ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > ผู้นำระดับโลกเร่งยกระดับขับเคลื่อนสู่เป้าหมายความยั่งยืนปี 2030 ชี้เวลาเหลือน้อยลงทุกวัน

ผู้นำระดับโลกเร่งยกระดับขับเคลื่อนสู่เป้าหมายความยั่งยืนปี 2030 ชี้เวลาเหลือน้อยลงทุกวัน

19 มิถุนายน 2021


ที่มาภาพ: https://globalcompact-th.com/UNGCLeadersSummit2021

วันที่ 15–16 มิถุนายน 2564 ได้มีการประชุมสุดยอดผู้นำระดับโลกด้านความยั่งยืน ประจำปี 2564” หรือ “UN Global Compact Leaders Summit 2021” โดยมีผู้นำด้านความยั่งยืนจากภาคธุรกิจเอกชน ภาครัฐ และนักวิชาการจากทั่วโลกกว่า 25,000 คน เข้าร่วมการประชุมที่จัดแบบเสมือนจริงเนื่องจากอยู่ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19

การรับรองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ทั้ง 17 ข้อ เมื่อปี 2015 และการยอมรับในข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) เป็นสองกลไกสำคัญที่ทำให้ภาคธุรกิจทั่วโลกมีเป้าหมายร่วมกันและมีส่วนร่วมในการพัฒนาและยกระดับสังคม อย่างไรก็ตามการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายยังไม่เร่งตัวมากนัก

การประชุมครั้งนี้ ถือเป็นการร่วมเคลื่อนไหวในระดับโลกเพื่อรับมือกับวิกฤติสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งก้าวข้ามสถานการณ์การระบาดใหญ่ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและความไม่เท่าเทียมทางสังคมโดยมีเป้าหมายและแนวทางที่ชัดเจน และผู้นำระดับโลกได้ร่วมกันตอกย้ำว่า จะต้องยกระดับความมุ่งมั่น (ambition) ไปสู่การดำเนินการร่วมกันหรือ Decade of Action ในช่วงสิบปีนี้ เพื่อขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 17 ข้อภายในปี 2030

ยูเอ็นกระตุ้นยกระดับเป้าหมาย-การขับเคลื่อน

นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ

นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวในการเปิดงานว่า การประชุมครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่ผู้นำด้านจากภาคธุรกิจเอกชน ภาครัฐ และนักวิชาการจากทั่วโลก ภาคประชาสังคม ได้มีส่วนร่วมในเวทีการหารือระดับโลกที่สำคัญ โดยเน้นไปที่แนวทางที่ทุกภาคส่วนสามารถทำงานร่วมกันเพื่อสร้างเศรษฐกิจและสังคมสำหรับทุกคน

“การทำให้วิสัยทัศน์เป็นจริงได้ต้องมีความทะเยอทะยานอย่างสูงและการดำเนินการร่วมกัน เพราะเรากำลังเผชิญกับความท้าทายในรูปแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”

โลกได้เปลี่ยนไปอย่างมากในปีที่ผ่านมา การระบาดของโรคโควิด-19 ได้คร่าชีวิตผู้คนและสร้างผลกระทบต่อคนทั่วโลก ผู้คนกว่า 700 ล้านคนมีชีวิตอยู่ภายใต้ความยากจน ช่องว่างระหว่างเพศกว้างขึ้น สิทธิของแรงงานและสภาพการทำงานแย่ลงในหลายส่วนของภาคอุตสาหกรรม การทุจริตคอร์รัปชันมีผลบั่นทอนความไว้วางใจของประชาชนและการพัฒนาสังคม และโลกยังคงประสบกับปัญหาวิกฤติสภาพภูมิอากาศ

ปัจจุบันแม้สามารถพัฒนาวัคซีนได้ แต่สถานการณ์การระบาดยังไม่มีแนวโน้มที่จะยุติ อีกทั้งการแจกจ่ายวัคซีนก็ไม่เท่าเทียมกัน และผลกระทบจากวิกฤติโควิดต่อเศรษฐกิจรุนแรงอย่างมาก

