ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup ราคาข้าวเวียดนามแพงที่สุดในโลก

ASEAN Roundup ราคาข้าวเวียดนามแพงที่สุดในโลก

26 มีนาคม 2023


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 19-25 มีนาคม 2566

  • ราคาข้าวเวียดนามแพงที่สุดในโลก
  • เวียดนามเล็งให้สิทธิประโยชน์ใหม่จูงใจนักลงทุนรับมือ Global Minimum Tax
  • บริษัทอเมริกันสนใจลงทุนในเวียดนาม
  • อีคอมเมิร์ซแชร์ 60% เศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนาม
  • รถไฟลาว-จีนเปิดบริการข้ามพรมแดนกลางเมษายน
  • บริษัทลาวและไทยลงนามข้อตกลงอำนวยความสะดวกขนส่งสินค้าทางรถไฟข้ามพรมแดน
  • สะพานมิตรภาพลาว-ไทยแห่งที่ 5 คืบ 69%
  • จุดผ่านแดนระหว่างประเทศกัมพูชา-ไทย สตึงบท-บ้านหนองเอี่ยน แล้วเสร็จกว่า 80%
  • ราคาข้าวเวียดนามแพงที่สุดในโลก

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/industries/vietnam-rice-price-on-top-of-the-world-4584348.html
    ข้าวหัก 5% ของเวียดนามแพงที่สุดในโลกตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว แซงหน้าคู่แข่งอย่างไทยและอินเดีย จากการเปิดเผยของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า

    ในช่วงสองเดือนแรกของปีนี้ ราคาข้าวเฉลี่ยของเวียดนามอยู่ที่กว่า 519 เหรียญสหรัฐต่อตัน ตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว สูงกว่าราคาข้าวของไทย 15-27 เหรียญสหรัฐ และสูงกว่าราคาข้าวอินเดีย 40-50 เหรียญสหรัฐ

    แม้ปริมาณการส่งออกของเวียดนามจะลดลง 20.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี มาที่ 400,000 ตันในเดือนมกราคม แต่ราคาก็เพิ่มขึ้น 7% ในช่วงเดียวกัน ปีที่แล้ว การส่งออกข้าวจากเวียดนามสูงถึง 7.1 ล้านตัน สูงสุดในรอบ 10 ปี

    เวียดนามวางแผนที่จะส่งออกข้าว 6.6 ล้านตันในปีนี้ โดยมีกำหนดส่งมอบทั้งหมด 4.12 ล้านตันภายใน 6 เดือนแรก สภาวะที่เอื้อต่อการส่งออกคาดว่าจะกลับมาในปีนี้ เนื่องจากอุปสงค์จากอินโดนีเซียและบังกลาเทศกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง และผู้ซื้อจะหันมาซื้อข้าวในเวียดนามมากขึ้น เนื่องจากอินเดียห้ามส่งออกปลายข้าวและเก็บภาษี 20% สำหรับข้าวขาว

    แต่กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้ากังวลว่าการขาดความหลากหลายในตลาดส่งออกและการพึ่งพาจีนและฟิลิปปินส์ (ซึ่งเป็นผู้ซื้อข้าวรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม คิดเป็น 45% ของการส่งออก) จะเป็นความท้าทายต่อภาคอุตสาหกรรม

    ข้าวราคาต่ำจากปากีสถานอาจเป็นความท้าทายในการครองส่วนแบ่งการตลาด ราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้นและต้นทุนด้านโลจิสติกส์ยังคงสูง ตั้งแต่ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนเริ่มต้นขึ้น

    กระทรวงการค้ากำลังทำงานร่วมกับสหภาพยุโรป เพื่อเสนอการนำเข้าข้าวหอมของเวียดนามในภูมิภาคให้ดียิ่งขึ้น

    เวียดนามเล็งให้สิทธิประโยชน์ใหม่จูงใจนักลงทุนรับมือ Global Minimum Tax

    นิคมอุตสาหกรรม บิ่ญเซือง ที่มาภาพ:https://e.vnexpress.net/news/economy/vietnam-seeks-new-investor-incentives-as-cross-border-tax-rules-loom-4584136.html
    เวียดนามกำลังพิจารณาสิทธิประโยชน์ใหม่เพื่อจูงใจนักลงทุน เนื่องจากกฎภาษีข้ามพรมแดนเริ่มมีผลบังคับใช้

