ThaiPublica > เกาะกระแส > เมื่อไทยใหญ่ไม่พอ… 10 ปี “บริษัทจดทะเบียน” มุ่งลงทุนต่างประเทศ รายได้ทะลุกว่า 2 ล้านล้านบาท

เมื่อไทยใหญ่ไม่พอ… 10 ปี “บริษัทจดทะเบียน” มุ่งลงทุนต่างประเทศ รายได้ทะลุกว่า 2 ล้านล้านบาท

10 ตุลาคม 2017


ขณะที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหาการฟื้นตัวในยุคสมัยของ “New Normal” ซึ่งเติบโตได้เพียง 2-3% มาเป็นเวลาหลายปี แม้ว่าในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านจะมีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น แต่โดยรวมยังมีความกังวลว่าการฟื้นตัวนี้จะสามารถส่งผ่านไปยังทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจได้หรือไม่

แต่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์กลับยังสามารถทำกำไรได้อย่างมหาศาล โดยล่าสุด ณ สิ้นปี 2559 บริษัทจดทะเบียนมีกำไรเกือบ 1 ล้านล้านบาท เติบโตขึ้นจากปีที่ผ่านมา 30.4% และเป็นการเติบโตที่สูงที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา

198 บริษัทจดทะเบียนไปลงทุน ตปท. มูลค่า 1.07 ล้านล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ได้จัดทำ “รายงานวิจัยการลงทุนทางตรงในต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียนไทยปี 2559” ซึ่งสามารถสะท้อนและตอบคำถามดังกล่าวได้เป็นอย่างดีว่า ประเทศไทยในขณะนี้อาจจะใหญ่ไม่เพียงพอสำหรับบริษัทจดทะเบียนอีกต่อไปแล้ว โดยภาพรวมของบริษัทจดทะเบียน 551 บริษัท มีถึง 198 บริษัทที่มีสถานะการลงทุนทางในต่างประเทศ หรือคิดเป็น 39% ของจำนวนบริษัททั้งหมด และหากคิดตามมูลค่าตลาด (Market Capitalization) ของบริษัทจดทะเบียนที่ไปลงทุนในต่างประเทศจะมีมูลค่าสูงถึง 1.07 ล้านล้านบาทหรือ 71% ของมูลค่าตลาดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยส่วนใหญ่ 78% ไปลงทุนในอาเซียนและ 59% ไปลงทุนในประเทศกลุ่ม CLMV

ทั้งนี้ หากแยกตามรายอุตสาหกรรมจะพบว่าในปี 2559 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีบริษัทจดทะเบียนออกไปลงทุนต่างประเทศมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มทรัพยากรธรรมชาติ, กลุ่มอาหารและการเกษตร และกลุ่มบริการ โดยสัดส่วนคิดเป็น 56%, 48% และ 43% ของจำนวนบริษัททั้งหมดในกลุ่มอุตสาหกรรมนั้นๆ

หากแยกตามขนาดของบริษัท บริษัทขนาดใหญ่ในกลุ่ม SET50 ไปลงทุนในต่างประเทศมีจำนวน 40 บริษัท เท่ากับในปี 2558 โดยคิดเป็น 80% ของจำนวนบริษัทในกลุ่ม SET50 ทั้งหมด ในขณะที่บริษัทในกลุ่ม SET51-100 ที่ลงทุนในต่างประเทศมีจำนวน 26 บริษัท ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับปี 2558 ที่มี 28 บริษัท อย่างไรก็ตาม จำนวนบริษัทในกลุ่มอื่นๆ ที่ลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 132 บริษัทในปี 2559 จาก 124 บริษัทในปีก่อนหน้า

เม็ดเงินลงทุนสะสม 10 ปี กว่า 1.12 ล้านล้านบาท

ในแง่ของจำนวนเม็ดเงินลงทุนในต่างประเทศพบว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2549-2559 บริษัทจดทะเบียนลงทุนถึง 1.12 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงปี 2549-2552 ที่ลงทุนปีละไม่ถึง 50,000 ล้านบาท หลังจากนั้นเป็นการลงทุนปีละมากกว่า 100,000 ล้านบาท โดยในปี 2553 ลงทุนสูงมูลค่าถึง 205,464 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2559 มีเงินลงทุนที่ 185,111 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งแตกต่างจากในอดีตที่โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มทรัพยากรซึ่งมีมูลค่าเงินลงทุนสูงกว่ากลุ่มอื่น

ทั้งนี้ หากจำแนกตามขนาดของบริษัทจดทะเบียนจะพบว่า บริษัทจดทะเบียนในกลุ่ม SET50 มีมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศรวมสูงสุดทุกปี โดยในปี 2559 กลุ่ม SET50 มีมูลค่าเงินลงทนุรวม 129,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 68.5% ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศ โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในสหรัฐอเมริกาซึ่งมีมูลค่าสุทธิ 90,000 ล้านบาท รองลงมาคืออาเซียน

