ThaiPublica > คนในข่าว > “แซนดา โอเจียมโบ” ซีอีโอ UN Global Compact ชี้ทุกคนมี “The Same Job” เพื่ออนาคตมนุษยชาติที่ดีกว่านี้

“แซนดา โอเจียมโบ” ซีอีโอ UN Global Compact ชี้ทุกคนมี “The Same Job” เพื่ออนาคตมนุษยชาติที่ดีกว่านี้

28 กุมภาพันธ์ 2023


แซนดา โอเจียมโบ ผู้ช่วยเลขาธิการ ซีอีโอ และผู้อำนวยการบริหาร ยูเอ็นโกลบอลคอมแพ็ก (Sanda Ojiambo – Assistant Secretary-General and CEO of UN Global Compact) หรือความร่วมมือของภาคเอกชนแห่งสหประชาชาติมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เดินทางมาเยือนประเทศไทยครั้งแรกเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อเข้าร่วมงาน CEO Forum on Sustainable Finance & SME Roundtable ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UN Global Compact Network Thailand) เครือข่ายท้องถิ่นของ UN Global Compact ร่วมกับสำนักประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย (United Nations Resident Coordinator’s Office)

United Nations Global Compact (UNGC) เป็นโครงการริเริ่มของเลขาธิการสหประชาชาติที่สนับสนุนให้บริษัทต่างๆ ปรับยุทธศาสตร์และการดำเนินงานให้สอดคล้องกับหลักสากลสิบประการของ UNGC ได้เปิดตัวในปี พ.ศ.​ 2543 โดยมีเป้าหมายที่จะให้คำแนะนำและสนับสนุนให้องค์กรธุรกิจทั่วโลกดำเนินกิจการด้วยแนวทางที่รับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน อันสอดคล้องกับเป้าหมายและค่านิยมขององค์การสหประชาชาติ โดยมีบริษัทมากกว่า 10,000 แห่ง องค์กรไม่แสวงหากำไรมากกว่า 3,000 แห่ง ใน 160 ประเทศ และเครือข่ายท้องถิ่นมากกว่า 60 แห่ง เข้าร่วมเป็นเครือข่าย

แซนดาซึ่งมีภาระกิจเต็มทั้งวันนอกเหนือจากการเข้าร่วม CEO Forum ก็ได้จัดเวลาให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนไทย 3 ราย โดยสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าเป็นหนึ่งในสื่อไทยที่ได้รับเชิญ

ภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญขับเคลื่อนความยั่งยืน

แซนดาตอกย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมไปถึงความสำคัญของบทบาทภาคเอกชนต่อการขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs โดยในช่วงเปิดงาน แซนดาได้ย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของ UN Global Compact ว่า UN Global Compact ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 22 ปีก่อนในช่วงที่นายโคฟี อันนันดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่ เพราะนายโคฟีเห็นว่า การดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมในการพัฒนาอย่างยั่งยืน และร่วมขับเคลื่อนพันธกิจของสหประชาชาตินั้นมีความสำคัญ และในขณะเดียวกัน ก็มีความสำคัญต่อภาคเอกชนที่จะขับเคลื่อนโลกที่คำนึงถึงผู้คน และมีส่วนร่วมในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนควบคู่กับการพัฒนาอย่างยั่งยืน

“ในช่วงแรกมีบริษัทใหญ่เข้าร่วมราว 30-40 ราย และน่ายินดีว่าขณะนี้เรามีสมาชิกถึงกว่า 18,000 ราย เราเติบโตขึ้นและเติบโตอย่างมีประโยชน์”

“เอเชียเป็นภูมิภาคที่ขยายตัวเร็วที่สุดในขณะนี้ และยังเป็นผู้นำ มีอิทธิพลเดินไปข้างหน้า การที่เราทุกคนมาร่วมกันในวันนี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สำคัญ เพราะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาหลายๆ ด้านได้มีผลต่อพวกเราโดยรวม ขณะที่การดำเนินการขับเคลื่อนนั้นไม่สามารถมุ่งไปที่ประเด็นใดประเด็นหนึ่งโดยเฉพาะ และประเด็นเหล่านั้นก็มีความเกี่ยวข้องอย่างมากในแง่เศรษฐกิจ สังคม ลงไปถึงระดับครัวเรือน ระดับประเทศ ไปจนถึงระดับสหประชาชาติเอง”

