ThaiPublica > คอลัมน์ > What We Do in the Shadows แวมไพร์เกรียนนรกแตก

What We Do in the Shadows แวมไพร์เกรียนนรกแตก

17 ธันวาคม 2022


1721955

สิ่งที่ทำให้ซีรีส์ What We Do in the Shadows (2019 – ปัจจุบัน) https://youtu.be/PJkOoJS14HA ที่แม้เรตติ้งจะต่ำเตี้ยแค่ไหน แต่มันยังคงมีลูกเล่นเกรียน เฮี้ยน ฮานรกแตก มาจนซีซั่น 4 เข้าไปแล้วในปีนี้ คือคำวิจารณ์ในแง่ดีบนเว็บมะเขือเน่า อาทิ “ตลกร้ายไร้สาระเหลือเชื่อ ขยายความจากตำนานแวมไพร์ ด้วยมุมมองใหม่ ๆ ได้นักแสดงเปี่ยมเสน่ห์และแปลกประหลาด กลายเป็นซีรีส์ล้อเลียนที่ควรค่าแก่การงับเขี้ยวแรง ๆ” “ซีซั่นสองไม่แพ้ใคร ยอดเยี่ยม ขยายขอบเขตเรื่องเหนือธรรมชาติได้อย่างชาญฉลาดแถมยังสนุกขึ้นเป็นสองเท่า” “ด้วยปีกแห่งเคมีที่น่าทึ่งของเหล่านักแสดง และการเขียนบทที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก จนถึงตอนนี้ซีซั่นสามคือดีที่สุด” “ซีซั่นสี่ที่นอกจากจะฉลาดเปลี่ยนให้ครอบครัวปีศาจกลายเป็นแวมไพร์สามตัวกับหนึ่งทารกแล้ว ซีรีส์นี้ยังคงทำได้ดีเป็นเท่าตัวโดยไม่ต้องปรับสูตรอะไรมากมายเหมือนเรื่องอื่น แต่กลับยังสนุกขึ้นและคงความแซ่บร้อนได้เหมือนเดิม”

ซีรีส์นี้เริ่มต้นซีซั่นแรกด้วยเปอร์เซ็นต์สูงลิ่ว 7.8/10 94% ก่อนจะไต่ลำดับเป็น 8.3/10 98%, 9/10 100% และ 8.7/10 100% ทั้งที่แต่แรกมันเป็นหนังทุนต่ำทำในหมู่เพื่อน ให้คนแถวบ้านมาช่วยแสดง และด้นสดพ่นมุขร้าย ๆ ใส่กัน จนบัดนี้หนึ่งในนั้นกลายเป็นผู้กำกับที่มาร์เวลตะครุบใส่ และนิตยสารไทม์ยกย่อง

ตัวละคร

นันดอร์ (เคย์วาน โนแวค) อดีตผู้นำจอมกระหายเลือดแห่งอาณาจักรทางตอนใต้ของอิหร่าน และก่อนนั้นเขาเป็นนักรบรับใช้จักรวรรดิออตโตมัน ซีซั่นแรกเขามีอายุ 760 ปี เป็นแวมไพร์อายุมากที่สุดและประกาศตัวเองเป็นผู้นำกลุ่ม ทำให้เขามีอำนาจในการเรียกประชุมสมาชิกในบ้าน เพื่อเม้าท์มอบเรื่องไร้สาระ แม้เขาจะมีความห่วงใยต่อมนุษย์ชีวิตจิ๊บจ้อย แต่การแสดงออกของเขาก็มักถูกแปลความในทางใจร้าย (ไปจนถึงฆาตกรรม) แม้อายุจะแก่เฒ่าแต่ค่อนข้างอ่อนต่อโลกศตวรรษใหม่ พยายามจะสอบขอสัญชาติอเมริกันมาหลายหน แต่เพราะไม่อาจทนสาบานตนว่า “ประเทศหนึ่งเดียวภายใต้พระเจ้า” ได้ จนบัดนี้เขาเลยยังเป็นได้แค่คนไร้สัญชาติ

