ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup มาเลเซียผ่อนผันจ้างแรงงานต่างชาติรับเศรษฐกิจฟื้นจากโควิด

ASEAN Roundup มาเลเซียผ่อนผันจ้างแรงงานต่างชาติรับเศรษฐกิจฟื้นจากโควิด

15 มกราคม 2023


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 8-14 มกราคม 2566

  • มาเลเซียผ่อนผันจ้างแรงงานต่างชาติรับเศรษฐกิจฟื้นจากโควิด
  • เวียดนามตั้งเป้าเป็นประเทศพัฒนาแล้วปี 2593
  • 4 อุตสาหกรรมดาวรุ่งของเวียดนามปี’66
  • ซัพพลายเออร์ Apple วางแผนสร้างโรงงานใหม่ในเวียดนาม
  • ก.ล.ต.เวียดนามตั้งประธานหญิงคนแรก
  • กัมพูชาลุยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานปี ’66
  • มาเลเซียผ่อนผันจ้างแรงงานต่างชาติรับเศรษฐกิจฟื้นจากโควิด

    ที่มาภาพ: https://www.humanresourcesonline.net/employers-in-malaysia-can-re-employ-foreign-workers-with-plks-on-a-year-by-year-basis-starting-20-dec-2021
    ดาโต๊ะ สรี ไซฟุดดิน นาซุเตียน อิสมาอิล รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยเปิดเผยในแถลงการณ์ว่า มาเลเซียจะผ่อนปรนกฎการจ้างแรงงานต่างชาติเป็นการชั่วคราวในไตรมาสแรกของปี 2566

    ในการประชุมเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2566 โดยมีรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงในการจัดการแรงงานต่างชาติ (รวมถึงกระทรวงทรัพยากรมนุษย์) เข้าร่วม การตัดสินใจครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้ามาของแรงงานต่างชาติเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของมาเลเซียใน 2566 โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 1 ปี 2566

    ดาโต๊ะไซฟุดดินคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของประเทศจะเพิ่มขึ้น 1% ในแง่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) หากมีการเร่งการไหลเข้าของแรงงานต่างชาติเพื่อตอบสนองความต้องการของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

    ด้วยเหตุนี้ ที่ประชุมพิเศษของหน่วยงานบริหารแรงงานต่างด้าวจึงได้ตัดสินใจดังนี้

    ประการแรก รัฐบาลจะใช้มาตรการผ่อนปรนการจ้างงานแรงงานต่างชาติ โดยประมาณการความต้องการแรงงานต่างชาติที่จำเป็นสำหรับภาคธุรกิจที่จ้างแรงงานต่างชาติในมาเลเซีย ตามแผนนี้ นายจ้างที่ได้รับการยกเว้นและการอนุมัติแบบมีเงื่อนไขสำหรับไตรมาสแรกของปี 2566 จะได้รับอนุญาตให้จ้างแรงงานต่างชาติจาก 15 ประเทศต้นทาง โดยขึ้นอยู่กับความสามารถและความต้องการของนายจ้าง และไม่ต้องผ่านการพิจารณาคุณสมบัติการจ้างงานและคุณสมบัติโควตาเบื้องต้น

    ประการที่สอง คณะผู้แทนมาเลเซียจะเดินทางไปยังประเทศต้นทางที่ผ่านการคัดเลือก เพื่อจะหารือเกี่ยวกับความปลอดภัยและสวัสดิภาพของแรงงานต่างชาติในมาเลเซีย การเดินทางทางเยี่ยมชมกับประเทศต้นทาง จะช่วยให้มั่นใจได้ว่า สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของมาตรการผ่อนปรนการจ้างงานแรงงานต่างชาติได้ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะนำคณะผู้แทนมาเลเซียไปยังประเทศต้นทาง และกระทรวงทรัพยากรมนุษย์จะเป็นตัวแทนของหน่วยงานกำกับดูแลด้วย

