ThaiPublica > เกาะกระแส > The Future of Wellness & Healthcare :โอกาส ความเสี่ยงของไทยในบริการ “สุขภาพและการแพทย์” (ตอน 1)

The Future of Wellness & Healthcare :โอกาส ความเสี่ยงของไทยในบริการ “สุขภาพและการแพทย์” (ตอน 1)

11 พฤศจิกายน 2022


ในวาระครบรอบก้าวสู่ปีที่ 12 สำนักข่าวไทยพับลิก้า ที่มุ่งเน้นการเป็นองค์กรสื่อเพื่อความโปร่งใสและความยั่งยืน ได้จัดเสวนา Thaipublica Forum 2022#2 หรือ เวทีปัญญาสาธารณะครั้งที่ 2 ในหัวข้อ ‘The Future of Wellness & Healthcare…สุขภาพที่ดี ชีวิตที่ดี’ นำเสนอความก้าวหน้านำองค์ความรู้จากการแลกเปลี่ยนมุมมองของผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้รู้ มาถ่ายทอดให้เกิดการพัฒนา วางแผน ปรับตัว และนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อให้บริการสุขภาพและการแพทย์ รองรับการมีสุขภาพที่ดี ชีวิตที่ดี ของประชาชนคนไทย และโอกาสของประเทศไทยที่จะสร้างอุตสาหกรรมบริการสุขภาพที่ดีครบวงจรให้พร้อม ทั้ง Wellness Tourism และ Global Medical & Wellness Hub โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรชั้นนำของไทย ได้แก่ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร, ดร.ลลนา ธีระนุสรณ์กิจ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านนวัตกรรมอาหารและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน), แพทย์หญิงสร้อยเพชร ประเทืองเศรษฐ์ ผู้อำนวยการคลินิกสุขภาพเชิงป้องกันและฟื้นฟู บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก และ รศ.ดร. ปรียา ลีฬหกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ ที่ปรึกษางานวิจัย บริษัท เอเชียน ไฟย์โตซูติคอลส์ จำกัด (มหาชน) ดำเนินรายการโดย จิรัฐิติ ขันติพะโล

อ่านต่อ

  • (ตอนจบ) The Future of Wellness & Healthcare:หนุนจุดแข็ง จากอาหาร-การแพทย์ สู่ฮับการท่องเที่ยวด้านสุขภาพ
  • โลกยุคปัจจุบันเต็มไปด้วยความท้าทายที่คาดเดาไม่ได้ เริ่มตั้งแต่การแพร่ระบาดของไวรัส ‘โควิด-19’ ในช่วงปลายปี 2562 และยืดเยื้อมากว่า 3 ปีจนถึงปี 2565 จนกลายเป็นวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ที่ผู้คนทั่วโลกต้องอยู่ร่วมกับโรคอุบัติใหม่นี้ ขณะเดียวกันกับสถานการณ์แพร่ระบาดช่วงเริ่มต้น ‘ดิจิทัลดิสรัปชั่น’ ก็กลายเป็นประเด็นสำคัญที่บีบให้ประชากรโลกต้องปรับตัวตาม นอกจากนี้ยังมี ‘ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย’ โดยเฉพาะจากต้นเหตุสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้สินค้าอุปโภคบริโภคปรับราคาสูงขึ้น

    ท่ามกลางวิกฤติที่เกิดขึ้น ทำให้ประเด็น ‘สุขภาพ’ และ ‘การแพทย์’ เป็นหัวใจสำคัญในการปรับตัวอยู่ร่วมกับโลกที่มีความผันผวนสูง ทั้งในแง่ผู้บริโภค-คนทั่วไปที่ต้องรักษาสุขภาพให้แข็งแรง หรือการเข้ารับบริการทางการแพทย์เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ในมุมผู้ประกอบการ-ธุรกิจ ก็ต้องคว้าโอกาสการเติบโตจากเทรนด์และความต้องการของผู้ใช้บริการ ตลอดจนการวิเคราะห์ความเสี่ยงต่างๆ กระทั่งระดับประเทศเองก็ต้องวางกลไกเพื่อสอดรับกับภาพระดับโลก