ลาสซ์โล (แม็ตต์ เบอร์รี) แวมไพร์ผู้ดีอังกฤษ อายุ 310 ปี ที่คบหากับนัดญ่า เป็นไบเซ็กช่วลและอดีตดาวรุ่งหนังโป๊ ทำให้เขาค่อนข้างจะหมกมุ่นกับเรื่องเพศ(อย่างหนัก) เขาชอบมีเซ็กซ์กับทั้งนัดญ่า และนันดอร์ ความบันเทิงของเขาคือการปั้นรูปปั้นปากช่องคลอดของเมียกับแม่เขาเอง ในซีซั่นแรกเขาสารภาพด้วยว่าเขาคือ แจ็ค เดอะ ริปเปอร์ ฆาตกรในตำนาน

นัดญ่า (นาตาเซีย เดเมทริโออู) แวมไพร์หญิงชาวกรีกโรมาเนียนอายุ 500 ปีผู้เปลี่ยนลาสซ์โลให้กลายเป็นแวมไพร์ และล่าสุดพวกเขาแต่งงานกันแล้ว เธอมักจะขี้บ่นหงุดหงิดใส่เพื่อนร่วมบ้าน และพร่ำเพ้อถึงชีวิตมนุษย์ในอดีตของเธอ เคยมีสัมพันธ์กับอัศวินที่กลับชาติมาเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่านามว่า เกรกอร์ เป็นเวลาหลายร้อยปี (ซึ่งชะตากรรมของเกรกอร์คือจะหัวขาดทุกชาติไป) ตอนเธอเป็นแวมไพร์ วิญญาณของเธอจะแยกจากร่าง และสิงสู่ในตุ๊กตาได้ด้วย

กีร์เยโม (ฮาร์วีย์ กุยเลน) มนุษย์หนึ่งเดียวในบ้านหลังนี้ ทาสผู้ซื่อสัตย์และทนทุกข์ของนันดอร์ เขาหวังมาตลอดตั้งแต่ซีซั่นแรกว่าอยากจะเป็นแวมไพร์ และต้องการให้นันดอร์เปลี่ยนเขาเป็นแวมไพร์สักที แต่ก็ได้แต่หวังไปเรื่อย ๆ จนผ่านไป 4 ซีซั่นแล้ว เขาเป็นลูกหลานของ แวน เฮลซิง นักล่าแวมไพร์ผู้โด่งดัง ทำให้จริง ๆ แล้วเขามีความสามารถในการฆ่าแวมไพร์ อันทำให้เขาเกิดปมขัดแย้งในเรื่องที่ตัวเองอยากเป็นแวมไพร์เสียเอง สุดท้ายกลายเป็นว่า กีร์เยโม ใช้ทักษะนักฆ่าแวมไพร์มาปกป้องแวมไพร์ไปซะงั้น

คอลิน (มาร์ค พรอช) เป็นไซคิกแวมไพร์ คือมีพลังในการดูดพลังงานคนอื่นด้วยการทำตัวน่าเบื่อหน่ายสุด ๆ เขาเป็นแวมไพร์ที่ไม่ต่างจากมนุษย์ทั่วไป ยกเว้นตอนดูดวิญญาณคนอื่นม่านตาของเขาจะเรืองแสง สามารถเดินกลางวันได้ เข้าโบสถ์ได้ และมีเงาสะท้อน เพียงแต่เงาของเขามาในรูปแบบตัวซีดเซียวไร้จิตวิญญาณ คนส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงจะคบหาเขา

เนื้อเรื่อง

ตัวละครแวมไพร์ทั้งหมดอาศัยอยู่ร่วมบ้านผุ ๆ พัง ๆ ที่ตั้งอยู่บนเกาะสแตเทน อันเป็นเขตที่ถูกลืมของนิวยอร์ก ด้วยความที่แม้ว่าจะเป็นเขตใหญ่ที่สุดอันดับสามในนิวยอร์กแต่มันมีจำนวนประชากรน้อยมากไม่ถึงห้าแสนคน จนกลายเป็นเขตเลือกตั้งที่มีประชากรน้อยที่สุดในอเมริกา การถูกรัฐละเลยจึงเป็นโลเคชั่นที่ดีสำหรับแวมไพร์กลุ่มนี้ที่ไม่ค่อยอยากให้พวกมนุษย์เข้าไปยุ่มย่ามกับชีวิตพวกเขาสักเท่าไร ยกเว้นกีเยร์โม่ และอันที่จริง พวกเขาต่างหากที่ชอบไปยุ่มย่าม(หรือจะเรียกว่าคุกคามก็ไม่ผิด)กับพวกมนุษย์

