ThaiPublica > คนในข่าว > “กัญชง” ธุรกิจ New S-Curve “ไทยลีฟ” เตรียมผลิตขายทั่วโลก เปิดตัวสินค้า มี.ค. นี้

“กัญชง” ธุรกิจ New S-Curve “ไทยลีฟ” เตรียมผลิตขายทั่วโลก เปิดตัวสินค้า มี.ค. นี้

16 มกราคม 2023


อุตสาหกรรมกัญชง จุดเปลี่ยนผลิตภัณฑ์สุขภาพ ธุรกิจ “New S-Curve” ของไทยอีก 5 ปีเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจจาก 7,200 ล้านบาทต่อปี เป็น 5 หมื่นล้านบาทต่อปี ขณะที่บริษัท ไทย ลีฟ ไบโอเทคโนโลยี เตรียมวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์กัญชงคุณภาพ เดือนมีนาคมนี้

นายยิ่งยศ จารุบุษปายน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย ลีฟ ไบโอเทคโนโลยี จำกัด

ขณะที่สังคมยังถกเถียงถึงผลกระทบจากการเปิดเสรี “กัญชา” และลุ้น พ.ร.บ.กัญชา-กัญชง ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขสำคัญในการควบคุมการใช้กัญชาอย่างเหมาะสม หลังจากกระทรวงสาธารณสุขประกาศปลดกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา แต่อายุการทำงานของสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้มีไม่มาก เนื่องจากวันที่ 24 มีนาคม 2566 ก็จะสิ้นสุดลง

พ.ร.บ.กัญชา-กัญชง จะคลอดไม่ทัน สภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ กระทบกับธุรกิจกัญชา-กัญชง มากน้อยแค่ไหน “สำนักข่าวไทยพับลิก้า” ได้พูดคุยกับ “ยิ่งยศ จารุบุษปายน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย ลีฟ ไบโอเทคโนโลยี จำกัด”

“ธุรกิจของเราทำเรื่องกัญชง ซึ่งไม่เกี่ยวกับกัญชา ทำให้แม้ว่า พ.ร.บ.กัญชา-กัญชง จะยังไม่ออกมาบังคับใช้ก็ไม่กระทบกับธุรกิจ เรายังเดินหน้าตามแผนได้ เนื่องจากธุรกิจของเราเป็นเรื่องของกัญชงทั้งหมด”

ย้อนกลับไปช่วงเริ่มต้นของธุรกิจ “กัญชง-กัญชา” ในประเทศไทย เมื่อปี 2562 กระทรวงสาธารณสุขเริ่มมีประกาศกระทรวงฯ ให้วิจัยและพัฒนากัญชา โดยจะต้องร่วมวิจัยกับมหาวิทยาลัยภาครัฐเท่านั้น

ขณะที่ในส่วนของ “กัญชง” ได้มีประกาศกระทรวงฯ เปิดเสรี เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2564 ทำให้ภาคเอกชน บริษัทขนาดใหญ่ เริ่มต้นธุรกิจนี้เช่นเดียวกับ บริษัท ไทย ลีฟ ไบโอเทคโนโลยี จำกัด

กม.กัญชาไม่กระทบ “ธุรกิจ กัญชง”

แม้ตัว พ.ร.บ.กัญชา จะมีคำว่ากัญชงร่วมด้วย แต่ไม่กระทบธุรกิจกัญชง เนื่องจากประกาศกฎกระทรวง “กัญชง” ถูกปลดออกจากบัญชียาเสพติดตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ทางบริษัทไทยลีฟฯ ได้ยื่นขอใบอนุญาตเพื่อดำเนินแบบครบวงจรทั้งหมด 3 ใบอนุญาตประกอบด้วย 1. ใบอนุญาตการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ 2. ใบอนุญาตเพื่อปลูกกัญชง 3. ใบอนุญาตโรงงานผลิต เพื่อสกัดและทำผลิตภัณฑ์ โดยขณะนี้ทั้ง 3 ใบอนุญาตได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีเพียงใบอนุญาตโรงงานที่อยู่ระหว่างการก่อตรวจเพื่อออกใบอนุญาต

