ThaiPublica > คอลัมน์ > Ju-On: Origins ลูปวนแห่งความโหดเหี้ย/ม

Ju-On: Origins ลูปวนแห่งความโหดเหี้ย/ม

10 กรกฎาคม 2020


1721955

ซีรีส์ผี Ju-On: Origins (2020) เป็นส่วนต่อขยายล่าสุดของแฟรนไชส์ Ju-On ที่ถือกำเนิดจากหนังญี่ปุ่นในปี 2000 โดยผู้กำกับ ทาคาชิ ชิมิสึ ส่วนฉบับซีรีส์นี้มี 6 ตอน ตอนละ 30 นาที แต่ทุกตอนกำกับโดยโช มิยาเกะ ที่จบแบบเดียวกันทั้งหมดด้วย เอนด์เครดิตเป็นภาพลากลึกลงไปในบ่อน้ำใสสีเขียวอมฟ้า ดูเย็นเยียบ ลี้ลับ อันคือบ่อศักดิ์สิทธิ์ของชาวไอนุที่เรียกว่าคามิโนะโกะ (บุตรแห่งพระเจ้า) ในเมืองคิโยซาโตะ ฮอกไกโด ที่ว่ากันว่า ‘ไม้ท่อนที่จมลงไปจะไม่มีวันเปื่อยผุ และความใสของน้ำจะหลอกตาให้ไม่รู้ว่ามันลึกว่าที่เห็น’ อันเป็นภาพจบเรียบง่ายแฝงมนตร์สะกด และบอกเป็นนัยว่าซีรีส์นี้ลึกล้ำกว่าที่คิด

เอนด์เครดิตนี้ยังประกอบด้วยเพลงภาษาไอนุ Sonkayno ของวงไอนุ MAREWREW (ภาษาไอนุแปลว่าผีเสื้อ) ด้วยสไตล์อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวแบบเพลงไอนุเรียกว่า “โป๊ปโปะ” (Upopo มี 3 แนวหลัก คือ Rekuhkara สำหรับการละเล่นเชิงพิธีกรรม, Yaisama สำหรับแสดงห้วงอารมณ์ และ Iyonruika เพลงเห่กล่อม) อันเป็นการไล่เสียงประสานสองหรือสามเสียง คล้ายบทสวด ที่ชาวไอนุเชื่อกันว่าเป็นเสียงสะท้อนแห่งจิตวิญญาณ ซึ่งเพลงนี้เดิมทีใช้ประกอบการละเล่นในวันขึ้นปีใหม่ ที่เชื่อกันว่าเป็นการขับไล่ผีร้ายและอำนวยพรให้จิตวิญญาณตนแข็งแกร่งขึ้นได้ด้วย โดยเนื้อหาของเพลงนี้เกี่ยวกับหนูที่เข้าไปติดกับดักเพราะถูกล่อหลอกด้วยลูกกวาดหวานอร่อย และด้วยเหตุที่ชาวไอนุไม่มีอักษรเป็นของตัวเอง พวกเขาจึงใช้การสวดเพลงและการเล่า Yukar (บทกวีปรัมปรา) เป็นการส่งผ่านเรื่องเล่าแบบมุขปาฐะจากรุ่นสู่รุ่น

ชาวไอนุ

ไอนุ = คนชายขอบใกล้สูญพันธุ์

จากการสำรวจล่าสุดในปี 2017 พบว่าประชากรชาวไอนุเหลืออยู่ราว 13,000 คนในฮอกไกโด (ในปี 1989 พบว่ามีราว 10,000 คนในโตเกียว และปี 1949 เหลืออยู่ราว 100 คนบนเกาะซาฮาลินของรัสเซีย นอกนั้นพบว่าสูญพันธุ์ไปสิ้นแล้ว เช่น ในเขตโตโฮกุของญี่ปุ่น, บนเกาะคูริล และคัมซัตคาของรัสเซีย) สาเหตุหลักของการใกล้สูญพันธุ์มาจากโรคระบาดหนักในสมัยเอโดะ และนโยบายกลืนชาติของรัฐญี่ปุ่นเอง ด้วยหนึ่งในเครื่องมือสำคัญคือการจัดตั้งสมาคมไอนุฮอกไกโด ในปี 1930 ที่มุ่งล้างสมองด้วยข้ออ้าง ‘เพื่อพัฒนาชาวไอนุให้เจริญขึ้น’ แต่ภายหลังชัยชนะของชาวไอนุต่อกรณีพิพาทเรื่องพื้นที่ทำกินในปี 1997 ได้ส่งผลต่อข้อเรียกร้องให้มีชาวไอนุ เข้าร่วมการประชุมวางแผนพัฒนาชาติด้วย ซึ่งกว่าจะประสบความสำเร็จก็ปาไปปี 2008 อันเป็นครั้งแรกที่ญี่ปุ่นยอมรับให้ชาวไอนุเป็นชนพื้นเมือง และนับตั้งแต่ปี 2009 สมาคมไอนุฮอกไกโดก็เป็นอิสระจากรัฐและบริหารโดยชาวไอนุด้วยกันเอง

