมถึงมีบริการ after service ให้กับลูกค้าครอบคลุมห่วงโซ่การผลิตและแปรรูปอาหารทั้งระบบอีกด้วย

บริษัท ฟู้ด อีควิปเม้นท์ จำกัด ผ่านวิกฤติโควิด-19 โดยไม่ปลดพนักงานออก และเชื่อว่าต้องรอดไปด้วยกัน จนทำให้ได้รับรางวัลในมิติการบริหารจัดการด้านสินค้าและบริการที่สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า (customer-focused product and service), การสร้างธุรกิจด้วยพลังแห่งการเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneurship) และองค์กรที่มีการสร้างสรรค์นวัตกรรม (innovative enterprise) ด้วยพลังแห่งการเป็นผู้ประกอบการ

พี.วี.ที. “คิดนอกรอบ-สร้างนวัตกรรมของตัวเอง”


ขณะที่ น.สพ.ธนันต์ ลีละยูวะ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท พี.วี.ที. แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ได้รับรางวัลในมิติองค์กรที่มีการสร้างสรรค์นวัตกรรม (innovative enterprise), การบริหารจัดการด้านสินค้าและบริการที่สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า (customer-focused product and service) และการสร้างธุรกิจด้วยพลังแห่งการเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneurship)

น.สพ.ธนันต์ บอกว่า เริ่มกลับเข้ามาช่วยธุรกิจที่บ้านในช่วงที่เรียนต่อปริญญาเอก โดยแนวคิดของธุรกิจรุ่นพ่อคือการเป็นตัวแทนจำหน่ายสารถนอมอาหารสัตว์จากต่างประเทศ แต่เขาคิดนอกกรอบ เริ่มมองเห็นว่าการพึ่งพาซัพพลายเออร์ไปตลอดอาจทำให้ธุรกิจเผชิญกับความเสี่ยง จึงมุ่งคิดค้นและพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์ของตนเอง และสามารถพัฒนาสารถนอมคุณภาพอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นสารที่ใช้เติมในกระบวนการผลิตอาหารสัตว์ ทำให้ปลอดภัยจากการปนเปื้อนได้สำเร็จ

สารถนอมคุณภาพอาหารสัตว์ที่คิดค้นขึ้น ผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO 9001:2015 GHP HACCP FAMI-QS ผลิตและจำหน่ายสารถนอมคุณภาพอาหารสัตว์ ที่มีคุณสมบัติช่วยป้องกันเชื้อราและแบคทีเรียที่จะก่อโรคในระบบทางเดินอาหารสัตว์ และผลิตเครื่องจ่ายน้ำยาสำหรับใช้ในการถนอมอาหารสัตว์ ที่มีการจดสิทธิบัตรในระดับนานาชาติ

เอกราช สร้างกล่องผลิตภัณฑ์ที่แตกต่าง


หลายคนอาจจะคิดว่าธุรกิจผลิตกล่องไม่มีอะไรซับซ้อน ท้าทาย แต่อัญญารัตน์ จริยาสมานฉันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอกราชอุตสาหกรรมกระดาษ จำกัด ทายาทรุ่น 2 บอกว่า การผลิตกล่องไม่ใช่เรื่องง่ายที่ตอบโจทย์ลูกค้าอย่างครบวงจร

จุดเริ่มต้นของบริษัทมาจากความเชี่ยวชาญของรุ่นพ่อ คือ การออกแบบดีไซน์ บริษัทจึงเป็นผู้เชี่ยวชาญการออกแบบและผลิตกล่องกระดาษ ซึ่งในระยะเริ่มแรกจะเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าผู้ส่งออกเฟอร์นิเจอร์และกลุ่มผู้ส่งออกผลไม้

แต่เมื่อถึงช่วงสภาพเศรษฐกิจขาลง ฐานลูกค้ากลุ่มเฟอร์นิเจอร์เริ่มย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น ส่วนกลุ่มส่งออกผลไม้ก็มีข้อจำกัดเรื่องฤดูกาล ยอดซื้อที่เคยมีก็เริ่มหดหาย

การปรับกลยุทธ์กระจายความเสี่ยงแทนที่จะโฟกัสเพียงตลาดใดตลาดหนึ่ง ลงมือศึกษาความต้องการของลูกค้าจนเล็งเห็นจุดอ่อน นำมาสร้างจุดเปลี่ยนของธุรกิจให้กลายเป็นผู้ให้คำปรึกษา รับออกแบบ และผลิตกล่องกระดาษครบวงจรโดยไม่จำกัดจำนวนผลิตขั้นต่ำ นับเป็นการสร้างความแตกต่างที่ตอบโจทย์ตรงใจลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการรายย่อย และร้านค้าออนไลน์

นอกจากนี้ ยังมีระบบการพิมพ์ offset inkjet และ digital ได้แก่ กล่องกระดาษลัง กล่องกระดาษออฟเซ็ท กล่องกระดาษไร้สารตกค้าง กล่องทนน้ำและกันไฟ รวมถึงมีการสร้างแบรนด์กล่องกระดาษของตนเอง ภายใต้ชื่อ Click Boxes รองรับธุรกิจค้าขายออนไลน์

บริษัท เอกราชอุตสาหกรรมกระดาษ จำกัด ได้รับรางวัลในมิติการบริหารจัดการด้านสินค้าและบริการที่สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า (customer-focused product and service) และการสร้างธุรกิจด้วยพลังแห่งการเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneurship)

