ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup กัมพูชาเล็งทำ FTA ทวิภาคีคู่ค้าหลัก

ASEAN Roundup กัมพูชาเล็งทำ FTA ทวิภาคีคู่ค้าหลัก

5 กุมภาพันธ์ 2023


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 31 มกราคมถึง 4 กุมภาพันธ์

  • กัมพูชาเล็งทำ FTA ทวิภาคีประเทศคู่ค้าหลัก
  • กัมพูชายืนยันพร้อมออกจากสถานะประเทศพัฒนาน้อยสุด
  • กัมพูชาจะเปิดตัวนโยบายเศรษฐกิจนอกระบบในปีนี้
  • กัมพูชาเล็งส่งออกข้าวสาร 1 ล้านตันภายในปี 2568
  • ฟิลิปปินส์เตรียมคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยวต่างชาติภายในปี 2567
  • สะพานมิตรภาพลาว-ไทย แห่งที่ 5 เปิดใช้ปี 2567
  • กัมพูชาเล็งทำ FTA ทวิภาคีคู่ค้าหลัก

    ที่มาภาพ:https://www.phnompenhpost.com/business/sihanoukville-port-terminal-construction-delayed
    รัฐบาลกัมพูชาผลักดันให้มีการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี หรือ Free Trade Agreement (FTA) ทวิภาคี กับคู่ค้าหลักมากขึ้น เพื่อเข้าถึงตลาดได้กว้างขึ้นสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในกัมพูชา

    อาหรับเอมิเรตส์ อินเดีย ญี่ปุ่น สหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย (EAEU) แคนาดา และประเทศละตินอเมริกาอยู่ในแผนการเจรจา FTA ทวิภาคี จากการเปิดเผยของนายอัน พรโมนิโรธ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง

    กระทรวงต้องดำเนินการหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับผลประโยชน์จากข้อตกลงการค้าทวิภาคีให้ครอบคลุม นายอันกล่าว

    ปัจจุบัน กัมพูชามี FTA ทวิภาคี 2 ฉบับกับจีนและเกาหลี ซึ่งมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคมและธันวาคม 2565 ที่ผ่านมาตามลำดับ

    นายเพ็ญ โสวิเชฐ ปลัดกระทรวงต่างประเทศในฐานะโฆษกกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า FTA ทวิภาคีกับความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าระดับภูมิภาคขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วย 15 ประเทศในแปซิฟิก ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 ได้ขยายตลาดสินค้าของกัมพูชาให้กว้างขึ้น

    “เมื่อเรามีข้อตกลงการค้าเสรีแบบทวิภาคีกับประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมาก เช่น จีน ก็เป็นสัญญาณเชิงบวกสำหรับเศรษฐกิจและผลิตภัณฑ์ของเรา”

    กัมพูชายืนยันพร้อมออกจากสถานะประเทศพัฒนาน้อยสุด

    ที่มาภาพ:https://www.khmertimeskh.com/501231715/cambodia-confirms-readiness-to-exit-ldc-status/

    กัมพูชายืนยันความพร้อมในการพ้นจากสถานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries-LDC) โดยได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของการออกจากประเทศ ความท้าทาย และการสูญเสียแผนสิทธิพิเศษทางการค้าเรียบร้อยแล้ว

    นายอัน พรโมนิโรธ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง ขอให้กระทรวงพาณิชย์เสริมสร้างความพร้อมของรัฐบาลในการพ้นจากสถานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุดด้วยแผน LDC

    “กัมพูชากำลังเตรียมให้รัฐบาลดำเนินการตามแผนที่จะออกจาก LDC เพื่อให้บรรลุการประเมินของสหประชาชาติในปี 2567 และขยายระยะเวลาการเปลี่ยนผ่านหากจำป็น” นายอันกล่าวในระหว่างพิธีปิดการประชุมประจำปีของกระทรวงพาณิชย์

    รองนายกรัฐมนตรีเรียกร้องให้ติดตามผลกระทบของการพ้นจากสถานะ LDCs ในด้านการเจรจาภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) และกรอบระดับภูมิภาคต่อเศรษฐกิจกัมพูชา โดยเฉพาะเตรียมเจรจา GSP Plus ใหม่(GSP-สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร) เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดและรักษาดุลการผลิตและความน่าดึงดูดใจสำหรับการลงทุนในกัมพูชาหลังประเทศพ้นจากสถานะกลุ่มประเทศ LDCs