วิกฤติที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความเสี่ยงต่อความก้าวหน้าในการผลักดันความยั่งยืนในหลายส่วนของโลก ประกอบกับก่อนโควิด การขับเคลื่อนความยั่งยืนไม่ได้เร็วมากและไม่ได้ขยายในวงกว้างเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย SDGs ปี 2030

การระบาดของโควิดไม่ใช่ต้นเหตุของปัญหา แต่ทำให้เห็นปัญหามากขึ้น และตอกย้ำความเปราะบางของระบบและเหลื่อมล้ำของสังคม

“การยกระดับความร่วมมือจะช่วยให้เราก้าวผ่านและฟื้นตัวจากวิกฤติการระบาด บรรลุเป้าหมาย SDGs บรรเทาวิกฤติสภาพภูมิอากาศ ภาคธุรกิจจึงมีบทบาทสำคัญ การดำเนินการและความเป็นผู้นำจะมีผลต่อโลกทั้งใบ แต่ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง ทุกภาคส่วน ต้องมีการตอบสนองที่ลึกขึ้น เร็วขึ้น และมีความทะเยอทะยานมากขึ้นเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจตามวาระ 2030 และข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

ภาคธุรกิจสามารถนำหลัก 10 ประการของ UN Global Compact มาใช้ได้เพราะครอบคลุมทั้งการดูแลสิทธิมนุษยชน การดูแลแรงงาน การแก้ไขสิ่งแวดล้อมและการขจัดคอร์รัปชัน

นอกจากนี้ยังมีแผนกลยุทธ์ฉบับใหม่ที่ UN Global Compact จัดทำขึ้นซึ่งให้แนวทางที่ปฏิบัติได้จริง สมาชิกสามารถนำไปขับเคลื่อนและพลิกโฉมธุรกิจได้

“แผนกลยุทธ์ของเรามีแนวทางการดำเนินการหลักเพื่อยกระดับและขยายผลกระทบด้าน SDGs และข้อตกลงปารีส รวมทั้งยังระบุความรับผิดชอบขององค์กร ทั้งความรับผิดชอบในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่จะลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในกลางศตวรรษนี้”

ประเทศทุกประเทศ เมืองทุกเมือง องค์กรธุรกิจ และสถาบันการเงิน ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับข้อตกลงปารีสที่จะรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

แผนกลยุทธ์ใหม่นี้จะช่วยให้ภาคธุรกิจมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการดำเนินการในประเทศของตนเอง เพราะสามารถปรับให้เข้ากับบริบทของแต่ละประเทศได้

ขณะเดียวกันเงินทุนเป็นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับการทำให้ความมุ่งมั่นกลายเป็นจริง เพราะการขับเคลื่อนเข้าสู่เป้าหมายยังต้องการเงินลงทุนอีกมาก UN Global Compact จึงได้จัดทำหลักการสำหรับการเงินและการลงทุน SDG แบบบูรณาการ หรือ Principles for Integrated SDG Finance and Investment โดยได้รับความร่วมมือกับประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินจากบริษัทใหญ่หลายแห่ง

“นักลงทุนและสถาบันการเงินก็จะมีส่วนในอนาคตที่ยั่งยืนและมั่นคงเช่นกัน”

เมื่อมองไปข้างหน้าหลังโควิด เรามีทางเลือก 2 ทาง ทางแรก คือ การกลับทำธุรกิจตามปกติ โดยที่โลกและผู้คนยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนต่อไป ทางที่สอง คือ ก้าวไปข้างหน้า มีความทั่วถึงและมีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น

“ขอให้การประชุมผู้นำระดับโลกเป็นเวทีที่เราเลือกอย่างถูกต้อง ยกระดับความมุ่งมั่นร่วมกันและร่วมกันขับเคลื่อนโลก โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