    ประการที่สาม ที่ประชุมยังเห็นชอบในการดำเนินการตามแผน PATI Recalibration Plan 2.0 (PATI-ผู้อพยพต่างชาติที่ไม่ได้รับอนุญาต) สำหรับโครงการประเมินมาตรฐานแรงงานใหม่จนถึงเดือนธันวาคม 2566 ก่อนหน้านี้ แผนการประเมินมาตรฐานของ PATI ได้ดำเนินการจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 โดยมีการลงทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้รับอนุญาต 418,649 คน ผู้อพยพสำหรับโครงการปรับมาตรฐานแรงงานใหม่ และผู้อพยพต่างชาติที่ไม่ได้รับอนุญาต 295,425 คนสำหรับโครงการส่งกลับประเทศ ทั้งนี้แผนPATI R

    กระทรวงมหาดไทยจะจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการผ่อนปรนแผนการจ้างแรงงานต่างชาติในเร็วๆ นี้ ดาโต๊ะไซฟุดดินชี้แจงว่า การอำนวยความสะดวกและการผ่อนปรนไม่ได้มีกำหนดระยะเวลา แต่เป็นเพียง “สิ่งที่ไม่เคยดำเนินการมาก่อนเพื่อตอบสนองความต้องการในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ”

    “รัฐบาลจะสร้างความเชื่อมั่นว่าการจัดการแรงงานต่างชาติในมาเลเซียเป็นไปตามหลักนิติธรรมเสมอ และในขณะเดียวกันก็รับประกันว่า แรงงานต่างชาติทุกคนในมาเลเซียจะได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นธรรม

    การผ่อนผันการจ้างงานครั้งนี้ทำให้นายจ้างไม่ต้องมีคุณสมบัติการจ้างงานตามโควตาอีกต่อไป ก่อนที่จะจ้างแรงงานจาก 15 ประเทศต้นทาง โดยข้อผ่อนผันนี้จะมีผลบังคับใช้ใน 1 ปี และต้องเป็นการจ้างงานใหม่เท่านั้น

    มาเลเซียกำลังเร่งการจ้างงานในขณะที่เศรษฐกิจฟื้นตัวจากโรคระบาด ในปี 2565 มาเลเซียอนุมัติใบคำขอการจ้างงานเพียง 676,070 ใบจาก 1.6 ล้านใบที่ได้รับ

    ประเด็นสำคัญอื่นๆ บางประการของนโยบายใหม่ ได้แก่ บทบัญญัติที่กำหนดให้งานที่เสนอให้กับชาวต่างชาติจะไม่ส่งผลกระทบต่อแรงงานชาวมาเลเซีย และการอนุมัติแบบมีเงื่อนไขจะต้องได้รับภายในสามวัน

    เวียดนามตั้งเป้าเป็นประเทศพัฒนาแล้วปี 2593

    ภาพต้นแบบจาก: https://www.uncovervietnam.com/ho-chi-minh-city-vietnam/
    เวียดนามมีเป้าหมายที่จะเป็นประเทศอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงภายในปี 2573 และเป็น ประเทศที่พัฒนาแล้วและมีรายได้สูงภายในปี 2593

    แผนแม่บทแห่งชาติสำหรับช่วงปี 2564-2573 ที่ผ่านมติของสมัชชาแห่งชาติ วางวิสัยทัศน์ถึงปี 2593 นั้นการเติบโตของ GDP เฉลี่ยต่อปีของประเทศควรอยู่ที่ 7% ต่อปี ภายในปี 2573 GDP ต่อหัว ณ ราคาปัจจุบันจะสูงถึง 7,500 ดอลลาร์

    นอกจากนี้กำหนดให้ภาคบริการมีสัดส่วนมากกว่า 50% ของ GDP โดยมีอุตสาหกรรมและการก่อสร้างคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 40% และเกษตรกรรม ป่าไม้ และการประมงมีสัดส่วนต่ำกว่า 10%

    อัตราการเติบโตเฉลี่ยของผลิตภาพแรงงานสังคมจะสูงกว่า 6.5% ต่อปี ตามแผน ในขณะที่การมีส่วนร่วมของผลิตภาพรวม (TFP) ต่อการเติบโตจะมากกว่า 50%

    การเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่บนพื้นฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นวัตกรรม และการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล อัตราการขยายตัวของเมืองทั่วประเทศสูงเกิน 50% และพื้นที่เมือง 3-5 แห่งในเวียดนามจะได้รับการพัฒนาในระดับสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และระดับโลก