ปัจจุบันโลกยังเผชิญกับเงินเฟ้อสูง และเรายังประสบกับสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ รวมไปถึงวิกฤติพลังงาน ซึ่งในเดือนที่แล้วที่เมืองดาวอส ที่ผู้นำธุรกิจนับพันคนไปร่วมงานได้กล่าวว่า ความท้าทายในการดำเนินธุรกิจที่เจอในปัจจุบันนี้และมากกว่าที่เคยเป็นคือ ความท้าทายที่ไม่ได้มาจากการดำเนินธุรกิจตามปกติ แต่เป็นความท้าทายที่นอกเหนือการดำเนินธุรกิจตามปกติ ซึ่งไม่ใช่เรื่องว่าไม่มีผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม หรือจะขยายฐานลูกค้าอย่างไร หรือภาพลักษณ์ของแบรนด์จะเป็นอย่างไร ความพึงพอใจของผู้บริโภคเป็นอย่างไร แต่เป็นเรื่องของจะเดินหน้ากิจการภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่เงินเฟ้อสูงไปอย่างไร เกิดอะไรขึ้นกับห่วงโซ่อุปทาน จะได้รับผลจากการเมืองในประเทศหรือสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศหรือไม่ วิกฤติสภาพภูมิอากาศจะน่ากลัวแค่ไหน

“ความท้าทายเหล่านี้เป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจเอกชนเผชิญ และกว้างขึ้นจากสิ่งที่เราเคยพบเคยเห็นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น UN Global Compact จึงมุ่งมั่นที่จะขยายความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตร และดำเนินโครงการพัฒนาที่เพิ่มพลังภาคธุรกิจ ช่วยผลักดันไปข้างหน้า สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ช่วยในการสร้างงาน มีส่วนร่วมในวาระและเป้าหมายระดับชาติและภูมิภาค” แซนดากล่าว

นางแซนดา โอเจียมโบ ผู้ช่วยเลขาธิการ ซีอีโอ และผู้อำนวยการบริหาร ยูเอ็นโกลบอลคอมแพ็ก

เอเชียสำคัญต่อ SDGs เตรียมเปิดศูนย์ภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย

ผู้ช่วยเลขาธิการ ซีอีโอ และผู้อำนวยการบริหาร ยูเอ็นโกลบอลคอมแพ็ก ยังเปิดเผยด้วยว่า เตรียมที่จะเปิดศูนย์กลางของ UN Global Compact ประจำภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย (UN Global Compact Asia & Oceania Reginal Hub) ที่กรุงเทพฯ เร็วๆ นี้ โดยกล่าวว่า ภูมิภาคนี้มีความสำคัญที่จะบรรลุเป้าหมาย SDGs เพราะมีประชากรมากถึง 60% ของประชากรโลก และเศรษฐกิจมีสัดส่วน 2 ใน 3 ของการเติบโตของเศรษฐกิจโลก แม้การขับเคลื่อน SDGs คืบหน้าน้อยลงจากการระบาดใหญ่และการชะลอตัวของเศรษฐกิจ

กระแสหลักของเอเชียมุ่งไปที่นวัตกรรม การพัฒนาไปสู่ดิจิทัล การได้ประโยชน์จากโครงสร้างประชากร โดยเฉพาะประชากรในวัยหนุ่มสาว รวมทั้งโอกาสที่มี ความรุ่งเรือง ห่วงโซ่อุปทานที่กว้าง รวมทั้งแนวทางการดำเนินธุรกิจในภูมิภาค นอกจากนี้ ยังมีภาคธุรกิจ SME ที่ขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยการจ้างงานและสร้างงานให้กับคนนับล้านคน ทั้งแรงงานวัยหนุ่มสาว และแรงงานหญิง