หลานบิลลี่กับปู่คออี้ ปัจจุบันไม่อยู่แล้วทั้งคู่
[กรณีคล้ายกันในบ้านเรา อย่างเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2011 ที่ทหารไทยเผาไล่รื้อหมู่บ้านชาวปกาเกอะญอ แก่งกระจาน ต่อมาก็เชื่อกันว่าเพราะแรงคำสาป ทำให้เกิดเหตุเฮลิคอปเตอร์ตก 3 ลำรวด เมื่อเดือนกรกฎาคมในปีเดียวกัน จนมีผู้เสียชีวิต 17 ศพ ซึ่งเลข 7 เป็นเลขอาถรรพ์ที่ถ้าเขียนกลับหัวจะคล้ายคำว่า “ตาย” ในภาษาปกาเกอะญอโบราณ ซ้ำยังโยงไปถึงปู่คออี้ ผู้นำจิตวิญญาณ (และเป็นปู่ของบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ นักต่อสู้เพื่อสิทธิปกาเกอะญอ ที่ถูกอุ้มฆ่ายัดถังถ่วงน้ำในปี 2014) ที่ถูกเชื่อว่ามีคาถาอาคม ส่งผลให้ฝ่ายทหารต้องรีบทำบุญครั้งใหญ่

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันรัฐไทยได้เข้าไปพัฒนา ‘ให้พวกเขาเจริญขึ้น’ ฝังกลบเรื่องเศร้า และเปิดให้คนนอกเข้าไปเที่ยวชิลๆ ภายใต้โครงการแผนพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ประยุกต์ตามพระราชดําริ บ้านโป่งลึก-บางกลอย]

ด้วยวิถีชีวิตที่แตกต่าง หน้าตา ภาษา และอีกหลายอย่างไม่เหมือนพวกญี่ปุ่น ญี่ปุ่นจึงจำเป็นต้องกลืนเผ่าพันธุ์ไอนุ เพราะพวกไอนุอยู่มาก่อนและเชื่อว่า “ไอนุอยู่ที่นี่มานับแสนปีก่อนที่พวกบุตรแห่งพระอาทิตย์จะมาถึง” พวกเขาจึงถูกกดขี่ผลักไสเป็นชนชั้นชายขอบที่ต้องอยู่อย่างแร้นแค้น และมีที่พึ่งเดียวคือความเชื่อดั้งเดิม ที่สามารถปัดเป่าวิญญาณร้าย และปกปักไว้ได้ด้วยวิญญาณดี

Gakko no Kaidan G หรือ School Ghost Stories G (1998)

พล็อตหลัก/ปูมหลัง

วกกลับไปที่ Ju-On (2000) ฉบับแรก จริงๆ มันเป็นหนังทุนต่ำที่ต่อยอดจากหนังสั้น 2 เรื่องในปี 1998 คือ Katasumi (In A Corner) และ 4444444444 ของทาคาชิ ชิมิสึ เอง (ภายหลังตัดต่อรวมกับหนังสั้นอีก 2 เรื่อง คือ Kodama ของคิโยชิ คุโรซาว่า และ Shokki ของเท็ตสึ มาเอดะ แล้วฉายทางทีวีในชื่อ Gakko no Kaidan G) สมัยยังเรียนหนังกับคิโยชิ คุโรซาว่า จาก Kairo/Pulse (2001), Bright Future (2003), Tokyo Sonata (2008-รางวัล Jury prize,คานส์) และ Journey to the Shore (2015-รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม,คานส์) และคุโรซาว่าเองนี่แหละ คือผู้ปรับแต่งไอเดียโปรเจกต์ Ju-On ให้ชิมิสึ

