ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ เดินหน้าอุ้มราคาพลังงาน ช่วยผู้มีรายได้น้อย 25 ล้านครัวเรือน-มติ ครม.แจกโบนัส “บัตรคนจน” คนละ 200 บาท

นายกฯ เดินหน้าอุ้มราคาพลังงาน ช่วยผู้มีรายได้น้อย 25 ล้านครัวเรือน-มติ ครม.แจกโบนัส “บัตรคนจน” คนละ 200 บาท

27 ธันวาคม 2022


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
  • นายกฯ สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานคดีตู้ห่าวทุก 15 วัน
  • เดินหน้าอุดหนุนราคาพลังงาน ช่วยผู้มีรายได้น้อย 25 ครัวเรือน
  • มติ ครม. แจกโบนัสผู้ถือ “บัตรคนจน” คนละ 200 บาท
  • ทำประกันอุบัติเหตุให้สมาชิก กทบ.ฟรี
  • บริจาคเงินให้สถานศึกษาผ่าน e-Donation หักภาษี 2 เท่า

เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น พลเอกประยุทธ์ มอบหมายให้ นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ

สั่งมหาดไทย – เกษตร สำรวจ-เยียวยาน้ำท่วมภาคใต้ 9 จว.

นายอนุชา กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนัก-น้ำท่วมทางภาคใต้ตอนล่างตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2565 ส่งผลให้น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินสไลด์ และลมกรรโชกแรง มีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 9 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวมทั้งสิ้น 87 อำเภอ ประชาชนได้รับผลกระทบประมาณ 269,028 ครัวเรือน

โดยข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ณ วันที่ 26 ธันวาคม เวลา 18.00 น. ระบุว่ายังมีสถานการณ์น้ำท่วมใน 2 จังหวัด 3 อำเภอ ประชาชนได้รับผลกระทบ 658 ครัวเรือน คือ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง ซึ่งปัจจุบันยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำริมทะเลสาบ แต่ระดับน้ำเริ่มลดลงแล้ว และจังหวัดนราธิวาสที่อำเภอสุไหงโกลก และอำเภอตากใบ มีบ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบประมาณ 555 ครัวเรือน แต่ระดับน้ำเริ่มลดลงแล้ว

นายอนุชา กล่าวต่อว่า นายกฯ ได้ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในภาคใต้อย่างใกล้ชิด และมีข้อสั่งการให้เร่งรัดช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรฯ ได้เร่งตรวจสอบความเสียหายหลังน้ำลด เพื่อให้การช่วยเหลือเยียวยาต่อไป

จี้สอบข้อเท็จจริงเรือหลวงสุโขทัยอับปางในอ่าวไทย

นายอนุชา กล่าวต่อว่า นายกฯ แจ้งให้ที่ประชุม ครม. ทราบเพิ่มเติมประเด็นเรือหลวงสุโขทัยประสบเหตุอับปาง หลังจากที่่ได้มีข้อสั่งการไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยล่าสุดได้สั่งการให้กองทัพเรือระดมสรรพกำลังค้นหากำลังพลที่ประสบภัยอับปางในอ่าวไทย ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และให้ช่วยเหลือกำลังพลที่บาดเจ็บ เสียชีวิต หรือสูญหาย โดยให้เป็นไปตามกฎระเบียบราชการ และเร่งตรวจสอบหาสาเหตุข้อเท็จจริง

สั่งศึกษาฯสอบครูจาบจ้วงพลเอกเปรม

จากกรณีครูโรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัยที่มีพฤติกรรมจาบจ้วงบุคคลสำคัญคือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งนายกฯ มองว่าครูคนดังกล่าวได้ปลูกฝังความเชื่อเด็กนักเรียนด้วยข้อความเป็นเท็จ จนผู้ปกครองและนักเรียนหลงเชื่อที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังและขัดแย้งในสังคม จึงได้สั่งการให้กระทรวงศึกษาธิการเร่งตรวจสอบกรณีครูคนดังกล่าว

เร่งตำรวจติดตามคดี “บอส อยู่วิทยา”

นายอนุชา กล่าวต่อว่า นายกฯ รายงานให้ที่ประชุม ครม. รับทราบเพิ่มเติมว่าได้สั่งการให้สำนักตำรวจแห่งชาติ เร่งติดตามผู้ต้องหาที่อยู่ระหว่างการหลบหนี ข้อหาขับรถโดยประมาณ เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ และเร่งตรวจสอบเจ้าหน้าที่หรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งนำตัวมาดำเนินคดี

ทั้งนี้ นายกฯ ได้เคยสั่งการประเด็นดังกล่าวไปแล้ว โดยวันนี้เป็นการรายงานให้ที่ประชุม ครม. รับทราบความคืบหน้า

สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานคดีตู้ห่าวทุก 15 วัน

นายอนุชา กล่าวต่อว่า นายกฯ รายงานให้ที่ประชุม ครม. รับทราบเพิ่มเติมกรณีการตรวจและจับกุมเครือข่ายกลุ่มทุนต่างชาติที่ประกอบธุรกิจผิดกฎหมาย หรือ ที่เรียกว่ากลุ่มทุนจีนสีเทา โดยให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเร่งตรวจสอบและดำเนินคดีกับกลุ่มทุนจีนของนายชัยณัฐร์ กรณ์ชายานันท์ หรือ “ตู้ห่าว” กับคณะ ซึ่งมีพฤติกรรมการกระทำความผิดลักษณะอาชญากรรมข้ามชาติ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือเต็มกำลังความสามารถ

นายอนุชา รายงานว่า นายกฯ สั่งการให้หน่วยงานที่ได้รับมอบหมายรายงานผลความคืบหน้าและอุปสรรคให้นายกฯ ทราบทุก 15 วัน

ทั้งนี้ นายกฯ ได้เคยสั่งการประเด็นดังกล่าวไปแล้ว โดยวันนี้เป็นการรายงานให้ที่ประชุม ครม. รับทราบความคืบหน้า

วอน ส.ส.เข้าประชุมสภาฯพิจารณาร่าง กม. 5 ฉบับ พรุ่งนี้

นายอนุชา กล่าวต่อว่า นายกฯ ขอความร่วมมือจากหัวหน้าพรรคการเมืองในการให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในสังกัดแต่ละพรรคเข้าร่วมประชุมสภาโดยพร้อมเพรียงกัน เนื่องจากในวันพุธที่ 28 ธันวาคม 2565 จะมีประเด็นสำคัญคือการพิจารณากฎหมายที่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้พิจารณาการแก้ไขทั้งสิ้น 5 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.สถาปนิก, ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน, การแก้ไขเพิ่มเติม ร่างพ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย, การแก้ไขเพิ่มเติม ร่าง พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และการแก้ไขเพิ่มเติม ร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ “กยศ.”

