ThaiPublica > คอลัมน์ > วิธีดูนโยบายรัฐและพรรคการเมือง เพื่ออำนาจหรือประชาชน

วิธีดูนโยบายรัฐและพรรคการเมือง เพื่ออำนาจหรือประชาชน

8 มีนาคม 2023


กฤษฎา บุญชัย

การเลือกตั้งกำลังจะมา ปี่กลองโหมประโคมนโยบายต่างๆ ของพรรคการเมืองก็เริ่มเซ็งแซ่ ปรากฏตามการหาเสียง เวทีดีเบตมากมาย ทุกพรรคต่างก็ล้วนชูนโยบายที่ดูเหมือนจะช่วยนั่นช่วยนี่แก่ประชาชน แต่เราจะมีวิธีดูอย่างไรว่านโยบายเหล่านั้นจะทำให้ประเทศชาติดีขึ้น โดยเฉพาะในบริบทที่เรามีโครงสร้างความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองสูงมาก มีโครงสร้างความรุนแรงที่ทำให้ผู้คนลำบากยากแค้น เกิดความขัดแย้งขยายตัว

โดยทั่วไปนักวิชาการจะมาเสนอวิธีดูนโยบายแบบ “มาตรฐานสากล” เช่น ดูว่าจะเอางบฯ ที่ไหนมาดำเนินการ มีรูปธรรมจับต้องได้ชัดเจนมั้ย หรือย่ำรอยปัญหาเดิมที่เคยทำมาหรือไม่

ในฐานะที่ผมมีประสบการณ์อยู่บ้างในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะจากประชาชนด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ยั่งยืนจากฐานราก เช่น สิทธิชุมชนจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ป่าชุมชน โฉนดชุมชน ความมั่นคงและอธิปไตยทางอาหาร นโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ไม่เอาตลาดคาร์บอน ฯลฯ ซึ่งมักเป็นข้อนโยบายที่ขัดแย้ง ย้อนศรกับระบบอำนาจและรัฐที่มุ่งผูกขาดทรัพยากร และเปลี่ยนทรัพยากรให้กลายเป็นกำไรของกลุ่มทุนและเครือข่ายผลประโยชน์ โดยแย่งชิงทรัพยากรไปจากชุมชนทำให้เกิดความจนและความเหลื่อมล้ำ และยังอ้างความชอบธรรมด้วยการ “ฟอกเขียว” นานาประการ

ดังนั้น ผมจึงมีวิธีดูนโยบายในแบบที่กลับหัวกลับหาง และผมก็ใช้วิธีดูนโยบายเหล่านี้ในการตั้งคำถาม ตรวจสอบนโยบายของรัฐและพรรคการเมืองต่างๆ โดยที่ยังไม่จำเป็นต้องลงลึกในเนื้อหาของนโยบายนั้นๆ จึงขอแบ่งปันให้ผู้อ่านได้ลองนำไปพิจารณาดูครับ

ประการแรก การกำหนดปัญหาอันเป็นที่มาของนโยบายต้องเห็นปัญหาอำนาจนิยม และความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรมของโครงสร้างที่ทั้งละเมิดสิทธิ เสรีภาพ ของประชาชน แม้นโยบายนั้นๆ อาจจะไม่เกี่ยวกับการเมืองโดยตรง แต่อาจเป็นเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สุขภาพ ฯลฯ แต่ในทุกมิติล้วนมีปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้ดำรงอยู่ และสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน

การวิเคราะห์ปัญหาอันเป็นจุดตั้งต้นทางนโยบาย หากข้อเสนอใดๆ จากรัฐหรือพรรคการเมืองมืดบอดกับปัญหาเหล่านี้ อีกทั้งยังยอมรับสภาวะดังกล่าวราวกับไม่เป็นปัญหา เช่น แนวนโยบายยิ่งเสริมการรวมศูนย์ การใช้อำนาจของรัฐให้เข้มข้น ดังกรณีนโยบายรัฐด้านการจัดการป่าที่มีลักษณะอำนาจนิยมสูง หรือเป็นแนวนโยบายที่ส่งเสริมตลาดเสรีโดยไม่ใยดีการเปิดช่องให้เอกชนเข้ามาแย่งยึด แปลงทรัพยากรสาธารณะให้เป็นผลประโยชน์ส่วนตน ดังเช่นการจัดสรรที่ดินโดยไม่สนใจกระจายอำนาจ การลดก๊าซคาร์บอนฯ เพื่อลดโลกร้อนโดยไม่ตั้งคำถามต่อคาร์บอนเครดิตที่นำไปสู่การฟอกเขียว การแก้ปัญหาประมงแต่ไปส่งเสริมประมงพาณิชย์รายใหญ่ กดดันปิดกั้นประมงพื้นบ้าน ฯลฯ แนวนโยบายเหล่านี้ควรโยนทิ้งไปแต่แรก

ประการที่สอง แนวนโยบายนั้นควรจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ เอกชน และประชาชนใหม่ จากเดิมที่เน้นรัฐเป็นกลไกรับเหมาการจัดสาธารณะในทุกเรื่องชีวิตของประชาชน (อาหาร สุขภาพ การศึกษา พลังงาน ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม การทำงาน ฯลฯ) หรือในด้านกลับกันก็ส่งเสริมบทบาทเอกชนให้มีบทบาทนำในทางเศรษฐกิจ การจัดความสัมพันธ์แบบนี้นำไปสู่สภาวะรวมศูนย์อำนาจเชิงซ้อน คือ รัฐรวบอำนาจและเอกชนผูกขาดเศรษฐกิจ ดังนั้น แนวนโยบายจะเล็กหรือใหญ่ควรต้องปรับความสัมพันธ์ใหม่ โดยจำกัดอำนาจรัฐในการดำเนินกิจการสาธารณะและเปิดทางให้สังคม ประชาชนมีส่วนร่วมดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยรัฐจะทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนให้สังคมส่วนต่างๆ มีสิทธิ เสรีภาพ และศักยภาพในการดำเนินการสาธารณะอย่างมีนัยสำคัญ ขณะเดียวกันรัฐก็ทำหน้าที่คุ้มครองไม่ให้ระบบตลาด ไม่ให้ทุนเข้ามาสร้างความอ่อนแอให้กับชีวิตสาธารณะของประชาชน ให้รัฐร่วมกับสังคมกำกับให้กลไกตลาด การเคลื่อนไหวของภาคทุนมีความรับผิดชอบ และส่งเสริมประโยชน์สาธารณะร่วมของประชาชน

ประการที่สาม เป้าหมายนโยบายต้องมุ่งสร้างความเป็นธรรมของสังคม มีแนวนโยบายมากมายที่เน้นการช่วยเหลือ สงเคราะห์ หรือสร้างแรงจูงใจให้กับกลุ่มต่างๆ เพื่อเข้มแข็งขึ้น หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างให้มาสู่ทิศทางที่ถูกต้อง อันนำมาสู่การเลือกปฏิบัติต่อคนแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกัน การเลือกปฏิบัติไม่ใช่สิ่งที่ผิดโดยตัวมันเอง หากแต่ต้องเป็นไปเพื่อความเป็นธรรมในสังคม เช่น การเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าที่ดินและทรัพย์สินแก่ผู้ถือครองที่ดินและทรัพย์สินจำนวนมาก ก็เพื่อให้เกิดการกระจายที่ดินและทรัพย์สินเหล่านี้สู่คนยากจนและสาธารณะ หรือการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าต่างๆ เพื่อมาสร้างระบบสวัสดิการให้กับประชาชนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม หากแต่นโยบายใดๆ ที่สร้างแรงจูงใจ สิทธิประโยชน์แก่คนบางกลุ่ม และลิดรอนสิทธิคนบางกลุ่มโดยที่ผลลัพธ์จะนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางสังคมสูงยิ่งขึ้น หรือยังคงรักษาสืบเนื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคมเหล่านั้นไว้ เราก็ไม่ควรยอมรับนโยบายเหล่านั้น