บูโตะหรือคายาโกะ อย่างไหนจะหลอนกว่ากัน

ชิมิสึให้สัมภาษณ์ว่า…

“ผมเริ่มจากไอเดียเล็กๆ เกี่ยวกับสิ่งที่ผมกลัวมากๆ ตอนเป็นเด็ก ไม่ว่าจะหนังหรือนิยายทวงแค้น รวมถึงคดีฆาตกรรมโหดตามข่าวดัง บวกลีลาร่ายรำแบบบูโต (Butoh) ที่มักแก้ผ้าแล้วทาสีขาวทั้งตัว นั่นคือที่มาว่าทำไมผีใน Ju-On จึงเป็นสีขาว”

แล้วรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ก็ถูกรวบมาเป็นหนัง ที่ว่าด้วยคดีฆาตกรรมโหดคายาโกะ ด้วยน้ำมือของทาเคโอะ สามีของเธอเอง ที่ลงมือฆ่าโตชิโอะ ลูกชายของทั้งคู่ด้วย เพราะฝ่ายสามีสงสัยว่าภรรยาจะมีชู้กับครูของลูกชาย หลังจากได้อ่านบันทึกฉบับหนึ่งที่หนังก็ไม่ได้บอกตรงๆ ว่า ตกลงแล้วคายาโกะ เขียนจากเรื่องจริง มโนขึ้นเอง หรือคนอื่นเขียนแล้วซุกเอาไว้ในบ้านนี้ อย่างไรก็ตาม หลังจากคายาโกะกลายเป็นผี เธอก็กลับมาฆ่าสามี แล้วส่งต่อแรงอาฆาตไปยังใครก็ตามที่เฉียดย่างมาบ้านอาถรรพ์หลังนี้

จากหนังภาคแรกที่จู่ๆ ก็ฮิตขึ้นมา ทำให้ Ju-On ขึ้นแท่นหัวหอกหนังแนว J Horror ที่ทุกโผการจัดอันดับ ต่างยกให้ติดทอป 5 เสมอมา ถูกรีเมกเป็นฉบับฮอลลีวูด แตกแฟรนไชส์เป็นหนังทั้งหมด 13 ภาค ส่งผลให้ผู้กำกับชิมิสึข้ามไปทำหนังดังไกลถึงฮอลลีวูด

แล้วแทนที่คดีคายาโกะจะกลายเป็นพล็อตหลัก หรือหนังเรื่องเดียวจบ ความตายของคายาโกะก็กลายเป็นปูมหลัง ที่แฝงฝังอยู่ในบ้านแสนเศร้าหลังนี้…ทุกเวอร์ชันไป

collection

ปฐมบท ≠ จุดเริ่มต้น

กระทั่งเวอร์ชันล่าสุด เมื่อมันถูกจับมาทำเป็นซีรีส์ Ju-On: Origins ที่ตอนนี้กลายเป็นกระแสเสียงแตกไปต่างๆ บ้างก็ว่าดูไม่รู้เรื่อง บ้างก็ว่าไม่เห็นเกี่ยวกับผีคายาโกะ แต่แฟนเดนตายกลับชื่นชมอย่างเหลือล้น และหลายเสียงพอใจที่ Ju-On (อันแปลว่าคำสาปอาฆาต) กลับเข้าร่องเข้ารอยอย่างที่มันควรจะเป็นสักที

แล้วที่มันไม่มีผีคายาโกะ เพราะฉบับซีรีส์ย้อนไป 12 ปีก่อนจะเกิดคดีคายาโกะ คือแทนที่จะเล่าตอนต่อเนื่อง แต่กลับสร้างตอนก่อนหน้าจะเกิดเหตุ ทั้งยังฉลาดเปิดเรื่องด้วยประโยคว่า “จูออนได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์จริง เหตุการณ์เหล่านี้กำเนิดจากบ้านหลังหนึ่ง แต่เหตุการณ์จริงนั้นน่ากลัวยิ่งกว่าหนังเรื่องไหนๆ” ประกอบกับคลิปข่าวคดีดังในปี 1988 ที่ทำให้คนดูเขวว่ามันเกิดขึ้นในบ้านหลังเดียวกันหรืออย่างไร