    เพื่อให้สามารถพ้นจากสถานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุด คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาแห่งสหประชาชาติปี 2567 ได้จัดกัมพูชาให้อยู่ในอันดับสองจากการทบทวนรอบสามปี

    จากข้อมูลของกระทรวง การประเมินครั้งต่อไปของการออกจากสถานะ LCD ของกัมพูชาจะมีขึ้นในปี 2567 และหากเป็นไปตามข้อกำหนดก็จะมีผลในปี 2570

    หลังจากพ้นจากสถานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุดแล้ว กัมพูชาจะไม่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีการค้าและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับความช่วยเหลือระหว่างประเทศอีกต่อไป

    นอกจากนี้ นายอันยังขอให้กระทรวงสานต่อความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับกระทรวงและสถาบันที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีที่กัมพูชามี โดยเฉพาะ RCEP และข้อตกลงกับจีนและเกาหลี

    สำหรับการพ้นจากสถานะ LDC กัมพูชาต้องผ่านเกณฑ์อย่างน้อย 3 ด้าน ได้แก่ รายได้ประชาชาติ (Gross National Income-GNI) ต่อหัว ดัชนีทุนมนุษย์ (Human Assets Index-HAI) และดัชนีความเปราะบางทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม(Economic and Environmental Vulnerability Index) ปัจจุบัน กัมพูชาผ่านการพิจารณาไปแล้ว 2 ด้าน

    การประเมินครั้งแรกของกัมพูชาโดยสหประชาชาติในการพ้นจากสถานะ LDC ที่มีขึ้นเมื่อปีที่แล้ว นั้น กัมพูชามีGNI ต่อหัวอยู่ที่ 1,377 ดอลลาร์ ซึ่งเกินเกณฑ์ 1,222 ดอลลาร์ และHAI อยู่ที่ 74.3 ซึ่งสูงกว่า 66 ที่กำหนด 66 แต่ดัชนีความเปราะบางทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอยู่ที่ 30.6 ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ 32 ของข้อกำหนด

    นายกี่ เสรีวาธ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ผู้อำนวยการสถาบันจีนศึกษาแห่ง Royal Academy of Cambodia กล่าวว่า ปัจจัยต่างๆ จะต้องผ่านการประเมินโดยสถาบันระหว่างประเทศ

    “การเติบโตทางเศรษฐกิจประจำปี แนวโน้มเศรษฐกิจของเรา ความพยายามในการปฏิรูปของรัฐบาล การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการจัดการงบประมาณแผ่นดิน ชื่อเสียงในเวทีระหว่างประเทศ และกำลังการผลิตล้วนเป็นพื้นฐานในกระบวนการประเมินการพ้นจากสถานะLDC” นายกี่กลาว

    กัมพูชากำหนดวิสัยทัศน์การเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงภายในปี 2573 หลังจากเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา

    ตามวิสัยทัศน์ของประเทศที่มีรายได้ปานกลางสูงภายในปี 2573 กัมพูชาจะบรรลุผลสำเร็จด้วยดี โดยพิจารณาจากเศรษฐกิจ นายวงสี วิโสธ ปลัดกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังกล่าว

    วิสัยทัศน์ของรัฐบาลที่จะเปลี่ยนกัมพูชาให้เป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางสูงภายในปี 2573 ยังคงเป็นเป้าหมายของกัมพูชาในการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางสูง ซึ่งเป็นงานยากที่มีความซับซ้อนมากขึ้นในบริบทของโลกโดยรวมและในประเทศ มีความท้าทายมากมายที่กัมพูชาต้องผ่านพ้นให้ได้”

    “ปี ค.ศ.2050 ยังคงเป็นเป้าหมายในการเปลี่ยนกัมพูชาให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูง นี่คือเป้าหมายของกัมพูชาที่เราต้องร่วมมือกันเพื่อทำให้ให้โลกรู้จักกัมพูชามากขึ้น”