“ยิ่งยศ” บอกว่า ไทยลีฟฯ สร้างโรงงานผลิตตามมาตรฐานสูงสุดเพื่อผลิตยา จากทั้งหมด 3 มาตรฐาน คือ โรงงาน GMP แบบพื้นฐาน ซึ่งแพทย์แผนไทยดำเนินการทำห้องมีระบบอากาศ 2.โรงงานที่ได้มาตรฐาน GMP อาเซียน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงงานอาหาร และอาหารเสริม 3. มาตรฐาน GMP PIC/S ซึ่งเป็นมาตรฐานสูงสุดที่สามารถใช้ผลิตผลิตภัณฑ์ยาได้

“เราทำเฉพาะกัญชง แม้ว่า ตัว พ.ร.บ.กัญชา-กัญชง จะเป็นกฎหมายหลัก แต่เราทำตามกฎหมายลูก ตัว พ.ร.บ.หลักก็ให้สภาผู้แทนราษฎรดำเนินการไป เราภาคเอกชนคงไม่ไปยุ่ง แต่ที่ผ่านมาในนามนายกสมาคมสหอุตสาหกรรมพืชกัญชงและกัญชา ได้เสนอข้อคิดเห็นในเรื่องนี้ไปว่าทั้ง กัญชา-กัญชงมีศักยภาพทางธุรกิจและเป็นธุรกิจใหม่ของประเทศที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประชากรได้”

“กัญชง” ต่างจาก “กัญชา” อย่างไร

ประชาชนโดยทั่วไปยังคงสับสนระหว่าง “กัญชา” กับ “กัญชง” อะไรคือความแตกต่าง โดยทั้งกัญชงกับกัญชา มีความคล้ายกันมากเพราะเป็นพืชกลุ่มเดียวกันแบ่งแยกด้วยตาเปล่าไม่สามารถแยกได้ นอกจากผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

นอกจากลักษณะใบที่เหมือนกันแล้ว ทั้งกัญชาและกัญชง มีสาร 2 ชนิดเหมือนกันคือ THC (tetrahydrocannabinol) ซึ่งมีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ส่งผลต่ออารมณ์ ความจำ ความรู้สึก ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย เคลิบเคลิ้ม อยากอาหาร และลดอาการคลื่นไส้ และสาร CBD (cannabidiol) ไม่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท มีฤทธิ์ระงับอาการปวด ลดการอักเสบ ลดอาการชักเกร็ง และลดความกังวล ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย

แต่ที่แตกต่างคือปริมาณสาร THC และ CBD โดย “ยิ่งยศ” บอกว่า กัญชามีสาร THC สารมึนเมาสูงกว่า 0.3 ขณะที่กัญชง มีสารTHC ต่ำกว่า 0.3 และมีสาร CBD ที่มีคุณภาพไปทำยาได้

“คนส่วนใหญ่มักจะใช้กัญชาในเรื่อง สันทนาการเพราะมีสาร THC มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท ทำให้เกิดอาการเคลิ้มและง่วง หรือที่เรียกกันว่า เมากัญชา ทำให้กัญชาต้องมีมาตรการควบคุมสำหรับใช้ในทางการแพทย์ เพื่อไม่ให้มีการนำไปใช้เป็นยาเสพติด”

อย่างไรก็ตาม สาร CBD มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายเรื่องการนอนหลับ การลดความเครียด การลดความเจ็บปวด รู้สึกสบายผ่อนคลาย ทำให้ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ในทางการแพทย์ได้พัฒนาสาร THC+CBD มาผสมกันเพื่อทำยาเพื่อใช้ในการแพทย์

“กัญชงกับกัญชามีความคล้ายกันมาก แม้แต่ช่อดอกก็ไม่ต่างกันแต่ความต่างกันอยู่ที่ค่า THC ทำให้มึนเมา กับ CBD ที่ใช้ทางการแพทย์ โดยสาร 2 ชนิดต้องเข้าแล็บ ถึงจะแยกชนิดได้ ดูด้วยตาเปล่าอาจจะยากเพราะสายพันธุ์ กัญชงมีเป็น 1,000 ชนิด ขณะที่ กัญชาก็มีเป็น 1,000 ชนิดเช่นกัน”

