ThaiPublica > เกาะกระแส > “ประกิต ประสิทธิ์ศุภผล” เล่าเส้นทาง “เพชรศรีวิชัยฯ” ต่อจิ๊กซอว์น้ำมันครบวงจร ก่อนเปลี่ยนผ่านเป็น ‘มหาชน’

“ประกิต ประสิทธิ์ศุภผล” เล่าเส้นทาง “เพชรศรีวิชัยฯ” ต่อจิ๊กซอว์น้ำมันครบวงจร ก่อนเปลี่ยนผ่านเป็น ‘มหาชน’

5 ธันวาคม 2022


นายประกิต ประสิทธิ์ศุภผล Chief Executive Officer บริษัท เพชรศรีวิชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด

หนึ่งในธุรกิจน้ำมันปาล์มครบวงจร คือ “บริษัท เพชรศรีวิชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด” (PCE)  ซึ่งมีแผนจะจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ (SET) ในปี 2566 เพื่อเปลี่ยนผ่านการบริหารแบบ ‘เถ้าแก่’ สู่ ‘มืออาชีพ’ รวมถึงขยายศักยภาพองค์กรให้มีมาตรฐานที่ดียิ่งขึ้น

นายประกิต ประสิทธิ์ศุภผล Chief Executive Officer บริษัท เพชรศรีวิชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด กล่าวว่ากว่า 40 ปี ที่ PCE ค่อยๆ ต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจ จนปัจจุบันในปี 2565 บริษัทมีรายได้รวมมากกว่า 28,000 ล้านบาท ดำเนินธุรกิจครบวงจรผลิตและจำน่ายน้ำมันปาล์ม บริษัท เพชรศรีวิชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด จดทะเบียนในรูปแบบ ‘Holding Company’ เพื่อดูภาพรวมของธุรกิจในเครือที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็น น้ำมันไบโอดีเซล น้ำมันปาล์มดิบ น้ำมันพืช กลีเซอรีนบริสุทธิ์ และผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้ ธุรกิจซื้อขายส่งออกน้ำมันปาล์มดิบและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง ธุรกิจให้บริการท่าเทียบเรือ คลังรับฝากน้ำมันปาล์ม พื้นที่ฝากเก็บสินค้าและเตรียมความพร้อมก่อนขนส่ง ธุรกิจให้บริการขนส่งทางบก ธุรกิจให้บริการขนส่งทางเรือ และบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยลงทุนในบริษัทย่อยดังนี้

  • บริษัท นิว ไบโอดีเซล จำกัด ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่าย น้ำมันไบโอดีเซล น้ำมันปาล์มดิบ และน้ำมันพืชสำหรับการบริโภค โดยโรงงานรีไฟท์น้ำมันปาล์ม สามารถผลิตได้ 1,800 ตัน แบ่งเป็นสำหรับบริโภคกึ่งสำเร็จรูปและสำเร็จรูปได้วันละ 1,000 ตัน และสำหรับผลิตเป็น B100 เพื่อเป็นส่วนผสมในน้ำมันดีเซลได้อีกวันละ 1.2 ล้านลิตรต่อวัน ส่วนโรงงานสกัดผลปาล์มที่รับซื้อจากเกษตรกรสามารถผลิตได้อีก 1,800 ตันต่อวัน/หรือปีละไม่ต่ำกว่า500,000 ตัน
  • บริษัท ปาโก้เทรดดิ้ง จำกัด ประกอบธุรกิจซื้อขายน้ำมันปาล์มดิบ น้ำมันเมล็ดในปาล์ม เมล็ดในปาล์ม และผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากปาล์ม ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งมีปริมาณและมูลค่าการซื้อขายและส่งออกเป็นอันดับต้นๆของประเทศ
  • บริษัท เพชรศรีวิชัย จำกัด ประกอบธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าทางบกภายในประเทศทั้งของเหลวและของแห้งซึ่งมีรถให้บริการมากกว่า 150 คัน และขนส่งส่งได้ปีละไม่ต่ำกว่า 800,000 ตัน
  • บริษัท พี.ซี. มารีน (1992) จำกัด ประกอบธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าทางเรือ ทั้งในและต่างประเทศ โดยมีขนาดเรือ 2,000 – 2,500 ตัน จำนวน 6 ลำ ที่สามารรถขนส่งสินค้าได้ปีละไม่ต่ำกว่า 1 ล้านตัน บนเส้นทางสุราษฏร์ธานี-บางปะกง
  • บริษัท พี.เค. มารีน เทรดดิ้ง จำกัด ประกอบธุรกิจให้บริการท่าเทียบเรือ พื้นที่ฝากเก็บสินค้า และเตรียมความพร้อมก่อนขนส่ง โดยมีพื้นที่มากกว่า 40,000 ตร.ม. และมีคลังน้ำมันที่สามารถรองรับได้ 240,000 ตัน โดยมีท่าเทียบเรือในจังหวัดสุราษฏร์ธานีและฉะเชิงเทรา