แฟรนไชส์

หลายคนอาจเพิ่งรู้จักซีรีส์เรื่องนี้ แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นแฟรนไชส์ คือ มีหลายเวอร์ชั่น ที่ภาพรวมดีเอ็นเอของทุกเวอร์ชั่นคือ เป็นม็อคคิวเมนทารี่ หรือสารคดีปลอมที่ม็อคอัพจัดฉากขึ้นมาประหนึ่งว่าเป็นหนังสารคดี แต่จริง ๆ ทั้งหมดคือการแสดง เกี่ยวกับแวมไพร์กลุ่มหนึ่งที่พยายามจะปรับตัวเข้ามาใช้ชีวิตร่วมกับมนุษย์ยุคปัจจุบัน

หนังสั้น

What We Do in the Shadows: Interviews with Some Vampires (2005) หนังสั้นความยาวเกือบครึ่งชั่วโมงที่ดูหน้าหนังก็รู้ว่าจงใจจะล้อเลียน Interview with a Vampire (1994) เล่าความสัมพันธ์ระหว่าง 3 เพื่อนแวมไพร์กับ 2 เพื่อนมนุษย์
Dating 101 with Viago (2014) เป็นหนังสั้นที่ตามสัมภาษณ์ความคิดเห็นแวมไพร์หนุ่มนามว่า วิเอโก เกี่ยวกับเว็บหาคู่ และมุมมองความรักเฮี้ยน ๆ แบบแวมไพร์

A Vampire’s Guide to Vellington (2014) เป็นหนังสั้นพิเศษที่ทำขึ้นเพื่อชวนคนมาท่องเที่ยวเมืองเวลลิงตัน ในนิวซีแลนด์ โดยเล่าจากมุมมองของแวมไพร์ปากแจ๋ว

What We Do in the Shadows (2014) หนังฉายโรง เป็นภาคขยายจากฉบับหนังสั้นที่พวกเขาร่วมกันทำเมื่อ 9 ปีก่อน มาปรับโฉมแม้งบจะทุนต่ำแค่ล้านนิด ๆ แต่ก็ฟาดรายได้ไปถึงเจ็ดล้าน เปิดตัวในเทศกาลหนังใหญ่ ๆ อย่างซันแดนซ์, SXSW และเบอร์ลิน แถมยังคว้ารางวัลจาก สมาคมนักวิจารณ์ซานดิเอโก สมาคมนักวิจารณ์เดนเวอร์ เทศกาลหนังโตรอนโต เทศกาลหนังวอร์ซอว์ เทศกาลหนังฮาวาย ฯลฯ และนี่คือจุดเริ่มต้นที่ต่อมาตัวผู้กำกับหนัง(ที่ควบทั้งเขียนบทเองแสดงเอง)ได้เติบโตไปสู่จุดที่ทั้งสองไม่เคยคาดคิดเอาไว้ คือจากเมืองบ้านนอกในนิวซีแลนด์ ข้ามทวีปมาสู่ฮอลลีวูดในอเมริกา

หนังภาคแยกที่อาจจะสร้างจริง ๆ แล้วตัวผู้กำกับมีแผนจะสร้างหนังภาคแยก คือในฉบับหนังฉายโรง มีกลุ่มตัวละครมนุษย์หมาป่า พวกเขาเลยเขียนโปรเจ็คต์ที่ทีแรกชื่อว่า What We Do in the Moonlight และต่อมาประกาศว่าชื่อโครงการจริง ๆ คือ We’re Wolves ที่เขียนไว้ตั้งแต่ปี 2015 หลังจากความสำเร็จในฉบับหนังใหญ่ แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีวี่แวว โดยภายหลังในปี 2019 ทีมผู้กำกับออกมาบอกว่า มีทั้งความเป็นไปได้ หรืออาจจะไม่ทำเลย เพราะการทำภาคต่อหมายถึงพวกเขาต้องกลับไปบ้านเกิดที่นิวซีแลนด์เพื่อกำกับมันที่นั่น แต่ตอนนี้พวกเขากำลังเนื้อหอมสุด ๆ ในฮอลลีวูด พวกเขาบอกว่า “การจะทำหนังเรื่องนี้ก็เหมือนเราสัญญากับพ่อว่าจะกลับบ้านตอนคริสตมาส แต่สิ่งที่เราทำได้ก็แค่ส่งโปสการ์ดไปหาพ่อแล้วบอกเลื่อนไปเรื่อย ๆ ว่าปีหน้าผมจะกลับบ้านนะครับ”