    ภายในปี 2593 เวียดนามจะกลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว และมีรายได้สูงด้วยเศรษฐกิจดิจิทัลที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและหมุนเวียน ซึ่งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการเติบโตหลัก จากวิสัยทัศน์ที่วางไว้ของแผน

    เวียดนามจะเป็นหนึ่งในประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำในเอเชีย และเป็นศูนย์กลางทางการเงินระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ เป็นประเทศที่มีความแข็งแกร่งทางทะเล และเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจทางทะเลสำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

    การเติบโตของ GDP ที่ 6.5-7.5% ต่อปีคาดว่าจะทำให้ GDP ต่อหัวอยู่ที่ 27,000-32,000 ดอลลาร์ภายในปี 2593 และอัตราการขยายตัวของเมืองควรสูงถึง 70-75%

    เวียดนามคาดการณ์ว่าเมืองอย่างน้อย 5 เมืองจะเป็นเมือง “ระดับนานาชาติ” ภายในปี 2593 ตามแผนที่สมัชชาแห่งชาติเห็นชอบ ซึ่งหมายถึง พื้นที่เมืองเหล่านี้ควรเป็นจุดศูนย์กลางสำหรับการเชื่อมต่อ และการพัฒนาด้วยเครือข่ายเมืองระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ

    นอกจากนี้ เวียดนามกำลังพยายามบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์ “โดยเร็วที่สุดภายในปี 2593”

    ภายใต้แผนแม่บท เวียดนามจะประกอบด้วย 6 ภูมิภาคทางเศรษฐกิจและสังคม “สี่โซนที่มีพลวัตและเสาหลักแห่งการเติบโต” รวมถึงระเบียงเศรษฐกิจหลายแห่ง

    หกภูมิภาคทางเศรษฐกิจและสังคมจะรวมถึงพื้นที่ตอนกลางและภูเขาทางตอนเหนือ (14 จังหวัดและเมือง) ภาคเหนือตอนกลางและตอนกลางชายฝั่งทะเล (14 จังหวัดและเมือง) ที่ราบสูงตอนกลาง (5 จังหวัด) ภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ (6 จังหวัดและเมือง) และสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง (13 จังหวัดและเมือง)

    ส่วนโซนที่มีพลวัตรและเสาหลักแห่งการเติบโตทั้งสี่จะประกอบด้วยเขตภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง

    ภายในปี 2573 เวียดนามจะพัฒนาแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้บนพื้นฐานของ “แกนขนส่งเหนือ-ใต้สู่ตะวันออก” เชื่อมเขตเศรษฐกิจ เมืองใหญ่ และศูนย์กลางเศรษฐกิจ

    ในระยะยาว พื้นที่ราบสูงตอนกลาง ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกเฉียงใต้จะค่อยๆ ก่อตัวขึ้นเพื่อรองรับพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมแปรรูป และการพัฒนาการท่องเที่ยวได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งจะจัดตั้งแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก

    ในการระดมการลงทุนเพื่อดำเนินการตามแผนแม่บท เวียดนามจะมุ่งเน้นไปที่การเร่งการขายการลงทุนและการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ขณะที่นโยบายตลาดทุนจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ และจะมีการปรับนโยบายการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

    เวียดนามจะมุ่งไปที่การกู้เงินต่างประเทศเพื่อใช้ในสาขาสำคัญๆ เช่น พลังงานสะอาด วัฒนธรรม การศึกษา สุขภาพ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

    รัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายการเติบโตของ GDP ที่ 6.5% ในปี 2566 จากที่เติบโต 8.02% ในปีที่แล้ว ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2554

    4 อุตสาหกรรมดาวรุ่งของเวียดนามปี ’66

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/business/industries/vietnam-to-cut-2021-renewable-energy-output-4220361.html