“นายกฯ อยากให้หัวหน้าพรรคให้สมาชิกเข้าร่วมการประชุมโดยพร้อมเพรียง เพื่อให้กฎหมายทั้ง 5 ฉบับได้รับการพิจารณาอย่างต่อเนื่อง” นายอนุชา กล่าว

เดินหน้าอุดหนุนราคาพลังงาน ช่วยผู้มีรายได้น้อย 25 ล้านครัวเรือน

นายอนุชา กล่าวต่อว่า “นายกฯ ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาราคาพลังงาน ไม่ว่าจะเป็น ค่าแก๊ส หรือไฟฟ้า ปัจจุบันรัฐบาลได้ใช้งบประมาณจำนวนพอสมควร และมีตัวเลขค่อนข้างสูงระดับหนึ่ง แต่ก็ยังจะให้มีการดูแลอย่างต่อเนื่องต่อไป โดยสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือ เพื่อจะมีมาตรการเพิ่มเติม โดยเพิ่มความช่วยเหลือครัวเรือนที่มีรายได้น้อย โดยประเมินที่ 25 ล้านครัวเรือน ที่สำคัญให้ทุกฝ่ายช่วยกันรณรงค์ใช้พลังงานอย่างประหยัด เพื่อช่วยลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ”

มติ ครม. มีดังนี้

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกฯ, ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกฯ และนางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล (ซ้ายไปขวา)
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

แจกโบนัสผู้ถือ “บัตรคนจน” คนละ 200 บาท

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าวันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเงินพิเศษแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประจำเดือนมกราคม 2566 โดยอนุมัติงบกลาง 2,644 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาภาระค่าครองชีพให้แก่ผู้มีบัตรฯ จำนวน 13.2 ล้านคน (ข้อมูล ณ เดือน ธันวาคม 2565) โดยเป็นการเพิ่มวงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอีก 200 บาท/คน เป็นระยะเวลา 1 เดือน ประจำเดือนมกราคม 2566 โดย (1) ผู้มีบัตรฯ ที่เคยได้รับวงเงิน 200 บาท/คน/เดือน (จำนวน 3.54 ล้านคน) จะได้รับเพิ่มอีก 200 บาท รวมเป็น 400 บาท/คน/เดือน (2) ผู้มีบัตรฯ ที่เคยได้รับวงเงิน 300 บาท/คน/เดือน (จำนวน 9.68 ล้านคน) จะได้รับเพิ่มอีก 200 บาท รวมเป็น 500 บาท/คน/เดือน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แม้ปัจจุบันสถานการณ์ความรุนแรงของโรคโควิด-19 ในหลายประเทศได้คลี่คลาย แต่สถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความผันผวน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังอยู่ในระดับสูง รวมทั้งราคาพลังงานที่ยังคงมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภคสูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐลดลง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางด้านรายได้ ทรัพย์สินและหนี้สิน ถึงแม้มีรายได้เพิ่มขึ้นแต่ไม่เพียงพอต่อรายจ่ายที่เพิ่มสูง ซึ่งมาตรการช่วยเหลือพิเศษนี้เป็นของขวัญปีใหม่ 2566 จากรัฐบาล ซึ่งจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อสินค้าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษา และวัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรม จากร้านธงฟ้า ราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและร้านอื่นๆ ตามที่กระทรวงพาณิชน์กำหนด

เห็นชอบกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อปีหน้า 1-3%

นายอนุชา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2567-2570) โดยมีเป้าหมายเน้นการปรับลดขนาดการขาดดุล เพื่อมุ่งสู่การจัดงบประมาณสมดุลในระยะเวลาที่เหมาะสม โดยจะปรับลดขนาดการขาดดุลให้เหลือไม่เกินร้อยละ 3.0 ของ GDP ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567 และจะปรับลดขนาดการขาดดุลลงอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ยังเห็นชอบกำหนดเป้าหมายนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลางและเป้าหมายในปี 2566 โดยกำหนดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงร้อยละ 1-3 ซึ่งยังมีความเหมาะสม เนื่องจากการกำหนดเป้าหมายแบบช่วงที่มีกว้างร้อยละ 2 ทำให้มีความยืดหยุ่นเพียงพอรองรับความผันผวนของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในระยะปานกลางรวมถึงจะช่วยเอื้อให้การดำเนินนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาในระยะปานกลางสามารถดำเนินการควบคู่ไปกับการดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนและรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน

สำหรับ แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2567-2570) สาระสำคัญ สรุปดังนี้

1. สถานะและประมาณการเศรษฐกิจ

ปี 2567 คาดว่า GDP ขยายตัวร้อยละ 3.3 – 4.3 อัตราเงินเฟ้อร้อยละ 1.0- 2.0 โดยในปี 2568 -2570 มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สำหรับปี 2568 และปี 2569 GDP คาดขยายตัวร้อยละ 2.9 – 3.9 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ ปี 2568 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 1.2-2.2 และในปี 2569 อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 1.3-2.3 และในปี 2570 คาดว่า GDP ขยายตัวร้อยละ 2.8-3.8 และอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 1.4-2.4 โดยมีแรงสนับสนุนสำคัญจากการขยายตัวดีขึ้นของการลงทุนในประเทศ สอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก การขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนและการฟื้นตัวภาคการท่องเที่ยว