ซีรีส์ภาคแยก

นอกจากฉบับซีรีส์ที่ปัจจุบันมีออกมาแล้ว 4 ซีซั่น และล่าสุดยังได้รับการยืนยันแล้วว่าจะมีต่ออีกอย่างน้อย 2 ซีซั่น รวมเป็นหกซีซั่น แต่จริง ๆ แล้วซีรีส์นี้เคยมีภาคแยกออกมาก่อนแล้วด้วย คือ Wellington Paranormal (2018-2022) ที่ปัจจุบันมีมาแล้ว 4 ซีซั่น มีตอนพิเศษวันคริสต์มาสอีกหนึ่งตอนในปี 2019 กับอีก 16 ตอนเป็นเว็บซีรีส์ Important COVID-19 messages (2020)ที่ทำออกมาในช่วงโควิด โดยทั้งหมดได้รับความร่วมมือจากตำรวจสันติบาลของนิวซีแลนด์ อันเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญโปรโมทตำรวจไปในตัวด้วย และตัวเนื้อเรื่องดึงเอาตัวละครคู่หูตำรวจสามนาย ชายสองหญิงหนึ่ง คือ เจ้าหน้าที่ไคล์ มิโนก(ไมค์ มิโนก), เจ้าหน้าที่หญิง โอ’ เลียรี่ (คาเรน โอ’เลียรี่-ตัวจริงเธอเป็นครูโรงเรียนอนุบาล) และ สิบเอกรัวไว มาอากะ (มาอากะ โปฮาตู) โดยเนื้อเรื่องทั้งหมดเกี่ยวกับตำรวจกะกลางคืนที่เจอแต่เรื่องแปลก ๆ ผิดมนุษย์มนาตลอด ๆ แต่หลาย ๆ ครั้งพวกเขากลับไม่ได้มองว่ามันเป็นเหตุการณ์เหนือธรรมชาติ อย่างเช่น ไปเจอคนถูกผีสิง พวกเขากลับโลกสวยมองว่าเป็นคนขี้เมา ซีรีส์นี้ถ่ายทำในนิวซีแลนด์ ที่ชะลอการถ่ายทำซีซั่นห้าเอาไว้ เนื่องจากตัวผู้จัดไปรับงานในอเมริกา
แจ้งเกิด

จากหนังสั้นทุนตัวเองที่หยิบยืมขอความช่วยเหลือจากชาวบ้านชาวช่อง กลายเป็นหนังที่ได้รับความร่วมมือจากตำรวจสันติบาล ทั้ง ๆ ที่มันเป็นตลกร้าย ไม่ใช้ร้ายธรรมดาด้วยนะ เป็นตลกร้ายตัวตึง ร้ายแบบตะโกน อย่างเช่น ระหว่างที่ตัวแวมไพร์ออกไปจีบสาว ท่าทีของแวมไพร์อายุห้าร้อยปีคือหื่นเต็มที่และมีทีท่าแบบคุกคามทางเพศจนสาวกลัว ไม่ใช่กลัวเฉย ๆ เธอกลัวจนวิ่งไปแล้วรถบรรทุกเผอิญผ่านมาชนเธอกระเด็นไป หรือไม่ก็เหม็นขี้หน้าใครก็เสกไฟไปเผาบ้านบึ้มจนเกรียมเป็นซากตอตะโก ไม่ก็จงใจปากร้ายเหยียดเชื้อชาติใส่กัน คือร้ายแบบโหดเหี้ยมแต่ยังเล่าด้วยวิธีที่สุดแสบโปกฮา และสะท้อนความชั่วร้ายทั้งหลายทั้งปวงที่มนุษยชาติจะสรรหามากระทำความชั่วช้าใส่กันสารพัดวิธี มุมมองร้าย ๆ แบบนี้ มาจากตัวสองผู้กำกับที่หนึ่งในนั้นคือ เจเมน เคลมองต์ ส่วนอีกคนตอนนี้กำลังเนื้อหอมสุด ๆ นั่นก็คือ