“ด้วยเหตุนี้ เราเตรียมที่จะเปิดศูนย์กลางของ UN Global Compact ประจำภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนียในกรุงเทพฯ เร็วๆ นี้ เพื่อให้เครือข่าย Global Compact ขยายวงให้กว้างขึ้น ช่วงเริ่มต้นศูนย์ของเราจะไม่ใหญ่นัก แต่แนวคิดของเราก็คือ การที่มีฐานที่นี่ การให้การสนับสนุน และการที่สามารถทำงานร่วมกันกับภาคธุรกิจในภูมิภาคนี้ จะเป็นการระดมกำลัง ในการเร่งและยกระดับธุรกิจที่มีความรับผิดชอบทั่วภูมิภาค ซึ่งมีความสำคัญไม่เพียงต่อยุทธศาสตร์ของ UN Global Compact เท่านั้น แต่มีความสำคัญต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนปี 2030 ด้วย”

แซนดากล่าวว่า การจัดตั้งศูนย์นี้ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ของ UN Global Compact ที่มีกับเครือข่ายในแต่ละประเทศ ซึ่งขณะนี้มีด้วยกันใน 14 ประเทศ แต่ก็จะขยายไปยังประเทศที่เห็นว่ามีความสำคัญตั้งแต่ประเทศที่มีความแตกต่างกัน จากกัมพูชาไปจนถึงนิวซีแลนด์ เพราะการทำธุรกิจนั้นขยายข้ามพรมแดน ส่วนในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่มีพลวัต เช่น ประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และประเทศอื่นๆ นั้น ก็ต้องการมุ่งไปที่การขยายเครือข่ายให้มากขึ้น การมีส่วนร่วมในการจัดการและรับมือกับความท้าทายที่สำคัญ รวมไปถึงการจัดสรรเงินทุน เพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาธุรกิจไปข้างหน้า ตลอดจนมีส่วนร่วมกับผู้นำธุรกิจในการพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับการสนับสนุนที่จำเป็นอย่างมาก และรวมเข้าไปในเป้าหมาย SDGs

สำหรับประเด็นสำคัญของ UN Global Compact ในการขับเคลื่อน ยังคงเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน การใช้ประโยชน์จาก taxonomy เพราะมีความสำคัญต่อการจัดสรรเงินทุน รวมทั้งยังคำนึงถึงเรื่องของน้ำและมหาสมุทร การเงินยั่งยืน ความเท่าเทียมและสิทธิมนุษยชน

“เรายังระดมกำลังจากบริษัทต่างๆ ต่อไป เพราะเราต้องการการสนับสนุนเพื่อให้เราเดินหน้าต่อไปได้ และยังช่วยบรรลุเป้าหมายไม่เพียงแต่ UN Global Compact เท่านั้น แต่ยังรวมถึง SDGs ด้วย”

ยกระดับการเงินจัดสรรทุนให้ถูกที่

แซนดาบอกว่า วิกฤติสภาพภูมิอากาศ การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ผลกระทบทางเศรษฐกิจ และความขัดแย้งทั่วโลก ทำให้ความคืบหน้าการขับเคลื่อน SDGs ในเอเชียและส่วนอื่นๆ ของโลกได้ชะลอตัวลง และมีการพูดกันมากขึ้นในเดือนกันยายนปีที่แล้ว ซึ่งอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติก็ได้กล่าวว่า รายงานของคณะทำงานชุดที่ 1 ของ IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change) คือสัญญานเตือนภัยสีแดง (code red) แก่มนุษยชาติ

รายงานเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติปี 2022 (UN Sustainable Development Goals Report 2022) แสดงให้เห็นว่า วิกฤติที่เกิดขึ้นซ้อนกันและเชื่อมโยงกันเหล่านี้ ทำให้วาระการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2030 ตกอยู่ในภาวะหมิ่นเหม่ เช่นเดียวกับความอยู่รอดของมนุษยชาติเอง รายงานเน้นย้ำถึงความรุนแรงและระดับความท้าทายที่อยู่ตรงหน้า