    ใช้ ‘เทคโนโลยี’ ยกระดับอาหาร – เปิดเสรีธุรกิจสุขภาพ

    ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า การแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทยวันนี้ไม่ง่าย เราไม่สามารถพึ่งพา ‘การท่องเที่ยว’ ได้แบบเดิม เพราะกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักจำนวน 1 ใน 4 ยังไม่สามารถเดินทางมาไทยได้ และไม่สามารถพึ่งพาอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ได้ เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่ถูกดิสรัปโดยรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และประเทศไทยไม่มีวัตถุดิบสำคัญอย่าง ลิเธียมไอออน ประกอบกับประเทศคู่แข่งเกิดขึ้นมาใหม่ ไม่ว่าจะเป็น อินโดนีเซีย หรือ เวียดนาม

    ดร.ศุภวุฒิ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยไม่สามารถคาดหวังกับวิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างที่ผ่านมา เช่น โครงการช้อปช่วยชาติ หรือโครงการคนละครึ่ง แต่เราต้องพยายามมองไปข้างหน้าและตั้งคำถามว่า “จะใช้อะไรเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”

    ดร.ศุภวุฒิ มองว่า ประเทศไทยมีจุดแข็ง 2 เรื่องคือ การท่องเที่ยวและอาหาร

    ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

    “หากเราจะทำให้การท่องเที่ยวมีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้นไปกว่านี้อีก เราต้องทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติใช้จ่ายเงินมากกว่านี้ และพำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทยให้นานกว่านี้ เพื่อยกระดับประเทศไทยให้เป็น Service Economy ให้มากยิ่งขึ้น อาจจะต้องไปถึงเรื่อง Wellness ไม่ใช่แค่ Tourism เท่านั้น”

    “อีกส่วนคืออาหาร เราได้เปรียบประเทศอื่นๆ เพราะเราเป็นผู้ส่งออกอาหารสุทธิมาอย่างยาวนาน แต่ต้องยอมรับว่าในความได้เปรียบตรงนี้ เรายังมีประสิทธิภาพต่ำมาก ถ้าดูจากผลผลิตต่อไร่ ประเทศไทยถือว่าต่ำที่สุดในภูมิภาคนี้ จริงๆ แล้ว เราไม่ได้ให้ความสนใจขับเคลื่อนตรงนี้อย่างเต็มที่ ดังนั้น เราต้องเน้นการลงทุนในส่วนนี้ให้มากขึ้น และเน้นการใช้เทคโนโลยีตรงนี้มากขึ้น”

    อย่างไรก็ตาม ดร.ศุภวุฒิ ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงต่ออุตสาหกรรมอาหารจากมาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ว่า สหภาพยุโรปได้ออกกฎหมายที่ทำให้ผู้ส่งออกสินค้าบางชนิดต้องเสียภาษีมากขึ้น รวมถึงห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรที่ปลูกในพื้นที่บุกรุกป่า โดยผลักภาระให้ผู้นำเข้าที่จะต้องพิสูจน์ตนเองว่าไม่ได้ไปเพาะปลูกในพื้นที่ป่า โดยใช้ข้อมูลจากดาวเทียมที่ผู้ส่งออกต้องเก็บข้อมูลเหล่านี้ตลอดเวลา ทั้งนี้ กฎหมายฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาของยุโรปแล้ว แต่ประเทศสมาชิกยังไม่ได้ให้สัตยาบัน ทำให้มีคำถามตามมาว่า ถ้าเราเลี้ยงไก่โดยกินอาหารที่มาจากการรุกป่า ประเทศยุโรปจะห้ามนำเข้าไก่ด้วยหรือไม่ และหากกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ขึ้นมา ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบโดยตรง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมส่งออกสินค้าเกษตรและส่งออกไก่

    “ตัวอย่างที่ผมหยิบยกขึ้นมาพูดทั้งหมดนี้ ผมต้องการชี้ให้เห็นว่ากระแสพวกนี้มันมาอยู่แล้ว ดังนั้น เราควรจะเร่งปรับตัวไปสู่การใช้เทคโนโลยี เพื่อมาดูแลภาคการเกษตร ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในปริมาณมาก และดูแลการผลิตอาหารที่มีคุณค่าสูง เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าเราเป็นประเทศ Wellness หรือแสดงภาพลักษณ์ใหม่ของประเทศไทยว่า เราปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อย อาหารดี เป็นประเทศที่มีสุขภาพดี และเราก็มีอุตสาหกรรมรองรับด้าน Wellness อยู่แล้ว” ดร.ศุภวุฒิ กล่าว