UN Global Compact ส่งแผนกลยุทธ์ให้สมาชิกเร่งมือ

นางสาวแซนดา โอเจียมโบ ซีอีโอและผู้อำนวยการบริหาร UN Global Compact

นางสาวซานด้า โอเจียมโบ Chief Executive Officer & Executive Director, United Nations Global Compact กล่าวว่า การประชุมปีนี้มีความสำคัญเพราะโลกกำลังประสบกับการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจและวิกฤติด้านสภาพภูมิอากาศ ทำให้ต้องเร่งการยกระดับความมุ่งมั่นและความร่วมมือ เพราะจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคโควิดยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่หลายภูมิภาคของโลกประสบปัญหาวัคซีนมีไม่เพียงพอ แม้เศรษฐกิจส่วนหนึ่งกำลังฟื้นตัว แต่ยังมีคนตกงานอีกหลายหมื่นคน ผู้หญิงและโลกในด้านใต้ของโลกได้รับผลกระทบอย่างมากจากการระบาดของโควิด-19 คนไร้บ้านมีมากขึ้น หลายพื้นที่ประสบกับน้ำท่วม

“การที่เรามาร่วมประชุมครั้งสำคัญนี้ เป็นการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนไปข้างหน้าและทำให้โลกน่าอยู่มากขึ้น เป็นการปกป้องประชาชน การยกระดับสังคม โลกจะไม่ปลอดภัยถ้าไม่มีใครปลอดภัย แม้ก่อนการระบาดของโควิด-19 โลกประสบวิกฤติหลายด้านอยู่แล้ว แต่การระบาดทำให้วิกฤติรุนแรงขึ้น ทำให้มีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้มากขึ้น ความเสี่ยงที่คนรุ่นต่อไปจะตกอยู่ในความยากจนมีมากขึ้น”

UN Global Compact เชื่อว่า ทุกภาคส่วนทั้งผู้นำธุรกิจ ภาครัฐ มีส่วนร่วมในการแก้ไขได้ ที่ผ่านมาบริษัทที่เป็นสมาชิก Global Compact ได้นำหลัก 10 ประการด้านสิทธิมนุษยชน แรงงาน สิ่งแวดล้อม และการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ไปผสานไว้ในแนวปฏิบัติขององค์กรตลอดทั้งห่วงโซ่

“เราขอเรียกร้องให้ผู้นำภาคธุรกิจตั้งเป้าหมายให้สูงขึ้น ตั้งเป้าหมายการพัฒนายั่งยืนที่วัดผลได้”

ผลการสำรวจในช่วงวิกฤติโควิดล่าสุดพบว่า จำนวนบริษัทที่เตรียมการรับมือมีมากขึ้น โดย 70% ของผู้ที่ตอบแบบสอบถามระบุว่า ความรับผิดชอบหลักของบริษัทมีความสำคัญมากขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด ในแอฟริกา-เอเชียมากกว่า 80% มีความเห็นในทิศทางเดียวกัน

บริษัทใหญ่หลายแห่งระบุว่า ได้กำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติในการปกป้องสิทธิมนุษยชน ดูแลแรงงาน และตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน แต่ยังไม่มีการตั้งเป้าหมายที่เป็น science base target (การกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่สอดคล้องกับเป้าหมายของข้อตกลงปารีส บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050

“การประชุมวันนี้ก็ช่วยหาแนวทางให้บรรลุเป้าหมายมากขึ้น และเชื่อมั่นว่าจะประสบความสำเร็จ เพราะในปีที่ผ่านมาได้เห็นภาคธุรกิจจำนวนมากเป็นผู้นำในการประสานความร่วมมือระหว่างกันมากขึ้นในประเด็นหลักๆ แม้ประสบกับการระบาดของโควิด แต่ก็ยังดำเนินการได้”

นอกจากนี้ยังมี UN Global Compact Strategy 2021–2023 กลยุทธ์ใหม่ที่อิงหลัก 10 ประการที่จะช่วยให้ภาคธุรกิจวางเป้าหมายที่สูงขึ้นในการเร่งและขยายผล รวมไปถึง SDG Ambition ที่จะช่วยให้องค์กรทั่วโลกตั้งเป้าหมายและปรับทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และสอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนขององค์กร

เวลาเหลือน้อยลงทุกวัน

เซลวิน ฮาร์ท Special Advisor to the Secretary General on Climate Change, Executive Office of the Secretary-General (EOSG)