คดีซ้อมทรมาน 41 วันฆ่ายัดถังปูน

คดีดังปี 1988 ที่บ้านเราส่วนใหญ่น่าจะได้ฟังจากคลิปยูทูบต่างๆ ที่กอปกันมาจากฉบับการ์ตูน ซึ่งอาจผิดเพี้ยนไปบ้าง เช่น มีหลายคลิปบอกว่า ตำรวจพบถังยัดศพในแม่น้ำจึงตามจับคนร้ายได้ หรือผู้ตายเขียนบันทึกไว้ว่าแต่ละวันถูกย่ำยีอย่างไรบ้าง บ้างก็ว่าคนร้ายทารุณเธอเพราะเธอไม่รับรัก

แต่ความจริงแล้วตัวฆาตกร ฮิโรชิ มิยาโนะ กับโนบุฮิโระ มินาโตะ 2 จิ๊กโก๋ชั้นปลายแถวในแก๊งยากูซ่า เผอิญเจอจุนโกะ ฟุรุตะ ระหว่างที่เธอกำลังปั่นจักรยานกลับบ้านหลังเพิ่งเลิกจากงานพิเศษ มิยาโนะจึงสั่งให้มินาโตะไปเตะจักรยานจนล้ม ก่อนที่มิยาโนะจะทำทีอาสาไปส่งบ้าน แต่กลับลากเธอไปข่มขืนในโกดังละแวกนั้น แล้วไปซ้ำต่อในโรงแรมจิ้งหรีด ก่อนจะนัดแนะให้มินาโตะกับพวกอีก 2 คนคือ โจ คามิซากุ และยาสุชิ วาตานาเบะ ไปคอยที่สวนสาธารณะ พร้อมขู่สำทับฟุรุตะว่าถ้าไม่ไปกับพวกเขา ทั้งแก๊งยากูซ่าจะตามไปฆ่ายกครัวบ้านเธอ ซึ่งเหตุการณ์ช่วงนี้เกิดขึ้นในจังหวัดไซตามะ ก่อนที่ทั้งหมดจะพากันไปยังบ้านของมินาโตะ ที่แม้จะอยู่ในโตเกียว แต่อันที่จริงทั้งสองแห่งห่างกันเพียง 20 นาที

และแม้ในหนัง Ju-On จะเคยบอกว่า บ้านสยองต้นเรื่องนั้นอยู่ในโตเกียว แต่มันอยู่ในเขตเนริมะ ทว่าบ้านที่ฟุรุตะถูกซ้อมอย่างทารุณจนตายนั้น อยู่ในเขตอาดาจิ ซึ่งห่างกัน 18.9 กม. จึงสรุปได้ว่าไม่ใช่บ้านหลังเดียวกัน

แก๊งวัยรุ่นกลุ่มนี้ทารุณฟุรุตะต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเอาประทัด บุหรี่ หรือแม้แต่ขวดแก้ว ยัดทวารหนักและช่องคลอดเธอ ลนเทียนบนเปลือกตา จิ้มเนื้อตัวเธอด้วยเข็ม ซ้อมอย่างหนัก ปล่อยให้เธออดข้าว หมดสภาพไม่เป็นผู้เป็นคน แถมยังตามพวกอีกเป็นร้อยมารุมข่มขืนเธอทุกวี่วัน ในบ้านที่จริงๆ แล้วทั้งพ่อแม่และพี่ชายของมินาโตะก็อยู่ที่นั่นด้วย แต่ช่วยอะไรเธอไม่ได้ เพราะกลัวจะถูกยากูซ่าตามถล่ม

แถมตำรวจยังเคยแวะมาเคาะหน้าบ้าน แต่ก็ไม่กล้าเข้าไปตรวจสอบอะไร แล้วที่ตำรวจจับได้หลังจากพวกเขายัดถัง โบกปูนเธอไปแล้ว ก็เพราะระหว่างที่ฟุรุตะอยู่ในสภาพไม่เหลือความเป็นมนุษย์ เด็กชั่วแก๊งนี้ยังออกอาละวาดข่มขืนสาว 19 อีกรายหนึ่ง ซึ่งตำรวจไม่ได้ตามจับแก๊งนี้จากคดีฟุรุตะ แต่จับเพราะสาว 19 โร่ไปแจ้งตำรวจ สุดท้ายมิยาโนะเองนี่แหละที่เผลอหลุดปากออกมา ว่าเพิ่งหมกศพฟุรุตะไปในรถผสมปูน ย่านโกโต สุดท้ายศาลสั่งจำคุกแก๊งนี้ไปไม่กี่ปี เพราะขณะก่อคดีพวกเขาเพิ่งมีอายุ 15-17 ปี และตามกฎหมายญี่ปุ่น เด็กต่ำกว่า 18 จะไม่ต้องโทษสถานหนัก ซ้ำยังใจดีไม่เปิดเผยชื่อจริง และให้โอกาสคนพวกนี้คืนสู่สังคม