    แต่ในความเสี่ยงยังมีโอกาสที่ประเทศไทยจะสู่การเป็น Wellness Center ของภูมิภาค

    “โรงพยาบาลของประเทศไทยหลายแห่งที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้น มีค่า P/E สูงมาก แสดงว่าตลาดหุ้นมองโรงพยาบาลเป็นธุรกิจที่มีอนาคตดีมาก ศักยภาพของเราในส่วนนี้ดี…ผมได้คุยกับนักการทูตประเทศใหญ่ๆ ที่มาเปิดสถานทูตในประเทศไทย เค้าใช้ประเทศไทยเป็น Wellness Center ของสถานทูตอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ หากนักการทูตเจ็บป่วยในประเทศเพื่อนบ้าน ก็จะบินมารักษาพยาบาลในประเทศไทย และเป็นที่ทราบกันดีว่า คนไข้ต่างชาติจากทั่วโลกเดินทางเข้ามารักษาพยาบาลในประเทศไทย”

    เมื่อถามว่าประเทศไทยควรใช้โอกาสนี้ขยายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและการแพทย์หรือไม่ ดร.ศุภวุฒิ ตอบทันที “ผมคิดว่าควร แต่ถ้าเราต้องการขยาย ควรจะมีการปรับเปลี่ยน หรือเปิดเสรีธุรกิจ Wellness เพิ่มมากขึ้น”

    “ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นบทเรียน แต่ก็ต้องยอมรับว่า mRNA เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ใช้ได้ดีมาก และก็ดีกว่าเทคโนโลยี Adenovirus หรือ Viral Vector ที่ใช้ในวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า”

    “ผมพยายามศึกษาเรื่องนี้ และคิดว่าการรักษาพยาบาลในอนาคตคงจะใช้การบำบัดโดยพันธุกรรม อย่างเช่น เทคโนโลยีคริสเปอร์-แคสไนน์ (CRISPR/Cas9) จะเป็นตัวเปลี่ยนภาพของธุรกิจดูแลสุขภาพ เทคโนโลยีพวกนี้ในที่สุดคงจะมีการถ่ายทอดมายังประเทศไทย แต่ก็คงไม่ใช่เรื่องหลักของประเทศไทยในตอนนี้”

    ดร.ศุภวุฒิ ให้เหตุผลว่า เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยที่ประเทศไทยได้รับวัคซีน ‘ล่าช้า’ ทำให้ไทยสูญเสียโอกาสในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปี 2564 ผิดกับประเทศอื่นๆ ที่ได้รับวัคซีนก่อนประเทศไทย

    ดร.ลลนา ธีระนุสรณ์กิจ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านนวัตกรรมอาหารและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (ซีพีเอฟ)

    ยกสมุนไพร เป็นจุดขายประเทศไทย สร้างโอกาส ‘อาหารสุขภาพ’

    ดร.ลลนา ธีระนุสรณ์กิจ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านนวัตกรรมอาหารและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (ซีพีเอฟ) พูดถึงโอกาสและความเสี่ยงจากมุมมองของอุตสาหกรรมอาหารว่า โควิด-19 เป็นจุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรมอาหาร เพราะคนออกจากบ้านไม่ได้ และต้องเปลี่ยนพฤติกรรมมาสั่งอาหารออนไลน์ (delivery) ส่วนผู้ผลิตเองก็ต้องเปลี่ยนเรื่องการใช้วัตถุดิบโดยคำนึงความสด (freshness) และอายุการเก็บรักษา (shelf life) ดังนั้น ผู้ผลิตก็ต้องพัฒนาอาหารให้อยู่ได้นานโดนใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย

    ดร.ลลนา กล่าวต่อว่า เทคโนโลยีอาหารจะช่วยทำให้เกิดกระบวนการ sustainable production กล่าวคือเป็นการผลิตโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่ม