ไทกา ไวติติ

หรือในชื่อจริงว่า ไทกา เดวิด โคเฮน ผู้สร้างหนังชาวนิวซีแลนด์ นักแสดง และนักแสดงตลก ที่คว้ารางวัลทุกเวทีใหญ่มาแล้ว อาทิ ออสการ์ จากหนังสั้น Two Cars, One Night (2003) และบทภาพยนตร์ดัดแปลง จากหนัง Jojo Rabbit (2020) ที่หนังเรื่องหลังนี้ทำให้เขากวาดรางวัลทั้ง ลูกโลกทองคำ ภาพยนตร์ตลกยอดเยี่ยม และบาฟตา บทดัดแปลงยอดเยี่ยม รวมถึงรางวัลแกรมมี่ ในสาขาเพลงประกอบยอดเยี่ยม แถมยังมีหนังทำเงินสูงสุดในนิวซีแลนด์อีกสองเรื่อง คือ Boy (2010) และHunt for the Wilderpeople (2016) ล่าสุดในปี 2022 นี้ นิตยสารไทม์ได้เลือกเขาเป็นหนึ่งในร้อยผู้ทรงอิทธิพลแห่งปี และความเก่งกาจของเขาทำให้มาร์เวลต้องคว้าเขามากำกับหนังซูเปอร์ฮีโร่ที่ว่ากันว่าเป็นภาคที่ดีที่สุด อย่าง Thor: Ragnarok (2017) และ Thor: Love and Thunder (2022) รวมถึงซีรีส์ภาคแยกของ Star Wars เรื่อง The Mandalorian (2019-ปัจจุบัน)

ไวติติ อธิบายตัวเองว่าเป็น โพลิเนเชียน ยิว เพราะพ่อเขาเป็นชาวเมารีเชื้อสาย เทวาเนา-อะ-อะปะนุย ผสมแคเนเดี้ยน และฝรั่งเศส ส่วนฝ่ายแม่เป็นครูชาวไอริชกับยุโรปอื่น ๆ ในครอบครัวศาสนายูดาย เขาเริ่มอาชีพด้วยการเป็นหนึ่งในคณะตลก 5 คนในนาม So You’re a Man ที่โด่งดังสุด ๆ ทั้งในนิวซีแลนด์และออสเตรเลีย ต่อมาไปร่วมกับ เจเมน เคลมองต์ (ผู้กำกับร่วมกันในแฟรนไชส์ What We Do in the Shadows) ในนามคณะตลก The Humourbeasts ที่คว้ารางวัลบิลลี่ที ที่นิวซีแลนด์มอบให้กับตลกดาวรุ่งประจำปี ล่าสุดเขามีโปรเจ็คต์ดี ๆ เต็มมือ อย่างเช่น สุดยอดหนังไซ-ไฟคลาสิก Flash Gordon, แอนิเมชั่นจากนิยายดังของ โรอัล ดาห์ล Charlie and the Chocolate Factory,ฉบับหนังคนแสดงที่ดัดแปลงจากแอนิเมะของ คัตสึฮิโระ โอโตโมะ AKIRA อันลือลั่น และมหากาพย์โอเปร่าอวกาศ ไซ-ไฟผสมเวทย์มนต์ The Incal ที่ดัดแปลงจากเรื่องราวล้ำจินตนาการของ อเลฮานโดร โจโดโรวสกี้ ร่วมกับภาพวาดล้ำอนาคตด้วยฝีมือปรมาจารย์ชาวฝรั่งเศสผู้ล่วงลับ โมบิอุส (ฌอง กีฮาวด์) รวมถึงซีรีส์แฟนตาซีที่ดัดแปลงจากหนังเรื่องเยี่ยมของเทอร์รี กิลเลียม Time Bandits ฯลฯ