    กัมพูชาจะเปิดตัวนโยบายเศรษฐกิจนอกระบบในปีนี้

    Central Market ในกรุงพนมเปญ
    รัฐบาลกัมพูชาเตรียมพร้อมที่จะเปิดตัวนโยบายเศรษฐกิจนอกระบบก่อนสิ้นปี 2566 เพื่อพัฒนาและยกระดับภาคนอกระบบ ในระบบการจัดการภายใต้เศรษฐกิจนอกระบบ แถลงการณ์กระทรวงเศรษฐกิจและการคลังกล่าวระบุ การดำเนินการครั้งนี้คาดว่าจะช่วยเพิ่มรายได้จากภาษี

    แถลงการณ์ที่ออกโดยกรมสรรพากร(General Department of Taxation-GDT) ภายใต้กระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง ได้เปิดเผยถึงนโยบายที่จะนำมาใช้ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเสนอของนายอัน พรโมนิโรธ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังในระหว่างการประชุมของ GDT เกี่ยวกับผลการจัดเก็บภาษีในปี 2565 และแผนปี 2566

    เอกสารเผยแพร่ไม่ได้ให้รายละเอียด บทสรุป หรือร่างนโยบาย อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า นโยบายเศรษฐกิจนอกระบบคาดว่าจะส่งเสริมหรือบังคับให้เจ้าของธุรกิจในระบบต้องจดทะเบียนธุรกิจอย่างเป็นทางการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ภาษีภายในให้กับรัฐบาล แม้จะมีความท้าทายในแง่ของการแข่งขันก็ตาม

    นายกุน ดาริธ หุ้นส่วนผู้จัดการของสำนักงานบัญชีและตรวจสอบบัญชี K Professional Accountants (KPA) กล่าวว่า ภาคนอกระบบมีสัดส่วนระหว่าง 30-40% ในผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของกัมพูชา แต่จะเป็นความท้าทายในการแข่งขันหากมีหน้าที่ต้องเสียภาษีโดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

    “เศรษฐกิจนอกระบบหรือภาคเศรษฐกิจที่ หมายถึง กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีทั้งการขายและการบริการที่ไม่ได้จดทะเบียนกับระบบของรัฐ เช่น พ่อค้าแม่ค้าที่ตลาด ร้านกาแฟ แม่บ้านประจำรถหรือรถบ้าน ร้านโทรศัพท์ แท็กซี่ ร้านขายอาหาร ร้านขายของชำ เป็นต้น แน่นอน ธุรกิจเหล่านี้ได้รับการกระตุ้นให้จดทะเบียนกับหน่วยงานด้านภาษี เพื่อให้สามารถเก็บภาษีจากพวกเขาได้” นายดาริธ ธิบาย

    นายดาริธกล่าวอีกว่า สำนักงานของ GDT ในอำเภอและจังหวัดได้เชิญเจ้าของธุรกิจนอกระบบมาประชุมและกระตุ้นให้จดทะเบียนหลายครั้ง เนื่องจากหน่วยงานภาษีภายในมีทีมงานเพื่อติดตามธุรกิจที่นอกระบบและให้คำปรึกษา ธุรกิจเหล่านั้นรวมถึงร้านอาหาร ร้านอัญมณี และร้านมอเตอร์ไซค์

    “คุณจะเห็นว่าร้านอาหารขนาดใหญ่บางร้านที่มีชื่อโด่งดังได้เริ่มเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ซึ่งหมายความว่าตอนนี้อยู่ในระบบแล้ว แต่ร้านเล็กๆ ยังไม่ได้จดทะเบียน” นายดาริธกล่าวและว่า โดยทั่วไปจะมีการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มใน 3 กรณี จากธุรกิจอยู่ในระบบและธุรกิจนอกระบบที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันในกัมพูชา

    ผู้เชี่ยวชาญด้านการบัญชีและภาษีอธิบายเพิ่มเติม ประการแรก ธุรกิจในระบบมีหน้าที่ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าหรือสินค้าจากธุรกิจนอกระบบที่จัดหาให้แก่ผู้ที่อยู่นอกระบบ แต่ธุรกิจในระบบไม่เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าที่ขายให้แก่ธุรกิจในระบบ เพราะไม่ได้จดทะเบียนกับ GDT ในขณะที่สินค้านอกระบบยังไม่เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผลิตภัณฑ์ที่จัดหาหรือขายนอกระบบ

