ThaiPublica > คอลัมน์ > เงินออมของเอเชียเพื่อการลงทุนของเอเชีย

เงินออมของเอเชียเพื่อการลงทุนของเอเชีย

7 ธันวาคม 2022


จันทวรรณ สุจริตกุล

เมื่อประมาณ 20 ปีมาแล้วนายโจเซฟ แยม ผู้ว่าการธนาคารกลางคนแรกของฮ่องกง ซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี ค.ศ. 1993-2009 รวม 16 ปี ได้ยกประเด็นเรื่องการออมของเอเชียที่ต้องวนไปผ่านตัวกลางทางการเงินในตะวันตกก่อนจะกลับมาลงทุนในเอเชีย เป็นเรื่องที่น่าเสียดายเพราะความคุ้นเคยกับการใช้บริการของผู้จัดการทุนของตะวันตกและระดับการพัฒนาของตลาดการเงินตะวันตกที่มีความลึก ความกว้าง ความหลากหลาย เอเชียจึงควรเร่งพัฒนาระบบการเงินและตลาดการเงินของแต่ละประเทศ เพื่อให้ประโยชน์ตกแก่ระบบเศรษฐกิจและสถาบันการเงินในประเทศ และเพื่อให้การจัดสรรทรัพยากรในภูมิภาคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น (Asian savings for Asian investments)

ข้อสังเกตของนายแยมน่าจะมาจากการทำหน้าที่กำกับดูแลศูนย์กลางการเงินที่ใหญ่แห่งหนึ่งของเอเชีย และได้เห็นบทบาทของตัวกลางและผู้เล่นในตลาดการเงินตลอดช่วงที่ผ่านมา

โดยทั่วไป คนเอเชียมักจะนิยมออมมากกว่าใช้จ่ายหรือลงทุน อาจจะมาจากอุปนิสัยความมัธยัสถ์ ความรอบคอบ หรือความเชื่อว่าต้องออมก่อนใช้ จึงทำให้โดยรวมแล้ว ภูมิภาคนี้มีเงินออมมากกว่าการลงทุน (Savings Investment Surplus) ในขณะที่คนในตะวันตกจะนิยมใช้จ่ายหรือลงทุนมากกว่าการออม (Saving Invesment Gap) อาจจะมาจากความเชื่อว่าการเอาเงินในอนาคตมาใช้เพื่อความกินดีอยู่ดีในระยะยาวของทั้งรุ่นปัจจุบันและรุ่นต่อๆ ไป เพราะถ้าไม่มีการลงทุนในวันนี้ก็จะไม่มีการสร้างทุนทางเศรษฐกิจไว้สำหรับระยะยาว

การออมของเอเชียนอกจากประเด็นด้านวัฒนธรรมแล้วก็อาจจะมาจากประสบการณ์ที่โชกโชนในช่วงวิกฤติปี 1997 ที่การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องกันเพียง 2-3 ปี ทำให้ประเทศถูกลงโทษโดยตลาดที่ไม่เคยปรานีใคร และพร้อมที่จะทิ้งสินทรัพย์ของประเทศที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด หลังจากประเทศถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ (credit rating) และการไหลออกของเงินทุนอย่างเฉียบพลัน จึงทำให้เอเชียมีความระมัดระวังมากขึ้นจากบทเรียนในครั้งนั้น

ที่น่าเสียดายคือ เงินออมของคนเอเชียโดยรวมแทนที่จะถูกนำไปลงทุนในประเทศเอเชียที่มีความต้องการทุน กลับต้องไหลเวียนอ้อมไปลงทุนหาผลตอบแทนในตลาดตะวันตก เพราะเอเชียโดยรวมมีเงินออมมากกว่าโครงการที่จะลงทุน หรืออีกนัยหนึ่ง เกิดการโอนถ่ายเงินออมของภูมิภาคหนึ่งไปเพื่อการพัฒนาอีกภูมิภาคหนึ่งในรูปของการลงทุนของกองทุนเงินออม กองทุนบำเหน็จบำนาญ กองทุนรวม ที่กระจายความเสี่ยงไปลงทุนในตลาดการเงินของประเทศอุตสาหกรรม

ที่ผ่านมาประเทศตะวันตกได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาตลาดการเงินของประเทศให้มีความลึก ความกว้าง มีตัวกลางทางการเงิน (financial intermediaries) มีสถาบันตัวกลาง ผู้ร่วมตลาด และผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย ตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุนและผู้ใช้บริการการเงินได้ทุกรูปแบบ และพร้อมรับบริหารเงินออมของภูมิภาคอื่นๆ ได้อย่างไร้รอยต่อ

นายแยมตั้งคำถามว่า ถ้าเอเชียสามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของตลาดการเงิน ส่งเสริมให้มีผู้ร่วมตลาดและบริการการเงินหลากหลาย เอเชียน่าจะนำเงินออมส่วนเกินของภูมิภาคไปลงทุนในประเทศที่มีความต้องการเงินทุน โดยไม่ต้องไปผ่านตัวกลางหรือสถาบันการเงินจากตะวันตก ซึ่งถ้าเราพัฒนาระบบนิเวศของเราให้ได้ทัดเทียมกับตะวันตก พัฒนาตลาดการเงินให้มีความลึกความกว้าง มีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ทางการเงิน มีทักษะในการบริหารจัดการการลงทุน เอเชียน่าจะอยู่ในฐานะที่จะถ่ายโอนเงินออมในเอเชียแห่งหนึ่งเพื่อการลงทุนในเอเชียอีกแห่งหนึ่ง (recycling Asian savings for Asian investments) โดยไม่ต้องผ่านสถาบันตัวกลางในตะวันตกเป็นหลัก