    เศรษฐกิจของเวียดนามผันผวนตลอดทั้งปี 2565 การฟื้นตัวของเวียดนามจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 นั้นไม่เท่ากัน โดยบางภาคส่วนฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในขณะที่ภาคส่วนอื่นๆ ตามไม่ทัน ความวุ่นวายทั่วโลกทำให้ตลาดส่งออกที่สำคัญของเวียดนามปั่นป่วน และสงครามในยูเครนได้ทำให้แผนการณ์ที่วางไว้หลายอย่างหยุดชะงัก อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของเวียดนามยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยธนาคารพัฒนาเอเชียหรือ ADB ประมาณการว่า GDP เติบโต 7.5% ในปี 2565

    ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจแบบนี้ มี 4 อุตสาหกรรมหลักที่น่าจับตามอง ในปี 2566 คือ

    อุตสาหกรรมพลังงาน
    เวียดนามลงนามใน Just Energy Transition Partnership (JETP) ในเดือนธันวาคมปี 2565 ซึ่งในปี 2566 การดำเนินตามข้อตกลงและนโยบายที่จะตามมา น่าจะมีความชัดเจนยิ่งขึ้น

    ความชัดเจนดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วนและการพัฒนาตลาดพลังงานของเวียดนามในวงกว้างมากขึ้น

    แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับที่ 8 ของเวียดนามยังอยู่ระหว่างการจัดทำร่าง และได้มีการแก้ไขหลายครั้งแล้ว ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะแก้ไขอีกครั้งเพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีของเวียดนามภายใต้ข้อตกลง JETP

    ขั้นตอนต่อไปในข้อตกลงคือ โรดแมปที่จะกำหนดในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งไม่เพียงให้รายละเอียดว่าเวียดนามจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างไร แต่ยังเป้าหมายการลงทุนในภาคพลังงานหมุนเวียนด้วย

    การท่องเที่ยว
    ปี 2565 เป็นปีที่ยากลำบากสำหรับภาคการท่องเที่ยว Doan Van Viet รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว คาดการณ์ว่าเวียดนามจะรับนักท่องเที่ยวประมาณ 5 ล้านคนภายในสิ้นปี 2565

    อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวใกล้เคียงกับจำนวนนักท่องเที่ยว 3.5 ล้านคน หรือประมาณ 18% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าเวียดนามในปี 2562 ซึ่งมีจำนวน 19 ล้านคน

    เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทย มีผู้โดยสารขาเข้าประมาณ 10 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 25% ของระดับก่อนโควิด (ไทยรับนักท่องเที่ยวถึง 41 ล้านคนในปี 2562)

    เรื่องนี้จึงเป็นประเด็นเร่งด่วน โดยมีเหตุผลหลายประการที่ทำให้ตัวเลขค่อนข้างต่ำ ตั้งแต่ข้อกำหนดด้านวีซ่าไปจนถึงความท้าทายด้านความยั่งยืน วิธีการจัดการกับปัญหาเหล่านี้อาจส่งผลเสียต่อการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวของเวียดนาม

    อุตสาหกรรม IT
    ภาคธุรกิจสตาร์ทอัปของเวียดนามเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงการระบาด จนกลายเป็นภาคส่วนที่มีความเคลื่อนไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากรายงานร่วมของ Do Ventures และศูนย์นวัตกรรมแห่งชาติ (NIC) ระบุว่ามีการลงทุน 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐในธุรกิจสตาร์ทอัปของเวียดนามในปี 2564 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นที่เห็นได้ชัดจากสถิติเดิมที่ 874 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2562

    การลงทุนระลอกนี้ ตามมาด้วยความต้องการแรงงานเทคโนโลยีที่มีทักษะสูงในเวียดนามที่เพิ่มขึ้น

    รายงานตลาดแรงงานเวียดนามของ Adecco ในไตรมาสที่ 3/2565 พบว่าในปี 2565 องค์กรด้านไอทีต้องการแรงงาน 530,000 คน แต่จะยังอีก 150,000 คน และจะเพิ่มเป็น 195,000 คนภายในปี 2567