เดินหน้าธุรกิจ “กัญชง” New S-Curve ของไทย

ธุรกิจกัญชงและกัญชา กำลังจะเข้ามาเปลี่ยนธุรกิจไทย โดย “ยิ่งยศ” เชื่อว่า ธุรกิจกัญชงจะสร้างความเปลี่ยนแปลงหรือเป็น “New S-Curve” ของไทย โดยในอนาคตไม่เกิน 5 ปีถ้ารัฐจริงใจแล้วก็ให้นโยบายที่ชัดเจน ธุรกิจกัญชงจะสร้างคุณประโยชน์ต่อธุรกิจไทยทั้งในเรื่องท่องเที่ยว เมดิคอลฮับ เฮลท์แคร์

”คิดง่ายๆ แค่ตลาดในประเทศ มีประชากร 30% ของไทย 67 ล้านคน เป็นโรคนอนไม่หลับ ซึ่งแทนที่จะใช้ยานอนนหลับต่างๆ ซึ่งมีผลทางเคมี มาใช้สาร CBD ซึ่งเป็นสารธรรมชาติ 100% ไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับเคมี ขณะที่เรายังมีตลาดต่างประเทศอีกจำนวนมาก”

ความได้เปรียบของประเทศไทยคือ เป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เปิดเสรี กัญชง กัญชา โดย “ยิ่งยศ” บอกว่า เอเชียยังไม่มีประเทศไหนเลยยกเว้นไทยที่เปิด ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านเรารอดูไทยอยู่ ต่อไปมาเลเซียจะเปิด ตามด้วยลาว อินโดนีเซีย เพราะฉะนั้น ไทยเปิดก่อน 2 ปีถือว่าได้เปรียบ

“การเปิดก่อนถือว่าได้เปรียบ เพราะธุรกิจไม่สามารถประกาศ เปิดแล้ว ดีดนิ้วแล้วสินค้าจะเกิดขึ้นเลย ต้องใช้เวลาปลูก ตั้งโรงงานอย่างน้อย 1 ปี ขณะที่ไทยเกิดมาก่อนแล้ว 2 ปี ทำให้ผลิตภัณฑ์เราพัฒนาไปก่อนได้มากกว่า”

Marijuana oil in a small bottle. Selective focus. Nature.

ทำไม “กัญชง-กัญชา” ถึงเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของไทย

“ยิ่งยศ” บอกว่า กัญชงเป็นเศรษฐกิจใหม่ในไทย เพราะหากมองย้อนกลับไปในต่างประเทศระยะเวลา 15-20 ปี สหรัฐอเมริกา แคนาดา ยุโรป เยอรมัน ได้เปิดเสรีกัญชาแล้วเช่นกัน โดยประเทศเหล่านี้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์มากกว่า 1,000 ชนิด สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจำนวนมหาศาล

“ผมเชื่อว่าอีก 3 ปี เรามองกลับมาตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่ขณะนี้โต 7,200 ล้านบาท/ปี แต่ในอนาคต กัญชงสามารถสร้างการเติบโตได้มากถึงปีละ 5 หมื่นล้านบาท”

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจกัญชง-กัญชาสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงจนนำไปสู่เศรษฐกิจใหม่ได้ รัฐบาลจะต้องมีความชัดเจนในเรื่องนโยบาย แม้ว่ากัญชงจะไม่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายที่ยังไม่ผ่านสภาฯ แต่ขณะเดียวกันผู้บริโภคมีผลกระทบทางด้านจิตวิทยาในเรื่องความรู้ความเข้าใจ

ดังนั้น ในฐานะภาคเอกชน ในนามสมาคมสหอุตสาหกรรมพืชกัญชงและกัญชา ได้เสนอให้รัฐบาลให้ความรู้ความเข้าใจ สร้างมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพผู้บริโภคมั่นใจในเรื่องความปลอดภัย และสุดท้ายช่วยส่งเสริมตลาด เนื่องจากธุรกิจกัญชงไม่ได้ช่วยแค่เกษตรกร แต่ยังสามารถพัฒนาไปเรื่องการท่องเที่ยว การแพทย์