ประการที่สี่ ประชานิยมได้แต่ต้องเปลี่ยนผ่านสู่ความเข้มแข็งของประชาชน นโยบาย “ประชานิยม” (populism) มีรากฐานมาจากการที่รัฐเห็นความเดือดร้อนประชาชน จำเป็นต้องเร่งลงมือช่วยอย่างเร่งด่วน เช่น วิกฤติเศรษฐกิจ วิกฤติภัยธรรมชาติ วิกฤติโรคระบาด หรืออื่นๆ การที่รัฐจะทุ่มเงินช่วยเหลือประชาชนในระยะเร่งด่วนไม่ได้ผิดอะไร และมีความจำเป็นด้วย หากแต่สถานะนโยบายประชานิยมดังกล่าวควรอยู่ในกรอบนโยบายของการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นธรรมที่ยั่งยืน คือ เปลี่ยนจากความสูญเสีย เสียหาย เปราะบางของประชาชนให้ไปสู่ความเข้มแข็ง พึ่งตนเองได้มากขึ้น และมีอำนาจปกป้องสิทธิ เสรีภาพ ต่อรองกับอำนาจรัฐ ทุน และอื่นๆ เพื่อความเป็นธรรมของตนเองมากขึ้น

หากจะเน้นประชานิยมในระยะแรก จะเป็นประกันราคาพืชผล เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ หรืออื่นๆ ต้องมีกรอบชัดเจนว่าจะมีกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเข้มแข็งของประชาชนโดยมีระบบรองรับสนับสนุนที่ชัดเจนได้อย่างไร การจำนาหรือประกันราคาข้าว ต้องสร้างเงื่อนไขให้เกษตรกรมีความมั่นคงอาหาร มีระบบการผลิตที่พัฒนาทั้งในคุณภาพและปริมาณ มีภูมิคุ้มกันต่อความเสี่ยงนานาประการที่จะเกิดขึ้นได้ โดยมีการจัดสรรทรัพยากร มีสวัสดิการรองรับเพื่อเป็นฐานในการพึ่งตนเองและพัฒนาตนเองได้ก้าวหน้า

ประการที่ห้า แนวนโยบายนั้นๆ ต้องไม่ผูกขาดการปฏิบัติอยู่เฉพาะราชการและทุน เราจะพบเห็นว่ามีนโยบายที่คำสวยๆ มีแนวคิดดีอยู่มากมาย ราวกับว่ารัฐมองปัญหาและเห็นทิศทางสอดคล้องกับข้อเสนอของประชาชน แต่นโยบายเหล่านี้ปฏิบัติงานอย่างไร หากยังกำหนดกลไกนโยบายอยู่เฉพาะหน่วยราชการตามระบบปกติซึ่งสังคมเห็นบทเรียนมาตลอดว่าล้มเหลว เชื่อได้เลยว่าแทนที่จะสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชนแต่จะไปสร้างเสริมอำนาจรัฐสร้างปัญหาเดิมๆ หรือพัฒนาแบบเดิมที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้ เช่นเดียวกันหากโครงสร้างแนวนโยบายนั้นๆ แม้จะเปิดการมีส่วนร่วม แต่เน้นเปิดช่องให้เฉพาะกลุ่มทุนรายใหญ่เข้ามาร่วมเป็นกลไกบริหารนโยบาย ซึ่งหลายกรณีเป็นกลุ่มที่สร้างปัญหาและควรรับผิดชอบต่อปัญหา มีแนวโน้มสูงว่าแนวนโยบายเหล่านี้จะเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน แม้จะไม่คอร์รัปชันแจ่มแจ้ง แต่จะไม่ไปเปลี่ยนโครงสร้างปัญหาที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนเหล่านี้