ผู้นำที่เข้าร่วมการประชุมยังเห็นตรงกันว่า เวลาในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายความยั่งยืนในปี 2030 น้อยลงทุกวัน โดยนายเซลวิน ฮาร์ท Special Advisor to the Secretary General on Climate Change, Executive Office of the Secretary-General (EOSG) กล่าวว่า “ในอีกไม่ถึง 6 เดือนก็จะมีการประชุม Cop 26 ที่กลาสโกว์ ดังนั้น เราไม่มีเวลาเหลืออีกต่อไป”

ขณะที่โลกยังคงประสบกับการระบาดของโควิด-19 ยังคงเจอกับวิกฤติสภาพภูมิอากาศที่ย่ำแย่ลง และโลกร้อนขึ้นแล้ว 1.5 องศาเซลเซียส ดังเห็นได้จากเหตุการณ์และภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นรุนแรง และความแปรปรวนของอากาศในทุกภูมิภาคและทุกทวีป

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ก็บ่งชี้ว่า การที่จะจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสก่อนระดับการปฏิวัติอุตสาหกรรมและป้องกันผลกระทบของสภาพอากาศที่รุนแรงนั้น ต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลง 45% จากระดับปี 2010 ภายในปี 2030 และต้องปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2050 เป็นอย่างช้า

“อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 0.1 องศา มีความหมาย แต่ก็ยังดีที่การพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยี เป็นตัวช่วยให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนได้มากภายในปี 2030 ทุกวันนี้เรามีเทคโนโลยีหลายประเภทที่พร้อมนำมาใช้ ขณะเดียวกับระบบการเงินโลกก็สอดคล้องกับเป้าหมายของข้อตกลงปารีส”

ในปีที่ผ่านมาสถานการณ์ทางการเมืองดีขึ้น และมีการใช้ข้อตกลงปารีสมากระตุ้นในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น ในการประชุม UN Global Leader Summit ปีที่แล้วมีเพียง 30% ของประเทศที่เข้าร่วมที่ประกาศการลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์แต่ปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 72%

นับตั้งแต่การประชุมการประชุมสุดยอดว่าด้วยการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศปี 2019 มีบริษัท 560 แห่งเข้าร่วมแคมเปญการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส บริษัทเหล่านี้มีมูลค่าตลาดรวมกันกว่า 30 ล้านล้านดอลลาร์หรือเทียบเท่า GDP ของจีน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เป้าหมายด้านสภาพอากาศและความเสี่ยงทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ มีผลมากขึ้นสำหรับภาคธุรกิจในการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ

การลดการปล่อยคาร์บอนเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้น ทุกประเทศ ทุกเมือง จะต้องดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสตามข้อตกลงปารีส และทุกอุตสาหกรรมจะต้องร่วมแคมเปญลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2050 รวมทั้งต้องมีแผนระยะสั้นที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมเพื่อบรรลุเป้าหมายระยะยาว

สิงคโปร์ชี้ถึงเวลาวางอนาคตกันใหม่

นางฮาลีมะห์ ยาคอบ ประธานาธิบดีสิงคโปร์

นางฮาลีมะห์ ยาคอบ ประธานาธิบดีสิงคโปร์ กล่าวว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืนของเป็นความท้าทายของทั้งโลก และแต่ละประเทศไม่สามารถเพิกเฉยได้ “การพัฒนาอย่างยั่งยืนช่วยให้ประเทศต่างๆ สามารถตอบสนองความต้องการในปัจจุบันได้ โดยไม่กระทบต่อความสามารถของคนรุ่นอนาคตในการตอบสนองความต้องการของตนเอง”

การประชุมในวันนี้เป็นช่วงเวลาสำคัญ เพราะได้ผ่านรับรองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อหรือวาระ 2030 มาแล้ว 6 ปี

การประชุมครั้งนี้ที่มีแนวคิด Elevating Ambition for Collective Action หรือยกระดับความมุ่งมั่นไปสู่การดำเนินการร่วมกัน เป็นตอกย้ำในสองประเด็นเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์นี้ คือ ต้องให้ความสำคัญกับการมุ่งมั่นมากขึ้น และดำเนินการร่วมกันมากขึ้นในฐานะประชาคมโลก เพื่อให้ SDGs ยังเป็นเป้าหมายหลักของการพัฒนาอย่างยืนของโลก ในการปกป้องโลกที่เปราะบางและสร้างโลกที่เจริญรุ่งเรือง