นวัตกรรมเทคโนโลยี ณ โรงงานกัญชง ไทยลีฟ จ.นครนายก

ไทยลีฟปักธงเดินหน้าธุรกิจ “กัญชง” ครบวงจร

ด้วยมองว่าธุรกิจกัญชง ซึ่งมีสาร THC น้อยกว่า “กัญชา” จะเข้ามาเปลี่ยนธุรกิจสุขภาพในประเทศไทย ทำให้ “ยิ่งยศ” และ “เฉลิม เทร็ลล์” ลูกครึ่งไทย-อังกฤษ ร่วมกันก่อตั้งบริษัท ไทย ลีฟ ไบโอเทคโนโลยี จำกัด

ด้วยภูมิหลังของครอบครัว “ยิ่งยศ” ซึ่งทำธุรกิจด้านฟาร์มาซูติคอล ผลิตยามานานกว่า 70 ปี ตั้งแต่รุ่นคุณตาขณะที่ “เฉลิม เทร็ลล์” ประธานบริษัทไทย ลีฟ ไบโอเทคโนโลยี จำกัด มีประสบการณ์ด้านการทำธุรกิจด้านการเกษตร ทำให้ทั้งสองคนเริ่มสนใจธุรกิจกัญชา-กัญชง และเห็นว่า สาร CBD ของกัญชงสามารถนำไปพัฒนาได้หลายอย่าง

“บริษัทเริ่มต้นมาจากคน 2 คน คือผมและพาร์ตเนอร์ของผม คือ เฉลิม เทร็ลล์ ธุรกิจที่บ้านผมเป็นโรงงานผลิตยามานานกว่า 70 ปี กว่า 200 ชนิด ที่ขายให้กับโรงพยาบาล แต่เป็นที่รู้จักยาทาภายนอกคือ โทนาฟ และยาหยอดตา ที่ขายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มานานกว่า 30 ปี”

“ยิ่งยศ” บอกว่า เริ่มธุรกิจกัญชงเพราะเห็นศักยภาพของสาร CBD ว่าให้ประโยชน์หลายอย่าง โดยมีทั้งไฟเบอร์ที่นำมาใช้ผลิตภัณฑ์อาหารและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ได้ จึงตั้งบริษัทชื่อ ไทย ลีฟ ไบโอเทคโนโลยี เพราะทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวิวัฒนาการต่างๆ ที่เกี่ยวกับ ยา สมุนไพร

สำหรับความแข็งแกร่ง เขาบอกว่า มีพาร์ตเนอร์จาก 3 ประเทศ คือไทย บมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ ซึ่งแตกไลน์บริษัทมาทำด้านเฮลท์แคร์ โดยตั้งบริษัทลูกชื่อ ออริจิ้น เฮลท์แคร์ จำกัด ถือหุ้นในบริษัทไทยลีฟ 25% ประเทศที่สองคือแคนาดา บริษัท คานาร์ฟามา อินเวสต์เมนต์ส จำกัด บริษัทที่ลงทุนด้านกัญชงในแคนาดา แคลิฟอร์เนีย และจาไมกา มีศักยภาพในธุรกิจกัญชา และเทคโนโลยีการเกษตร ถือหุ้นประมาณ 16% ส่วนประเทศที่ 3 คือ สิงคโปร์ บริษัทเอราเลียน แคปิตอล จำกัด ที่มีประสบการณ์ด้านการเงินมากมาย จากประเทศสิงคโปร์

“ผมคิดว่าบริษัทเรามีพร้อมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ สามารถทำได้หมด โดยเฉพาะธุรกิจต้นน้ำ เรากำลังทำวิจัยสายพันธุ์กัญชงร่วมกับมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ที่เชี่ยวชาญในการพัฒนาพันธุ์กัญชงมานานกว่า 30 ปี วิจัยพันธุ์กัญชงที่เหมาะสมกับไทย เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ที่ดีมาใช้ในประเทศไทยและส่งต่อไปยังเกษตรกร”

สำหรับธุรกิจเมล็ดพันธุ์คาดว่าหลังจากร่วมกับมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ จนได้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ปีมาจำหน่ายให้กับเกษตรกรในราคาที่เข้าถึงได้ และเป็นเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ เนื่องจากปัจจุบันเมล็ดพันธุ์กัญชงในประเทศไทยมีราคาแพงมาก