2. สถานะและประมาณการการคลัง

2.1 ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิปี 2566-2570 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2566 คาดรายได้รัฐบาลจำนวน 2.490 ล้านล้านบาท ปี 2567 ประมาณการรายได้จำนวน 2.757 ล้านล้านบาท ปี 2568 ประมาณการรายได้จำนวน 2.867 ล้านล้านบาท ปี 2569 ประมาณการรายได้จำนวน 2.953 ล้านล้านบาท และปี 2570 ประมาณการรายได้จำนวน 3.041 ล้านล้านบาท โดยการจัดเก็บรายได้ในระยะปานกลาง จะฟื้นตัวตามการบริโภคและการลงทุนในประเทศ รายได้จากภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ตลอดจนการท่องเที่ยวหลังการผ่อนคลายข้อจำกัดในการเดินทาง

2.2 ประมาณการงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2567-2570 ปรับเพิ่มขึ้น โดยมีสมมติฐานที่สำคัญ เช่นการกำหนดการจ่ายคืนต้นเงินกู้ให้มีสัดส่วนร้อยละ 2.5 -4.0 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อบริหารจัดการหนี้สาธารณะให้เกิดความยั่งยืนทางการคลัง และเหมาะสมกับกำลังเงินของประเทศ กำหนดสัดส่วนงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นอยู่ที่ร้อยละ 2.0-3.5 ของวงเงินงบประมาณ ควบคุมการใช้จ่ายบุคลากรให้มีอัตราเพิ่มโดยเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 4.0 โดยใช้มาตรการในการกำหนดให้หน่วยรับงบประมาณนำเงินรายได้มาสมบทค่าใช้จ่ายเป็นต้น โดยในปี 2566 งบประมาณรายจ่ายจำนวน 3.185 ล้านล้าบาท ปี 2567 งบประมาณรายจ่ายจำนวน 3.350 ล้านล้าบาท ปี 2568 งบประมาณรายจ่ายจำนวน 3.457 ล้านล้าบาท ปี 2569 งบประมาณรายจ่ายจำนวน 3.568 ล้านล้าบาท และ ปี 2570 งบประมาณรายจ่ายจำนวน 3.682 ล้านล้านบาท

2.3 ดุลการคลัง ในปีงบประมาณ 2567-2570 ยังคงเป็นงบประมาณขาดดุล

2.4 ประมาณการหนี้สาธารณะต่อ GDP สำหรับปีงบประมาณ 2567-2570 ยังคงอยู่ภายใต้กรอบพ.ร.บ. ระเบียบวินัยการเงินการคลัง โดยปี 2566 ร้อยละ 60.64 ปี 2567 ร้อยละ 61.35 ปี 2568 ร้อยละ 61.78 ปี 2569 ร้อยละ 61.69 ปี 2570 ร้อยละ 61.25

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้กล่าวการกำหนดแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2567-2570) ได้ยึดหลัก “Sound Strong Sustained” เน้นการดำเนินนโยบายการคลังที่สมเหตุสมผล สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริง เสริมสร้าง ความเข้มแข็งทางการคลังในทุกด้าน ทั้งการฟื้นฟูการจัดเก็บรายได้ การจัดสรรงบฯ รายจ่าย และการบริหารจัดการหนี้สาธารณะ เพื่อบริหารจัดการพื้นที่ทางการคลัง ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม รองรับการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล ภาคการคลังที่ยั่งยืนและมีศักยภาพในการรองรับความเสี่ยงที่ประเทศอาจต้องเผชิญอีกในอนาคต และหากภาวะเศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งจะเป็นแนวทางเพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้ประกอบการพิจารณาในการจัดเก็บหรือหารายได้ การจัดทพงบฯ และการก่อหนี้ของหน่วยงานของรัฐตามพ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ พ.ศ. 2561 ต่อไป

ทำประกันอุบัติเหตุให้สมาชิก กทบ.ฟรี

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม. รับทราบของขวัญปีใหม่ 2566 จากกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแก่สมาชิกกว่า 13 ล้านคน ซึ่งเป็นการมอบประกันภัยอุบัติเหตุแบบกลุ่ม ระยะสั้น (ไมโครอินชัวรันส์) คุ้มครองสูงสุด 100,000 บาท ให้กับสมาชิกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองทั่วประเทศ โดยสามารถลงทะเบียนรับสิทธิ์ได้ฟรี ตั้งแต่วันนี้ – 31 ธันวาคม 2565 ระยะเวลาประกัน 30 วัน นับจากวันที่ลงทะเบียนรับสิทธิ์ ทั้งนี้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร.1736

ขยายเวลามาตรการภาษีลดโลกร้อน

ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา รวม 2 ฉบับ ซึ่งเป็นการขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม ดังนี้

ฉบับแรก ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่…) พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเป็นขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ (T-VER) โดยยกเว้นภาษีให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับกำไรสุทธิที่เกิดจากการจำหน่ายคาร์บอนเครดิตในประเทศ ตามโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจที่ได้ขึ้นทะเบียนกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2570 (จากเดิมที่สิ้นสุดไปแล้วเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563) เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนดำเนินโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มีจำนวนมากขึ้น นำไปสู่การลงทุน การใช้จ่าย และการนำรายได้เข้าประเทศ และส่งเสริมการพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย อันเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยต้นทุนต่ำให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ

มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจนี้ คาดว่าจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้รวม 210 ล้านบาท แต่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2608 (ค.ศ. 2065) ได้สำเร็จ

ฉบับที่ 2 ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเป็นขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการดำเนินโครงการภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อน ที่บริจาคผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพากร โดย 1)ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้เท่าจำนวนเงินที่บริจาคให้แก่โครงการภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะและเพื่อการสาธารณประโยชน์แล้วต้องไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ 2)เพิ่มเติมการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดา (จากเดิมที่ไม่ให้สิทธิบุคคลธรรมดา) โดยยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้พึ่งประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนการบริจาคเงินให้แก่กรมป่าไม้ เพื่อสนับสนุนโครงการภาคสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อนของ ทส. เท่าจำนวนเงินที่บริจาค แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนอื่นๆ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2570 (จากเดิมที่สิ้นสุด 31 ธันวาคม 2565) เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจและประชาชนมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการดำเนินโครงการภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อนให้มีจำนวนมากขึ้น เป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ

มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการดำเนินโครงการภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อนนี้ คาดว่าจะปีป่าชุมชนได้รับการสนับสนุน 10,246 แห่ง ทำให้รัฐสูญเสียรายได้รวม 184 ล้านบาท แต่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการส่งเสริมให้ประชาชนและภาคธุรกิจมีส่วนร่วมในการสนับสนุนป่าชุมชน อันเป็นการเพิ่มศักยภาพการดำเนินงานของป่าชุมชนในการดูดซับก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนอย่างยั่งยืน

ผ่านแผนกำกับกิจการพลังงาน 5 ปี วงเงิน 5,286 ล้าน

ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบแผนปฏิบัติการการกำกับกิจการพลังงาน ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) และแผนการดำเนินงานงบประมาณรายจ่ายและประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

แผนปฏิบัติการการกำกับกิจการพลังงาน ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) กรอบวงเงิน 5,286 ล้านบาท เป็นแผนต่อเนื่องจากแผนฉบับเดิม ที่จะสิ้นสุดในปี 2565 โดยเป็นกรอบการดำเนินงานของสำนักงาน กกพ. ในระยะ 5 ปีข้างหน้า ประกอบด้วย 5 วัตถุประสงค์หลัก อาทิ 1. ส่งเสริมให้มีบริการด้านพลังงานอย่างเพียงพอ มีความมั่นคง ทั่วถึง และมีความเป็นธรรมต่อผู้ใช้พลังงานและผู้รับใบอนุญาต 2. ส่งเสริมการแข่งขันในกิจการพลังงาน อย่างเป็นธรรมในอัตราค่าบริการที่เหมาะสมสะท้อนต้นทุนการประกอบกิจการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ และ 3. ปกป้องสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้พลังงาน ชุมชนท้องถิ่น ประชาชน และผู้รับใบอนุญาต ในการมีส่วนร่วม เข้าถึง ใช้ และจัดการ ด้านพลังงานภายใต้หลักเกณฑ์ที่ให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

สำหรับแผนการดำเนินงานงบประมาณรายจ่าย และประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของสำนักงาน กกพ. มีแผนงานและโครงการ อาทิ 1.สนับสนุนโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ทั้งแบบที่เชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า (On – Grid) และในพื้นที่ห่างไกลระบบส่งไฟฟ้า (Off – Grid) ผ่าน กองทุนพัฒนาไฟฟ้า 2. ศึกษาและจัดทำแบบจำลองการพยากรณ์ ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ และระบบฐานข้อมูลปริมาณความต้องการใช้และปริมาณการจัดหาก๊าซธรรมชาติ 3. สรุปผลการดำเนินโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (ERC Sandbox) ระยะที่ 2 4. ปรับปรุงมาตรฐานวิศวกรรมความปลอดภัยกิจการก๊าซธรรมชาติ และปรับปรุงมาตรฐานคุณภาพการให้บริการ 5. พัฒนาระบบการบริหารกองทุนพัฒนาไฟฟ้าด้วยระบบดิจิทัล สำหรับประมาณการรายจ่าย คาดว่าจะมีรายจ่าย จำนวน 1,000.25 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่าย เช่น บุคลากร การจัดการบริหารสำนักงาน งบลงทุน เป็นต้น ส่วนประมาณการรายได้ คาดว่า จะจัดเก็บรายได้ จำนวน 1,000.81 ล้านบาท โดยมาจากค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการพลังงาน และรายได้อื่นๆ เช่น ดอกเบี้ยเงินฝาก

ดร.รัชดา กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมเห็นควรให้สำนักงาน กกพ. ให้ความสำคัญกับการจัดทำฐานข้อมูล แบบจำลองพยากรณ์ รวมทั้งพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการกำกับกิจการพลังงานรูปแบบใหม่ให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ พร้อมทั้งควรติดตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงตลาดพลังงานอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถกำกับกิจการพลังงานของประเทศให้สอดรับการกับเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เห็นชอบแผนพัฒนากัญชงสู่เชิงพาณิชย์

นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) ครั้งที่ 1/2565 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมติที่ประชุมฯ รวมทั้งรับทราบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566 – 2570) และ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงสู่เชิงพาณิชย์ (พ.ศ. 2566 – 2570) และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1. (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะฯ เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตอุปกรณ์และระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในอาเซียน และมีเทคโนโลยีเป็นของตนเองภายในปี 2570 ประกอบด้วย 3 มาตรการหลัก ได้แก่ (1) ยกระดับศักยภาพการแข่งขันอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เดิมโดยดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำและยกระดับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เดิมไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง (2) กระตุ้นอุปสงค์เพื่อสร้างตลาดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในประเทศ และ (3) สร้างและพัฒนาระบบนิเวศสำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โดยพัฒนาระบบและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โดยให้ปรับกรอบระยะเวลาเป็น พ.ศ. 2566 – 2570

2. (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงฯ เพื่อให้ไทย เป็นศูนย์กลางพืชกัญชงเชิงอุตสาหกรรมแห่งอาเซียนภายใน 5 ปี ประกอบด้วย 4 มาตรการหลัก ได้แก่ (1) สนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ ตลอดห่วงโซ่กัญชง โดยต่อยอดการผลิตเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรมผ่านการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีและการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงงานวิจัย สู่ภาคอุตสาหกรรม (2) ส่งเสริมการผลิตและแปรรูปเชิงพาณิชย์ โดยยกระดับ ขีดความสามารถของผู้ประกอบการและส่งเสริมการยกระดับผลิตภัณฑ์ ให้ได้มาตรฐานสากล (3) ส่งเสริมด้านการตลาด โดยสร้างโอกาสทางธุรกิจ ทั้งในประเทศและต่างประเทศผ่านช่องทางที่เหมาะสม และ (4) สร้างปัจจัยสนับสนุน ให้เอื้อต่อการประกอบการ โดยลดปัญหาอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ

ในส่วนการส่งเสริมและแก้ไขปัญหาอุปสรรคเพื่อพัฒนาภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน มีแนวทางดำเนินงาน ได้แก่ (1) จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) โดยได้กำหนดเป้าหมายพื้นที่ที่จะพัฒนาเข้าสู่ การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ รวม 54 พื้นที่ 39 จังหวัด ในปี 2570 และ (2) จัดตั้งกองทุนอุตสาหกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย โดยมีวัตถุประสงค์ เช่น ฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนที่เกิดจากการประกอบกิจการโรงงาน เยียวยาผู้ได้รับความเสียหายหรือความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการโรงงาน และช่วยเหลือและอุดหนุนกิจการที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม

นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีมติมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาดำเนินงานร่วมกัน โดยที่ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะฯ มีการดำเนินการ เช่น ปรับสิทธิประโยชน์สำหรับนักลงทุนที่มีเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงในอุตสาหกรรมเป้าหมาย สร้างกลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยี ให้สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ลงทุนด้านอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ส่งเสริมให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะสามารถขึ้นบัญชีนวัตกรรมได้ และสนับสนุนการประยุกต์ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในภาคการเกษตร โดยคำนึงถึงความยั่งยืนในการส่งเสริมให้เกษตรกรผลิต และแปรรูปสินค้าเกษตรเชิงพาณิชย์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคอุตสาหกรรม และให้ความสำคัญกับการพัฒนาและเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานอย่างครบวงจรเพื่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในชุมชนทั้งในภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ เพื่อให้เกิดการสร้างอาชีพและกระจายรายได้แก่ชุมชนและนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและประชาชน รวมทั้งลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

บริจาคเงินให้สถานศึกษาผ่าน e-Donation หักภาษี 2 เท่า

นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการศึกษา) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

การมีมาตราการนี้จะสามารถช่วยได้ดังนี้

1. เป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้สถานศึกษาจะได้รับบริจาคจากภาคเอกชนตามมาตรการภาษีดังกล่าวปีละประมาณ 10,000 ล้านบาท ได้

2. เป็นการช่วยลดภาระการจัดสรรงบประมาณของรัฐในด้านการศึกษาของประเทศได้อีกทางหนึ่ง

3. สร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

ร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้จะทำให้บุคคลธรรมดาสามารถนำเงินมาหักเป็นค่าลดหย่อนได้ 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาค แต่จะไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อนอื่นๆ

ส่วนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถนำเงิน หรือ ทรัพย์สินมาหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายที่บริจาคแต่จะไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬา

โดยมีช่องทางบริจาคจะต้องเป็นระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e – Donation) ของกรมสรรพากร ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567

ส่วนสถานศึกษา 5 ประเภท ที่จะบริจาคเพื่อการลดหย่อนได้มีดังนี้
1.สถานศึกษาของรัฐ
2.โรงเรียนเอกชนแต่ไม่รวมถึงโรงเรียนนอกระบบ
3.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน
4.สถานศึกษาที่ตั้งขึ้นในประเทศไทยตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ เช่น สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และ
5.สถาบันอุดมศึกษาซึ่งคณะกรรมการพัฒนาการจัดการศึกษาโดยสถาบันการศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ (คพอต.) อนุมัติโดยความเห็นชอบของ ครม. เช่น มหาวิทยาลัย CMKL มหาวิทยาลัยอมตะ

ซึ่งบริจาคได้ทั้ง 5 ประเภท โดยไม่จำเป็นต้องเป็นโครงการที่กระทรวงศึกษาให้ความเห็นชอบ” นางสาวทิพานัน กล่าว

โดยร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้จะเป็นการขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อสนับสนุนการศึกษาตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 713) พ.ศ. 2563 และเพิ่มเติมประเภทของสถานศึกษาให้ครบถ้วนและไม่เกิดความซ้ำซ้อนทางกฎหมาย และให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 420) พ.ศ. 2547 และ (ฉบับที่ 655) พ.ศ. 2561

นางสาวทิพานัน กล่าวว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มุ่งมั่นออกกฎหมายเพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมสนับสนุนการศึกษาของประเทศอย่างต่อเนื่อง ประโยชน์ทางตรงคือจะทำให้สถานศึกษาสามารถนำเงินส่วนนี้พัฒนาศักยภาพของผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและเด็กและเยาวชนไทยมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมมากขึ้น ส่วนประโยชน์ทางอ้อมคือเป็นการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทสและเป็นการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมให้ประชาชนทั่วประเทศ

ขยายเวลาสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย เฟส 2 ไปอีก 3 ปี

นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอการปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย โดยขยายระยะเวลาดำเนินโครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทยออกไปอีก 3 ปี จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 เป็นสิ้นสุดวันที่ 30 พฤศจิกายน 2568 และปรับชื่อโครงการจาก โครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย เป็นโครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย ระยะที่ 2 เพื่อให้เป็นกลไกขับเคลื่อนการสนับสนุนสินเชื่อในการปฏิรูปภาคการเกษตร การสร้างกิจกรรมและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ เกิดการจ้างงานในชุมชนอย่างต่อเนื่อง และยกระดับคุณภาพการผลิตสินค้าเกษตรในห่วงโซ่มูลค่าเพิ่มให้ได้มาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาด รวมทั้งทำให้เกิดความยั่งยืนตามแนวทาง BCG Model

