ThaiPublica > คอลัมน์ > Big Bang สำนวนที่ประเทศไทยไม่ค่อยคุ้นเคย

Big Bang สำนวนที่ประเทศไทยไม่ค่อยคุ้นเคย

3 ตุลาคม 2022


จันทวรรณ สุจริตกุล

คงไม่มีใครที่ไม่เคยสัมผัสกับกฎหมายควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน หรือที่มีชื่อทางการว่า พระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เก่าแก่มากฉบับหนึ่งของประเทศ ไม่ว่าคุณจะอยู่ในฐานะนักศึกษาที่จะเดินทางไปศึกษาในต่างประเทศ ซึ่งต้องแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพื่อไปจ่ายค่าเทอมและค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หรือผู้ที่ทำมาค้าขายที่จะต้องป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งๆ ที่บางทีเราไม่ได้เป็นผู้นำสินค้านั้นเข้ามาโดยตรง แต่ผลจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนก็กระทบกับต้นทุนสินค้าของเราในรอบต่อๆ ไป ซึ่งเราอาจจะป้องกันความเสี่ยง (hedge) ไม่ได้เพราะเราไม่ได้มีหลักฐานการนำเข้า (underlying) เพราะผู้นำเข้าหลักคือเอเย่นต์ หรือ trading firm ในอดีตหากเราจะขอ hedge ธุรกรรมนี้กับธนาคารพาณิชย์ เพื่อปิดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนจากกรณีสินค้าที่ผู้อื่นเป็นผู้นำเข้ามา เราจะต้องมาขออนุญาตแบงก์ชาติเป็นกรณีๆ ไป

บ่อยครั้งที่ผู้เขียนรู้สึกว่า อยากจะให้ประเทศไทยเปิดเสรีการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินในลักษณะของ Big Bang เพราะการจะปรับแก้กฎหมายหรือกฎระเบียบในแต่ละจุดต้องใช้เวลาและต้องใช้พลังค่อนข้างมาก เนื่องจากแต่ละมาตราแต่ละข้อบทเกี่ยวโยงกันไปหมด การปรับแก้จุดหนึ่งย่อมกระทบอีกจุดหนึ่ง ทำให้ความพยายามที่จะปรับแก้กฏระเบียบต่างๆ ที่ออกมาภายใต้กฎหมายฉบับนี้ต้องใช้เวลาเพื่อพิจารณาอย่างรอบคอบ

และเมื่อไปดูกรณีศึกษาของต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลียหรือนิวซีแลนด์ ที่เคยเปิดเสรีภาคบริการการเงินและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างขนานใหญ่ในช่วงทศวรรษ 1980 หรือที่เรียกว่า Big Bang คงไม่แปลกใจว่าทางเลือกของ Big Bang คงมาจากความยากลำบากในการปรับแก้ระเบียบในแต่ละจุดไป ประกอบกับผู้ที่เสียประโยชน์หรือได้รับผลกระทบก็คงจะเรียกร้องการคุ้มครองหรือการชดเชย ทำให้การแก้ไขแต่ละครั้งคงต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ต้องรอให้เกิดความพร้อมในกลุ่มผู้เล่นแต่ละกลุ่ม

ความโชคดีของประเทศอย่างออสเตรเลีย คือ ประเทศมีทรัพยากรธรรมชาติประเภทสินแร่มหาศาล หรือที่นักการเงินมักเรียกว่าเป็น commodity currency เมื่อยกเลิกกฎหมายควบคุมแลกเปลี่ยนเงินและค่าเงินผันผวนตามเงินทุนเคลื่อนย้าย หรือความต้องการสินค้าและบริการจากต่างประเทศ แรงกระแทกจากอัตราแลกเปลี่ยนจึงถูกลดทอนไปด้วยราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น เช่น เมื่อต่างชาติต้องการนำเข้าแร่ธรรมชาติจากออสเตรเลีย ทำให้ค่าเงินออสเตรียเลียแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่รายรับของผู้ส่งออกก็ไม่ได้ถูกกระทบเท่ากับตลาดเกิดใหม่อย่างประเทศไทยที่ผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ที่มักจะสูญเสียรายได้เมื่อคำนวณกลับมาเป็นเงินสกุลท้องถิ่น เพราะในฐานะผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่แห่งหนึ่งของโลกออสเตรเลียสามารถกำหนดราคาของสินค้าโภคภัณฑ์ให้สูงขึ้น จึงเท่ากับมี natural hedge ทำให้ผู้ส่งออกไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แม้เงินดอลลาร์ออสเตรเลียจะแข็งค่าขึ้นบ้าง

เมื่อประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่มีสินค้าโภคภัณฑ์ที่สามารถกำหนดราคาได้เอง ที่จะเป็น natural hedge ประกอบกับความพร้อมในด้านอื่นๆ ประเทศไทยจึงใช้วิธีการผ่อนคลายการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งใช้เวลาและมักจะไม่ค่อยทันใจวัยรุ่นใจร้อนบางกลุ่ม การผ่อนคลายแต่ละครั้งมีขั้นตอน (sequencing) ที่คำนึงถึงลำดับของการเปิดเสรีที่เริ่มจากการให้คนไทยที่มีรายได้จากการส่งออกไปต่างประเทศไม่ต้องนำรายรับ (repatriation) เข้าประเทศในทันที ไปจนถึงการอนุญาตให้คนไทยนำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศ (portfolio investment) ได้มากขึ้น

ระยะหลัง เมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายในสหรัฐฯ และในประเทศตะวันตกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนเกิดคำถามว่า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะกระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายหรือไม่ และประเทศไทยจะชะลอการเปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้ายหรือไม่ เพื่อป้องกันความสุ่มเสี่ยงต่อระบบการเงินไทย คำตอบคือ ไม่ได้มีความจำเป็นต้องชะลอการเปิดเสรี เพราะแต่ละขั้นตอนที่ได้ผ่อนคลายไปก่อนหน้านั้นได้ใช้ความระมัดระวัง รอบคอบ และพิจารณาความพร้อมของฐานะด้านต่างประเทศ การดำเนินนโยบายในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปเช่นนี้อาจจะทำให้ประเทศไทยดูล่าช้าบ้าง แต่ก็เป็นการดำเนินงานที่รอบคอบ และยึดหลักของ conservatism ที่สำคัญประเทศไทยยังสามารถตอบได้ว่าการผ่อนคลายต่อเนื่องเป็นการสร้างความสมดุลให้กับเงินทุนเคลื่อนย้าย (balanced flow) จากเดิมที่กติกาของเราจะเปิดรับเงินทุนขาเข้ามากกว่าเงินทุนขาออก การทยอยเดินหน้าเปิดเสรีจึงเป็นการยืนยันที่จะสร้างสมดุลให้กับเงินทุนเคลื่อนย้ายในระบบและเปิดโอกาสให้การปรับตัวในตลาดเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ที่น่าสังเกต คือ เมื่อไปเทียบความผันผวนของค่าเงินบาทกับเงินสกุลของอีกหลายๆ ประเทศในตะวันตกที่ค่าเงินผันผวนมาก จนคนนึกว่าเป็นเงินสกุลของประเทศเกิดใหม่ (emerging market) มากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วเสียด้วยซ้ำไป

คำว่า Big Bang จึงเป็นสำนวนที่ประเทศไทยไม่ค่อยคุ้นเคยเท่ากับคำว่า “ค่อยเป็นค่อยไป” และ “อย่างรอบคอบ” ซึ่งดูจะเป็นสำนวนที่อยู่คู่กับการดำเนินนโยบายของไทยตลอดมา…