    อีกโจทย์สำคัญของผู้ผลิตอาหารคือสังคมสูงอายุ (aging population) เนื่องจากผู้บริโภคต้องการอาหารที่ทำให้มีสุขภาพดีมากขึ้น ประกอบกับการใช้ชีวิตของคนเมือง ก็ต้องทำให้ผู้ผลิตคำนึงถึงอาหารที่รวดเร็วสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของคน

    “มีโอกาสทางด้านอาหารตั้งแต่โควิด-19 เราเห็นเลยว่าผู้บริโภคมองหาอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น เมื่อก่อนนี้อาจจะทานเพื่อความ entertainment หรือเพื่อความสุขของตัวเองแต่เดี๋ยวนี้ผู้บริโภคจะดูว่าอาหารนั้นมีประโยชน์ต่อเขาไหม สร้างภูมิคุ้มกันหรือเปล่า ฉะนั้น โอกาสของอุตสาหกรรมอาหารของซีพีเอฟคือ Healthy food เพราะเวลาเราทานอาหารสุขภาพมากขึ้นจะลดภาระ (burden) ของรัฐบาลได้ไม่ต้องมาดูแลทางด้าน Healthcare มากนัก”

    ดร.ลลนา กล่าวถึงความท้าทายของซีพีเอฟว่า “ซีพีเอฟในฐานะที่เป็นผู้ผลิตอาหารรายสำคัญของโลกเลย มองว่าความท้าทายในปีนี้คือการขาดแคลนอาหาร ราคาสินค้าอาหารแพงขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตอาหารรายใหญ่เห็นสถานการณ์ครั้งนี้น่ากังวลแค่ไหนและคิดว่าวิกฤติอาหารโลกมันเกิดขึ้นจริงแล้วใช่ไหม”

    “นอกจากนี้ยังมีเรื่องโลจิสติกส์มาเกี่ยวข้อง เพราะต้องนำเข้า และช่วงสงครามก็มีผลกระทบต่อโลจิสติกส์เหมือนกันแต่ว่าเราพยายามควบคุมราคาให้ได้ อย่างที่บอกอาหารของเราเพื่อทุกคน และทุกคนต้องเข้าถึงได้ เราก็พยายามไม่ขึ้นราคาเพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ เงินเฟ้อก็ขึ้น ของก็แพงขึ้น รายได้เขาอาจลดลงด้วยซ้ำ เราก็ต้องพยายามผลิตอาหารให้ทุกคนเข้าถึงได้ เพราะฉะนั้น เราต้องดูว่าเรามีวัตถุดิบในประเทศที่สามารถเอามาใช้ได้ไหม เพื่อจะได้ลดความเสี่ยงทางด้านการขนส่งหรือซัพพลายเชน”

    ดร.ลลนา กล่าวถึงโอกาสของอุตสาหกรรมอาหารในไทยว่า “เวลาเราพูดถึง Healthty Food คนจะบอกว่าแพงเพราะต้องนำเข้าวัตถุดิบ แต่ว่าเราอยากผลิตอาหารให้ทุกคน ในประเทศไทยมีสมุนไพร วัตถุดิบต่างๆ มากมาย เราก็อยากใช้วัตถุดิบท้องถิ่นหรือสินค้าไทยเพราะทำให้ทุกคนเข้าถึงได้ และมีราคาจับต้องได้ แล้วก็ได้สุขภาพดีเหมือนกัน นี่เป็นสิ่งที่ผู้ผลิตอย่างซีพีเอฟต้องมีบทบาท และเราก็มุ้งเน้นที่จะพัฒนาสินค้าที่ดีต่อสุขภาพผู้บริโภค”

    แพทย์หญิงสร้อยเพชร ประเทืองเศรษฐ์ ผู้อำนวยการคลินิกสุขภาพเชิงป้องกันและฟื้นฟู คลินิก บีดีเอ็มเอส