รายงานยังสะท้อนสถานการณ์สำคัญหลายด้าน ได้แก่

  • การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ได้หักล้างความคืบหน้าในการกำจัดความยากจนมากว่าสี่ปี และผลักดันให้ผู้คนอีก 93 ล้านคนเข้าสู่ความยากจนขั้นรุนแรงในปี 2563
  • บริการสาธารณสุขหลักหยุดชะงัก ส่งผลให้ความครอบคลุมของการสร้างภูมิคุ้มกันลดลงเป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษ และมีผู้เสียชีวิตจากวัณโรคและมาลาเรียเพิ่มขึ้น
  • นักเรียนมากกว่า 24 ล้านคน ตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษาจนถึงระดับมหาวิทยาลัย มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอีก
  • ปัจจุบัน 1 ใน 4 ของประชากรโลกอาศัยอยู่ในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง ผู้คนกว่า 100 ล้านคนทั่วโลกถูกบีบให้โยกย้ายถิ่นฐาน สงครามในยูเครนก่อให้เกิดวิกฤติผู้ลี้ภัยครั้งใหญ่ที่สุดในยุคปัจจุบัน
  • เพื่อป้องกันผลกระทบด้านสภาพอากาศที่เลวร้ายที่สุด การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกจะต้องแตะระดับสูงสุดก่อนปี 2025 และลดลง 43% ภายในปี 2030 แต่ในแผนระดับชาติในปัจจุบัน บ่งชี้ว่าจะเพิ่มขึ้นเกือบ 14% ภายในปี 2030 และจำเป็นต้องมีความมุ่งมั่นให้นมากขึ้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการคุมอุณหภูมิไม่ให้สูงเกิน 1.5 เซลเซียส
  • ประเทศกำลังพัฒนากำลังประสบกับภาวะเงินเฟ้อที่สูงเป็นประวัติการณ์ อัตราดอกเบี้ยที่พุ่งสูงขึ้น และภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น และหลายประเทศกำลังดิ้นรน และไม่สามารถฟื้นตัวจากการระบาดใหญ่
  • แซนดากล่าวว่า แม้ว่ามีการความถดถอยในการขับเคลื่อน แต่ก็ยังมีเงินกองทุนจำนวนมากระดับล้านล้านดอลลาร์ที่จะเป็นส่วนสำคัญในการต่อสู้ต่อไปเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเราต้องยกระดับทางการเงินในการขับเคื่อน SDGs

    การยกระดับทางการเงินภาคเอกชนเพื่อให้ใช้ได้นั้น ก็ต้องมีการวางกรอบทั้งในด้านเงินกู้ การสนับสนุนทางการเงิน รวมไปถึงการต่อยอดจากการเงินภาครัฐ เพื่อสนับสนุนเงินทุนของโครงการ

    ปัจจุบันธนาคารบางแห่งๆได้ใช้การรับรองด้านความยั่งยืน (sustainability credential) ในการปล่อยกู้โครงการที่ให้ความสำคัญ เช่น ธุรกิจที่มีการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และมีแนวปฏิบัติให้ธุรกิจเหล่านี้เข้าถึงเงินทุนได้ง่ายขึ้น ในระดับประเทศเอง รัฐบาลก็มีการสนับสนุนทางการเงินการลงทุนเพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน เช่น การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ อินโดนีเซีย แอฟริกาใต้

    ในการประชุม COP26 รัฐบาลหลายประเทศได้หารือกันถึงแนวทางที่จะสนับสนุนทางการเงินแก่ภาคพลังงานเพื่อการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งคิดว่า มีโอกาสที่จะเห็น่ว่า การเงินเอกชนจะต่อยอดไปที่การลงทุน หรือสนับสนุนทุนแก่โครงการ ดังนั้น จะเห็นว่าระบบนิเวศเอื้อต่อการสนับสนุน การทางการเงิน ในการลงทุนหรือโครงการที่มุ่ง SDGs