“ให้ใจพนักงาน-ให้ใจลูกค้า” คือกุญแจความสำเร็จ


สุชานันท์ อัจฉริยสุชา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มมีเน้นซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้รับรางวัลในมิติการบริหารจัดการด้านสินค้าและบริการที่สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า (customer-focused product and service), การบริหารจัดการด้านบุคลากร (people excellence) และการสร้างธุรกิจด้วยพลังแห่งการเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneurship)

สุชานันท์บอกว่า ครอบครัวรุ่นพ่อแม่ ทำธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมการแพทย์มายาวนานกว่า 51 ปี เคยมีช่วงที่องค์กรมีปัญหาภายในและขาดความเชื่อมั่นจากลูกค้าจึงตัดสินใจ transform การบริหารองค์กรใหม่โดยเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารจากเดิมที่ใช้ระบบ centralized มาเป็น decentralized เพื่อกระจายอำนาจและป้องกันความเสี่ยงให้กับธุรกิจ

แต่สิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญ คือ การสร้างทีมงานที่มีเคมีตรงกัน นอกจากการสร้างแล้วก็ยังรักษาทีมงานเอาไว้ด้วย เพราะว่าเชื่อว่าถ้าดูแลพนักงานดี เขาจะไปดูแลลูกค้าได้ดี และทำให้เป็นวงจรที่สร้างสังคมให้ดีขึ้น “เราเชื่อแบบนั้น เราเชื่อเรื่องของการดูแลพนักงานและทีมงานมาก”

ส่วนเรื่อง entrepreneurship หรือการเป็นผู้ประกอบการที่ดี สุชานันท์บอกว่า หลักคิดของบริษัทคือต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน เพราะว่าถ้าเราเป็นผู้นำองค์กร ต้องเป้าหมายชัดเจน และคนในองค์กรมองเห็นภาพเดียวกัน และลงมือทำและทำผิดบ้างถูกบ้างคือการเรียนรู้ไปพร้อมกับพนักงานจะเห็นปัญหาและค่อยๆ แก้ไปพร้อมกัน

สิ่งสำคัญคือการเน้นการปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรให้พนักงานมีความซื่อสัตย์ อยู่กันเป็นครอบครัว เพื่อให้มีความพร้อมที่จะดูแลลูกค้าให้ดีที่สุดเช่นกัน โดยมีเป้าหมายที่จะนำนวัตกรรมทางการแพทย์มาสู่คนไทย เป็น solution provider ด้วยแนวคิดของการส่งต่อสุขภาพที่ดีให้คนไทย “The Promise of Health”

เช่น เครื่องละลายพลาสมา เครื่องพ่นละอองยา เครื่องนับเม็ดยา อุปกรณ์ด้านทันตกรรม ถุงเก็บโลหิต เครื่องวัดความดัน รวมถึงมีการผลิตสินค้าสำหรับผู้บริโภค ภายใต้แบรนด์ตนเองด้วย เช่น เครื่องล้างทำความสะอาดรีเทนเนอร์หรือฟันปลอมด้วยระบบอัลตราโซนิก และเม็ดฟู่ทำความความสะอาดตรา Furano

บริษัท เอ็มมีเน้นซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้รับรางวัลในมิติการบริหารจัดการด้านสินค้าและบริการที่สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า (customer-focused product and service), การบริหารจัดการด้านบุคลากร (people excellence) และการสร้างธุรกิจด้วยพลังแห่งการเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneurship)

  • 7 เอสเอ็มอีไทยคว้ารางวัล Bai Po Business Awards ครั้งที่ 17 ในยุควิกฤติ
  • เคล็ดลับความสำเร็จ 6 ทายาทธุรกิจ รางวัลเอสเอ็มอี Bai Po Business Awards
  • ไทยพาณิชย์ส่งเสริมศักยภาพเอสเอ็มอี


    ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย นายกกรรมการ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ปี 2566 เทรนด์ที่กำลังมาแรงและทั่วโลกกำลังให้ความสนใจคือด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรหมุนเวียน รวมถึงคาร์บอนเครดิต ดังนั้น เอสเอ็มอีไทยต้องเดินหน้าธุรกิจด้วยแนวคิดการสร้างความยั่งยืนโดยการนำแนวคิด ESG มาเป็นกรอบการพัฒนาขับเคลื่อนธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งจะสามารถช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันได้

    ด้านนายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ธนาคารไทยพาณิชย์มุ่งส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยเพื่อตอบโจทย์ทุกความต้องการที่มากกว่าเรื่องการเงิน ทั้งการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลาย การส่งเสริมความรู้ที่เป็นประโยชน์ผ่านโครงการอบรม สัมมนาต่างๆ รวมถึงการสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจที่จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ผู้ประกอบการ ถ้ากลุ่มเอสเอ็มอีเข้มแข็งประเทศก็อยู่รอด เพราะเอสเอ็มอีไทยเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

    การพิจารณาตัดสินรางวัล Bai Po Business Awards by Sasin ประกอบด้วยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายแขนง จนได้เอสเอ็มอี 6 รายที่มีความโดดเด่น และเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในการไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่แต่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจให้อยู่รอดได้ในทุกสถานการณ์ ด้วยพลังแห่งการเป็นผู้ประกอบการ