ดังนั้น กลไกนโยบายที่ก้าวหน้า ควรเป็นกลไกนโยบายในรูปแบบใหม่ที่ไม่ได้มีแต่หน่วยงานรัฐ แต่เป็นพหุภาคีขับเคลื่อนนโยบายทั้งในระดับชาติและท้องถิ่นโดยมีหลายฝ่ายมาร่วมขับเคลื่อน (อาจร่วมมือบางภารกิจ แข่งขันบางภารกิจ หรือแบ่งบทบาทในการบางภารกิจ) โดยเฉพาะประชาชนที่ได้รับผลกระทบในประเด็นนั้นๆ มาร่วมเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย โดยทั้งนี้เน้นการส่งเสริมบทบาทและศักยภาพของประชาชน ให้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนนโยบายเหล่านั้นได้อย่างมีนัยสำคัญ และเป็นอิสระ

ประการที่หก แนวนโยบายควรไปเสริมอำนาจและแรงจูงใจไปที่ประชาชน แม้จะเป็นนโยบายด้านเทคโนโลยี อุตสาหกรรม เศรษฐกิจ บริการที่ดูเหมือนจะเห็นบทบาทเอกชนเป็นหลัก แต่เป็นเอกชนเหล่านั้นเป็นส่วนในโครงสร้างการพัฒนาซึ่งมีรากฐานอยู่ที่ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานในระบบหรือนอกระบบ แรงงานต่างด้าวหรือแรงงานไทย เกษตรกรรายย่อย ชุมชนท้องถิ่น คนจนเมือง ฯลฯ ดังนั้น การสร้างแรงจูงใจ เงื่อนไขการสนับสนุนส่งเสริมต่างๆ ทั้งเรื่องทุน ความรู้ เทคโนโลยี กลไกตลาด การเข้าถึงทรัพยากรสาธารณะ หรืออื่น ๆ ควรจะต้องมุ่งเสริมอำนาจและความเข้มแข็งของประชาชนเป็นฐาน การส่งเสริมภาคเอกชนใดๆ จะต้องนำไปสู่ทิศทางเสริมความเข้มแข็งประชาชนและสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมที่ปลายทางของนโยบาย ไม่เช่นนั้น นโยบายเหล่านี้จะกลายเป็นการขยายความเหลื่อมล้ำ

ประการที่เจ็ด หากเป็นนโยบายที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติต้องมุ่งสู่การความยั่งยืนและเป็นธรรมทางนิเวศและสังคม ไม่ว่าจะเป็นนโยบายจัดการดิน น้ำ ป่า ทะเล แม่น้ำ ประมง ความหลากหลายทางชีวภาพ สภาวะโลกร้อน มลพิษสิ่งแวดล้อม หากข้อเสนอนโยบายที่นำเสนอไม่มองเห็นปัญหาความไม่ยั่งยืน ปัญหาการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างทำลายล้าง ปัญหาการผูกขาด แย่งทรัพยากรฯ ไม่เข้าใจขีดจำกัดของระบบนิเวศ ไม่เข้าใจมิติทางวัฒนธรรมชุมชนที่สัมพันธ์กับนิเวศ ยังมองการจัดการปัญหาแบบแยกส่วนระหว่างปัญหาทรัพยากรฯ สิ่งแวดล้อมกับการพัฒนาทั้งระบบ และไม่เข้าใจหรือยอมรับสิทธิชุมชนในวิถีนิเวศ และการจัดการทรัพยากรฯ ทั้งในฐานะชุมชนถูกละเมิดสิทธิ และในฐานะที่การจัดการนิเวศ และทรัพยากรฯ ร่วมของชุมชนคือหลักพื้นฐานของความยั่งยืนและเป็นธรรมที่โลกให้การยอมรับ

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นนโยบายด้านใดก็ตามๆ ลองเอาวิธีเข้าใจและเสนอนโยบายเหล่านี้ไปใช้ดูครับ เราจะไม่ได้หลงในมายาคติทางภาษาและวาทกรรมของนโยบายอันเกลื่อนกล่น โดยที่ไม่ชัดเจนว่าจะทำให้ประชาชนเข้มแข็ง มีอำนาจหรือมีความเป็นประชาธิปไตยได้จริงหรือไม่