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทั้งนี้ได้เพิ่มเติมกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ เกษตรกร บุคคลทั่วไป ลูกค้า Smart Farmer (คือเกษตรกรที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและระบบดิจิทัล นวัตกรรม รวมถึงข้อมูลหรือแนวคิดทางธุรกิจแบบใหม่เพื่อผลักดันประสิทธิภาพการผลิตให้ได้มากที่สุดภายใต้งบประมาณที่เหมาะสมที่สุด) ชุมชนที่อยู่ระหว่างกระบวนการพัฒนาของ ธ.ก.ส. และกลุ่มผู้ใช้น้ำที่พัฒนาเป็นกลุ่มผู้ผลิตตามโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรอย่างยั่งยืนภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ประกอบกับได้ขยายวัตถุประสงค์ให้สอดคล้องกับการดำเนินโครงการในการปฏิรูปภาคการเกษตร สร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่หรือต่อยอดธุรกิจชุมชนเดิม โดยการปรับเปลี่ยนพัฒนาการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมหรือดำเนินการตามแนวทาง BCG Model ภายใต้หลักการพัฒนาที่ยั่งยืนและหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หรือโครงการพัฒนาการบริหารจัดการแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรอย่างยั่งยืนภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเป็นกลไกการขับเคลื่อนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพการผลิต รองรับการแข่งขัน การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี สังคมเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

นางสาวทิพานัน กล่าวว่า โครงการนี้จะเป็นสินเชื่อเพื่อเป็นค่าลงทุนในการดำเนินกิจการและเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนในการดำเนินกิจการที่มีอัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 0.01 ต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี หลังจากนั้นจะคิดอัตราดอกเบี้ยตามเกณฑ์ปกติของธนาคาร ซึ่งโครงการเดิมที่สิ้นสุดไปแล้วมีผู้ได้ประโยชน์จากการขอสินเชื่อ 5,155 กลุ่ม/ราย สำหรับสินเชื่อทั้งหมด 22,933.22 ล้านบาท ทำให้ยังเหลือวงเงินสินเชื่ออีกประมาณ 27,066.78 ล้านบาท จากวงเงินเต็ม 50,000 ล้านบาท

“รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มุ่งมั่นโครงการนี้ให้มีความต่อเนื่องเพื่อให้มีทุนหมุนเวียนแก่เกษตรกร ทำให้เกิดการปฏิรูปภาคการเกษตร สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้ชุมชน แบะเกิดกิจกรรมและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เกิดการจ้างงานในชุมชน รวมถึงสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนทุกท้องถิ่นทั่วไทย ดังนั้นที่ประชุม ครม. ยังเห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญกับการประเมินผลเพื่อหารูปแบบการดำเนินธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ และทำการขยายผลเพื่อสนับสนุนให้การปรับโครงสร้างการผลิตและบริการภาคการเกษตรของไทยไปสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรมและการเปลี่ยนผ่านการผลิตและการบริโภคไปสู่ความยั่งยืนต่อไป” นางสาวทิพานัน กล่าว

ประกาศลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวยั่งยืน

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบการประกาศพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ตามที่องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เสนอ พร้อมกับเห็นชอบให้หน่วยงานเกี่ยวข้องนำแผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษฯ ไปสู่การวางแผนบริหารจัดการตามแผนงาน และให้สำนักงบประมาณพิจารณาสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสม เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการตั้งสำนักงาน อัตราเงินเดือนบุคลาการ เพื่อเป็นหน่วยงานบริหารจัดการพื้นที่พิเศษฯ ให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้ต่อไป

ปัจจุบันพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลามีเนื้อที่รวมประมาณ 3,470,788 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดสงขลา 8 อำเภอ ได้แก่ อ.ระโนด, อ.สะทิงพระ, อ.กระแสสินธุ์, อ.สิงหนคร, อ.เมืองสงขลา, อ.ควนเนียง, อ.บางกล่ำ และอ.หาดใหญ่ จังหวัดพัทลุง 5 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองพัทลุง อ.ปากพะยูน อ.บางแก้ว อ.เขาชัยสน และอ.ควนขนุน จังหวัดนครศรีธรรมราช 2 อำเภอ ได้แก่ อ.ชะอวด อ.หัวไทร

ทั้งนี้ ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเป็นพื้นที่ศักยภาพสูง ทั้งในด้านคุณค่าและความโดดเด่นของทรัพยากรท่องเที่ยว และคุณค่าทางธรรมชาติ เนื่องจากเป็นลุ่มน้ำแห่งเดียวของประเทศไทยที่เป็นทะเลสาบแบบลากูน (lagoon)ขนาดใหญ่ ที่ทั่วโลกมีอยู่ 117 แห่งของโลก มีความโดดเด่นด้วยการเป็นทะเลสาบที่ได้รับทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม ทำให้ความเค็มในทะเลสาบเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จึงมีการเรียกขานกันว่า “ทะเลสาบสามน้ำ” และยังเป็นพื้นที่เทือกเขาที่ปกคลุมด้วยป่าไม้ แหล่งต้นน้ำลำธารของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา นอกจากนี้ ยังมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ มีการกล่าวถึงในทางประวัติศาสตร์มาเป็นเวลาหลายร้อยปี และคุณค่าทางวัฒนธรรม ด้วยมรดกทางวัฒนธรรมทั้งโบราณสถาน โบราณวัตถุ วิถีชีวิตที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน

ขณะเดียวกัน พื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลายังมีโอกาสในการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญเนื่องจากอยู่ในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT:Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle) ซึ่งมีการให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยว รัฐบาลให้การส่งเสริมด้านโลจิสติกส์เชื่อมโยงในกลุ่มจังหวัดและอาเซียน รวมถึงเชื่อมโยงกับระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า การประกาศเป็นพื้นที่พิเศษฯ นี้ จะนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาให้เกิดความยั่งยืนด้วยหลักวิชาการ เนื่องจากมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์บริหารการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งจะทำให้หน่วยงานและภาคีที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทำงานไปในทิศทางเดียวกัน มีการขับเคลื่อนที่ต่อเนื่องลดความซ้ำซ้อนของการใช้งบประมาณ เป็นกลไกการบริหารและพัฒนาพื้นที่อย่างบูรณาการด้วยการมีองค์กรกลางที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ ประสานงานกับท้องถิ่น และมีส่วนร่วมจากชุมชน

คาซัคสถานการเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงเป็น “กรุงอัสตานา”