    เวียดนามได้จัดตั้งคณะทำงานพิเศษเพื่อหาแนวทางในการรักษาความสามารถในการแข่งขันสำหรับนักลงทุน เมื่อกฎภาษีข้ามพรมแดนใหม่ของ OECD มีผลบังคับใช้ จากการรายงานของธนาคารกลางเมื่อวันอังคาร(21 มี.ค.) ท่ามกลางความกังวลว่า อาจกลบผลประโยชน์ของมาตรการจูงใจทางภาษีในปัจจุบัน

    ด้วยต้นทุนแรงงานที่ต่ำ การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน และการเข้าถึงการค้าเสรีที่เพิ่มขึ้น เวียดนามจึงกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตระดับภูมิภาคสำหรับผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ระดับโลกที่เสนออัตราภาษีที่น่าสนใจ

    องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนากำลังพิจารณาสิ่งที่ในปีหน้า จะเป็นการยกเครื่องภาษีข้ามพรมแดนที่ใหญ่ที่สุดในยุคนี้ โดยมี 140 ประเทศที่ลงนามในแผนนี้ ซึ่งกำหนดให้อัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก(Global Minimum Tax)อยู่ที่ 15% ซึ่งกฎเกณฑ์นี้อนุญาตให้รัฐบาลเรียกเก็บเพิ่มเติมให้ถึงระดับนี้ กับกำไรที่บันทึกในประเทศที่มีอัตราต่ำกว่า

    ภาษีเงินได้นิติบุคคลของเวียดนามกำหนดไว้ที่ 20% แต่สามารถเสนออัตราที่ต่ำถึง 5% รวมถึงระยะเวลายกเว้นที่ยาวนานใน “กรณีพิเศษ” เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ

    “ธนาคารกลางจะร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับกระทรวงการคลังและคณะทำงาน เพื่อกำหนดนโยบายและมาตรการสนับสนุนเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ในขณะที่ยึดมั่นในพันธกรณีระหว่างประเทศ” ธนาคารแห่งเวียดนามระบุในแถลงการณ์

    ในบรรดาผู้ได้รับประโยชน์จากสิทธิประโยชน์จูงใจของเวียดนาม ได้แก่ ซัมซุง อิเล็กทรอนิคส์ ซึ่งเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุด มีพนักงานถึง 160,000 คนในเวียดนาม

    เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา รองผู้ว่าการธนาคารกลาง ฝ่าม ถันห์ ห่า ได้พบกับ ชอย จู โฮ ผู้บริหารระดับสูงของซัมซุง เวียดนาม เพื่อหารือเกี่ยวกับกฎภาษีใหม่ แถลงการณ์ของธนาคารแห่งเวียดนามระบุ โดยชอยได้เสนอ “มาตรการบางอย่างสำหรับเวียดนามเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านสภาพแวดล้อมการลงทุน” แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม

    บริษัทอเมริกันสนใจลงทุนในเวียดนาม

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/economy/us-companies-show-remarkable-commitment-to-vietnam-ambassador-4583969.html
    บริษัทอเมริกันทั้งโบอิ้ง เมตาแพลตฟอร์มส และเน็ตฟลิกซ์ ได้แสดงให้เห็นถึงความสนใจต่อเวียดนามอย่างชัดเจน ด้วยการมองหาโอกาสการลงทุนในประเทศเวียดนาม เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ กล่าว

    “มันน่าทึ่งมาก และแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ และบริษัทต่างๆ ของสหรัฐฯ ต่อตลาดนี้และต่อความสัมพันธ์นี้” มาร์ค อี. แนปเปอร์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำเวียดนาม กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันอังคาร

    “เราเห็นศักยภาพมหาศาล รวมทั้งการทำธุรกิจจริง และความเจริญรุ่งเรืองที่เกิดขึ้นจากการทำธุรกิจ”

    ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้บริหารจากบริษัท 52 แห่งของสหรัฐได้เข้าพบกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเวียดนาม รวมถึงนายกรัฐมนตรี ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ และประธานสภาแห่งชาติ เวือง ดิ่งห์ เว้ เพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นด้านกฎระเบียบและโอกาสการลงทุน

    กลุ่มของบริษัทอเมริกันชุดนี้ถือเป็นคณะผู้แทนทางธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ที่เคยไปเยือนเวียดนาม