    มองไปข้างหน้า รัฐบาลเวียดนามมุ่งมั่นที่จะทำให้เศรษฐกิจเวียดนามเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลและส่งเสริมอุตสาหกรรม 4.0 อย่างแข็งขัน เมื่อคำสั่งในภาคการผลิตลดลง จึงมีแรงกระตุ้นในการเร่งการเปลี่ยนแปลงนี้ และอาจนำไปสู่นโยบายและการลงทุนเชิงกลยุทธ์ที่เอื้อต่อทรัพยากรบุคคลด้านไอทีมากขึ้น

    อุตสาหกรรมการผลิต
    ในเดือนพฤศจิกายน 2565 เอสแอนด์พีโกลบอลรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของเวียดนามลดลงเหลือ 47.4 จาก 50.6 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งแสดงถึงการหดตัวอย่างมากในภาคการผลิตของเวียดนาม

    เมื่อคำสั่งซื้อลดลง โรงงานหลายแห่งถูกบังคับให้เลิกจ้างพนักงานหรือลดภาระงานลงอย่างมาก

    คนงานเหล่านี้จำนวนมากได้รับผลกระทบจากโรคระบาดเมื่อปีก่อนเช่นกัน การลดลงเป็นครั้งที่สองนี้อาจบั่นทอนกำลังใจและอาจเริ่มหางานในภาคส่วนอื่น อีกทางหนึ่ง อาจมีแรงงานส่วนเกินในตลาดที่อาจจะเป็นโอกาสพิเศษสำหรับบริษัทผู้ผลิตที่ประสบความสำเร็จในการขยายการดำเนินงานได้อย่างง่าย

    ด้วยการผลิตซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจเวียดนาม ผลกระทบนี้อาจบ่งชี้ถึงสิ่งที่คาดหวังจากเศรษฐกิจในวงกว้างมากขึ้นในปี 2566

    โดยรวมแล้ว เศรษฐกิจของเวียดนามและเศรษฐกิจโลกโดยรวมอยู่ในภาวะผันผวน แต่ภาคอุตสาหกรรมนี้เป็น 4 ภาคส่วนที่น่าจะเป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จทางเศรษฐกิจของเวียดนามในปี 2566 และแนวทางในการพัฒนาจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในอนาคต

    ซัพพลายเออร์ Apple วางแผนสร้างโรงงานใหม่ในเวียดนาม

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/companies/apple-supplier-boe-plans-new-factories-in-vietnam-sources-4558782.html

    ผู้ผลิตจอแสดงผลของจีน BOE Technology Group Co. Ltd. ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ของทั้ง Apple Inc. และ Samsung Electronics Co. Ltd. วางแผนที่จะลงทุนก้อนโตเพื่อสร้างโรงงาน 2 แห่งในเวียดนาม จากการเปิดเผยของแหล่งข่าว โดยการลงทุนอาจมีมูลค่าสูงถึง 400 ล้านดอลลาร์

    แผนดังกล่าวตอกย้ำถึงความพยายามของบริษัทเทคโนโลยีที่นำโดยบริษัทผู้ผลิต iPhone ของสหรัฐอย่าง Apple และ Foxconn ผู้ผลิตอุปกรณ์สัญชาติไต้หวัน ในการลดความเสี่ยงในห่วงโซ่อุปทานจากจีน ท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าและภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ รวมทั้งการผลิตที่ชะงักจากมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ของจีน

    BOE กำลังเจรจาเพื่อเช่าที่ดินหลายสิบเฮกตาร์ทางตอนเหนือของเวียดนาม เพื่อขยายโรงงานจากที่เป็นโรงงานขนาดเล็กทางตอนใต้ และผลิตจอโทรทัศน์เป็นส่วนใหญ่ให้กับบริษัท Samsung และ LG Electronics Inc. ของเกาหลีใต้ แหล่งข่าวกล่าวแต่ไม่ได้เปิดเผยถึงการเจรจา

    BOE ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็น

    ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทางตอนเหนือของเวียดนามดึงดูดการลงทุนจำนวนมากจากบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอิเล็กทรอนิกส์ และกลายเป็นศูนย์กลางสำคัญในการผลิตสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ และกล้องถ่ายรูป รวมถึงสินค้าเรือธงจาก Apple และ Samsung