ถอดรหัสทุนต่างชาติ เล่นส่วนต่างราคาน้ำมัน

ย้อนกลับไปปีพ.ศ.2518 จุดเริ่มต้นของ PCE มาจากธุรกิจขายน้ำมันเชื้อเพลิงให้เรือประมงขนาดเล็กที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดย “ประกิต ประสิทธิ์ศุภผล” เล่าว่า ตอนนั้นเหมือนเป็นปั๊มลอยน้ำทั้งหมด 13 แห่ง จุดแข็งแต่ละเจ้าคือฐานลูกค้าเดิม เพราะอาศัยการทำธุรกิจแบบถามไถ่-เจอหน้ากันเป็นประจำ

“เรามองว่าไม่มีทางไปรอด เพราะกำไร 25 สตางค์ต่อลิตร หนึ่งเดือนได้ 3,000 ถึง 8,000 บาท ค่าดอกเบี้ยไม่พอให้เขา ขายแบบนี้ไปไม่รอดแน่ แต่ถ้าเราไปแย่งลูกค้า เขาไม่ปล่อยแน่ ต่างคนต่างเจ๊ง เลยคิดว่าทำยังไงถึงจะเอาเจ้าของปั๊มมาเป็นลูกค้าเรา ถ้าเขาเป็นลูกค้าเราได้เมื่อไร ลูกค้าเขาคือลูกค้าเราแล้ว”

ประกิต ใช้วิธีเล่นกับส่วนต่างราคารับซื้อน้ำมัน จากปกติคลังขายน้ำมันต่างชาติ ที่ขายน้ำมัน จะตั้งราคาแบบขั้นบันได กล่าวคือซื้อเยอะขายถูก ซื้อน้อยขายแพง จากปกติปั๊มส่วนใหญ่ขายได้ 50,000 ลิตรต่อเดือน ก็ต้องซื้อที่ราคาหนึ่ง แต่เขาเลือกตั้งเป้าซื้อที่ 200,000 ลิตร ทำให้ได้ราคาที่ถูกลง แล้วนำน้ำมันส่วนเกินไปขายกับปั๊มอื่นๆ ในราคาที่ต่ำกว่าที่ปั๊มไปซื้อกับบริษัทโดยตรง

“สมมติน้ำมัน 50,000 ลิตร ราคา 5 บาท ถ้า 100,000 ลิตรขึ้นไป เหลือ 4.4 บาท เราตั้งว่าเดือนหน้าจะขาย 200,000 ลิตร พอตั้งราคาเฉลี่ยออกมา 4.6 บาทต่อลิตร เราก็เริ่มขาย 4.8 บาทให้ปั๊มอื่น ทั้งที่บริษัทต่างชาติขาย 5 บาท สุดท้ายมีลูกค้าบางรายที่ซื้อกับเรา เราก็ไปกู้เงินเพิ่มเพื่อขยายตลาด ”