    ซานดากล่าวว่า Global Compact ได้เปิดตัว CFO Coalition for the SDGsโดยมีเป้าหมายที่จะสร้างตลาดการเงินมูลค่า 10 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อปลดปล่อยศักยภาพของการเงินองค์กรเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ภายในปี 2030

    CFO Coalition for the SDGs เริ่มต้นด้วยสมาชิกไม่ถึง 10 รายปัจจุบันนี้มากกว่า 60 ราย โดยมี CFO จากบริษัทต่างๆ บริษัทบริหารสินทรัพย์ ได้ให้คำมั่นที่จะลงทุนเพื่อความยั่งยืน ในปีที่แล้ว CFO ได้ให้คำมั่นที่จะลงทุน 500 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2025 เพื่อผลักดันให้บรรลุเป้าหมาย SDGs โดยที่ราว 50% เป็นการสนับสนุนทางการเงินของภาคธุรกิจผ่านเครื่องมือทางการเงินที่ยั่งยืน (sustainable financing instruments)

    “เรายังทำได้อีกมาก จึงขอเรียกร้องให้บริษัทต่างๆ มาเข้าร่วม CFO Coalition for the SDGs และร่วมกันผลักดันการลงทุนที่มุ่งไปสู่ความยั่งยืน”

    CFO Coalition for the SDGs มี 3 เป้าหมายหลัก ได้แก่
    1) ยกระดับความมุ่งมั่นที่น่าเชื่อถือจาก CFO ใน Coalition เพื่อกำหนดทิศทางการลงทุนขององค์กรที่มีมูลค่านับล้านล้านไปสู่ SDGs และสร้างตลาดการเงินที่มุ่งเน้น SDG มูลค่า 10 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2030
    2) ขยายกลุ่มผู้นำ CFO จากผู้เข้าร่วม 70 คนเป็น 100 คนภายในปี 2022 และ
    3) ส่งเสริมประชาคมที่มีผู้ลงนาม ใน CFO Coalition for the SDGs จำนวน 1,000 คนในหลักการ CFO ว่าด้วยการลงทุนและการเงิน SDG แบบบูรณาการ(CFO Principles on Integrated SDG Investments and Finance by 2024) ภายในปี 2024

    ด้วยเป้าหมายเหล่านี้ จะสามารถดึงดูดผู้มีบทบาทหลัก เช่น นักลงทุน สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ธนาคาร และสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนา เพื่อให้ประกันว่าสามารถจัดหาเงินทุนสำหรับการลงทุนขององค์กรสำหรับ SDGs

    “ลองนึกภาพดูว่าเราจะประสบความสำเร็จขนาดไหน หากว่าจัดสรรเงินได้ถูกช่องทางถึง 100% ในการลงทุนเพื่อให้เงินที่ยังไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ เงินที่ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงจะด้อยค่า มาลงทุนเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่เป้าหมายการพัฒนาความยั่งยืน และขณะนี้มีการให้คำมั่นถึง 108 พันล้านดอลลาร์ทั่วโลกในการลงทุนที่มุ่งสู่ SDGs”

    อย่างไรก็ตาม แซนดากล่าวว่า ยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมาก แต่ก็ได้ตั้งเป้าหมายที่สูงขึ้นสำหรับปี 2025 และหลังจากนั้น “เรารู้ว่าหนทางข้างหน้าจะไม่ได้ง่าย แต่คิดว่า เรามีภาคเอกชน ที่มีนวัตกรรม มีทรัพยากร มีทักษะ ที่จะสร้างความแตกต่างได้”

    “การที่เราจะคว้าโอกาสสำคัญได้นั้น ต้องมองไปที่นโยบายที่มีของรัฐบาล กฎระเบียบที่จะเอื้อให้เราทำได้ สภาพแวดล้อมที่เข้มแข็งสำหรับเงินทุนภาคเอกชน และแนวโน้มของภูมิภาคที่จะได้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจ ระบบและนวัตกรรม การให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี และ taxonomy ที่สอดคล้องกัน ที่จะผลักดันไปสู่ SDGs”