    ผู้บริหารอเมริกันกระตือรือร้นที่จะสำรวจโอกาสในเวียดนาม ที่เศรษฐกิจขยายตัวเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดย GDP เติบโตถึง 8.02% ในปีที่แล้ว

    ประธานสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน และอดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำเวียดนาม เท็ด โอซิอุส กล่าวว่า คณะผู้แทนชุดใหญ่แสดงความสนใจที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในกลุ่มประเทศอาเซียนเมื่อเทียบกับยุคที่ผ่านมา

    “ส่วนนี้ของโลกเป็นศูนย์กลางการเติบโตของโลก” “และมีความสนใจค่อนข้างมากในภูมิภาคที่มีประชากร 600-700 ล้านคน ซึ่ง 100 ล้านคนเป็นชาวเวียดนาม”

    การเติบโตอย่างรวดเร็วของเวียดนามยังช่วยดึงดูดบริษัทใหม่ๆ ที่อาจไม่เคยเข้ามาในประเทศมาก่อน ตามข้อมูลของโอซิอุส และกล่าวว่า ซึ่งได้จุดประกายการแข่งขันที่เข้มข้นอีกครั้งสำหรับการลงทุนในภูมิภาคนี้

    “ตัวแทนของประเทศอาเซียนอื่นๆ กำลังพูดว่า เราต้องรีบแล้ว เพราะเราต้องแข่งขันกับเวียดนาม นั่นไม่ใช่สิ่งที่ผู้คนพูดเมื่อสองสามทศวรรษก่อน”

    การค้าทวิภาคีระหว่างเวียดนามและสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 11% ในปีที่แล้ว มีมูลค่ากว่า 123.86 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ สหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนามในปีที่แล้ว โดยมีมูลค่า 109.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 13.6% จากปี 2564

    บริษัทอเมริกันกำลังพิจารณาที่จะขยายศูนย์กลางการผลิตและห่วงโซ่อุปทานระดับโลกในเวียดนาม อุตสาหกรรมหลักๆ ของสหรัฐฯ ที่ตั้งเป้าจะขยายธุรกิจในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ เซมิคอนดักเตอร์ สินค้าอุปโภคบริโภค ของเล่น เฟอร์นิเจอร์ อาหารและการเกษตร เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสร้างสรรค์ บริการทางการเงิน และการดูแลสุขภาพ

    นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจของสหรัฐฯ ยังได้รื้อฟื้นความร่วมมือในภาคการบินและอวกาศ กลาโหม และความมั่นคงอีกด้วย

    ราฟาเอล แฟรงเคิล ผู้อำนวยการด้านนโยบายสาธารณะของเมตา แพลตฟอร์มส กล่าวว่า บริษัทได้ฝึกอบรมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเวียดนาม 20,000 รายในด้านเศรษฐกิจดิจิทัลเมื่อปีที่แล้ว และมีแผนจะเปิดโครงการเพิ่มเติมในเวียดนามในปีนี้

    “นี่คือประเทศที่เราเชื่อมั่นในการลงทุนและอนาคตที่สดใสอย่างไม่น่าเชื่อ เราได้เห็นสิ่งนั้นในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา” แฟรงเคิลกล่าวเสริม

    รัฐบาลเวียดนามได้แสดงให้เห็นว่ามีการเปิดกว้าง โดยเฉพาะในการขยายเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะยังคงเป็นเสาหลักในการเติบโตในอีก 10 ปีข้างหน้า ตามข้อมูลของแฟรงเคิล

    นอกจากนี้ AES Vietnam ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของ AES ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของอเมริกา ได้ให้คำมั่นที่จะลงทุน 3.2 พันล้านเหรียญสหรัฐเพื่อพัฒนาโครงการก๊าซธรรมชาติเหลวในจังหวัดบิ่ญถ่วน และยังมองหาโอกาสใหม่ ๆ ในภาคพลังงานหมุนเวียน

    บริษัทต้องการสนับสนุนรัฐบาลเวียดนามในการจัดตั้งกลไกสำหรับการซื้อและขายไฟฟ้า และส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชนในภาคพลังงาน ตัวแทนของบริษัทกล่าว