แต่สุดท้ายที่ชื่อและหน้าตาของพวกเขาหลุดออกมา เป็นเพราะหนังสือพิมพ์ ชูกัน โพสต์ ประกาศกร้าวว่าเดนมนุษย์พวกนี้ไม่สมควรได้รับสิทธิ์คุ้มครองขนาดนั้น จึงตีพิมพ์ข้อมูลต่างๆ หราขึ้นหน้าหนึ่ง แถมหลังพ้นคุก ทั้งสี่ก็ต่างก่อคดีอีกมากมาย เข้าๆ ออกๆ คุก และไม่เคยสำนึกผิดต่อสิ่งที่ตนทำเลย รวมถึงความโหดเหี้ยมต่างๆ ที่สังคมได้รับรู้ ไม่ได้ถูกเขียนไว้ในบันทึกของฟุรุตะ แต่มาจากการบอกเล่าอย่างไม่แคร์สื่อ ระหว่างให้การในชั้นศาล ปัจจุบันพวกเขายังอยู่ดีและมีอายุราว 50 ปี ส่วนแม่ของฟุรุตะล่าสุดอยู่ในสภาพจิตวิปลาส

เรื่องราวนี้ถูกวาดเป็นการ์ตูน 2 เรื่องคือ Shin Gendai Ryoukiden (2004) เล่มเดียวจบ โดย วาอิตะ อุซอิงะ กับ17-sai. (2004-2005) 4 เล่มจบ โดย โยจิ คามาตะ
สร้างเป็นหนังอีก 2 เรื่อง คือ Concrete-Encased High School Girl Murder Case (1995) โดยคัตสึยะ มัตสึมูระ อันเป็นแนว exploitation film หรือหนังทุนต่ำเกรดบี ที่เน้นประเด็นอื้อฉาว ขายความโหด ดิบ และฉากโป๊เปลือย กับ Concrete (2004) โดยฮิโรมุ นากามูระ

คดีโอตาคุนักฆ่าเด็กผู้หญิง

อีกคดีดังที่ปรากฏในซีรีส์ เป็นคดีจริงในช่วงปี 1988-1989 ฝีมือโอตาคุ นามว่าทสึโตมุ มิยาซากิ และที่คดีนี้เป็นที่สาปแช่ง เพราะเหยื่อทั้ง 4 เป็นเพียงเด็กหญิงที่มีอายุ 4-7 ขวบเท่านั้น โดยเขาถูกจับได้ขณะเปลื้องผ้าเด็กหญิงคนที่ 5 ในห้องน้ำสวนสาธารณะ เพื่อถ่ายภาพอนาจารเด็ก แล้วหลังจากทั้งตำรวจและสื่อบุกไปยังห้องพักของเขา ก็พบกองวิดีโอเทปที่สุมอยู่ถึง 5,763 ม้วน พร้อมหนังสือการ์ตูน และหนังแนวเชือดเลือดสาด จึงสอบสวนย้อนกลับไปพบว่า เขาคือฆาตกรที่ฆ่าเด็กผู้หญิงไปแล้วถึง 4 คน

เวลานั้นสื่อโจมตีหนักมากเรื่องความโอตาคุของเขา เพราะสิ่งที่เขาหมกมุ่นเหมือนผู้ใหญ่ไม่รู้จักโต และสังคมไม่เคยคาดมาก่อนว่า โอตาคุเนิร์ดๆ จะสามารถทำเรื่องชั่วช้าแบบนี้ได้ แต่หลังจากนั้นอีกหลายปี มีนักข่าวรายหนึ่งโพสต์ลงโซเชียลว่า ‘จริงๆ แล้วพวกนักข่าวจัดฉาก เลือกเฉพาะหนังแรงๆ ขึ้นมากองไว้ด้านบน เพื่อถ่ายข่าวพาดหัว หนังสือต่างๆ ในห้องเป็นแค่หนังสือที่ผู้ใหญ่อ่านกัน และมีวางขายทั่วไปตามร้านสะดวกซื้อ แถมตั้งวิดีโอพวกนั้นส่วนใหญ่ ก็เป็นเทปบันทึกรายการแข่งขันเบสบอล ที่มีเพียง 44 ม้วนเท่านั้น เป็นภาพอนาจารยังไม่ถึง 1% ด้วยซ้ำ’ แต่ไม่นานโพสต์นี้ก็ถูกลบไป