    ทุกคนมี “The Same Job” ทำเรื่องเดียวกัน

    สำหรับการเดินหน้าไปเข้าสู่ปี 2030 ในช่วงการสัมภาษณ์ แซนดากล่าวว่า ขณะนี้เราอยู่กึ่งกลางของเส้นทางสู่เป้าหมาย SDGs จึงเรียกร้องจากภาคธุรกิจอีกครั้งให้ร่วมกันดำเนินการอย่างแข็งขันในประเด็นหลัก และเป็นผู้นำในการดำเนินการไม่ใช่เพียงแค่ดำเนินการเท่านั้น และต้องยกระดับความพยายามในการคุมอุณหภูมิไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตลอดจนจัดการกับประเด็นสำคัญ เช่น ความเท่าเทียมทางเพศ การดูแลน้ำเพื่อรักษาความมั่นคงทางทรัพยากรของชาติ และสนับสนุนการดำเนินการเหล่านี้อีกครั้งด้วยความมุ่งมั่นที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นในด้านการเงินที่ยั่งยืน เพื่อเป็นเงินทุนในการลงทุนในวาระ 2030

    “ขณะนี้เรามาถึงจุดกึ่งกลางของ SDGs จึงควรมาดูกันว่าเราจะร่วมมือกันได้อย่างไร ในการขับเคลื่อนธุรกิจได้อย่างเหมาะสมและมีความสามารถปรับตัวมากขึ้น และสะท้อนถึงการก่อตั้งของเราในปี 2542-2543 เพราะภาคเอกชนมีบทบาทหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนเหล่านี้”

    “ดิฉันเชื่อว่าเราสามารถเปลี่ยนผ่านได้ แต่เราต้องให้ความสำคัญกับ SDGs และกรอบเป้าหมายอีกครั้ง รวมทั้งต้องพิจารณากรอบการดำเนินงานใหม่ด้วย ESG ตลอดจนการคำนึงถึงเป้าหมาย SDGs ทั้ง 17 ข้อ เพราะเป็นประโยชน์และเป้าหมายที่เชื่อมโยงกันสำหรับพวกเราทุกคนทั่วโลก”

    แซนดา ย้ำว่า โดยที่เราอยู่กึ่งกลางของเส้นทางสู่เป้าหมาย SDGs ในปี 2030 ดังนั้น ทุกคน ทุกภาคส่วน ไม่ว่าภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม จึงมีความรับผิดชอบที่เหมือนกัน “the same job” ในการร่วมมือกันผลักดันเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เราทุกคนก็ตระหนักดีว่า เรากำลังเผชิญกับภาวะวิกฤติบางด้าน และความท้าทายในหลายเรื่อง เช่น ภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทั่วโลก สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร หรือในเอเชียเอง นอกจากนี้เรายังเผชิญกับวิกฤติสภาพอากาศ การฟื้นตัวจากการระบาดใหญ่

    โดยแซนดาขยายความคำว่า “the same job” ว่า หมายถึง “การที่เราต้องร่วมกันเพื่ออนาคตของมนุษยชาติที่ดีกว่านี้” “It means how we can come together to secure a better future for humanity”

    “แต่ความท้าทายที่เรากำลังเผชิญในขณะนี้นั้น เป็นเรื่องที่เราทุกคน ทุกภาคส่วน ภาครัฐ ภาคเอกชน ไม่สามารถทำโดยลำพังได้ จึงต้องมาร่วมมือกัน ในการขับเคลื่อนเรื่องเดียวกัน”

    นอกจากนี้การเดินหน้าไปสู่ปี 2030 ยังมีโอกาสสำคัญรออยู่ จากฝั่ง UN เอง จะได้ยินเสียงเรียกร้องให้ลงมือทำมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อเร่งหรือเติมพลังให้กับภาคธุรกิจในการดำเนินการของเป้าหมาย SDGs ในปี 2030 ส่วนในฝั่งภาคเอกชน ก็มีข้อมูลมากขึ้นในเรื่องที่เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมเพื่อใช้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับโอกาสทางธุรกิจ ในการทำธุรกิจที่ดีและยังมีส่วนร่วมในการดำเนินการเพื่อการเปลี่ยนผ่านทางสังคม