ประกิต มองว่า บริษัทต่างชาติพยายามทำการตลาดโดยตั้งแรงจูงใจให้คนซื้อปริมาณสูง แต่ไม่ได้คำนึงว่าตัวเองไม่ได้เป็นคนขายรายเดียว หรือรายอื่นจะมีอำนาจต่อรองมากขึ้น ดังนั้นหากมีคนเล่นกับส่วนต่างและนำไปขายต่อจะทำให้ไม่จำเป็นต้องซื้อกับคลังน้ำมันก็ได้

อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เขาต้องพยายามหารายได้มากขึ้นคือ ‘ลูก’ โดย ประกิต เล่าว่า “ผมมีลูกเร็วตั้งแต่ปี 2520 พอเริ่มมีครอบครัวก็คิดว่า อยู่แบบนี้ไม่สามารถทำให้ครอบครัวดีขึ้นได้แน่ ฉะนั้นสิ่งที่เราทำคือต้องเดินหน้าอย่างเดียว เดินหน้าเพื่อสู้เดินหน้าเพื่อถอดรหัสสิ่งเหล่านี้ ผมมาจากครอบครัวเกษตรกร ความรู้ไม่เยอะ แต่พอเรามาถอดรหัสได้มันดีใจ ไม่กำไรไม่เป็นไร แต่เราได้ต่อรอง เป็นเกมที่สนุกมาก”

ต่อยอด โลจิสติกส์-คลังน้ำมัน

ธุรกิจขายน้ำมันดำเนินมาอย่างราบรื่น และขยายธุรกิจไปยังน้ำมันประเภทอื่นๆ จนกระทั่งประกิต เอะใจว่า ทุกครั้งที่รถบรรทุกวิ่งขนน้ำมัน มักจะตีรถเปล่ากลับมาเสมอ ตอนนั้นจึงใช้ให้เบี้ยเลี้ยงเป็นแรงจูงใจให้คนขับรถขนน้ำมันขากลับด้วย และต่อมาก็ลงทุนซื้อรถเพิ่ม จนมีรถบรรทุก 6 คันในปีพ.ศ. 2522

นายประกิต ให้ข้อมูลว่า โดยรวมมีรถขนน้ำมันประมาณ 20 คัน ทั้งจากรถที่เป็นทรัพย์สินบริษัทและจ้างจากข้างนอก โดยส่งตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กุยบุรี ทับสะแก บางสะพาน จนถึงคลังน้ำมันที่ช่องนนทรี

เมื่อมีรถบรรทุกน้ำมันมากขึ้น บริษัทจึงมีศักยภาพในการขนส่งน้ำมันมากขึ้น ประกอบกับบริษัทพยายามหาน้ำมันหลายประเภทเพื่อมารองรับความต้องการของลูกค้า โดยเฉพาะ ‘น้ำมันปาล์ม’ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ขึ้นกับฤดูกาล ทำให้ตอบโจทย์ลูกค้า

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญก็คือ ‘คลังน้ำมัน’ เนื่องจากเวลารถบรรทุกไปส่งน้ำมันตามพื้นที่ต่างๆ ขากลับก็จะต้องไปเติมน้ำมันที่คลังกลับมาเพื่อให้เต็มรถบรรทุก แต่ปัญหาคือคลังน้ำมันหลายแห่งไม่มีระบบรองรับลูกค้าที่ดีพอ ทำให้รถบรรทุกต้องไปจอดต่อคิวรอนานตั้งแต่ 5 วัน และสูงสุดถึงครึ่งเดือน จากปัญหาดังกล่าวทำให้บริษัทเสียการใช้ทรัพยากรรถ

“รถต้องไปรอคิว บางทีวันหนึ่ง 20 ถึง 30 คัน ที่อาบน้ำให้คนขับรถก็ไม่มี รถเราก็กำลังผ่อน ไปถึง (คลัง) แทนที่จะทำเที่ยวได้ ปกติวิ่งสุราษฯ ไปกลับกรุงเทพฯ 12 ถึง 13 เที่ยว ปรากฏว่าหนึ่งเดือนเหลือ 5-6 เที่ยว บางทีคลังเติมได้วันละ 5 คัน ที่เหลือก็รอคิวไป บางวันบอกเครื่องเสีย วันนี้ลงน้ำมันไม่ได้เลย คนขับรถก็ต้องรอไป”