ไม่มีใครรู้ว่าทำไมมิยาซากิถึงทำสิ่งโหดเหี้ยมเหล่านี้ แต่เขาลงมือหลังจาก 3 เดือนที่ปู่ที่เขารักมากเสียชีวิตไป มีคำให้การว่าเขาสูดกินเถ้ากระดูกของปู่เข้าไปส่วนหนึ่งด้วย ราวกับพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ส่วนตัว หนำซ้ำยังดื่มเลือดจากเด็กคนหนึ่ง และกินข้อเท้าของเด็กอีกคนด้วย สิ่งที่เขาทำกับศพเด็กทั้งสี่คือเปลื้องผ้า แล้วลูบล้วงอนาจารเด็ก พร้อมกับช่วยตัวเอง (ไม่มีการชำเรา) และถ่ายภาพเก็บไว้ทุกขั้นตอน

กระแสสังคมพยายามเค้นหาคำตอบ มิยาซากิให้การว่าในร่างเขามีหนูสั่งให้ทำ แต่หลายคนเชื่อว่าที่เขาให้การแบบนั้นเพื่อหวังจะถูกวินิจฉัยว่าจิตป่วย จะได้ไม่ต้องถูกโทษหนัก บ้างก็วิเคราะห์ว่าเพราะเขาคลอดก่อนกำหนด ทำให้มีมือพิการเป็นปมด้อย สุดท้ายเขาถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอในปี 2008 ขณะมีอายุ 45 ปี ส่วนน้องสาวของเขาถูกตามราวีและไล่ออกจากงาน พ่อของเขาต้องขายบ้านทิ้งเอาเงินไปเยียวยาครอบครัวเหยื่อ ก่อนจะโดดสะพานฆ่าตัวตาย

Japanese Hell (1999) โดย เทรุโอะ อิชิอิ หนังคัลต์สองสาวท่องแดนนรก ที่หนึ่งในสัตว์นรกคือฆาตกรโอตาคุ

คดีฆ่าตัดหัวเด็กโยนทิ้งหน้าโรงเรียน

อีกหนึ่งคดีสุดสยองในปี 1997 เมื่อหัวของเด็กชายคนหนึ่งถูกนำไปโยนทิ้งไว้หน้าโรงเรียนประถม ในเมืองโกเบ จงใจให้ทุกคนเห็นในช่วงเช้าก่อนเข้าเรียน ในปากศพมีจดหมายท้าทายระบุว่า “นี่คือการเริ่มเกม… หยุดฉันให้ได้สิถ้าแน่จริงเจ้าพวกตำรวจโง่ ฉันอยากเห็นคนตายจะแย่อยู่แล้ว มันโคตรฟินเลยที่ได้ฆ่า ความยุติธรรมเปื้อนเลือดมันสาสมแล้วกับความขมขื่นที่ทนมาหลายปี” สิบวันต่อมาฆาตกรก็ส่งสาส์นอีกฉบับยาว 3 หน้าที่ส่วนหนึ่งว่า “พอผมได้ฆ่าก็เหมือนได้เป็นอิสระจากความเกลียดชังที่ทนมา เหมือนได้บรรลุถึงความสงบสุข การทำให้คนอื่นเจ็บมันทำให้ผมหายเจ็บ” ลงชื่อ ซากากิบาระ เซโตะ อันเป็นชื่อปลอมที่มีความหมายว่า เหล้า ปีศาจ กุหลาบ นักบุญ และการต่อสู้ แต่สื่ออ่านชื่อเขาผิดเป็นโอนาบาระ จึงมีอีกฉบับส่งมาว่า “ถ้าพวกมึงอ่านชื่อกูผิดอีก กูจะฆ่าผักปลาพวกนี้อาทิตย์ละสามตัว ถ้ามึงคิดว่ากูฆ่าเป็นแค่เด็ก มึงคิดผิดแล้ว”

อีกหนึ่งเดือนถัดมาตำรวจก็จับฆาตกรได้ และสังคมก็สั่นประสาทอีกครั้งเมื่อเขาเป็นเพียงเด็ก ม.ต้นอายุแค่ 14 ปี!

