ThaiPublica > เกาะกระแส > ธปท. สมาคมธนาคารไทย สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ประสานพลังยกระดับจัดการภัยทุจริตทางการเงิน

ธปท. สมาคมธนาคารไทย สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ประสานพลังยกระดับจัดการภัยทุจริตทางการเงิน

10 มีนาคม 2023


วันที่ 10 มีนาคม 2566 ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) สมาคมธนาคารไทย และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ได้ร่วมแถลงข่าวความร่วมมือในการยกระดับการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 เพื่อเป็นแนวปฏิบัติขั้นต่ำให้สถาบันการเงิน (สง.) ทุกแห่งปฏิบัติตามเป็นมาตรฐานเดียวกันในการดูแลการทำธุรกรรมทางการเงินตลอดเส้นทาง ทั้งการป้องกัน การตรวจจับ และการตอบสนองและรับมือ ซึ่งจะช่วยการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนทำได้รวดเร็ว และครอบคลุมมากขึ้น

  • ธปท.ออกมาตรการจัดการภัยหลอกลวงทางการเงิน กำหนดเงินโอนสูงสุด/วัน ยืนยันตัวตนด้วย Biometrics
  • นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. กล่าวว่า “ธปท. ในฐานะผู้กำกับดูแล ให้ความสำคัญและไม่นิ่งนอนใจกับปัญหาภัยทางการเงินที่ประชาชนถูกหลอกลวง จึงได้ยกระดับให้เรื่องนี้เป็นความเสี่ยงสำคัญที่ทุกสถาบันการเงินจะต้องดูแลและบริหารจัดการอย่างจริงจัง โดย ธปท. ได้ออกชุดมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน เพื่อช่วยให้ระบบการเงินมีความปลอดภัย สร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการทางการเงิน

    “ชุดมาตรการที่ออกไปและเน้นในสามด้านคือ เพื่อป้องกันภัยทุจริตทางการเงิน การตรวจจับ การติดตาม และมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการรับมือ การตอบสนอง มีจุดที่สำคัญ ที่จะทะยอยเห็นการปฏิบัติที่เป็นรูปธรมในการดูและป้องกันภัยให้กับประชาชน ซึ่งในด้านการป้องกันจะได้เห็นการงดแนบลิ้งก์ ที่มากับ SME และอีเมล ที่ป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพเข้าถึงประชาชนได้ง่าย หรือนำข้อมูลส่วนตัวของประชาชนไปใช้”

    เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติโดยเร็ว ธปท. จึงได้เชิญผู้บริหารของสถาบันการเงินเข้าร่วมประชุมหารือและกำชับให้สถาบันการเงินทุกแห่งเร่งดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว และเตรียมความพร้อมรองรับการดำเนินงานตาม พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสถาบันการเงินทุกแห่ง

    “ธปท.ได้เชิญผู้บริหารธนาคารทุกแห่ง รวมทั้งธนาคารของรัฐมาหารือ และแจ้งแนวทางที่ธนาคารจะต้องดำเนินการเพื่อเร่งให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ซึ่งในทางปฏิบัติผู้บริหารธนาคารให้การตอบรับ และรับที่จะเร่งดำเนินการตามมาตรการของธปท.ซึ่งเป็นมาตรฐานขั้นต่ำโดยเร็ว”

    สำหรับกำหนดเวลาในการพัฒนาระบบและยกระดับ นางสาวสิริธิดากล่าวว่า ธปท.ได้ให้เป็นหลักการว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนสำคัญจำเป็นต้องยกระดับ เป็นความเสี่ยงสำคัญขององค์กรจึงต้องยกระดับดำเนินการ ธนาคารก็ต้องปรับลำดับความสำคัญให้เรื่องนี้มีความสำคัญในอันดับแรกๆ ตางรางเวลาเรื่องนี้มีการกำหนดร่วมกัน ธปท.ก็จะมีการประเมินว่าธนาคารมีการดำเนินการตามที่กำหนดไว้อย่างไร รวมทั้งอาจจะมีการปรับปรุงหรือเพิ่มเติมแนวทาง ให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย เพราะรูปแบบภัยทางการเงินมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

    นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า “สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก ตระหนักถึงผลกระทบของภัยคุกคามทางการเงินที่ทวีความรุนแรง พร้อมยกระดับความปลอดภัยของภาคธนาคาร เพื่อรับมือและจัดการภัยทางการเงินออนไลน์ ตามแนวทางการจัดการภัยทุจริตทางการเงินที่ได้มีการหารือร่วมกับทาง ธปท. ให้ดียิ่งขึ้น ได้แก่ การป้องกัน ภาคธนาคารได้ร่วมมือกันงดการส่งข้อความ SMS ที่แนบลิงก์ในการติดต่อกับลูกค้าในระยะนี้ และเร่งพัฒนาระบบป้องกันการทำธุรกรรมทุจริตอย่างต่อเนื่อง การตรวจจับ ธนาคารสมาชิกอยู่ระหว่างนำเทคโนโลยีมาช่วยตรวจจับธุรกรรมต้องสงสัยให้ได้โดยเร็ว โดยร่วมกันออกแบบและพัฒนาระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทุจริตในภาคธนาคาร (Central Fraud Registry) เพื่อให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชี ธุรกรรมต้องสงสัย และบัญชีม้า ระหว่างธนาคารเพื่อดำเนินการติดตามป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น การตอบสนองและรับมือ จัดให้มีช่องทางติดต่อเร่งด่วน (Hotline) 24 ชั่วโมง ตลอด 7 วัน ลูกค้าที่ตกเป็นเหยื่อสามารถแจ้งเหตุได้โดยตรง ปัจจุบันมีธนาคารสมาชิกหลายแห่งเริ่มดำเนินการแล้ว