    Hon Hai Precision Industry Co. Ltd. (Foxconn) และ Luxshare Precision Industry ของจีนยังผลิตหรือวางแผนที่จะประกอบผลิตภัณฑ์ Apple จำนวนหนึ่งในพื้นที่ เช่น คอมพิวเตอร์แล็ปท็อปและแท็บเล็ต

    BOE วางแผนที่จะเช่าพื้นที่มากถึง 100 เฮกตาร์และใช้พื้นที่ 20% สำหรับโรงงานที่สร้างระบบควบคุมระยะไกลในราคา 150 ล้านดอลลาร์

    ส่วนที่เหลือจะใช้สำหรับการผลิตจอแสดงผล โดย BOE ใช้เงิน 250 ล้านดอลลาร์เพื่อสร้างโรงงานบนพื้นที่ 50 เฮกตาร์ ในขณะที่ซัพพลายเออร์จะใช้พื้นที่ที่เหลืออีก 30 เฮกตาร์ทั้งหมดภายในปี 2568

    BOE วางแผนที่จะผลิตจอ OLED ที่โรงงาน แทนที่จะเป็นจอแสดงผลแบบ LCD

    Apple มี BOE เป็นพันธมิตรด้านการผลิตในปี 2564 ใช้หน้าจอ OLED สำหรับสมาร์ทโฟน iPhone รุ่นล่าสุด และ BOE ซึ่งเป็นผู้ผลิตจอแสดงผลรายใหญ่ของจีน เมื่อวัดจากปริมาณ ก็นาจะเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่จอแสดงผลให้กับไอโฟนในปี 2567

    Apple มีแผนที่จะผลิตจอโอโฟนเองในปีหน้า จากการรายงานของบลูมเบิร์ก Apple ปฏิเสธ ที่จะให้ความเห็น

    ก.ล.ต.เวียดนามตั้งประธานหญิงคนแรก

    รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง Ho Duc Phoc มอบคำสั่งแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์แก่ Vu Thi Chan Phuong ที่มาภาพ:https://e.vnexpress.net/news/companies/state-securities-commission-has-first-chairwoman-4558144.html

    Vu Thi Chan Phuong รองประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เวียดนามมานานกว่า 6 ปี ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธาน และเป็นผู้หญิงคนแรกที่ก้าวขึ้นตำแหน่งนี้

    Phuong วัย 52 ปี จบปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ เริ่มทำงานที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ฯในปี 2541 หลังจากก่อตั้งได้สองปี

    ก่อนหน้านี้ Phuong ทำหน้าที่เป็นรองหัวหน้าผู้ตรวจสอบและหัวหน้าผู้ตรวจสอบของสำนักงานก่อนที่จะมาเป็นรองประธานในปี 2559

    ในเดือนพฤษภาคม 2565 Tran Van Dung ถูกปลดออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการฯ เนื่องจากการละเมิดอย่างร้ายแรงและความบกพร่องในการทำงาน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง Nguyen Duc Chi ได้เข้ามาดูแลคณะกรรมการฯตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนนี้

    กัมพูชาลุยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานปี ’66

    ที่มาภาพ: https://www.phnompenhpost.com/national/phnom-penh-sihanoukville-expressway-opens-public
    รายงานจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศบ่งชี้ว่า หนึ่งในสามของประเทศทั้งหมดทั่วโลกจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2566 แต่กัมพูชายังคงมีแนวโน้มที่สดใส โดยปัจจัยสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจ คือ การลงทุนและโครงการโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่หรือจะแล้วเสร็จในปี 2566 ทั้งการเสริมสร้างการขนส่งและโลจิสติกส์ การยกระดับภูมิทัศน์สำหรับการลงทุนในอนาคต ซึ่งเสริมรากฐานของประเทศที่ขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่ในการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น คือ เป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางภายในปี 2573

    สะพานใหม่ สะพานมิตรภาพเกาหลี-กัมพูชา

    การก่อสร้างสะพานมิตรภาพกัมพูชา-เกาหลีใต้มีกำหนดจะเริ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 โดยกระทรวงโยธาธิการและการขนส่งจะประชุมกับหน่วยงานด้านนี้ของเกาหลีใต้ในช่วงต้นปี 2566 เพื่อสรุปรายละเอียด