Jojo Rabbit (2019) ดัดแปลงจากนิยาย Caging Skies (2008) เล่าเรื่องของหนุ่มน้อย โจโจ้ วัย 10 ขวบ (โรมัน กริฟฟิน เดวิส) สมาชิกยุวชนฮิตเลอร์ในช่วงบั้นปลายก่อนที่ฮิตเลอร์จะยิงตัวตายไม่นาน เด็กน้อยพบว่าแม่ของเขา (สการ์เล็ตต์ โจแฮนสัน) ซ่อนเด็กหญิงชาวยิว (โธมาซิน แม็คเคนซี) เอาไว้ในห้องใต้หลังคา ซึ่งมันสั่นคลอนความเชื่อในนาซีที่เขามีมาตลอดชีวิต ในใจเขาจะมีเพื่อนในจินตนาการที่แสดงออกมาเป็นรูปลักษณ์แบบฮิตเลอร์(แต่มีบุคลิกแบบชาลี แชปลิน ที่แสดงโดยไวติติเอง) ไวติติชอบเรื่องนี้มากตั้งแต่ได้อ่านนิยาย และเขียนบทเก็บไว้ตั้งแต่ปี 2011 แต่สิ่งที่ต่างกันมากกับฉบับนิยายคือ จริง ๆ แล้วนิยายไม่ได้ตลกเลย ตัวเอกในนิยายไม่ใช่เด็ก 10 ขวบ แต่เป็นหนุ่ม 19 และสิ่งที่เขาทำในนิยายคือเลวร้ายกว่าในหนังมาก ส่วนสิ่งที่ไม่มีเลยในนิยายคือ เพื่อนในจินตนาการที่หน้าตาเหมือนฮิตเลอร์ อย่างไรก็ตามไวติติกวาดคำชมไปเพียบ ในแง่ที่หยิบเอาดีเอ็นเอของเรื่องมาผสมกับรสนิยมตลกร้ายส่วนตัว นั่นคือเหตุผลว่าทำไมตัวหนังถึงไม่ได้มีชื่อเดียวกันกับฉบับนิยาย

The Incal (โปรเจ็คต์อนาคต) เดิมทีคอมิคส์เรื่องนี้มีชื่อว่า Une aventure de John Difool (A John Difool Adventure) เล่าเรื่องในจักรวาลสมมติ เมตาบารอนส์ เป็นมหากาพย์ที่ตีพิมพ์มาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 1980 มาจน 2014 ที่ผสมผสานทั้ง การเดินทางข้ามจักรวาล เทคโนโลยีสุดล้ำ ทฤษฎีสมคบคิดทางการเมือง แนวคิดเรื่องพระผู้มาโปรด เวทย์มนต์ ความรัก การเสียดสี ความชั่วร้าย การทำลายล้าง และเล่าราวบทกวี ซึ่งเป็นการรวมเรื่องราวและขยายเรื่องราวต่อจากในจักรวาล Dune ในนิยายที่ต่อมากลายเป็นโปรเจ็คต์หนังที่ โจโดโรวสกี้จะกำกับ และ ฌ็อง กีฮาวด์ จะเป็นหนึ่งในผู้ออกแบบ แต่สุดท้ายโปรเจ็คต์ก็ค้างเติ่งไม่ได้สร้างมาตั้งแต่ยุค 70s (จริง ๆ Dune เคยมีฉบับหนังปี 1984 โดยเดวิด ลินช์ แต่โดนนักวิจารณ์จวกยับเยิน ก่อนจะมีฉบับมินิซีรีส์ปี 2000 แต่หนังจริง ๆ มาสำเร็จเอาเมื่อปี 2021 นี้เองโดยฝีมือกำกับของ เดนิส วิลเลนเนิฟ แต่ก็ยังเล่าไม่จบอยู่ดี) ตัว Dune นั้นดัดแปลงจากนิยายของ แฟรงก์ เฮอร์เบิร์ต แต่ Incal คือมีรากฐานบางอย่างคล้ายกัน แต่หันไปเล่าประเด็นอื่นแทน ที่ภายหลังเล่าเรื่องแยกออกไปอีกสามไตรภาคคือ Before the Incal, After the Incal และ Final Incal

เรื่องเริ่มต้นในโลกดิสโทเปียที่มีผู้ปกครองเป็นมนุษย์ ภายใต้อาณาจักรที่ปกครองสองกาแล็คซี ที่ผู้คนต่างหมายอยากจะได้ผลึกคริสตัลอินคาล อาณุภาพสูง ใช้ในการนำทางและปกป้อง มีตัวเอกชื่อ จอห์น ดิฟูล ผู้มีลักษณะแบบแอนตี้ฮีโร่ คือไร้ซึ่งความเป็นพระเอกโดยสิ้นเชิง ไม่กล้าเผชิญสถานการณ์เสี่ยง หนีได้ถ้ามีโอกาส แม้จะใจดี หรือเสียสละบ้างบางที แต่ก็เห็นแก่ตัวอย่างร้ายกาจ ตัวละครนี้ดัดแปลงมาจากไพ่ The Fool ในสำรับไพ่ทาโรต์ ที่รักสนุก ชอบผจญภัย แต่บางครั้งก็โง่ และเห็นแก่ตัว เป็นตัวแทนผู้ชาย โลกถูกแบ่งด้วยชนชั้นบนที่สูง กับชนชั้นในหลุมลึก