    “ดังนั้น ธุรกิจที่อยู่นอกระบบจะไม่เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกับสินค้าหรือบริการของตน เพราะไม่ได้จดทะเบียน จึงไม่ต้องมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร นั่นเป็นเหตุผลที่มีการกระตุ้นให้ลงทะเบียนในระบบ” นายดาริธกล่าว “เจ้าของธุรกิจที่ไม่ได้อยู่ในระบบดูเหมือนจะไม่กระตือรือร้นที่จะจดทะเบียนธุรกิจของตน เนื่องจากพวกเขาจะต้องเผชิญกับความเสียเปรียบในการแข่งขันกับผู้ที่ไม่ได้จดทะเบียนหลังจากที่จดทะเบียนธุรกิจแล้ว”

    นายกง วิบูล ผู้อำนวยการทั่วไปของ GDT กล่าวในระหว่างการประชุมว่า GDT จะต้องเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการดำเนินการตามมาตรการและนโยบายภาษี เช่น การเร่งรัดร่างกฎหมายใหม่เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษี และการปรับปรุงระบบ e-Filing และเทคโนโลยีสารสนเทศให้ทันสมัย ​​เพื่อเก็บภาษีได้ให้ 3.57 พันล้านดอลลาร์ ในปีนี้ตามที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566

    ในเดือนธันวาคม 2565 เพียงเดือนเดียว GDT สามารถจัดเก็บภาษีได้เกือบ 241 ล้านดอลลาร์ หรือ 8.45% ของงบประมาณปี 2565

    GDT จัดเก็บรายได้จริงประมาณ 3.45 พันล้านดอลลาร์ในปี 2565 ผ่านระบบการจัดการข้อมูลรายได้ออนไลน์ 122.54% เมื่อเทียบกับจำนวนรายได้ที่กำหนดไว้ในงบประมาณปี 2565 และรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 23.96% เมื่อเทียบกับปี 2564 ในขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มคิดเป็น 34.10% ในบรรดาภาษีประเภทหลักๆ เช่น ภาษีเฉพาะและภาษีเงินได้

    กัมพูชาเล็งส่งออกข้าวสาร 1 ล้านตันภายในปี 2568

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/501230991/cambodia-eyes-exporting-1-million-tons-milled-rice-by-2025/

    สมาพันธ์ข้าวกัมพูชาตั้งเป้าหมายไว้สูงที่จะส่งออกข้าวสารอย่างน้อย 1 ล้านตันภายในปี 2568 ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 50% เมื่อเทียบกับตัวเลขการส่งออกในปี 2565

    ภายในปี 2566 กัมพูชาตั้งเป้าที่จะส่งออกข้าวสารให้ได้ 750,000 ตัน เพิ่มขึ้น 18% เมื่อเทียบกับการส่งออก 637,004 ตันในปี 2565 นายจัน โสกเขียง ประธานสมาพันธ์ข้าวกัมพูชากล่าว

    “สมาพันธ์ข้าวกัมพูชากำหนดเป้าหมายการส่งออกข้าวไว้ 2 ข้อ คือ ภายในปี 2566 จะเพิ่มการส่งออกเป็น 750,000 ตัน และแตะ 1 ล้านตันภายในปี 2568”

    นอกจากนี้ CRF ยังตั้งเป้าหมายที่จะส่งเสริมธุรกิจข้าวที่ทำกำไรได้ ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผ่านกิจกรรมสำคัญๆ มากมาย

    “CRF จะยังคงร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ผ่าน Green Trade เพื่อเข้าถึงตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ และขยายศักยภาพทางการตลาดด้วยการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในตะวันออกกลางและสหภาพยุโรป”

    CRF จะยังคงเสริมสร้างศักยภาพและเพิ่มจำนวนการส่งออกข้าวสีแล้วไปยังประเทศจีนให้มากกว่าโควตา 400,000 ตันในปีนี้

    ปีที่แล้ว กัมพูชาส่งออกข้าวสาร 637,004 ตันไปยังตลาดต่างประเทศ เพิ่มขึ้น 3.2% จาก 617,069 ตันในปีก่อนหน้า