ด้วยกฎหมายคุ้มครองเยาวชนที่เวลานั้นถูกปรับลดจาก 18 ปี เหลือเพียง 16 ปี แต่เด็กคนนี้ก็ยังต่ำกว่าเกณฑ์ ศาลจึงสั่งให้สื่อเรียกเขาว่า “เด็กชาย A” สิ่งที่น่าตระหนกกว่านั้นคือเขาบันทึกไว้ด้วยว่าได้ฆ่าอะไรไปบ้าง และหนึ่งในนั้นคือเด็กหญิงวัย 10 ขวบ “16 มีนาคม วันนี้ผมลองเล่นของสูงดู จะได้รู้ว่ามนุษย์เรามันอ่อนแอแค่ไหน ผมใช้ค้อนทุบเธอไป 2-3 ครั้ง ฟินจนแทบจำไม่ได้ / 23 มีนาคม เช้านี้แม่ว่า ‘น่าสงสารแม่หนูที่โดนทุบคนนั้นจัง ตอนนี้ตายเสียแล้ว’ ดูท่าผมจะไม่โดนจับได้แล้ว ขอบคุณท่านเทพบาโมะอิโดกิชิน โปรดคุ้มครองผมต่อไปด้วยเถิด”

แล้วสังคมก็สั่นคลอนอีกครั้ง เมื่อเด็กชาย A ถูกจำคุกเพียง 7 ปี แล้วพ้นโทษด้วยวัย 21 หลังกลับสู่สังคม

Zekka หนังสือขายดีอันดับหนึ่ง

จนในปี 2015 เขาเขียนอัตตชีวประวัติที่เล่าเกี่ยวกับคดีนี้ในหนังสือชื่อ Zekka (บทเพลงแห่งความสิ้นคิด) ที่แม้จะถูกหลายฝ่ายพยายามกีดกัน สุดท้ายมันก็ได้ตีพิมพ์ แถมยังติดอันดับขายดีในเวลานั้น ทำเงินให้เขาไปหลายล้าน

หนำซ้ำยังเปิดเว็บไซต์อย่างท้าทาย โพสต์รูปเปลือยประหลาดไม่เผยโฉม ด้วยข้อความ เช่น ‘ทุกครั้งผมชักว่าวด้วยความเจ็บปวดเรื้อรัง มันเป็นมาแล้วหลายปี ผมเล่าให้จิตแพทย์ฟัง หมอบอกว่า มันเป็นสัญญาณของความรู้สึกผิดทางเพศ’ สร้างความโกรธเคืองให้สังคม จนสุดท้ายหนังสือพิมพ์เจ้าเดิม ชูกัน โพสต์ ก็เผยโฉมหน้า ที่ทำงาน และชื่อจริงของเขาออกมาว่า ‘ชินอิจิโร อาซูมิ (ปัจจุบันอายุ 37 ปี) กบดานอยู่เมืองไซตามะไม่ไกลจากโตเกียว’ หลังจากนั้นทัวร์ก็ลง ผู้คนแห่ตามไปถ่ายรูปเขาโพสต์ประจานลงเน็ต แต่หลายเสียงก็ออกมาปกป้องว่าไม่ควรกดดันเขาให้จนตรอก และเขามีสิทธิ์จะโพสต์อะไรก็ได้ตราบเท่าที่ไม่ออกไปหั่นหัวใครในโลกออฟไลน์อีก

My Friend A (2018) หนังโดยทาคาฮิสะ เซเซ ที่เอตะกลับมาเกี่ยวข้องกับคดีนี้อีกครั้ง แต่คราวนี้เขาแสดงเป็นผู้ต้องสงสัยว่า น่าจะเป็นเด็กชาย A
Still, Life Goes On (2011) ซีรีส์ที่ดัดแปลงจากคดีนี้ โดยเล่าชีวิตของครอบครัวเหยื่อและฆาตกร หลังจากเหตุสะเทือนขวัญ ที่ได้เอตะ นักแสดงหนุ่มชื่อดัง แสดงเป็นพี่ชายของเหยื่อที่ถูกฆ่า