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบการเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงของสาธารณรัฐคาซัคสถาน จากกรุงนูร์-ซุลตัน (Nur-Sultan) เป็นกรุงอัสตานา (Astana) และรับทราบการดำเนินการของกระทรวงการต่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเปลี่ยนชื่อสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนูร์-ซุลตัน เป็นสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอัสตานา เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงต่อไป

สำหรับความเป็นมาของเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 63 ครม. เคยได้รับทราบการเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงของสาธารณรัฐคาซัคสถานจาก กรุงอัสตานา เป็นกรุงนูร์-ซุลตัน และกระทรวงการต่างประเทศก็ได้ดำเนินการเปลี่ยนชื่อสถานเอกอัครราชทูตไทยให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 65 ที่ผ่านมา สาธารณรัฐคาซัคสถานได้มีการลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปฏิรูปประเทศให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น โดยประชาชนคาซัคสถานมีความประสงค์ให้เปลี่ยนชื่อเมืองหลวงจากกรุงนูร์-ซุลตัน กลับไปเป็นกรุงอัสตานา ดังเดิม ซึ่งประธานาธิบดีคาซัคสถานมีดำริว่า เฉพาะชื่อเมืองหลวงเท่านั้นที่จะมีการกลับไปเป็นกรุงอัสตานา แต่ชื่อสถานที่อื่นๆ ที่ตั้งตามชื่อนายนูร์สุลต่าน นาซาร์บาเยฟ อดีตประธานาธิบดี คนที่1 จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากเป็นผู้มีคุณูปการในการสร้างคาซัคสถานและเมืองหลวงของประเทศ

จากนั้น ได้มีการส่งคำร้องไปยังสภารัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐคาซัคสถาน เพื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นดังกล่าว ซึ่งสภารัฐธรรมนูญได้เห็นชอบคำร้องของเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงกลับไปเป็นกรุงอัสตานา และเมื่อวันที่ 17 ก.ย. 65 ประธานาธิบดีคาซัคสถานได้ลงนามในกฤษฎีกาเปลี่ยนชื่อเมืองหลวง รวมทั้งมีหนังสือแจ้งคณะทูตทุกประเทศ ณ สาธารณรัฐคาซัคสถานทราบ รวมถึงสถานเอกอัครราชทูตไทยเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ยกเว้นภาษีดอกเบี้ยรับให้ สสว.หนุนปล่อยกู้ SMEs

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่…) พ.ศ…. ซึ่งมีผลเป็นการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่กิจการของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สำหรับดอกเบี้ยรับที่เกิดจากการให้กู้ยืมตามโครงการสนับสนุนเอสเอ็มอีรายย่อย ผ่านกองทุน สสว. โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 63 ซึ่งเป็นวันที่โครงการเริ่มมีดอกเบี้ยรับ

สำหรับโครงการสนับสนุนสินเชื่อเอสเอ็มอีรายย่อย ผ่านกองทุน สสว. นี้ได้รับอนุมัติจาก ครม. เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2562 มีวงเงินสินเชื่อตามโครงการทั้งสิ้น 10,000 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ที่มีศักยภาพแต่ขาดสภาพคล่อง รวมถึงกลุ่มที่เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) แต่ปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้ว ให้สามารถเข้าถึงเงินทุนเพื่อเพิ่มสภาพคล่องในการขยายกิจการ ปรับปรุง ซ่อมแซม ยกระดับการพัฒนามาตรฐานการให้บริการ และพัฒนาศักยภาพของเอสเอ็มอี

ทั้งนี้ ตามโครงการนี้มีระยะเวลาการให้เงินกู้ 7 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี มีการเบิกจ่ายเงินกู้เสร็จสิ้นตั้งแต่เดือนก.ย. 64 มีผู้กู้ยืมตามวงเงินทั้งสิ้น 3,197 ราย รวมวงเงิน 3,944.55 ล้านบาท โดยเริ่มเกิดดอกเบี้ยรับจากการให้กู้ยืมตั้งแต่ ก.ย. 63 เป็นต้นไป ซึ่งคาดว่าจะมีดอกเบี้ยที่นำส่งเข้ากองทุน สสว. จนถึงสิ้นสุดโครงการในปี 2570 รวม 118.84 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ตามกฎหมายแล้ว การดำเนินการให้กู้ตามโครงการดังกล่าวของ สสว. เข้าเกณฑ์การประกอบกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ ซึ่งต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจากดอกเบี้ยรับในอัตราร้อยละ 3 (ร้อยละ 3.3 เมื่อรวมภาษีท้องถิ่น) ดังนั้น เพื่อเป็นการสนับสนุน สสว. เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กระทรวงการคลังจึงเห็นควรให้มีการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่การดำเนินการของ สสว. เฉพาะการให้กู้ยืมเงินตามโครงการนี้ จึงได้ตราเป็น พรฎ.ข้างต้น

รับทราบแนวทางดูแลสุขภาพแรงงานต่างชาติ -เด็ก-เยาวชนไร้สัญชาติ

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วยการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มแรงงานข้ามชาติ และ ประเด็นว่าด้วยการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพของกลุ่มเด็กและเยาวชนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ตามที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาต (คสช.) เสนอ

ทั้งนี้ ครม. ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม สำนักงานสภาความั่นคงแห่งชาติ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หน่วยงานท้องถิ่น รับมติสมัชาสุขภาพเฉพาะประเด็นดังกล่าวไปพิจารณาเพื่อดำเนินการตามภาระหน้าที่เกี่ยวข้องต่อไป

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า มติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วยการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เป็นแนวทางเพื่อให้แรงงานข้ามชาติได้รับความคุ้มครองสิทธิด้านสุขภาพ มีหลักประกันการเข้าถึงบริการที่เป็นธรรม โดยเรื่องนี้มีความจำเป็นต้องมีแนวทางในระดับนโยบายเนื่องจากประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติมากที่สุดในอาเซียน แต่ปัจจุบันยังแต่ยังขาดการบูรณาการประเด็นแรงงานข้ามชาติในแผนพัฒนาประเทศ มาตรการว่าด้วยแรงงานข้ามชาติยังมีลักษณะชั่วคราวและเน้นการควบคุมการเคลื่อนย้าย มากกว่าบูรณาการเข้ากับตลาดแรงงานและระบบประกันสุขภาพ จนเกิดความลักลั่นเข้าไม่ถึงสิทธิด้านสุขภาพ