จึงเป็นที่มาของความร่วมมือทางการเงินในภูมิภาคเอเชียไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาตลาดการเงิน การส่งเสริม cross listing ของหุ้นระหว่างตลาด การพัฒนาตลาดพันธบัตร (Asian Bond Market Initiative) เพื่อเป็นเครื่องมือการออมและการลงทุน ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทีค้าขายในภูมิภาคพิจารณากำหนดราคาสินค้าในสกุลเงินท้องถิ่น (local currency invoicing) เพื่อลดการพึ่งพาเงินสกุลหลัก เพราะเงินสกุลเอเซียมีแนวโน้มจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันมากกว่า เมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักที่บ่อยครั้งผันผวนจากการดำเนินนโยบายของประเทศอุตสาหกรรมเองที่ตลาดการเงินเอเชียไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง แต่ต้องรับผลทุกครั้งที่เกิดความผันผวนในเงินสกุลหลัก

การพัฒนาตลาดการเงินเอเชียในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมานับว่ามาได้ไกล นักลงทุนและผู้จัดการกองทุนมีความคุ้นเคยกับการลงทุนในสินทรัพย์ประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น แต่หากเทียบกับการค้าและการลงทุนโดยตรงแล้ว การรวมกลุ่มทางการเงินอาจจะยังไม่ได้มีระดับสูงเท่ากับในภูมิภาคอื่น เช่น ยุโรป กลุ่มประเทศอาเซียนมีการค้าขายระหว่างกัน (intra ASEAN trade) ประมาณกว่าร้อยละ 25 ของการค้ารวม หรือการลงทุนโดยตรงในภูมิภาค (intra ASEAN FDI) อยู่ในระดับร้อยละ 16-17 ของการลงทุนโดยตรงที่อาเซียนได้รับจากภายนอกภูมิภาค ซึ่งตัวเลขนี้เหล่านี้อาจจะอยู่ในขั้นต่ำด้วยซ้ำไป จากรายงาน ASEAN Integration Report เมื่อปี 2019 เพราะในระยะหลังเราก็เห็นการลงทุนโดยธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนค่อนข้างมาก แต่การลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงิน (portfolio invesment) ระหว่างอาเซียนด้วยกันเองยังมีสัดส่วนที่ต่ำประมาณร้อยละ 10 ต้นๆ และมีพัฒนาการที่ช้ากว่าด้านการค้าและการลงทุน ส่วนหนึ่งมาจากความคุ้นชินผู้ประกอบการที่ยังคุ้นเคยกับการใช้เงินสกุลหลัก คุ้นเคยกับสินทรัพย์ทางการเงินในประเทศอุตสาหกรรมหลัก

จากการให้สัมภาษณ์ล่าสุดของนายโจเซฟ แยม เมื่อกลางปี 2022 ที่รายงานโดย South China Morning Post นายแยมเรียกร้องให้ทางการผ่อนคลายเรื่องการอนุญาตให้เงินทุนเคลื่อนย้ายคล่องตัวขึ้นเพื่อให้สถาบันการเงินนฮ่องกงมีบทบาทในการช่วยพัฒนา Greater Bay Area มากขึ้น รวมทั้งผลักดันให้สถาบันการเงินในฮ่องกงเร่งรัดการส่งเสริมการใช้เงินหยวนให้มากขึ้น คงต้องยอมรับว่าประเทศเอเซียเองก็มีความกังวลที่จะเปิดเสรีอย่างรวดเร็ว

ก่อนหน้านี้ช่วงที่ประเทศตะวันตกดำเนินนโยบายการเงินโดยการเพิ่มสภาพคล่องหรือคิวอี (Quantitative Easing) ขนานใหญ่และเป็นเวลานาน หลายฝ่ายก็ออกมาทำนายว่าเงินดอลล่าร์จะลดความนิยมลง แต่ทุกครั้งที่เกิดศึกสงคราม เงินดอลลาร์ สรอ. ก็จะเป็นหลุมหลบภัยที่นักลงทุนหันไปพึ่ง การเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง คงจะไม่ได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้เราจะเห็นสัญญาณของการเล่นกับไฟโดยใช้เงินสกุลเป็นอาวุธในการคว่ำบาตรในช่วงสถานการณ์ภูมิรัฐศาตร์โลกตึงตัว (weaponizing the currency)

แม้การรวมกลุ่มทางการเงิน (financial integration) จะเดินหน้าไปไม่รวดเร็วเท่าการรวมกลุ่มทางการค้าและการลงทุน แต่หากมองในมุมของประเทศในเอเชียอย่างจีนที่มีประวัติศาสตรอันยาวนานหลายพันปีความคืบหน้าที่เกิดขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาคงเป็นหมุดหมายเล็กๆ เพียงไม่กี่จุดในเส้นทางเดินที่ยาวไกลของประเทศที่มีเวลาอยู่ข้างตัวเอง ความร่วมมือทางการเงินในเอเชียจึงยังคงเดินหน้าพัฒนากันต่อไปเพื่อให้ภาคการเงินสามารถทำหน้าที่สนับสนุนการรวมตัวทางเศรษฐกิจ และการสนับสนุนการจัดระเบียบห่วงโซ่อุปทานใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วต่อไป

หมายเหตุอ้างอิง:

1. จากรายงาน ASEAN Integration Report 2019
2. South China morning Post 7 July 2022