ผู้กำกับฉบับซีรีส์ โช มิยาเกะ เป็นคนซัปโปโร ฮอกไกโด จุดนี้น่าจะไขข้อสงสัยได้ว่าทำไมเขาจึงใช้เพลงไอนุ แม้ชื่อของมิยาเกะจะไม่คุ้นหูคนดูหนังตลาด แต่เขาคือดาวรุ่งในแวดวงเทศกาลหนัง หนังเรื่องแรกของเขา คือ Yakutatazu / Good for Nothing (2010) , ก่อนจะเข้าสายประกวดในเทศกาลหนังโลคาร์โน-สวิส ด้วยหนังเรื่องต่อมา Playback (2012)ที่ทำให้เขาคว้ารางวัลผู้กำกับดาวรุ่ง จาก Japan Film Professional แล้วเขาก็หันไปกำกับสารคดีใน THE COCKPIT (2014) ที่เข้าสายประกวดในเทศกาล Cinéma du Réel-ฝรั่งเศส จากนั้นก็คว้ารางวัล Special mention จากเทศกาล Five Flavours Asian Film Festival-โปแลนด์ ด้วยเรื่อง And Your Bird Can Sing (2018) และหนังเรื่องนี้เองที่เข้าตาโปรดิวเซอร์หนังสยองมือดี ทาคาชิเงะ อิชิเสะ (The Ring, Ju-On, The Grudge เกือบทุกภาค และ Dark Water ทั้ง 2 เวอร์ชัน รวมถึง Shutter ฉบับฮอลลีวูดด้วย)

มือเขียนบทซีรีส์นี้ ฮิโรชิ ทาคาฮาชิ (Don’t Look Up ทั้งหนังฉบับญี่ปุ่นและฮอลลีวูด, The Ring หนังเกือบทุกภาค) เป็นคนแนะนำให้มิยาเกะรู้จักกับอิชิเสะด้วยเหตุผลว่า “เพราะสิ่งที่น่ากลัวที่สุด ก็คือสิ่งที่เคยเกิดขึ้นจริง หลายปีมานี้ผมทำแต่หนังจากเรื่องไม่จริงมากมาย แต่คราวนี้แทนที่ผมจะเลือกผู้กำกับหนังสยอง ผมเลือกที่จะเชื่อมือมิยาเกะ แม้เขาจะไม่เคยกำกับหนังผีมาก่อนเลยก็ตาม แต่เขาเก่งผสมเรื่องจริงในเรื่องแต่ง”

มิยาเกะเล่าว่า…

“เพราะฉบับซีรีส์นี้จะถูกฉายกว่า 190 ประเทศทาง Netflix ที่มีพื้นเพต่างกันและช่วงอายุหลากหลาย ถ้าคุณทำให้มันกลมเกินไป แฟนหนังสยองจะไม่ดูมัน แต่ถ้าคุณทำมันเครียดเกินไป คุณก็ไสหัวไปจากเกมนี้ได้เลย แต่ขอบเขตมันอยู่ตรงไหนที่จะทำให้มันออกมาพอดี”

วกกลับไปที่ ‘ไอนุ’ และ ‘ปกาเกอะญอ’ แม้สองชนเผ่าจะแตกต่างอยู่ห่างกันคนละประเทศ แต่ทั้งสองคำมีความหมายว่า “คน” มนุษย์คือหน่วยย่อยที่สุดในครอบครัว หลังจากดูซีรีส์นี้จบ หลายคนอาจมองว่า “พวกญี่ปุ่นช่างโหดแท้” แต่ย้อนกลับมาบ้านเรา คดีฆ่าข่มขืนไม่ว่าเด็กหรือผู้หญิง การอุ้มหายไม่ว่าชนกลุ่มน้อยหรือชนชั้นกลาง การซ้อมทรมานไม่ว่าจะชายแดนใต้หรือในรั้วทหาร การตายผิดปกติที่เอาผิดผู้มีอำนาจเหนือกว่าไม่เคยได้ ยังคงวนลูปเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ทั้งที่เหยื่อและผู้กระทำผิดต่างเคยรับรู้เรื่องราวทำนองนี้มาก่อน และหวังทุกครั้งว่ามันจะเป็นคดีสุดท้าย แต่ก็ยังคงเกิดขึ้นต่อๆ ไป ไม่ว่าญี่ปุ่น ไทย หรือชาติไหนๆ เหมือนซีรีส์จะบอกเราให้นึกย้อนกลับไปสำรวจว่าความโหดเหี้ยมทำนองนี้เคยเกิดขึ้นมาก่อน และจะเกิดขึ้นอีกในอนาคตข้างหน้า ลูปวนเลื่อนไหลไปตามกาล

ความสยองครั้งนี้ มิยาเกะ กำลังระบุว่า เรื่องโหดเหี้ย/มสามารถเกิดขึ้นจริงได้ในทุกบ้าน ไม่ใช่แค่บ้านหลังนั้นใน Ju-On