ผลิตภัณฑ์ “กัญชง” วางขายมีนาคมปีนี้

ส่วนผลิตภัณฑ์กัญชง หลังบริษัทไทยลีฟฯ ได้ใช้พื้นที่กว่า 50 ไร่ในจังหวัดนครนายกปลูกกัญชงมานานกว่า 1 ปี โดยเริ่มเก็บเกี่ยวและสกัดน้ำมัน CBD โดยใช้เงินลงทุนรวมทั้งหมด 200 ล้านบาท

โรงงานสกัดที่เริ่มก่อสร้างเดือนสิงหาคม 2564 บนพื้นที่ประมาณ 6,000 ตารางเมตร แล้วเสร็จ อยู่ระหว่าง อย. ตรวจสอบมาตรฐานผลิตยาขั้นสูงสุด คือ โรงงาน GMP PIC/S ซึ่งโรงงานใช้งบประมาณการลงทุนในการซื้อเครื่องจักรเพื่อสกัดสาร CBD กว่า 70 ล้านบาท

“โรงงานที่เราสร้างใช้มาตรฐาน GMP PIC/S สูงสุดซึ่งตอนนี้ในประเทศไม่มีใครได้มาตรฐานนี้เพื่อสกัดสาร CBD คุณภาพสูง ซึ่งมาตรฐานโรงงานระดับนี้ ทำให้สามารถส่งออกไปได้ทั่วโลก”

“ยิ่งยศ” บอกว่า ไทยลีฟได้เซ็นสัญญากับ ‘GLOBAL CONSUMER’ บริษัท โกลบอล คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) และอีก 2 บริษัทในเครือสหพัฒน์เพื่อร่วมมือในการผลิตผลิตภัณฑ์ และเตรียมส่งออกจำหน่ายในต่างประเทศ เช่น โปรตุเกส ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา

ส่วนผลิตภัณฑ์ที่จะเริ่มวางจำหน่ายในเดือนมีนาคมปีนี้ 1. คือ CBD หลอด ช่วยนอนหลับ ผ่อนคลาย ซึ่งผลิตภัณฑ์นี้ได้วิจัยในห้องปฏิบัติการ พัฒนามาเป็นสินค้ามาเรียบร้อยแล้ว 2. และเครื่องสำอาง (คอสเมติกส์) 3. Pain Balm ที่มีลักษณะเป็นแผ่นแปะลดความเจ็บปวด

นายยิ่งยศ จารุบุษปายน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย ลีฟ ไบโอเทคโนโลยี จำกัด

“ยิ่งยศ” บอกว่า หลังจากเดือนมีนาคม วางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ตัวแรกแล้ว จากนั้นในทุกปีจะผลิตและวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับกัญชงปีละ 30-40 ชนิดอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากพาร์ตเนอร์ที่สหรัฐเมริกามีผลิตภัณฑ์กว่า 1,000 ชนิดที่ผลิตขายในตลาดสหรัฐอยู่แล้ว

“เรายึดคติพจน์ผู้บริโภคต้องได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพที่ดีที่สุดในราคาที่จับต้องได้ เพราะฉะนั้น เราจะเน้นในเรื่องของความปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดย ไทย ลีฟ ไบโอเทคโนโลยี จึงได้ลงทุนในโรงงาน และเครื่องสกัดที่มีคุณภาพที่ดีที่สุดในโลก”

“ยิ่งยศ” เชื่อว่าผลิตภัณฑ์ที่จะวางจำหน่ายในเดือนมีนาคม 2566 นี้ จะเปลี่ยนของธุรกิจกัญชงของเมืองไทยจากเดิมที่เป็นตลาดพื้นบ้าน ให้เป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ในราคาที่ย่อมเยาว์ ซึ่งหลังจากนั้นผู้บริโภคจะเรียนรู้ด้วยตัวเองว่าอันไหนคือสินค้าที่ดีมีคุณภาพ และผลิตภัณฑ์กัญชงจะเข้ามาในฐานะ New S-Curve ของไทย และในอนาคต 5 ปี อุตสาหกรรมกัญชา-กัญชง จะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของไทยเป็น 5 หมื่นล้านบาทต่อปี