    อีคอมเมิร์ซแชร์ 60% เศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนาม

    ที่มาภาพ: https://english.thesaigontimes.vn/e-commerce-accounts-for-60-of-vietnamese-digital-economy/

    เศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนามมีธุรกรรมรวมในตลาด (Gross Merchandise Value-GMV) สูงถึง 23,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปีที่แล้ว โดยอีคอมเมิร์ซมีสัดส่วนมากกว่า 60%

    รายงาน“Sustainable development of e-commerce – the driving force for the digital economy ประจำปี 2023 ระบุว่า GMV ของปี 2565 เพิ่มขึ้น 28% จากปีที่แล้ว และคาดว่าจะเติบโต 31% มีมูลค่ารวม 49 พันล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2568

    เศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนามจะยังคงรักษาอัตราการเติบโตของ GMV ที่ 19% ในช่วงปี 2568-2573

    ชาวเวียดนามราว 60 ล้านคนซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ โดยแต่ละคนใช้จ่ายเฉลี่ย 260-285 เหรียญสหรัฐฯ ในการซื้อของออนไลน์

    ประมาณ 55% ของธุรกิจที่เข้าร่วมการสำรวจของ Vietnam E-commerce Association เชื่อว่า โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและอีคอมเมิร์ซมีบทบาทสำคัญในการผลิตและกิจกรรมทางธุรกิจ

    องค์กรหลายแห่งกำลังลงทุนในระบบอัตโนมัติ เทคโนโลยีคลาวด์ ปัญญาประดิษฐ์ และการเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐาน

    ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การพัฒนาอีคอมเมิร์ซจำเป็นต้องมีปัจจัยหลายอย่าง รวมถึงการพัฒนาธุรกิจที่ยั่งยืน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน ทรัพยากรบุคคลคุณภาพสูง และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับประสบการณ์ของลูกค้า

    อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลยังคงประสบปัญหาเกี่ยวกับกรอบกฎหมาย ทรัพยากรบุคคล และโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล

    รถไฟลาว-จีนเปิดบริการข้ามพรมแดนกลางเมษายน

    ที่มาภาพ FB:Laos-China Railway Company Limited
    บริษัทรถไฟลาว-จีน จำกัด จะเปิดให้บริการรถไฟข้ามพรมแดนในกลางเดือนเมษายน ปัจจุบัน รถไฟวิ่งผ่านสถานีในประเทศลาว ระหว่างเวียงจันทน์และบ่อเต็นเท่านั้น เนื่องจากข้อจำกัดการเดินทางจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ในไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ด่านสากลบ่อเต็นที่ชายแดนลาว-จีนได้เปิดให้ผู้คนข้ามไปมาระหว่างสองประเทศได้ ซึ่งเป็นการปูทางสำหรับรถไฟที่จะวิ่งระหว่างเวียงจันทน์และคุนหมิงในมณฑลยูนนานของจีนที่อยู่ใกล้กัน

    นายวันทอง สุพันทอง รองหัวหน้าวิศวกร บริษัท รถไฟลาว-จีน จำกัด กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันพุธ(22 มี.ค)ว่า ผู้ให้บริการรถไฟจะให้บริการข้ามพรมแดนระหว่างเวียงจันทน์และคุนหมิงตั้งแต่กลางเดือนหน้า

    “เรากำลังอยู่ระหว่างการประสานงานและเตรียมบริการด้านต่างๆ ทั้งในลาวและจีนให้พร้อม สำหรับการเดินทางด้วยรถไฟโดยตรงระหว่างสองเมือง”

    การเดินทางข้ามแดนกำหนดให้ผู้โดยสารที่เดินทางจากเวียงจันทน์ไปคุนหมิงแสดงเอกสารเข้าและออกที่สถานีบ่อเต็นในลาว จากนั้นไปที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองที่สถานีบ่อหาน ประเทศจีน

    จากข้อมูลของ บริษัท รถไฟลาว-จีน จำกัด จากการที่รัฐบาลลาวและจีนเปิดประเทศอีกครั้งสำหรับนักเดินทางต่างชาติ ขณะนี้มีนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจจำนวนมากเดินทางด้วยรถไฟไปยังสถานีบ่อเต็นเพื่อเข้าสู่ประเทศลาว และเดินทางระหว่างสถานีด้วยรถไฟ