    หนึ่งในนั้นคือบทบาทของการเงิน โดยปัจจุบันทุนและเงินในโลกมีเพียงพอที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่เราต้องส่งเงินไปให้ถูกที่ วางนโยบายที่เหมาะสม มีกรอบการทำงานที่ถูกต้อง มีแรงจูงใจที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถจัดหาเงินทุนและลงทุนในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างเหมาะสม

    สำหรับธุรกิจ SME ซึ่งคิดเป็น 90% ของธุรกิจและมากกว่า 50% ของการจ้างงานทั่วโลกเป็นเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานที่กว้างขวาง ได้รับการยอมรับว่ามีส่วนสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจของภูมิภาค รวมถึงในประเทศไทย แต่เข้าถึงแหล่งเงินได้ยากและอาจจะยังไม่สามารถนำ SDGs เข้ามาผนวกในการดำเนินธุรกิจได้นั้น แซนดา กล่าวว่า ทุกคนก็ควรจะเป็นผู้มีบทบาทหลักในการสนับสนุน SME ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจรายใหญ่ซึ่งมี SMEs จำนวนมากในห่วงโซ่อุปทาน หรือภาครัฐ โดยสำหรับรัฐบาลนั้นส่วนใหญ่มีการวางกรอบนโนบาย ที่มีสภาพแวดล้อมที่เปิดให้ธุรกิจทุกขนาดและประเภทเติบโตได้ ดังนั้นก็ต้องพิจารณากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับ SME เช่น ระบบภาษี การพิจารณาใบอนุญาต ส่วนในภาคธนาคาร คือการเข้าถึง SME และมีการดำเนินการที่ขยายให้ครอบคลุม SME มากขึ้น ด้านบริษัทข้ามชาติ (multinational corporation) สิ่งสำคัญคือ ต้องมีการถ่ายทอดนโยบายลงมาจากข้างบน มีการสนับสนุน SME

    แซนดากล่าวว่า ต้องอาศัยผู้เล่นทุกคนจึงจะสามารถทำได้ แต่ไม่คาดหวังว่าบริษัทใดๆ จะสามารถจัดการกับเป้าหมายของตนเองได้ตามลำพัง SME เองควรพิจารณาประเด็นที่มีผลต่อสภาพแวดล้อมการดำเนินงาน และหาวิธีจัดการ

    ความท้าทายสำหรับผู้นำทุกคนในขณะนี้ คือจะตัดสินใจเพื่อผลตอบแทนระยะสั้นแต่ได้รับความนิยม หรือตัดสินใจเพื่อผลตอบแทนระยะยาว ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ด้วยการเข้าถึงทางการเงินที่เพียงพอ การมีความรู้ที่มากพอ ธุรกิจจะสามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง แม้มีแรงกดดันจากนักลงทุน จากผู้บริโภคดังนั้นควรสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมให้กับพวกเขา ให้แรงจูงใจแก่ธุรกิจ SME ก็จะตัดสินใจเลือกสิ่งที่ถูกต้อง

    ความมุ่งมั่นยังคงอยู่ การขับเคลื่อนยังเดินหน้า

    แซนดานกล่าวว่า ก่อนเกิดโรคระบาด โลกทำได้ดีในการขับเคลื่อน SDGS แต่ไม่ใช่ทั้งหมดที่มีความคืบหน้า ปัจจุบันหลายบริษัทยังขับเคลื่อน SDGs ได้ยาก แม้บริษัทที่ดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของ SDGs เองก็ยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมาก แต่ก็กำลังก้าวหน้า เมื่อการระบาดใหญ่เข้ามา และไม่ว่าส่วนใดของโลก ต่างเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ เด็กส่วนหนึ่งหลุดออกจากระบบโรงเรียน แรงงานหญิงที่ต้องพ้นจากงานกลับไปอยู่บ้านและทำงานรับจ้าง และในขณะเดียวกันก็เกิดวิกฤติขึ้น ประเทศไทยเองก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน ทั้งภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และจากการที่ต้องพึ่งพาการท่องเที่ยว ผลกระทบต่อรายได้จากการท่องเที่ยวก็เห็นได้ชัด