“ขณะนี้เราอยู่ตรงทางแยกที่สำคัญ โควิดเป็นภัยคุกคามที่จะทำให้ทศวรรษแห่งความก้าวหน้าของการพัฒนาถดถอย เพราะส่งผลกระทบให้คนกว่า 120 ล้านคนตกอยู่ในความยากจน กว่าครึ่งเป็นผู้หญิงและเด็กผู้หญิง และอาจมีคนตกงานกว่า 205 ล้านคนจากนี้ไปจนถึงปี 2022 หลายประเทศก็กำลังประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

“ขณะเดียวกัน การระบาดใหญ่เป็นโอกาสที่ทำให้เราต้องวางอนาคตกันใหม่ และวางแนวทางไปสู่การเติบโตอย่างทั่วถึง มีความสามารถในการปรับตัวและยั่งยืน”

จากความตระหนักที่มากขึ้นเกี่ยวกับความสำคัญของการพัฒนาที่สมดุลและบูรณาการ จึงมีแรงผลักดันทั่วโลกในการสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนอย่างรวดเร็วในหลายปีที่ผ่านมา หลายประเทศได้ใส่ความริเริ่มด้านสิ่งแวดล้อมไว้ในแผนฟื้นตัวหลังโควิด รัฐบาลได้ร่วมกันที่จะบูรณาการสิ่งแวดล้อมและสังคมเข้าด้วยกันและให้ความสำคัญเป็นอย่างแรกในแผนเศรษฐกิจ

“สำหรับสิงคโปร์ซึ่งประเทศที่พื้นราบต่ำ สูงกว่าระดับน้ำทะเลเล็กน้อย และมีทรัพยากรธรรมชาติน้อย ความยั่งยืนเป็นองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนาที่เราให้ความสำคัญมาตลอด ในปีที่แล้วเราได้ประกาศแผนพัฒนาสีเขียวฉบับใหม่ Singapore Green Plan 20303 โรดแมปเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและก้าวสู่เป้าหมายการเป็นประเทศที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์

แผน Singapore Green Plan 20303 จะเสริมสร้างความสามารถในการปรับตัวของสิงคโปร์ และสร้างโอกาสใหม่ในเศรษฐกิจสีเขียว ในทุกภาคส่วนรวมถึงโครงสร้างพื้นฐาน พลังงานสะอาด การวิจัยและนวัตกรรม

“หัวใจสำคัญของ Singapore Green Plan 20303 คือ เป็นโครงการทั้งชาติ ซึ่งก็เหมือนกับวาระ 2030 ที่รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการฝ่ายเดียวได้ แผนนี้ต้องมีการรวมมือกันจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายเพื่อดำเนินการตามเป้าหมาย SDGs โดยเฉพาะภาคเอกชนที่นับว่ามีบทบาทสำคัญอย่างมาก เพราะมีเงินทุนและบุคลากรที่มีความสามารถในการที่สนับสนุนการดำเนินการตามแผน Singapore Green”

UN Global Compact มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นการขับเคลื่อนของสมาชิกให้นำหลัก SDGS ไปปฏิบัติและมีแนวโยบายที่สอดคล้องกับ SDGs และด้วยเหตุนี้สิงคโปร์ให้การยอมรับ UN Global Compact Strategy 2021–2023 เพื่อให้มีส่วนร่วมในประชาคมธุรกิจโลกมากขึ้น ในการบรรลุเป้าหมายปี 2030

การช่วยให้บริษัทและพนักงานให้ปรับเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว คือ ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้พวกเขาเป็นผู้ขับเคลื่อนหลักในระบบนิเวศ และมีบทบาทสำคัญในการนำพาไปสู่เป้าหมายความยั่งยืนปี 2030