    ขณะนี้ยอดผู้โดยสารพุ่งสูงเฉลี่ย 1,500-1,600 คนต่อวัน นายวันทอง กล่าวว่า นับตั้งแต่การรถไฟเปิดให้บริการในวันที่ 3 ธันวาคม 2564 บริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญกับการบริการผู้โดยสารและความปลอดภัยและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

    เมื่อวันที่ 15 มีนาคมปีนี้ บริษัทรถไฟลาว-จีน จำกัด ได้เปิดจำหน่ายตั๋วออนไลน์ ขณะนี้ผู้โดยสารสามารถดาวน์โหลดแอป LCR Ticket บนโทรศัพท์มือถือเพื่อซื้อตั๋ว จากนั้นไปที่สถานีต้นทางและใช้ QR code เพื่อรับตั๋วและเดินทาง จนถึงปัจจุบัน มีคนอย่างน้อย 15,000 คนที่ลงทะเบียนเพื่อใช้แอป LCR Ticket

    รถไฟลาว-จีนเชื่อมต่อลาวกับสาธารณรัฐประชาชนจีนและเชื่อมไปยังทั่วโลก บริษัทรถไฟลาว-จีน จำกัด จึงเป็นบริษัทเดียวที่เสนอการจำหน่ายตั๋วออนไลน์ในจีน ระบบต่าง ๆ ได้รับการพัฒนาให้สอดคล้องกับการซื้อตั๋วออนไลน์เพื่อเดินทางบนเส้นทางรถไฟลาว-จีน

    บริษัทลาวและไทยลงนามข้อตกลงอำนวยความสะดวกขนส่งสินค้าทางรถไฟข้ามพรมแดน

    ที่มาภาพ :FB Vientiane Logistics Park
    บริษัทลาวและไทยได้ลงนามในข้อตกลงเพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน ซึ่งเป็นการสร้างแพลตฟอร์มการขนส่งที่ได้รับยกระดับเพื่อกระตุ้นการค้าในภูมิภาค

    ภายใต้บันทึกความเข้าใจไตรภาคี (MOU) ที่ลงนามในเวียงจันทน์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทั้งสองฝ่ายจะทำงานร่วมกัน เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านทางรถไฟลาว-ไทย และลาว-จีน สำนักข่าวลาวรายงาน

    ข้อตกลงนี้ลงนามโดยดาวจินดา สีหลาด ผู้อำนวยการใหญ่รัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาว (Lao National Railway State Enterprise-LNR) แสนจักร ชื่นชม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท โกลบอล มัลติโมดัล โลจิสติกส์ เผด็จ เมตยานนท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แพน-เอเชีย ซิลค์ โรด และ ปัญญา ปภัทสาโร ประธานบริษัท เก้าเจริญ เทรน ทรานสปอร์ต

    LNR จะประสานงาน อำนวยความสะดวก และจองรถพ่วงรถไฟจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และการรถไฟลาว-จีน เพื่อให้ทั้งสามบริษัทใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ

    LNR จะจองรถไฟจากการรถไฟแห่งประเทศไทย สำหรับการขนส่งสินค้าระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทยในกรุงเทพฯ และสถานีรถไฟท่านาแล้งในเวียงจันทน์

    คาดว่าบริษัททั้งสามจะจัดส่งผลไม้จากไทย ซึ่งเป็นผู้ปลูกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรรายใหญ่ในภูมิภาคนี้ ไปยังจีนผ่านทางลาว

    บริษัทได้ตั้งเป้าหมายรายเดือนในการจัดส่งทุเรียนและผลไม้อื่นๆ อย่างน้อย 20,000 ตันที่ปลูกในประเทศไทยไปยังตลาดจีนที่มีผู้บริโภค 1.4 พันล้านคน

    บริษัท โกลบอล มัลติโมดัล โลจิสติกส์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ปตท. และบริษัทแพน-เอเชีย ซิลค์ โรด จะประสานงานกับผู้ขายทุเรียนในจีน ในขณะเดียวกัน บริษัท เก้าเจริญ เทรน ทรานสปอร์ต จะทำหน้าที่เป็นผู้ขนส่ง และรัฐวิสาหกิจรถไฟลาวจะเป็นผู้จัดหาตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็น

    นับตั้งแต่ทางรถไฟลาว-จีนเปิดให้บริการในเดือนธันวาคม 2564 ความต้องการทั้งการขนส่งสินค้าและการขนส่งผู้โดยสารก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