มาร์ค มิลลาร์ มือวาดแห่งค่ายดีซีและมาร์เวล ผู้วาดจักรวาล The Ultimates ยกย่องว่าเป็นนิยายภาพที่สวยที่สุดเท่าที่เคยมีมา นิตยสารโรลลิงสโตน ให้อยู่ในอันดับที่ 30 ของ 50นิยายภาพที่ไม่มีซูเปอร์ฮีโร่ที่ดีที่สุดตลอดกาล โดยยกย่องว่า “มีการ์ตูนน้อยมากที่รอบคอบ จริงใจ และดีขนาดนี้” แอรโธนี ปาเล็ตตา แห่ง แอลเอ รีวิว ออฟ บุคส์ ตั้งข้อสังเกตว่า “งานภาพสุดสวยงามของโมบิอุส มีอิทธิพลต่อผลงานของ ฮายาโอะ มิยาซากิ แห่งค่ายจิบลิ, คัตสึฮิโระ โอโตโมะ ใน AKIRA และอนาคตอันเน่าเปื่อยของ Blade Runner รวมถึง The Matrix ด้วย”

ครั้งหนึ่งสำนักพิมพ์ The Incal เคยฟ้องร้อง ลุค เบสซอง ว่าหนัง The Fifth Element (1997) หยิบยืมองค์ประกอบทางกราฟฟิกหลายอย่างจากใน The Incal อย่างเห็นได้ชัด แต่สุดท้ายก็แพ้คดีไป ต่อมาสำนักพิมพ์อ้างว่าที่คดีนี้แพ้ เพราะโมบิอุสดันไปให้สัมภาษณ์ว่า “การที่ผลงานถูกขโมยความคิดไปถือว่าเป็นเกียรติ” อย่างไรก็ตามน่าจับตามองว่าไวติติ จะกำกับผลงานขึ้นหิ้งขนาดนี้ออกมาหน้าตาเป็นอย่างไรแน่

ไวติติเล่าเกี่ยวกับซีรีสแวมไพร์ของเขาว่า “สมัยหนุ่ม ๆ เรามีไอเดียเป็นกระตั้ก พอเวลาผ่านไปพวกเราก็เริ่มขี้เกียจ โปรเจ็คต์แวมไพร์นี่เราเริ่มกันตั้งแต่ปี2005 แล้วกว่าจะเป็นหนังเข้าโรงก็ 9 ปีผ่านไป พอจะเป็นซีรีส์ก็ไปอีก 5 ปี ปาไปรวมแล้ว 14 ปี นี่ขนาดเรามีชีวิตอยู่ได้ไม่ถึงร้อยปีนะ แล้วพวกแวมไพร์ที่มีเวลาเหลือเฟือสามร้อย ห้าร้อยปี คงขี้เกียจยิ่งกว่าเรา ช่วงนั้นผมทำหนังเรื่องนึง แล้วก็หนีไปพักผ่อนที่ฮาวาย เลี้ยงลูกสักพัก กลับมาก็คุยกับเจเมนว่าเรามาทำเรื่องนี้เป็นซีรีส์กันเถอะ แล้วพอเราได้รับการติดต่อให้ปรับเป็นซีรีส์อเมริกัน เราก็โละเวอร์ชั่นเก่าลง เพราะพวกเราไม่อยากกำกับไปแสดงไปอีกแล้ว เอาจริง ๆ คือผมไม่อยากโกนหนวด เพราะคาแร็คเตอร์เดิมของผมหน้าเกลี้ยง แต่หนวดผมดกขึ้นทุกวัน เราเลยคิดว่าน่าจะสนุกกว่า ก็ไหน ๆ มันจะถูกถ่ายทำในอเมริกาอยู่แล้ว ทำไมเราไม่สร้างตัวละครใหม่เลยล่ะ วางโครงสร้างวิธีการเล่าเรื่องแบบเดิม แต่อุดรอยรั่วด้วยตัวละครชุดใหม่ บนโลเคชั่นใหม่ในอเมริกาที่น่าจะจิกกัดคนได้หลากเชื้อชาติและหลายชนชั้นกว่า นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราเลือกเกาะสเตเท่นเป็นหลักด้วย”