    “สมาชิกสมาคมธนาคารไทยให้ความสำคัญกับการป้องกันภัยทางการเงิน และวันนี้มีความชัดเจนถึงมาตรฐานที่ทุกคนจะนำไปปฏิบัติ ซึ่งแบ่งเป็นเกณฑ์ในการป้องกัน การตรวจจับและติดตามธุรกรรมและบัญชีที่ต้องสงสัย และการตอบสนองและรับมือ ทั้ง 3 มาตรการเป็นสิ่งที่เราพยายามมองแบบ end-to-end ตั้งแต่ต้นจนถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น”

    ด้านมาตรการป้องกัน สิ่งที่จะเข้าทั้งทางอินเทอร์เน็ต SMS เทเลคอมต่างๆ ก็ต้องงดการสื่อสารที่เป็นลักษณะมีกิจกรรมที่ต้องกดลิ้งก์ ผ่าน SMS หรือ อีเมล แม้กระทั่ง OTP เป็นการยกระดับเพื่อป้องกัน ส่วนโมบายแบงกิ้งนั้น จำเป็นต้องปรับปรุงให้ทันสมัย ทั้งระบบปฏิบัติการไอโอเอส(ios) หรือแอนดรอย์(andriod) ให้เป็นเวอร์ชันล่าสุดตลอดเวลา เพราะการอัพเดตทุกครั้งเป็นการปิดช่องโหว่

    ส่วนการนำระบบการยืนยันตัวตนแบบ Biometrics ผู้มาใช้บริการอาจจะไม่สะดวกขึ้น แต่ทั้งหมดคือ ความปลอดภัยที่ต้องยกระดับเพื่อรับมือโจทย์ อาชญากรรมทางไวเบอร์รูปแบบใหม่ ที่จะมาพร้อมกับความสะดวกสบาย ซึ่งเป็นระบบที่ทุกธนาคารทะยอยปรับ และโดยภาพรวมของภาคอุตสาหกรรมคาดว่าน่าจะประมาณกลางปีเสร็จเรียบร้อยทุกธนาคาร

    ในส่วนการติดตามจะยังคงดำเนินการส่งข้อมูลธุรกรรมที่ผิดปกติ หรือเมื่อพบการกระทำผิดส่งไปที่ปปง.ต่อไป ขณะที่ทางระบบตรวจธุรกรรมที่เข้าข่ายผิดปกติ 24 ชั่วโมงเพื่อให้สามารถระงับธุรกรรมได้ทันทีที่ตรวจพบนั้นอยู่ระห่างการพัฒนา และแบ่งออกได้ 2 ส่วนหนึ่งคือ แต่ละธนาคารดำเนินการเองโดยตรง ขณะที่ก็ต้อง cross ไปยังธนาคารอื่น cross ไปที่ระบบนิเวศ เพื่อเข้าถึงข้อมูลพฤติกรรมที่น่าสงสัยของผู้ใช้บริการที่อยู่ในข่ายเสี่ยงสูงได้ เพื่อนำข้อมูลมาประมวลในเชิงรุกและสามารถป้องกันให้กับผู้ใช้บริการได้ทันท่วงที ซึ่งต้องใช้เวลา แต่จะทะยอยเสร็จเป็นระยะๆ ภายในสิ้นปีนี้

    ด้านการประสานกับสำนักงาตำรวจแห่งชาติในช่องทางออนไลน์ เพื่อให้ได้ใบแจ้งความเพื่อที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถดำเนินการสืบสวนสอบสวนได้ ธนาคารพาณิชย์ได้ให้ความร่วมมือและได้มีการกำหนดแนวปฏิบัติ กระบวนการซึ่งดำเนินการอยู่แล้ว และเสร็จสิ้นแล้ว แต่การบูรณาการยังมีต่อเนื่อง

    “สำหรับการดูแลรับผิดชอบกลุ่มผู้ใช้บริการ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาเป็นรายๆไป ที่สำคัญธนาคารพาณิชย์ดูแลลูกค้าอยู่แล้ว ลูกค้าก็ต้องระมัดระวังด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นมาตรฐานทั้งหมดนี้จะยกระดับ ให้เห็นว่าธนาคารได้ใส่ใจและศึกษาที่จะติดตามและรู้ทันมิจฉาชีพ เพราะมิจฉาชีพมีการดำเนินการแบบเชิงรุก ดังนั้นต้องปรับภาคผู้ให้บริการ ภาคผู้รับบริการ ภาคผู้กำกับดูแล ระบบนิเวศ ทั้งขาเข้าและขาออกเป็นจุดที่จะเน้นย้ำ”