สำหรับสิงคโปร์ได้วางกลยุทธ์ไว้ 3 ด้านด้วยกันคือ ข้อแรกสิงคโปร์ขับเคลื่อนภาคธุรกิจสำคัญไปสู่การใช้พลังงานที่ประสิทธิภาพมากขึ้นและปล่อยคาร์บอนต่ำ ตัวอย่าง คือ ได้ปรับเปลี่ยนเกาะจูรงจากที่เป็นฮับด้านพลังงานและเคมีภัณฑ์ ไปสู่ศูนย์การผลิตที่ยั่งยืนภายในปี 2030 โดยมีวิสัยทัศน์ว่าชศูนย์ที่จูร่งเป็นต้นแบบของนำโซลูชั่นที่ยั่งยืนมาปรับใช้เพื่อใช้พลังงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นและปล่อยคาร์บอนน้อยลง ข้อสองในฐานะศูนย์กลางการเงิน สิงคโปร์สนับสนุนการเงินสีเขียวด้วยการให้เงินให้เปล่ากับการออกพันธบัตรสีเขียวแและเงินกู้สีเขียว เพื่อช่วยให้บริษัทสามารถลงทุนในทรัพย์สินหรือโครงการสีเขียว เพื่อก้าวรูปแบบธุรกิจที่ยั่งยืน ข้อสามสิงคโปร์ จะพัฒนาภาคธุรกิจใหม่ในเศรษฐกิจสีเขียว

“เราต้องการเป็นศูนย์บริการชั้นนำด้านคาร์บอน และตลาดสำคัญของการชดเชยคาร์บอนที่มีคุณภาพสูง เรายังลงทุนมากขึ้นในการวิจัย นวัตกรรมและองค์กรในอีกหลายปีข้างหน้า รวมทั้งการพัฒนาและผลักดักตลาดโซลูชั่นด้านนวัตกรรม เช่น ด้านพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน เศรษฐกิจหมุนเวียน

จากกลยุทธ์ 3 ข้อ จะเห็นได้ว่าความยั่งยืนคือ ข้อได้เปรียบในการแข่งขัน และยังช่วยให้เกิดรูปแบบธุรกิจใหม่ๆขึ้น การเติบโตของเศรษฐกิจ การจ้างงาน

“ปี 2021 เป็นปีที่มีความสำคัญ เพราะเราเหลือเวลาไม่ถึง 10 ปีในการผลักดันไปสู่เป้าหมายปี 2030 และส่งมอบคำสัญญาว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ในความเป็นจริงเรายังห่างจากเป้าหมาย SDGs อีกมาก ดังนั้นในช่วงเวลาที่เหลือราว 10 ปีนี้ เราต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน และกระตุ้นจิตสำนึกทางการเมือง เพื่อให้ช่วงแห่งการเปลี่ยนผ่านนี้นำไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน ซึ่งก็หวังว่าเวทีการประชุมจะยกระดับเป้าหมาย ความมุ่งมั่นและดำเนินการในทันที เพื่อทำให้เกิดผล สิงคโปร์ยังคงสนับสนุนการดำเนินการของ UN Global Compact และเครือข่ายในสิงคโปร์”

บทบาท CFO ลดความเสี่ยงองค์กร

ที่ประชุมยังแลกเปลี่ยนความเห็นที่แสดงถึงบทบาทของประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน หรือ CFO ว่าเป็น ส่วนสำคัญที่ผลักดันองค์กรบรรลุเป้าหมาย SDGs ได้ และช่วยให้บริษัทมีความเสี่ยงน้อยลง โดยผู้บริหารขององค์กรชั้นนำเช่น PIMCO, Verizon ได้ชี้ให้เห็นถึงนวัตกรรมการเงินใหม่ ที่สามารถนำใช้เป็นเครื่องมือได้ เช่น ESG Fund, ESG bonds

UN Global Compact CFO Taskforce ได้ประกาศว่า 58 บริษัทที่มีมูลค่าตลาด (market capitalization) รวมกันว่า 1.6 ล้านล้านดอลลาร์ได้นำปรับการประเมินผลงาน (KPIs) ด้วยการวัดผลความคืบหน้าของการปฏิบัติตามหลักการ CFO Principles on Integrated SDG Investment and Finance