โดย คสช. เห็นว่าแนวทางที่จะสนับสนุนให้แรงงานข้ามชาติได้รับการคุ้มครองสิทธิด้านสุขภาพนั้น ต้องดำเนินการในส่วนต่างๆ อาทิ บูรณาการแรงงานข้ามชาติเข้าสู่การพัฒนาประเทศ พัฒนายุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาประเทศ รวมถึงการพัฒนากฎหมายสุขภาพแรงงานข้ามชาติ เพื่อคุ้มครองสิทธิด้านสุขภาพและรับรองสิทธิในหลักประกันสุขภาพและบริการสุขภาพของแรงงานข้ามชาติในฐานะพลเมืองทางเศรษฐกิจ และพัฒนาหลักประกันสุขภาพที่มีเสถียรภาพครอบคลุมแรงงานข้ามชาติทุกกลุ่ม โดยคำนึงถึงระยะเวลาการพำนักในประเทศและระดับการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจและสังคม

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ส่วนมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วยการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติ เป็นแนวทางดำเนินการเพื่อให้เด็กและเยาวชนไร้รัฐ ไร้สัญชาติในประเทศไทยได้รับการคุ้มครอง สิทธิด้านสุขภาพ สิทธิในบริการขั้นพื้นฐาน ที่มีคุณภาพ เท่าเทียม ทั่วถึงตามหลักสิทธิมนุษชนและอนุสัญญาระหว่างประเทศ ด้วยแนวทางต่างๆ อาทิ การพัฒนา ปรับปรุงมาตรการ หลักเกณฑ์แนวปฏิบัติการรับรองการเกิด มาตรการเชิงรุกเพื่อการจดทะเบียนครบขั้นตอนทันทีหลังเกิด เพื่อรับรองสิทธิในสัญชาติของเด็กและเยาวชนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ และการดำเนินการปรับปรุงกฎหมาย พัฒนาบริการสาธารณสุข สิทธิประโยชน์ทางการแพทย์ที่จำเป็นขั้นพื้นฐาน

ทั้งนี้ คสช. เห็นว่าการดำเนินการต่างๆ ข้างต้นควรเร่งดำเนินการไปสู่การปฏิบัติโดยเร็ว เพื่อให้กลุ่มแรงงานข้ามชาติ รวมถึงกลุ่มเด็กและเยาวชนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ เข้าถึงหลักประกันสุขภาพ บริการขั้นพื้นฐานที่เหมาะสม มีคุณภาพ เท่าเทียม เป็นธรรม ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ซึ่งเป็นการสร้างความเสมอภาคด้านสุขภาพที่เป็นพื้นฐาน รวมถึงเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่ปัจจุบันยังมีผู้ติดเชื้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงโรคอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ที่จะส่งผลต่อความมั่นคงด้านสุขภาพและด้านเศรษฐกิจของประเทศ

ตั้ง “ธนกร วังบุญคงชนะ” เป็นกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติ/เห็นชอบในเรื่องแต่งตั้งข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐมีรายละเอียดดังนี้

1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการคลัง)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอ แต่งตั้ง นายอรรถพล อรรถวรเดช รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาการคลัง (นักวิชาการคลังทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการคลัง ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2565 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

2. การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอ แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ดังนี้

    1. รองศาสตราจารย์ธนวรรธน์ พลวิชัย กรรมการ
    2. พลเอก ธนะศักดิ์ ชื่นอิ่ม กรรมการ
    3. นางสาวพัดชา พงศ์กีรติยุต กรรมการ

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2565 เป็นต้นไป

3. การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเสนอ แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย รวม 6 คน เนื่องจากประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสี่ปีเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2565 ดังนี้

    1. ศาสตราจารย์พิเศษเข็มชัย ชุติวงศ์ ประธานกรรมการ
    2. ศาสตราจารย์พิเศษกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
    3. หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
    4. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปารีณา ศรีวนิชย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
    5. นายพณชิต กิตติปัญญางาม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
    6. นายสุรงค์ บูลกุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2565 เป็นต้นไป

4. แต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดองทดแทนตำแหน่งกรรมการที่ว่างลง

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) เสนอแต่งตั้ง นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการในคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2565 เป็นต้นไป

5. การเสนอชื่อเพื่อแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย รวม 9 คน ดังนี้

    1. นายเดชบุญ มาประเสริฐ (เป็นบุคคลจากบัญชีรายชื่อฯ) ประธานกรรมการ
    2. รองศาสตราจารย์กำลัง ชุมพลบัญชร (เป็นบุคคลจากบัญชีรายชื่อฯ) กรรมการด้านสัตวแพทย์/เกษตร/สัตวบาล
    3. นายสมิทธิ ดารากร ณ อยุธยา (เป็นบุคคลจากบัญชีรายชื่อฯ) กรรมการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
    4. รองศาสตราจารย์เจษฎ์ โทณะวณิก กรรมการด้านกฎหมาย
    5. นายภัทระ คำพิทักษ์ กรรมการด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์
    6. นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ (เป็นบุคคลจากบัญชีรายชื่อฯ) กรรมการด้านต่างประเทศ
    7. ผู้ช่วยศาสตราจารย์อำนาจ จำรัสจรุงผล กรรมการด้านสถาปัตยกรรม/วิศวกรรม
    8. นายมณเฑียร อินทร์น้อย (เป็นบุคคลจากบัญชีรายชื่อฯ) กรรมการด้านการบริหารจัดการองค์กร/การบริหารทรัพยากรบุคคล
    9. นายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ (เป็นบุคคลจากบัญชีรายชื่อฯ) กรรมการผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 27 ธันวาคม 2565 เพิ่มเติม