    สำหรับมาตรการอื่นที่ระบบมีความซับซ้อนต้องใช้เวลาพัฒนา สมาคมฯ และธนาคารสมาชิก จะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จทันตามกรอบเวลา นอกจากนี้ ยังพร้อมร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเช่น ผู้ให้บริการ e-wallet ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อร่วมขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาทุจริตภัยการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ และครอบคลุมทั้งระบบนิเวศแบบ end to end ที่มิจฉาชีพชอบใช้หลอกลวง”

    นายฉัตรชัย ศิริไล ประธานสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ กล่าวว่า “เนื่องจากกลุ่มลูกค้าของสถาบันการเงินของรัฐส่วนใหญ่เป็นลูกค้ารายย่อย ซึ่งมีความเสี่ยงถูกหลอกลวง การดูแลความปลอดภัยในการใช้บริการทางการเงินให้กับลูกค้าจึงเป็นเรื่องสำคัญ สมาคมฯ และสถาบันการเงินสมาชิกพร้อมให้ความร่วมมือกับ ธปท. และสมาคมธนาคารไทยในการจัดการเรื่องดังกล่าว ที่ผ่านมาสถาบันการเงินสมาชิกหลายแห่ง ได้มีแนวทางการป้องกันภัยทุจริตทางการเงินต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง และให้ความรู้ประชาชน โดยเฉพาะการออกประกาศเตือนการไม่ส่งลิงก์ต่่าง ๆ ให้กับลูกค้าและประชาชน และการเปิดศูนย์รับแจ้งเหตุภัยทางการเงิน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงจากการถูกหลอกลวงแล้ว ยังสามารถนำข้อมูลที่ได้รับจากการร้องเรียนมาวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางและพัฒนาระบบการป้องกันภัยทุจริตทางการเงินที่จะเกิดในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    ในครั้งนี้ สมาคมฯ และสถาบันการเงินสมาชิก จะร่วมมือเร่งยกระดับการดำเนินการตามมาตรการของ ธปท. ให้ได้ตามกำหนดเวลา เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างเท่าทัน เพราะภัยทุจริตมีความหลากหลายและเปลี่ยนแปลงเร็ว ขณะเดียวกันยังคงเดินหน้าให้ความรู้ ความเข้าใจ และเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องในการที่และที่จะปฏิบัติตามมาตรฐาน


    นายทวนทอง ตรีนุภาพ ผู้แทน สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ กล่าวว่า ธนาคารสมาชิกของ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ พร้อมที่จะร่วมมือกับธปท.และสมาคมธนาคารไทย ในการดำเนินการตามแนวโยบายชุดมาตรการ ทั้งนี้กลุ่มลูกค้าของถาบันการเงินของรัฐ เป็นกลุ่มที่เปราะบางที่อาจจะตกเป็นเหยื่อภัยทางการเงิน สมาคมฯก็จะเร่งพัฒนาระบบงาน เทคโนโลยีของธนาคารอย่างเต็มที่ เพื่อให้ปิดปัญหานี้ได้

    ตัวอย่างปัญหาที่เกิดขึ้น คือ SMS หลอกลวงหรือ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ แอปดูดเงิน ทำให้ประชาชนได้รับความเสียหาย ก็จะให้ความสำคัญกับการสื่อสาร การให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ แก่ลูกค้าธนาคารอย่างทั่วถึงและเข้าใจง่าย สถาบัยการเงินของรัฐหลายแห่งได้ประกาศเป็นนโยบายไปแล้ว เช่น จะไม่ส่ง SMS แบบมีลิ้งก์ ไปยังหมายเลขโทรศัพท์ของลูกค้า

    สถาบันการเงินของรัฐยังได้เปิดศูนย์รับแจ้งเหตุภัยทางการเงินจากมิจฉาชีพ เพื่อเป็นช่องทางด่วนในการช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้า ประชาชนสามารถโทรแจ้งเหตุมายังธนาคารได้ ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากการถูกหลอกจากมิจฉาชีพได้ รวมทั้งจะนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาต่อไป

    สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ เพื่อจัดทำมาตรการหรือออกกฎระเบียบ ที่จะทำให้ปัญหาการทุจริตหลอกลวงประชาชนหมดไป

    ธปท. สมาคมธนาคารไทย และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ มุ่งหวังว่ามาตรการต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการร่วมกัน ทั้งที่มีผลแล้วและที่อยู่ระหว่างดำเนินการ จะช่วยยกระดับการจัดการภัยทางการเงินของสถาบันการเงินได้อย่างเท่าทัน มีประสิทธิภาพ และครบวงจร เพื่อป้องกันความเสียหายและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน นอกจากนี้ ภาคธนาคารและสถาบันการเงินของรัฐยังอยู่ระหว่างการเร่งเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับ พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาได้ครอบคลุมขึ้น ซึ่งจะต้องอาศัยบทบาทของหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เพื่อให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างบูรณาการ