    CRF กล่าวว่ากัมพูชามีรายได้ 414 ล้านดอลลาร์จากการส่งออกสินค้าไปยัง 59 ประเทศและภูมิภาคในปีที่แล้ว โดยจีนยังคงเป็นผู้ซื้อข้าวสารรายใหญ่อันดับต้น ๆ ของกัมพูชา และพันธุ์ข้าวที่ส่งออก ได้แก่ ข้าวหอมระดับพรีเมียม ข้าวหอม ข้าวขาวเมล็ดยาว ข้าวนึ่ง ข้าวอินทรีย์ และข้าวเหนียว

    ฟิลิปปินส์เตรียมคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยวต่างชาติภายในปี 2567

    ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ของฟิลิปปินส์ได้อนุมัติโครงการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติภายในปี 2567 เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น สำนักงานสื่อสารของประธานาธิบดี (PCO) กล่าว

    รัฐบาลเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้น 12% สำหรับสินค้าที่บริโภคภายในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แผนดังกล่าวจะอนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าที่นำออกจากฟิลิปปินส์ได้ เช่นเดียวกับที่ประเทศอื่นๆ เสนอ

    มาตรการดังกล่าวเป็นหนึ่งในข้อเสนอของสภาที่ปรึกษาภาคเอกชนที่เสนอต่อมาร์กอสเมื่อเร็ว ๆ นี้ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมถึงปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและการดำเนินงานของสนามบิน และส่งเสริมการลงทุนด้านการท่องเที่ยว

    ประธานาธิบดีมาร์กอสยังอนุมัติให้ออกวีซ่าออนไลน์ในปีนี้สำหรับนักท่องเที่ยวชาวจีน อินเดีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น

    ฟิลิปปินส์มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2.65 ล้านคนในปีที่แล้ว ซึ่งสร้างรายได้ประมาณ 3.68 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเกินเป้าหมาย 1.7 ล้านคน ในปี 2565 ตามข้อมูลของกรมการท่องเที่ยว

    ยอดรวมของปีที่แล้วประกอบด้วยชาวต่างชาติ 2.02 ล้านคนและชาวฟิลิปปินส์ 628,445 คนที่อยู่ในต่างประเทศ ซึ่งเทียบกับนักท่องเที่ยวเพียง 163,879 คนในปี 2564 แต่ยังต่ำกว่าระดับก่อนเกิดโรคระบาดที่ 8.26 ล้านคนต่อปีอย่างมีนัยสำคัญ

    รัฐบาลตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้ 4.8 ล้านคน

    สะพานมิตรภาพลาว-ไทย แห่งที่ 5 เปิดใช้ปี 2567

    สะพานมิตรภาพลาว-ไทยแห่งที่ 5 ที่มาภาพ:https://kpl.gov.la/EN/detail.aspx?id=71211
    สะพานมิตรภาพลาว-ไทยแห่งที่ 5ซึ่งทอดข้ามแม่น้ำโขงระหว่างแขวงบอลิคำไซของลาวและจังหวัดบึงกาฬของไทยคาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดใช้งานในต้นปี 2567

    ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 การก่อสร้างสะพานได้ดำเนินการไปแล้ว 60% ของแผน

    การก่อสร้างมีความคืบหน้าเร็วกว่าที่คาดไว้ โดยส่วนตรงกลางของสะพานคาดว่าจะแล้วเสร็จในกลางปี

    เจ้าหน้าที่คาดว่าสะพานจะช่วยส่งเสริมการค้าชายแดนระหว่างลาวและไทย และตอกย้ำสถานะของไทยในฐานะศูนย์กลางการค้าในภูมิภาค

    สะพานนี้จะเชื่อมต่อกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 13 ทิศใต้ในบอลิคำไซและทางหลวงหมายเลข 222 ในบึงกาฬ และจะเป็นเส้นทางระดับภูมิภาคที่เชื่อมลาวกับไทยและเวียดนาม ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างเพื่อนบ้านทั้งสามและประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง(Greater Mekong Subregion-GMS) อื่น ๆ ได้แก่ กัมพูชา เมียนมา และจีน