นายประกิต บอกว่า ปัญหานี้เป็นวิกฤติของบริษัทอย่างมาก แต่ท่ามกลางวิกฤติก็มีโอกาส ทำให้บริษัทสร้างคลังเก็บน้ำมันตามจุดต่างๆ เพื่อตัดปัญหาดังกล่าว และทำให้รถทำรอบได้

แต่จุดเปลี่ยนสำคัญคือ ‘เรือ’ เพราะเป็นการขนส่งที่มีประสิทธิภาพสูงกว่ารถ แต่โจทย์ของเราคือทำอย่างไรให้เรือขนส่งน้ำมันได้เร็วกว่ารถบรรทุก โดยรถใช้เวลาขนส่ง 1 วันเต็ม เป็นเรือจะต้องใช้เวลาขนส่งไม่ถึง 1 วัน

“ถ้ามาทางเรือ สั่งวันนี้ วันนี้ถึง ลูกค้าถามว่าจะทำให้เรือเร็วกว่ารถได้ไง เพราะปกติจากโรงงานมาใส่คลัง คลังใส่เรือ แล้วต้องไปขึ้นคลังบางประกง แล้วเอาน้ำมันใส่รถ สามสี่วันกว่าจะถึง เราบอกไม่เป็นไรเดี๋ยวจะทำให้ดู”

“เราทำเรือและสร้างคลังของเรา แต่มันไม่มีโรงงานไหนที่ใกล้แม่น้ำเลย การที่เราจะทำคลังก็ต้องทำที่ใกล้กับโรงงานที่สุด เลยไปสร้างคลังที่บางประกง และทำคลังที่สุราษฯ แล้วซื้อเรือลำหนึ่งมาทำ แต่พอซื้อเรือมาทำ ไม่มีใครสนับสนุนเลย เจ้าอื่นบอกให้ขนทางรถไปก่อน เพราะไม่เข้าใจว่าจะขนยังไง มีสนับสนุนเจ้าเดียว ทั้งที่เรือบรรทุกได้เที่ยว 1,500 ถึง 2,000 ตัน แต่เรือลำหนึ่งวิ่งเที่ยวหนึ่งต่อเดือน มันจะรอดไหม”

“ถามว่าเราทำยังไง ผมเลยบอกว่า เดี๋ยวจะเอาน้ำมันของผมไปตั้งที่บางประกงก่อน โดยให้คุณซื้อน้ำมันผมส่วนหนึ่ง จากนั้นรถที่บางประกงจะเข้าไปส่งทันที ส่งเสร็จมีใบรับของเรียบร้อย แล้วผมค่อยเอาใบนั้นไปเบิกน้ำมันคืน วิธีนี้เร็วกว่าทั้งที่ยังไม่ได้ขนเลยด้วยซ้ำ เราเอาจากบางประกงไปส่งก่อน พอไปส่งค่อยเอาใบรับไปขนน้ำมันคืน ลูกค้าก็คิดว่าดี สบาย”

นายประกิต เล่าต่อว่า คลังน้ำมันบางแห่งเป็นคลังที่เก็บน้ำมันไว้โดยไม่ได้ทำอะไร บริษัทจึงเข้าไปทำในรูปแบบธนาคาร และทำบัญชีน้ำมันให้ โดยนำน้ำมันส่วนนี้ไปใช้เป็นน้ำมันสำหรับขนส่งทางเรือ ข้อดีคือบริษัทก็ไม่ต้องสำรองน้ำมันไว้เองด้วย

“เราต่อจิ๊กซอว์เรื่อยๆ มาทีละตัว จากปั๊มลอยน้ำ มารถ พอเริ่มมีปริมาณการซื้อก็ออกรถเอง ได้ปริมาณการขายจากลูกค้า ก็ทำคลังน้ำมันดีเซล ต่อจิ๊กซอว์มาเรื่อยๆ จากวิกฤตเป็นโอกาส ทีแรกตั้งใจว่าจะรับขน แต่พอรับขนก็เจอปัญหา พอเจอก็แก้ปัญหาโดยการซื้อเกิดเป็น ‘ปาโก้เทรดดิ้ง’ ช่วงพีคที่น้ำมันปาล์มเกินความจำเป็นภายในประเทศ เราก็ใช้วิธีส่งออก ปาโก้เป็นตัวขับเคลื่อนจัดความสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศ”