    ธุรกิจสุขภาพและการแพทย์ เติบโตต่อเนื่อง แม้เจอพิษโควิด-19

    แพทย์หญิงสร้อยเพชร ประเทืองเศรษฐ์ ผู้อำนวยการคลินิกสุขภาพเชิงป้องกันและฟื้นฟู คลินิก บีดีเอ็มเอส (BDMS Wellness Clinic) กล่าวว่า นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร รพ.กรุงเทพ ได้วางวิสัยทัศน์ที่ต้องการให้คนไทยมีสุขภาพดี โดยต้องการให้การดูแลสุขภาพเริ่มตั้งแต่การป้องกันสุขภาพ จึงจัดตั้งคลินิกสุขภาพเชิงป้องกันและฟื้นฟูขึ้นมา

    แพทย์หญิงสร้อยเพชร กล่าวต่อว่า คลินิกสุขภาพเชิงป้องกันและฟื้นฟูทำงานร่วมกันกับการรักษาโรคด้วย โดยเฉพาะในปัจจุบันผู้สูงอายุเราเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ปี 2563 ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้วซึ่งคิดสัดส่วนของผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี มีมากกว่า 10% ของประชากรรวม และในปี 2593 (2050) คาดการณ์ว่าสังคมไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์ โดยมีประชากรที่มีอายุเกิน 60 ปี เกิน 20% ของประชากรทั้งประเทศ

    “ปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุซึ่งพบว่าสาเหตุที่เสียชีวิตหลักมาจากปัญหาโรค NCDs หรือ Non-communicable diseases ซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่ไม่ติดต่อเรื้อรัง ประกอบไปด้วยโรคหลอดเลือดสมองโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน หลอดเลือดอุดตัน โรคความดันโลหิต มะเร็ง ปัญหาสุขภาพจิต สาเหตุใหญ่ของกลุ่มโรคนี้มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต รับประทานอาหารหวานจัด มันจัด โดยรวมถึงปัญหาความเครียด เนื่องจากการใช้ชีวิตปัจจุบันที่มีความเร่งรีบทำให้ชีวิตมีความเคร่งเครียดนอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้เช่น มลพิษ หรือสารปนเปื้อนในอาหาร”

    แพทย์หญิงสร้อยเพชร บอกว่า โรค NCDs เป็นส่วนหนึ่งของ Wellness Economy เพราะในแง่หนึ่งผู้ป่วยมากขึ้น ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมบริการทางการแพทย์ในประเทศไทยก็เติบโตได้ดี โดยในช่วงปี 2562 อุตสาหกรรมบริการทางการแพทย์ไทยเติบโตถึง 20% สูงกว่าทั่วโลกที่มีอัตราการเติบโตเพียง 10%

    แพทย์หญิงสร้อยเพชร เล่าต่อว่า แม้ว่าในช่วงโควิด-19 จะมีการชะลอตัวลงไปบ้างก็ตาม แต่หากสังเกตจากภาพรวม ของ wellness economy ซึ่งประกอบไปด้วย public health และ preventive personal life medicineโดย wellness อยู่ในกลุ่มนี้ ซึ่งประกอบด้วย personal care, Beauty, Anti-Aging (สปา นวด), กลุ่มของฟิตเนส และอุปกรณ์การออกกำลังกายต่างๆ

     

     

    “Wellness economy ในภาพรวมปี 2019 ถึง 2020 จะเห็นการชะลอตัวลงจากปัจจัยของโควิด-19 ทำให้ wellness tourism ติดลบ 7% เพราะว่าคนไม่สามารถเดินทางได้หรือแม้แต่ Wellness Real Estate หรือว่าสปาต่างๆ ต้องบอกว่าติดลบหมดเลย”

    “การระบาดโควิด-19 ทำให้ทุกคนหันมาสนใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น และทำให้เราเข้าใจหลักการของการป้องกันสุขภาพมากขึ้น เราเริ่มรู้ว่าระบบภูมิคุ้มกันต่างๆ ในร่างกาย หรือว่าความแข็งแรงต้องเริ่มจากภายในจากการดูแลตัวเองโดยเฉพาะคนที่มีโรค NCDs ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 เพิ่มขึ้นมากถึง 3 เท่า เพราะฉะนั้นจึงหันมากินวิตามิน หันมาตรวจสุขภาพมากขึ้น หันมาออกกำลังกายมากขึ้นเช่นกัน”

    ส่วนของคลินิก BDMS เองก็มีผู้ใช้บริการมากขึ้นในช่วงโควิด-19 ที่ยังไม่มีนักท่องเที่ยว แต่ธุรกิจก็เติบโตเนื่องจากคนไทยหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น