อย่างไรก็ตาม ในจำนวนนี้ประกอบด้วยรายการลงทุนที่มูลค่าเกิน 10,000 ล้านบาท 3 รายการ ได้แก่ 1) การลงทุนของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) เพื่อซื้อกิจการของ Bellisio Parent ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งประกอบธุรกิจหลักคือ ผลิตและจำหน่ายอาหารแช่แข็งด้วยมูลค่า 39,000 ล้านบาท 2) การลงทุนของบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เพื่อเพิ่มเงินลงทุนในบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจปิโตรเลียมในประเทศแคนาดาด้วยมูลค่า 22,000 ล้านบาท และ 3) การลงทุนของบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) เพื่อซื้อกิจการโรงงานเคมีภัณฑ์ในสหรัฐอเมริกาด้วยมูลค่า 15,000 ล้านบาท ทั้ง 3 รายการดังกล่าวมีมูลค่ารวมกันคิดเป็น 84.6% ของมูลค่าเงินลงทุนสุทธิในสหรัฐอเมริกาในปี 2559

สำหรับกลุ่ม SET101-200 มีมูลค่าเงินลงทุนในปี 2559 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนในอัตราที่สูงที่สุด โดยเพิ่มขึ้นเป็น 45,000 ล้านบาทในปี 2559 จาก 12,000 ล้านบาทในปี 2558 ซึ่งมีสาเหตุหลักจาก

    1) การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นปีแรกของบริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศรวม 9,500 ล้านบาทในปี 2559 ซึ่งคิดเป็น 21% ของมูลค่าเงินลงทุนรวมของกลุ่ม SET101-200 ในปี 2559
    2) การลงทุนในธุรกิจ leasing และ microfinance ของบริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) ที่มูลค่าเงินลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 7,300 ล้านบาทในปี 2559 จาก 260 ล้านบาทในปีก่อนโดยกระจายการลงทุนในหลายประเทศ
    และ 3) การลงทุนของบริษัท ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เพื่อซื้อกิจการของ Hattha Kaksekar Limited ในกัมพูชาซึ่งประกอบธุรกิจ microfinance มูลค่า 5,300 ล้านบาท

ลงทุน 10 ปี สร้างรายได้ปี 59 เฉียด 50% ของรายได้รวม – ระบุ ตปท. เติบโตสูงกว่าไทย 5%

ทั้งนี้ รายได้จากการลงทุนในต่างประเทศของบริษัททั้งหมดพบว่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 813,368 ล้านบาทในปี 2549 เป็น 2.33 ล้านล้านบาทในปี 2559 โดยคิดเป็นสัดส่วน 27% ของรายได้รวม เพิ่มขึ้นจาก 10 ปีที่แล้วที่เป็นสัดส่วน 18% 

อย่างไรก็ตาม หากนับเฉพาะบริษัทที่ลงทุนต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง 10 ปี จำนวน 107 บริษัท พบว่ารายได้เพิ่มขึ้นจาก 771,823 ล้านบาทเป็น 1.64 ล้านล้านบาท โดยสัดส่วนของรายได้จากต่างประเทศต่อรายได้รวมของบริษัทกลุ่มนี้ได้เพิ่มขึ้นจาก 36% ในปี 2549 เป็น 47% ในปี 2559 และหากแยกตามรายอุตสาหกรรมจะพบว่าสัดส่วนรายได้ของกลุ่มอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นสูงสุดจาก 45% เป็น 73% รองลงมาคือกลุ่มเกษตรและอาหารจาก 48% เป็น 65% และกลุ่มทรัพยากรธรรมชาติจาก 16% เป็น 32% โดยกลุ่มบริการแม้จะเพิ่มขึ้นจาก 72% เป็น 83% แต่ถือว่ามีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศสูงสุด

ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ลดลงประกอบด้วยกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคจาก 49% เหลือ 47% กลุ่มการเงินจาก 7% เหลือ 4% กลุ่มเทคโนโลยีจาก 71% เหลือ 67% อนึ่ง ข้อสังเกตอีกประการคือเกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรมที่ไปลงทุนในต่างประเทศตลอด 10 ปีจะมีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศในระดับมากกว่า 50% โดยมีเพียงกลุ่มการเงิน กลุ่มก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ และทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้นที่มีสัดส่วนต่ำกว่า

สำหรับการเติบโตของรายได้จากต่างประเทศในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเหตุผลหลักของสัดส่วนรายได้ที่มากขึ้น พบว่าการเติบโตเฉลี่ยสะสมตั้งแต่ปี 2549-2559 ประเทศไทยเติบโตต่ำกว่าต่างประเทศถึง 5% โดยต่างประเทศเติบโตได้เฉลี่ย 8% ต่อปี ขณะที่ประเทศไทยเติบโตได้เพียง 3% และเมื่อเทียบเป็นรายปีมีเพียงปี 2553 เพียงปีเดียวเท่านั้นที่การเติบโตของรายได้ภายในประเทศสูงกว่าต่างประเทศ และหากแยกตามรายอุตสาหกรรมจะพบว่ามีเพียงอุตสาหกรรมการเงิน สินค้าอุปโภคบริโภค และเทคโนโลยีเท่านั้นที่รายได้ภายในประเทศเติบโตได้สูงกว่า ขณะที่กลุ่มอื่นๆ รายได้ต่างประเทศจะเติบโตได้สูงกว่ารายได้ภายในประเทศทั้งหมด โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรและอาหารที่เติบโตสูงกว่า 8% กลุ่มอุตสาหกรรมที่เติบโตสูงกว่า 13% และกลุ่มทรัพยากรธรรมชาติที่เติบโตสูงกว่า 10%