สร้างความยั่งยืน สู่’มหาชน’

วันที่กระแส ‘ความยั่งยืน’ เป็นวาระสำคัญของธุรกิจ บริษัทก็ต้องปรับตัวให้ทันกับกระแส ขณะที่กระบวนการได้มาซึ่งน้ำมันมักจะปล่อยก๊าซเรือนกระจก นี่กลายเป็นดิสรัปชั่นของ PCE ไปโดยปริยาย และทำให้บริษัทต้องเดินหน้าปรับตัวสู่ความยั่งยืนอย่างเข้มข้น

นายประกิต ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมีมาตรฐานที่มากำกับบริษัท 2 มาตรฐาน คือ

  1. RSPO (Roundtable on Sustainable Palm Oil) คือ มาตรฐานการผลิตปาล์มน้ำมัน อย่างยั่งยืน โดยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและรับ ผิดชอบต่อชุมชน
  2. ISCC International Sustainability and Carbon Certification คือ การรับรองคาร์บอนและการพัฒนาอย่างยั่งยืนระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ นายประกิต ย้ำว่าที่ผ่านมา บริษัทได้ทำตามมาตรฐานความยั่งยืนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น การไม่สนับสนุนการปลูกปาล์มในป่าสงวนหรือบุกรุกป่า ไม่ใช้แรงงานเด็ก เคารพสิทธิมนุษยชน ช่วยเหลือชุมชนและทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรดีขึ้น ตลอดจนการปรับเปลี่ยนเครื่องมือบางประเภทภายในโรงงาน เช่น ท่อไอเสีย หรือท่อบำบัดน้ำเสีย

“เวลาทำธุรกิจ ผมจะนึกถึงประโยชน์ผู้อื่น ไม่ใช่แค่เรามีกำไรอย่างเดียว แต่เราต้องทำอย่างยั่งยืน ถ้าเรามีอุปกรณ์ ผมให้ทุกคนเอาอุปกรณ์ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ เหมือนเราเป็นรถวิ่งผ่าน คุณจะขึ้นมานั่งก็ได้ โบกให้จอดเราก็จอดตามสถานีก็จอด ผมคิดอยู่เสมอว่า การทำธุรกิจถ้าเราไม่สร้างในสิ่งที่จะไปหาเขา มัวแต่รอสร้างสิ่งที่เขาต้องการ ผมว่ายาก ถ้าสร้างในสิ่งที่ต้องการ อ่านใจ แล้วนั่งรอ เขาจะมาหาเราเอง”

ท้ายที่สุด นายประกิต ให้เหตุผลของการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ว่า “เพื่อจัดโครงสร้างให้ลูกๆ มีที่ยืน หรือให้คนอื่นทำ แม้จะทำให้การทำงานยากขึ้น แต่สิ่งที่สร้างมามีโอกาสตกทอดไปถึงลูกหลาน และการเข้าตลาดฯ ทำให้บริษัทมีระบบที่ดีขึ้นได้ และได้รับมาตรฐานมากขึ้น ครอบครัวมีที่ยืน สิ่งที่เราสร้างมาก็ไม่สูญเปล่า แต่ถ้าเรายังระบบเถ้าแก่ ต่อไปมันจะตกทอดถึงใครยังไม่รู้เลย”

นายประกิต ทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันบริษัทยังดำเนินงานไม่ถึง 60% ของศักยภาพทั้งหมด ดังนั้นเมื่อบริษัทเปลี่ยนนามสกุลเป็นมหาชนแล้ว ก็แทบไม่ต้องขยายอะไรเพิ่มเติม เนื่องจากสามารถผลักดันศักยภาพอีก 40% ที่เหลือได้