    แพทย์หญิงสร้อยเพชร กล่าวต่อว่า คนไทยเริ่มหันมาใช้เทคโนโลยี Telemedicine มากขึ้นซึ่งก่อนหน้านี้คนที่เข้ามาใช้บริการทุกคนอยากพบแพทย์เพื่อการรักษา แต่ช่วงโควิดไม่มีใครอยากมาพบแพทย์ แม้แต่คนที่อายุมากไม่อยากใช้คอมพิวเตอร์ก็เริ่มพูดคุยกับแพทย์ผ่าน Telemedicine มากขึ้น

    “กลายเป็นว่าปัจจุบันในช่วงที่โควิด-19 เริ่มซาลง คนก็ยังเลือก Telemedicine มากขึ้นซึ่งปัจจุบันเราได้ขยายการบริการไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีคนพม่าเข้ามาใช้บริการพูดคุยผ่าน Telemedicine หรือ ซูม ในการรับคำปรึกษาจากแพทย์”

    แพทย์หญิงสร้อยเพชร บอกว่า Telemedicine ทำให้การพบแพทย์สะดวกสบายมากขึ้น โดยเราเริ่มขยายการบริการไปยัง รพ.ในเครือ BDMS ในต่างจังหวัด ซึ่งสามารถเจาะเลือดใกล้ๆบ้านและคุยผลเลือดทาง Telemedicine กับแพทย์ได้โดยที่ไม่ต้องเดินทาง

    อย่างไรก็ตาม แพทย์หญิงสร้อยเพชร บอกว่าอุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ในไทยยังมีความท้าทาย 2 เรื่อง

    1. ประเทศจีนยังไม่ได้เปิดประเทศโดยสมบูรณ์ เนื่องจากผู้ใช้บริการส่วนใหญ่เป็นชาวจีน ทำให้ทั้งในเรื่อง Wellness Real Estateหรือสปา ยังไม่เดินหน้าเต็มที่ แต่หลังจากจีนเปิดประเทศแล้ว ไทยจะสามารถรับ wellness tourismได้แบบเต็มตัว
    2. การชะลอตัวของเศรษฐกิจ ทำให้ต้นทุนด้านการดูแลสุขภาพเพิ่มสูงขึ้น และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้คนละเลยปัญหาสุขภาพจากปัจจัยเศรษฐกิจ
    รศ.ดร.ปรียา ลีฬหกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ ที่ปรึกษางานวิจัย บริษัท เอเชียน ไฟย์โตซูติคอลส์ จำกัด (มหาชน)

    ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ช่วยพัฒนากรรมพันธุ์-สร้างสุขภาพที่ดี

    รศ.ดร.ปรียา ลีฬหกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ ที่ปรึกษางานวิจัย บริษัท เอเชียน ไฟย์โตซูติคอลส์ จำกัด (มหาชน) เสริมประเด็นที่แพทย์หญิงสร้อยเพชรเสนอว่า โรค NCDs ยังมาจาก ‘กรรมพันธุ์’ ที่หลายคนคาดไม่ถึง ที่สำคัญกรรมพันธุ์เป็นสาเหตุใหญ่เกือบ 50% ไม่ว่าจะเป็น โรคอ้วน เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันสูง กระทั่งมะเร็งก็อาจมาจากกรรมพันธุ์ด้วย

    “อยากเน้นเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพและปรับพฤติกรรม โดยเฉพาะครอบครัวที่รู้ว่ามีกรรมพันธุ์ บ้านไหนมีเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง คุณต้องดูแลเขาตั้งแต่เล็ก อาจต้องกินนมพร่องไขมัน มันช่วยเราได้เยอะ”