“แรกจริง ๆ คือเราเพิ่งซื้อกล้องกันมาแล้วเห่อกันว่าจะถ่ายอะไรดี กับได้ชุดประหลาด ๆ มาจากร้านขายเสื้อผ้าเก่า จากตรงนั้นทั้งหมดเราก็เอามาผูกเรื่องว่าจะเป็นอะไรได้บ้าง ในที่สุดก็กลายเป็นหนังสั้นเมื่อปี 2005 นั่น แต่แรกจริง ๆ เราเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามว่า ไอ้พวกแวมไพร์พวกนี้มันจะทำอะไรกันบ้างวัน ๆ ถ้ามันไม่ต้องต่อสู้กับใคร หรือไม่ต้องไปคอยเที่ยวไล่กัดใครอย่างแต่ก่อนแล้ว อะไรที่ผมอยากเห็นคือ พวกมันไปช็อปปิ้งกันยังไง ไปร้านตู้ซักแห้งหยอดเหรียญกันยังไง พวกมันมีกิจกรรมยามว่างแบบไหน วัน ๆ หมดเวลาชีวิตไปกับเรื่องอะไรกันบ้างในเมื่อมันมีชีวิตอันน่าเบื่อนานแสนนาน แล้วเพื่อจะอยู่รอดในสังคมได้ มันต้องใช้ความพยายามมาก อดทนมาก ๆ เปิดกว้างใจกว้างมาก ๆ พร้อมจะอยู่ร่วมกับสังคมมนุษย์ที่มีชีวิตเป็นเหมือนเศษขี้เล็บของพวกมันอ่ะนะ ดังนั้นแม้สังคมจะไม่ค่อยยอมรับพวกมัน แต่พวกมันจะยอมรับความเป็นมนุษย์มากขึ้น อ่อ อีกอย่างที่มันต้องระแวดระวังคือ เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่มนุษย์ใช้กัน บางอันอาจเป็นพิษเป็นภัยกับพวกมันก็ได้ หรือไม่ก็ต้องปรับตัวให้เท่าทันยุคสมัย เพราะพวกมันมาจากโลกเมื่อห้าร้อยปีก่อนโน่นเลย”

ไวติติ ถูกถามว่าได้ดูหนังแวมไพร์มากแค่ไหน เพราะบางเรื่องอาจไม่ได้ฉายที่นิวซีแลนด์ เขาตอบว่า “ผมได้ดู Twilight ภาคไหนนะที่เธอมีลูก มีลูกเป็นปีศาจนั่นน่ะ…ผมไม่เคยดู True Blood แต่ผมได้ดู Underworld ภาคหนึ่งและก็อาจจะภาคสองด้วยมั้ง จากนั้นก็ Blade ภาคแรกแล้วข้ามไปภาคสามเลย แล้วก็ Let the Right One In ซึ่งเป็นแวมไพร์ที่ดีที่สุดในรอบสิบปีที่ผ่านมานี้เลย ก็ไม่ค่อยได้ดูมากนะ”

“เราผ่านเรื่องแย่ ๆ กันมาเยอะสมัยที่เริ่มจะทำเรื่องเกี่ยวกับแวมไพร์กัน แต่ตอนนี้มันคือช่วงเวลาที่ดีสำหรับเรา เพราะผู้คนเบื่อหน่ายเรื่องพวกแวมไพร์นี่เต็มทน เนื้อหาแบบที่เราทำจึงเหมาะกับเวลานี้ที่สุด เวลาที่ผู้คนเกลียดแวมไพร์กันเข้าไส้แล้ว แล้วเรากำลังนำเสนอมันในแบบสารคดี เหมือนตีแผ่ว่าชีวิตจริงแวมไพร์พวกนี้มันชั่วช้ากันยังไงบ้าง มันอยู่ร่วมกับสังคมอย่างไรในฐานะมนุษย์ และสังคมมนุษย์เองก็ไม่ได้เด่ไปกว่าพวกตัวร้าย ๆ พวกนี้นัก” ไวติติทิ้งท้าย