    รัฐบาลเกาหลีใต้ให้คำมั่นว่าจะให้เงินกู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจแก่กัมพูชามูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายใต้กองทุนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ (EDCF)

    การก่อสร้างสะพานจะแบ่งออกเป็นสองส่วน โดยข้ามแม่น้ำโขงและแม่น้ำโตนเลสาบในจังหวัดกันดาล ส่วนในใจกลางกรุงพนมเปญ ส่วนแรกจะสร้างจากตลาดกลางคืนใกล้ริมแม่น้ำและข้ามไปสู่แหลมจังวร (Chroy Changvar) หรือพื้นที่ที่ยื่นลงสู่แม่น้ำโขงชานกรุงพนมเปญ โดยส่วนที่สองของสะพานทอดข้ามแม่น้ำโขงไปยังเกาะ Arey Ksat

    โครงการนี้คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 245 ล้านเหรียญสหรัฐ และใช้เวลาประมาณ 4 ปีจึงจะแล้วเสร็จ และสะพานแขวนนี้จะมีช่องจราจร 4 ช่อง

    โครงการเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ในระหว่างการก่อสร้างอย่างแน่นอน แต่การเชื่อมโยงการขนส่งเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นเมื่อเมืองขยายเกินขอบเขตปัจจุบัน

    การพัฒนาเกาะโนรา (และอีกหลายสะพาน)

    โครงการเกาะโนรา มีมูลค่า 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็นโครงการขนาดใหญ่และมีเป้าหมายครอบคลุมพื้นที่ 125 เฮกตาร์ในเมืองหลวง และมี OCIC เป็นผู้นำโครงการ โครงการนี้คงไม่แล้วเสร็จในปี 2566 เนื่องจากมีความคืบหน้าเพียง 30% ภายในกลางปี ​​2565

    เมืองบริวารนี้มีเป้าหมายให้เป็นที่ตั้งของย่านการค้าและความบันเทิง ที่อยู่อาศัย โรงเรียน ศูนย์การแพทย์ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ในเมือง

    การพัฒนาดังกล่าวคาดว่าจะสามารถรองรับพนักงานได้ประมาณ 50,000 คน และจะสร้างงานได้ 7,000 ตำแหน่งในเบื้องต้น และจะเพิ่มเป็น 10,000 ตำแหน่งเมื่อแล้วเสร็จ

    ภายใต้โครงการนี้ จะมีการสร้างสะพานเพิ่มอีกสองแห่งในเมืองหลวง โดยสะพานหนึ่งเชื่อมระหว่างเกาะเพชรกับเกาะโนรา ซึ่งเริ่มก่อสร้างในปี 2563 และคาดว่าจะใช้งบประมาณ 38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สะพานขนาดใหญ่นี้มีความยาว 824 เมตร และกว้าง 24.5 เมตร โดยมีเสาที่ยึดโยงด้วยสายเคเบิลสูง 60 เมตร 2 ต้น และจะมี 4 เลนหลักและ 2 เลนมอเตอร์ไซค์

    โครงการก่อสร้างสนามบินกัมพูชา

    ท่าอากาศยานนานาชาติเตโชตาเขมา ตั้งอยู่ห่างจากกรุงพนมเปญไปทางใต้ประมาณ 35 กิโลเมตร เป็นการร่วมทุนระหว่าง Overseas Cambodia Investment Corporation รัฐบาลกัมพูชา และ SSCA หรือที่เรียกว่า Cambodia Airport Investment (CAIC)

    ภายในกลางปี ​​2565 การก่อสร้างสนามบินนานาชาติแห่งใหม่จะแล้วเสร็จหนึ่งในสาม แต่การประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญกับ Changi Airport Group ได้เพิ่มความเชื่อมั่นให้กับเป้าหมายในการทำให้สนามบินใหญ่เป็นอันดับ 9 ของโลก ที่สำคัญ จะเป็นสนามบินระดับ 4F เพื่อให้เครื่องบินขนาดใหญ่สามารถใช้เป็นศูนย์กลางการขนส่งได้