    รศ.ดร.ปรียา เล่าว่า ตนเคยศึกษาเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพในเด็กอายุมากกว่า 12 ปี พบว่าเด็กที่มีไขมันสูงตั้งแต่อายุ 12 ปี บางรายเป็นเบาหวานจากกรรมพันธุ์ชนิดที่หนึ่ง และพ่อแม่ไม่เคยรู้มาก่อน เชื่อว่าเพิ่งปิดเทอม ลูกกินหวานเยอะ-ไม่ออกกำลังกาย ทำให้น้ำตาลขึ้น แต่พอติดตามผลทุกสามเดือน ปรากฏว่าน้ำตาลยังสูงอยู่ ทำให้เข้าใจว่าเบาหวานชนิดที่หนึ่งมาจากกรรมพันธุ์ และหลายครั้งมาตรวจเจอตอนเด็กมีอายุมากกว่า 12 ปี และเด็กบางคนเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว แต่ระดับน้ำตาลก็สูงขึ้นเรื่อยๆ

    “เราควบคุมเขาแล้ว แต่เรายังเอาชนะกรรมพันธุ์ได้ไม่หมด”

    ดังนั้น รศ.ดร.ปรียา ย้ำว่า จากประสบการณ์เกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพ จึงอยากเน้นให้ทุกคนมาสร้างเสริมสุขภาพดูแลตัวเองก่อน เพราะภูมิคุ้มกันเราสามารถสร้างได้ด้วยสุขภาพที่แข็งแรงจากอาหารและการออกกำลังหาย ไม่ใช่รอฉีดวัคซีนอย่างเดียว นี่เป็นโจทย์ที่ประเทศไทยควรรีบรณรงค์โดยเร็วที่สุด

    แต่ด้วยความสามารถของบุคลากรด้านการสร้างเสริมสุขภาพในไทย ทำให้มีความหวังว่า ‘ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร’ จะช่วยเปลี่ยนแปลงกรรมพันธุ์ให้ดีขึ้นได้

    “ถ้ากรรมพันธุ์เราไม่ดี แต่เราพัฒนาสายพันธุ์เราให้รุ่นลูกรุ่นหลานดีขึ้นเรื่อยๆ ผลสุดท้ายเราอาจจะเปลี่ยนกรรมพันธุ์ของเราก็ได้ จากบ้านนี้เป็นเบาหวาน 20 30 ปี อนาคตข้างหน้าอาจจะไม่มี เพราะยีนมีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปเรื่อยๆ”

    รศ.ดร.ปรียา กล่าวต่อว่า ตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Food Supplement Market) มีอัตราการเจริญเติบโตสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนเริ่มตระหนักถึงสุขภาพ และอาหารเสริมจะให้ประสิทธิภาพดีกับร่างกายถ้าเรารู้จักเลือกใช้ให้เหมาะสม โดยเฉพาะอาหารเสริมที่มีงานวิทยาศาสตร์ วารสารวิชาการ และมีการศึกษาในคนชัดเจน

    “ตลาด Food Supplement โตวันโตคืน เพราะต่อให้เรามีพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพ แต่บางอย่างเราไม่สามารถได้จากอาหารปกติ ถ้าช่วงไหนร่างกายเจ็บป่วยหรือต้องการอะไรเป็นพิเศษ เช่น การชะลอวัย-ย้อนวัย ก็สามารถทำได้”

    “จากตอนแรกที่คนมีแอนตี้ว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่ดี แต่ก่อนเวลาเราสอนก็จะบอกว่า อะไรอยู่ในตลาดไม่ถึง 5 ปีไม่ต้องไปสนใจมัน เหมือนตีหัวเข้าบ้าน มันเข้ามาตามเทรนด์ พอได้กำไรก็ไป แล้วหาตัวใหม่สร้างกระแสต่อไป ยิ่งปัจจุบันเราเห็นจุดอ่อนคือ มีพวกเซเลป-คนดังเข้ามาทำธุรกิจด้านนี้เยอะ แต่ขาดพื้นฐานความเรามักจะเจอแบบนั้น ทำให้คนส่วนใหญ่ฝังใจกับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ดี”

    ท้ายที่สุด รศ.ดร.ปรียา บอกว่า ไม่ว่าใครก็ตามจะเข้ามาในตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ขอให้อ้างอิงตามหลักวิทยาศาสตร์ เพราะสุดท้ายแล้วถ้าผลิตภัณฑ์ถูกต้องตามหลักวิชาการจะทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีคุณภาพ และสุขภาพแข็งแรง

    รับชม ThaiPublica Forum 2022#2 The Future of Wellness & Healthcare