    จำนวนผู้โดยสารที่เดินทางบนรถไฟลาว-จีนพุ่งสูงขึ้น ในช่วงสองเดือนแรกของปีนี้ การรถไฟขนส่งผู้โดยสารรวม 417,400 คน เพิ่มขึ้น 256.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เส้นทางรถไฟยังขนส่งสินค้า 647,700 ตันในช่วงสองเดือนนี้ เพิ่มขึ้น 320% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2565 เป็นผลจากบริการขนส่งที่รวดเร็วและคุ้มค่ากว่า ปัจจุบันผู้ส่งออกไทยจำนวนมากขึ้นส่งสินค้าไปยังจีนโดยทางรถไฟ

    สาคอน พิลางาม กรรมการผู้จัดการท่าเรือบกท่านาแล้ง ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายของทางรถไฟลาว-ไทย และลาว-จีน กล่าวว่า เวลาขนส่งไปยังชายแดนจีนจากท่าเรือบกในเวียงจันทน์ใกล้ชายแดนไทยตอนนี้สั้นลงมาก โดยใช้เวลาเพียง 4 ชั่วโมง

    เมื่อเร็วๆ นี้ รถไฟบรรทุกสินค้าที่ออกจากคุนหมิงในมณฑลยูนนานของจีนได้มาถึงกรุงเทพฯ แล้ว โดยใช้เวลาเพียง 55 ชั่วโมงก็ถึงจุดหมายปลายทาง ทำให้การเดินทางสั้นลงหนึ่งวันและลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ลง 20% เมื่อเทียบกับวิธีการขนส่งแบบก่อนหน้าซึ่งรวมถึงการขนส่งทางรถไฟและทางถนน จากรายงาน

    สะพานมิตรภาพลาว-ไทยแห่งที่ 5 คืบ 69%

    ที่มาภาพ: ttps://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2023_Fifth59.php
    สะพานมิตรภาพลาว-ไทยแห่งที่ 5 ซึ่งเชื่อมระหว่างแขวงบอลิคำไซกับจังหวัดบึงกาฬในประเทศไทย ข้ามแม่น้ำโขง ขณะนี้มีความคืบหน้าแล้ว 69% และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2567

    ผู้อำนวยการโครงการ นายลายทอง พรมมาวง กล่าวว่า โครงการประกอบด้วยสองส่วน หนึ่งในนั้นคือการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำฝั่งลาว ระยะทาง 535 เมตร ส่วนที่สองคือการก่อสร้างถนนทางเข้า 2,775 เมตร อาคารตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากร และสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ในฝั่งลาว ระยะเวลาก่อสร้างตามแผนคือ 30 เดือน และระยะเวลารับประกัน 24 เดือน

    นายลายทองสรุปความคืบหน้าของการก่อสร้างตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ว่า ในระยะที่ 1 งานก่อสร้างแล้วเสร็จ 55.5% เกินเป้าหมาย 2.67% ในระยะที่สอง การก่อสร้างถนนทางเข้าสู่สะพานและอาคารตรวจคนเข้าเมืองและด่านศุลกากรขณะนี้แล้วเสร็จ 82.26% ช้ากว่าเป้าหมายเพียง 2.50%

    “ภาพรวมความคืบหน้าของการก่อสร้างทั้ง 2 เฟส ณ เดือนกุมภาพันธ์ แล้วเสร็จ 69.1% เกินเป้าหมาย 0.08%” นายลายทอง กล่าว

    การก่อสร้างสะพานและถนนทางเข้าจะมีผลต่อพื้นที่การเกษตร 52.4 เฮกตาร์ ทำให้รัฐบาลต้องจ่าย 5.33 พันล้านกีบเพื่อชดเชยแก่เจ้าของที่ จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลได้จ่ายเงินแล้ว 3.672 พันล้านกีบให้กับผู้ถือสิทธิ์การใช้ที่ดิน คิดเป็น 68.78% ของยอดค้างชำระทั้งหมด

    นายลายทองกล่าวว่า ในเดือนมีนาคม แผนสำหรับระยะที่ 1 ของโครงการจะแล้วเสร็จ 55.59% ในขณะที่ระยะที่สองจะแล้วเสร็จ 89% โดยรวมแล้ว แผนงานในเดือนมีนาคมจะเห็นว่าองค์ประกอบทั้งสองโครงการบรรลุผลสำเร็จโดยเฉลี่ย 72.71% การก่อสร้างมีความคืบหน้าไปได้ด้วยดี และบางส่วนของโครงการได้เสร็จสิ้นก่อนกำหนด