    แต่โดยรวมแล้วก็ยังมีปัญหาอีกมาก เช่น มลพิษ ยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำ มีความท้าทายในการจัดการกับแรงงานอพยพ แต่ก็มีโอกาสอย่างมากที่ภาคธุรกิจจะทำมากขึ้น

    “สำหรับเราแล้วเราอยากให้ธุรกิจตระหนักและรับรู้ว่าจะต้องทำอย่างไร เพราะทุกอย่างไม่ได้คงอยู่ตลอดไป จึงเชื่อว่ามีโอกาสที่จะทำให้ภาคธุรกิจเชื่อมั่นว่า SDGs คือโอกาสทางธุรกิจ เพราะเป็นการลงทุนระยะยาว การทำให้ธุรกิจคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม จะให้ผลตอบแทนในระยะยาว การดำเนินธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับความครอบคลุม การดำเนินธุรกิจที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี ก็ให้ผลตอบแทนในระยะยาว และมีโอกาสที่จะได้วางทิศทางการเงินเพื่อสร้างความแตกต่าง มีโอกาสที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาลต่อไปเพื่อยกระดับความมุ่งมั่น เป้าหมาย รวมทั้งการมีกฎระเบียบและส่งเสริมสังคมที่ครอบคลุมมากขึ้น”

    แซนดามองว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการจัดหาเงินทุน โดยมีข้อมูลมากมายจากภาคเอกชนว่า บริษัทขนาดใหญ่มีความมุ่งมั่นอย่างจริงจังในการลดการปล่อยคาร์บอน ที่ครอบคลุมไปทั่วทั้งซัพพลายเชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี นอกจากนี้ในด้านการเงิน ธนาคารเองก็หาแนวทางปรับเปลี่ยนวิธีการปล่อยสินเชื่อ ปรับพอร์ตสินเชื่อให้เป็นสีเขียว และการลงทุนในโครงการที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนผ่านจริง

    นอกจากนี้ รัฐบาลก็ให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน การเติบโตสีเขียว รวมทั้งมีกรอบนโยบายที่ส่งเสริมให้ธุรกิจเดินหน้าบนเส้นทาง SDGs ซึ่งหากรัฐบาลมีการกำหนดนโยบายที่มีเป้าหมายสูง ก็จะส่งผลให้ภาคเอกชนเติบโตได้ดี

    ก่อนจบการสัมภาษณ์ แซนดาเปิดเผยว่า ในปีนี้จะมีการประเมินมีความคืบหน้าการดำเนินการตามเป้าหมาย SDGs ระดับ ในระดับประเทศของหลายประเทศ ในเดือนกันpายน ก็จะมีการเปิดเผยรายงานความคืบหน้าของภาครัฐ ที่จะประเมินจากการให้ข้อมูลโดยความสมัครใจ แต่ส่วนภาคเอกชนได้มีความร่วมมือจากหลายสถาบันในการประเมินความคืบหน้าของ SDGS ซึ่งยังอยู่ระหว่างการประเมิน

    แซนดาบอกว่า ผลการประเมินครั้งนี้น่าสนใจเพราะเป็นปีที่ทั่วโลกเพิ่งฟื้นจากการระบาดใหญ่ ที่ส่งผลให้ SME ปิดกิจการจำนวนมาก แรงงานหญิงตกงาน โดยเฉพาะสหรัฐผู้หญิง 5 ล้านคนต้องออกจากระบบเศรษฐกิจ และคาดว่า 1.5 ล้านคนไม่สามารถกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อีก ต้องขาดรายได้

    ดังนั้นคำถามสุดท้าย ก็คือ “So the commitment is there and the process is slow?” ซึ่งได้รับคำตอบจากแซนดาว่า “the commitment is there and the process is ongoing”