    โครงการครอบคลุมพื้นที่กว่า 2,600 เฮกตาร์ในจังหวัดกันดาล และมีแผนให้สนามบินเป็นศูนย์กลางระหว่างประเทศที่เชื่อมต่อเที่ยวบินทั่วโลก ซึ่งตามแผนแม่บท สนามบินจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 13 ล้านคนต่อปีในระยะแรก และเพิ่มเป็น 30 ล้านคนในระยะที่สองในปี 2573 และรองรับผู้โดยสารได้มากถึง 50 ล้านคนในปี 2593 ในระยะที่สาม

    ท่าอากาศยานนานาชาติดาราสาคร ซึ่งเกิดความล่าช้าหลายครั้ง มีกำหนดจะเริ่มดำเนินการในจังหวัดเกาะกงในกลางปี ​​2566

    ท่าอากาศยานนานาชาติเสียมราฐ อังกอร์ เดินหน้าก่อสร้างต่อเนื่องไปจนถึงปี 2566 แต่โครงการล่าช้ากว่ากำหนด

    นอกจากนี้ จะมีการขยายและยกระดับท่าอากาศยานนานาชาติสีหนุวิลล์ในปี 2566 จากการเปิดเผยของผู้ให้บริการสนามบิน VINCI ซึ่งจะมีความสำคัญในระยะยาวสำหรับโครงการขนาดใหญ่ เช่น อ่าวแห่งแสงสีบนชายฝั่ง

    ทางด่วนเส้นใหม่

    หลังจากความสำเร็จของทางด่วนสายพนมเปญ-สีหนุวิลล์ ซึ่งมีรถยนต์ใช้งานมากกว่าหนึ่งล้านคันในช่วงสามเดือนแรกของการเปิดใช้ ทางด่วนสายหลักอื่นๆ และการปรับปรุงถนนอยู่ระหว่างดำเนินการในปี 2566

    มีการเปิดตัวโครงการถนนอีกสองโครงการในช่วงก่อนเริ่มปี 2566 คือ ทางหลวงแผ่นดินสาย N31 ที่เชื่อมระหว่างจังหวัดตาแก้วกับจังหวัดกัมปอต และทางหลวงสาย N33 ที่เชื่อมระหว่างเมืองกัมปอตกับเมืองแกบ

    ทางด่วนพนมเปญ-บาเวตควรเริ่มดำเนินการในกลางปี ​​2566 โดยมีระยะทาง 138 กิโลเมตรคาดว่าจะมีมูลค่า 1.63 พันล้านเหรียญสหรัฐ

    การศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างทางด่วนสายพนมเปญ-เสียมราฐจะแล้วเสร็จในปี 2566

    การก่อสร้างทางรถไฟ

    พนมเปญและกัมพูชาเชื่อมโยงกับโครงการรถไฟหลายโครงการในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และมีความสนใจที่จะพัฒนาเครือข่ายการขนส่งในเมืองหลวงอีกครั้ง ในขณะที่บริการรถไฟแห่งชาติที่เชื่อมโยงประเทศกับเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม ไทย และลาว จะช่วยส่งเสริมการค้าและโลจิสติกส์

    อย่างไรก็ตาม จากโครงการโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดนี้ การพัฒนาเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงหรือ ทางรถไฟสายหนึ่งในเมืองหลวงภายในปี 2566 มีความเป็นไปได้น้อยที่สุด

    มีการให้สัญญาว่าหลังการเลือกตั้งในปี 2566 จะมีเส้นทางรถไฟสายปอยเปต-พนมเปญ-สีหนุวิลล์, ปอยเปต-เสียมราฐ-กัมปงธม-กำปงชนัง-พนมเปญ และสายพนมเปญ-บาเวต โดยสองสายหลังจะเชื่อมโยงกับโฮจิมินห์ ซิตี้ ผ่านหม็อก บ่าย

    กัมพูชาไม่มีปัญหาการขาดแคลนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และกัมพูชาต้องการความร่วมมือเหล่านี้ (และการกู้เงินเพิ่มซึ่งจำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบอย่างรอบคอบ) เพื่อก้าวขึ้นเป็นผู้เล่นทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคอย่างค่อยเป็นค่อยไป ปี 2566 เป็นปีแห่งความสำเร็จสำหรับหลายโครงการเหล่านี้