    สะพานนี้มองว่าเป็นเสาหลักที่สำคัญสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ คาดว่าจะเป็นอีกเส้นทางการค้าและทางผ่านของลาวและประเทศเพื่อนบ้าน

    โครงการนี้ได้รับความเห็นชอบในเดือนสิงหาคม 2562 เมื่อรัฐบาลค้ำประกันเงินกู้จำนวน 1.38 พันล้านบาทจากสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านของไทย (สพพ.) เพื่อสร้างสะพาน โดยค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะแบ่งกันระหว่างลาวและไทย

    เมื่อสร้างเสร็จแล้ว สะพานแห่งนี้จะทำหน้าที่เป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญ ที่เชื่อมระหว่างไทยกับเมืองต่างๆ ของเวียดนามผ่านลาว จะช่วยกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างลาวและไทยในความพยายามร่วมกันเพื่อส่งเสริมการเติบโตและการพัฒนาที่ยั่งยืนในช่วงปี 2565-2569

    จุดผ่านแดนระหว่างประเทศกัมพูชา-ไทย สตึงบท-บ้านหนองเอี่ยน แล้วเสร็จกว่า 80%

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/501259155/cambodia-thailand-stung-bot-ban-nong-ian-international-border-crossing-more-than-80-percent-completed/
    นายซุน จันทอล รัฐมนตรี รัฐมนตรีอาวุโสและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง เปิดเผยว่า ณ เดือนมีนาคม 2566 โครงการจุดผ่านแดนถาวรบ้านหนองเอี่ยน สตึงบท ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 26.42 ล้านดอลลาร์ แล้วเสร็จไปแล้ว 82.30% และคาดว่าจะโครงการนี้มีกำหนดแล้วเสร็จทั้งหมดปลายเดือนพฤษภาคม 2566

    นายซุน จันทอล แถลงเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ในโอกาสนำคณะผู้แทนจากกระทรวงฯ ตรวจความคืบหน้าโครงการจุดผ่านแดนระหว่างประเทศสตึงบท-บ้านหนองเอี่ยน โดยมีผู้นำและเจ้าหน้าที่วิชาชีพที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมจำนวนมาก

    “โครงการเสร็จสิ้นไปแล้วกว่า 82% และตามแผนจะเสร็จสิ้นในเดือนพฤษภาคม ตามการรายงานของบริษัทรับเหมาก่อสร้าง แต่จากการที่มาตรวจด้วยตัวเอง ไม่คิดว่าจะเสร็จทันในเดือนพฤษภาคม เแม้จะมีเงินพอก็ตาม”

    รัฐมนตรีอาวุโสกล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้โครงการล่าช้าไปแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกนานกว่า 100 วัน และครั้งที่สองนานกว่า 200 วัน ซึ่งโครงการล่าช้าได้แต่ขึ้นอยู่กับสัญญา ถ้าเกินเวลาก็โดนปรับ

    ด้วยความล่าช้าในการก่อสร้างเนื่องจากเงินทุนไม่เพียงพอสำหรับบริษัทรับเหมาก่อสร้าง นายจันทอลกล่าวว่า กระทรวงฯ จะหารือกับฝ่ายไทยเพื่อเร่งกระบวนการลดงบประมาณของบริษัทรับเหมาก่อสร้างโดยเร็ว เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการนี้ให้เสร็จตามแผนที่วางไว้

    รัฐมนตรีอาวุโสซุน จันทอล กล่าววา จุดประสงค์หลักของโครงการนี้ คือ การหลีกเลี่ยงการจราจรติดขัดในจังหวัดปอยเปต เนื่องจากรถบรรทุกทุกคันได้รับอนุญาตให้ข้ามสะพานได้ และเพื่อให้นักท่องเที่ยวเดินทางผ่านปอยเปตได้

    โครงการก่อสร้างด่านชายแดนถาวรระหว่างประเทศสตึงบท-บ้านหนองเอี่ยน เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2562 ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ด้วยวงเงินประมาณ 26.42 ล้านดอลลาร์